แนวทางของ ดีพัค โชปรา เมื่อเทียบกับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา
ขอถามคุณนันท์หน่อยนะคะเกี่ยวกับแนวทางของ ดีพัค โชปรา เมื่อเทียบกับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ในสองประเด็นดังต่อไปนี้

1. ในทางพุทธจะสอนให้มุ่งสู่นิพพานคือการ”ละทิ้ง”ตัวตนเพื่อไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ในขณะที่ดีพัค โชปรา บอกว่าจุดมุ่งหมายในชีวิตของเราควรเป็นการ”ค้นพบ”ตัวตนที่สูงกว่าคือจิตวิญญาณของเราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานอันศักดิ์สิทธิ์ที่คงอยู่เป็นอมตะไม่มีที่สิ้นสุดในจักรวาล และให้เรา”ทำนุบำรุง”(nourish) จิตวิญญาณนี้ด้วยการกระทำ การคิด และการรับรู้ต่างๆเพื่อให้พลังอันศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวสามารถถ่ายทอดออกมาได้โดยผ่านตัวเรา.... คุณนันท์คิดว่าแนวทางดังกล่าวเหมือนหรือต่างกันอย่างไรในแง่การตั้งจุดหมายในชีวิตของเรา

2. ในบทเรียนข้อที่ห้าของ Golf for Enlightenment ดีพัค โชปราพูดถึง Passion with Detachment หรือตรงกับคำว่า “Shakti “ ในภาษาสันสกฤต ว่าเป็นแรงบันดาลใจหรือพลังของชีวิตที่จะช่วยให้เราเข้าถึงแก่นแท้ของตัวเราได้ แต่ในทางพุทธศาสนาเท่าที่ทราบดูเหมือนจะไม่มีคำสอนในแง่พลังงานหรือความพยายามเช่นว่านี้อยู่ ไม่ทราบว่าคุณนันท์มีความเห็นอย่างไรบ้างคะในเรื่องนี้
ชื่อผู้ส่ง : นพรัตน์ ถามเมื่อ : 13/10/2008
 


คุณนพรัตน์ ครับ ในความเห็นของผม คำถามนี้ตอบยากมาก ทั้งละเอียดอ่อน เพราะโดยเนื้อหาแล้วเป็นการแสดงความเห็น ที่เกี่ยวกับจุดมุ่งหมายสูงสุดระหว่างศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยมีการถกเถียงกันมาตลอด และเป็นเรื่องลึกซึ้งอยู่มาก หากตอบสั้นๆ แบบกำปั้นทุบดินก็คงบอกว่า ไม่รู้ว่าจะตอบได้อย่างไร

ผมจึงขอเน้นย้ำก่อนว่า นี่เป็นการพยายามตอบด้วยความเข้าใจส่วนตัวตามกำลังสติปัญญาที่ผมมี ซึ่งขอให้ฟังหูไว้หู ก็ดีนะครับ และอีกประเด็นหนึ่งคือ ผมไม่แน่ใจว่าการอธิบายผ่านทางตัวหนังสือนี้ของผม จะคลอบคลุมแง่มุมได้แค่ไหน เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียว

ผมขอเริ่มจากการสรุปทบทวนประเด็นของคำถามข้อแรก เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อน

คำถามคือ . . .
> ระหว่างคำสอนของพุทธศาสนา ที่สอนให้มุ่งสู่นิพพาน คือการ “ละทิ้ง” ตัวตน เพื่อไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก
กับ . . .
> ของ ดีพัค โชปรา ที่บอกว่าจุดมุ่งหมายในชีวิตของเราควรเป็นการ “ค้นพบ” ตัวตนที่สูงกว่า คือจิตวิญญาณของเรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานอันศักดิ์สิทธิ์ นั้น
> ผมคิดว่าแนวทางดังกล่าว เหมือนหรือต่างกันอย่างไร “ในแง่การตั้งจุดหมายในชีวิตของเรา”

ผมขออนุญาตยังไม่สรุป แต่ผมจะพยายามเล่าความเข้าใจส่วนตัวที่ผมมี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแต่ละประเด็นของคำถาม แล้วคุณนพรัตน์อาจสรุปดูด้วยตัวเองว่า คำตอบคืออะไร หรืออาจจะสรุปว่าผมเข้าใจผิดทั้งหมดก็เป็นได้

เรื่องแรก ขอเริ่มเล่าความเข้าใจพื้นฐานทางพุทธศาสนาของผม ที่เชื่อมโยงกับกรณีนี้ก่อน ซึ่งความเข้าใจสำคัญประเด็นแรก เกิดมาจากข้อความอันหนึ่งซึ่งคุณนพรัตน์ก็น่าจะเคยได้ยิน ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสถึงธรรมที่พระองค์ ได้ทรงค้นพบในคืนวันตรัสรู้ว่า “สิ่งนั้น(ธรรมนั้น)มีอยู่แล้ว คถาคตจะเกิดหรือไม่เกิด สิ่งนั้นก็มีอยู่แล้ว”

ประเด็นต่อมา คือ ”สิ่งนั้น(ธรรมนั้น)” ที่มีอยู่แล้ว ที่พระองค์ทรงค้นพบคืออะไร ?

ตามภาษาทางวิชาการ ธรรมที่พระองค์ทรงได้พบ ในคืนวันตรัสรู้หรือบรรลุธรรมขั้นสูงสุด ถูกเรียกว่า กฎหรือหลัก “ปฏิจจสมุปบาท” (หรือในอีกกรณี เรียกว่า อิทัปปัจจยตา) ซึ่งผมสรุปเป็นความเข้าใจของผม เอาไว้ว่า เป็นการได้ทรงพบระบบความสัมพันธ์ในแบบสืบเนื่อง ของการมี “เหตุ(และปัจจัย)อันนำไปสู่ผล” และผลนั้นก็เป็น เหตุ(และปัจจัย)อันนำไปสู่ผลอันใหม่ และสืบเนื่องกันไปเช่นนี้ไม่รู้จบสิ้น ซึ่งเป็นระบบหลักที่ทำให้เกิดมีสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงขึ้น (หรือจะมองว่ามันเป็นความต่อเนื่องของระบบ “กรรม” ก็ได้) และ บ่อหรืออ่างหรือมวลรวม อันได้ปรากฏขึ้นและหมุนวนไม่จบสิ้นภายใต้ระบบนี้ คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า “สงสารวัฏ”

ซึ่งพระองค์ได้ทรงตรัสรู้ และเห็นขบวนการ เกิดเหตุ(และปัจจัย)ไปสู่ผล ตามระบบความสัมพันธ์นี้ ของทุกสรรพสิ่งอย่างลึกซึ้งทุกแง่มุม และทุกมิติ อันนำไปสู่แนวทางคำสอน เพื่อสร้างความเข้าใจและเกิดการหลุดพ้นจากการอยู่ภายใต้ระบบนี้ ในเรื่อง อริยสัจสี่ เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รวมทั้งจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา ที่เรียกว่า นิพพาน

ผมขอเน้นประด็นหลักในเรื่องแรกไว้ตรงนี้ก่อนว่า สิ่งที่พระองค์ได้ทรงไปพบเข้า นั้นคือ กฎหรือสัจจะธรรม อันหนึ่งที่มีอยู่เดิมแล้ว

เรื่องที่สอง คือ เรื่องคำสอนของ ดีพัค โชปรา ซึ่งต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่ามีพื้นฐานเดิมมาจากฮินดู แต่สนใจศึกษาพุทธศาสนา (พระพุทธเจ้าของเราเดิมก็มีพื้นฐานมาจากฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์เช่นกัน)

ซึ่งผมขอเล่าความเข้าใจของผมเกี่ยวกับหลักอันสำคัญของฮินดู ที่มีคัมภีร์อุปนิษัท เป็นหลักคำสอน ว่าคืออะไร

ฮินดูนั้น เชื่อและนับถือในสภาวะ สภาวะหนึ่ง ซึ่งทรงอานุภาพ เป็นหนึ่ง ไม่มีสอง เป็นนิรันดร์ ไม่มีต้นกำเนิดและจุดสิ้นสุด เป็นทั้งผู้สร้าง ผู้รักษาและผู้ทำลาย เป็นเหมือนชีพของจักรวาล ซึ่งเรียกว่า “ปรมาตมัน” (หรือพระเจ้าหรือพรหมันในบางกรณี) และในมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ก็มีหน่วยย่อย ของ “ปรมาตมัน” นี้ ดำรงอยู่ภายใน ซึ่งเรียกว่า “อาตมัน”

ตามหลักคำสอนของฮินดูนั้น มุ่งเน้นให้เข้าใจและรู้แจ้งในความจริงนี้ คือ รู้แจ้งใน “อาตมัน” แห่งตน อันนำสู่การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับ “ปรมาตมัน” (หรือการเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า หรือพรหมัน) ซึ่งการรู้แจ้งเห็นจริงนี้ จะทำให้เกิดการหลุดพ้นจากความทุกข์ ซึ่งทางฮินดูเรียกว่า “โมกษะ”

มีอีกประเด็นหนึ่ง ดีพัค โชปรา จะแยกความเป็นตัวเราออกเป็น 3 ส่วน คือ body (ร่างกาย) mind (จิตใจ) spirit (จิตวิญญาณ) ซึ่งความเข้าใจของผม “จิตวิญญาณ” นี้น่าจะหมายถึง “อาตมัน” นั่นเอง เพียงแต่ ใช้คำสากลขึ้นตามแบบฉบับภาษาอังกฤษของคริสต์ศาสนา

(อาจจะเทียบได้กับคำว่า “จิตเดิมแท้” ในพุทธศาสนาแบบมหายาน หรือในนิกายเซน และขอเสริมนอกประเด็นว่า สภาวะอันเป็นหนึ่งนั้น ของฮินดู น่าจะเทียบได้กับ สภาวะธรรมที่ เหลาจื๊อ ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร เลยขอเรียกว่า “เต๋า” ที่แปลว่า หนทาง)

ผมขอสรุปประเด็นหลักของเรื่องที่สองนี้เอา ไว้ว่า ดีพัค โชปรา นั้นมีรากฐานความเชื่อในสภาวะอันเป็นหนึ่ง ที่ดำเนินความเป็นไปของจักรวาลนี้ ของฮินดู ดังปรากฏเป็นเนื้อหาหลักอยู่ในหนังสือของเขา

ถึงตรงนี้ ถ้าต้องตอบคำถามคุณนพรัตน์ ผมเห็นว่าเรื่องนี้มีแกนหลัก ร่วมกันหรือเหมือนกัน คือ เรื่องขบวนการที่พระพุทธเจ้าทรงได้พบ กับสภาวะความเป็นหนึ่งของฮินดู อาจสรุปได้ว่าเป็นการพูดถึงความจริงอันหนึ่ง ซึ่งมีอยู่เดิมก่อนสิ่งใด และเป็นธรรมอันเดียวกัน ที่ทางพุทธศาสนาเราเรียกสิ่งนั้นว่า เป็นกฎ หรือหลัก ทางฮินดูเรียกว่า สภาวะ หรือเรียกเป็นรูปแทนว่า พระเจ้า แล้วพูดกันคนละวิธี อธิบายคนละเหลี่ยม คนละสถานการณ์ หรือบริบท (อาจเนื่องจากฮินดูมีมาก่อน พุทธศาสนาหลายพันปี และฮินดูไม่มีศาสดา คำสอนเกิดจากปราชญ์ของฮินดูในยุคต่างๆ บันทึกคำสอน อันเกิดจากการหยั่งถึงสภาวธรรมนั้น ต่อๆ กันมา เป็นคัมภีร์อุปนิษัท)

แต่ที่สำคัญหลังจากนั้นคือ การแปรรูปออกมาเป็นคำสอน เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผล ตรงต่อเป้าหมายสูงสุดของศาสนา ซึ่งสัมพันธ์กับเป้าหมายของชีวิตของเราที่นับถือศาสนานั้นๆ

คำตอบต่อมา จากประเด็นสำคัญของคำถาม ตรงที่ว่า เหมือนหรือต่างกันอย่างไร “ในแง่การตั้งจุดหมายในชีวิตของเรา” ผมจึงขอตอบว่า ผมไม่รู้จริงๆ ครับ เพราะ ณ ขณะนี้ ผมไม่อาจรู้ได้จริงๆ ครับว่า สภาวะ “นิพพาน” กับ สภาวะ “การเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า” หรือ “โมกษะ” นั้น แตกต่างกันหรือเหมือนกัน และไม่รู้ว่าอีกเมื่อไหร่ หรือชาติไหน ผมจะรู้คำตอบนี้ได้ด้วยตัวเองครับ นอกจากนี้ ผมยังเคยได้ยินว่า มีข้อถกเถียงกัน ของปราชญ์ทางศาสนา เรื่อง ความเป็นอนัตตา ของสองสภาวะนี้อีกยาวเลยครับ และผมคิดว่าคนที่รู้คำตอบแล้ว ก้จะไม่มาเถียงกันเป็นแน่แท้

มีหนังสือของท่านพุทธทาส ที่อธิบายความสัมพันธ์ ของธรรม ดังกล่าวนี้ไว้ ได้อย่างดี ซึ่งผมได้แนะนำคุณpenguin ไว้ในกระทู้ก่อน ชื่อ สรรนิพนธ์ พุทธทาส ว่าด้วย "เต๋า" รวบรวมโดย กวีวงศ์ จัดทำโดย กลุ่มพุทธทาสศึกษา www.buddhadasa.org พิมพ์โดย มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ รายได้เข้าสถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตาธรรม" อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ หรือหาดูที่สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ก้ได้ครับ

แค่คำถามแรกผมก็เยิ่นเย้อยาวมาถึงขนาดนี้ ขออนุญาตคุณนพรัตน์ยกคำถามที่สอง ไปก่อน แล้วจะรีบกลับมาตอบโดยเร็วครับ

หากทุกท่านมีความเห็นอะไร ก็แทรกเข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้เลยนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 13/10/2008
คุณนันท์และคุณนพรัตน์ครับ ผมเองคงต้องยอมรับก่อนว่ามีความรู้น้อยมากในเรื่องของศาสนา แต่จากการได้อ่านคำถามและข้อคิดเห็นของคุณนันท์ รวมถึงการมองย้อนไปที่คำถามที่สองของคุณนพรัตน์นั้น มีเรื่องหนึ่งที่แว่บผุดขึ้นมาในความคิดของผมทันที ไม่รู้ว่าจะเป็นส่วนเสริมในการหาคำตอบนี้ต่อไปหรือเปล่านะครับ และในที่นี้ผมเองก็ยังไม่เคยได้อ่าน Golf ของดีพัคด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ผุดมาในความคิดคือ

ผมเองเคยมีโอกาสได้รับเชิยไปทานข้าวที่บ้านของครอบครัว อดีต กุมารีหลวงท่านหนึ่งในกาฏมัณฑุ กุมารีนั้นถือเป็นเทพผู้มีชีวิตที่ชาวเนปาลนับถือ เพราะถือว่าเป็นร่างผ่านของ Taleju Bravani หรือเทพผู้ปกปักษ์รักษาประเทศเนปาล กุมารีนั้นมีอยู่หลายองค์ในหลายๆเมืองของประเทศเนปาล ซึ่งชาวเนปาลนั้น เก้าสิบกว่าเปอร์เซนต์หรือส่วนใหญ่ตามบัตรประชาชนจะมีลงข้อมูลไว้ว่าพวกเขานับถือฮินดูกัน แต่อย่างไรก็ดีเท่าที่ได้เห็นและได้พูดคุยกับคนหลากหลายอาชีพที่นั่น พวกเขาเองก็นับถือBudha เป็นองค์สูงสุดและบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่าตามรูปเคารพและงานศิลปะต่างๆที่มีอยู่มากมายในประทศนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นบูชา หรือรูปวาดองค์เทพทั้งหลายนั้นที่ยอดสูงสุดจะมีองค์ Budha เล็กนั่งสมาธิอย่างสงบอยู่ที่ยอดเหนือจากองค์เทพทั้งหลายเสมอ

แต่การทานข้าวที่บ้านกุมารีในวันนั้น มีบางอย่างที่ผมสังเกตุเห็นนั่นคือ รูปวาดรูปหนึ่งในบ้านของกุมารีที่แขวนไว้บริเวณใกล้หน้าต่าง รูปวาดนี้เป็นรูปวาดลงสีสวยงาม และมองดูก็รู้ทันทีว่าเป็นรูปจากพุทธประวัติซึ่งมีความหมายกับผู้แขวนไว้ แต่อย่างไรก็ดี รูปที่ห็นนี้ไม่ใช้รูปเคารพอย่างที่เห็นกันบ่อยๆนั่นคือรูปพระพุทธเจ้าตอนตรัสรู้ นั่งสมาธิ หรือโปรดสรรพสัตว์ต่างๆ หรือกำลังแสดงธรรม ตอนนั้นเองผมมองอยู่นาน เห็นไกลๆว่า ในรูปเป็นรูปชายหนุ่มกำลังแอบมองหญิงสาวสวยที่หลับไหลอยู่ในห้องนอนที่ตกแต่งสวยงาม ความเกรงใจทำให้ไม่กล้าถาม และมีความรู้สึกประหม่าที่จะเข้าไปดูใกล้ๆ แต่อย่างไรก็ดี อาทิตย์กว่าๆผ่านไป เรามีโอกาสกลับไปทานอาหาร ดื่มชาที่บ้านอดีตกุมารีอีกครั้ง คราวนี้ผมไม่ปล่อยให้โอกาสผ่านไปอีก ผมขออนุญาติเดินไปดูรูป และได้ถามคุณพ่อเจ้าของบ้านถึงรูปและความหมายของรูปเคารพนี้ ตอนนั้นเองคำตอบทำให้แปลกใจอยู่บ้าง เพราะรูปนั้น เจ้าของบ้านอธิบายว่า เป็นรูปในคืนสุดท้ายก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะออกจากวัง พระองค์รู้แล้วว่าต้องทำอะไร แต่ก่อนออกไป พระองค์ของเดิมมามองพระชายาและบุตรเป็นครั้งสุดท้ายด้วยความรัก ก่อนจะออกค้นหาไปตามทางและตรัสรู้ในที่สุด

วันนี้เรื่องที่ไม่ได้เน้นการจดจำอะไรไว้มากกลับผุดมาอีกครั้ง ผมรู้สึกว่าในรูปนั้นที่ถูกแขวนไว้อย่างสำคัญ ได้บอกความหมายถึงแรงดลใจ หรือแรงบันดาลใจบางอย่างของเจ้าชายสิทธัตถะ ที่มองความรัก ทุกข์ด้วยความรัก จากไปเพราะความรัก และวันหนึ่งท่านก็กลับมาเพื่อเทศนาแสดงธรรมให้คนที่ท่านรัก

บางทีทางผ่านสู่การหยั่งรู้นั้นอาจทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะทางสมาธิ กอล์ฟ หรือกิจกรรมอื่นก็ได้นะครับ เพียงแต่ทางพุทธพระองค์เน้นการสอนให้เราพินิจพิจรณาและค้นหาด้วยตนเอง คำตอบตรงนี้เลยถูกละไว้แบบเปิดทาง เพราะเราต่างมีประสบกาณณ์ที่ต่างกัน มีเรื่องราวที่ทำให้เกิดแรงดลใจต่างกัน และเราอาจเลือกวิธีการ หรือเลือกกิจกรรมที่จะผ่านไปสู่การหยั่งรู้ต่างกัน ทั้งนี้เพื่อไปสู่จุดหมายเดียวกันครับ

หวังว่าจะมีประโยชฯบ้างนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : Karn ตอบเมื่อ : 13/10/2008
ขออนุญาตแสดงความคิดเห็น อย่างคนที่ก็ไม่ได้รู้มากไปกว่าคุณนพรัตน์, คุณนันท์ และคุณ Karn ครับ

ผมเห็นจริงอย่างที่คุณ Karn เล่ามา ในคติความเชื่อของฮินดูนั้น เท่าที่ผมรับรู้มา เขาก็นับถือพระพุทธเจ้าอยู่ไม่น้อย และไม่ได้คิดว่าเป็นศาสนาอื่น เขามองว่าเป็นหนึ่งเดียวกับศาสนาฮินดูของเขาด้วยซ้ำไป บางตำราของฮินดูยังเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ เขาจึงจัดพระพุทธเจ้าเป็นเทพชั้นสูง แม้ไม่เทียบเท่าพระศิวะ,พระนารายณ์ และพระพรหม ซึ่งจัดเป็น "มหาเทพ" แต่ก็ยังมีอีกบางตำราเล่าว่า แม้แต่พระพรหมก็ยังต้องมาเข้าเฝ้าเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสด็จกลับจากการไปแสดงธรรมบนสวรรค์ (ในประการนี้ คนไทยที่อ้างว่านับถือพุทธบางคน ซึ่งยังยึดมั่นถือมั่น ยังยึดมั่นในตัวกูของกู ยังมองอย่างแยกส่วน เชื่อมโยงอะไรไม่ได้ อาจจะรู้สึกรับไม่ได้ ที่พระพุทธเจ้าของเขาจะอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าพระศิวะ และพระนารายณ์) ที่กล่าวมาในประการนี้ ก็เพื่อจะบอกว่าศาสนาฮินดูเขายังมีการมองอย่างองค์รวม อย่างไม่แยกเขา ไม่แยกเราได้ดีทีเดียว

ในประเด็นที่คุณนพรัตน์ ถามว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า กับสิ่งที่โชปรานำเสนอไว้นั้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไรนั้น ในความเห็นส่วนตัวของผม (ซึ่งส่วนตัวมากๆ ชนิดที่หลายคนอาจสาปแช่งผมได้เลยทีเดียว) นั้น ผมคิดว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้เรา "หลุดพ้น" มากจนเกินไป สงบเกินไป นี่น่าจะเป็นการขัดกับความเป็นจริงของจักรวาล หรือสัจธรรมสากล ที่ว่า มนุษย์เรานั้น มีหน้าที่ต้องแสวงหาความเป็นเลิศ (ในทุกด้าน) ต้องมีการเคลื่อนไหว มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ต้องมีสำนึกของความ "อยากมี" "อยากทำ" และ "อยากเป็น" อยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าเอาหลักการของเรื่องสนามควอนตัม ที่ระบุว่าทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นพลังงานและข้อมูล ต้องมีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้ว การที่คนเราจะ "ละทิ้ง" และ "หลุดพ้น" หรือ "นิพพาน" ไปเสียทั้งหมดนั้น ก็น่าจะเป็นการขัดกับ "ความจริงสูงสุด" ไปเลยทีเดียว

คุรุหลายท่านสอนว่า มนุษย์เราจะต้องมีแรงจูงใจเพื่อตอบสนองให้บรรลุ ให้ได้ใน 3 ส่วน คือ หนึ่งทางด้านร่างกาย สองทางด้านความคิดและจิตใจ และสามทางด้านจิตวิญญาณ ซึ่งผมขอเรียกว่า การบรรลุถึงการเป็น "คนรวย" (ร่างกาย) "คนเก่ง" (ความคิด/จิตใจ)และ "คนดี" (จิตวิญญาณ) ผมเคยตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ทำไมจะเป็นคนดีแล้วจึงต้องเป็นคนจนด้วย และเป็นควนรวยแล้วจะเป็นคนเก่ง คนดีไปพร้อมๆ กันไม่ได้หรือ และบ่อยครั้ง ทำไมเป็นคนรวยแล้วจึงต้องเป็นคนเลว และหรือคนโง่ด้วยเล่า? มนุษย์จะสามารถบรรลุทั้งสามด้านนี้ไปพร้อมๆ กันไม่ได้หรือ ซึ่งคุรุหลายท่าน ตอบว่า "ได้" และ "ต้อง" เป็นเช่นนั้นด้วย

แต่ผู้สืบทอดการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้ากลับไม่ได้คิดเช่นนั้น พวกเขาทำให้ทุกเรื่องแยกขาดออกจากกัน อย่างชนิดไปด้วยกันไม่ได้ พวกเขาสอนคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้กับฆราวาส เหมือนกับต้องการจะให้ทุกคนเป็นนักบวช แม้แต่หนังสือ The Top Secret ของทันตแพทย์สม สุจีรา ที่เอาหลักศาสนาพุทธมาอธิบายต่อยอดจากหนังสือ The Secret ของ Rhonda Byrne (ตอนนี้หนังสือของหมอสม พิมพ์ไปครั้งที่ห้าสิบแล้วกระมัง) อ่านแรกๆ ก็ดูเหมือนหมอสมจะเห็นด้วยกับแนวเนื้อหาของ Byrne แต่ลงท้าย เขาก็สรุปว่าไม่มีอะไรวิเศษเท่าการหลุดพ้น และนิพพาน

OSHO ก็ยังเคยแสดงความเห็นไว้ในหนังสือของเขาว่า คุณลักษณะของความเป็นมนุษย์รูปแบบใหม่ คือ "การผนวกรวมระหว่างซอร์บา เดอะกรีก (Zorba The Greek) และพระพุทธเจ้า" กล่าวคือ "มีความสุขทางโลกได้เหมือน Zorba และสุขสงบได้อย่างพระพุทธองค์"

กล่าวโดยสรุปแล้ว ผมเห็นว่าสุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องของ "จิตวิญญาณ" ของแต่และคน ว่ากำลังแสวงหา และตัดสินใจ เลือกที่จะเป็นอะไร ทำอะไร และมีอะไร เป็นสำคัญ!

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 13/10/2008
ขออธิบายเพิ่มเติมอีกนิดครับ (คัดจาก foot note ในหนังสือของ OSHO ที่ชื่อว่า Creativity หรือชื่อในภาษาไทยว่า "คิดนอกรีต")

Zorba The Greek เป็นนวนิยายที่ประพันธ์โดย Nikos Kazanizakis นักเขียนชือ่ดังของกรีก และเคยได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 1964 ในบทประพันธ์นี้ มีตัวละครเอกคือ Zorba ผู้มีความสุขกับชีวิต เริงร่า ร้องรำทำเพลง ไม่มีหลักการใดๆ ต้องยึดถือปฏิบัติ ใช้ชีวิตกลมกลืนเป็นธรรมชาติ ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับตัวละครอีกตัวหนึ่ง คือ Basil นักเขียนอังกฤษ ที่มาจากเมืองหลวง แต่งกายภูมิฐาน สำรวม เงียบขรึม ซึ่งต้องการเดินทางไปเกาะ Crete เพื่อเก็บข้อมูลประวัติพระพุทธเจ้า แต่เมื่อได้รู้จักกับ Zorba ปรากฎว่า Basil ได้เปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากการได้ค้นพบอิสรภาพในตัวเอง OSHO ได้อธิบายความของการนำคำว่า Zorba มาใช้ในงานของตนว่า หมายถึง "ผู้ที่มิได้อยู่ใต้อาณัติศาสนาใดๆ เป็นผู้ที่หลุดพ้น และมีโอกาสเข้าถึงพระพุทธองค์ได้มากกว่าพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดเสียอีก"
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 13/10/2008
ผมเกิดความคิดขึ้นว่าน่าจะลองค้นหา ข้อเขียนหรือคำพูดที่บรรยายถึงคุณลักษณะของ สภาวะธรรมนี้มาประกอบ เผื่ออาจทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ทำให้นึกไปถึงหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ในความเห็นส่วนตัวของผม ท่านมักพูดถึง ธรรมอันเป็นหนึ่ง นี้เอาไว้ค่อนข้างเด่นชัด เลยไปเลือกคัดลอกมาและพยายามจัดกลุ่มให้ชัดเจนขึ้น ลองพิจารณาดูครับว่า มีมิติสัมพันธ์กับคำถามและคำตอบอย่างไรได้บ้าง

กลุ่มแรกนี้ผมเลือกที่เป็นเชิงคุณลักษณะ มารวมๆ กันดูครับ

> พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียง “จิตหนึ่ง” นอกจาก “จิตหนึ่ง” นี้แล้ว ไม่มีอะไรตั้งอยู่เลย

> "จิตหนึ่ง” ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นและไม่อาจถูกทำลายได้เลย มันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัด เหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้ และเหนือการเปรียบเทียบทั้งหมด

> “จิตนั้น” ไม่มีรูปร่าง มันรวมอยู่กับความว่าง ในความว่างนั้นไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ซาบซึมอยู่ในสิ่งทุกๆ สิ่ง และจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน

> “จิตหนึ่ง” นั่นแหละคือ พุทธะ ไม่มีพุทธะอื่นใดที่ไหนอีก ไม่มีจิตอื่นใดที่ไหนอีก มันแจ่มจ้าและไร้ตำหนิ เช่นเดียวกับความว่าง มันเป็นเรื่องที่เพียงแต่ตื่นและลืมตาต่อ “จิตหนึ่ง” นั้น เท่านั้น และไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร ไม่มีสิ่งใดแม้แต่อนุภาคเดียว ที่จะอิงอาศัยได้

> “จิตหนึ่ง” เท่านั้นที่เป็น พระพุทธะ ดังคำตรัสที่ว่า
ผู้ใดเห็นจิต ผู้นั้นเห็นเรา
ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต

> สิ่งต่างๆ ทุกสิ่ง ย่อมมีส่วนแห่งความเป็นพุทธะ เท่ากันหมด และทุกๆ สิ่งมีเนื้อหาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพุทธะอยู่ตลอดเวลา

กลุ่มนี้เป็นเรื่องหลักพิจารณในวิธีการใช้ชีวิตครับ

> วิธีอันโง่เขลา ที่สรรพสัตว์ใช้ในการดับทุกข์ มี ๒ วิธี คือ กามสุขัลลิกานุโยค อธิบายง่ายๆ ว่า วิธีคล้อยตามความปรารถนา คือ เมื่อปรารถนาสิ่งใดก็ให้สมปรารถนาในสิ่งนั้น ความทุกข์ก็ระงับดับไป และ อัตตกิลมถานุโยค หมายถึง วิธีหักห้ามความปรารถนา คือ เมื่อเกิดปรารถนาสิ่งใดก็แก้ไขหักห้ามตรงๆ บ้าง หันเหจิตใจไปสู่อารมณ์อื่นที่สุขุมประณีตกว่า เช่น การเล่นกีฬา เล่นต้นไม้ เป็นต้นบ้าง ในที่สุดความทุกข์นั้นก็ระงับดับไป
สรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่า ล้วนแสวงหาพระนิพพานแก่ตนด้วยวิธีการอันโง่เขลาทั้ง ๒ วิธี มาเป็นเวลานาน ความทุกข์ก็ยังเกิดมีมาให้ดับอยู่ร่ำไป จนพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมาในโลก และทรงรู้แจ้งจึงชี้แนวทางที่ถูกต้องให้ดำเนินตาม
ทรงชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่แท้จริง อยู่ที่ตัวความปรารถนานั้นนั่นเอง ถ้าสามารถทำความเข้าใจให้แจ้งชัด รู้ถึงเหตุปัจจัยการปรุงแต่งของมัน หรือรู้รากเหง้าของมัน ธำรงจิตเสียใหม่ให้ถูกต้อง ธำรงจิตให้อยู่โดยประการที่ความทุกข์ไม่อาจท่วมทับได้ โดยประการที่เหตุปัจจัยทั้งหลายไม่อาจปรุงแต่งจิตให้หลงโง่เขลาได้ ดังนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าได้บรรลุถึงวิธีการดำรงอยู่อย่างไม่มีทุกข์โดยสิ้นเชิง

> เขาไม่รู้ว่า ถ้าเขาเองเพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหยุดความกระวนกระวาย เพราะการแสวงหานั้นเสีย (ผมคิดว่าไม่ได้หมายความว่า ให้หยุดแสวงหา) พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา เพราะว่าจิตนี้คือพุทธะ นั่นเอง

> มันเป็นเรื่อง ที่เพียงแต่ตื่นและลืมตาต่อจิตหนึ่งนั้นเท่านั้น และไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร

กลุ่มนี้เป็นเรื่องการลุถึงจุดหมายสูงสุด

> จิตของเรากับสิ่งต่างๆ ซึ่งแวดล้อมเราอยู่นั้น เป็นสิ่งๆ เดียวกัน ถ้าเราทำความเข้าใจได้ตามนี้จริงๆ เราจะได้ลุถึงความรู้แจ้ง เห็นแจ้งได้โดยแวบเดียวในขณะนั้น และเราเป็นผู้ที่ไม่ต้องเกี่ยวข้อง ในโลกทั้งสามอีกต่อไป เราจะเป็นผ็อยู่เหนือโลก เราไม่มีการโน้มเอียง ไปสู่การเกิดใหม่อีกแม้แต่นิดเดียว เราจะปราศจากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง และเป็นสิ่งเดียวกับ “สิ่งสูงสุด” นั้น เราจะได้ลุถึง ภาวะแห่งความที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกต่อไป ความว่างนั้นจึงบริสุทธิ์ และสว่าง รวมเข้ากับความว่าง บริสุทธิ์ สว่าง ของจักรวาลเดิม

> ภาวะอันนั้นจะเรียกว่า "มหาสุญญตา" หรือ "จักรวาลเดิม" หรือว่าเรียก "พระนิพพาน" อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เราปฏิบัติมาก็เพื่อถึงภาวะอันนี้

ความจริงมีอีกมากครับที่หลวงปู่ท่านพูดถึง ธรรมอันเป็นหนึ่ง นี้เอาไว้ แต่มันจะยาวมากเกินไป

คุณนพรัตน์ครับ ขอนอกเรื่องที่ไม่ตรงกับคำถามนัก อยากเล่าว่า ตัวผมเองก็ได้อาศัยข้อความทำนองนี้ เป็นสื่อในการเทียบเคียงให้เกิดความเข้าใจถึงธรรมะข้างต้นที่พูดถึงกัน มาโดยตลอด รวมทั้งจากของจากครู อาจารย์ ปราชญ์ ท่านอื่น ของทั้งพุทธและศาสนาอื่นๆ โดยเฉพาะฮินดู หรือเซน หรือเต๋า อยู่ด้วย คือผมคิดว่าผมเลือกเป็น คนตาบอดที่ชอบคลำช้าง เพื่ออย่างน้อยได้รู้ว่า มันใหญ่มากและผิวหยาบๆ แล้วมันน่าจะตรงกับที่เราเคยได้เห็นมาบ้างหรือไม่ หรือคนละเรื่องกันเลย

ผมยังค้างตอบข้อสองอยู่นะครับ ไม่ได้ลืม และขอขอบคุณ คุณKarn และท่านอาจารย์ด้วยครับ ที่ช่วยขยายมุมมองในเรื่องนี้


ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 14/10/2008
ขอบพระคุณคุณนันท์มากๆครับ อธิบายได้คร่าวๆแค่ว่ารู้สึกดีมากๆ จิ๊กซอว์บางช่องลงล๊อค แต่รูปภาพรวมก็ขยายใหญ่ขึ้นต่อเนื่องไปอีก นอกนั้น คือคำ ขอบคุณๆ
ชื่อผู้ตอบ : Karn ตอบเมื่อ : 14/10/2008
มันเป็นปมอันแสนปวดร้าวกับศาสนาพุทธของผม(เหมือนนุ่น วรนุชในบทพญานาคสาวในละครเรื่องกาษานาคาช่อง 7 ที่ชาติที่แล้วพระเอกละทิ้งตนหนีไปบวชชาตินี้เลยทั้งโกรธและแค้นศาสนาพุทธเสมอมาจนเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น) คือผมอยู่ปราจีนบุรี ไปเที่ยว อ.วังน้ำเขียวกับลูกพี่น้องคนสนิทและแม่และขากลับแวะห้างเทสโก้ โลตัสที่เพิ่งเปิดใหม่ของจังหวัด(อารมณืประมาณตื่นเต้นจังหวัดกูมีห้างซักที) แวะเข้าไปในร้านซีเอ็ดบุ๊คซ์ แล้วเมื่อนั้นสงครามนิก-พุทธครั้งที่1 จึงปรากฏขึ้น เมื่อผมไปเจอหนังสือชื่อว่าพระพุทธเจ้าสอนให้รวย ผมก็คิดว่ามีด้วยหรือวะพระพุทธเจ้าสอนให้รวย มีแต่จะให้ตัดกิเลส เปิดไปหน้าหลังถึงกับผงะ! คนเขียนมันบอกว่า(ขอเรียกว่ามันเพราะการเขียนทำลายจิตใจคนอ่านโดยอ้างเป็นนามพุทธไม่จับมันเผาทั้งเป็นก็บุญโข) พระพุทธเจ้าชี้ชัดดาราตกนรกแน่นอน! ผมตกใจมากเลยซื้อมาอ่าน พบเนื้อหาที่พูดถึงพระไตรปิฎกบทหนึ่งที่ตาลบุตรศิลปินดาราในสมัยนั้นไปถามพระพุทธเจ้าว่าผมเป็นดาราให้ความบันเทิงคนผมต้องได้ขึ้นสวรรค์ใช่ไหม พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธที่จะตอบ แต่ทรงทนการรบเร้าไม่ไหวเลย ตอบว่าเป็นดาราไปมอมเมาให้คนมีกิเลสตกนรก แล้วก็ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อความสำเร็จที่มาจากพระพุทธเจ้า ของ ศิริพงศ์ อัครศรียุกต์ ที่บอกว่าเลิกเชื่อตัวเองเพราะไม่รู้จริงหันไปเชื่อพระพุทธเจ้าทุกอย่าง(ซึ่งผมเกลียดมากไอ้ความคิดแบบนี้) พูดจูงใจทำนองว่าหนังสือข้านี่ศักดิ์สิทธิ์จัดใครลบหลู่ตกนรกหมกไหม้ มันก็ถึงขนาดล้มเลิกความฝันการเป็นนักร้องของลูก(ลูกมันยังเล็กกำลังสนใจการเป็นนักร้องตอนแรกเขาก็จะสนับสนุน แต่แค่ไปอ่านเจอพระไตรปฎกบทนี้ มันก็ไปโปรแกรมลูกในสมองทันทีว่า ดารานักร้อง=ตกนรก ซึ่งรู้สึกแย่มาก (ตอนนั้นต้องยอมรับเลยสนพ.อมรินทร์ ทำให้ผมรู้สึกว่าศาสนาพุทธถูกต้อง 100% ราวกับ 2+2=4 ยังงั้นเลย) ผมสนใจและเรียนเรื่องการท่องเที่ยวและชื่นชอบวรรณกรรม รักโรแมนติกอย่างมาก ความคิดพล่างพลู มาว่า งั้น วอลซ์ ดิสนีย์ เชคสเปียร์ โมสารท์หรือแม้กระทั่งสุนทรภู่แม่งก็ตกนรกหมดสิผมยอมไม่ได้ ไปหาหนังสือของพุทธทาสมาอ่าน เพราะเห็นว่าท่านน่าจะรู้เกี่ยวพุทธดีที่สุด ทำให้ผมเหมือนยกภูเขาออกจากอก คำตอบของท่านเหมือนกับคำตอบของหนังสือ QUANTUM SUCCESS (ที่คุณวันชัยเอาแปลด้วยพระองค์เอง คาดว่าออกงานหนังสือช่วงมีนาคม) ว่าความสำนึกรู้หรือสภาวะจิตของเราเนี่ยแหละถ้ามันสวรรค์ตอนนี้ ตายไปมันก็ไปดี ถ้ามันนรกตอนนี้ตายไปก็ไปไม่ดี ก็คือพลังงานในสภาวะจิตมันจะกำหนดผลกรรมหรือสิ่งที่เราจะได้ ผมเลยสบายใจแต่ก็มาขัดแย้งกับหนังสือของท่านพุทธทาสคือ ท่านเชียร์นิพพานมากไป ราวกับสุขและทุกข์มันไม่ดีทั้งคู่
ตามหลักเหตุและผลหรืออิทัปปัจยตา ถ้าสภาวะจิตผมเป็นอย่างไรผมจะกำหนดเหตุการณ์ที่จะเข้ามาสู่ผม ถ้าผมร้อนรุ่มอยู่ตลอดเวลาผมเชื่อว่าถ้าผมตายไปขณะที่ใจกำลังร้อนรุ่มผมต้องไปอยู่ในภพที่เหมาะกับสภาวะจิต(ซึ่งอาจจะเป็นนรก) แต่ถ้าสภาวะจิตผมเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ร่างเริงเบิกบานมันก็เป็นเหตุให้ผมเจอสภาวะนั้นเรื่อย แต่ท่านพุทธทาสไม่อยากให้คนมีทั้ง2สภาวะ คือต้องมีเหตุและผลต่อเนื่องกันไม่สิ้นสุด ท่านสอนให้ตัดเหตุซะ แต่ท่านไม่เหมือนโอโช่ตรงที่ท่านมีทัศนะคติกับมนุษย์เหมือนมันสภาวะที่ทุกข์ทนไม่น่าอยู่แต่โอโช่นั้น WORD หรือคำแต่ละคำที่บรรยายมนุษย์ที่เข้าถึงจิตวิญญาณพูดแต่ว่ามันสวยงาม เป็นบทกวี เป็นเสียงดนตรีเป็นโรแมนติก ซึ่งขณะนั้นการท่องเที่ยวยังไม่บูมเหมือนสมัยนี้แต่ท่านก็เหมือนต่อต้านการท่องเที่ยวหรือบทเพลงหาว่าเป็นกิเลสลุ่มหลงเหมือนกัน ผมจึงเห็นด้วยกับอ.วสันต์ที่ยังไม่มีใครในศาสนาพุทธที่แสดงที่ความงดงามได้เหมือนคนที่เขาไม่ถือศาสนาใดทั้งสิ้น ซึ่กงารยึดติดกับศาสนามันบ่อนทำลายสภาวะความงดงามของผมที่เป็นค่านิยมหลักของผมมาก(เพราะพอจิตใจผมจะเสพควาสวยงามที เสียงของปราชญ์ชาวพุทธหลายคนก็ก้องเข้ามาในหัวให้รู้สึกตะขิดตะขวงใจว่า "มันเป็นกิเลส" แถมมีหนังสือของแม่ชีดร.ไพเราะที่ใช้นามปากกาว่าสิริวรุณที่ชื่อ อิทัปปัจยตา อำนาจสูงสุดของธรรมชาติกับคิดให้เป็นเดี๋ยวเห็นเอง ของสนพ.สุขภาพใจ ต่อต้านการท่องเที่ยวและการมีเป้าหมายส่วนตัวโดยใช้วิธีกระแนะกระแหนอย่างสุดโต่ง ประมาณว่าถ้าใช้หลักเศษฐศาสตร์แบบพุทธจะไม่มีการท่องเที่ยว ถ้าเด็กไม่หลงค่านิยมผิดๆจะต้องเกลียดการมีเพศสัมพันธ์เข้ากระดูกดำ ทั้งที่พออ่านของ OSHO เราจะรู้สึกว่าเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งสวยงามรวมถึงหนังสือฝรั่งหลายเล่มทั้ง สนทนากับพระเจ้าและกฏแห่งการดึงดูดเพื่อดึงดูดคนรัก ของ สนพ.ต้นไม้ จึงฝากให้พิจาณาพิษสงของการยึดติดทางศาสนา ผมคนนึงแหละสถาปนาเป็นแบบ OSHO กับ เอ็คฮาร์ท โทเล่คือ ขอไม่มีศาสนาใดทั้งสิ้น!




ชื่อผู้ตอบ : นิก(ผู้คลั่งไคล้จิตวิญญาณ โดยหลักการที่งดงาม) ตอบเมื่อ : 14/10/2008
ผมขอแทรก เล่าเรื่องใกล้ตัวผมเรื่องหนึ่งครับ

เหตุที่ทำให้ผมได้คิด จากเรื่องที่จะเล่านี้ เกิดจากลูกสาวและลูกชายของผม ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงวัยรุ่นทั้งคู่ และก็เหมือนวัยรุ่นทั่วๆ ไป ที่ชอบฟังเพลงเกือบจะตลอดเวลา เวลาที่ขึ้นรถไปด้วยกัน ทันทีที่ปิดประตูรถ ไม่คนใดคนหนึ่ง ก็จะต้องเอื้อมมือมาเปิดวิทยุหาคลื่นโปรดในทันที หรือบางครั้งถึงขนาดเตรียมแผ่นซีดีเพลงโปรด ขึ้นมาเปิดด้วยเลยก็มี ผมจึงต้อง(จำใจ)ฟังเพลงที่ถูกเปิดนั้น จนกระทั่งเราถึงที่หมายลงจากรถ ซึ่งบ่อยครั้งที่ผมอยากจะบอกพวกเขาว่า ไม่ต้องเปิดเพลงหรือขอแบบเงียบๆ บ้างได้ไหม แต่ก็ไม่ได้บอกออกไป เพราะพอนึกย้อนกลับไป ตอนที่ผมอายุเท่าๆ พวกเขา ตัวผมเองก็มีความสุขแบบเดียวกับเขาเหมือนกัน

อยู่มาวันหนึ่ง ตัวผมและลูกทั้งสองคน มีเหตุให้เราต้องไปรอทำธุระบางอย่าง ใกล้บริเวณที่เขากำลังขุดเจาะพื้นถนน ซึ่งคงพอจะนึกกันออกนะครับ ว่ามันจะมีเสียงของเครื่องเจาะกระแทกกับพื้นคอนกรีต ที่ทำให้เกิดความรำคาญจากความดังที่แสนสั่นประสาทของมันขนาดไหน และจำต้องทนอยู่ตรงนั้นพักใหญ่ๆ จนเสร็จธุระ จึงรีบโทรเรียกภรรยาของผม ให้ขับรถวนมารับเราออกจากพื้นที่อึกทึกนั้น

ทันทีที่เราทั้งสามคน (ผมและลูก) ขึ้นรถ ปิดประตูและขับจากมา เสียงอึกทึกที่ต้องทนอยู่เมื่อครู่นั้น ก็หายไป พร้อมกับที่ลูกชายและลูกสาวของผม เอ่ยขึ้นเกือบจะพร้อมๆ กันว่า "ค่อยยังชั่ว" และนั่งเฉยๆ อยู่อย่างนั้นโดยไม่ยื่นมือมาเปิดเพลงจากวิทยุ เหมือนเช่นเคย ไปอีกพักใหญ่ๆ จนเกือบจะถึงบ้าน

ที่ผมได้คิดขึ้นในตอนนั้นก็คือว่า ทั้งลูกสาวและลูกชายของผม คงรู้จัก ความสุข อันเกิดจาก "เสียงแห่งความเงียบ" เข้าบ้างแล้ว

และมันทำให้ผมหวังว่า ลูกชายและลูกสาวของผม จะได้รู้ว่า มันไม่ได้มีแค่ซีกของ ความทุกข์ หรือ ความสุข แบบที่เขาคุ้นเคยอยู่ เพียงแค่นั้น ความจริงมันมี "ความ" อีกความหนึ่ง ซึ่งเราอาจต้องออกไปพ้นจาก ความทุกข์ หรือ ความสุข แบบที่คุ้นชินนั้น และลองลิ้มรสสิ่งใหม่นั้นดู ซึ่งก่อนหน้านี้ผมไม่รู้จะบอกอย่างไรให้เขาเข้าใจ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 15/10/2008
บางทีใน "ความ" นั้น น่าจะเป็นการได้หันหน้ากลับมาเข้าหาตนเอง และได้พบกับความจริงในความรู้สึกของตัวเอง รึเปล่าครับ? พออ่านปุ๊ป ผมก็รู้สึกได้แบบนี้ ขอคำแนะนำและความเห็นของคุณนันท์หรือผู้รู้ท่านอื่นครับ flow....
ชื่อผู้ตอบ : Karn ตอบเมื่อ : 15/10/2008
ขอบคุณคุณนันท์มากนะคะที่ให้ข้อมูลและความชัดเจนในหลายๆเรื่องเกี่ยวกับแนวทางของดีพัค โชปรา เมื่อเทียบกับพุทธศาสนา และขอบคุณ อาจารย์วสันต์ คุณKarn และคุณนิกที่ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยค่ะ ระหว่างที่รอคำตอบสำหรับคำถามในข้อที่สองจากคุณนันท์ อยากเล่าให้ฟังว่าได้เคยนำแนวทางของดีพัค โชปราไปคุยแบบไม่ได้ลงในรายละเอียดนักกับพระอาจารย์ที่สอนวิปัสนากรรมฐาน ท่านฟังดูคร่าวๆแล้วบอกว่าน่าจะเป็นแนวของศาสนาพราหมณ์หรือพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งผู้ปฏิบัติในแนวนี้อาจบรรลุได้แค่ขั้นสมถะสมาธิหรือ”ฌาน” (จะเป็นสภาวะที่ ดีพัค โชปรา เรียกว่า”จิตเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล” หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจนะคะ) คือมีความสุขสงบหรือแม้แต่อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหาะเหิรเดินอากาศได้ แต่ฌานนั้นเสื่อมได้หากเราออกจากสมาธิแล้วขาดสติตามรู้กิเลสไม่เท่าทันในบางขณะ หรือหากดำรงไว้ได้ก็อาจเกิดการ”ยึดติด”ในสุขภาวะนี้ได้เพราะเป็นความรู้สึกที่เบาสบายและเป็นความสุขอย่างลึกซึ้งในจิตใจ ทางที่ถูกต้องท่านบอกว่าเราควรปฏิบัติให้ถึง”วิปัสนาญาณ”ซึ่งเป็นปัญญาญาณมองเห็นความเป็นอนัตตาของทุกๆสิ่ง ให้มี”สติ”คือรู้เท่าทันอารมณ์และกิเลสในทุกขณะจิต ควบคู่ไปด้วย เช่นนี้จึงจะเป็นการหลุดพ้นที่แท้จริง... ซึ่งเคยฟัง ท่านติช นัท ฮันห์ บอก ว่าสภาวะนี้จะถือเป็นนิพพานเล็กๆในชั่วขณะจิตก็ได้... ส่วน ดีพัค โชปรา บอกในหนังสือ Golf for Enlightenment ว่า การรู้แจ้ง (Enlightenment) นั้นไม่ใช่อะไรมากกว่าการที่เราสามารถmaster สถานที่เร้นลับที่เรียกว่า”ปัจจุบัน” โดยรวมความมุ่งมั่นตั้งใจให้เป็นหนึ่งเดียวกับความสนใจใส่ใจของเราให้ได้...

เมื่อพิจารณาในแง่ดังกล่าวข้างต้น แนวทางของดีพัค โชปราก็ดูจะสอดคล้องกันกับหลักพุทธศาสนา แต่ส่วนที่ต่างกันอาจจะเป็นเรื่องของ ”ตัวตน” (self) ที่ทางพุทธศาสนามุ่งเน้นให้ไปสู่”ความว่าง” หรือ สุญญตา...มองทุกอย่างเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่ไม่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ความคิด หรือกระทั่งจิตวิญญาณและ ความทุกข์ ความสุขทั้งปวง ส่วนแนวทางของ ดีพัค โชปรา จะมองในแง่การ”มีอยู่จริง” ของจิตวิญญาณอันเป็นอมตะนิรันดร์ ซึ่งเราควรพัฒนาตัวเองให้”เข้าถึง”เพื่อให้ความศักดิ์สิทธิ์จากสภาวะดังกล่าวสามารถแสดงผ่านตัวของเราได้...ไม่ทราบเข้าใจอย่างนี้จะถูกต้องหรือเปล่านะคะ อยากขอความเห็นจากคุณนันท์และทุกท่านด้วยค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 15/10/2008
คือว่าผมไม่อยากให้เปรียบเทียบน่ะครับวานี่ตรงกับหลักพระพุทธศาสนาหรือเปล่า แบบทันตแพทย์สม สุจีรา ก็เล่นเปรียบเทียบตั้งแต่ทฤษฎีไอน์สไตด์ยันกฏแห่งการดึงดูดของTHE SECRET คำถามที่ผมต้องถามตัวเองเสมอถ้าคิดจะเปรียบเทียบคือ ถ้ามันไม่ตรงกับศาสนาพุทธแล้วมันจะเสียหายตรงไหน ถ้าผมทำตามหลักดีพัค โชปราโดยไม่ต้องรู้หลักศาสนาพุทธเลยมันก็จะได้ผลดีตามแบบดดีพัค โชปรา ซึ่งคนเป็นล้านทั่วโลกได้รับ โดยไม่ต้องมาเปรียบเทียบให้ขุ่นมัวหัวใจว่ามันตรงกับศาสนาพุทธหรือเปล่า เพราะผมทุกข์ทรมานมาตั้งแต่ต้นปีเพราะพยายามจะเปรียบเทียบเลยไม่ยอมทำตามหลักการที่เราต้องการสักที คือใจหนึ่งก็อยากทำตามดีพัค โชปรา อีกใจหนึ่งก็กลัวไม่ตรงกับศาสนาพุทธ ผมเลยเอาหนังสือของศาสนาพุทธไปบริจาคห้องสมุดหมดบ้านเหลือไว้แต่ของสนพ.ต้นไม้กับหนังสือของ OSHO และสนทนากับพระเจ้าพอ พอกันทีกับศาสนา ผมจะทำเหมือนพระนเรศวรที่ประกาศอิสรภาพในเมืองแครง ไม่ขึ้นกับหงสาวดี ผมก็ประกาศอิสรภาพในเว็บบอร์ดนี้ไม่ขึ้นกับศาสนาอีกต่อไป
ปล.จวบจนวันนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าถ้าหลักการใน THE SECRET มันจะตรงหรือไม่ตรงกับศาสนาพุทธแล้วมันไปหนักส่วนไหนของทพ.สม ขอโทษทีผมไม่อยากใช้คำแรง แต่ผมรู้สึกว่าเรากำลังเป็นทาส ถ้าคนที่เขาศรัทธาด้วยมาจากใจจริงในศาสนาพุทธหรือศาสนาไหนๆ ผมเห็นด้วย แต่ถ้าศรัทธาเพราะหนังสือธรรมะที่วางขายกลั่นเกลื่อนมาโน้มน้าวครอบงำให้เราศรัทธาโดยเรายังไม่กระจ่างแจ้งแก่ใจตัวเองตามหลักกาลามสูตรแล้วเอามายึดติดเป็นวักเป็นเวร ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
ชื่อผู้ตอบ : นิก(ผู้เชื่อจิตวิญญาณตัวเอง เท่านั้น!) ตอบเมื่อ : 15/10/2008
อีกเรื่องที่อยากบอก เวลาที่ผมนำเรื่องเกี่ยวกับหนังสือแนวเดอะซีเคร็ต รวมทั้งของสนพ.ต้นไม้ไปพูดในเว็บอื่นที่ไม่ใช่เว็บบอร์ดนี้ พวกเขาจะหาว่าผมไปหลอกล่อโน้มน้าวเขาให้หลงไหลสิ่งผิดๆ หนังสืออย่างเดอะซีเคร็ตทำให้คนมีกิเลสบ้างแหละ ขัดกับแนวทางศาสนาพุทธบ้างแหละ หรือเป็นกลยุทธิ์ทางการค้าโดยใช้นิยามใหม่ชื่อว่า กฏแห่งการดึงดูด ซึ่งเมื่อก่อนใช้นิยามว่าการคิดบวก ไม่รู้พวกนี้เขาคิดในแง่ร้ายขนาดนี้ไปได้อย่างไร เขามองโลกเหมือนกับการมีความสุข หรือสมหวังเป็นสิ่งที่เป็นไปไม้หรือไม่สมควรอย่างยิ่ง เขาจะรับไม่ได้กับ เดอะ ซีเคร็ต ที่บอกว่าทำให้คุณสมหวังทุกประการ ไม่เข้าใจว่าแนวคิดที่ว่า "มีความสุขสมหวังมากไปเป็นสิ่งไม่ดี" ORIGINAL มันมาจากไหน จะได้จัดการถูก เหมือนปัญหายาเสพติดก็ต้องจัดการกับนายใหญ่ตัวบงการยังไงอย่างนั้น
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 15/10/2008
หากคุณนิกคิดว่าได้ค้นพบหนทางที่ตัวเองต้องการจะปฏิบัติแล้วก็ขอให้ลงมือกระทำไปเลยโดยไม่ต้องลังเลสงสัย อย่าได้มาเสียเวลาและอารมณ์กับสิ่งที่กำลังแลกเปลี่ยนกันในกระทู้นี้เลยค่ะ เพราะชีวิตเป็นลีลาของแต่ละบุคคลที่จะเลือกดำเนินไป จริตของเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ในอดีตก็เคยรู้สึกทรมานในจิตใจเช่นที่คุณนิกรู้สึก เพราะรู้สึกว่าศาสนาพุทธโดยเฉพาะนิกายเถรวาทในบ้านเราจะค่อนข้างเข้มงวด ไม่น่าสนุก ชีวิตดูจะมีแต่ความทุกข์และเรื่องของการใช้กรรม ฯลฯ จนได้มาสัมผัสกับหลักธรรมของพุทธศาสนานิกายมหายานของท่านติช นัท ฮันห์ และ ของท่านดาไล ลามะ รวมทั้งของ ดีพัค โชปราเมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง เลยรู้สึกว่าหนทางแห่งธรรมะความจริงก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าเบื่ออย่างที่คิด รวมทั้งสามารถกลับมามองพุทธศาสนาในแง่มุมที่กว้างขึ้น...ตอนนี้ที่ถามคุณนันท์ในเรื่องดังกล่าวก็เพราะความสงสัยอยาก"เข้าใจ" แนวทางต่างๆให้มากขึ้น เหมือนเวลาที่จะวางแผนเดินทางไปที่ไหนที่ไม่รู้จักดี ก็มักจะชอบศึกษาก่อนจากแผนที่ของ Google Map เพื่อดูว่ามีเส้นทางกี่เส้นทางที่จะใช้เดินทางไปได้บ้างจะได้ไม่ต้องเสียเวลาหลงทางและเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกเกี่ยวกับระยะทางและการจราจร ซึ่งในความเป็นจริงเราอาจเดินทางไปเลยจากการบอกทางของผู้ที่รู้จักทางเพียงคนเดียวโดยไม่ต้องไปเสียเวลาศึกษาจากแผนที่ดาวเทียมก็ได้ ฉันใดฉันนั้น...
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 15/10/2008
คุณนพรัตน์ครับ สิ่งที่เขียนมา ช่างมีเนื้อและมีนวล จริงๆ ครับ

ขอสั้นๆ แค่นี้ก่อนนะครับ แล้วจะกลับมาต่อ ทั้งคุณนิก ด้วยครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 15/10/2008
คุณนันท์ ครับ อ.พนม ปีย์เจริญ เข้าทักทายคุณนันท์ไว้ที่กระทู้ "เรียนถาม อ.วสันต์" แน่ะครับ!!

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 15/10/2008
ยอดเยี่ยมมากค่ะ..คุณนพรัตน์
หากขึ้นเหนือ ต้องการพบกลุ่มคน"วงน้ำชา" รวมทั้คุณหมอวิธาร แจ้งมาล่วงหน้านะคะ

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 15/10/2008
คุณนพรัตน์ครับ ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งยวดว่า ในเรื่องที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรม นั้นควรมีสมดุล ทั้งสิ่งที่ทางพุทธเราเรียกว่า สมถะกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน อาจารย์ทั้งหลายท่านบอกว่า สมถะ ทำให้ได้กำลัง วิปัสสนา ทำให้เกิดปัญญา คนที่ชอบนั่งสมาธิ เฉยๆ ให้จิตนิ่งกับสมาธินั้นแต่เพียงอย่างเดียว ก็อาจติดสุขอันเกิดจากความสงบในสมาธินั้นได้ และอาจได้สิ่งที่เรียกว่า ฤทธิ์ ดังว่า

แต่มีข้อดีอย่างยิ่ง คือ เป็นการฝึกฐานจิตให้มีกำลังมั่นคงแข็งแรง ให้กับการฝึก วิปัสสนา ซึ่งเป็นการฝึกพิจารณาให้เห็นความแปรปรวน ไม่เที่ยง จนเห็นความไม่มีตัวมีตน ตามหลักที่พระท่านสอน ในเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยวิธีฝึกที่เราได้ยินกัน คือ สติปัฏฐานสี่ คือ เฝ้าดูอาการ ของกาย ของความรู้สึกที่เกิดขึ้นอยู่ในแต่ละขณะ ของจิตใจ และของความเป็นไป ให้การเฝ้าดูมีกำลังทางจิตดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่วอกแวก อ่อนแอ หรือยอมแพ้ได้ง่าย ในขณะฝึกพิจราณา

ที่คุณพรัตน์ ตั้งข้อสังเกตว่า สมถะสมาธิระดับฌาน เป็นสภาวะที่ ดีพัค โชปรา เรียกว่า”จิตเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล” หรือเปล่า ผมมีความเห็นว่า น่าจะใช่ครับ คือเป็นการเข้าเป็นหนึ่งเดียว ในมิติที่ผมอยากเรียกว่าแบบ static ซึ่งตรงนี้โชปราพูดไว้ในเรื่องให้หัดทำสมาธิ ในกฎข้อที่หนึ่ง (กฎแห่งศักยภาพอันบริสุทธิ์ฯ) แต่มีอีกมิติหนึ่งคือแบบ dynamic ซึ่งโชปราเองก็ได้พูดถึงด้วย และพูดเรื่องนี้เป็นเนื้อหาหลักของหนังสือ 7 กฎฯ เลยทีเดียว

ที่ผมพูดว่าโชปราพูดเป็นเนื้อหาหลักก็เพราะ หนังสือ 7 กฎฯ นั้นกำลังให้เราใช้หลักการเข้ารวมเป้นหนึ่งแบบ dynamic ให้ได้ในการใช้ชีวิต และใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงนั้น เลือกและสรรค์สร้างสิ่งที่ตนเองปราถนา ในทุกขณะอย่างรู้ตัว ซึ่งมีรากฐานสำคัญในการบรรลุสิ่งนี้ได้ มาจากการที่จะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงสัจจะธรรม เรื่องความเป็นของทุกสิ่ง หรือที่โชปราใช้คำว่า "การหยั่งถึงซึ่งสติปัญญาแห่งความไม่แน่นอน" ซึ่งก็ตรงกับหลัก "อนิจจัง" ซึ่งสัมพันธ์กับตรงที่โชปราเน้นเสมอในเรื่องการ "ปล่อยวาง" นอกจากนี้ตรงที่โชปราอธิบายให้เรามองในแง่มุมใหม่ที่ว่า ทั้งหมดล้วนคือ พลังงานและข้อมูล หรือ ตัวเรานั้นประกอบด้วยธาตุ เช่น คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ฯลน ซึ่งเป็นธาตุชนิดเดียวกันกับที่ประกอบอยู่ในต้นไม้ และทุกๆ สิ่ง แถมหาซื้อได้ทั่วไป นั่นคือเรื่องเดียวกับหลัก "อนัตตา" คือความไม่มีตัวตนที่แท้จริง เป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนของสรรพสิ่ง ผ่านทางระบบเหตุปัจจัยสู่ผล กระทบต่อเนื่องกันไม่จบสิ้น

ซึ่งหลักการข้างต้นเป็นหัวใจสำคัญที่โชปรา ได้พยายามสื่อสารกับเราด้วยระบบวิธีสอนของเขา และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมประทับใจหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ ที่มีความสมบูรณ์ในแง่มุมความลึกซึ้ง ในการ apply ในการดำเนินชีวิต ซึ่งอาจเป็นแง่มุมที่ไม่คุ้นชินกับผู้อ่านหลายๆ ท่าน แต่สำหรับผมนี่เป้นคำตอบหนึ่งหรือวิธีการหนึ่ง ซึ่งเปิดมุมมองของการนำหลักพุทธศาสนา ที่คนจำนวนมากเห็นว่ายากแก่การปฏิบัติหรือนำเข้าสู่วิถีทางโลก (และนั่นเป็นเหคุที่ผมต่อท้ายชื่อหนังสือว่า "ทั้งทางโลกและทางธรรม")

ผมว่าตรงนี้เกิดขึ้นจากส่วนผสมของโชปรา ที่มีฮินดูเป็นฐาน ควบคู่กับการสนใจพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งน่าจะไปในแนวมหายาน มากกว่าเถรวาทของเรา และยังได้จิตวิทยาและคริสต์ศาสนาบางส่วนของตะวันตก อีกทั้งอาชีพหมอที่มีมุมมองแบบวิทยาศาสตร์ด้วย เลยกลั่นออกมาเป็นแนวทางของตน อย่างโดดเด่นมากในความเห็นของผม

ผมชอบที่คุณนพรัตน์เล่าถึง ท่านติช นัท ฮันห์ ที่บอกว่าสภาวะนั้นถือว่าเป็นนิพพานเล็กๆ ในชั่วขณะจิตก็ได้ ผมจำได้ว่าท่านพุทธทาสก็พูดไว้ในทำนองเดียวกันว่าเป็น นิพพานอย่างอ่อนๆ เนื่องด้วยท่านพยายามบอกให้เรารู้สึกว่า นิพพานนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือว่าต้องตายแล้วจึงนิพพานได้

ส่วนเรื่องที่ ดีพัค โชปรา บอกในหนังสือ Golf for Enlightenment ว่า การรู้แจ้ง (Enlightenment) นั้นไม่ใช่อะไรมากกว่าการที่เราสามารถmaster สถานที่เร้นลับที่เรียกว่า”ปัจจุบัน” นี่นับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่โชปราเน้น และเป็นเรื่องเดียวกับหัวใจแท้ๆ ในหลักปฏิบัติของพุทธศาสนาของเรา เรื่องการฝึกจิตให้อยู่กับปัจจุบัน (ซึ่งความจริงเป็นปัจจุบันที่เคลื่อนไปในทุกขณะ)

และนี่เป็นหลักการสำคัญที่สุดของการปฏิบัติให้สำเร็จ เพราะในภาวะนั้นความคิดจะหยุดลง ในทางกลับกันก็คือ ต้องให้ความคิดหยุดเงียบลง การเข้าถึงปัจจุบันขณะจึงจะลุถึงได้ เมื่อไม่มีความคิด การปรุงแต่งใดๆ ของจืตก็ไม่เกิดขึ้น นั่นคือไม่มีการแบ่งแยกเปรียบเทียบ ไม่มีกาล มีแต่ปัจจุบันขณะที่เคลื่อนไป ในภาวะนั้นย่อมจะเห็นทุกสิ่งชัดเจนตามความเป็นจริง ด้วยอาการแค่รู้และเห้น แต่จะรู้และห็นแบบเข้าใจความสัมพันธ์ของความเป็นไปของสรพสิ่งหรือทุกสิ่งรอบตัว ขณะนั้น ณ วินาทีเหล่านั้น การกำหนดเลือกชีวิตในแบบที่ตนปราถนาที่แท้จริงและถูกต้อง จึงจะปรากฎขึ้นได้ หมายความว่าการเลือกนั้นจะไม่เกิดพิษร้ายตามมาในภายหลัง จะเรียกว่าเป็นการเลือกจากขณะที่มี "ปัญญาญาณ" ตามคำที่คุณนพรัตน์พูดถึงก็ใช่

นี่เป็นเรื่องหนึ่ง ที่โดยส่วนตัวของผมเป็นห่วง สำหรับคนที่อ่านหนังสือที่พูดสอนวิธีการที่เรียกว่า กฎแห่งแรงดึงดูด หากไม่เข้าใจอย่างแท้จริงในมูลฐานเหล่านี้ จะเกิดปัญหาใน 2 กรณีคือ ใช้ไม่ได้ผล ฝึกไม่สำเร็จ เพราะกำหนดรู้เท่าทันไม่ได้ หรือใช้แล้วเป็นพิษ เพราะจุดเริ่มของการสร้างนั้น ไม่มาจากความลึกซึ้งถึงความเป็นตนที่แท้จริง ยิ่งการสร้างจากกิเลส จะไม่เข้าใจการตั้งเป้าหมายอย่างปล่อยวาง

นี่เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผมชอบและเห็นว่าสำคัญยิ่ง ตรงที่โชปราบอกว่า "ความสำเร็จไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่มันคือวิถีแห่งการเดินทาง" มันคือทั้งหมดของชีวิต มันไม่ใช่การขอแบบแยกส่วน และการหยั่งถึงสภาวะแห่งการเห็นซึ่งความเป็นไปในทุกขณะ เพื่อการกำหนดเลือก (หรือการสร้างกรรม) ได้อย่างมีสติรู้ตัวต่างหาก คือ the secret of the secret อย่างแท้จริงในความเห็นของผม

การหยั่งถึงสภาวะแห่งการเห็นซึ่งความเป็นไปในทุกขณะ ที่ว่านั้น คือสภาวะเดียวกับการมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม การเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง ซึ่งไร้การแบ่งแยกใดๆ ดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ นี่เป็นสภาวะเดียวกับที่พลังงานอันศักดิ์สิทธิ์หรือพระเป็นเจ้าทำงานผ่านเรา หรือการอยู่ในวิถีแห่ง "เต๋า" หรืออยู่ในพื้นที่ของพระเจ้า หรือการเป็นพระเจ้าเสียเอง แบบที่ในหนังสือ สนทนากับพระเจ้าบอก หรือสภาวะเดียวกับที่ OSHO พูดถึงเรื่อง "total being" หรือ "silence with no effort" ก็เช่นเดียวกัน

คุณนิกครับ ผมขอแสดงความเห้นสั้นๆ จากประเด็นของคุณนิกว่า เห็นด้วยว่า หากปฏิบัติตามหลักของ ดีพัค โชปราโดยไม่ต้องรู้หลักศาสนาพุทธเลย มันก็จะได้ผลดี ตามแบบดดีพัค โชปรา ซึ่งเป็นสิ่งดีแน่นอนครับ แต่เมื่อใดที่คุณนิก ปฏิบัติได้อย่างลุถึงหัวใจแห่งความสำเร็จตามหลักของโชปราจริง หรือลุความเข้าใจถึงหนังสือของ OSHO หรือ เอ็คฮาร์ท โทเล่ หรือ ได้สนทนากับพระเจ้าตัวจริง ผมว่าคุณนิกอาจจะต้องกลับไปขอหนังสือของศาสนาพุทธ ที่นำไปบริจาคห้องสมุดหมดบ้านนั้นคืน เพราะวันนั้นคุรนิก จะเข้าใจแก่นแท้ของพุทธศาสนา และไม่ไปสนใจกระพี้หรือเปลือก ที่คุณนิกรำคาญจนทนไม่ไหวอยู่ในขณะนี้

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นด้วยคือ การไม่ตกเป็นทาสของพุทธศาสนา และควรรวมถึงศาสนา หรือบุคคลอื่นใด เพราะนั่นย่อมปิดบังหนทางอื่นๆ ที่มีอยู่มากมาย

ส่วนที่เป็นความเห็นเรื่อง ที่คุณนิกบอกว่าขอเป็นคนไม่มีศาสนาแบบOSHO กับ เอ็คฮาร์ท โทเล่ หรือการยึดเนื้อหาใน หนังสืสนทนากับพระเจ้า แทนนั้น ผมว่าบุคคลเหล่านั้นนับเป็น idol ของผมเช่นกัน เพียงแต่ผมคิดว่า กว่าผมจะก้าวถึงจุดนั้นได้ ผมต้องเข้าใจแล้วอย่างยิ่งถึงสัจจะหรือหลักธรรมอันเป็นแก่นของทุกศาสนา ว่าความจริงแล้วล้วนแต่สัมพันธ์เป็นสัจจะธรรมอันเดียวกัน จนไม่อาจกล่าวได้ว่า นี้เป็นของศาสนาใด นั่นเป็นของศาสนาใด และหลุดจากเปลือกของการสื่อสารผ่านวิธีการของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง จึงต้องใช้วิธีไม่มีสังกัดดีกว่า ครับ

ส่วนเรื่องการเปรียบเทียบนั้น ก็เป็นเรื่องปกติที่จำเป็นต้องมีในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ เพราะความเข้าใจในระดับต้นๆ นั้น จำเป็นต้องใช้การเทียบเคียง กับฐานข้อมูลความรู้ในอดีตของแต่ละคนที่อยู่ในความทรงจำ มา relate หรือ compare ไม่เช่นนั้นพูดกันไม่รู้เรื่องเลยครับ ซึ่งเป้นวิธีปกติของการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ ส่วนกรณีเปรียบเทียบแบบของฉัน"ดีกว่า" ส่วนของเธอ "ด้อยกว่า" อันนี้เห็นด้วยเลยครับว่าไม่ควรอย่างยิ่ง และก็เป็นเรื่องเดียวกับที่คุณนิก พบเจอในเวบบอร์ดที่เล่ามา ผมคิดว่าคงเป็นเรื่องของการไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ หรือไม่พยายามเข้าใจก่อน และใช้อคตินำหน้า

คุณ Karn ครับ ขออนุญาตให้ความเห้นแบบเหมารวมไปแล้วนะครับ

ท่านอาจารย์ครับ ขอบพระคุณครับ ได้กลับเข้าไปทักทายด้วยความระลึกถึง แล้วครับ

คุณนพรัตน์ครับ ไม่รู้ว่าแผนที่ของผมจะช่วยได้แค่ไหน พยายามใช้สติปัญญาเต็มที่ครับ แต่ไม่รู้ว่าจะพาเข้ารกเข้าพงหรือเปล่า คุณนพรัตน์ เคยอ่านงานของท่านกฤษณษมูรติ หรือเปล่าครับ โดยส่วนตัวผมว่าเยี่ยมยอด ในการพิจารณาความคิด อยากแนะนำคุณนิก ด้วยเช่นกันครับ ท่านกฤษณามูรติ นี่ตัวจริงที่ประกาศตนว่าไม่มีศาสนา ด้วยการไม่ต้องการให้คนยึดติดในผศาสนา หรือแม้แต่ตัวท่าน หรือคำสอนของท่าน

สุดท้าย . . คุณนพรัตน์ครับ ผมยังค้างคำตอบข้อสอง ของคุณนพรัตน์อยู่เหมือนเดิมครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 16/10/2008
คุณนันท์
โดยส่วนตัวแล้วคุณนันท์ใช้วิธีการ ไหน ที่จะเข้าสู่สภาวะปัจจุบันครับเจาะรายละเอียดนิดหนึงนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 16/10/2008
คำตอบของคุณนันท์ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของหลักธรรมต่างๆกระจ่างขึ้นอีกมากเลยค่ะ รวมทั้งยิ่งเห็นความเป็นอัจฉริยะทางปัญญาธรรมของดีพัค โชปรา มากขึ้นด้วย ขอบคุณนะคะสำหรับ Mind map ในครั้งนี้จากเขาโงวลังกั๋ง...
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 16/10/2008
คุณนีโอครับ ต้องสารภาพว่า ตัวผมเองนั้นเป็นพวกนอกระบบ หรือพวกนอกรีตนอกรอยพอสมควร จึงเป็นสาเหตุให้ต้องตอบว่า ตัวผมใช้หลายวิธีมากครับ แล้วแต่ว่าขณะที่เกิดสติรู้ตัวว่าตัวเองกำลังหลุดวงโคจรอยู่นั้น เกิดตอนไหน หรือทำท่าไหนอยู่ เป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ

บางทีเกิดนึกขึ้นได้ก็พยายามตั้งสติ ปรับอาการทางกาย และกำหนดลมหายใจสักนิด พอให้ได้ฐานแล้วก็ค่อยๆ ปรับสภาพภาวะการรับรู้ต่อสิ่งโดยรอบ ให้เสมอกัน ทำความคิดให้ค่อยๆ เงียบลง หรือบางทีก็ใช้นึกคำดีๆ ที่เตือนใจเรา ให้นึกแก่นของเรื่องนี้ หรือที่เราชอบ มาช่วยอีกแรง ซึ่งก็แล้วแต่ระดับการหลุดวงโคจรในขณะนั้นด้วย บางทีก็สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างก็ไม่ไป serious อะไร สบายๆ หากบางเวลาขับรถ ก็มีใช้ต้นไม้ข้างทางเตือนใจหรือสติ แล้วปรับสภาพการรับรู้ ให้แผ่ออกไปเป็นหนึ่งเดียวกับเขา ก้ได้ผลดีในบางครั้ง บางทีก็ใช้การขับรถนั่นแหละ ปรับการรับรู้ของตัวเองให้กลมกลืนไปกับรถและการเคลื่อนไปก็มี

เหตุที่ผมเป็นอย่างนี้ คิดว่าก็คงเป็นเพราะจริงๆ แล้ว ตัวผมเป็นประเภทไม่มุ่งเน้นเกินไปในการฝึกปฏิบัติ ชอบค่อยเป็นค่อยไป ให้มันพัฒนาไปพร้อมๆ กับการดูธรรมชาติของตัวเองเป็นที่ตั้ง เกิดมาเคยไปฝึกปฏิบัติจริงจัง โดยไปเข้าคอร์สแบบที่มี 7 วัน ครั้งเดียวเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่เหลือก็ใช้ฝึกแบบครูพักลักจำ จากหนังสือบ้าง ฟังเขาบ้าง แล้วปรับให้เข้ากับธรรมชาติของตัวเอง หรือทดลองใช้ในขณะที่นึกขึ้นได้ ในแต่ละสถานะการณ์ที่เป็นอยู่ ว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี

อีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ผมเป็นเช่นนี้ คงเป็นเพราะ การเริ่มต้นเรื่องเหล่านี้ในชีวิตของผม ไม่ได้เกิดจากการอ่านหนังสือ หรือตำรา หรือฝึกฝนจากผู้รู้มาก่อน แต่เกิดจากการพยายามแก้ปัญหาบางอย่างของตนเองในขณะเรียนหนังสือ แล้วก็เรียนรู้ ทดลอง หาวิธีปรับจิตปรับใจด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้ผลบางอย่าง แล้วหลักการจากหนังสือหรือผู้รู้จึงตามเข้ามา

เรื่องเพื่อผลบางอย่างที่ว่านั้น มันเป็นสิ่งที่ผมมารู้ภายหลังว่า ผล นั้นมันคือ สิ่งที่ใกล้เคียงหรือเป็นจุดเริ่มต้นของสภาวะที่เราคุยกันอยู่นี้ ซึ่งขณะนั้นผมไม่รู้หรอกว่า มันคืออะไร มีคุณค่าอะไร รู้เพียงแต่ว่าดีจัง

ขณะนั้นคำว่า สมถะหรือวิปัสสนา คืออะไร ฝึกอย่างไร ยังไม่เข้ามาในชีวิต เนื่องจากหนังสือเล่มแรกๆ ที่เริ่มหาอ่าน ไปตามจังหวะของการเรียนรู้นั้น จะเป็นหนังสือพวกเต๋า เซน หนังสือของท่านติช นัท ฮันท์ ฮวงโป เว่ยหล่าง ทางสายมหายาน หรือของกฤษณามูรติ คาลิล ยิบราล รพินทรนาถ ฐากูร เป็นต้น แล้วจึงค่อยได้พบกับหนังสือท่านพุทธทาส ซึ่งท่านก็จะเป็นพุทธแบบใจกว้าง หลังจากนั้นจึงค่อยๆ มารู้แบบสายปฏิบัติของเรา ซึ่งก็แค่เรียนรู้เพื่อจับความเข้าใจ ไม่ได้เป็นพวกเข้มข้น ทั้งหมดจึงดูเหมือนรู้มาก แต่รู้ไม่ละเอียด โดยเฉพาะการรู้แบบแผนโดยละเอียดต่างๆ

เล่ามาเสียยาว เพราะอยากเรียนให้คุณนีโอ เข้าใจลักษณะของผม ก็ถือว่าเล่าสู่กัน เพื่อรู้จักกันมากขึ้นก็แล้วกันครับ

ขอเพิ่มเติมครับ วิธีหนึ่งที่ผมชอบใช้และได้ผลมากกับตัวเองคือ การบันทึกความรู้สึก ที่เราคิดว่าใช่หรือไม่ก็ใกล้เคียงของสภาวะนี้ ที่เราได้มีโอกาสหยั่งๆ ถึง ว่ามันมีลักษณะหน้าตาอย่างไร บรรยายอย่างไรก็ได้ ที่ตัวของเราเข้าใจ คนอื่นมาอ่านไม่เข้าใจก็ไม่ต้องสนใจ(ซึ่งมันมักจะเป็นเช่นนั้นครับ) บางทีบางคำของเรานี้นี่แหละ ที่เราเอามาใช้เป็นสะพานส่วนตัวได้

อีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้ ซึ่งเคยเล่าไปแล้วในกระทู้ก่อนๆ คือ การอ่านข้อความที่บรรยายการหยั่งหรือดำรงอยู่ในสภาวะดังกล่าว ของผู้ที่เราเชื่อว่าถึงซึ่งสภาวะนั้น ซึ่งมักอยู่ในรูปของบทกวีหรือข้อความที่ไม่ยาวนัก ครับ

เอาเท่านี้ก็แล้วกันนะครับ ไม่รู้ว่าจะยิ่งทำให้เขวไปใหญ่หรือเปล่า
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 16/10/2008
ขอบคุณมากครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 17/10/2008
ขออนุญาตถามกลับ แล้วคุณนีโอใช้วิธีส่วนตัววิธีไหนครับ อยากขอแลกเปลี่ยน เล่าสู่กันบ้างนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 17/10/2008
ตอบคุณนันท์ ครับ
- ตอนนี้เกือบจะทุกวัน ผมจะแบ่งเวลา ช่วงค่ำ สวดมนต์ และทำสมาธิประมาณ 1 ชม.ทุกวัน จุดประสงค์ เพื่อให้เป็นไปตามกฏข้อที่ 1 เพื่อเป็นการซ่อมแซม จิตใจ ที่ตั้งแต่ เช้า-เย็น เราได้เจอกับผู้คนและสถานการณ์ ต่าง ๆ เข้ามากระทบหรือหลอกล่อทำให้เรายึดติด หรือคิดมาก
- ในแต่ล่ะวัน ตอนเช้า ผมจะพูดกับตัวเองหน้ากระจกว่า เรานั้นเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ ในความมั่งคั่ง ความสมบูรณ์ที่จะมีความสุขอยู่เเล้ว( ย้ำกับตนเอง)
- ระหว่างวัน ถ้าเกิดรู้สึก ตึงเครียด ความรู้ตัว จะเกิดขึ้นได้ทันกับอารมณ์ ซึ่งผมก็จะกลับไปทบทวนว่าเรานั้นมีสิทธิ์ ที่จะมีความสุขและความมั่งคั่ง อีกครั้ง ซึ่งตรงนี้ อาจเกิดจากคนรอบข้าง นั้นทำให้เราขุ่นใจโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ผมนั้น ก็จะเตือนตัวเองด้วยคำสอนของ สนทนากับพระเจ้าว่า ทุกคนนั้นล้วนเลือกและทำทุก ๆ สิ่งในแบบที่เค้าต้องการ ไม่มีอะไรที่ถูกหรือผิด เมื่อมองจากมุมมองของคนผู้น้น แนวคิดนี้ช่วยผมได้ เยอะทีเดียวครับคุณนันท์ พระเจ้าไม่ตัดสินอะไรซักสิ่ง ไม่มีถูกไม่มีผิด และอีกขณะที่ผมกำลังจะไปทำกิจกรรมอะไร ผมจะใช้ จินตนาการถึงเหตุการณ์ ล่วงหน้าไว้อยู่บ่อย ๆ ในแบบที่เราต้องการ แต่ถ้าเกิดเราอยู่ในสภาวะ กลัว ไม่ว่าจะจินตนาการอย่างไรก็มีแต่ความคิดลบ ผมก็จะเข้าหาความคิดที่ว่า ถ้าเราเป็นพระเจ้า เราจะกังวลกับปัญหานี้ไหม ? ครับ รวม ๆ ก็คงมีเท่านี้ อ้อ ที่ผมได้รุ้อีกอย่างนะครับ ถ้าเราอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบัน จริง ๆ เราจะมีความรู้สึกว่า เบา และสามารถมีพลังในการคิดและตัดสินใจ ในตอนนั้นได้ดี เพราะโดยทั่วไป เรามักจะเข้าใจว่าเรากำลังอยู่กับปัจจุบันแต่วิธีคิดนั้นมักกังวลกับเรื่องอนาคตเสมอ ซึ่งพอลองได้ปล่อยวางให้มันเป็นไปตามนั้น ปรากฏว่า ผมจะเจอหนทางในการหาทางออกได้เอง ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช้ทางที่ผมเลือกไว้ แต่พอลองคิด ๆ ดู มันกลับเป็นหนทางที่ดีต่อทุก ๆ สิ่ง ไม่ต้องฝืน เพียงแค่เปลี่ยนที่ใจเรา เท่านั้นเอง หวังว่าคงเป็นวิทยาทานนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 17/10/2008
ยินดีกับคุณนีโอด้วยค่ะ...กับการตั้งมั่นในการฝึกปฏิบัติ
หนังสือสวดมนต์รอบใหม่จะจัดส่งให้ในวันจันทร์(20ตุลา)นะคะ แถมหนังสือฝึกจิตฝึกสมาธิฯไปให้ด้วยค่ะ(จะได้ทดลองไปด้วยกัน)

หากคุณนันท์จัดตัวเองเป็นคนนอกระบบ
ก็คิดว่าในส่วนตัวแล้วคงจะอยู่ในกลุ่มคน out of order คือไม่สามารถใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งจากการบอกเล่าหรือจากการอ่านแนวใดแนวหนึ่งแล้วได้ผล ต้องเกิดการผสมผสานวิธีต่างๆ แล้วเลือกสิ่งที่ง่ายต่อการปฏิบัติหรือนำไปใช้ในภาคสนาม

จึงชอบที่จะเปรียบเทียบช่วงของการฝึกและ การนำไปใช้ให้ใกล้เคียงกับ......การเต้นรำค่ะ เพราะการเต้นรำมีเรื่องของจังหวะ ชีวิตจริงคนเราล้วนเป็นเรื่องของจังหวะ
ช่วงของการฝึก เราได้ยินแต่เสียง 1-2,3-4-5 1-2,3-4-5 แต่ในฟลอร์จริง มีสิ่งเร้ามากมาย ตั้งแต่คู่เด้นของเรา ,เวที,เพื่อนร่วมฟลอร์เดียวกัน,เสียงดนตรี,เสียงร้อง ท่ามกลางสิ่งเร้ามากมายสิ่งที่สมาธิต้องจับให้ได้มีเพียงเสียงกลอง ที่จะทำให้โลดแล่นแบบสนุกและสวยงาม ทันทีที่"หลุด" นั่นหมายถึงจังหวะผิดพลาด อาจหมายถึงเหยียบเท้าคู่เต้นของเรา หรือเพื่อนร่วมฟลอร์ มันเป็นช่วงที่ต้อง"หยุด" เพื่อจับจังหวะเสียงกลองให้ได้...และเริ่มต้นใหม่

เต้นในจังหวะที่ basic มาได้ช่วงหนึ่ง มันต้องไปต่อในระดับ advance หากคู่เต้นของเราไม่สามารถไปต่อกะเราได้ จะรู้สึกว่าการท้าทายหยุดลงหรือต้องเปลี่ยนคู่ใหม่.......เปรียบเหมือนหนังสือต่างๆที่เราใช้ค้นหาคำตอบของชีวิตในแต่ละช่วงวัย พอเจอแนวทางที่"ใช่"และสนุกรวมถึงท้าทายแล้ว....ก็ต้องการเอาหนังสือที่ไม่คิดจะอ่านแล้วไปบริจาคห้องสมุดหรือวัดต่อไป
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 17/10/2008
ขอบคุณมากนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 18/10/2008
เป็นผู้ตั้งมั่นกับการปฏิบัติ ที่มีประสิทธิผลจริงๆ ครับคุณนีโอ

คุณนพรัตน์ครับ ขอให้ความเห็นต่อคำถามข้อสองที่ค้างอยู่ครับ

ผมสรุปประเด็นของคำถามได้ว่า “Passion With Detachment” กับคำว่า “Shakti” นั้น มีแง่มุมที่สอดคล้องกับพุทธศาสนาหรือไม่ ความเห็นของผมต่อคำถามข้อนี้ คือ มีแง่มุมมสอดคล้องกัน อาจเรียกได้ว่า เป็นเรื่องเดียวกัน กับเนื้อหาของความเห็นที่ผมให้ไว้ต่อคำถามในข้อแรก

คำว่า “Shakti” นั้นผมได้ถามผู้รู้ด้านภาษาสันสกฤต ท่านบอกอ่านออกเสียงว่า “ศักติ” หมายถึง พลังศักดิ์สิทธิ์ (รวมทั้งเป็นชื่อของ ฮินดูนิกายหนึ่งด้วย) ซึ่งในความหมายว่า “พลัง” นั้น ก็คงจะตรงกับเนื้อหาที่โชปรา พูดในหนังสือ Golf for Enlightenment

ผมได้กลับไปอ่านผ่านๆ เฉพาะบทนี้ พอจับความได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากไม่ได้อ่านบทก่อนๆ หน้านั้น อันเป็นที่มา แต่คิดว่าคำว่า “Passion With Detachment” นั้น ยังคงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับหลักเนื้อหาเดิม ที่โชปรา มักพูดถึงมาโดยตลอด

ผมเข้าใจว่าแกนหลักของเรื่องนี้คือ Detachment หรือการปล่อยวาง ที่ขอย้ำตามความเข้าใจเดิมว่า ไม่ได้เป็นการปล่อยวางต่อเป้าหมาย เรายังคงตั้งมั่นต่อเป้าหมายไว้ ยังคงมีเป้าหมายในใจ แต่วางมันลง วางมันไว้ในใจแค่นั้น แต่ปล่อยวางความกลัว ความวิตกกังวล ที่มีเกิดขึ้นต่อมัน หรือต่อการดำเนินไปสู่เป้าหมายนั้น และด้วยการมีเป้าหมายนี้หากมันเป็นเป้าหมาย ที่เป็นสิ่งอันเกิดมาจาก แรงบันดาลใจของชีวิต ที่เรารัก ที่มันทำให้เรามีความสุข ลืมวันลืมคืนเมื่อได้นึกหรือกระทำมัน มันก็จะทำให้เรามีในสิ่งที่โชปราเรียกว่า Passion

ซึ่งตรงนี้ผมเลยลองนึกโยงกับคำสอนในหลักพุทธศาสนา มันน่าจะไกล้กับเรื่อง "ฉันทะ" และ "จิตตะ" ในอิทธิบาทสี่ ที่มีเรื่อง "วิริยะ" (ซึ่งผมเข้าใจว่าแปลว่า "ความเพียร" ไม่ใช่ความ "พยายาม") และ "วิมังสา" ประกอบอยู่ด้วย อันเป็นหนทางสู่ความสำเร็จที่พระพุทธเจ้าท่านทรงให้ไว้

และทั้งหมดนี้นั้น ประมวลรวมลงในพื้นที่เดียวกัน หรือสภาวะเดียวกัน เพียงแต่ว่า จะมองมันหรือเรียกมันจาก “เหลี่ยม” ไหน ทั้ง . . พื้นที่ของพระเจ้า พระเจ้าหรือพลังงานอันศักดิ์สิทธิ์ทำงานผ่านเรา ฯลฯ และอยู่ที่ใช้ประโยชน์จากการหยั่งถึงนั้นเพื่ออะไร และดังที่ผมให้ความเห็นไว้ข้างบน มันเป็นส่วนผสมของ Static และ Dynamic ซึ่งเป็นหัวใจของกฎแห่งความมุ่งมั่นและปราถนา และสัมพันธ์กับทุกๆ กฎ
ของ 7กฎฯ และเป็นเรื่องเดียวกันกับ “Surrender” (ที่ผมเคยแปลไว้เป็นหัวข้ออันหนึ่ง ของกระทู้เดิมเมื่อ 16/05/2008)

กลับมาที่หนังสือ Golf for Enlightenment บทดังกล่าว โชปราบอกว่า "พลังงานนี้ มาจากที่ๆ อยู่ภายในตัวเราเอง ที่ๆ . . ความสงบที่แท้ . . ได้ถูกลุถึงด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง" สิ่งที่โชปราบอกว่า มาจากภายใน นั้นน่าจะเป็นเรื่องเดียวกับการหยั่งถึง “อาตมัน” ภายใน ที่สัมพันธ์กับ “ปรมาตมัน” และเป็นพลังเดียวกันกับที่สร้างจักรวาลนี้ หรือที่โชปราบอกในหนังสือว่า . . มันเป็นการควบคุมพลังชนิดเดียวกันกับที่เกิดใน Big Bang . . ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับที่ พุทธศาสนาให้เราเข้าใจถึงพลังนี้ แต่ให้มองในมุมของการดำเนินไปภายใต้ระบบ เหตุปัจจัยนำไปสู่ผล เป็นการหยั่งถึงได้โยผ่านทางสภาวะ “ความสงบที่แท้” ที่ไม่ต่างกับการลุถึง ปัจจุบันขณะจิต ที่ๆ ความเงียบอย่างแท้จริงได้เกิดขึ้น ที่ๆ การปรุงแต่งของจิตไม่มี เป็นความเงียบหรือเป็นสิ่งเดียวกับที่โชปรา บอกให้เริ่มโดยการรู้จักค้นพบ “ช่วงว่าง” ระหว่างความคิด ณ สภาวะนั้นเราจะหยั่งได้ถึงพลังงานศักดิ์สิทธ์ หรือ Shakti นี้ และเป็นพลังงานเดียวกันกับ ศักยภาพอันบริสุทธิ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ตามกฎข้อที่ 1 ของ 7 กฎฯ

ผมขอยกตัวอย่างคุณลักษณะ ที่ผมเข้าใจว่า เขาได้สัมผัสหรือหยั่งถึงสภาวะของพลังงานนี้ แล้วบรรยายมันออกมาเป็นข้อความ ที่ผมประทับใจมาก มานานแล้ว ลองอ่านดูครับ . .

>เมื่อเรารู้สึกตื้นตันอย่างท่วมท้น ในความงามของเปลวไฟ อันสุกใสในชีวิตที่แท้จริง ซึ่งพุ่งขึ้นมาในจิตใจ
เราก็จะพินิจดู ด้วยความรู้สึกอันประเสริฐ
วินาทีที่เกิดเปลวไฟขึ้นนั้น.. เป็นวินาทีประวัติศาสตร์
ความรู้สึกนี้เป็นเรื่องทางธรรม..ไม่เกี่ยวกับทางโลก
ไม่ใช่แต่เท่านั้น ยังเป็นยอดแห่งความรู้สึกทางศิลปะ
เราไม่สามารถจะบรรยายวินาทีเหล่านั้นออกมาด้วยคำพูดได้
ไม่มีใครสามารถจะอธิบายได้ว่าจะเรียก วินาทีอันน่าพิศวง..
เมื่อค่าของมนุษย์.. และสิ่งที่ประเสริฐทั้งหลาย มาประสานกันได้อย่างเหมาะเจาะนั้นว่าอย่างไร
ถ้ามีสิ่งเรียกว่า “แรงบันดาลใจ” ละก็.. นี่ก็คือ “แรงบันดาลใจ” นั่นเอง

ผู้เขียนชื่อ คิมชีฮา ผมอ่านเจอเมื่อประมาณ 25 ปี ที่แล้ว ในหนังสือเล่มหนึ่ง มีแค่บทนี้บทเดียว และไม่รู้เลยว่าผลงานอื่นๆ ของเขามีอะไรบ้าง รู้แต่ว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีชื่อเสียงของเกาหลี ลองอ่านอีกชิ้นหนึ่ง นะครับ

>ธารชีวิตอันไหลผ่านสายเลือดข้า ฯ ตลอดทิวาราตรี
ไหลผ่าน โลกธาตุ และเริงรำเป็นลีลา
ชีวิตเดียวกันนี้ ผุดพลุ่งผ่านฝุ่นผงแห่งพสุธา ด้วยปราโมทย์
เป็นติณชาติเหลือคณนา ทั้งแตกผลิเป็นดอกไม้และใบพฤกษ์
ชีวิตเดียวกันนี้ไกวแกว่งเปลสมุทรแห่งชีวะและมรณะ
ทั้งเอ่อท้น และไหลผาก
ทั่วสรรพางค์ ข้าฯ เริงโรจน์ ด้วยผัสสะจากโลกแห่งชีวิตนี้
ข้า ฯ ลำพองใจ ก็เพราะจังหวะระทึกของชีพนับกัล์ปมหากัล์ป
เริงรำอยู่ในสายเลือดของข้า ฯ ในขณะนี้

ผู้เขียนชื่อ ระพินทรนาถ ฐากูร จาก คีตัญชลี บทที่ 69 เป็นกวีนิพนธิ์ที่ท่านเขียนบูชา พระเป็นเจ้า ตามปรัชญาของฮินดู แต่ท่านเข้าใจและยกย่องพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้งเช่นกัน และด้วยผลงานเล่มนี้ ทำให้ท่านเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล)

ผมยังคงมีความเห็นเดิมในส่วนของเนื้อหาว่า แกนหลักทั้งหมดนั้นสอดคล้องสัมพันธ์กันครับคุณนพรัตน์ แต่เมื่อลุถึงจุดหมายสูงสุด จะไปยังที่ๆ เดียวกันหรือไม่นั้น ไม่กล้าให้ความเห็น เช่นเดิมครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 18/10/2008
บทกวีทั้งสองบรรยายถึงสภาวะของ Passionได้อย่างชัดเจนและไพเราะจริงๆค่ะ สำหรับบทกวีของคิมชีฮานี่คุณนันท์อ่านผ่านตามาถึง 25 ปีแล้วยังจำเก็บไว้มาถ่ายทอดต่อได้ ต้องขอบอกว่า...นับถือ นับถือ จริงๆ

ขอขอบคุณอย่างสูงอีกครั้งนะคะสำหรับคำตอบที่เห็นได้ชัดว่าคุณนันท์ได้ตั้งอกตั้งใจตอบอย่างเต็มที่ทั้งสองข้อ ตอนนี้ขอซึมซับไปขบคิดพิจารณาต่อ รวมทั้งสังเกตจากการปฏิบัติในชีวิตจริงว่าจะเข้าใจและสามารถทำได้แค่ไหน...แล้วอาจจะมีคำถามข้อต่อๆไปมาถามใหม่นะคะ...
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 21/10/2008
เรื่องบทกวี ของคิมชีฮา ผมจดเอาไว้ นอกจากฝังใจครับ มันเกิดจากว่าเมื่ออ่านแล้วรู้สึกโดนจุดสำคัญในใจ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้นักว่ามันหมายถึงอะไร และด้วยความยินดีครับที่ได้ให้มุมมองความเห็น
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 21/10/2008
เพิ่งได้เจอหนังสือเก่า ของ ท่านติช นัท ฮันท์ ปาฏิหารย์ การตื่นอยู่เสมอ จับใจความว่า ให้อยู่กับปัจจุบันขณะทุกๆ กิจกรรม โดยยกตัวอย่างกิจกรรมต่าง ๆ ประจำวัน เช่น ล้างจาน หรือ เเนะนำให้หาวันพิเศษในแต่ล่ะวันให้ฝึกที่จะเพ่งกับการทำกิจกรรมเพื่อระลึถึงการอยู่กับปัจจุบันได้ดี ทีเดียว เสริมความเข้าใจกับปัจจุบันขณะได้ชัดเจนขึ้นครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 25/10/2008
เป็นหนังสือเก่าจริงๆ ครับ คุณนีโอ และสำหรับผมแล้ว คิดว่าเป็นหนังสือที่โดดเด่นที่สุดสำหรับคนที่อ่านหนังสือของ ท่านติช นัท ฮันท์ ในยุคเก่าก่อน (น่าจะประมาณ 30 ปีที่แล้ว) จัดอยู่ในระดับ คลาสสิค ที่ต้องอ่านเลยครับ

หนังสือเล่มนี้นนับเป็นเล่มแรก ที่ทำให้วัยรุ่นอย่างผมได้ยินคำว่า ปัจจุบันขณะ ซึ่งเป็นศัพท์ ที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน เนื่องจากสมัยนั้นอย่างเก่งก็ได้ยินแค่คำที่ผู้ใหญ่พูดว่าให้มี สติหรือสมาธิ ซึ่งเป็นคำสอนของพุทธแบบเถรวาทของเรา คำๆ นี้ผมเข้าใจ(เอาเอง)ว่ามาจากคำสอนของพุทธศาสนาแบบมหายาน และหนังสือของท่านติช นัท ฮันท์ ได้ช่วยทำให้คำนี้แพร่หลายรวมทั้งเกิดความเข้าใจมากขึ้น

ขอบคุณคุณนีโอ ที่ทำให้นึกถึงหนังสือเล่มนี้ ผมเองน่าจะมีอยู่ แต่เก่ามากจนต้องค้นดู ไม่รู้อยู่ตู้ไหนเหมือนกัน
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 25/10/2008
ค้นพบ รู้แล้ว ก็ละทิ้งตัวตน เอาจิตวิญญาณที่แท้จริงไปด้วย ในแดนนิพพานอันบริสุทธิ์ เรื่องเดียวกันล่ะ
ชื่อผู้ตอบ : คิดดี ตอบเมื่อ : 22/10/2010
ดีครับ คุณคิดดี
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 02/02/2011


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code