ถ่ายพลังเทใจ ไปมา ในสนามนาฬิกาทราย
สืบเนื่องจากกระทู้ก่อน ที่อ.วสันต์มีความสนใจอยากสนทนาเรื่องความเกี่ยวข้องของชีวิตกับเทนนิสครับ

ซึ่งตอนแรก ผมกะว่าจะตอบข้อสนทนาของอ.วสันต์ต่อเนื่องไปเลยครับ แต่กลัวจะรบกวนพื้นที่เจ้าของกระทู้ เลยตัดสินใจเปิดพื้นที่ใหม่เพื่อพูดถึง “เทนนิส” ที่สำหรับบางคนอาจดูไกลจากเรื่องหนังสือ หรือการหยั่งรู้อยู่ในที แต่สำหรับผมนั้น ยิ่งเวลาเดินละเอียดอ่อนและช้าลงๆ ผมกลับพบว่าเรื่องเทนนิสนั้นบางทีอาจจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน กับเรื่องหลายๆเรื่องได้ และความเกี่ยวโยงนี้มีก็มีความสวยงาม อย่างไรก็ตามการแชร์เรื่องนี้ ขอออกตัวว่าเป็นแค่ความเห็นส่วนตัวนะครับ ผมไม่ได้เป็นผู้รู้หรือกูรูเทนนิสแต่อย่างใด ผมแค่นำเสนอจากความรักและหลงใหลในมันเท่านั้น

สำหรับผมแล้ว เทนนิสไม่ต่างอะไรกับการพูดคุยโต้ตอบกันไปมาระหว่างคนสองคน (ในกรณีที่เล่นเดี่ยวนะครับ) มันคือการถ่ายเทพลัง และแสดงตนเองออกไป เพื่อที่จะเรียนรู้อีกฝ่าย และรับการตอบโต้แสดงตนของอีกฝ่ายนั้นกลับมา เพื่อส่งกลับคืนไปอีกครั้ง โยนไปโยนมาจนเกิดการตอบโต้ไม่ได้ของใครซักคน และตรงนั้นเองจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่าคะแนนหรือแต้ม ซึ่ง “คะแนน”นั้น จริงๆแล้วผมว่าแล้วมันคือมาตรวัดชนิดหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวัดขีดความสามารถและวัดระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายมากกว่าแบ่งที่จะแบ่งแพ้-ชนะเพียงอย่างเดียวครับ ซึ่งจากคะแนนนี้เองที่เป็นตัวสร้างมูลค่าของรางวัล ค่าตัว หรือแม้แต่ความนิยมของแฟนๆที่มีต่อนักเทนนิสคนนั้นครับ (อย่าง ภราดร ของเรา ที่แม้ตอนนี้จะหลุดโค้งไปอันดับที่เท่าไหร่ไม่รู้แล้ว แต่การที่เขาเล่นได้สูสีและน่าดูชมเสมอโดยเฉพาะเวลาเจอกับมือระดับสูง และแม้เขาจะยังลงแข่งไม่ได้ แต่ภราดรก็ยังถูกวงการเทนนิสระดับโลกถามถึงในแง่ดีเสมอ เขายังถูกจำในฐานะมือหนึ่งของอีกซีกโลก และยังมีมูลค่าของค่าตัวสูงจากสปอนเซอร์ในระดับรองๆจากพวก Top Cream อย่างน่าตกใจ)

และโดยปรัชญาพื้นฐานของเทนนิสแล้วนั้น มันยิ่งบ่งชี้ให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นด้วยว่าชัยชนะนั้นเป็นเพียงเรื่องหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้พิเศษหรือสำคัญกว่าสิ่งอื่นมากนัก เพราะปรัชญาของเทนนิสที่สอนกันมายาวนานนั้นบอกไว้ว่า “ผู้ชนะนั้น เป็นแค่คนที่ตีลูกกลับไปได้โดยไม่ติดเน็ทและไม่ออกมากกว่าอีกฝ่าย” มันเป็นแค่นั้นเองครับ นี่คือรากที่ยังคงแฝงอยู่เสมอแม้ในภาพของเทนนิสยุค power game ของปัจจุบัน

สำหรับ “คะแนน”หรือแต้ม อาจมีคนถามว่าการนับแต้มของเทนนิสนั้นทำไมมันช่างดูสับสน 15 30 40 เกมส์ เซ็ท แมทช์ อะไรกันหนอ? เรื่องของเรื่องมันก็เริ่มมาจากรากของเทนนิสเหมือนกันครับ เดิมทีในตอนกำเนิดTennis หรือชื่อเดิมคือ Lawn Tennisนั้น เทนนิสเริ่มต้นจากการเล่นบนสนามหญ้า (Lawn) และรูปทรงของคอร์ทนั้นไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยมแบบปัจจุบัน หากแต่เป็นรูปทรงของนาฬิกาทรายครับ นึกออกไหมครับ ขวดแก้วทรงเส้นโค้งคล้ายๆความสวยของหญิงสาว และตรงกลางคอร์ทหรือส่วนที่แคบที่สุดของสนามนั้นก็คือที่กั้นของเน็ทครับ ตรงนี้เองที่เทนนิสถูกนับแต้มในแต่ละเกมส์ตาม quarter ของนาฬิกานั่นคือ15นาที 30 นาที 45นาที ดังนั้นแต้มแรกถ้าได้เท่ากัน 15-0 ถ้าได้อีกก็ 30-0 ได้อีกก็ 40-0 และได้อีกก็ชนะได้ 1เกมส์ ต่อ 0 เกมส์
คำถามคือในแต้มที่สามนั้นทำไมเป็น 40 ไม่ใช่ 45 ตอบคือจริงแล้วมันคือ45 หรือ fourty five ครับ แต่ด้วยพยางค์คำที่ยาวกว่าแต้มอื่น พอเล่นกันไปเล่นกันมานานๆเข้า ผู้คนก็เริ่มเรียกง่ายๆว่า fourty แบบเป็นที่รู้กัน ไปๆมาๆวันนี้ด้วยความสะดวก ก็เลยเรียกแต้มนี้ว่า fourty ซะเลย

ส่วนถ้าในแต่ละเกมส์ ได้ 40-40 เราจะเรียกว่า deuce ครับ เมื่อดิวซ์เราต้องเล่นต่อจนกว่าใครจะได้สองแต้มต่อเนื่องกัน ถ้าได้แค่คนละแต้มก็ให้ “ดิวซ์” ใหม่ไปเรื่อยๆครับไม่มีกำหนดไม่มีเวลา เรียกได้ว่าจะชนะได้นั้นต้องพิสูจน์ตนได้ชัดเจนจึงจะผ่านสู่นรอบต่อไปได้ และการนับแต้มในเทนนิสนั้น ไม่ใช่ชนะกันแค่เกมส์เดียวนะครับ แต่เราต้องชนะGame ให้ได้ถึง 6 games และเรายังต้องชนะ Set ให้ได้ถึง 2 เซ็ท เราถึงจะเป็นผู้ชนะ ดังนั้นคะแนนเทนนิสจะออกมาดังตัวอย่างสมมติ ในรายการ Chopra Open 2008 ซึ่งจัดในสนามแข่งขันของจักรวาล เช่น (ฮาๆนะครับ –ขออภัยล่วงหน้า)

รายการ Chopra Open 2008 รอบแรก คุณนันท์ เดอเรอร์ vs อ.วสันต์ เซเลส 6-4,6-0
นั่นแปลว่า คุณนันท์ ชนะ อ.วสันต์ 2-0 เซ็ท เซ็ทแรก หกต่อสี่เกมส์ เซ็ทที่สองหกต่อศูนย์เกมส์

อย่างไรก็ดี ผลการแข่งรอบสองอาจออกมาแบบนี้ครับ

รายการ Chopra Open 2008 คุณนันท์ เดอเรอร์ vs คุณนพนันท์ ชาราโปวา 7-5 ,2-6 ,7-6 (9-7)
แมทช์นี้ตื่นเต้นมากแน่ๆครับ เพราะ คุณนันท์ได้เซ็ทแรก แต่คุณนพนันท์ได้เซ็ทที่สอง ดังนั้นต้องตัดสินกันในเซ็ทที่สามซึ่งคุณนันท์ชนะไป 7-6 ด้วยคะแนนในไทเบรก 9-7

อย่างเพิ่งท้อถอยนะครับ ตรงนี้เองครับที่หลักฐานของการนับแต้มของเทนนิสที่ถูกออกแบบมาอย่างละเอียดเพื่อความใสสะอาดที่สุดเท่าที่เป็นได้ นั่นคือ หากเล่นกันสูสีมาจนถึง 5-5 เราต้องเล่นต่ออีกอย่างน้อยสองเกมส์ครับเพื่อจะชนะอย่างชัดเจนเป็น 7-5 ครับ ทีนี้บางทีมันก็ยังสูสีเหลือเกินเล่นอีกสองแล้วยังออกมาเป็น 6-6 เกมส์เท่ากัน มันก็ยังไม่จบครับ คือเราต้องเล่นเกมส์พิเศษที่คุณๆคงเคยได้ยินกัน ที่เรียก ไทเบรก (tie break) ซึ่งเป็นการเล่นแต้มแบบ 1 2 3 4 ไปเรื่อยๆ ใครได้ 7 แต้มก่อนก็ชนะในไทเบรกและได้ Set นั้นครับ ซึ่งในไทเบรกนี่เอง หากได้ 6-6 แต้มเท่ากันอีกก็ต้องเล่นต่ออีกอย่างน้อยสองแต้มไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้ผู้ชนะไทเบรกเป็น 7-5 หรือ 8-6 หรือ 9-7 หรือแม้แต่ 97-96 ก็ยังเกิดขึ้นได้หากสูสีกันจริงๆ เรียกว่าขจะมาได้แต้มเดียวแบบฟลุ้คๆเขาไม่ให้ชนะหรอก ต้องทำได้ต่อเนื่องอย่างน้อยสองครับ

ดังนั้น บางทีเราจะเห็นแมทช์เทนนิสที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยเฉพาะในรายการใหญ่ๆที่เรียกว่า Slam ซึ่งจะเล่นกันด้วยระบบ 3ใน 5 เซ็ท (ไม่ใช่แค่ระบบ 2ใน3 เซ็ทแบบที่ยกตัวอย่างครับ) ดังนั้น บางทีผลการแข่งขันเทนนิสอาจออกมายาวเหยียด และบางครั้งการแข่งขันก็อาจยาวนานถึงห้าหรือหกชาวโมงได้ ตัวอย่างที่australain open 2008 เลย์ตั้น ฮิววิต(ออสซี่) นั้นเล่นรอบ16 คนสุดท้ายกับ มาร์คอส แบกนาติส (ไซปรัส) ซึ่งเลย์ตั้นชนะไปด้วยสกอร์เท่าไหร่ผมจำไม่ได้ครับ จำได้แค่ว่ากว่าจะแพ้ชนะกันได้ก็เกือบสว่างบ้านออสซี่ กลายเป็นการแข่งที่ยาวนานที่สุดในโลกไป

และตรงนี้เองครับที่ Tennis ถูกจัดได้ว่าเป็น Game Of Mind อย่างแท้จริงอีกชนิดหนึ่ง เพราะนอกจากนักเทนนิสจะต้องมีความแข็งแกร่งทางด้านร่างกายแล้ว ยังต้องมีความแคล่วคล่อง มีทักษะในสโตรคการตี มีshotต่างๆ และยังต้องมีรูปแบบแผนการเล่นอีกมากมายที่จะนำมาปรับใช้ในแต่ละแต้ม ท่ามกลางการต่อสู้ที่อาจยาวนานและเต็มไปด้วยแรงกดดัน confict และจุดพลิกผันแบบนิยายชีวิต ทั้ง crisis , anti-crisis อีกมากมายซึ่งไม่อาจรู้ได้ก่อนลงสนาม และแน่นอนครับนักเทนนิสนั้นต้องมีจิตใจที่ “หนักแน่น แต่ว่างเปล่า” จึงจะเรียกศักยภาพที่ดีที่สุดออกมาแสดงตนบนคอร์ทได้ท่ามกลางผู้ชมหลายหมื่นคน
และในการแข่งขันเทนนิสนั้น จะว่าไปมันก็ไม่ต่างอะไรกับการ “เผชิญหน้ากับบางเรื่องของชีวิต” หรือแม้แต่ การประลองของจอมยุทธนักดาบ ที่แต่ละคนจะลงไปด้วยการมีแค่ตนเองกับแร็คเก็ต (หรือกระบี่คู่ใจ) เท่านั้นครับ เพราะชีวิตนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ยากง่ายแค่ไหนก็ไม่มีใครมารู้สึกแทนเราหรือทำเรื่องต่างๆแทนเราได้ ส่วนเทนนิสนั้นก็ไม่ต่างกัน เพราะในเวลาแข่งขัน ในที่ตรงนั้น ในเวทีนั้น ผู้เล่นทุกคนต่างมีเพียงตัวเขาเองที่จะพาเขาก้าวเดินต่อไปได้ ตรงนั้นไม่การช่วยเหลือ ไม่มีใครช่วยได้แม้แต่โค้ช เพราะในเทนนิสนั้นมีกฏอยู่ว่า ไม่อนุญาตให้โค้ชลงไปในสนาม ทั้งในการแข่งขันรายการใหญ่ยังมีกล้องคอยจับภาพโค้ชไว้อีกด้วยเพื่อป้องกันการส่งรหัสสัญญานแก้เกมส์ให้นักกีฬา

ดังนั้นเทนนิสในสนามสำหรับผมจึงไม่ต่างจากการนั่งลงจิบกาแฟเจรจาธุรกิจ พรีเซ้นต์โปรเจ็คต์ อ่านหนังสือซักเล่ม งอนง้อหญิงสาว ทำกับข้าวเลี้ยงแขก หรือแม้แต่ลงมือเขียนข้อเขียนซักชิ้นออกมาครับ เพราะไม่ว่าอะไรนั้น มันก็คือการที่เรามีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งอื่นๆ เราต่างส่งรับต่อกัน ตอบโต้ไปมา ติดเน็ทบ้าง ออกบ้าง วินเนอร์บ้าง และมีแพ้มีชนะบ้าง ท่ามกลางเวทีของโลกและเวลาที่เลื่อนไหลกลับไปกลับมาน่าพิศวง

ตรงนี้เองครับที่ยิ่งชี้ชัดว่า “สภาพจิตใจ” นั้นเป็นส่วนสำคัญมากสำหรับนักเทนนิสที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนให้ดีขึ้น จะเห็นได้ว่า รอเจอร์ เฟดเดอร์ ราฟาเอล นาดาล หรือนักเทนนิสระดับ worls class คนอื่นๆต่างก็พูดถึงเรื่องของความสำคัญจิตใจอยู่เสมอ เรียกได้ว่าพูดบ่อยมากกว่าเรื่องของทักษะหรือพละกำลังด้วยซ้ำ ทั้งนี้นักเทนนิสบางคนยังต้องมีจิตแพทย์ประจำตัว หรือแม้แต่สุดยอดขวัญใจผมอีกคนอย่าง Marat Safin เองก็เคยให้คำสัมภาษน์ที่แบบ โอ้โห! ใช่! เข้าใจได้เลย! ด้วยการบอกว่าเวลาที่เขาเล่นเทนนิสได้ดีมากๆนั้น เขา “รู้สึกเหมือนเข้าฌาน”

แต่อย่างไรก็ดีครับ แม้ เนื้อหาและรูปแบบ กติกาและทักษะ เทคนิคและการเล่นของเทนนิสนั้นจะถูกพัฒนามามากมายแล้วในวันนี้ แต่ยังไง Tennis ก็ยังเป็นเกมส์โบราณที่ดำรงตนเสมอต้นเสมอปลายอยู่ในปรัชญาเดิมครับนั่นคือ ผู้ชนะไม่ใช่แปลว่าเป็นคนที่ตีแรงที่สุด วิ่งเร็วที่สุด หรืออะไรๆที่สุดแต่อย่างใด หากแต่ ยอดนักเทนนิสที่เป็นผู้ชนะได้นั้นคือ “ผู้ที่ตีติดเน็ท และตีออกน้อยกว่าอีกฝ่าย” แค่นั้นเองครับ

สำหรับตรงนี้ ถ้าใครก็ตามเกิดเปิดช่องโทรทัศน์ผ่านการถ่ายทอดสดเทนนิส แล้วเกิดอยากลองดู ก็ขอให้ดูเทนนิสได้สนุกขึ้นนะครับ
ชื่อผู้ส่ง : Karn ถามเมื่อ : 10/10/2008
 


ขอร่วมเทียบคำว่า "Game of Mind" กับคำว่า "กระบี่อยู่ที่ใจ" และขอร่วม โอโห! และขอเทียบคำว่า "รู้สึกเหมือนเข้าฌาณ" ของ Marat Safin กับคำพูดของ Tiger Woods ที่ค่อนข้างยาวว่า ". . ผมก็อยากรู้สึกแบบนั้นตลอดเวลา แต่มันแค่เกิดขึ้นเอง ผมว่านะ โดยเฉพาะเวลาที่สมาธิของผมอยู่ในระดับสูงสุดตลอดไปจนจบทัวร์นาเมนท์ เวลาที่ทุกๆ อย่างเข้าที่เข้าทาง อะดรีนารีนสูบฉีด ผมเหมือนไหลเลื่อนไปกับมัน ในนาทีที่สมาธิผมอยู่ในระดับสูงสุด ผมจะเห็นทุกอย่างชัดเจน ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และพอนาทีแบบนั้นเกิดขึ้น มันเหมือนสิ่งมหัศจรรย์ ผมรู้สึกสงบเยือกเย็นที่สุด” ด้วยคนครับคุณ Karn

เราทุกคนเกิดมา เพื่อดูแลปฏิสัมพันธ์ของตนที่มีต่อมิติต่างๆ ของชีวิตอันเกิดขึ้นอยู่ในทุกขณะ และบทสรุปของการปฏิบัติได้สูงสุดนั้น คือการก้าวอยู่บนวิถีหนึ่ง ซึ่งทุกประสบการณ์บนวิถีนั้น เป็นทั้งบทสะท้อนหรือบทสรุปได้ว่าทั้งหมดก็เป็นเฉกเช่นวิถีของชีวิต ซึ่งเมื่อนั้นย่อมเท่ากับได้หยั่งถึงความเข้าใจที่แท้ในชีวิตทั้งมวล

ผมเป็นคนหนึ่ง ที่นอกจากชอบดูกีฬาทั้งตรงความสนุกสนานของเกมแล้ว การได้เห็นผู้ที่ก้าวเข้าถึงระดับสูงสุดของวิถีนี้(ทั้งแบบเดี่ยวหรือหมู่) เริงเล่นอยู่บนสนามหรือคอร์ทแห่งการแข่งขัน แล้วมันเหมือนเห็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของชีวิตครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 11/10/2008
ขอบคุณครับคุณ Karn ที่ทำให้ผมได้รับความเพลิดเพลินจากข้อเขียนนี้เป็นอันมาก เข้าใจตั้งชื่อนะครับ ผมชอบ.."วสันต์ เซเลส" เก๋ชะมัด ไม่รู้ว่า "โมนิกา พงศ์สุประดิษฐ์" เธอรู้เข้า จะว่าอย่างไร (ฮา)

ผมเชื่อแล้วว่าเทนนิสเป็น "Game of Mind" จริงๆ เพราะแม้แต่อังเดร อากัสซี่ ก็ยังเคยเล่าว่า แม้ว่าเขาจะมีฝีมือดีขนาดไหน แต่เขาก็ยังต้องได้รับการเยียวยาทางด้านการโปรแกรมจิตใจ โดยนักพูดปลุกใจ นักสะกดจิต ที่ชื่อ Anthony Robbins (ซึ่งใช้หลัก NLP : Neuro Linguistic Programing) และ Robbins ก็เลยเอาผลงานนี้ ไปใช้อ้างอิงอยู่เนืองๆ

ยอดเยี่ยมครับ ที่คุณสามารถเชื่อมโยง "เกมกีฬา" ให้สามารถเป็นเนื้อเดียวกันกับ "เกมชีวิต" ได้อย่างแนบเนียน หมดจด

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 12/10/2008
ขอถามความเห็นคุณ Karn อีกเรื่องหนึ่งครับ คือ เพื่อนของผมคนหนึ่ง เขากำลังหมายมั่นปั้นมือที่จะให้ลูกชายของเขา ซึ่งขณะนี้อายุราว 10 ขวบ เป็นนักเทนนิสระดับโลกให้ได้ ลูกของเขาฝึกเทนนิสมาตั้งแต่ 3-4 ขวบ ขณะนี้ก็ยังฝึกอย่างหนัก เห็นว่าฝึกทุกวัน วันละถึง 4 ชั่วโมง เลยทีเดียว เด็กคนนี้ก็คงจะชอบด้วยแหละ เขาเคยคว้าแชมป์ระดับเยาวชน อายุต่ำกว่า 12 ปี มาได้ น่าจะหลายรายการอยู่ โครงสร้างทางร่างกายของเขา ถ้าตัวโตเต็มที่ ก็น่าจะสูงใหญ่เกินหกฟุต เพราะพ่อกับแม่ของเขารูปร่างสูงใหญ่ทั้งคู่

ที่ผมอยากถามก็คือ ผมแน่ใจว่าถ้าเขาเลือกแนวทางนี้ สิ่งที่เขาต้องจ่ายราคา (ในทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เงิน) น่าที่จะมากมายมหาศาลอยู่ โดยเฉพาอย่างยิ่งที่ถ้าผมเป็นพ่อของเด็กเองแล้ว ผมคงจะไม่สามารถรับได้ ก็คือเรื่อง "การศึกษา" ของเด็ก เพราะเด็กคงจะไม่สามารถศึกษาไปได้ถึงระดับอุดมศึกษา (ผมพูดในมิติที่ไม่ได้ยึดติดกับใบปริญญาแต่ประการใด) และอาจต้องสูญเสียประสบการณ์ล้ำค่าในวัยเด็กไปด้วยไม่น้อย ในทัศนะของคุณ Karn คิดว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ครับ

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 12/10/2008
เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมากนะครับ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันการชีวิตและการเจริญพัฒนาของเด็กหรือคนอีกคนหนึ่ง ดังนั้น ผมขอตอบในมุมมองที่แตกต่างกันหลายๆมุมมองนะครับอาจารย์

ข้อแรก ในมุมมองของKarnที่เป็นนักกีฬาเก่า ผมมองว่าการที่เราจะอยู่กับกิจกรรมเทนนิสหรืออะไรทุกวัน วันละ3-4ช.ม.ได้นั้น มันจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมี passion กับสิ่งนั้นอยู่ไม่น้อย แพชชั่นในที่นี้ถ้าเป็นนักเทนนิส ผมก็ไม่ได้หมายความเพียงว่ามันคือแพชชั่นของการจะเป็นยอดนักเทนนิสนะครับ แต่มันต้องหมายถึงการที่เทนนิสนั้นสามารถเป็นอย่างใดอีกอย่างหนึ่งที่นากจากเป็นตัวเทนนิสเองได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กๆในวัยก่อนจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือก่อนวัยรุ่นครับ เพราะวัยนี้เด็กเพิ่งถูกละลายการมองโลกที่ใสและชัดเจนที่สุดมา(แน่นอนสิ่งที่มากวนใจและละลายความบริสุทธิ์ของเขาคือระบบการเรียน และระบบสังคมที่คัดเลือกคนด้วยคะแนน แต่มันก็เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นนะครับ แค่ว่าเราจะทำไงกับมันเท่านั้น) ซึ่งนั่นคือวัย5ขวบ จากประสบการณ์ความรู้ทางการสร้างตัวละครของศิลปะละครเวทีนั้น แม้เราจะเขียนเรื่องของคนแก่แต่เรื่องอดีตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยที่ผมว่า เราจำเป็นต้องรื้อและเขียนกันอย่างละเอียด เพราะเคยได้ยินไหมครับว่า ในวัย5-6 ขวบนั้นจะเป็นวัยที่มนุษย์ฟอร์มคาแรกเตอร์ตนเองได้ชัดเจนที่สุด และข้างในหัวใจของเรา เราก็มักจะเป็นคนแบบนั้นอย่างเหนียวแน่นไปแทบตลอดชีวิต
ดังนั้น น้องนักเทนนิสคนนี้ คงต้องถูกมองให้ดีว่า เทนนิสเป็นเพื่อน เป็นที่ระบาย เป็นบ้านอีกบ้าน เป็นการเสพสุข หรือเป็นอะไรมากกว่าการฝึกเทนนิสเองหรือเปล่า และแน่นอน ถ้ามันไม่ได้เป็นเพียง "สิ่งที่ทำให้พ่อแม่รักเรา" ล่ะก็ ผมว่ามันมีความหมายมากพอครับ สำหรับผม ผมเริ่งเล่นเทนนิสตอนเก้าถึงสิบขวบ และพีคที่สุดตอนอายุ16 ตอนนั้นเทนนิสเป็นทั้งเพื่อนสนิท เป็นทั้งที่รวมของครอบครัว และเป็นทั้งกิจกรรมที่เราได้แสดงความรู้สึกออกมา มันเลยมีความหมายมากครับ

ข้อสอง ในมุมมองของKarnที่เคยใช้เวลาบางช่วงเป็นโค้ชส่วนตัวและพาเด็กสามคนให้เติบโตขึ้นและได้รางวัลในรูปแบบที่แตกต่างกัน ผมมองว่า การฝึกทุกวันด้วยเวลาขนาดนั้นค่อนข้างหนักไปนิด ในที่นี้ ผมขอไม่ลงความเห็นมากเนื่องจากไม่รู้โปรแกรม และวิธีปฏิบัติต่อนักกีฬาของโค้ช และผู้ปกครองนะครับ แต่มันหนักไปแน่ถ้านั่นหมายถึงการลงคอร์ทและทำแต่การตีซ้ำๆหรือเรื่องกำลังภายนอก ถ้ามันไม่สนุก ไม่บันดาลใจ และไม่สร้างฝันไว้ล่วงหน้าได้ดีพอ พอเด็กเข้าวัยสิบสอง(หรือแม้แต่ตอนนี้เองที่โลกหมุนเร็ว) ที่เพื่อนๆเริ่มสนใจเรื่องเพศ เรื่องความสนุก เรื่องอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งง่ายๆแต่ทำแล้วได้ประกาศตัวตนกัน นักกีฬาอาจหวั่นไหวครับ แล้วตอนนั้นเองเผลอๆจะเบื่อเทนนิสได้ แต่อย่างไรก็ดี ในเด็กพิเศษบางคน(ซึ่งหายากมาก) สิ่งเหล่านี้รบกวนเขาไม่ได้ครับ เพราะแพชชั่นเขาแรง เขารู้ว่านี้คือตัวตนเขา อันนี้ก็เกิดได้ครับ และที่สำคัญคือถ้ามันจะเกิด มันก็เกิดจากข้อหนึ่งที่ผมบอกครับ อย่างไรก็ดีผู้ปกครองหลายท่านชอบคิดไปเองว่าลูกเราพิเศษครับ ต้องระวังนิด ซึ่งโค้ชส่วนใหญ่ก็มักไม่กล้าบอกเพราะกลัวกระเทือนอาชีพครับ โค้ชส่วนใหญ่สอนเอาจำนวนลูกศิษย์ครับซึ่งก็ไม่แปลกเพราะ ถ้าจะทุ่มจริงๆกับเด็กแค่บางคน ผู้ปกครองก็จำเป็นต้องจ่ายมากกว่าเดิมนะครับ ส่วนเด็กๆของผม สามคน รางวัลที่ได้รับจากการฝึกต่างกันไป คนแรก(เด็ก18)พบว่าตนเองชอบอย่างอื่นมากกว่าและเกิดแรงบันดาลใจจริงๆกับเรื่องนั้น คนที่สอง (16)ได้รางวัลคือการเล่นที่เป็นสไตล์ของตนเอง และได้พี่ชายอีกคนไว้คอยปรึกษาเรื่องเพศนั่นคือผม ส่วนคนที่สาม(12)สาวน้อยของผม จากตกรอบแรก และร้องไห้อยากมีแฟน อยากไปเที่ยวตลอด สี่เดือนที่เราฝึกกัน เธอก็ได้แชมป์รายการระดับกลางมากอดครับ คนนี้ผมเลิกสอนเองเพราะถึงเวลาออกเดินทางครั้งใหม่ และเห็นปัญหาบางอย่างเรื่องแรงบันดาลใจของเธอ ซึ่งควรให้เธอสร้างเองมากกว่านี้ไม่ใช่มารอที่ผมเสมอ ซึ่งตอนนี้เธอไปได้ค่อนข้างดีครับ รู้มาว่ากำลังใช้ทุนส่วนตัวออกเดินทางเก็บคะแนน

ข้อสาม ในความเห็นของ Karn ที่รู้สึกดีขึ้นมากเมื่อได้เจองานเขียนของมิสเตอร์ดีพัค ได้เข้ามาในความใจดีของคุณนันท์ และได้รู้จักอาจารย์ผ่านตัวอักษร ผมเห็นว่าเทนนิสเป็นเรื่องหนึ่งในหลายๆเรื่องที่ให้ประโยชน์มากครับ มันเป็นการค้นหาตัวตนอีกิถีหนึ่ง และแน่นอน อะไรก็ตามที่เราลงไปร่วมทำ เล่น รู้ และแนบแน่นกับมันจนกลายเป็นหนึ่งเดียวได้ สิ่งนั้น"มีราคาที่เงินอาจจะซื้อไม่ได้" ครับ ประสบการณ์ล้ำค่าในวัยเด็กนั้น อยู่ที่เด็กเองที่มอง และอยู่ที่สิ่งแวดล้อมด้วยครับ ว่าช่วยให้เขาตกผลึกได้หรือเปล่า ดังนั้น ที่ไหน อย่างไร ก็ได้ครับ ถ้า หัวใจของการเรียนรู้ของเขานั้นถูกดูแลไว้อย่างดี ซึ่งเรื่องนี้ก็อยู่ที่ความรักและวิธีรักที่เราจะหยิบยื่นให้ครับ ส่วนตัวนั้นผมเองมีเพื่อนหลายกลุ่มในจำนวนนั้นเพื่อนบางคนที่ยังคบหากันก็มาจากวงการเทนนิสที่แข่งกันมาแต่เด็กครับ เพื่อนที่โรงเรียนนั้นก็มีบางคนที่คบหาอยู่ แต่เนื้อๆแล้วทุกวันนี้ ที่สนิทนั้นคือเพื่อนที่ถูกสกรีนโดยการเวลาและมุมมองโลกที่เปลี่ยนไปครับ ถ้าเป็นชาวออราก็คงบอกว่าออราสีเดียวกัน หรือแรงดูดเดียวกันครับ (นั่นหมายถึงการที่ผมได้เขียนคุยกับคนในที่นี้และอาจารย์ด้วยเช่นกันครับ ดังนั้น กรุณาไม่ต้องเกรงใจนะครับ เพราะยิ่งสื้อสารออกไป ผมว่าผมได้อะไรดีๆกลับมาเยอะกว่าซะอีกครับ)

เพิ่มเติมสำหรับเรื่องการเรียนครับ มีนักเทนนิสอาชีพหลายคนที่พบว่าตัวเองเทิร์นโปรได้ แต่รอเรียนจบก่อนค่อยเทิร์นก็มีครับ บางคนเรียน
ไปเล่นอาชีพไปก็มี และอีกหลายคนที่ไม่ได้เรียน พอเลิกแข่ง ซึ่งอาจจากบาดเจ็บหรืออะไรก็ตาม พวกเขาก็ยังมีอาชีพดีๆเกี่ยวกันกีฬากันครับ) ส่วนแรงบันดาลใจนั้นอย่าลืมว่า ana ivanovich และ novak djokovic ชาวเซิร์บนั้น ช่วงสงครามรุนแรง ขนาดต้องหยุดเรียน ตอนเย็นเขาก็วิ่งหลบๆมาซ้อมกัน พอเสียงเสียงไซเรนดังก็เลิกแล้ววิ่งลงหลุมหลบภัยใต้ดินครับกว่าจะมีวันนี้ได้

ชื่อผู้ตอบ : Karn ตอบเมื่อ : 13/10/2008
อืม..ขอร่วม(ฮา)ซักนิด ในรายการ Deepak Open คราวหน้า ผมว่าจะขอจัดแมทช์พิเศษระหว่าง

โมนิก้า พงษ์สุประดิษฐ์ vs มาติน่า ฮิงกิส หงษ์ทอง ซะหน่อย
จะได้รู้กันว่าแฟนใครแน่กว่าใครครับ (เน้นว่าที่ต้องให้เธอใช้สองนามสกุล เพราะ มาติน่านี่ ไม่ใช่นาฟฟาติโลว่านะครับ ย้ำ!)
ชื่อผู้ตอบ : Karn ตอบเมื่อ : 13/10/2008
ขอบคุณ ขอบคุณเหลือเกิน สำหรับคำตอบอันกระจ่างแจ้งดังกล่าว ผมภาวนาให้ตัวเองสามารถรวบรวมความกล้า นำข้อความนี้ไปบอกเพื่อนผม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะรวบรวมความกล้าได้มากพอหรือไม่ ทั้งยังต้องระมัดระวังท่าที ในการนำเสนอข้อคิดเห็นด้วย เพราะเวลาไปถามเขาเรื่องนี้ เขาก็ไม่เคยยอมรับตรงๆ ว่าเขากำลังคาดหวังกับลูกของเขามากไปหรือเปล่า ถามทีไร ก็ตอบว่า ไม่ได้คิดอะไร แค่อยากให้ลูกสนุก ได้ออกกำลัง ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ฝึกฝนในสิ่งที่เป็นพรสวรรค์ แม้ไม่ได้แชมป์ ไม่ได้ไประดับโลก ก็ไม่ซีเรียสอะไร แต่ผมดูจากพฤติกรรม ผมไม่ได้ตัดสินจากคำพูดของเขา จึงเชื่อว่า มันไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูด ถึงที่สุดแล้ว ผมอาจไม่สามารถไปก้าวก่ายอะไรในเรื่องนี้ก็ได้ครับ แต่การที่ได้มีมุมมอง ความคิดเห็น ที่รอบด้าน อย่างที่คุณ Karn นำเสนอมา ก็อาจเป็นประโยชน์ หากเขาร้องขอความเห็นอย่างเป็นจริงเป็นจังจากผม มากกว่าที่ผ่านมา (เพราะที่ผ่านมา ผมก็ได้แต่เออออห่อหมกไป เพราะรู้ว่าไม่อาจไปขัดใจเขาได้)

เข้าใจได้อยู่ครับ ว่าคุณ Karn ต้องระบุนามสกุล "ฮิงกีส" ไว้ด้วย เพื่อป้องกันความสับสน กับป้านาฟาติโลว่า (ฮา) อ้าว ถึงตอนนี้ ผมเลยรู้แล้วละว่าคุณ Karn เป็นใคร โดยที่ไม่ต้องถอดรหัส (ฮา)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 13/10/2008
อ่านแล้ว . . ดูเทนนิสครั้งต่อไป ผมคงได้มิติใหม่ในการดูเพิ่มขึ้นอีกอย่าง คือ การมองถึงความเป็นตัวตนอันถูกหล่อหลอมมา และมันทำให้ผมคิดได้ว่า เทนนิสน่าจะเป็นกีฬา ที่เป็นทั้งหลุมพลางและโอกาส ให้นักกีฬาที่ประชันหน้ากันอยู่นั้น แสดงมันออกมาได้มากที่สุด ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ขอบคุณสำหรับเนื้อหาจาก "บทเรียนเทนิส" ด้วยครับ คุณ Karn
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 14/10/2008
ขอบคุณครับ วงกลม (เหมือนการสร้างวงสวิง) วงนี้ปิดฉากลงอย่างอิ่มใจครับ เดินทางกันต่อไปครับ
ชื่อผู้ตอบ : Karn ตอบเมื่อ : 14/10/2008


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code