Golf for Enlightenment
คุณนันท์คะ

ได้หนังสือดังกล่าวมาแล้วและอ่านคร่าวๆไปหนึ่งรอบ ยังไม่ค่อยเข้าใจในเนื้อหานัก แต่ก็รู้สึกทำให้มุมมองหลายอย่างเกี่ยวกับการเล่นกอล์ฟเปลี่ยนไปหมือนกันนะคะ ตอนนี้ยังไม่ได้นำความรู้สึกนี้ไปใช้ในการออกรอบจริงๆ แต่แค่ดูผู้เล่นกอล์ฟในทีวีก็ได้ความรู้สึกที่เปลี่ยนไป... เป็นความรู้สึกที่สงบขึ้นและมองดูสนามแม้จากทีวืก็ดูจะน่ารื่นรมย์ขึ้น..

มีคำสันสกฤตที่ ดีพัค โชปรา กล่าวถึง 2 คำในหนังสือ คือคำว่า "Samyama" (ในบทเรียนที่ 3) กับคำว่า "sukshma sharira" (ในบทเรียนที่ 4) ไม่ทราบตรงกับภาษาธรรมะเป็นไทยว่าอะไร คุณนันท์พอทราบมั๊ยคะ ในหนังสืออธิบายไว้แต่ได้เป็นภาษาไทยอาจจะทำให้เข้าใจดีขึ้น ส่วนเนื้อหาอย่างอื่นไว้จะมาแลกเปลี่ยนความเห็นเพิ่มเติมนะคะ
ชื่อผู้ส่ง : นพรัตน์ ถามเมื่อ : 26/09/2008
 


ดีจังครับ . . ผมยังตามคุณนพรัตน์ ไม่ทัน เพราะยังไม่ได้อ่านทั้งหมด

ส่วน 2 คำนั้น ผมอาสาทำการบ้านให้ ขอไปเปิดดูจากหนังสือก่อน หากยังไม่รู้ จะหาคำตอบจากผู้รู้มาให้ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 26/09/2008
ในฐานะ คนรู้น้อย ผมว่าลองเข้าไปอ่าน
http://bookstore.blog.mthai.com/page32 ดูซิครับเพราะมันเป็นเรือ่งเกี่ยวกับ Samyama และ sukshma sharira ผมเข้าใจเองว่าเป็นการปฎิบัติรูปแบบหนึ่ง น่าจะออกแนวๆ เซนผสมอินเดีย นะครับ

ในฐานนะคนรู้น้อยถ้าตอบผิดไปก็ช่วยแกให้ด้วยนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 26/09/2008
ขอบคุณ คุณผู้อ่านครับ น่าสนใจครับ คงได้ตามเข้าไปอ่านดู
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 27/09/2008
ขอบคุณ คุณผู้อ่านสำหรับblogที่แนะนำ ถูกต้องแล้วค่ะ แต่อ่านแล้วต้องบอกว่า"มึน"ไปเลย... คงเพราะเป็นศาสตร์ทางจิตวิญญาณอีกแนวหนึ่งที่ไม่เคยทราบมาก่อน สงสัยต้องขอ rain check ไว้ก่อน รอversion ที่ย่อยแล้วของคุณนันท์น่าจะดีกว่านะคะ


ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 30/09/2008
คุณนพรัตน์ครับ ขอโทษครับที่ช้า พึ่งได้มีโอกาสสอบถามจาก ท่านอาจารย์สมภาร พรหมทา (ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์สอนภาคปรัชญา คณะอักษณศาสตร์ จุฬาฯ) ซึ่งความจริงผมไม่ได้รู้จักท่านเป็นการส่วนตัวเลย แต่บางทีอยากรู้ก็โทรไปถาม ท่านก็เมตตาตอบให้ด้วยดีเสมอ

ท่านบอกอย่างนี้ครับ คำว่า "Samyama" นั้น น่าจะมาจากภาษาบาลี อ่านว่า สังยมะ แปลว่า การควบคุมตนเอง เปรียบเทียบความหมายคล้ายๆ กับคำว่า สังวร ที่แปลว่า การระมัดระวัง ระลึกรู้ตนเอง

ส่วนคำว่า "sukshma sharira" คำแรก sukshma ท่านบอกว่า ไม่แน่ใจ หากให้เทียบเคียง ก็จะมีแต่คำในภาษาบาลี เขียนว่า sukhuma (ในหนังสือ โชปราบอกว่ามาจากสันสกฤต) อ่านว่า สุขุมะ แปลว่า ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ส่วนคำว่า sharira อ่านว่า สรีระ แปลว่าส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตามความหมายที่เราเข้าใจกัน

ได้ข้อมูลมาเท่านี้ครับ ลองเอาไปเทียบเคียงกับเนื้อหาในหนังสือ ก็ไปด้วยกันได้ดีนะครับ ว่าแต่ช่วงนี้สงสัยคุณนพรัตน์คงต้อง rain check บ่อยหน่อย อย่างไรก็ขอให้มีความสุขกับ golf for enlightenment ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ แล้วมาแบ่งปันกันด้วยนะครับ


ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 01/10/2008
ขอบคุณมากค่ะคุณนันท์ที่กรุณาสอบถามผู้รู้ให้ ตอนนี้มีความรู้สึกเหมือน ดีพัค โชปรา จะพาขึ้นเขาหิมพานต์ไปฝึกปฏิบัติธรรมโดยวิธีการตีกอล์ฟ ถ้าขึ้นถึงได้คงจะมีดวงตาได้เห็นธรรมโดยแน่แท้...แต่ตอนนี้ยังอยู่แค่เชิงเขาแหงนหน้าดูความสงบสวยงามเร้นลับและสูงเสียดฟ้าของยอดเขาอยู่ด้วยความหวังที่จะได้พบสัจธรรมดังกล่าว...ระหว่างนี้คงต้องพยายามทำความเข้าภาคทฤษฎีให้พอเข้าใจก่อนจึงจะลองปีนดูว่าขึ้นได้แค่ไหน แล้วจะส่ง SOS มาเป็นช่วงๆนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 02/10/2008
คุณนันท์, คุณนพรัตน์ ครับ

คุณหนึ่ง (ดร.วรัญญาฯ) เธอถามไว้ในกระทู้ "อยากเชิญ อ.วสันต์ และคุณนันท์ มาร่วมแนะนำหนังสือฯ" (กระทู้ของคุณผู้อ่าน) ว่า เธอหาวีซีดี ของดีพัค โชปรา ตามที่รับปากไว้ได้แล้ว จะให้ส่งไปที่ใด? ไม่แน่ใจว่าทั้งสองท่านได้ติดต่อเธอกลับไปหรือไม่ครับ

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 02/10/2008
ต้องขอโทษคุณหนึ่งอย่างมากๆค่ะที่ไม่ได้กลับไปดูกระทู้เก่าๆ เลยตกข่าวไป ขอบคุณอาจาร์ยวสันต์นะคะที่แจ้งให้ทราบ คิดว่าส่งให้ที่คุณนันท์จะดีมั๊ยคะ เผื่อจะเป็นห้องสมุดให้ทุกท่านที่สนใจได้หยิบยืมกันสะดวก ซึ่งตามความตั้งใจเดิมคืออยากให้ทุกท่านที่สนใจมาดูด้วยกัน เป็นการพบปะกันสำหรับแฟนหนังสือ 7 กฏฯ ของnantbook ไม่ทราบคุณนันท์คิดว่าไงคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 02/10/2008
ขอโทษทีครับ ไม่ได้ตามกลับไปอ่านกระทู้เก่าๆ นานมากแล้ว ไม่ทราบคุณนพรัตน์ ทราบหรือยัง จำได้ว่าคุณนพรัตน์ ได้ขอรบกวนคุณหนึ่งเอาไว้ ต้องทั้งขอนิยมและขอบพระคุณในความน่ารักที่มีให้ของคุณหนึ่ง อย่างมาก . . ยิ้ม ยิ้ม ยิ้ม และ ยิ้ม ยิ้ม . . ครับผม
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 02/10/2008
กระทู้ชนกันกลาง LAN way ครับ ยินดีรับเป็นส่วนกลาง และหาหนทางดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ

คงต้องรบกวนคุณหนึ่งส่งที่ nantbook ได้ไหมครับ
ด้วยความขอบพระคุณครับ . . คุณหนึ่ง
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 02/10/2008
คุณนพรัตน์ และคุณนันท์ ครับ

มีหนังสือเกี่ยวกับกอล์ฟ ซึ่งเขียนโดยคนไทยอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อหนังสือว่า "วิถีแห่งกอล์ฟ ชีวิต ลมหายใจ และการรับรู้" เขียนโดย น.พ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ผู้เขียน เป็นศัลยแพทย์ที่เคยหาเงินได้มาก ใช้เงินมาก เคยเล่นหุ้น เคยใช้ชีวิตที่หรูหรา ในกระแสบริโภคนิยม แต่ต่อมาภายหลัง ท่านได้หันกลับมาศึกษาและใช้ชีวิตอยู่กับความจริง "ด้านใน" ท่านเป็นหนึ่งในกลุ่ม "จิตวิวัตน์" / "จิตปัญญาศึกษา" มีผลงานเขียน และการเป็นวิทยากร รวมทั้งทางด้านการแพทย์ ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต ข่ายงานของท่านส่วนใหญ่จะอยู่แถวเชียงใหม่ เชียงราย เป็นส่วนใหญ่

ทุกวันนี้ คุณหมอวิธาน ก็ยังเล่นกอล์ฟอยู่ แต่เป็นการเล่นไปอีกระดับหนึ่ง เป็นการตีกอล์ฟที่มีวิถีแห่งการเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องของ "มณฑลแห่งพลัง" (เป็นศัพท์ของ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู ซึ่งก็คือ การอยู่ในสภาวะ "เลื่อนไหล" หรือ Flow ตามความหมายในหนังสือของ Mihaly Csikzentmihalgy ที่ชื่อว่า "Flow : The Psychology of Optimal Experience" , 1990 , Harper Perennial)

หนังสือ "วิถีแห่งกอล์ฟฯ" นี้ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา จัดจำหน่ายโดย บริษัท เคล็ดไทย จำกัด / พิมพ์ครั้งที่ 3 / พ.ศ.2546 / 190 หน้า ราคา 200 บาท

เข้าไปดูรายละเอียดก่อนก็ได้ครับที่ http://www.kledthaishopping.com/product.detail_78068_th_577048

ในงานมหกรรมหนังสือฯ ไปที่บูธของเคล็ดไทย อาจจะมีเอาวางขายครับ

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 06/10/2008
โอ้โฮ ขอขอบคุณอาจารย์มากเลยนะคะที่กรุณาชี้แนะแหล่งความรู้ในด้านนี้เพิ่มเติม โดยเฉพาะที่บอกว่า...ทุกวันนี้ คุณหมอวิธาน ก็ยังเล่นกอล์ฟอยู่ แต่เป็นการเล่นไปอีกระดับหนึ่ง...ดีใจมากเลยค่ะที่ทราบว่ามีผู้รู้และสนใจปฎิบัติในแนวทางดังกล่าวอยู่ด้วยในเมืองไทย คงต้องไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านแล้วแหละค่ะ... ว่าแต่อาจารย์ไม่สนใจวิถีทางด้านนี้บ้างเลยหรือคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 06/10/2008
ก็บอกแล้วว่าอาจารย์เป็น Google ของนักอ่าน
นี่ขนาดว่าเป็นคนเดียวในโลกที่ทำให้กีฬากอล์ฟและการขุดดินเป็นเรื่องเดียวกัน นี่ยังมีข้อมูลเลย
อิอิ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 06/10/2008
คุณนพรัตน์ครับ ผมก็สนใจในวิถีทางนี้อยู่แล้วครับ ตอนนี้ผมกำลัง "ขุดดิน" ไปอีกระดับหนึ่งอยู่แล้ว (ฮา)

คุณแฟนพันธุ์แท้ ปลดผมออกจากตำแหน่งกูเกิลของนักอ่านได้แล้วละ ดูท่าว่าในเว็บบอร์ดนี้จะมีดาวรุ่งพุ่งแรงเพิ่มขึ้นมาอีกหลายดวง แต่ละคนนี่ ไม่รู้ไปสรรหาข้อมูลกันมาจากไหน ต้องยกตำแหน่งกูเกิล บวกวิกิพีเดีย บวกยะฮู บวกอะเมซอนดอทคอม บวกฯลฯ ให้ไปได้เลย (ฮา) ผมขอเจียมเนื้อเจียมตัว เป็นบรรณารักษ์อาวุโส คอยค้นหาหนังสืออยู่ในห้องสมุดเก่าๆ อยู่ชายขอบ บางวันก็อาจมีพระเวสสันดร และนางทาส แวะเวียนกันเข้าสนทนาทักทายด้วย (ฮา ด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัว)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 06/10/2008
ขอบพระคุณครับท่านอาจารย์ ผมได้รู้จักชื่อ น.พ.วิธาน อยู่เหมือนกันครับ เข้าใจว่าเขียนหนังสืออยู่หลายเล่ม จากการที่ผมเคยตามเข้าไปดูในเวบไซด์ชื่อ วงน้ำชา www.wongnamcha.com (รวมทั้งกลุ่มจิตวิวัตน์)

ที่มาก็คือ ตอนที่หนังสือ 7 กฎฯ ออกขายได้สักพัก มีทีมงานจากร้านหนังสือชื่อ ห้องนั่งเล่น ซึ่งอยู่ที่เชียงรายและเป็นส่วนหนึ่งของเวบไซด์ วงน้ำชา นี้ได้โทรมาสั่งหนังสือของผมไปขายในร้าน

ร้านวงน้ำชา รวมทั้งเวบไซด์ นี้เกี่ยวพันกับ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู เพราะในเวบไซด์นี้มีบทความ(ดีๆ) ของ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู รวมทั้งหนังสือของ นพ. วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ที่ อ.วิศิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ และหนังสือแปลของทั้ง เชอเกียม ตรุงปะ โดย พจนา จันทรสันติ (หนังสือแปลของท่านนี้เป็นหนึ่งในผู้เปิดโลกทัศน์ของผมครับ) ติช นัท ฮันห์, ท่านทะไล ลามะ, อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นต้น เป็นกลุ่มประเภทหนังสือที่ถูกคัดสรรแล้วค่อนข้างชัดเจน ตอนที่ตามเข้าไปดูในเวบไซด์ เห็นหนังสือ 7 กฎฯ อยู่ด้วย ยังแอบภูมิใจอยู่เลยครับ

ผมโชคดี วันที่ทางทีมงานโทรมาสั่งหนังสือนั้น ทีมงานได้ส่งสายให้ได้พูดคุยกับ อ.วิศิษฐ์ สั้นๆ จึงได้ทำให้ทราบว่าเกี่ยวของกันตามเล่า ใครว่างลองแวะเข้าไปดูสิครับ ผมว่ามีอะไรดีๆ อยู่เยอะทีเดียว
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 07/10/2008
งานของคนกลุ่มนี้ น่าสนใจมากๆ ครับ ผมมีสัณชาตญาณ (หรือแม้แต่ลางสังหรณ์) ว่าพวกเขาก็กำลังค้นคว้า ศึกษา ทำงาน ดำเนินชีวิต ไปในวิถีของหลักการ แนวคิด เกี่ยวกับองค์ความรู้ ที่พวกเรากำลังสนใจ แลกเปลี่ยน แบ่งปัน กันในที่นี้ เพียงแต่อาจแตกต่าง ลักลั่น ตื้นลึก หนาบาง และมีจุดเน้น ไปในมิติที่ต่างกันไปบ้างกับพวกเรา (ซึ่งแม้แต่พวกเราในที่นี้ ก็ยังแตกต่างกันตามสมควร ในรายละเอียดหลายประการ)

สิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งคุณแฟนพันธุ์แท้ อาจจะแอบภูมิใจ ก็คือ ฐานที่มั่น ขอบข่ายงาน ของกลุ่มคนเหล่านี้ ล้วนอยู่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ดังนั้น การที่คุณนันท์ แปลกใจว่า ทำมที่เชียงใหม่ถึงจัดสัมมนาบ่อยจัง ก็อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 07/10/2008
เท่าที่ได้อ่านบางเนื้อหาจากบทความหรือหนังสือของกลุ่ม ตามความเข้าใจของผม คิดว่ามีความสอดคล้องกันอยู่ครับ อาจต่างกันตรงมิติของภาษา การอธิบายเชิงลึกด้านวิชาการ และเป้าหมายเรื่องการขยายผลเป็นรูปธรรมให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ต่อบุคคลและในระดับสังคม นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบด้วยครับ การใช้ สุนทรียสนทนา ที่คุณ Karn เคยพูดถึง ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้กันในกลุ่มนี้ด้วยครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 07/10/2008
อ.วิสิษฐ์ วังวิญญู ได้ไปทำหลักสูตรให้บริษัทปูนซีเมนต์ไทย
และได้สนิทสนม กับวิศกรในองค์กรท่านนึง ซึ่งมีพี่สาวทำหลักสูตร"โรงเรียนพ่อแม่"(อยู่กรุงเทพฯ)

ซึ่ง อ.วิศิษฐ์ กำลังติดต่อขอคุยกับบุคคลท่านนี้ เพื่อเพื่อแลกเปลี่ยนแนวความคิดและเป็นแนวร่วมในการจัดหลักสูตร อยู่ค่ะ

และก็เป็นบุคคลเดียวกัน ที่ได้พูดถึงว่าเค้าเคยอยากลองจัด"พลังจิตอัศจรรย์" ที่กรุงเทพฯ น่ะค่ะ

หากอาจารย์ หรือคุณนันท์ มาเชียงราย ส่วนตัวทายว่าการมีโอกาสพบปะบุคคลเหล่านี้น่าจะไม่ใช่เรื่องยากค่ะ

อย่างน้อยมีตัว เอ๊ยคนเชื่อมโยงอยู่แล้วคนนึง......คือคนที่อ่าน 7กฏฯภายในวันเดียวนั่นแหละค่ะ.......ไม่ได้ว่าอ่านรีบๆวันเดียวเพื่อเป็นแชปป์แล้วไม่รู้เนื้อหานะคะ พี่เค้ารู้เนื้อหาแบบทะลุเลยล่ะค่ะ

สวนตัวยังไม่เคยรู้จักไม่เคยอ่านผลงาน แต่มีผู้เข้าร่วมสัมนา"พลังจิตอัศจรรย์" พูดให้ได้ยินบ่อยมาก

ก็ยังบอกเพื่อนคนดังกล่าวว่า ถ้าไม่รู้สึกอยากไปคนเดียวนั่งเครื่องมาลงเชียงใหม่ก่อนได้ จะเป็นคนขับรถให้
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 07/10/2008
ตอบคำถาม อาจารย์มาก็เยอะแล้ว
ตอนนี้อยากจะถามกลับเพียงข้อเดียว ไม่ถึง7ข้อค่ะ

อยากทราบว่า มีอยู่หลักสูตรนึง ผู้ดำเนินการอยู่ หาดใหญ๋(อ.วสันต์เป็นวิทยากร ค่าลงทะเบียน15,000บาท) แต่จัดที่เชียงใหม่(เชียงใหม่ภูคำ) อยากทราบว่าถึงเป้าหมายใช้ได้มั้ยคะ?

คือตอนนี้มีอยู่ประมาณ10เสียงเรียกร้องให้ไปจัด ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน
กำลังเก็บข้อมูลอยู่ค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 07/10/2008
คนที่อ่านหนังสือ 7กฏฯ ภายในวันเดียว เป็นคนเดียวกันกับคนที่อยู่เชียงราย และแนะนำเรื่อง มณีเวช ใช่หรือไม่ครับ
ก.ใช่
ข.ไม่ใช่
ค.ใช่ครึ่งเดียว (ครึ่งอยู่เชียงราย)
ง.ใช่ครึ่งเดียว (ครึ่งแนะนำเรื่องมณีเวช)
หากคำตอบคือ ข้อ ก. หรือ ง. จะได้ถือโอกาสขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 07/10/2008
คำตอบถูกต้องคือข้อ ก.ค่ะ
พี่คนนี้ไม่ได้เป็นหมอน่ะ แต่ก็รู้จักคุ้นเคยกลุ่มคนที่พูดถึงดีทีเดียวค่ะ
เป็นนักสังคมสงเคราะห์....และเป็นผู้เชื่อมโยงเกือบทุกเรื่องได้ดีมากๆ
เป็นรุ่นนัอง มหา'ลัย เดียวกับ อาจารย์วสันต์ค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 08/10/2008
คงจะเป็นจริงที่ว่าทุกสิ่งในจักรวาลล้วนมีส่วนเชื่อมโยงกัน รวมทั้งเรื่องของกฏของแรงดึงดูด ได้เข้าดูในเวบวงน้ำชาแล้ว เหมือนที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่ในที่นี้เลยค่ะ น่าสนใจจริงๆ... ก็ต้องขอขอบคุณอาจารย์วสันต์และคุณนันท์อีกครั้งนะคะที่ช่วยเชื่อมโยงสิ่งดีๆเหล่านี้ให้
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 08/10/2008
คุณแฟนพันธุ์แท้ครับ

หลักสูตรสัมมนาที่ว่านี้ คงไม่ใช่หลักสูตรที่ผมเป็นวิทยากรคนเดียวหรอกนะครับ คงมีหลายหลักสูตรที่เขาขายผูกพว่งกันเป็นแพ็คเกจ ในส่วนความรับผิดชอบของผม แค่เพียง 2 วัน เท่านั้น (หนึ่งวัน เป็นเรื่องการขาย อีกหนึ่งวัน เป็นเรื่องการเป็นหัวหน้างาน/ผู้จัดการ) นอกนั้น น่าจะเป็นเรื่องการตลาด การจัดการทรัพยากรมนุษย์ หรือ การเงิน การบัญชี อะไรพวกนี้ (เขาบอกผมแต่เฉพาะที่ผมรับผิดชอบอยู่เท่านั้นครับ อย่างอื่น เขาไม่ได้บอก และผมก็มักไม่ได้ถามด้วย) ดูจากราคาแล้ว สองวันของผม เขาไม่น่าขายไปถึง 15,000 บาท ได้หรอกครับ อย่างมาก ก็เท่ากับที่คุณแฟนพันธุ์แท้เก็บนั่นแหละ คือไม่เกิน 4,000 บาท

ส่วนที่ถามว่าเป้าหมายของหลักสูตร ใช้ได้หรือไม่นั้น ก็น่าจะใช้ได้ ในแง่ขององค์กรธุรกิจน่ะครับ (คนเข้าสัมมนา ส่วนใหญ่ เป็นองค์กรส่งมาทั้งนั้นครับ ไม่ค่อยมีสมัครใจมาเองสักเท่าไหร่) ในแง่เนื้อหา อาจไม่ได้ลึกซึ้งไปในเชิงจิตวิญญาณมากนัก ก็แตะๆ กันผิวๆ ในเชิงจิตวิทยาประยุกต์ด้านการขาย การบริการ การบริหาร ให้สอดคล้องกับงานอาชีพของพวกเขาครับ เคยพยายามสอดแทรกแนวคิดเชิงจิตวิญญาณเข้าไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ ยังมีคนบ่นอุบ ว่าผมพาพวกเขาออกไปนอกโลกเชียวหรือนี่

บุคคลที่คุณนันท์ถาม และคุณแฟนพันธุ์แท้ตอบ จบจากคณะสังคมสงเคราะห์ใช่หรือไม่ครับ ถ้าใช่ และอยู่ในรัศมีรุ่นน้องไม่เกินสามปี ผมต้องรู้จักแน่นอน โอ ชีวิตนี้นี่ ยืมเงินใครแล้วชักดาบไม่ได้เอาเลยจริงๆ

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 08/10/2008
คุณนันท์ครับ ขอชื่นชมการถามของคุณนันท์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นมัลติเพิ่ลช้อยส์ ที่ผมคุ้นเคยและชอบมาก จะให้ดี ควรเพิ่ม จ.ถูกทุกข้อ และ ฉ.ผิดทุกข้อ..ก็น่าจะทำให้การเลือกสมบูรณ์ขึ้น (ฮา)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 08/10/2008
ใช่ค่ะ! คณะสังคมสงเคราะห์ เค้าปี1 อาจารย์อยู่ปี3ค่ะ(จากการบอกเล่า) เจอหลักฐานแล้วค่ะเค้าเก็บค่าลงทะเบียน 6,500บาทค่ะ

ขอรายงานในเรื่องรับปากอาจารย์ไว้คราวที่แล้วค่ะ
หลักสูตรThe Law Of Attraction วันที่13-14กย.51 ที่ผ่านมาเค้าเก็บค่าลงทะเบียน3,500บาท ตั้งเป้าหมายคนเข้าสัมนา 400คน ทำการตลาดอยู่ 3จังหวัด(เชียงใหม่ ,ลำปาง, ลำพูน) ผลลัพท์จริงๆคือคนที่สมัครเข้ามา..........มีจำนวนไม่พอจัดค่ะ(ไม่กล้าถามต่อว่ามีมาเท่าไหร่?) จริงๆก็เอาใจช่วยให้เค้าจัดให้ได้ซักครั้งนะคะ ก็เหมือนที่อาจารย์เคยบอก......แม้แต่นาฬิกาเสีย...ยังมีประโยขน์บอกเวลาเที่ยงตรงได้ถึง 2ครั้ง/วัน หากเค้าจัดได้จริงๆก็ตั้งใจจะซื้อบัตรเข้าไปร่วมอยู่เหมือนกัน

หากมองในมุมที่แสนคับแคบของตัวเองก็.....คิดเรื่อง สัดส่วนของ ช่องทางโลก หรือช่องทางธรรม นั่นแหละค่ะ เป็นการปรับช่องที่สมดุล มาก/น้อย.....ของคนจัดรวมทีมงานว่าเป็นอย่างไร

ศาสตร์น่ะ เป็นเรื่องมีประโยชน์ต่อผู้คนมากมายอยู่แล้ว
ที่เหลือที่สำคัญ.....คือพลังไร้รูป...ของคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทั้งหมด

ไว้ผ่านวันที่11ตุลา.51 จะรายงานเรื่อง พลังเนรมิต นะคะ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 08/10/2008
คุณนพรัตน์ หากมีโอกาสลองตามไปดูเครือข่ายที่เชื่อมกับเวบไซด์ วงน้ำชา ด้วยสิครับ ผมเคยตามไปดูผ่านๆ ยังไม่มีเวลาดูโดยละเอียด แต่คิดว่าน่าสนใจเช่นกัน

ขอบคุณครับท่านอาจารย์ แต่แย่หน่อยนะครับที่เห็นทีท่านอาจารย์ คงยืมเงินใคร แถวๆ ภาคเหนือตอนบนไม่ได้แล้วจริงๆ ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 08/10/2008
ก่อนที่กระทู้นี้จะถูกเบียดจนคุณนันท์ไม่ได้กลับมาอ่านอีก ขอถามคุณนันท์หน่อยนะคะเกี่ยวกับแนวทางของ ดีพัค โชปรา เมื่อเทียบกับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ในสองประเด็นดังต่อไปนี้

1. ในทางพุทธจะสอนให้มุ่งสู่นิพพานคือการ”ละทิ้ง”ตัวตนเพื่อไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ในขณะที่ดีพัค โชปรา บอกว่าจุดมุ่งหมายในชีวิตของเราควรเป็นการ”ค้นพบ”ตัวตนที่สูงกว่าคือจิตวิญญาณของเราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานอันศักดิ์สิทธิ์ที่คงอยู่เป็นอมตะไม่มีที่สิ้นสุดในจักรวาล และให้เรา”ทำนุบำรุง”(nourish) จิตวิญญาณนี้ด้วยการกระทำ การคิด และการรับรู้ต่างๆเพื่อให้พลังอันศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวสามารถถ่ายทอดออกมาได้โดยผ่านตัวเรา.... คุณนันท์คิดว่าแนวทางดังกล่าวเหมือนหรือต่างกันอย่างไรในแง่การตั้งจุดหมายในชีวิตของเรา

2. ในบทเรียนข้อที่ห้าของ Golf for Enlightenment ดีพัค โชปราพูดถึง Passion with Detachment หรือตรงกับคำว่า “Shakti “ ในภาษาสันสกฤต ว่าเป็นแรงบันดาลใจหรือพลังของชีวิตที่จะช่วยให้เราเข้าถึงแก่นแท้ของตัวเราได้ แต่ในทางพุทธศาสนาเท่าที่ทราบดูเหมือนจะไม่มีคำสอนในแง่พลังงานหรือความพยายามเช่นว่านี้อยู่ ไม่ทราบว่าคุณนันท์มีความเห็นอย่างไรบ้างคะในเรื่องนี้
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 11/10/2008
คุณนพรัตน์ครับ ข้อสอบงวดนี้ยากจริงๆ ขอขึ้นเขาโงวลังกั๋งเพื่อตั้งสติ แล้วจะรีบกลับลงมาตอบนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 11/10/2008
คุณนันท์คะไม่ต้องรีบก็ได้ค่ะ เพราะตอนนี้ยังติดอยู่ที่เชิงเขาป่าหิมพานต์หาทางขึ้นไม่ค่อยถูกเลยค่ะ... วันนี้ลองไปภาคปฏิบัติดูโดยมีการพนันกันเล็กน้อยกับทีมตรงกันข้าม ปรากฏว่าสู้ไม่ได้เลยค่ะ แพ้ไปตั้ง 5 หลุม... จากการเล่นวันนี้รู้สึกได้เลยค่ะว่าการรับรู้ อารมณ์ ความคิด และการทำงานของกล้ามเนื้อและวงสวิงยังไม่นิ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน ตามที่ ดีพัค โชปราบอกไว้ สงสัยคงต้องค่อยๆฝึกอีกนาน แต่ชักเริ่มรู้สึกสนุกในอีกลักษณะหนึ่งแล้วหละค่ะ...

ไม่ทราบว่าเขาโงวลังกั๋งของคุณนันท์อยู่ไกลมากไหมคะ หวังว่าลงจากเขาคราวนี้คงมีแสงสว่างจากดินแดนอันเงียบสงัดมาฝากเช่นเคยนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 13/10/2008
ฟังแล้วรู้สึกทั้งยินดี ทั้งอยากมีเวลา นั่งอ่าน Golf for Enlightenment แบบเต็มๆ จริงๆ ว่าแต่ผมยังมีความหวังที่จะได้อ่านฝีมือแปลของคุณนพรัตน์ อยู่หรือเปล่าครับ

เขาโงวลังกั๋ง จริงๆ อยู่ที่ไหนผมยังไม่รู้เลยครับ จำได้แต่ว่าชอบชื่อนี้ มันติดอยู่ในใจมาตั้งแต่เด็กๆ นะครับ

ผมถือวิสาสะ ยกคำถามของคุณนพรัตน์ไปขึ้นเป็นกระทู้ใหม่ เผื่อว่าจะได้ให้คนได้ร่วมแสดงความเห็นกัน โดยไม่ขออนุญาตไปแล้วครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 13/10/2008
ถ้าคุณนันท์หมายถึงหนังสือ Golf for Enlightenment หละก็ ขอบอกว่าหลังจากอ่านจบแล้วยังไม่เกิดความคิดว่าจะกล้าแปลเลยค่ะ แต่ถ้าเป็นการเแลกเปลี่ยนความคิดรวมทั้งประสบการณ์จากการนำไปใช้ปฎิบัติคงจะมีมากกว่า

เดี๋ยวจะตามไปกระทู้ที่คุณนันท์เปิดให้ใหม่นะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 14/10/2008
เลิกยุก็ได้ครับ ถ้าอย่างนั้นเอาไว้ผมมีเวลานั่งอ่านแบบเต็มๆ เมื่อไหร่ เราค่อยมาแลกเปลี่ยนกันครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 14/10/2008
ดีเลยค่ะ และขอภาวนาให้คุณนันท์หายจากปัญหาเรื่องกระดูกต้นคอไวๆด้วยนะคะ เผื่อจะได้สามารถแลกเปลี่ยนเรื่องภาคสนามด้วย...ไม่ทราบเป็นไงนะคะ ตั้งแต่โดนกินอย่างราบคาบครั้งที่แล้ว รู้สึกจะกลับมา take golf seriously อีกแล้ว เป็นpassion หรือแค่ reaction จากการถูกเกมท้าทายก็ยังไม่แน่ใจ และเพิ่งไปซื้อวิถีแห่งกอล์ฟ ของคุณหมอวิธาน มาทั้งสองเล่ม รู้สึกส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของmental game... อาจจะต้องผ่านจากจุดนี้ก่อนถึงจะก้าวไปขั้น spiritual game ก็ได้ค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 15/10/2008
ตามประสบการณ์ที่เคยโดนกินรวบของผม ก็มัก taKe serious เช่นกัน เพราะรู้สึกอยากกินรวบคืน ผสมกับอยากกลับไปอยู่ในจุดที่ ทุกอย่างมันดีได้ดั่งที่ใจอยากให้เป็น และพบว่ามันก็กลายเป็นตัวสร้างปัญหา จากความอยากของทั้ง 2 กรณี เห็นด้วยครับว่า จุดนี้กระมังที่ต้องผ่านให้ได้ เพราะยังวนเวียนอยู่ใน mental game ส่วนจะเป็น spiritual game ได้ก็ต้อง Passion with Detachment ดังที่ โชปรา ว่าเอาไว้
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 16/10/2008
คุณนันท์คะ เมื่อวันที่ 22 ตุลาที่ผ่านมาได้ไปงานมหกรรมหนังสือและแวะไปที่บูธของร้านนายอินทร์ (เห็นหนังสือ 7 กฏฯ ของ Nantbook ที่บูธนี้ด้วยค่ะ) บังเอิญทันตแพทย์สม สุจีรา ไปแจกลายเซ็นต์ที่บูธพอดี ซึ่งได้พบแล้วผิดคาดมากเพราะไม่เคยอ่านหนังสือของ ทพ. สม มาก่อน ได้ยินแต่ชื่อและจากความเห็นของคุณนิกเกี่ยวกับที่คุณหมอเขียนถึงเรื่องพุทธศาสนา ทำให้นึกว่าคงต้องเป็นคนสูงวัยที่ค่อนข้างเคร่งขรึม ที่ไหนได้คุณหมอยังหนุ่มอยู่และดูออกจะเหมือนวัยรุ่นด้วยซ้ำไป ได้มีโอกาสพูดคุยและถามเกี่ยวกับเรื่อง Passion with detachment ซึ่งคุณหมอตอบตามหลักของ The Top Secret ว่าให้”เชื่อ” แต่ต้อง”ไม่อยาก” ในทางปฏิบัติอาจฟังดูขัดแย้งกัน แต่ถ้าทำได้ก็จะช่วยให้เกิดความสำเร็จได้...เลยรับฟังไว้ตามนี้และนำมาคิดเกี่ยวกับการเล่นกอล์ฟว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถแก้มือได้โดย “ไม่อยาก” ปรากฏว่าเมื่อวานได้ไปออกรอบเพื่อล้างตาอีกครั้ง หลังจากทำความสงบอยู่ 2 สัปดาห์กว่าและพยายามศึกษาสภาวะจิตในข้อนี้ คราวนี้จากที่เคยแพ้อย่างราบคาบกลับมาเป็นเสมอได้แล้วค่ะเพราะสามารถตีลูกได้ไกลและตรงขึ้น แถมยังพัทท์ลูกยากๆลงได้หลายลูกแบบไม่น่าเชื่อ จนเพื่อนร่วมก๊วนงงว่าไปทำอะไรมา !?! เมื่อลองคิดทบทวนดูก็เข้าใจว่าคงเป็นเพราะความต้องการจะ”แก้มือ”มีสูงมากเลยทำให้นึกถึงเทคนิคต่างๆที่ลืมไปแล้วขึ้นมาได้ ส่วนช่วงออกรอบพยายาม”ปล่อยวาง” โดยนึกเพียงว่าจะให้ลูกไปในลักษณะอย่างไรโดยไม่เกิดเป็นกิเลสว่า”อยาก”ให้ลูกที่ตีต้องดีอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้เวลาตีรู้สึก”นิ่ง”และ”สงบ”ในใจจริงๆ... แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้สามารถทำได้ทุกหลุมหรอกนะคะ ยังมีออกอาการบ้างในบางขณะจิตตามวิสัยปกติของปุถุชนทั่วไป คงต้องตามดูไปเรื่อยๆค่ะว่าจะ”จำ” และ”รักษา”สภาวะจิตที่สมดุลระหว่างพลังของจุดมุ่งหมายที่ต้องการและความสงบใจจิตใจเช่นว่านี้ได้แค่ไหนในการออกรอบครั้งต่อๆไป
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 31/10/2008
คุณนพรัตน์ ครับ ตัวผมเองก็ได้พบว่า นั่นเป็นทั้งเสน่ห์ เป็นความสนุก ที่มีคุณค่าที่สุดในการเล่นกอล์ฟ สนุกจากการได้เฝ้าดูตนเอง ว่าจะสามารถธำรงและรักษา วิถีแห่งความว่างเปล่าและเบิกบาน นั้นได้ยาวนานมากแค่ไหน ในทุกๆ ขณะที่ก้าวไปสู่เป้าหมาย

และในทุกๆ ขณะที่เราทำได้นั้น มันช่างเป็นความหอมหวาน และมีรางวัลตอบแทน เป็นความมหัศจรรย์ของผลที่เกิดขึ้น ในช็อตนั้นๆ อยู่เสมอๆ ความยากกลับกลายเป็นความง่าย หรือจะพูดว่า ความยากที่เคยเกิดขึ้นในใจมันได้หายไป

นี่คือ เสน่ห์ ที่ทำให้ผมยังคิดถึงช่วงเวลาอย่างนั้น ที่เกมกอล์ฟเปิดโอกาสให้ได้ฝึกฝน และสร้างประสบการณ์แห่งการหยั่งถึง ให้จดจำไว้ แต่ตอนนี้ผมก็คงได้แต่ใช้สถานะการณ์ในชีวิตปกติ ฝึกฝนแทนไปพลางๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมก็เป็นเช่นเดียวกันกับคุณนพรัตน์ คือ ไม่ว่าจะในเกมหรือนอกเกม ก็ยังคงต้องสลับฉากไปมา ระหว่างการมี "ความสงบนิ่งอันมั่นคงภายใน" (ตามคำของโชปรา) กับการออกอาการ ให้ต้องฝึกและเรียนรู้อยู่เสมอๆ ครับ

ขอบคุณคุณนพรัตน์ ที่กรุณานำมาเล่าสู่กันครับ ทำให้ผมได้ท[ทวนใจไปด้วย เหมือนการซ้อมใจ แม้ไม่ได้ออกรอบเองครับ . . แล้วมาเล่าสู่กันอีกนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 01/11/2008
ยินดีค่ะคุณนันท์ ตอนนี้คุณนันท์ยังเล่นเองไม่ได้ก็ขอให้กรุณาช่วยเป็นพี่เลี้ยงทางการฝึกจิตวิญญาณด้วยการเล่นกอล์ฟในกระทู้นี้ไปพลางๆก่อนนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 01/11/2008


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code