คนไทยกับORIGINAL
เอสเธอร์,เจอรี่ ฮิคส์ ก็เป็นORIGINAL หนังสือแนวกฏแห่งการดึงดูด
ดีพัค โชปรา เวย์น ไดเออร์ นีล โดนัลด์ วอลช์ ก็เป็น ORIGINAL หนังสือแนวจิตวิญญาณ
ไบรอัน เทรซี่ แอนโทนี่ รอบบิ้นท์ ก็เป็น ORIGINAL หนังสือแนวโปรแกรมจิตใจ เพื่อให้ประสบความสำเร็จร่ำรวยทางโลก
ผมสังเกตว่าฝรั่งนี่เขาถือว่าสุดยอดจริงที่คิด CONCEPT ต่างๆมาเขียนหนังสือขายได้ฟอร์มยักษ์ แต่คนไทยทำไมไม่มีเป็น ORIGINAL หนังสือของตัวเองบ้าง มีแต่ไปอ่านของฝรั่งเขามาแล้วก็มาเขียนหนังสือ ซึ่งชอบเขียนแบบหน่อมแน้ม รักไม่สู้ความเข้าใจ คิดดีแล้วจะได้ดี หรือหนังสือของคุณบัณฑิต อึ้งรังสีเล่มนึงก็ลอก หนังสือ อนาคตอยู่ในกำมือคุณ ของไบรอันเทรซี่ สนพ.ต้นไม้มาทั้งดุ้น ก็เลยอยากให้คนไทยเป็น ORIGINAL หนังสือ HOW TO ของตัวเองบ้าง
ชื่อผู้ส่ง : นิก ถามเมื่อ : 18/09/2008
 


อีกอย่าง ทพ.สม สุจิรา เขียนหนังสือที่มีประโยชน์กับคนไทย ผมว่ามีอยู่เล่มเดียว คือเดอะท็อปซีเคร็ต ส่วนเล่มอื่นอย่างไอน์สไตด์อย่างนี้ มีแต่ทฤษฎีล้วนๆเอาไปปฏิบัติไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์หลอกครับ แล้วการที่มาพูดว่าฝรั่งเขาสู้คนตะวันออกไม่ได้เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้มาตั้งนานแล้วผมไม่เห็นด้วย เช่นหลักการบางอย่างที่พระพุทธเจ้ารู้แต่ก็ไม่มีใครเอาเผยแพร่ ไม่อย่างนั้นเราจะซื้อหนังสือของฝรั่งมาแปลกันทำไม ตั้งกี่สำนักพิมพ์ในเมืองไทย ส่วนคนไทยที่เผยแพร่หนังสือพุทธ ก็มีแต่เอาเรื่องกฏแห่งกรรมมาขู่ให้คนกลัวอกสั่นขวัญหาย บรรยายนรกซะยังกับเคยไปมาอย่างนั้นแหละ ทำให้คนไม่ได้คิดทำดีอยู่กับปัจจุบันมีแต่โลภสวรรค์ กลัวนรก ผมว่าปัญหานี้ควรจะแก้ไขโดยด่วนเพราะว่ามันเรื้อรังมานานแล้ว ขอความเห็นด้วยครับ ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 18/09/2008
เห็นด้วยกับคุณจริงๆ คุณนิค
ขอบคุณนะคะ โดนใจ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้ผ่านมา ตอบเมื่อ : 19/09/2008
เห็นด้วยกับคุณนิก ในประเด็นเรื่อง อยากเห็นหนังสือด้านนี้ของคนไทย ที่เป็น original (แต่ how to ด้านอื่นๆ ก็พอมีให้เห็นนะครับ)

แต่ผมเห็นต่างเล็กน้อยตรง ผมคิดว่าทุกคนคงมีวิธีหรือแนวทางเป็นของตน และคงมีผู้อ่านที่ชอบหรือตรงระดับการรับรู้ของเขาอยู่

ผมมีความเชื่อหลักอยู่ว่า ทั้งหมดเป็นภาพต่อภาพใหญ่ หากไม่มีหนังสือเหล่านั้น(ซึ่งครั้งหนึ่งผมเองก็เคยอ่าน) หรือมีหนังสือแปลจากต่างประเทศเหล่านั้น วันนี้ผมก็คงไม่รู้จักเรื่องราวเหล่านี้ได้เลยครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 19/09/2008
เห็นด้วยครับคุณนันท์ เรื่องภาพต่อภาพใหญ่ สำหรับผม สิ่งสำคัญคือเราเองต้องคนให้รู้ก่อนว่าเกิดมาเพื่อทำอะไร และกระทำทันออกมา
เรื่องของเรื่องคืออยากแสดงความเห็นว่า ไม่ใช่แค่ "รู้" อะไรนะครับ เพราะส่วนตัวผมเชื่อว่า คงไม่มีใครสำเร็จอะไรได้ง่ายๆเพียงแค่อ่าน หรือ รู้ หรือทดสอบสังเกตุกฏต่รางๆเท่านั้น หากแต่ทุกคนต่างต้อง "ใช้" ชีวิตจริงๆ เล่น จับ สัมผัส เรียนรู้ ประมวล และค้นหาสิ่งที่เหมาะกับตนเองให้ได้ด้วย หลังจากนั้นก็สร้างชีวิตกันต่อไป เป็นเหมือนสวนดอกไม้ที่สัตว์และพืชต่างชนิดพันธ์ต่างทำหน้าที่ของตนเองโดยไม่หยุดหย่อน

อย่างไรก็ตาม สำหรับหนังสือ dream team อย่างที่เป็นประเด็นนั้น ผมว่าตอนนี้ก็คงมีนักเขียนชาวไทยหลายคนกำลังพยายามสร้างมันขึ้นมาอยู่เหมือนกัน (เพราะอย่างน้อย หลายคงคงเห็นว่ามันขายได้ และก็ยำๆความรู้คนอื่นมาก็ไม่น่ายาก) และบางคนก็อาจจะทำได้ดีเป็นแบบฉบับของเขาเอง ซึ่งเราคงต้องเปิดใจทดสอบกันครับ ช่วยกันไป

แต่อย่างไร มันไม่ใช่เนื่องง่ายแน่ๆ และคนไทยเองก็คงต้องพยายามหาแนวทางรู้จักตนเองแบบไทยๆออกมาให้ได้ด้วย หลังจากนั้นค่อยสร้าง original ของตัวเองขึ้นมา แต่ใครจะรู้ครับ บางทีไอ้แนวๆ เดินตามธรรม หรือ กรรมะเขย่าขวัญนั้นอาจเป็นอะไรแนวๆที่ใกล้เคียงกับoriginalของคนไทยก็ได้ เพราะส่วนใหญ่ เราถูกสอนมาให้ คิดๆๆ เรียนๆๆ รู้ๆๆ ทำตามๆๆ มากกว่า "สร้าง" ใหม่นี่ครับ

แต่ถึงมันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ นี่ก็ถือเป็น"ดอกไม้" อีกชนิดหนึ่งในสวนทีมีความงามอีกแบบครับ ไม่ได้แปลว่าจะต้องถูกตีค่าว่ามีความ อัจฉริยะน้อย หรืออัจฉริยะมาก ไปกว่าใคร





ชื่อผู้ตอบ : Karn ตอบเมื่อ : 23/09/2008
ผมขอเพิ่มความเห็น เปรียบสิ่งที่คุณ Karn พุดดังนี้ครับ ความรู้หรือการได้รู้ ก็เหมือนได้เห็นเครื่องมือหรือได้เรียนรู้เข้าใจเครื่องมือ ที่มีอยู่มากมาย แต่หากไม่ถามตนเอง จนพอรู้บ้างว่าตนเองเกิดมาเพื่อทำอะไร หรือจะเป็นกลไกอะไรในการสรรค์สร้างของจักรวาลนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะหยิบจับความรู้ประเภทไหนมาทดสอบความเหมาะสม

เช่น หนังสือเฉพาะแนวพัฒนาตนเองนี้น(ผมหมายรวมถึงหนังสือทางศาสนาหรือด้านจิตวิญญาณ) ก็มีอยู่กว้างขวางหลากชนิด และหลากจริตของผู้เขียน ซึ่งต้องเลือกให้ตรงจริตและการรับรู้ในแต่ละก้าวของตน และทดสอบ ทดลอง มันก็จะเกิดการก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ และตอบโจทย์หลักที่ว่า เราเกิดมาเพื่อจะทำอะไรและทำในแบบไหน

ฟังดูเป็นเรื่องพื้นๆ ที่จะพูดซ้ำทำไม แต่สำหรับผม นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างที่สุด และเป็นจุดเริ่มที่สำคัญที่สุด ที่ผมได้เรียนรู้มาเช่นกันครับ

แถมอีกนิด เริ่มแรกการเลือกพิจารณาสิ่งต่างๆ ข้างต้นนี้ จะอยู่ในระดับการใช้ความคิดหรือสมอง ไตร่ตรอง เลือกดู ต่อเมื่อสามารถหยั่งรู้ถึงตัวตนที่แท้ ของตนเอง ได้ตามสมควร เมื่อนั้นมันจะเป้นเรื่องที่รู้ได้ ด้วยวิถี ของเสียงที่มาจากข้างใน ว่าใช่ หรือไม่ใช่ ผมเห็นเป็นเช่นนั้นครับ แต่ต้องระวังเสียงที่มาจากข้างใน ที่ไม่ได้เกิดจากฐานการรู้จักตัวตนเอง มันชอบพาเราเข้ารกเข้าพง อยู่เรื่อยเลย ครับ


ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 24/09/2008
ok เลยครับ คุณนันท์ โดยเฉพาะ เราเกิดมาเพื่อทำอะไร และ "ทำในแบบไหน" และก็เรื่องของเสียงต่างๆที่มาจากภายใน ที่เราต้องแยกแยะให้ดี แถม ยังต้องมีความเชื่อมั่นในการแยกแยะและสานต่อมันให้ได้ด้วย

เหล่านี้คือเรื่องละเอียดอ่อน ที่ผู้ใช้ชีวิตต้องค้นหาและสัมผัสมันเองครับ ซึ่งผมว่าไม่ง่าย แต่ในขณะเดียวกันมันชัดเจนได้ไม่ยากนะครับ

แต่นี่เอง คือเหตุผลที่คนหลายคน อยากมาฟังเสียงต่างๆที่กำลังเดินทางอย่างเงียบๆอยู่ในพื้นที่สีขาวของบอร์ดนี้ครับ ขอบคุณครับ



ชื่อผู้ตอบ : Karn ตอบเมื่อ : 24/09/2008
มันอาจจะไม่ง่ายที่จะไปพิพากษาว่าอะไรเป็น original หรือไม่ ถ้าเราเชื่อในเรื่องกฎเกณฑ์แห่งจักรวาลแล้ว เราก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า "ทุกอย่างมันมีอยู่แล้ว" เพียงแต่ว่าใคร?เป้นผู้ไปค้นพบสิ่งนั้นก่อน

Brian Tracy ก็ยังยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า เขาอาจไม่ใช่คนที่จะสามารถคิดค้นอะไรที่มันใหม่ๆ ได้เป็นคนแรก แต่เขาเชื่อว่าตัวเองสามารถบูรณาการความรู้ของปราชญ์รุ่นก่อนๆ มาเรียบเรียงและนำเสนอใหม่ในแบบของเขาเองได้ดี

Anthony Robbins นันก็ไม่คิดอะไรใหม่ที่จะสามารถจัดได้ว่าเป็น original เขาเพียงแต่นำศาสตร์ของ NLP ที่เขาได้ศึกษามา มาเล่นแร่แปรธาตุขยายผลขึ้นให้ละเอียดพิสดารมากขึ้นเท่านั้น!

ปฏิเสธไม่ได้ว่าดีพัค โชปรา นั้น ได้แรงบันดาลใจจากคัมภีร์ภควัทคีตา (และอาจหมายรวมถึง Manifest Your Destiny ของ Wayn Dyer ด้วย) ในการเขียน 7 กฎ ด้านจิตวิญญาณฯ ของเขา

Stephen R.Covey ก็ไม่ได้ทำอะไรใหม่เป็นคนแรก ในการเขียนหนังสือ The 7 Habits for Highly Effective People ที่ขายดีอย่างถล่มทะลายไปกว่า 15 ล้านเล่ม มีบางคนกล่าวว่า เขาทำได้เพียงผิวๆ ของหลักความเชื่อทางพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป นี่ยังไม่นับหนังสือ The 8th Habit หนังสือเล่มล่าสุดของเขา ที่นอกจากจะไม่มีอะไรใหม่เลยแล้ว ยังเป็นแค่เพียงรวบรวมเรื่องภาวะผู้นำเก่าๆ มาเล่าใหม่ให้เวียนหัวหนักขึ้นไปอีกเท่านั้น

Ralph Waldo Emerson พูดไว้ได้ดีที่ว่า "สังคมมักจะประหลาดใจ กับตัวอย่างใหม่ๆ ของสามัญสำนึกกันอยู่เสมอ!"

ผมเองเคยพูดต่อหน้านักวิชาการหลายสิบคน เกือบทั้งหมดจบปริญญาเอก ว่า.."การไปลอกความคิดของใครมาแม้เพียงหนึ่งคน เราจะถูกประณามทันทีว่าเป็น 'หัวโขมย' แต่ถ้าเราไปลอกมาจากหลายๆ คนแล้วละก็ เขาก็จะเรียกมันว่า 'งานวิจัย' หรือ 'ตำราทางวิชาการ' ทันที!!"..หลังจากพูดจบ ผมก็ต้องรีบเดินออกจากห้องประชุม ก่อนที่จะโดนพวกดอกเตอร์ทั้งหลาย ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัย และตำราวิชาการ..รุมตื้บ!!

ประเด็นสำคัญมันคงไม่ได้อยู่ที่ original หรือไม่ แต่มันอยู่ที่เมื่อรู้แล้ว เอาไปทำอะไรต่อหรือไม่ ผมยังขอยืนยันซ้ำอย่างที่ Tolle เคยว่าไว้ว่า..มันไมใช่อะไรเลย ทุกอย่างมันก็เป็นเพียง "ป้ายบอกทาง" เท่านั้น ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ว่า เรามีสติสัมปะชัญญะที่ดีพอหรือไม่ ในอันที่จะหยั่งรู้ได้ว่า ป้ายไหน เป็น "ป้ายที่ถูกต้อง!?!"

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 25/09/2008
รู้สึกว่า 7 กฏฯของดีพัค โชปราจะเขียนก่อน Manifest your Destiny ครับ ดังนั้นดีพัค ไม่ได้ใช้หลักของ Manifest แน่ และที่สำคัญผมคิดว่า ดีพัค นั้นแนวคิดแต่ละอย่างของหนังสือของดีพัคนั้น เขาต้องเอามาจากคัมภีร์ฟอร์มยักษ์อย่างภควคีตาหรือเวทานตะอะไรแบบนั้น จะมาเอาจากหนังสือธรรมดาแบบManifestฯ ไม่ได้แน่ และนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ คุณวันชัยแปลหนังสือของดีพัคแค่เพียงเล่มเดียวคือโชค ดวงฯ คือหนังสือของดีพัค เนื้อหาดีมากๆ คุณวันชัยบอก แต่เป็นหนังสือที่มี Concept ยากมาก คุณวันชัยเลยไม่อยากทำครับ
อย่างเช่น Concept ที่ต้องเป็นที่ไม่เห็นด้วยในยุคสมัยนี้(ขอย้ำว่าสมัยนี้) คือหนังสือโชค ดวง ความบังเอิญฯ บอกว่าเรามีชะตาชีวิต ที่ถูกกำหนดมาก่อนแล้ว อยู่ที่จิตเราจะมีสมาธิลึกซึ้งพอจะรู้โชคชะตานั้นมั้ย ถ้าเป็นสมัยก่อนที่เราเชื่อเรื่องโชคชะตาก็ดูยอดเยี่ยม แต่สมัยนี้หนังสือ HOW TO กำลังฮิตที่ว่า ทุกอย่าง(ย้ำทุกอย่าง)ในชีวิตของเรา เรากำหนดเองทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นอะไรที่เข้าใจง่าย อยากได้อะไร ใช้กฏแห่งการดึงดูดหรือจิตใต้สำนึกให้ได้มา วางแผนลงมือทำ ผลลัพท์สำเร็จ ซึ่งคุณวันชัยเขาก็บอกมันควรจะง่ายๆอย่างนี้
แต่ผมรู้สึกว่าถ้ามันง่ายๆแบบนี้มันจะสูญเสียความเร้นลับ นี่คือสาเหตุที่ผมชอบหนังสือของดีพัค โชปรา มากกว่าหนังสือของ Brian Tracy ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นิก(ผู้คลั่งไคล้สนพ.ต้นไม้) ตอบเมื่อ : 26/09/2008
ผมอ่านหนังสือ โชค ดวง ฯ นานมาแล้ว จนจำรายละเอียดไม่ค่อยได้ แต่คิดว่าภาพรวมเนื้อหาของหนังสือ ก็มุ่งให้ทุกคนเข้าใจว่า เราสามารถกำหนดชะตาชีวิตเรา (หลังจากนี้) เองได้ (ตามชื่อของหนังสือ)

ประเด็นหลักที่จำได้ก็คือ ให้เราหัดสังเกตเห็นความเป็นไปของเหตุการณ์ในชีวิต อันเกิดขึ้นอย่างสอดคล้อง ซึ่งเป็นเหมือนข่าวสารหรือเบาะแสของ โชคชะตาที่จะปรากฎแก่เรา ในขณะต่อๆ ไป และด้วยการเห็นสิ่งเหล่านั้นนั่นแหละ ที่จะทำให้เราเริ่มกำหนดหรือควบคุมโชคชะตาของเราได้ อย่างรู้ตัว เพราะไม่เช่นนั้น เราจะยังปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามยถากรรม ด้วยว่าเราตกอยู่ภายใต้กลไกของเหตุการณ์เหล่านั้น โดยการมีปฏิกริยาตอบโต้แบบอัตโนมัติ ไม่รู้ตัว ด้วยการแสดงความชอบ ไม่ชอบ ตัดสิน ต่อต้าน ฯลฯ

ผมจำภาพรวมได้ประมาณนี้ แต่อาจไม่ตรงมากนัก เพราะมันอาจเกิดจากการผสม ปนเป รวมกับข้อมูลในสมองของผมจากหนังสือเล่มอื่นๆ ด้วย

ถึงตรงนี้ ไม่รู้ทำไม มันทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ โรเจอร์ เฟดเดอเรอร์ ที่คุณ Karn เคยเล่าเอาไว้ในกระทู้ "มือหนึ่ง" ตอนที่เฟดเดอรเรอร์ตอบสั้นๆว่า "หลังจากที่ผมรู้ว่า ผมเล่นเทนนิสเพื่ออะไร" ผมว่ามันกินความหมายกว้างขวางทั้งชะตาชีวิตของเขาเลยละครับ


ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 26/09/2008
จากการย่อยเนื้อหาของคุณนันท์
และข้อมูลหลายอย่างจากคุณนิก

ก็ทำให้ไปนึกถึง การววิเคราะห์และสังเกตุของคุณ Stephen R Covy และ 3ช่องทางเลือกในหนังสือ ฝึกจิต ฝึกสมาธิฯ

และมีข้อสังเกตุส่วนตัวจากประสบการณ์ทดลองในภาคสนาม(รวมทั้งบทเรียนบางอย่างจากการสัมผัส....บุคคลที่อ่านหนังสือ how toมาหลายพันเล่ม)
ว่า.......
การยึด หรือรู้จักช่องใดช่องหนึ่งอย่างเดียว..มีโอกาส เกิดอาการเดียวกับที่คุณนันท์ใช้คำว่า "ฤทธิ์ข้างเคียง" ที่เยอะมาก สมมุติตั้งเป้าหมาย 100 เราเลือกช่องทางโลก(หนังสือ how to ยุคใหม่) มากสุดทางปฏิบัติที่เรียกสำเร็จเข้าเป้าจะอยู่ที่ 70-80% ไม่เกินนี้ และบวกกับอาการที่รู้สึกว่า......มันเหนื่อยมากกกกก

ทางปฏิบัติภาคสนาม...ในการรับรู้และผสมให้พอดีทั้ง 3ช่องทางในแนวของโชปรา มีโอกาสถึงเป้าหมาย 80-90%...ความเหนื่อยล้า...ไม่ค่อยมี เพราะไม่มี"ฤทธิ์ข้างเคียง"

หากเลือกแบบ...ปริมาณเข้มข้นมาทางศาสนา แบบเวย์น ไดเออร์ หรือ Toller (ซึ่งแม้แต่เจ้าสำนักหนังสือhow to ยังสารภาพว่ามัน เนิบนาบไม่ทันใจ ไม่ง่ายๆ) ผลของการเดินถึงเป้าหมาย มีโอกาสถึงแบบ 90-100% แบบเกือบไม่มี"ฤทธิ์ข้างเคียง" หรือถึงเป้าหมายแบบไม่ต้องมีอะไร "หล่นหายไป" ในระหว่างทางที่จะต้องมาตามหาแบบไม่รู้จักจบ

อันนี้ก็เป็นมุมมองส่วนตัวค่ะ ซึ่งอาจไม่ถูกต้องก็เป็นได้
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 27/09/2008
มีข้อน่าสังเกตเรื่องงานของโชปรา คือความเร้นลับ ถ้าผมปฏิบัติตามโชคดวงฯได้ผมจะได้ใช้ชีวิตที่แสนจะตื่นเต้น เหมือนได้อยู่ในเทพนิยายเร้นลับตลอดเวลา ทำให้ทั้งผมและคุณวันชัยชอบหนังสือของโชปรา และทึ่งในความอัจฉริยะของชายคนนี้มาก(ถึงคุณวันชัยจะไม่ชอบเท่าผมก็เถอะ) ส่วนหนังสือ ดร.เวย์น ก็พูดถึงความรัก ความงดงามซึ่งเป็นค่านิยมที่ผมชอบก็ยกให้แกไปคนหนึ่ง
ส่วนหนังสือ HOW TO สมัยใหม่ เช่น MAXIMUM ACHIVEMENT ของไบรอัน เทรซี่ หรือ หนังสือกฏแห่งการดึงดูดและ NLP ทุกเล่มที่สามารถโปรแกรมจิตจนทำให้เราสมปรารถนาทุกประการได้ คิดดูสิ!!! สมปรารถนาทุกประการ คือถ้าเรามีพลังจิตที่มั่นใจ และนับถือตัวเองสูง และอารมณืดีอย่างสุดๆ มันจะเป็นพลังที่ดึงดูดแต่สิ่งดีดีเข้ามาตามกฏแห่งการดึงดูด และทำให้เวลาไปติดต่ออะไรทำให้คนอยากร่วมทำงานด้วย พูดง่ายทางโลกสมหวังหมด แต่ทีนี้มันขาดความเร้นลับ นี่ทำให้ให้ผมลังเลใจว่าจะใช้ชีวิตตามหนังสือแบบไหนใน 2 แนวนี้
แต่หนังสือของ Tolle นั้นผมไม่ชอบอย่างยิ่งด้วยเหตุผลดังนี้
คือหนังสือของโชปราเกี่ยวกับจิตวิญญาณก็จริง แต่ยังเหมือนเทพนิยายเร้นลับ(ซึ่งผมชอบมาก) ซึ่งขัดกับหลักพุทธ(และของTolle) ที่ไม่อยากให้มีความรู้สึกปรุงแต่งใดใดทั้งสิ้น ซึ่งหนังสือของโชปราถึงแม้จะไม่ใช่ความสำเร็จทางโลกเหมือนหนังสือ HOW TO สมัยใหม่ แต่ยังมีอารมณ์ความเร้นลับ และความตื่นเต้นกับความบังเอิญมหาศาลเหมือนเทพนิยาย ซึ่งทางพุทธ(และTolle)จะไม่ชอบ เพราะของโชปราก็ยังปรุงแต่งอารมณ์เร้นลับอยู่
ส่วนของ Osho พูดถึงชีวิตทางจิตวิญญาณที่ตื่นเต้น งดงาม โรแมนติกเช่นเดียวกับโชปรา(นี่คือเหตุผลที่คุณวันชัยและผมชอบงานของ Oshoเช่นกัน แต่ไม่ชอบธรรมะของพุทธ) คือคำว่า ความตื่นเต้น ความงดงาม ความโรแมนติกที่ Osho ใช้ ถึงOsho จะไม่ใช่แนวความสำเร็จทางโลก แต่ถ้าคิดตามพุทธก็ยังปรุงแต่งอยู่ เพราะทั้งพุทธไม่อยากให้มีความรู้สึกใดๆทั้งสิ้น(คือว่างจากตัวตน ตัวกูที่เป็นผู้รู้สึก) ก็เลยยังคิดว่าเรื่องจิตวิญญาณยังขัดกันอยู่ ช่วยอธิบายด้วย
ชื่อผู้ตอบ : นิก(ผู้คลั่งไคล้สนพ.ต้นไม้และชอบจิตวิญญาณแนวโชปราแต่ไม่ชอบแนวพุทธ) ตอบเมื่อ : 27/09/2008
ขอร่วมให้ความเห็นตามความเข้าใจส่วนตน ดังนี้ครับ

ถ้าคุณนิกอยากจะได้ใช้ชีวิต ที่แสนจะตื่นเต้น เหมือนได้อยู่ในเทพนิยายเร้นลับตลอดเวลา นอกจากการหนังสือ โชค ดวง ฯ แล้ว หนังสือ 7 กฎฯ หรือหนังสือ จิตปัจจุบันขณะ ของ Tolle หรือคำสอนด้านหลักปฏิบัติของพุทธศาสนา หรือของ ดร.เวย์น หรือหนังสือกฎแห่งแรงดึงดูด หรือ NLP ก็ตาม หากเราเข้าใจได้ถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังหลักการคำสอนเหล่านั้นจริง มันจะนำพาให้คุณนิก สมปราถนานั้นได้ทั้งสิ้น และคุณนิกจะไม่มีปัญหาว่ามันขัดแย้งกัน

ข้อแตกต่างที่มีของหนังสือเหล่านี้ เกิดจาก เป้าหมาย จริต และ "ทัศนวิสัย" ของผู้เขียนหรือผู้สอน ซึ่งส่งผลถึงประเด็นหลักที่พูด วิธีปฏิบัติที่สอน และระดับความลึกซึ้งถึงความจริงอันหนึ่ง ความจริงที่ดำเนินความเป็นไปของโลกหรือจักรวาลนี้

หนังสือบางเล่ม พูดเรื่องรากขนอ่อน บางเล่มพูดเรื่องรากแขนง บางเล่มพูดเรื่องรากแก้ว บางเล่ม(เช่น พุทธศาสนา) พูดเรื่องรากทุกชนิด เลยไปถึงแร่ธาตุ ตลอดลำต้น แตกกิ่งใบ ดอก จนถึงร่วงลงสู่ดินเลยครับ

กลับมาประเด็นที่คาใจ คุณนิก(ผู้คลั่งไคล้สนพ.ต้นไม้และชอบจิตวิญญาณแนวโชปราแต่ไม่ชอบแนวพุทธ) ว่า โชปราและพุทธ รวมทั้งคุณ Tolle นั้น ไม่มีสิ่งใดขัดกันเลย ทั้งหมดกำลังบอกให้เรา ก้าวพ้นการปรุงแต่งที่คุณนิก ยังอยากสนุกสนานกับมันอยู่ (รวมทั้งตัวผมก็เช่นกัน) ให้ก้าวพ้นเพื่อกลับมาสนุกสนานกับมัน ในอีกรูปแบบของการรับรู้หรือการให้ความหมาย

ความตื่นเต้น ความเร้นลับ ของโชปรา ที่คุณนิกอยากพบนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะใน จิตปัจจุบันขณะ ของ Tolle ครับ หรือมันต้องเกิดจากการหยั่งถึงซึ่งสติปัญญาแห่งความไม่แน่นอน การปล่อยวาง ที่ได้พูดอยู่ในหนังสือ 7 กฏฯ หรือการก้าวถึงภาวะอิสรภาพที่แท้จริง อันเต็มไปด้วย ความตื่นและเบิกบาน แบบพุทธะ เพื่อพบกับความสดใหม่อันเป็นความแท้จริงของทุกเหตุการณ์ที่เราสัมผัสอยู่ในทุกขณะ ซึ่งนั่นคือ ความตื่นเต้น ความเร้นลับ ที่แท้จริงในความหมายนี้

นอกจากนั้น ณ ระดับของการดำรงอยู่นี้ ทุกสิ่งที่ปราถนาย่อมกำหนดได้ และไม่เป็นพิษ ย้อนกลับสู่เราในภายหลัง และเป็นระดับภาวะแท้จริงสูงสุดที่ กฎแห่งแรงดึงดูด หรือกฎ หรือศาสตร์ อื่นใดที่เรียกกัน จะบรรลุผลได้อย่างบริสุทธิ์และยั่งยืน

หัวใจหรือข้อสรุปนี้ ก็ปรากฎอยู่ในบทสุดท้ายของหนังสือ โชค ดวง ฯ ที่โชปรา คัดลอกมาเป็นบทปิดท้ายหนังสือ (ผมจำชื่อเรื่องไม่ได้ ที่เป็นเรื่องของกษัตริย์กับราชบุตร) ซึ่งลึกซึ้งและงดงามมาก

และนั่นรวมถึงเหตุผลว่าทำไมหนังสือ 7 กฎฯ จึงมีชื่อเต็มในภาษาไทยต่อท้ายว่า 7 กฎด้านจิตวิญญาณเพื่อความสำเร็จ "ทั้งทางโลกและทางธรม" ด้วยครับ

ขอให้ความเห็นส่วนตนแค่นี้ครับ มีความเห็นที่สอดคล้องกับเรื่องนี้อยู่ในกระทู้เก่าก่อนหน้านี้ อยู่พอสมควร อาจลองตามดูได้ครับ ขอบคุณครับ



ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 27/09/2008
"เส้นทางสายพิเศษ......ที่ซึ่งผู้คนไม่เคยหนาแน่น"

เส้นทางที่ยังต้องรีบๆเร่งๆ..........เต็มไปด้วยเพื่อนร่วมทางมากมาย
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 27/09/2008
ข้อมูลของคุณนิกถูกต้องครับที่ว่า 7 กฎ ด้านจิตวิญญาณฯ นั้น (1994) เขียนขึ้นก่อน Manifest Your Destiny (1997) ผมจำสับสนไปเอง แต่ในข้อนี้ ไม่มีผลต่อความเห็นของผมข้างต้นดังกล่าวแต่ประการใดทั้งสิ้น

ด้วยความชื่นชมในความเป็นนักอ่านของคุณ ผมขอแสดงความเห็นว่า คุณอ่านหนังสือเพื่อ "อ่านหนังสือ" จริงๆ แต่ยังไม่สามารถอ่านหนังสือเพื่อให้ "หนังสืออ่านคุณ" คุณควรรู้จักตัวเองมากขึ้นจากการอ่านหนังสือ ไม่ควรอ่านเอามันส์เท่านั้น คุณนิกอ่านโชค ดวงฯ กับ 7 กฏฯ แล้ว กลับมีการเปรียบเทียบว่าอะไรตื่นเต้นกว่าอะไร แสดงว่าคุณไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้แล้ว เพราะถ้าคุณเข้าใจ คุณจะรู้ว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน คุณย่อมได้อารมณ์ต่อเนื่อง ไม่น่าจะชอบเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ชอบอีกเล่มหนึ่งอย่างนี้

ผมไม่แปลกใจว่าคุณวันชัย ซึ่งเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือดีๆ ที่พวกเรากำลังพูดกันอยู่ในเว็บบอร์ดนี้ จึงได้กล่าวถึงหนังสือต่างๆ ที่ตนเองพิมพ์ไปอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างที่หลายๆ คนอ้างอิงกันขึ้นมา เพราะหลายปีก่อน ผมเคยนั่งกินข้าวคุยกับเขามาแล้ว (แต่ไม่รู้ว่าเขาจะจำได้หรือไม่) แม้จะคุยกันไม่กี่คำ แต่ก็พอทำให้ผมได้แลเห็นรูปการจิตสำนึกของเขาได้พอสมควร ผมไม่คิดว่าเขาจะคิดแบบ Mechanics อย่างที่คุณแฟนพันธุ์แท้ตั้งข้อสังเกตหรอก แต่ผมคิดว่าเขาคิดแบบ Merchandiser มากกว่า คนที่พูดว่าไม่อ่าน The Power of Now ให้เสียสมองได้นี่ คงไม่ต้องไปวิเคราะห์อะไรมากอีกแล้ว

การอ่านหนังสือนี่มันก็คล้ายๆ กับการกินอาหารครับคุณนิก คุณต้องเลือกอาหารที่ถูกต้อง ไม่ใช่กินเอาอร่อยอย่างเดียว และต้องค่อยๆ กิน ไม่ใช่กินเอาๆ ต้องเคี้ยวใหละเอียด ต้องมีช่วงเวลาให้มันย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ไอ้ที่คุณกินอร่อยนั้น คนอื่นเขาอาจกินแล้วอาเจียนก็ได้ พูดแบบตรงไปตรงมา คุณอย่าโกรธนะ ผมซื้อหนังสือของสำนักพิมพ์ต้นไม้เกือบทุกเล่ม แต่ขอโทษเถอะ หนังสือ "รวยด้วยคุณธรรม" ที่ทั้งคุณนิก และคุณวันชัย เห็นพ้องต้องกันว่าดีที่สุดของสำนักพิมพ์ต้นไม้นั้น ไม่ได้อยู่ในสายตาผมเลย ผมพลิกดูโดยละเอียดแล้ว ตัดสินใจว่า นี่จะเป็นเล่มสุดท้ายที่ผมจะอ่าน หากไม่มีอะไรดีๆ ให้อ่านแล้ว ส่วน"พลังแห่งถ้อยคำ" ที่คุณจัดให้อยู่ในท้อปเท็น นั้น เป็นหนังสือออกใหม่ ผมเพิ่งเห็นวางแผงวันนี้ พลิกดูแล้ว ตัดสินใจไม่ซื้อเช่นกัน (ที่จริงแล้วผมเป็นคนซื้อหนังสือง่ายมาก แค่ชอบปกก็ซื้อแล้ว)

สิ่งที่ผมกล่าวมาอาจดูก้าวร้าวรุนแรงไปบ้าง แต่ก็ด้วยความจริงใจ และปรารถนาดี ผมไม่อยากเออออห่อหมกไปกับคุณ เพียงเพราะไม่อยากขัดใจ แต่อยากเห็นคุณเติบโตจากการอ่าน ไม่ใช่ "ร้อนวิชา" และรีบสรุป พิพากษา ตัดสิน ฟันธง อะไรไปอย่างรวดเร็ว

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 27/09/2008
ขอแสดงความเห็นด้วยความหวังดีเช่นกันกับอ.วสันต์ครับ และขอยืนยันความเห้นของตนเองอีกครั้งว่า ยังไงก็ตามผมเห็นหนังสือเป็นเพียง"เพื่อน" หรือ "อีกชีวิต"ที่เรารู้จักและพบหาระหว่างการเดินทางในเส้นทางของเราซึ่งมีค่าเท่ากับสิ่งอื่นๆในชีวิตเท่านั้น หนังสือบางเล่มแม้จะพูดถึงทุกๆอย่างที่เราปรารถนาหรือต้องการค้นพบในชีวิต แต่มันก็ไม่ได้เป็นทุกอย่าง ไม่ได้เป็นคัมภีร์สูงสุด และไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จใดๆเลย เป็นแค่อีกเรื่องหรืออีกเหตุการณ์ที่เราได้ร่วมเล่นกับมันผ่านการเห็นปก ถูกดึงดูด ผ่านการอ่าน และก็ผ่านการนึกถึงในจังหวะต่างของชีวิตเท่านั้นครับ

และแม้แต่ชนิดต่างๆของหนังสือ ก็เป็นเพียงแต่เพื่อนต่างนิสัย ที่เราจะพบได้ไม่ต่างจากคนหลายๆแบบที่เราพบในโลกใบนี้เช่นกันครับ ตรงนี้เองที่ทำให้ผมยังชอบอ่านหนังสือแบบไม่จำกัดแขนง กิจกรรมไม่จำกัดรชนิด กินดื่มไม่จำกัดร้าน และมีความสนุกสนานกับเลือกซื้อเสื้อผ้าและแต่งตัวครับ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เลือกนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเทรนด์ หรือแฟช่นใดๆนะครับ มันเกี่ยวกับแรงสนใจ หรือ"แรงดึงดูด" ที่มันเกิดขึ้นกับใจเรามากกว่า

ความเห็นของอาจารย์.วสันต์ข้างต้น ทำให้ผมนึกถึงหนังสือโปรดอีกเล่มที่เคยอ่านและเคยผลิตเป็นละครเวทีครับ "สิทธารถะ" โดย Hermann Hesse นักเขียนนักเดินทางชาวเยอรมันผู้ได้รับโนเบล หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นแนวพัฒนาชีวิต หรือ How to แต่อย่างใดนะครับ และความสำเร็จของหนังสือก็มาก่อนโนเบลและไม่ได้เกี่ยวกับรางวัลแต่อย่างด แต่หนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนังสือวรรณกรรมที่นักแสวงหาทั้งชาวต.ต. และต.อ. ต่างก็ให้ความเห็นว่ามีประโยชน์ โดยรวมเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ในหนังสือคือประโยคที่ว่า "ความรู้ถ่ายทอดได้ แต่ไม่ใช่กับปัญญาครับ" สิทธารถะ (ชายหนุ่มผู้มีนามคล้ายเจ้าชายสิทธัตถะ) พูดประโยคนี้ในเรื่องตอนที่เขาได้พบกับพระพุทธเจ้าและฟังท่านแสดงธรรม สิทธารถะบอกว่าเท่าที่ฟังความรู้นั้น เขายอมรับว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าแสดงคือธรรมสูงสุดเท่าที่เขาเคยพบมาไม่ว่าจะจากกูรูใดจริงๆ เขาเชื่อว่าพระพุทธเจ้าพบความจริงที่ทุกคนต่างแสวงหาแล้ว แต่อย่างไรก็ดี แม้โควินทะเพื่อร่วมทางที่อยู่เป็นเงของเขามาตลอดตั้งแต่เด็กจะตัดสินใจตรงนั้นว่าจะขอบวชและเดินทางไปกับพระพุทธเจ้า แต่เขาขอไม่ไปด้วย เพราะเขารู้สึกว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้ารู้สึก หรือค้นพบนั้นมันอยู่เบื้องหลัง คำพูดที่แสดงธรรมออกมา สิ่งนั้นเป็นภาวะส่วนตัวที่มันยกมอบให้แก่กันไม่ได้ ปัญญานั้นเป็นของผู้ค้นพบเท่านั้น ต่างกับความรู้ที่พูดออกมาเป็นคำพูดได้ ดังนั้นปัญญาถ่ายทอดไม่ได้ สิทธาระถะจึงเดินทางต่อไป ใช้ชีวิตอีกหลายรูปแบบ เป็นพ่อค้า เป็นผู้อิ่มเอมในกามรส เป็นขอทาน เป็นคนแจวเรือจ้าง และค้นพบความจริงสูงสุดที่ริมแม่น้ำด้วยตนเองในวัยชรา

ครับ ไปๆมาๆ เล่ายาว เพลิดเพลินไปหน่อย แค่อยากจะแสดงความเห็นส่วนตัวเท่านั้นครับว่า ไม่มีอะไรหรือตำราใดๆเป็นสุดยอดกว่าอะไรหรอกครับ และแน่นอนไม่ว่าเราจะอ่านมาก หรือเป็น "ผู้รู้" หรือ "ผู้ทดลอง"มากเท่าไหร่ แต่มันก็ไม่สำคัญเท่ากับการเป็น"ผู้เล่น"หรือครับ

ผมเองตอนเรียนก็แทบไม่ท่องตำรา แต่อาศัยความรู้จากการทำกิจกรรมและงานพิเศษไปโม้ๆเอาในห้องสอบ ตอนต้องท่องบทละครพูดคนเดียวยาวเป็น30หน้าก็ใช้ภาวะสมาธิของการซ้อมกีฬามาช่วย ตอนเขียนภาพยนตร์ก็ใช้แรงขับจากการตกหลุมรักหญิงสาว ช่วงปีที่ออกเดินทางท่องเที่ยวก็ใช้สิ่งที่รู้จากการดูหนังและอ่านมาช่วยนำงในที่ที่ไม่เคยไป ตอนโค้ชนักกีฬาก็ใช้แบบฝึกของการเวิร์คช้อปนักแสดงมาสร้างแชมป์ ตอนทำงานบรรณาธิการก็ใช้เรื่องราวและข้อมูลช่วงเดินทางมาแจกจ่ายงานเด็กๆ ตอนนี้กำลังริเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเองก้ใช้เรื่องราวต่างๆทั้งหลายที่ผ่านมา รวมถึงการพบปะคนความคิดน่ารักๆในnantbook นี่หละครับเป็นพลังขับเคลื่อน

ครับและแม้วันนี้ผมจะยังไม่เป็นตัวเป็นตนหรือพบความสำเร็จใดๆเลย ทั้งทางโลกและทางธรรม รวมไปถึงทางมาตรวัดของคนส่วนใหญ่ แต่ผมก็รู้สึกสนุกสนานเหมือนเดินเล่นอยู่ในเทพนิยายครับ แม้จะมีความร้อนรุ่มกังวลมาแทรกแซง แม้อาจสูญเสียบางอย่างไป แม้ไม่ได้รู้สึกรื่นรมย์ตลอดเวลา แต่ความรื่นรมย์ก็มีมากขึ้นครับ

อย่างอาทิตย์นี้ ผมก็วุ่นอยู่กับการไปนั่งเชียร์Thailand Open กับน้องสาวของผม บางวันได้บัตรไฮโซ ทานข้าวดื่มไวน์ริมคอร์ท บางวันตกกระป๋องนั่งสูงไกลไปนู้นจนเห็นนักเทนนิสตัวเท่าลูกหมา พกโน๊ตบุ้คส์ไปกะว่าจะทำงานแต่ก็ไม่ได้เปิด เลยสนุกไปกับแมทช์ให้มันเต็มที่ซะเลยดีกว่า แต่ไปๆมาพอกลับมาพักผ่อน งานที่เคยขบคิดไม่ออกมาตั้งนาน กลับแสดงคำตอบออกมาง่ายๆเลยครับ

หวังว่าความเห็นนี้จะมีประโยชน์เพียงพอกับสิ่งที่หลายๆท่านขบคิดกันอยู่บ้างนะครับ

ps - อ้อ ที่บอกว่าความคิดน่ารักๆของคนในนี้ ผมหมายรวมถึงทั้งเรื่องหนังสือที่มีความรู้และเรื่องแนววัยรุ่นๆของคุณนิกกับคุณผู้อ่านและหลานสาวใครบางคนด้วยนะครับ ขำๆ หนุกดี ดูมันเป็นภาวะที่น่ารักและเป็นธรรมชาติที่สวยงามมากกว่าตอนที่คุณทั้งคู่เขียนถึงหนังสือที่ยิ่งใหญ่อะไรพวกนั้นอีก เป็นหนุ่มสาวก็ต้องตกหลุมรักสิครับ จะไปทำอย่างอื่นทำไม ;)


ชื่อผู้ตอบ : Karn ตอบเมื่อ : 28/09/2008
ขอบคุณคุณนันท์ อ.วสันต์ และคุณ Karn มากครับ ผมก็เพิ่งตระหนักรู้ได้ว่าอย่าอ่านหนังสือเพื่ออ่านหนังสือแต่อ่านหนังสือแล้วให้เอาไปปฏิบัติ ความจริงคุณวันชัยบอกผมอย่างนี้มาตั้งนานแล้วครับแต่ผมไม่เชื่อ คุณวันชัยเป็นนักอ่านและนักปฏิบัติตัวยง แต่ผมเป็นแต่นักอ่านตัวยงไม่ยอกปฏิบัติซักที อาจเพราะอายุยังน้อยยังเป็นวัยรุ่น เลยอ่านแบบเอาสนุก เหมือนที่วัยรุ่นคนอื่นเขาสนุกกับการเล่มเกมส์คอมฯ หรือ อ่านนิยายแนวเพชรพระอุมาอะไรทำนองนั้น ส่วนหนังสือรวยด้วยคุณธรรมผมว่าอ.วสันต์ต้องอ่านอีกทีเพราะเนื้อคล้ายของโชปรามาก และผมก็ไม่ได้บอกว่าโชค ดวงฯดีกว่า 7กฏนะครับ เพียงแต่โชค ดวงฯเล่มใหญ่และหนากว่าแล้วเนื้อหาก็เยอะกว่าครับ ส่วน The power of now นั้นไม่ใช่เล่มที่คุณวันชัยบอกไม่อ่านให้เสียสมองครับ เพราะ The power of now เนื้อหาสนับสนุนสิ่งที่คุณวันชัยยึดหลักในการดำเนินชีวิต เรื่องอยู่กับปัจจุบัน เพราะถ้าเราไม่มีความสุขที่นี่และเดี๋ยวนี้ก็จะไม่มีพลังคลื่นบวกที่จะไปแลกเปลี่ยนพลังงานใดมาทำให้เรามีความสุขในอนาคตได้ ซึ่งคุณวันชัยสอนผมเสมอว่าให้มีความสุขที่นี่และเดี๋ยว ถึงยังไม่มีแฟน ยังไม่รวย ยังไม่ได้ไปประเทศที่อยากไปหรืออะไรก็ตาม ไม่ใช่เหตุผลที่จะอ้างว่าไม่มีความสุข ต้องมีความสุขโดยปราศจากเงื่อนไข ส่วนเล่มที่เขาไม่ชอบและบอกไม่อ่านให้เสียสมองคือ THE NEW EARTH อ.วสันต์ไปนั่งกินข้าวกับคุณวันชัยตอนนั้งครั้งเดียวแล้วสรุปว่าคุณวันชัยเป็นแบบ Merchandiser นี่แปลว่าอะไรครับ(ก็อย่างที่ผมบอกผมยังเป็นวัยรุ่นเพิ่งจะหยิบไปเมื่อวันสองวันนี้)ผมไม่เข้าใจครับ ส่วนMechanic มันแปลว่ากลศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งก็ถูกของคุณแฟนพันธ์แท้ เพราะคุณวันชัยชอบหนังสือ QUANTUM SUCCESS(ซึ่งผมมองว่าหลักQUANTUM SUCCESS หลักพุทธ เซน เต๋า และของโชปราและโทเล่นี่เหมือนกันนะครับเพียงแต่ อธิบายละเอียดกว่า) ผมมีความรู้สึกว่าอ.วสันต์มองคุณวันชัยไม่ค่อยดีเท่าไรเลยคิดว่า(เดาเอานะครับ)อ.วสันต์คิดว่าคุณวันชัยนี่เน้นไปทางวัตถุมากไปรึกเปล่า ถึงวิจารย์หนังสือของโทเล่กับของเวย์น ซึ่งตอนแรกผมก็คิดเหมือนอาจารย์นี่แหละครับ จนกระทั่งคุณวันชัยเขาแนะนำหนังสือใหม่ให้ผมอ่าน ผมเลยถึงบางอ้อ คืออย่างนี้ครับ หนังสือที่คุณวันชัยจะทำออกมาใหม่ต่อไปนี้นิมันจะมีทั้งจิตวิญญาณทั้งทางโลก คือคนเขียนเนี่ยจะเขียนแบบเล่มนี้ทั้งเล่มพูดทั้งเรื่องเงิน ความรัก งาน สิ่งที่ต้องการ จิตวิญญาณ(หรือพระเจ้า) คือได้หมด แต่หนังสือของคุณวันชัยสมัยก่อนเนี่ยถ้าเป็นทางโลกก็ทางโลกล้วน(อย่างของไบรอัน เทรซี่ไม่พูดเรื่องจิตวิญญาณเลย) และนี่คือสาเหตุที่ผมชอบรวยด้วยคุณธรรม(ถึงจะหน้าปกไม่ได้เรื่องเลย) เพราะคนเขียนสามารถประยุกต์หลักทั้งฟิสิกส์ใหม่ จิตวิญญาณ และความสำเร็จเข้าด้วยกัน ชื่นชมครับ ส่วยเอาตอนนี้นะครับ(1ทุ่ม วันอาทิตย์ที่28 กย.) ผมไม่ได้ขัดแย้งกับหลักพุทธแล้วครับ ซึ่งต้องยอมรับว่าขัดแย้งมานานเพราะผมเริ่มมาอ่านของพุทธเมื่อต้นปีนี้ยังไม่เข้าใจแต่ตอนนี้เข้าใจแล้ว
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 28/09/2008
สรุปกระทู้ที่แล้วคือ คุณวันชัยเขาชอบหนังสือที่ทั้งสองอย่าง คือทั้งวัตถุทั้งจิตวิญญาณก็เลยทำให้เขาเห็นว่าดร.เวย์นกับโทเล่เนี่ยย้ำเรื่องจิตวิญญาณมากไปหน่อย(ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ดีนะครับ แต่หมายความว่ายังมีนักเขียนที่เขียนครอบคลุมได้มากกว่าอย่างหนังสือ QUANTUM SUCCESSครับ)
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 28/09/2008
ถ้าจำไม่ผิดเป็น โกวเล้ง ที่บอกว่า . . กระบี่นั้นอยู่ที่ใจ

หนังสือ กับ กระบี่ ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน
เมื่อใช้ หนังสือ หรือ กระบี่ นั้นอย่างเป็นนาย จึงจะเรียกว่าแท้จริง
นั่นย่อมต้องเกิดจากได้รู้จักคม กระบี่ หรือ ถ่องแท้ทุกหน้าหนังสือ ที่แฝงเร้นภายในใจตน เสียก่อน
มิเช่นนั้น ก็ยังคงใช้ หนังสือ หรือ กระบี่ อันอยู่ภายนอก ได้เฉกเช่น นักดาบโดยทั่วไป

พยายามคมเต็มที่แล้วครับ แต่ยังทื่อจริงๆ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 28/09/2008
ขอบคุณคุณ Karn นะครับ ที่แสดงให้เห็นถึงการให้ข้อคิดเห็นที่อบอุ่น แต่ลึกซึ้ง ซึ่งผมยังไม่เคยทำได้ ไอ้ผมมันประเภท "ขวานเรียกพี่" คงต้องระมัดระวังมากขึ้นในการแสดงความเห็น ต้องพยายามไม่ให้มันแผ่รังสีอำมหิตมากเกินไป

และก็ต้องขอชื่นชมคุณนิก ที่เมื่ออ่านข้อความของคุณแล้ว ก็รู้ได้ทันทีว่าคุณไม่ได้โกรธ และผมก็ยังมั่นใจว่าความเห็นของผม จะเป็นประโยชน์กับคุณแน่นอน ภาษิตฝรั่งบทหนึ่งยังว่าไว้ว่า "ไม่มีคำแนะนำใดที่จะไร้ประโยชน์ แม้แต่นาฬิกาที่ตายสนิทแล้ว มันยังบอกเวลาได้แม่นยำ ถึงวันละตั้ง 2 ครั้งแน่ะ!"

กรณีคุณวันชัย อันที่จริงผมก็อาจเสียมารยาทไปสักหน่อยที่ไปวิพากษ์วิจารณ์แกเข้า ผมไม่ใช่รู้สึกไม่ดีกับเขาหรอก เพียงแต่รู้สึกผิดหวังนิดหน่อย (ซึ่งที่จริงผมก็ไม่มีสิทธิไปคาดหวังอะไรกับใครเขา และไม่ควรตัดสินด้วย)

ส่วนคำว่า Merchandiser ก็คือคนที่คิดอย่างคนค้าขาย คนทำธุรกิจ คนค้าขายนั้นบางทีก็ไม่รู้ว่าตนเองนั้นขายอะไร (เขาขายสินค้า แต่อาจไม่ได้ขายคุณค่าของสินค้านั้น) เขาจะเน้นสูตรสำเร็จ เน้นแนวคิดแบบอาหารจานด่วน (Fast Food) เน้นว่าจะทำอย่างไร (How to) มากกว่าจะสนใจว่าอะไรเป็นอะไร (What is) หรือจะทำมันไปทำไม (Why to)
เขาจะสนใจผลลัพธ์ มากกว่ากระบวนการ เน้นเป้าหมายมากกว่าวิถีการเดินทาง (อย่างเติ้งเสี่ยวผิง ก็เคยพูดถ้อยคำลือลั่นสนั่นโลกว่า "ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ก็จับหนูได้เหมือนกัน" แล้วดูผลข้างเคียงที่จีนกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้สิ จีนร่ำรวยมากขึ้นมหาศาล เจริญทางวัตถุอย่างก้าวกระโดด แต่มันเป็นเรื่องของ "รวยกระจุก แต่จนกระจาย" ความน่าเชื่อถือของจีน ในสายตาชาวโลก ป่นปี้แทบไม่มีชิ้นดี คนทั่วโลกคิดว่าจีนเอาทุกอย่างไม่ว่าจะวิชาการหรือวิชามาร ขอให้จีนได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจเท่านั้น)

ที่คุณนันท์ว่ามานี้ ผมก็ไม่แน่ใจว่ามัน "คม" หรือไม่ แต่แน่ใจว่ามันเป็น "สัจธรรม" (แต่อันที่จริงก็น่าจะคมอยู่นะ เพราะมีกล่าวถึงกระบี่ และดาบด้วย)



ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 28/09/2008
อยากขอการขยายความ"ผู้ทดลอง" กับ"ผู้เล่น"
จากคุณ karn ค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 29/09/2008
ก็ไม่รู้เป็นไงเวลา อ.วสันต์ ให้ความเห็นเกี่ยวหนังสือ และคนทำหนังสือจะรู้สึก"เดียวกัน" เกือบจะทุกเหตุการณ์
และที่สำคัญ ถึงแม้กำลังจะฝึกตัวเองให้อยู่ในช่อง"ทางธรรม" (ไม่คาดหวัง ไม่วิจารณ์ ไม่เปรียบเทียบ) ก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้องรู้สึก ...เห็นด้วยกับ...การเปรียบเทียบ...และผิดหวังกับการคาดหวัง....และอดไม่ได้กับการประเมินสิ่งที่ออกมา กับสิ่งที่เค้ากำลังบอกผู้คนอื่นๆกันอยู่ ดังนี้.........

จากการที่เจ้าของสำนักพิมพ์ที่เราพูดถึงบอกอ่าน New earth แล้วเสียสมอง(ตัวเองมีเล่มนี้อยู่..เค้าก็แปลใช้ได้) ก็คงเป็นเหตุผลที่เล่มนี้ถูกนำมาแปลฯโดย สำนักพิมพ์อื่น เวลาเขียนคำนิยมหลักสูตรสัมนาของตัวเอง ยังมีที่ไปเปรียบกับหลักสูตรของผู้อื่น(ในลักษณะตัวเองดีกว่า)
เวลาโทรฯคุยในฐานะ"แฟนคลับ" ของสำนักพิมพ์ ก็จะชักชวนให้เข้าสัมนาจนรู้สึกว่าหากไม่ผ่านการเข้าสัมนาของเค้าก็อาจจะไม่มีอะไรคุยต่อในคราวต่อไป
ซึ่งหากเทียบเวลาของการ คลุกคลีบวกการทุ่มเท เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากขนาดนี้ และส้มผัสความล้นเหลือของจักรวาลจริงๆ ก็จะออกมาตรงข้ามกับที่เขียนมา....ทั้งหมด

และดูเหมือนว่าวุฒิภาวะทางจิตวิญญาณที่หนังสือของเค้าเองได้จัดลำดับว่า 1.นักกีฬา
2.นักรบ
3.รัฐบุรุษ
4.จิตวิญญาณ
เค้ายังคงมีวุฒิภาวะอยู่เพียง สลับไป/มา ที่ขั้น 1-2 เท่านั้นเอง
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 29/09/2008
ผมคิดว่าทำอะไรเพื่อหวังผลลัพท์เนี่ยมันจะเสียหายตรงที่ระหว่างกระบวนการ(PROCESS) เนี่ยมันจะไม่มีความสุข แต่ต้องให้ผลลัพท์(RESULT) ออกมาเสียก่อนถึงจะมีความสุข ซึ่งผมคิดว่าคุณวันชัยเป็นคนที่มีความสุขแ-ง ทั้งระหว่างกระบวนการและผลลัพท์จึงไม่น่าเหมือนเติ้งเสี่ยวผิง อีกเหตุผลนึงที่ว่าคุณวันชัยไม่น่าเหมือนเติ้งเสี่ยวผิงก็ตรงที่หนังสือที่เขาเลือกมาทำ เกี่ยวกับจิตวิญญาณและฟิสิกส์ใหม่(ควันตัมฟิสิกส์) เกี่ยวกับพลังงาน(ENERGY)และความสำนึกรู้(CONSCIOSNESS) ซึ่งเป็นแนวหนังสือที่ใครได้อ่านแล้วมีประโยชน์กับคนอ่านอย่างมหาศาล(ดูอย่างกระทู้นี้ก็เห็นได้ชัดว่ารับประโยชน์จากหนังสือของเขาไปมหาศาล) ซึ่งหนังสือของเขาเป็นหนังสือที่ไม่ได้ป๊อปปูล่า ดังระเบิดระเบ้อ อย่างของสนพ.DMG เนี่ยยังทำหนังสือเสียดายคนตายไม่ได้อ่านพิมพ์ครั้งที่60 เข้าไปแล้วแต่ประโยชน์กับคนอ่านมีน้อยมาก แต่คนไทยส่วนมากไม่นับคนในเว็บบอร์ดนี้ชอบอ่านหนังสือไม่มีประโยชน์ประเภททำยังไงให้ขึ้นสวรรค์ชาติหน้าหรือกลัวนรกสุดขีด อะไรทำนองนั้นซึ่งนอกจากไม่มีประโยชน์แล้วยังบั่นทอนกำลังใจ คล้ายที่OSHO เคยบอกว่าทำให้คนโลภสวรรค์แล้วกลัวนรกเนี่ยแหละธุรกิจของศาสนา ซึ่งความจริงพระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วถ้าตายไปชาติหน้ามันก็ต้องไปดีเอง อย่าไปคิดเรื่องโลกนี้โลกหน้าเพราะมันเป็นอจินไตย ซึ่งถ้าคุณวันชัยทำหนังสือเพื่อหวังผลลัพท์แบบเติ้งเสี่ยวผิงจริงก็น่าจะไปทำพวกที่ไม่มีประโยชน์กับคนอ่านแล้วขายดีทำเงินให้เขาอย่างมหาศาลแบบกรรมสยองสนองทันตา เปลวเพลิงนรกอะไรทำนองนี้ แต่เขาก็ไม่ทำ เขาบอกว่ามันไม่มีประโยชน์กับคนอ่าน อยากทำที่มีประโยชน์กับคนอ่านมากกว่าถึงทำหนังสือของดร.เวย์น ดีพัค โชปรา แล้วล่าสุดก็หาตัวตนแท้ให้พบ ของดร.วอลเทอร์ สเตเปิล ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขายอมขายได้น้อย(เห็นได้ชัดคือพิมพ์ครั้งที่1ตลอด ไม่ไปไหนสักที) แต่ทำหนังสือในอุดมการณ์ ซึ่งผมว่ามันคนละแบบกับเติ้งเสี่ยวผิงอย่างเห็นได้ชัดครับ
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 29/09/2008
กรณีของคุณนิกนี่ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวในหนังสือนิยายกำลังภายในของจีน เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มที่กำลังแสวงหาเคล็ดวิชาสุดยอด แล้วก็ทุ่มเทฝึกวิชาอย่างไม่ลืมหูลืมตา ฝึกจนลมปราณโคจรไม่เป็นปรกติ ฝึกจนลมปราณแตกซ่าน ตัวละครหลายตัวในนิยายกำลังภายในหลายเรื่อง ถึงกับธาตุไฟแตกไปในที่สุด ผมละเป็นห่วงคุณจริงๆ เลย

เอาเถอะครับ ถ้าต้องหักล้างรายละเอียดกันทุกเม็ด โดยหลงลืม หรือไม่สนใจเจตนารมณ์หลัก หรือประเด็นสำคัญแล้ว ก็เห็นท่าว่าจะหาข้อสรุปได้ยาก เอาเป็นว่าแต่ละคนก็หาที่หาทางของตนเองกันไปก็แล้วกัน ขอเพียงระมัดระวังเรื่องมารยาท ความสุภาพ การให้เกียรติผู้อื่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความใจกว้าง ยอมรับความแตกต่าง การให้อภัย ความจริงใจ เท่านั้นก็คงพอแล้วกระมังครับ (อันนี้ก็เตือนตัวผมเองไปด้วยในตัว)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 29/09/2008
ขอเสริมความคิดเห็นของอ.วสันต์ครับ ว่ายังไงก็ดีจอมยุทธผู้ยิ่งยงทั้งหลาย สุดท้ายก็ยิ่งยงได้ด้วยคุณสมบัติสองประการครับ
หนึ่ง คือ บูรณาการความรู้ที่ได้เรียนมาแล้วคิดค้นวิชาเป็นของตนเอง
สอง คือ ใช้วิชานั้นทำความดี เพื่อผู้อื่นและคนส่วนรวม

อย่างเอี้ยก้วย (ฮีโร่ในฝันตอนเด็ก ต้องฉบับพี่หลิวเท่านั้น นะครับ) สุดท้ายแม้ได้วิชาจากทั้งเพลงดาบของช่วงจิงก่า รวมกับวิชาของสุสานโบราณ วิชาไม้ตีสุนัขพรรคยาจก วิชาของอาวเอี๊ยงฮง(รับเป็นลูกบุญธรรม) ได้รู้เคล็ดลับวิชาของทั้งเฒ่าทารก และอึ้งเอี๊ยะซือ จากเกาะดอกท้อ (พ่อของม่นางอึ้งย้งคบเป็นสหายต่างวัย) และยังได้รับการสนับสนุนจากก้วยเจ๋ง แถมตอนตกลงไปในเหวยังได้พบดาบยักษ์กับวิชาของจอมยุทธในตำนานที่เบื่อโลกเพราะไม่เคยปแพ้ใคร แล้วก็ยังได้พี่อินทรียักษ์เป็นคู่หูด้วย

และแม้จะเหลือแขนเพียงแค่ข้างเดียว แต่สุดท้ายเอี๊ยก้วยก็สร้างวิชาของตน รวมถึงตัวตนที่สมบูรณ์ของตัวเองขึ้นมาใหม่เป็น "จอมยุทธอินทรีย์" ผู้ยิ่งยงครับ (ช่วงนี้เขายังได้พ่อบุญธรรมเป็น 7ประหลาดจอมยุทธแห่ง ยุทธภาพอีก - ไม่เกี่ยวอะไรกับ 7กฏเห่ง....บลา บลา นะครับ) ซึ่งกว่าจะมาถึงตรงนี้ เอี๊ยก้วยตัวน้อยที่เป็นเด็กโดนทิ้ง ก็กลายมาเป็นหนุ่มใหญ่วัยกลางคนแล้วล่ะครับ (ไม่ต่างจากพี่หลิวตอนนี้ ที่กลายเป็นดาราคลาสสิคของฮ่องกงไปเรียบร้อยแล้ว)

และที่สำคัญ จอมยุทธอินทรีย์นี้เองที่ออกปราบปรามมารร้าย แถมยังเป็นคนเข้าช่วยทำให้ชาวฮั่นชนะสงครามกับท่านข่านและพวกมองโกลที่บุกมาอีกด้วย)

นี่เองล่ะมั๊งครับที่เอี้ยก้วยพุ่งออกจากจอมามุดเข้าดวงใจเด็กอายุไม่ถึงสิบขอบอย่างผมในวันนั้น และก็อยู่ตลอดมาครับ

และก็คงนี่เองเช่นกัน ที่มังกรหยก แม้เป็นHand Craft จากนักเขียนจีนยุคนู้น แต่มันก็มีความ Classic ระดับสุดยอดของนิยายกำลังภายใน

หวังว่าความเห็นนี้คงมีประโยชน์นะครับ อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับทฤษฎีอะไรมากมาย แต่มันก็มาจากจักรวาลเล็กๆของผม (ที่มีแต่เรื่อง ความรัก ครอบครัว น้องสาว หนังสือ เทนนิส จอมยุทธ ท่องเที่ยว เครื่องดื่ม แล้วก็ทำอาหารครับ) ที่อยู่ในจักรวาลใหญ่ยิ่งอีกทีครับ

ส่วน "วิชารังสีอำมหิต" ของท่านอ.นั้น สำหรับผม ผมเห็นความหวังดีและ ลมปราณ ยิ้ม ยิ้ม ซ่อนอยู่ในนั้นเสมอครับ


ชื่อผู้ตอบ : Karn ตอบเมื่อ : 29/09/2008
สุดยอด! ขอคารวะสักหนึ่งจอกเลย นี่แม้แต่การอ่านนิยายกำลังภายใน ก็ยังสามารถบ่งบอกบุคลิกลักษณะของคนๆ นั้นได้เลย สมัยเรียนหนังสืออยู่ ผมอ่านแต่งานของโก้วเล้ง ไม่ แม้กระทั่งเหลือบแล งานของกิมย้ง และท่านอื่นๆ จนมาภายหลังจึงรู้ว่า หากจะสัมผัสความคลาสสิค ความลึกซึ้ง ในปรัชญาชีวิตมากกว่านั้น ต้องไปให้ไกลกว่าโก้วเล้ง ก็มิใช่โก้วเล้งหรอกหรือที่กล่าวว่า "การที่ข้าพเจ้าชอบร่ำสุรา มิใช่เป็นเพราะข้าพเจ้าชมชอบรสชาติของสุรา แต่เป็นเพราะข้าพเจ้าชมชอบบรรยากาศของการร่ำสุราต่างหาก!" แต่ในที่สุด ในชีวิตจริง โก้วเล้งก็ตายด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง!!

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 29/09/2008
คุณ Karn ครับ
- ทุกประโยคที่ คุณได้แสดงไว้นี้ ผมสัมผัสได้ถึงความเป็นตัวตนและความนุ่มนวล ลุ่มลึกผ่านกระบวนการตกผลึก ทางความคิดมาอย่างดี อยากบอกว่าดีใจครับที่ทุกครั้งคุณได้ ช่วยแสดงความคิดเห็นออกมาแล้วรู้สึกได้ ว่าค่อนข้างกระจ่างและเย็น .....
- คุณนิก
คุณทำให้ผมนึกถึง ต้นแบบของตัวอ่อนเทพ ( โชค ดวง ความบังเอิญ คุณกำหนดได้ ) ดิโอนิซัส วิญญาณที่รักสนุกและดื้อรั้น ซึ่งสิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งในตัวผมด้วยเช่นกัน นั้นหมายถึงการค้นหา ตั้งคำถาม และเปรียบเทียบ ไม่มีสิ่งใดถูกหรือผิดหรอกครับ บางทีสิ่งต่าง ๆ ที่ได้คุยกันนี้อาจจะเป็นกระจกสะท้อนและได้เริ่มค้นพบต้นแบบและเริ่มต้นได้ปฏิบัติก็เป็นได้ ยินดีกับพลังที่คุณได้สร้างสรรค์และช่วยสะท้อนในเว็บนี้ครับ ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 29/09/2008
คุณนีโอครับ ผมชอบประโยคนี้ของคุณจัง . .
"ค้นหา ตั้งคำถาม และเปรียบเทียบ ไม่มีสิ่งใดถูกหรือผิด"
ใช่ครับ อย่าลงท้ายด้วยการตัดสินถูกหรือผิด

เรามีเหตุ ให้ปรากฎขึ้นมาในโลกที่มีรูปกาย ในมิติของระยะทางและเวลา อันเต็มไปด้วยมิติของความแตกต่าง ที่พร้อมจะล่อลวงเราให้หลงไปสู่การเปรียบเทียบ . . ก็เพียงเพื่อให้เราสร้างประสบการณ์ในชั่วขณะหนึ่งของชีวิต บนท่ามกลางความแตกต่างที่ลวงเราอยู่นั้น และเพื่อให้เราได้เรียนรู้จากมันให้ได้ว่า เราโดนมันล่อลวงเราอยู่

จำไม่ได้ครับว่า . . ผมอ่านเนื้อหาข้างต้นนี้มาจากหนังสือเล่มไหน

ว่าแต่บางทีผมก็อ่านหนังสือที่คุณนิกบอกว่าไม่มีประโยชน์ ประเภททำยังไงให้ขึ้นสวรรค์ชาติหน้าหรือกลัวนรกสุดขีด เหมือนกัน เพราะผมก็พอหาประโยชน์ได้ว่า เจตนาหรือนัยยะของเขาต้องการบอกอะไร ด้วยวิธีไหน รวมทั้งทำให้ผมเข้าใจคนอื่นๆ ที่ชอบอ่านซึ่งมีจำนวนมากเหล่านั้น ว่าเขามีจริตอย่างไร ครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 29/09/2008
แหะ ๆ ผมก็อีกคนครับที่อ่าน ขอบอกเลยว่าเป็นแฟนของคุณดังตฤณ อยู่พักหนึ่ง สาเหตุที่ชอบเพราะ แกสามารถเล่าธรรมะ ได้ออกมาในรูปธรรมที่คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยจะได้ จากการไปฟังธรรมะที่วัด เพราะการนำเสนอของเขานั้น มีการยกเปรียบกับสิ่งรอบตัวเป็นตรรกะอย่างชัดเจน เห็นได้อย่างชัดว่า มาก-น้อย ซึ่งต้องบอกว่าสนับสนุนเขาครับที่ช่วย นำเสนอพุทธศาสนาได้อีกมิติหนึ่ง ในสภาวะที่ผู้คนดูเหมือนจะศรัทธากับ คำว่า ทำดีได้ดี มีที่ไหน ......ทำชั่วได้ดี มีถมไป มากขึ้น ๆ ทุกวัน......
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 30/09/2008
สวัสดีเดือนใหม่ ที่แสนจะเมามันส์ ตื่นเต้น สนุกสนาน ร่าเริง สำราญ เบิกบานหัวใจ ความแปลใหม่ เลิศล้ำ อลังการ อิสระที่ได้พบพาน หนังสือในงานมหกรรมอีก 2 สัปดาห์ครับ(ใช้เทคนิคในหนังสือ ทุกคำพูดมีพลัง พูดแต่คำบวกๆที่ส่งพลังสูงๆเท่านั้น)
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 01/10/2008
เห็นด้วยครับ . . คำพูดทั้งที่แสดงสู่ภายนอกและ(โดยเฉพาะ)คำพุดที่ปรากฎอยู่ภายใน คือขบวนการและสิ่งตัดสินสุดท้าย ในการสรุปการปรุงแต่ง ของทุกประสบการณ์ที่คุณเผชิญ
จึงสำคัญมากที่เราจะรู้เท่าทัน คำพูดทุกคำพูด ซึ่งมักจะเริ่มและเกิดอยู่ภายในของเราเป็นส่วนใหญ่

ชื่อหนังสือโดนใจ เนื้อในก็น่าจะโดนด้วย ผมคงได้ตามไปหาซื้อมาอ่านกัน จากงานนี้ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 02/10/2008


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code