"ต้นแบบ, จุดแข็ง, ความถนัด, อัจฉริยะ, พรสวรรค์" : คนละเรื่องเดียวกันหรือไม่ ?
ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ กูรูด้านการบริหาร การจัดการ ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ซึ่งได้ล่วงลับไปแล้ว ได้เคยกล่าวว่า คนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น จะต้องหา “จุดแข็ง” ของตัวเองให้พบ และพัฒนาไปอย่างสุดกำลังด้วยการเน้นที่จุดแข็งนี้ อย่ามัวไปเสียเวลาเพื่อกำจัด หรือแก้ไข “จุดอ่อน” เป็นอันขาด เพราะไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จจากการมัวไปแก้ไขจุดอ่อน มีแต่คนที่พัฒนาจุดแข็งเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จได้


การจะค้นให้พบว่าเรามีจุดแข็งอะไรนั้น ก็อาจมีมากมายหลายวิธี มีผู้รู้หลายต่อหลายคน นำเสนอแนวคิดของตนออกมา ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา หนึ่งในแนวคิดที่ค่อนข้างได้รับความนิยม ก็คือ หลักการของ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ผู้ค้นคว้าวิจัย และเขียนหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่า “Frames of Mind” อันเป็นการนำเสนอทฤษฎี “พหุปัญญา” โดยการ์ดเนอร์ เชื่อว่ามนุษย์เรามีอัจฉริยภาพอย่างน้อย 8 ด้าน และในคนๆ หนึ่งก็อาจมีครบทั้งแปดด้าน เพียงแต่จะมีบางด้านที่เด่นกว่าด้านอื่น ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง แล้วเขาก็เสนอวิธีสำรวจ ทดสอบ วัด หลายต่อหลายวิธี เพื่อค้นหาว่าแต่ละคนมีความเป็นอัจฉริยะในด้านไหนเป็นพิเศษ เพื่อจะได้พัฒนาไปในด้านนั้นอย่างเต็มที่ ซึ่งผมจะไม่ขอนำมากล่าวในรายละเอียดในที่นี้ เพราะก็น่าจะหาอ่าน หาฟังกันได้ไม่ยาก นักวิชาการ นักการศึกษา เขาก็เห่อทฤษฎีนี้กันอย่างขนานใหญ่ ผมไม่แน่ใจว่านักวิชาการด้านการศึกษา เขาทำเรื่องอัจฉริยภาพแปดด้านนี้กันไปถึงไหนแล้ว แต่เท่าที่ทราบ ก็เห็นว่ายังมืดแปดด้านกันอยู่

นักวิชาการด้านการศึกษาของไทย ทำท่าเอาจริงเอาจังกับการนำแนวคิดของการ์ดเนอร์ มาทำโครงการสร้าง “เด็กปัญญาเลิศ” มาร่วมสิบปีแล้วกระมัง ผมก็ไม่ทราบว่าเขาได้สร้างเด็กปัญญาเลิศกันไปได้กี่คนแล้ว แต่ที่แน่ๆ เมืองไทยมีนักการเมืองปัญญาอ่อนเพิ่มมากขึ้นทุกที!!

คนที่จะได้รับประโยชน์จากทฤษฎี “อัจฉริยภาพแปดด้าน” ไปอย่างเต็มๆ ก็เห็นจะมีอยู่คนเดียว ในเวลานี้ คือ หนูดี’ วนิษา เรซ แค่เอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่เท่านั้น เงินทองก็ไหลมาเทมายังเธออย่างน่าอิจฉา

แต่ถ้าอยากจะให้ง่ายขึ้นในการค้นหา “จุดแข็ง” หรือ แววแห่ง “อัจฉริยภาพ” ของตนเองแล้วละก็ Marcus Buckingham และ Donald O.Clifton อาจพอช่วยให้เรากระจ่างขึ้น ทั้งสองคนได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “Now,Discover Your Strengths” (หรือในชื่อภาษาไทยว่า “เจาะจุดแข็ง” แปลโดย เอธ แย้มประทุม) โดยเขาได้ให้นิยามของคำว่า “จุดแข็ง” ไว้ว่า..


“การปฏิบัติกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้แทบจะสมบูรณ์แบบอย่างสม่ำเสมอ”

และเขาได้ให้หลักการในเรื่องนี้ไว้ 3 ข้อ คือ :-

1) จะถือว่ากิจกรรมใดๆ เป็นจุดแข็งได้ ก็ต่อเมื่อคุณสามารถทำกิจกรรมนั้นได้อย่างสม่ำเสมอ จนสามารถคาดหวังได้ และถ้าถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเรื่องใดเป็นจุดแข็งแน่นอนแล้วละก็? คำตอบก็คือ ความสามารถที่จะถือว่าเป็นจุดแข็งได้ก็ต่อเมื่อคุณจินตนาการได้ว่าคุณสามารถทำซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างมีความสุข และเป็นผลสำเร็จ
2) คุณไม่ต้องมีจุดแข็งที่เกี่ยวกับบทบาทของตนครบถ้วนไปเสียทุกด้าน จึงจะถือว่าเป็นเลิศ ดังนั้น ความคิดที่ว่าผู้ที่ปฏิบัติได้ดีเลิศ จะต้องเก่งรอบด้านนั้น จึงเป็นเรื่องเหลวไหล พวกเขาแหลมคมเฉพาะด้านเท่านั้น!
3) คุณจะเป็นเลิศได้ด้วยการเพิ่มพูนจุดแข็งให้มากที่สุด การซ่อมแซมจุดอ่อน จะไม่มีวันทำให้คุณเป็นเลิศได้ (อันนี้ก็ตรงกับที่ดรัคเกอร์ได้ว่าไว้)

นอกจากนี้ หนังสือดังกล่าว ยังได้ให้แนวทางให้เราพอจะสามารถ “หาร่องรอยของพรสวรรค์” ได้บ้าง ดังนี้ :-

1) ให้สังเกตปฏิกิริยาตอบสนองที่เกิดขึ้นเองในทันทีทันใด ต่อสถานการณ์ที่เราประสบ เพราะมันจะเผยให้เห็นตำแหน่งของจุดเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งที่สุดในสมอง
2) เราจะรู้สึกมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำสิ่งนั้นๆ
3) เราจะรู้สึกว่าเราสามารถเรียนรู้ได้เร็วในเรื่องนั้นๆ
4) เราจะรู้สึกได้ถึง “ความพึงพอใจ” ที่บังเกิดขึ้น เมื่อได้ทำสิ่งนั้นๆ


ถ้าจะให้กระจ่างขึ้นกว่านั้นอีก ต้องฟังโรเบิร์ต คูเปอร์ ผู้เขียนหนังสือ “The Other 90% : “How to Unlock Your Untapped Potential for Leadership and Life” (หรือในชื่อภาคภาษาไทยที่ตั้งชื่อไว้ค่อนข้างหน่อมแน้มว่า “ยอดมนุษย์” แปลโดยปรัชญ์วรรณ มุ่งกานต์สิริ) ซึ่งได้เล่าว่าปู่ของเขาได้เคยพูดกับเขาเมื่อครั้งยังเป็นเด็กว่า..

“มันง่ายที่จะทำตัวเหมือนหลานเป็นกังหันบอกทิศทางลม ที่เปลี่ยนความเชื่อและคำพูดของตัวเองอยู่ตลอดเสมอ พยายามทำให้ผู้คนรอบข้างพอใจ แต่เราเกิดมาเพื่อเป็นประภาคาร ไม่ใช่กังหันบอกทิศทางลม ลองนึกถึงเส้นแกนที่ตั้งลากผ่านจุดศูนย์กลางหัวใจของหลาน จากเบื้องลึกที่สุดไปจนถึงความปรารถนาสูงสุดของหลาน นั่นละคือประภาคารของหลาน มันเป็นหลักยึดหลานไว้ในโลกนี้ และปลดปล่อยหลานจากการที่ต้องเปลี่ยนทิศทางทุกครั้งที่สภาพเปลี่ยนไป ภายในประภาคารนี้มีกระจกสะท้อนและมีแสงสว่างอยู่ แสงสว่างนั้นจะต้องส่องสว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าข้างนอกจะมืดหรือมีพายุรุนแรงเพียงใด โรเบิร์ต,เมื่อหลานค้นพบแสงสว่างนั่นภายในตัวหลาน หลานก็จะรู้เอง อย่ายอมให้ใครมาทำให้แสงสว่างเลือนรางไป...และจงจำไว้ว่าให้มองหาแสงสว่างภายในผู้อื่นด้วย หากหลานมองไม่เห็นมันในตอนแรก ก็จงมองให้ลึกลงไปอีก มันอยู่ตรงนั้นเอง!”


คูเปอร์ยังได้กล่าวต่อไปว่า ให้ลองถามตัวเราเองว่า “เราเป็นใคร เมื่อไม่มีใครกำลังมองเราอยู่?”...เราทุกๆ คนมีคุณลักษณะที่ติดตัวอยู่ ซึ่งเป็นหลักยึดเราอยู่ในโลกนี้ และทำให้เราส่องสว่างได้ การที่จะดำรงชีวิตในแนวทางนั้น เราต้องทำให้ค่านิยมของเราเองนั้น มีความชัดเจนและทำความเข้าใจค่านิยมของผู้อื่นด้วย มันเป็นสิ่งเดียวที่จะคงอยู่ แต่มันเป็นสิ่งอื่นๆ ทั้งหมดที่จะดำรงชีวิต และทำงาน โดยขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นใครเมื่อมองลึกลงไป..คนเราจะไม่ให้ความจริงจังตั้งใจกับบางสิ่งที่พวกเขาไม่เชื่อ พวกเขาอาจจะใช้เชาว์ปัญญาของพวกเขากับสิ่งนั้น แต่ไม่ใช่ความตั้งใจของพวกเขา เมื่อค่านิยมส่วนบุคคลของเราไม่เหมาะสมกับชีวิตที่เราดำเนินไป หรือทิศทางที่เรามุ่งไป เราก็จะยับยั้งสิ่งที่ดีที่สุดของเรา และรู้สึกว่างเปล่าหรือเคร่งเครียด เช่นเดียวกับผู้คนที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ในไม่ช้าเราอาจเปรียบเหมือนกังหันบอกทิศทางลม ที่หันไปในทิศทางใดก็ตามที่ลมพัดพาไป

คูเปอร์เสนอแนะให้เรารู้ถึง “ค่านิยมส่วนบุคคล” ที่โดดเด่นของเรา เป็นค่านิยม 5 ประการ ที่บรรยายหรือให้นิยามได้ดีที่สุดว่าเราเป็นใคร? และอะไรที่เรายืนหยัดเพื่อมัน? คิดถึงว่าเราเป็นใครเมื่อไม่มีใครกำลังมองเราอยู่ รากของเราหยั่งลึกแค่ไหน และความปรารถนาของเราขยายออกไปสูงเพียงใด อะไรคือถ้อยคำแรกที่เข้ามาในความคิดและจิตใจของเรา อะไรคือถ้อยคำที่เราอยากให้ผู้อื่นนึกถึง เมื่อพวกเขานึกถึงเรา?

เขาย้ำว่า ความเข้าใจค่านิยมส่วนบุคคลของเราอย่างชัดเจนนั้น เป็นประตูผ่านไปสู่ความทุ่มเท และความคิดริเริ่ม

คูเปอร์ชี้ให้เห็นแนวทางที่เราจะค้นพบตัวเราเองด้วยการถามตัวเราเองว่า “อะไรคือความสนใจในชีวิต ที่มีอิทธิพลมากที่สุดสำหรับเรา?”...หนทางที่ง่ายที่สุดหนทางหนึ่งที่จะเพิ่มความมุ่งมาดปรารถนาของเรา ทำได้โดยการสังเกตว่ามันซ่อนอยู่ที่ใด ท่ามกลางชีวิตอันวุ่นวายของเรา อะไรที่เรารักมากพอที่จะทำโดยไม่ต้องการค่าตอบแทน? อะไรที่ให้ความเพลิดเพลินกับเรามาก จนเราอยากจะทำให้มากขึ้น? อะไรคือความฝันในวัยเด็กของเรา? อะไรที่เราสนุกตื่นเต้นที่จะทำมากที่สุด แม้ว่าเราอาจจะทำได้ไม่ดีนัก? อะไรที่ทำให้เรารู้สึกดีที่สุดเกี่ยวกับตัวเอง? เมื่อเราฝันกลางวัน หัวใจของเราล่องลอยไปที่ใด? อะไรที่ทำให้ใบหน้าของเรามีรอยยิ้มกว้างที่สุดที่ผ่านมา หรือติดสปริงให้กับการย่างก้าวของเรา มีเสียงร้องเพลงเบาๆ ในลำคอ มีประกายในดวงตาของเรา หรือตรึงความสนใจของเรา?

เขาเสนอแนะให้เขียนความมุ่งมาดปรารถนาสูงสุดของเราเอง 5 ประการ ลงบนกระดาษ ทันทีที่เราเริ่มมองหาสิ่งเหล่านี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น สิ่งที่เรารักก็จะเปิดเผยออกมาอย่างง่ายดาย การมุ่งใส่ใจไปที่ความมุ่งมาดปรารถนา ทำให้เราเริ่มนำมันมาใส่ไว้ตรงใจกลางชีวิต และการงานของเราได้ แทนที่จะสูญเสียมันไปโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ เรารู้หรือไม่ว่า อะไรคือความสนใจที่มีอิทธิพลมากที่สุดสำหรับแต่ละคนที่ใกล้ชิดกับเราที่สุด? นั่นก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน!

ส่วนที่น่าจะถือว่าสำคัญที่สุดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้ ก็คือ คูเปอร์ สรุปว่า “เราแต่ละคนได้รับพรสวรรค์ในแบบที่ไม่เหมือนใคร!”...เราทุกคนได้รับพรสวรรค์ด้วยความสามารถพิเศษตามธรรมชาติ และคงอยู่ถาวร พร้อมด้วยพลังผลักดันภายในอันเข้มแข็ง ที่จะเปลี่ยนความสามารถพิเศษนั้น ให้กลายเป็นจุดแข็ง และนำไปใช้ในการแสวงหาให้ได้มาซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายต่อเรา ส่วนใหญ่ การปรากฏของความสามารถพิเศษเหล่านี้จะมองเห็นได้ในระยะช่วงต้นๆ ของชีวิต!...

ไม่มีเด็กคนใดจะเป็นอะไรก็ได้ที่พวกเขาหรือเธอต้องการจะเป็น แต่พวกเราแต่ละคนค้นพบความสามารถพิเศษที่ไม่เหมือนใครของเราและนำไปใช้ได้ และสร้างจุดแข็งใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอตลอดเวลาที่ผ่านไป และกลายเป็นตัวตนที่ดีที่สุดที่ไม่มีใครเหมือนของเราได้มากขึ้น ต่างหาก

จากการศึกษาวิจัยทั่วโลก กับคนเกือบ 2 ล้านคน กว่า 4 ทศวรรษ ที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นว่า เราไม่สามารถทำสิ่งใดๆ ได้ดี เพียงแค่โดยการจดจ่อความคิดของเราอยู่กับสิ่งนั้นเท่านั้น แต่คนเราแต่ละคนสามารถทำสิ่งหนึ่ง หรือสอง หรือสามสิ่งได้ดีกว่าคนอื่นๆ อีกนับแสนๆ คนได้ สิ่งเหล่านั้นคือความสามารถพิเศษของเรา เราแต่ละคนจำเป็นต้องค้นหาความสามารถพิเศษนั้นให้พบ แล้วพัฒนาให้กลายเป็นจุดแข็ง และนำไปใช้ให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่เราจะทำได้...

ความสามารถพิเศษ และอัจฉริยภาพนั้น รออยู่ภายในพวกเราทุกคน แม้ว่าความสนใจในชีวิตที่มีแรงผลักดันนั้น อาจไม่นำเราขึ้นสู่อวกาศ หรือตรงกับความคาดหวังของคนรอบข้างเรา แต่นั่นก็ไม่ควรเป็นอุปสรรคที่จะหยุดเราได้ โอกาสอันดีเยี่ยมที่สุดของแต่ละคนสำหรับการเติบโตนั้น อยู่ในขอบเขตของความสามารถพิเศษ และจุดแข็งที่ยอดเยี่ยมที่สุด เมื่อใดก็ตามที่เราพบโอกาสที่จะฉายแววความสามารถในบางสิ่งบางอย่าง แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เราก็ต้องฉวยโอกาสนั้นไว้ มีหลายครั้งในชีวิตของทุกคนที่จะเล็งจรวดของตนเองขึ้นสู่ท้องฟ้า และปล่อยให้มันพุ่งขึ้นไป!

ความจริงคูเปอร์ได้พรรณนาเรื่องดังกล่าวไว้ค่อนข้างละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งถ้าหากคัดลอกมาทั้งหมด ก็จะกลายเป็นการพิมพ์ซ้ำหนังสือเกือบจะทั้งเล่มไป เท่าที่คัดบางข้อความมาแสดงไว้ในที่นี้ก็คงพอทำให้เราได้แลเห็นหนทางในการค้นหาตัวตนที่แท้จริงของเราได้บ้าง แต่ก็ขอคัดข้อความของเขาทิ้งท้ายไว้ให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้ :-

...หนทางที่แน่นอนที่สุดหนทางหนึ่งที่จะเปิดเผยศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของเราสำหรับจุดแข็งก็คือ การสังเกตตัวของเราเองอย่างละเอียดถี่ถ้วน ลองทำกิจกรรมสักอย่างหนึ่ง และสังเกตว่าเราเรียนรู้มันได้รวดเร็วเพียงใด สังเกตดูว่าเราพึงพอใจแค่ไหน และเราคอยพูดกับตัวเองว่า “เมื่อไหร่งานนี้จะจบ?” หรือพูดว่า “เมื่อไหร่ที่ฉันจะได้ทำงานนี้อีกครั้ง?” สังเกตดูว่าเราข้ามขั้นตอนที่เราไม่เคยได้รับการสอนมาก่อนได้รวดเร็วเพียงใด การตระหนักรู้ในตัวเองเพิ่มขึ้นนี้เป็นสิ่งสำคัญ หากเราสังเกตตัวเองอย่างละเอียดถี่ถ้วน ความสามารถพิเศษที่โดดเด่นของเราก็จะปรากฏเป็นจุดแข็งใหม่ๆ ที่ทรงพลังของเราได้ พลังเดียวกันนี้ของการตระหนักรู้ที่มีมากขึ้น สามารถนำไปใช้ในการทำความเข้าใจความสามารถพิเศษที่ไม่มีใครเหมือน และจุดแข็งต่างๆ ของผู้อื่นได้ดีขึ้นด้วย

ในประการนี้ ก็สอดคล้องกับสิ่งที่ ลอเรนซ์ จี โบลท์ ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “Zen and The Art of Making a Living : The Quest for Life’s Work” (หรือในชื่อภาคภาษาไทยว่า “งานแห่งชีวิต : คู่มือแสวงหาวิสัยทัศน์และเป้าหมาย เพื่อการสร้างสรรค์” แปลโดย ขนิษฐา มุติวัฒนาสวัสดิ์) ซึ่งได้กล่าวถึง “การค้นหาพรสวรรค์” ว่า อาจทำได้โดยให้พิจารณาถึงสิ่งต่อไปนี้ :-

1) สิ่งที่เรารู้สึกมีความสุขเมื่อได้ทำ
2) สิ่งที่เรารู้สึกมีความสุขเมื่อคิดถึงมัน
3) สิ่งที่เรารู้สึกมีความสุขเมื่อกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับมัน
4) สิ่งที่เรารู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นมันคลี่คลายกระบวนการทั้งหมดของมัน (หมายถึงเราไม่ได้แค่จะมีส่วนร่วมแค่เศษเสี้ยว หรือเพียงบางส่วน แต่เราต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งหมดเลยทีเดียว พูดง่ายๆ ว่าไม่ได้ต้องการแค่แต๊ะๆ แตะๆ อังๆ แต่จะเข้าไปคลุกคลีตีโมงคลุมโปงห่มผ้าผวยผูกพันเอออวยอยู่ด้วยอย่างเต็มตัวตั้งแต่ต้นจนจบ ว่างั้นเถอะ)

ลองฟังอีกท่านหนึ่งอย่างสั้นๆ เพื่อประกอบการพิจารณา ดร.สมพิศ วิชญวิเชียร กล่าวไว้ในหนังสือของเธอที่ชื่อว่า “เป็นหัว ไม่ใช่หาง” ว่า เราทุกคนจะเป็นผู้นำที่ดีที่สุดในสิ่งที่เราถนัด เธอได้เสนอแบบทดสอบ “ความถนัด” โดยการให้ถามตัวเอง ด้วยคำถามดังต่อไปนี้ :-

1) ระบุเหตุการณ์ที่ทำให้เรามีความสุขมาก สัก 3 เหตุการณ์ (เรื่องใดก็ได้ ตอนไหนก็ได้)
2) ระบุความสำเร็จที่เราภูมิใจมาก มาสัก 3 กรณี (เรื่องใดก็ได้ ตอนไหนก็ได้)
3) ระบุชื่อของบุคคลที่เราประทับใจมาก มา 3 คน
4) ระบุคุณสมบัติเด่นของบุคคลที่เราประทับใจทั้งสามคนนั้น ให้ได้คนละ 3 ประการ

เมื่อได้คำตอบทั้งสี่ข้อแล้ว ให้นำคำตอบมาเรียงกัน เราจะพบคำตอบที่เหมือนๆ กัน หรือคล้ายๆ กันในคำตอบเหล่านั้น สิ่งที่เหมือนซ้ำๆ กันนี้แสดงถึงความเป็นตัวเรา อย่างน้อยที่สุด แบบทดสอบนี้ อาจทำให้เราเห็น “ร่องรอย” อะไรบางอย่างในตัวเราได้

แต่ถ้าหากจะกล่าวให้ลึกลงไป ลึกลงไปถึงเรื่องเกี่ยวกับ “จิตวิญญาณ” แล้ว ผู้ที่จะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ดี เห็นจะไม่มีใครเกิน ดีพัค โชปรา (Deepak Chopra) ไปได้ จึงจะขอกล่าวถึงแนวคิด หลักการของท่านผู้นี้อย่างละเอียดมากกว่าท่านอื่นๆ ข้างต้นสักนิดหนึ่ง


ดีพัค โชปรา เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “The Seven Spiritual Laws of Success” (หรือชื่อในภาคภาษาไทยว่า “7 กฎด้านจิตวิญญาณเพื่อความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม” แปลโดยนันท์ วิทยดำรง) ในกฎข้อที่เจ็ด : กฎแห่งธรรมมะ..ว่ามีองค์ประกอบอยู่สามอย่างในกฎๆ นี้ คือ (ขออนุญาตลอกสำนวนนี้มาลงทั้งหมด) :-

- เราแต่ละคนมาอยู่ ณ ที่นี้เพื่อค้นพบตัวตนที่แท้จริงของเรา
- มนุษย์ทุกคนมีความสามารถเฉพาะของตัวเองที่ไม่มีใครเหมือน และมีวิธีการพิเศษที่ไม่เหมือนใครในการแสดงมันออกมา ทั้งหมดนี่เป็นความสามารถเฉพาะตัว ซึ่งไม่มีใครในโลกที่มีความสามารถนั้น หรือมีวิธีการแสดงออกของความสามารถนั้นอย่างที่คุณมี นั่นหมายความว่ามีสิ่งหนึ่งซึ่งคุณสามารถทำได้ และมีหนทางหนึ่งในการทำสิ่งนั้น ซึ่งดีกว่าใครๆ ทั้งหมดบนโลกใบนี้ เมื่อใดก็ตามที่คุณกำลังทำสิ่งนั้น คุณได้หลงลืมซึ่งกาลเวลา หรือเมื่อใดที่คุณกำลังแสดงออกถึงความสามารถเฉพาะหนึ่งเดียวที่คุณมีอยู่นั้น (ซึ่งในบางกรณี ก็อาจมีมากกว่าหนึ่งอย่าง) การได้แสดงออกซึ่งความสามารถนั้น ได้นำพาคุณเข้าสู่สภาวะอันพ้นไปจากมิติของเวลา
- กฎแห่งธรรมะ คือ การรับใช้เพื่อนมนุษย์ มันคือ การรับใช้เพื่อนมนุษย์ของคุณ และถามตัวคุณเองด้วยคำถามที่ว่า “ฉันจะช่วยได้อย่างไร ฉันจะช่วยเหลือผู้คนที่ฉันพบได้อย่างไร?” เมื่อคุณนำศักยภาพในการแสดงออกซึ่งความสามารถเฉพาะของคุณมารวมเข้ากับการรับใช้หรือสร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์ เมื่อนั้นเท่ากับว่าคุณได้ใช้ “กฎแห่งธรรมะ” ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ และเมื่อมันได้หลอมรวมเข้ากับการที่ประสบการณ์ด้านจิตวิญญาณของคุณ หรือสนามพลังงานด้านศักยภาพอันจริงแท้ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในแล้ว ไม่มีทางที่คุณจะเข้าไม่ถึงซึ่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์อันไร้ขอบเขตจำกัด เพราะว่านั่นเป็นหนทางแห่งสัจจะธรรมที่แท้จริง ที่ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์จะถูกบรรลุถึง

อาจมีคำถามว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีความสามารถเฉพาะตัวอะไรที่ไม่เหมือนใครในโลก และมีเพียงเราเท่านั้นที่จะทำมันได้ดีที่สุด? เราลองมาหาคำตอบในประเด็นสำคัญนี้กัน


ดีพัค โชปรา คนเดิม กล่าวไว้อีกในหนังสือของเขาที่ชื่อ “The Spontaneous Fulfillment of Desire” (หรือในชื่อฉบับภาษาไทยว่า “โชค ดวง ความบังเอิญ คุณกำหนดได้!” แปลโดย คุณอัญชลี วิทยะ) ในบทที่ว่าด้วย “ความปรารถนา ต้นแบบในประเภทของมัน” ดังนี้ (ขออนุญาตคัดลอกมาลงไว้เช่นกัน) :-

...แต่เมื่อเราค้นหาคำแนะนำว่าเราจะสร้างชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไร เรายังคงต้องตอบคำถามสำคัญของตัวตนที่ว่า ความฝันและความปรารถนาของฉันคืออะไร? และคำถามนั้นจะได้รับคำตอบก็ต่อเมื่อคุณถามเพิ่มเติมว่า ฉันเป็นใคร? ฉันต้องการอะไร? จุดมุ่งหมายของฉันในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่นี้คืออะไร?

...ภายในตัวมนุษย์ทุกคนมีแก่นแท้อย่างหนึ่งที่ครอบคลุมความเป็นมนุษย์ มันเป็นแม่แบบในการดำรงชีวิตแบบวีรบุรุษ เป็นตัวอ่อนของเทพ หรือเทพี ที่รอการเกิด นี่คือบุคคลที่เราตั้งใจจะเป็น ซึ่งเป็นตัวตนที่เรามักปฏิเสธ เพราะว่าเราไม่สามารถเห็นถึงดินแดนของความเป็นไปได้ที่ไร้ขีดจำกัด ซึ่งเปิดสู่เราได้ แต่นี่คือตัวตนที่ดีที่สุดของเรา ตัวตนที่ไร้อัตตา ซึ่งเป็นส่วนเล็กๆ ของจักรวาล ที่กระทำสิ่งต่างๆ โดยผ่านเรา เพื่อสิ่งที่ดีทั้งปวง...วีรบุรุษ และวีรสตรีที่อยู่ในตำนานเชิงเทพเหล่านี้ เรียกว่า “ต้นแบบในประเภทของมัน”

...การกระตุ้นของต้นแบบได้ปลดปล่อยอำนาจในการกำหนดรูปแบบ ซึ่งยอมให้เราเป็นมากกว่าสิ่งที่เราถูกกำหนดให้เป็นอยู่แล้ว และต้นแบบของเราแต่ละคน ถูกสะท้อนอยู่ในความปรารถนาหรือเจตนารมณ์ของเรา ฉะนั้นแล้ว คุณเป็นใคร? คุณต้องการอะไร? จุดมุ่งหมายของการดำรงชีวิตของคุณคืออะไร? ในระดับที่ลึกที่สุดแล้ว คำถามเหล่านี้ถูกถามจากวิญญาณ และเพื่อหาคำตอบ คุณต้องพูดกับส่วนนั้นของวิญญาณ ซึ่งเป็นสิ่งเฉพาะสำหรับคุณ และขณะที่เราทำเช่นนั้น เราจะได้เรียนรู้ที่จะกำหนด “ต้นแบบ” ส่วนตัวของเราเอง

...คุณเริ่มรู้จัก “ต้นแบบ” และชะตาชีวิตของคุณได้โดยการเข้าถึงเจตนารมณ์ของวิญญาณแห่งจักรวาล โดยการมองลึกไปภายใน และกำหนดความปรารถนาสูงสุดของคุณ และโดยการเลือก “ต้นแบบ” ที่เข้ากับเจตนารมณ์ของคุณที่สุด แล้วเดินตามรูปแบบของต้นแบบนั้น!....


โชปรา ได้เสนอไว้ในหนังสือดังกล่าวอีกว่า เป้าหมายของเรานั้น ควรหาต้นแบบหนึ่ง หรือสอง หรือสามอย่าง ที่สะท้อนตัวเราอย่างมีพลังมากที่สุด เป็นต้นแบบที่แสดงให้เห็นถึงหัวใจของเรา แต่อย่าเลือกในสิ่งที่เราอยากเป็น หรือเป็นคุณลักษณะที่เราชื่นชอบมากที่สุด แต่ต้องค้นหาคุณลักษณะที่ดึงดูดเรา เป็นแรงบันดาลใจให้เรา แล้วเราจะรู้จักมัน เมื่อเราหาเจอ ทุกอย่างดีที่สุด ไม่มีคำตอบที่ผิด!


“ต้นแบบ” ที่โชปรา เสนอแนะนี้ อาจเป็น “เทพ” องค์ต่างๆ องค์ใด องค์หนึ่ง ในตำนานแห่ง “เทพปกรณัม” อาจเป็นเทพในตำนานของกรีก โรมัน เทพในศาสนาฮินดูของอินเดีย หรือเทพในความเชื่อของชาวจีน หรือแม้แต่เทพในความเชื่อของคนไทยเราเอง (ในประการหลังนี้ ผมเพิ่มเติมให้เอง) หรืออาจเป็นคนธรรมดา ที่เรายึดถือพวกเขาเป็นต้นแบบก็ได้ และทั้ง “เทพ” และหรือ “คนธรรมดา” ที่เราจะยึดเป็น “ต้นแบบ” นี้ จะเป็นเพศหญิง หรือเพศชายก็ได้ แต่โชปราเสนอแนะว่า หากจะให้สมบูรณ์ ควรมีต้นแบบมากกว่าหนึ่ง และควรจะมีปะปนกันทั้งสองเพศ โดยส่วนตัวของผมเองแล้ว เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว และเมื่อมาพิจารณา ใคร่ครวญตามหลักการนี้แล้ว ก็ได้ยึดเอา “เทพีสรัสวดี” (เทพีในตำนานความเชื่อของฮินดู) มาไว้เป็นต้นแบบด้วย หลังจากที่แต่ก่อน ได้ยึดถือเอาบุคคลสำคัญของโลกบางท่านมาเป็นต้นแบบไว้แล้ว

ในประการนี้ ผมใคร่ขอแสดงความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมว่า อย่าสับสนกับการหา “ต้นแบบ” เพราะในชีวิตของเรา อาจมีบุคคล หรือเทพ ที่เรามีความรู้สึกในระดับที่แตกต่างกัน มีความเข้มข้นต่อบุคคล หรือเทพ นั้นๆ แตกต่างกัน มีบางท่าน หรือบางคนเท่านั้น ที่จะเป็นต้นแบบของเราจริงๆ ซึ่งผมขอแยกแยะ “ความรู้สึก” และ “ความเข้มข้น” ที่เรารู้สึกต่อบุคคลต่างๆ ออกเป็น “ระดับ” ต่างๆ ดังนี้ :-

- ระดับ “ซาบซึ้งศรัทธา” (ซึ่งเราบูชา นบไหว้)
- ระดับ “ต้นแบบ” หรือ “ฮีโร่ในใจ” (ซึ่งเราใส่ใจ เลือกที่จะเป็น)
- ระดับ “ยกย่อง เชิดชู” (ซึ่งเราให้ความเคารพความยิ่งใหญ่ของเขา)
- ระดับ “ปลาบปลื้ม ชื่นชม” (ซึ่งเราเป็นปลื้ม และชื่นชมในผลงานของเขา หรือจริยาวัตรของเขา)
- ระดับ “นิยม ยินดี” (เห็นดี เห็นงาม เห็นด้วย กับผลงานของเขา)
- ระดับ “เป็นเกียรติ เป็นศรี” (ดีใจที่ได้รู้จักกัน ที่ได้พบได้เห็นผลงานของเขา)


จะเห็นได้ว่า เราอาจกระทำผิดพลาดที่ไปนึกอยากเป็นบุคคล หรือเทพ ใดๆ เข้า โดยที่เราไม่อาจเป็นได้ ไม่เหมาะกับเรา และจริงๆ แล้วคือไม่ใช่เรา ผมเองนั้นซาบซึ้งศรัทธาในพระพุทธเจ้าอย่างหาที่สุดมิได้ ซาบซึ้งศรัทธาในท่านพุทธทาส ในท่านหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แต่ก็ไม่เคยคิดอยากจะเป็นแบบท่านเหล่านี้เลย

แต่ผมกลับรู้สึกว่าอับราฮัม ลินคอล์น (อดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา) และ ราล์ฟ วอลโด อีเมอร์สัน (นักปราชญ์ผู้ยิ่งยงชาวอเมริกัน มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 18) คือ “ต้นแบบ” ของผม และถ้าเป็น “เทพ” แล้ว “พระสรัสวดี” คือต้นแบบของผมครับ นี่เพียงต้องการยกตัวอย่าง จึงขอไม่อธิบายว่าทำไม? ผมจึงยึดถือท่านเหล่านี้เป็นต้นแบบ


การค้นหาต้นแบบนั้น ไม่ใช่การหาบุคคลในฝัน หรือในอุดมคติที่เราต้องการจะเป็น แต่เป็นการหาบุคคลที่เราจะเป็นได้ และอันที่จริงแล้วเราก็กำลังเป็นอยู่ และเราจะสามารถเป็นได้ดีที่สุด เนื่องจากเรามีคุณสมบัติเหมือน หรือคล้ายกับท่านที่เป็นต้นแบบนั้นเกือบ เป๊ะ! การรู้ว่าใครเป็นต้นแบบก็เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ เป็นการต้องการที่จะเป็นสิ่งนั้นให้เป็นเลิศ ให้สุดยอด เราอยากให้ต้นแบบของเรานั้นสำแดงพลัง แห่งความเป็นเลิศ เปล่งพลังแห่งความสุดยอด ผ่านเรา!!ผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ควรจะเป็นในเรื่องของการหา “ต้นแบบ” หรือ “ฮีโร่” ของแต่ละคน


ผมยกย่องเชิดชูท่านมหาตมะ คานธี, แม่ชีเทเรซ่า, กฤษณะมูราติ, ภควัน ศรีรัชนี (โอโช) อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, เชคสเปียร์, ปีเตอร์ ดรัคเกอร์, อ.ปรีดี พนมยงค์, อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ฯลฯ แต่ไม่เคยคิดว่าจะเป็น หรือคิดว่าจะเป็นได้ เช่นบุคคลทั้งหลายที่ว่ามานี้เลย

ผมปลาบปลื้มชื่นชมดีพัค โชปรา,เอ็คฮาร์ท โทลเลอร์, ท่านปยุต ปยุตโต (พระพรหมคุณากร), องค์ทะไลลามะ, ท่านติช นัท ฮันท์ ฯลฯ แต่ก็เช่นกัน ผมไม่คิดว่านั่นเป็นผม และไม่เคยคิดว่าผมจะเป็นเช่นท่านทั้งหลายนี้ได้

ผมนิยมยินดีในใครต่อหลายคน มีทั้งนักคิด นักพูด นักเขียน นักร้อง นักแสดง นักธุรกิจ นักบริหาร ฯลฯ แต่ผมก็รู้อยู่แก่ใจว่าผมไม่เคยคิดจะเป็นเช่นพวกเขาเลย ผมแค่ยินดีเสพย์งานของเขา รื่นรมย์กับผลงานของพวกเขา และเลือกเอาสิ่งดีๆ ที่เขาเหล่านั้นได้นำเสนอ มาประยุกต์และปรับใช้ในชีวิตของผมบ้าง ก็เท่านั้นเอง

ยิ่งกับบุคคลที่ผมรู้สึกเป็นเกียรติเป็นศรี ยินดีที่ได้พบกัน หรือรู้จักกันด้วยแล้ว ย่อมมีมากมายมหาศาลมโหฬารมหันต์ลึกเลยทีเดียว


สิ่งที่โชปราได้นำเสนอมานั้น ก็ตรงกับสิ่งที่หนังสือ “คุยกับพระเจ้า : การพูดคุยที่ไม่ธรรมดา” เล่ม 1 (Conversations with God : An uncommon dialogue, Book 1 ซึ่งเขียนโดยนีล โดนัลด์ วอลซ์ แปลโดยรวีวาร โฉมเฉลา) ที่ระบุว่า...

“ความลับข้อที่ลึกล้ำที่สุดคือ ชีวิตไม่ใช่กระบวนการค้นหา ทว่าเป็นกระบวนการของการสร้างสรรค์...เราไม่ได้กำลังค้นหาตัวเอง แต่กำลังสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ฉะนั้น จงอย่าเสาะหาว่าเราคือใคร แต่จงตัดสินใจว่าใครที่เราอยากเป็น!”

ความในข้อนี้ที่จริงแล้วก็เหมือนกับที่โชปราได้นำเสนอไว้ ดังที่กล่าวในตอนต้น เราทุกคนเกิดมาเป็นสิ่งนั้นๆ แล้วตั้งแต่ต้น ค้นให้พบเท่านั้นว่าเราเป็นใคร การหา “ต้นแบบ” ที่ว่านี้ ก็เพื่อให้สามารถรู้ให้ได้ว่าเราคือใคร ให้สามารถจำให้ได้ว่าเราเป็นใคร จากนั้น ก็ไปมีประสบการณ์ ด้วยการลงมือทำในสิ่งที่เราเป็น นี่ไม่ใช่เรื่องที่เราอยากจะเป็นใคร เพราะเราไม่สามารถเป็นในสิ่งที่เราไม่ได้เป็นอยู่ ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “ชีวิตไม่ใช่กระบวนการของการค้นหา ทว่าเป็นกระบวนการของสร้างสรรค์..เราไม่ได้กำลังค้นหาตัวเอง แต่กำลังสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ฉะนั้น จงอย่าเสาะหาว่าเราคือใคร แต่จงตัดสินใจว่าใครที่เราอยากเป็น” จึงเป็นคำกล่าวที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้น อาจทำให้เกิดความสับสนได้อยู่เหมือนกัน

ผมจะขอจบข้อเขียนนี้ ด้วยข้อเขียนของดีพัค โชปรา จากหนังสือ “The Seven Spiritual Laws of Success” ที่ได้เสนอแนะให้เราลองถามตัวเองสองข้อง..คือ

ข้อแรก ให้เราถามตัวเองว่า ถ้าเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญ สมมติว่า เรามีทั้งเวลาและเงินมากมาย เราจะทำอะไร ถ้าหากว่าเรายังคงทำในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน นั่นแสดงว่าเราอยู่ในธรรมะ เพราะว่า เรามีความรักในสิ่งที่เราทำ และเรากำลังแสดงความสามารถเฉพาะของเราออกมา (ซึ่งผมขอเพิ่มเติมว่า นั่นแสดงว่าเราได้ค้นพบ “งานแห่งชีวิต” ของเราแล้ว)

แต่ถ้าคำตอบออกมาเป็นว่า หากเงินและเวลาไม่ใช่เงื่อนไขข้อจำกัดแล้ว เราคงจะหันไปทำอย่างอื่นแทน แล้วละก็ แม้โชปราจะไม่ได้บอกว่าจะให้เราทำอย่างไรต่อไป แต่ผมขอเสนอแนะว่า จงทำในสิ่งที่เราคิดว่าจะทำ เพราะนั่นคือตัวตนที่แท้จริงของเรา เว้นเสียแต่ว่า เราก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ถ้าเป็นดังนี้ ข้อเขียนนี้ก็อาจจะพอมีประโยชน์อยู่บ้างที่จะทำให้เราได้ “แกะรอย” จนสามารถพบได้ว่าเราเกิดมาเพื่อจะเป็น และเพื่อจะทำอะไร?


ข้อที่สอง โชปราให้เราถามตัวเองต่ออีกข้อว่า อะไรเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุดในการรับใช้เพื่อนมนุษย์?

เมื่อได้คำตอบทั้งสองข้อนี้แล้ว ก็ถึงเวลาที่เราต้องนำไปปฏิบัติ หรือที่หนังสือ “คุยกับพระเจ้าฯ” เรียกว่า “ไปมีประสบการณ์” ในสิ่งที่เราเป็น!!

ดังนั้น เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า “ต้นแบบ” “จุดแข็ง” “ความถนัด” “อัจฉริยะ” และ “พรสวรรค์” นั้น เป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น แต่มันก็เป็นโศกนาฏกรรมอยู่เหมือนกัน ที่ผู้คนจำนวนมากบนโลกนี้ กลับกำลังไปสนใจเรื่องทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องพวกนี้!!

ชื่อผู้ส่ง : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ถามเมื่อ : 10/09/2008
 


ขอบคุณใน ความรู้สึกแรงกล้า และ ความเมตตากรุณามากมายเหล่านี้ครับ
ชื่อผู้ตอบ : Karn ตอบเมื่อ : 10/09/2008
สำหรับผมแล้ว นี่ทั้งย้ำเตือน กระจ่าง หมดจด เบ็ดเสร็จ ครบรอบด้าน จริงๆ และเป็นประโยชน์ยิ่งครับท่านอาจารย์

คงไม่ใช่เฉพาะผม ย่อมต่อทุกคนที่ได้อ่าน

ตัวอย่างการแยกระดับความเข้มข้นของจิต ที่เรามีในทางบวกต่อบุคคลต่างๆ ของเรา ช่วยทำให้เกิดความคลี่คลายอย่างมากครับ

ขอบคุณและขอบคุณ ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 11/09/2008
รายละเอียดลึกมากครับ นี้ถ้าไม่อ่านก็คงยังตีความเรื่องต้นแบบคลุมเครืออยู่เหมือนเดิมแน่ ๆ เลย ขอบคุณมากครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 12/09/2008
ผมยังงงๆอยู่ครับ ที่บอกว่าอย่าเลือกต้นแบบที่เราอยากเป็นหรือชื่นชอบ แต่ให้เลือกต้นแบบที่ดึงดูด เป็นแรงบันดาลใจ คือต้นแบบที่เราชื่นชอบกับที่ดึงดูดเรามันต่างกันยังไงครับ ถ้าไม่ชื่นชอบแล้วจะดึงดูดได้ยังไง ผมอยากทำตามหนังสือโชคดวงฯนี้ให้ได้แต่ก็ยังสับสนบทต้นแบบนี้แหละครับ ขอให้พี่วสันต์หรือใครก็ได้ที่ทราบช่วยอธิบายด้วย ขอบคุณมากครับ
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 19/09/2008
เรื่องการอธิบายคำถามของคุณนิก คงต้องรอท่านอาจารย์วสันต์ มาตอบ

แต่ผมขอแสดงความเห็นที่อาจจะเกี่ยวเนื่อง หรือเป็นวิธีที่อาจช่วยแก้ปัญหาให้คุณนิก ในเรื่องอ่านหนังสือ "โชคดวงความบังเอิญฯ" หรือหนังสือเล่มอื่นๆ ของ ดีพัค โชปรา ก็คือ ผมมักจะแยกเรื่องรูปธรรมซึ่งหมายถึงวิธีการต่างๆ กับเรื่องนามธรรมซึ่งหมายถึงระดับสภาวะของจิต ออกจากกัน

ในความเห็นของผมวิธีการต่างๆ ที่ ดีพัค โชปรา บอกนั้น ก็เพื่อให้เราฝึกปฏิบัติ จนเข้าสู่ระดับสภาวะจิตระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นแกน ที่จะทำให้ประสบผลที่ต้องการต่างๆ ดังนั้นไม่ว่ากรณีใด ต้องเริ่มฝึกปฏิบัติครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 19/09/2008
คุณนิกครับ

คุณเป็นคนน่ารักมาก เพราะเป็นคนเดียวที่เรียกผมได้อย่างถูกใจว่า "พี่" (ฮา)

กรณีที่คุณถามมา ผมใคร่ขอขยายความดังนี้ครับ คือ จักรวาล (หรือธรรมชาติ หรือพระเจ้า หรือ ฯลฯ) ได้สร้างคนแต่ละคนให้มีความสามารถเฉพาะตัว เป็นความสามารถที่มีแต่เราเท่านั้น ที่จะสามารถทำมันได้ดีที่สุด (แน่นอน ต้องมีการฝึกฝน พัฒนาอย่างเต็มที่ด้วย) แต่จักรวาล หรือ ฯลฯ ก็ยังทำให้เราสามารถค้นพบตัวเราได้ ด้วยการให้เราหาร่องรอย หรือทวนความจำได้จากการหา "ต้นแบบ" ซึ่งอาจเป็นบุคคล หรือเทพ ที่มีคุณสมบัติอย่างเดียวกับเรา เมื่อเราค้นพบแล้ว เราก็จะสามารถมีประสบการณ์ (กระทำการใดๆ) เพื่อบรรลุความเป็นเลิศต่อไปได้ ในประการนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่เราอยากเป็นใคร แต่เป็นเรื่องที่ใคร?ที่เราจะเป็นได้ เพราะเราเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่เราลืมไป การรู้สึกปิ๊งลึกๆกับต้นแบบ รู้ได้ด้วยความรู้สึกว่าใช่เลย นี่คือเรา นั่นแหละคือการจำได้ คือการค้นพบตัวตนที่แท้จริงของเรา หนังสือสนทนากับพระเจ้าจึงได้บอกว่า ชีวิตไม่ใช่การแสวงหา แต่คือการสร้างสรรค์ (การค้นหาคัวตนที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่การแสวงหานะครับ การค้นหาก็เพื่อให้เรารู้ว่าเราเป็นใคร แต่การแสวงหา เป็นเรื่องที่เราอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ซึ่งเราอาจไม่มีวันเป็นได้)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 22/09/2008
ขอบคุณมากครับ นอกจาก Getแล้ว มันยังทำให้ผมชอบโชคดวงความบังเอิญ อันดับ 1 เท่า QUANTUM SUCCESS แล้วครับ
แล้วก็มีหนังสืออีกเล่มที่แนะนำโดยหนังสือ 50 SELF-HELP CLASSIC ที่แปลโดยคุณพรรณี ชูจิรวงศ์ ของสนพ.ต้นไม้ ชื่อ THE POWER OF MYTH ซึ่งทำให้ผมสนใจอยากได้อยู่ พอแปลเป็นไทยในชื่อพลานุภาพแห่งเทพปกรณัม ผมจึงซื้อมาทันที เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องดำรงชีวิตอยากสนุกตลอดเหมือนอยู่ในเทพนิยาย (ซึ่งคำว่า MYTH มันแปลว่าเทพนิยายก็ได้ซึ่งผมว่าฟังดูมันยังเร้นลับและโรแมนติกกว่าเทพปกรณัมเลย) ก็เกี่ยวกับบทบาทแห่งเทพในตัวเรา ซึ่งหนังสือโชคดวงฯก็จะดีกว่าเล่มนี้ซะด้วยซ้ำ แต่ที่ทอม บัทเลอร์ ผู้เขียน 50ฯ ไม่จัดอันดับโชคดวงฯแต่ดันเป็น 7 กฏฯ แทนผมคิดว่าน่าจะเพราะตอนนั้น หนังสือโชคดวงฯยังไม่ออกหรือถึงออกก็ยังไม่อยู่ในอันดับยอดนิยม(อย่าเอาอะไรกับ ทอม บัทเลอร์มากเลยครับ หนังสือเล่มไหนที่ดีสุดๆจริงแต่ถ้าขายไม่ติดอันดับขายดี มันก็ไม่เอามาลงในหนังสือ 50ฯ ทั้ง 50 Self-help 5o Prosperrity ก็ล้วนเอาหนังสือขายดีมาจัดอันดับไม่ใช่หนังสือที่ทั้งเขาและผมและอาจจะทุกคนว่าสุดยอดจริงๆ(ยังมีสุดยอดกว่าที่เขาจัดอันดับไว้มากมาย) )
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 23/09/2008
The Power of Myth ที่คุณนิกกล่าวถึงนี่ ผมก็ได้ซื้อมาทำการ "แช่อิ่ม" ได้หลายเพลาอยู่ ยังไม่ได้แตะต้องให้ระคายเคืองเบื้องไหนแต่อย่างใดเลยครับ ถ้าคุณอ่านแล้ว ผลเป็นประการใด เล่าให้ฟังบ้างก็จะดี เผื่อว่าอาจเป็นแรงกระตุ้นให้ได้อ่านเร็วขึ้น

แต่ที่ต้องเห็นแย้งอยู่เล็กน้อยก็คือกรณีของ Tom Butler Bowdon ผมคิดว่าเราน่าจะชื่นชมเขาให้เป็นอันมากด้วยซ้ำไป เป็นเรื่องไม่ใช่ง่ายๆ เลยที่ใครคนหนึ่งจะใช้เวลากว่า 5 ปี ในการค้นคว้าหนังสือแนว Self-Help ได้ละเอียดพิสดารไปได้ถึงขนาดนี้ แน่นอน มันอาจจะมีหายหกตกหล่นไปบ้างบางเล่ม (เช่น The Science of Getting Rich ของ Wallace D.Wattles ซึ่งไม่น่าจะต้องตกสำรวจไปได้เลย) แต่นั่นก็ไม่น่าจะเป็นข้อเสียหายมากนัก

Bowdon เขาคงไม่เอาเรื่อง Best Seller หรือไม่ มาเป็นเกณฑ์ในการรวบรวม เพราะบางส่วนของรายชื่อหนังสือดังต่อไปนี้ ที่ไม่สามารถระบุได้ว่า Best Seller หรือไม่ เขาก็ยังรวบรวมมานำเสนอไว้ด้วย เช่น
- ธรรมบท คำสอนของพระพุทธเจ้า
- คัมภีร์คำสอนของขงจื๊อ ในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์กาล
- คัมภีร์คำสอนของเล่าจื๊อ (คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง) ราว 3-5 ปี ก่อนคริสต์กาล
- ตำราอี้จิง ซึ่งมีอายุกว่าสามพันปี
- คัมภีร์ภควัทคีตา อันเป็นส่วนหนึ่งของมหาภารตะ มหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ของฮินดู (ที่ได้รับการเทียบเคียงว่า เป็นแนวเดียวกับ 7 กฎ ด้านจิตวิญญาณฯ ของดีพัค โชปรา)
- คำสอนของมาร์คัส ออเรลิอุส จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรโรมัน ในศตวรรษที่ 2
- ฯลฯ

และไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่จะให้วอร์เรน เบบนิส กูรูแถวหน้าด้านภาวะผู้นำ มาเขียนคำนิยมให้ในหนังสือเล่มนี้
และก็ไม่ใช่เรื่องสามัญที่จะให้สตีเฟ่น อาร์โควีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสามผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดต่อชาวอเมริกัน ในทศวรรษที่ 90 มาเขียนคำนิยมให้! (อีกสองคนคือดีพัค โชปรา และแอนโธนี่ รอบบ้นส์)
และก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อย่างศาสตราจารย์เอลเลน เลนเจอร์ จะกล่าวชื่นชมหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างเอกอุ!

เท่านี้ ผมก็เห็นว่าเราควรคารวะ Tom Butler Bowdon ว่าเป็นผู้มีคุณูปการอันดีเลิศต่อต่อหนอนหนังสืออย่างพวกเราอย่างยิ่งแล้วครับ!!!

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 25/09/2008
คาราวะ คุณ Tom Butler Bowdon ด้วยคนครับ
ไม่มี คุณ Tom ก็ไม่มี 50 Self-help และไม่มี The Seven Spiritual Laws ภาคภาษาไทย และไม่มี เวบบอร์ด นี้ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 25/09/2008
เขาได้รับรางวัลเบนจามิน แฟรงคลิน ประจำปี 2004 ด้วยนะครับ ไปเรียกเขาว่า "มัน" นี่ ออกจะดูไม่ให้เกียรติเขาไปหน่อยนะครับคุณนิก!

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 27/09/2008
พอดี ผมก็มี 50 Self-help classics ด้วยอะครับ ผมได้หาข้อมูลเพิ่มเติทแล้ว พบว่า คุณคุณ Tom Butler Bowdon ได้แต่งหนังสือไว้อีก 3 เล่ม ได้แก่ 50 Success Classics 50 Spiritual Classics และ 50 Psychology Classics ซึ่งคิืดว่ายังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทยนะครับ ซึ่ง The Science of Getting Rich ของ Wallace Wattles เป็น1ใน 50 Success Classics ครับ ชื่อหนังสืออีก 150 เล่มอยู่ที่ http://www.butler-bowdon.com/success-classics-list.html
นะครับ
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 29/09/2008
ขอบคุณครับคุณพีระพงศ์ น่าตามเข้าไปดูครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 29/09/2008
ได้อ่านของคุณวสันต์ ชอบมา ได้ทบทวนและคงค่อย ๆ สังเกตตนเองต่อไป
ชื่อผู้ตอบ : สุภัทร ตอบเมื่อ : 22/11/2008


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code