ศิษย์ของหลวงปู่ดุลย์
คุณ นันท์ วิทยดำรง ครับ ได้อ่านในกระทู้เก่า ว่าคุณศรัทธาในหลวงปู่ดุลย์
ไม่ทราบเคยอ่านหนังสือของ พระปราโมทย์ ปาโมชโช หรือเปล่าครับ
ท่านก็เป็นศิษย์ของหลวงปู่ดุลย์ และปฏิบัติในสายเจริญสติ
โดยขอนำคำสอนบางส่วนมาลงไว้ เพื่อให้พิจาราณาครับ

. การระลึกรู้ทำอย่างไร

๖.๑ มนุษย์โดยทั่วไปสามารถระลึกรู้ปัจจุบันอารมณ์ได้อยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่นในขณะนี้ยืน หรือเดิน หรือนั่ง หรือนอนก็ทราบได้ ในขณะนี้มีความสุข หรือความทุกข์ หรือเฉยๆ ก็ทราบได้ ในขณะนี้มีความรัก โลภ โกรธ หลง สงสัย ฟุ้งซ่าน หดหู่ เกียจคร้าน ศรัทธา วิริยะ หรือมีความสงบ ฯลฯ ก็ทราบได้ แต่ มนุษย์ละเลยที่จะเฝ้ารู้อารมณ์เหล่านั้น รวมทั้งนึกไม่ถึงด้วยว่าการเจริญสติที่แท้จริง ก็คือการใช้จิตใจที่เป็นธรรมชาติธรรมดานี้เองไปรู้อารมณ์ แต่มักเกิดความเข้าใจผิดว่า การเจริญสติหรือการระลึกรู้นั้น เป็นสภาพอะไรอย่างหนึ่งที่พิเศษเหนือธรรมดา ดังนั้นแทนที่จะใช้จิตใจธรรมดาไปรู้อารมณ์ พวกเรากลับพยายามสร้าง "รู้" แบบผิดธรรมดาขึ้นมาแทน

๖.๒ การบ่งชี้สภาวะว่า การมีสติ หรือการมี รู้ ที่ถูกต้องเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องยากมาก เพราะเพียงแต่เราเติมความคิดเห็นของเราลงไปว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็จะเริ่มเข้าใจผิดทันที แต่หากเรามาพูดกันถึงสภาวะของการรู้ที่ไม่ถูกต้องเสียก่อน (ซึ่งล้วนแต่เกิดจากตัณหาหรือความอยาก และทิฏฐิหรือความเห็นผิดทั้งหลาย) เราก็จะเข้าใจถึงสภาวะรู้ที่ถูกต้องได้ไม่ยากนัก สภาวะผิดพลาดที่สำคัญได้แก่

๖.๒.๑ รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ (เผลอ/ลืมตัว)

๖.๒.๑.๑ สภาวะรู้ เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับสภาวะไม่รู้ อันได้แก่ความเหม่อ ความเผลอความลืมตัว ความใจลอย หรือความฝันกลางวัน นั่นเอง เป็นสภาวะของการปล่อยจิตใจให้หลงเพลิดเพลินไปตามอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย แม้กระทั่งเพลินไปในโลกของความคิดฝันและจินตนาการของตนเอง ตัวอย่างเช่นเมื่อตามองเห็นรูปบางอย่างแล้วเกิดจำได้ว่านั่นเป็นรูปผู้หญิงสวย/ผู้ชายหล่อ ก็มัวหลงเพลินมองตามอย่างลืมเนื้อลืมตัว หรือเมื่อนั่งอยู่คนเดียว ก็ใจลอยคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ชัดว่าคิดอะไร เป็นต้น

๖.๒.๑.๒ สภาวะที่เรียกว่าเผลอหรือลืมตัวนี้ เป็นสภาวะที่เราลืมร่างกายของตนเองเหมือนกับว่ามันหายไปจากโลก รวมทั้งลืมจิตใจของตนเอง คือในขณะนั้นจิตใจจะมีสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่วอย่างไรก็ไม่สามารถจะรู้ได้ กล่าวได้ว่าในเวลาที่เราเผลอหรือขาดสตินั้น เราไม่สามารถรู้กาย เวทนา จิต และธรรมได้นั่นเอง

๖.๒.๑.๓ ขณะใดที่เราเผลอ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังเผลออยู่ ขณะนั้นความเผลอจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังเผลอ ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

๖.๒.๒ รู้ ไม่ใช่คิด

๖.๒.๒.๑ สภาวะรู้ ไม่เหมือนกับสภาวะคิด ในขณะที่คิดนั้น เรารู้เรื่องที่กำลังคิดเป็นอย่างดี แต่เราลืมตัวเองคล้ายกับเวลาที่เผลอนั่นเอง การรู้เป็นการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ ตามที่มันเป็นจริง ในขณะที่การคิด เป็นการคาดว่าความจริงมันน่าจะเป็นอย่างไร (แต่ทั้งนี้หากมีกิจจำเป็นต้องคิด เช่นต้องคิดเพื่อการเรียนหรือการทำงาน เราก็ต้องคิดไปตามหน้าที่ของตน)

๖.๒.๒.๒ นักปฏิบัติจำนวนมากไม่เข้าใจการเจริญสติ โดยมีความสำคัญผิดว่าการคิดหรือการตรึกตรองเรื่องกายและใจตนเอง ว่า "เป็นอสุภะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" เป็นการทำวิปัสสนา แท้จริงการเจริญสติหรือการเจริญวิปัสสนาจะต้องรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่การคิดถึงสภาวธรรมนั้นๆ เพราะความคิดของปุถุชนย่อมปนเปื้อนด้วยอคติเสมอๆ หรือคิดอยู่ในจุดยืนของความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิชนิดต่างๆ เช่นคิดว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยงแต่จิตนี้เที่ยง พอร่างกายนี้ตายลงจิตก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่ หรือคิดว่าตัวเรามีอยู่ แต่พอตายลงก็สูญไปเลย เป็นต้น

การคิดพิจารณาไม่ใช่วิปัสสนา ดังที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์องค์หนึ่งของผู้เขียน (ท่านเป็นศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) สอนไว้ว่า "การคิดพิจารณากายว่าเป็นอสุภะก็เพื่อแก้นิวรณ์ (เป็นสมถะ) การคิดพิจารณาความตาย (มรณสติ) และการคิดพิจารณากายว่าเป็นธาตุเป็นขันธ์ ก็เพื่อแก้อาการของจิตบางอย่าง (เป็นสมถะ) เช่นกัน ต่อเมื่อใดปฏิบัติจนถึงจิตถึงใจตนเอง จึงได้แก่นสารของการปฏิบัติธรรม"

๖.๒.๒.๓ ขณะใดที่เราคิด แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังตั้งอกตั้งใจคิดอยู่ ขณะนั้นความคิดจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังคิด ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

๖.๒.๓ รู้ ไม่ใช่การตั้งท่าปฏิบัติ

๖.๒.๓.๑ รู้ไม่มีการตั้งท่าก่อนจะรู้ แต่นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย เมื่อคิดจะปฏิบัติธรรมก็ต้องรีบตั้งท่าปฏิบัติเพราะไปแปลความหมายของ "การปฏิบัติ" ว่าเป็น "การกระทำ" ทั้งที่การรู้นั้น ไม่ต้องทำอะไรมากกว่าการรู้เข้าไปตรงๆ ตามธรรมชาติธรรมดา เช่นเดียวกับเมื่อเราต้องการดูภาพตรงหน้า เราก็ทำแค่ลืมตาขึ้นดูเท่านั้น หรือเมื่อถูกยุงกัด เราก็แค่รู้ว่าคันเท่านั้น สภาวะรู้ที่เป็นธรรมชาตินั้นเรามีอยู่แล้ว แต่เพราะไม่เข้าใจหลักการเจริญสติ เราจึงตั้งท่าปฏิบัติ เหมือนนักวิ่ง ๑๐๐ เมตรที่กำลังเข้าเส้นสตาร์ท คือเกร็งทั้งกายและจิตใจ แทนที่จะรู้อารมณ์ไปอย่างสบายๆ ตามธรรมชาติธรรมดา

๖.๒.๓.๒ เมื่อคิดปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติมักบังคับใจตนเอง และเริ่มสร้างพฤติกรรมของจิตบางอย่าง เช่นการใช้สติจ้องมองดูจอภาพในใจของตน แล้วเที่ยวควานหา (scan) อยู่ในจอภาพนั้น เพื่อหาอะไรสักอย่างเอามาดู หรือการส่งจิตออกไปนิ่งอยู่ข้างหน้า แล้วคอยดูสิ่งที่กำลังปรากฏขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปฏิบัติไปด้วยตัณหาคือความอยากจะปฏิบัติธรรม และทิฏฐิคือความเห็นผิดว่าการปฏิบัติธรรมจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อให้ "เรา" รู้ธรรม

๖.๒.๓.๓ เมื่อคิดปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติบางท่านที่นิยมใช้รูปหรือกายเป็นอารมณ์กรรมฐาน มักเริ่มด้วยการแทรกแซงพฤติกรรมตามธรรมชาติของกาย เช่นเมื่อคิดจะรู้ลมหายใจก็เข้าไปควบคุมจังหวะการหายใจ เมื่อคิดจะรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกายก็ไปกำหนดจังหวะการเคลื่อนไหวของมือ เท้า และท้องบ้าง การกระทำเหล่านี้ไม่ผิด ถ้าเป็นการทำสมถะหรือต้องการใช้กายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติก่อนพัฒนาไปสู่การรู้ที่แท้จริง แต่ถ้าจงใจก่อพฤติกรรมทางกายโดยคิดว่านั่นคือการเจริญสติ และรู้ไม่ทันตัณหาและทิฏฐิที่กำลังครอบงำจิตจนก่อพฤติกรรมดังกล่าวขึ้นมา นั่นก็เป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงมากอีกประการหนึ่ง

๖.๒.๓.๔ ความจริงแล้วถ้าเราจะเจริญสติหรือ รู้ อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด เราไม่จำเป็นต้องตั้งท่าอะไรเลย ไม่ว่าทางจิตหรือทางกาย เช่นเมื่อตาเห็นรูปก็รู้รูป(สี)นั้น หากจิตเกิดปฏิกิริยายินดียินร้ายต่อรูปก็รู้ทันอีก หรือขณะนี้อยู่ในอิริยาบถใดก็รู้ไปเลย เช่นเมื่อยืนอยู่ก็รู้ว่ายืนอยู่ ยืนแล้วเมื่อยอยากเปลี่ยนอิริยาบถก็รู้ทันความอยากของตนเอง รู้ทันแล้วจะเปลี่ยนอิริยาบถเพราะมันจำเป็นก็ได้ หรือจะไม่เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อดูความจริงของทุกขเวทนาไปก่อนก็ได้ หรือนั่งอยู่เฉยๆ เกิดความคิดแล้วจิตเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างใดก็รู้ไปเลยก็ได้ เป็นต้น

๖.๒.๓.๕ อย่างไรก็ตาม หากนักปฏิบัติคนใดไม่สามารถรู้ปัจจุบันอารมณ์ไปตามธรรมชาติธรรมดาได้ก็ไม่ต้องตกใจ ในเบื้องต้นจะตั้งท่าปฏิบัติเสียก่อนก็ได้ เช่นถ้าจิตฟุ้งซ่านนักก็ทำความสงบเข้ามาก่อน แต่ต้องระวังอย่าให้เคลิ้มลืมตัว และอย่าให้เครียดขึ้นได้ ให้รู้อารมณ์อันใดอันหนึ่งไปอย่างสบายๆ จะเป็นอารมณ์อะไรก็ได้ แม้กระทั่งการรู้คำบริกรรมก็ได้ เมื่อจิตใจสงบสบายแล้วจึงค่อยระลึกรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจไปตามธรรมชาติธรรมดาอีกชั้นหนึ่ง หรืออาจจะเริ่มจากการรู้ท้องพองยุบ รู้การเดินจงกรม รู้การเคลื่อนไหวมือเป็นจังหวะ ฯลฯ รวมความแล้วในเบื้องต้นจะทำกรรมฐานใดก็ได้ แล้วจึงค่อยพัฒนาไปสู่การรู้แบบไม่ตั้งท่า หรือไม่จงใจต่อไป

๖.๒.๓.๖ ขณะใดที่เราตั้งท่าปฏิบัติ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังตั้งท่า ขณะนั้นการตั้งท่าจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังตั้งท่า ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

๖.๒.๔ รู้ ไม่ใช่กำหนดรู้

๖.๒.๔.๑ รู้ไม่ใช่การกำหนดรู้ หรือการตรึกพิจารณาถึงอารมณ์ว่าเป็นรูปนาม แต่เป็นการระลึกรู้ (มนสิการ) ปัจจุบันอารมณ์ไปตามธรรมชาติธรรมดา นักปฏิบัติจำนวนมากคิดว่า รู้คือการกำหนดรู้ เพราะมักได้ยินคำพูดเกี่ยวกับการกำหนดรู้รูปนาม หรือการกำหนดรู้ปัจจุบันอารมณ์ จึงคิดว่า การรู้ต้องมีการกระทำ คือการกำหนด หรือการพิจารณาด้วย ดังนั้นพอรู้อารมณ์แล้วจึงรีบบริกรรมต่อท้ายการรู้ทันที เช่นยกหนอ ย่างหนอ โกรธหนอ เสียงหนอ ฯลฯ นี่คือการบริกรรมไม่ใช่การรู้ (เบื้องต้นอาจจำเป็นสำหรับบางท่านที่ต้องบริกรรมก่อน แต่พึงทราบว่าจะหยุดการปฏิบัติอยู่เพียงขั้นการตามบริกรรมไม่ได้ เพราะยังไม่ใช่วิปัสสนา) หรือบางท่านนิยมการพิจารณากำกับซ้ำลงไปอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่การรู้เช่นกัน เช่นเมื่อตาเห็นรูปตามธรรมชาติแล้ว ก็จงใจพิจารณารูปซ้ำลงไปอีก ว่า "รูปนี้เป็นเพียงสี ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ฯลฯ" หรือพิจารณาว่า "สีเป็นรูป รู้เป็นนาม" อันเป็นการกระทำด้วยความจงใจกำหนด และเป็นการกระทำตามหลังการรู้อารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน จึงยังไม่ใช่การรู้ที่บริสุทธิ์ตามธรรมชาติธรรมดา

๖.๒.๔.๒ ขณะใดที่เรากำหนดรู้ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังจงใจกำหนดรู้ ขณะนั้นการกำหนดรู้จะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังกำหนดรู้ ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

๖.๒.๕ รู้ ไม่ใช่เพ่ง

๖.๒.๕.๑ รู้ไม่ใช่การเพ่ง แต่นักปฏิบัติจำนวนมากชอบเพ่ง แม้แต่คนที่ไม่ชอบทำสมถะเพราะอยากเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ก็มักเพ่งโดยไม่รู้ทันจิตใจของตนเอง แท้จริงการเพ่งเป็นสภาวะที่สืบเนื่องมาจากการจงใจและการตั้งท่าปฏิบัติ คือพอคิดถึงการปฏิบัติก็จงใจปฏิบัติ แล้วเกิดการตั้งท่าปฏิบัติ มีอาการสำรวมกายใจเข้ามาให้มั่นคง ถัดจากนั้นจึงเพ่งหรือจดจ้องอย่างเอาเป็นเอาตายต่ออารมณ์ทั้งหลาย เป็นผลให้ลืมตัว และบางคนจิตใจด้านชา ไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่ออารมณ์ตามที่ควรจะเป็น หรือบางคนพอรู้กิเลสใดก็เพ่งใส่ พอกิเลสนั้นดับไป (เพราะเหตุของมันดับ) ก็เกิดความสำคัญผิดว่า เราสามารถดับกิเลสได้ทุกครั้ง หรือบางคนพอรู้อารมณ์แล้ว ก็หลงเพ่งจ้องเอาสติตามจี้อารมณ์ที่เคลื่อนหนีลึกเข้าไปภายใน นี่ก็เป็นการเพ่งเหมือนกัน แต่เป็นการตามเพ่งความปรุงแต่งที่เคลื่อนไหวได้ในจิตใจตนเอง อนึ่งการเพ่งนี้ถ้าไม่จงใจรุนแรงเกินไป ก็ทำให้จิตสงบเป็นการทำสมถะหรือสมาธิได้เช่นกัน แต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิซึ่งจำเป็นสำหรับการทำวิปัสสนา

๖.๒.๕.๒ วิธีทำความรู้จักกับการเพ่งไม่ยากเลย ลองยกนิ้วหัวแม่มือของตนเองขึ้นมา แล้วเพ่งจ้องให้จิตใจจดจ่ออยู่ที่นิ้วนั้นอย่างเดียว เพียงไม่นานจะรู้สึกว่า เราเห็นแต่นิ้วหัวแม่มือเท่านั้น เพราะจิตจดจ่ออยู่ที่จุดเดียวนั้นด้วยความจงใจอันเกิดจากโลภะ ในขณะนั้นเห็นแต่นิ้ว กายจะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เวทนาคือความรู้สึกจะสุขหรือทุกข์ก็ไม่ทราบ จิตจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ไม่ทราบ จิตเคลื่อนไปอยู่ที่หัวแม่มือก็ไม่ทราบ รวมความแล้วจะทราบได้เฉพาะหัวแม่มือ แต่ไม่ทราบ กาย เวทนา จิต ธรรม ขอให้ผู้ปฏิบัติจำสภาวะของการเพ่งไว้ให้ดี เวลาที่เจริญสติรู้อารมณ์ที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ก็ให้สังเกตรู้ทันใจตนเอง อย่าให้หลงไปเพ่งจ้องรูปหรือนามนั้นเหมือนที่จ้องหัวแม่มือตนเอง มิฉะนั้นจะเป็นการหลงทำสมถะ ทั้งที่คิดว่ากำลังทำวิปัสสนาคือรู้รูปนามอยู่

๖.๒.๕.๓ ขณะใดที่เราเพ่ง แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังเพ่งอยู่ ขณะนั้นการเพ่งจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังเพ่ง ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

๖.๒.๖ รู้ ไม่ใช่น้อม

๖.๒.๖.๑ รู้ไม่ใช่การน้อม เพราะอาการน้อมก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่นักปฏิบัติจำนวนมากชอบทำกัน มันเป็นการเสแสร้งแกล้งทำขึ้นมาเมื่อคิดว่าจะปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกับการเพ่ง เพียงแต่การเพ่งมุ่งจะรู้อารมณ์อันเดียวให้ชัดและพยายามตรึงอารมณ์นั้นไว้ ส่วนการน้อมเป็นการหลีกหนีอารมณ์เข้าหาความสงบสุขเคลิบเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว เพราะต้องการให้จิตสงบ กลายเป็นการปฏิบัติด้วยโลภะ จนจิตเกิดราคะเพลิดเพลินในความสงบสุข หรือเกิดความซึมเซาคือถีนมิทธะขึ้น วันใดซึมได้ที่หรือเคลิ้มได้ที่ก็สำคัญผิดว่าวันนั้นปฏิบัติดี วันใดปฏิบัติแล้วไม่ซึมหรือเคลิ้มก็เสียใจว่าวันนั้นปฏิบัติได้ไม่ดี การน้อมจิตนี้นักปฏิบัติบางท่านจะมีอุปกรณ์ช่วยคือการเปิดเทปธรรมะคลอไปด้วยระหว่างนั่งสมาธิ จะช่วยน้อมจิตให้ซึมได้ที่คือครึ่งหลับครึ่งตื่นได้โดยเร็ว

๖.๒.๖.๒ ขณะใดที่เราน้อมจิตเข้าหาความสงบ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังน้อมจิตอยู่ ขณะนั้นการน้อมจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังน้อม ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

๖.๒.๗ รู้ ไม่ใช่จงใจรู้อะไร

๖.๒.๗.๑ รู้ไม่ใช่จงใจจะรู้อะไร ดังนั้นถ้านักปฏิบัติคนใดถามว่า ที่สอนให้รู้นั้น ควรจะรู้อะไร หรือควรจะรู้ตัวทั่วพร้อมคือรู้ทั้งตัวตั้งแต่ปลายผมถึงพื้นเท้า ผู้ที่ยังสงสัยเช่นนี้แสดงว่ายังไม่รู้จักการรู้ที่แท้จริง เพราะการรู้แท้จริงนั้น ไม่มีความจงใจว่าจะเลือกรู้สิ่งหนึ่งแล้วไม่รับรู้สิ่งอื่นๆ เนื่องจากความจงใจเหล่านั้นเป็นไปเพราะตัณหาและทิฏฐิล้วนๆ

๖.๒.๗.๒ การรู้คือสภาพที่จิตตื่นขึ้นจากโลกของความคิดความฝัน ทั้งนี้คนส่วนใหญ่จะตื่นเฉพาะร่างกายแต่ใจยังหลับฝันอย่างที่เรียกว่าฝันกลางวัน ภาวะรู้คือภาวะที่จิตตื่นจากความฝัน จิตมีความตื่นตัวพร้อมที่จะรับรู้อารมณ์ทั้งปวงที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อรู้อารมณ์แล้ว ก็พร้อมที่จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่ออารมณ์นั้นตามธรรมชาติ และยิ่งกว่านั้นก็คือ สามารถรู้เท่าทันปฏิกิริยาตอบสนองเหล่านั้นได้เป็นอย่างดีด้วย รู้ชนิดนี้ไม่มีความจงใจว่าจะต้องรู้อารมณ์ใด แต่อารมณ์ใดปรากฏทางทวารใดก็รู้อารมณ์นั้นอย่างถูกต้อง เป็นปัจจุบัน โดยไม่หลงไปกับอารมณ์นั้น นี่แหละคือความรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ใช่รู้ตัวทั้งตัวเพราะนั่นเป็นความจงใจเพ่งความรู้สึกไปจับที่กายทั้งกาย

๖.๒.๗.๓ ขณะใดที่เราจงใจ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังจงใจอยู่ ขณะนั้นความจงใจจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังจงใจ ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

๖.๓ สรุปแล้ว ขณะใดพยายามจะรู้ หรือแสวงหาการรู้ที่ถูกต้อง (แม้กระทั่งการพยายามรักษารู้ให้ต่อเนื่อง ดูข้อ ๖.๖) ขณะนั้นเราจะพลาดไปสู่ความหลงผิดทันที เพราะการกระทำใดๆ ที่เกินจากการรู้ตามปกติ อันเป็นการกระทำด้วยอำนาจของตัณหาและทิฏฐินั่นแหละ เป็นเครื่องปิดกั้นความสามารถในการระลึกรู้อารมณ์ซึ่งมีอยู่แล้วเอาไว้อย่างสนิทที่สุด ดังนั้นไม่ควรพยายามทำให้ถูก ขณะใดรู้ว่ารู้ผิด ขณะนั้นจะเกิดการรู้ที่ถูกต้องโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่มีนักปฏิบัติจำนวนมากทีเดียวที่แม้จะได้ฟังคำสอนเกี่ยวกับการเจริญสติหรือการระลึกรู้ แต่ก็ยังปฏิเสธที่จะระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏไปตามธรรมชาติ เพราะมีความคิดเอาเองว่า ตนเองยังมีบุญวาสนาน้อยขอทำบุญทำทานไปก่อน หรืออินทรีย์ตัวนั้นตัวนี้ยังอ่อนเกินไป หรือยังไม่สมดุลกันจะต้องพัฒนาอินทรีย์ก่อน เช่นจะต้องเพิ่มปัญญาให้สมดุลกับศรัทธา เพิ่มสมาธิให้สมดุลกับวิริยะ ทั้งนี้เพราะไม่ทราบว่า หากเจริญสติหรือรู้ได้แล้ว นั่นแหละจะทำให้อินทรีย์ทั้งหลายแก่กล้ายิ่งขึ้นและสมดุลกันด้วย

ชื่อผู้ส่ง : nut ถามเมื่อ : 03/09/2008
 


ด้วยความขอบคุณครับ คุณ nut ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือของท่านบ้างแต่น้อย และได้เคยไปฟังท่านที่สวนสันติธรรม จ.ชลบุรี หนหนึ่งครับ

ขอยกข้อธรรม ของหลวงปู่ดูลย์ ที่เห็นว่าน่าจะสอดคล้องกัน มาไว้ด้วยครับ

มีผู้เรียนถามถึงเรื่อง หยุดคิด หยุดนึก หลวงปู่บอกว่า
"ก็แสดงถึงความผิดพลาดอยู่แล้ว เพราะบอกให้หยุดคิดหยุดนึก ก็กลับไปคิด ที่จะหยุดคิดนั่นเสียอีกเล่า แล้วอาการหยุดจักอุบัติขึ้นได้อย่างไร จงกําจัดอวิชชาแห่งการหยุดคิดหยุดนึกเสียให้สิ้น เลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิดเสียก็สิ้นเรื่อง"

ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 03/09/2008


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code