อะไรคือความแตกต่างระหว่าง คิดบวก -ประมาท-มองความจริงตามความเป็นจริง
- เท่าที่ผมพอได้ยินมา ใครๆก็บอกให้คิดบวก
- แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า คิดบวกก็ประมาทหละซิ คิดลบดีกว่าจะได้ไม่ประมาท
- ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีแผนการหนึงที่จะลงปฎิบัติ คิดบวกก็คือยังไงแผนการนี้ก็สำเร็จ ไม่ต้องมีแผนสำรองก็ได้ แต่ถ้าคิดลบก็ คือแผนนี้อาจจะไม่สำเร็จ จึงมีแผนสำรอง
- การคิดบวกตรงกับ the secert ในขั้นตอนของการขอและเชื่อ อย่างที่ใน VCD ของthe secretบอกว่า ให้เชื่ออย่างสนิดใจ เช่นถ้าขอให้ได้งานนี้ ก็ไม่ควรจะหางานอื่นล่วงหน้าในวันเวลาทับกัน หรือนั่นคืออย่ามีแผนสำรองนั่นเอง ---> แบบนี้ก็เข้าค่ายประมาท
- อีกแนวคิดหนึ่งของกาคิดลบ ได้มาจาก เดล คาร์เนกี้ครับ ที่บอกว่า ในการประเมิณสถาณการณ์ให้ดูว่าสถาณการณ์เลวร้ายที่สุดคืออะไร แล้วสมมติว่ามันเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นดีกว่านั้นก็ถือว่ากำไร
- ส่วนการมองความจริงตามความเป้นจริง ผมได้แนวคิดมาจากพระพุทธศาสนาครับ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามันจะสอดคล้องกับคิดบวกหรือเปล่า
-แนวคิดการมองความจริงตรงตามความเป้นจริง ตรงกับคำพูดของ Jack Welch CEO ของ บริษัท GE ครับ ที่บอกว่า ในการแก้ปัญหาของเค้านั้น เค้าจะ "มองความจริงตรงตามความเป็นจริง ไม่มองความจริงในบบที่เคยเป็นในอดีต หรือในแบบที่เราอยากให้เป็น" เพราะแม่ของ JACK สอนเสมอว่า "Jack มองความจริงหน่อย อย่าหลอกตัวเองไปหน่อยเลย"

รบกวนผู้รู้ช่วยตอบหน่อยว่า
อะไรคือ คิดบวก
อะไรคือคิดลบ
อะไรคือความประมาท
อะไรคือมองความจริงตรงตามความเป็นจริง

อะไรคือเส้นแบ่งของสิ่งเหล่านั้น
ชื่อผู้ส่ง : ผู้อ่าน ถามเมื่อ : 20/08/2008
 


ขอแชร์ด้วยคนครับคุณผู้อ่าน
เราตัดแบ่งสิ่งเหล่านั้นไม่ได้หรอกครับ มันเหมือนสายลมที่พัดผ่านมาคุณกั้นแบ่งแยกมันไม่ได้ แต่คุณยื่นมือสัมผัสมันได้รู้สึกรับรู้มันได้ว่าเย็นสดชื่นอย่างไร หรือรุนแรงรบกวนเราเกินไป แล้วมันก็ผ่านไปและก็จะมาอีกเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนเราเปิดพัดลม เบอร์ 1 ขณะที่เรากำลังสบายเรารู้สึกดี แต่เพื่อนของเราเพิ่งกลับมาจากข้างนอกที่ร้อนอ้าว คงจะต้องเปิดเป็นเบอร์ 2 หรือ 3 ซึ่งเราอาจจะไม่สบายตัว แต่เพื่อนเราเย็นฉ่ำ เส้นแบ่งคงไม่เที่ยงครับ ดูที่จิตใจเราให้เที่ยงสงบดีกว่าครับ
ชื่อผู้ตอบ : ภาสกร ตอบเมื่อ : 20/08/2008
ขอบคุณครับคุณ ภาสกร

แต่ผมก็ยังสงสัยเพิ่มเติมอีกว่า
ถ้าเราไม่มีเส้นแบ่งของทั้ง 3 วิธีคิดดังกล่าว
"แล้วคิดอย่างไรจึงจะถูก??"

ผมเคยได้ยินมาว่า "เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตเปลี่ยน"
ใจเรามันก็อยากเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางทีดีขึ้น
แต่ตอนนี้ ปัญหาคือ ความคิดเปลี่ยนไปเป็นแบบไหนถึงเรียกว่าถูกต้อง ??

ผมทนสงสัย คำ 3 คำนั้นมานาน พยายามหาคำตอบด้วยตัวเองว่า ทั้ง3คำมี เส้นแบ่งอย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราไม่ได้ล้ำเส้น
เพราะยังไม่เข้าใจว่าอย่างไรคือคิดบวก อย่างไรคือประมาท ถ้าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นสิ่งนี้เป้นการคิดบวก แต่จริงๆแล้วมันคือความประมาทจะเกิดอะไรขึ้น
.....วิบัติเลยครับ
เหมือนกับที่มีคำสอนที่ว่า "ความประมาทเป็นหนทางเเห่งความตาย"

แม้แต่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในปัจฉิมโอวาทว่า "จงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"


สำหรับการมองความจริงตรงตามความเป้นจริง
ผมรู้สึกเอาเองว่า มันเหนือกาคิดบวกคิดลบ อีกขั้นหนึ่ง
ซึ่งไม่รู้ว่าที่ผมเข้าใจถูกต้องหรือเปล่านะครับ

อย่างไรก็ขอขอบพระคุณ คุณภาสกรนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 21/08/2008
คุณภาสกร ครับ มาแชร์บ่อยๆ นะครับ ขอบอกว่านิยมจากใจจริง

ผมเกิดความเห็น ที่แสดงแง่มุมของคำที่คุณผู้อ่านได้พูดถึง แยกเป็นชิ้นๆ ดังนี้ครับ

ชิ้นแรก ผมขอสร้างสมการอันเป็นความสัมพันธ์หรือเป็นคำตอบอยู่ในที ที่เกิดขึ้นจากคำต่างๆ ของคุณผู้อ่าน และคำสรุปท้ายของคุณภาสกร ได้หนึ่งสมการครับ ลองพิจารณาดูครับ

เมื่อใจเราสงบ --> มองเห็นสิ่งที่ปรากฎหรือสถานการณ์ข้างหน้า ตรงตามความเป็นจริง --> ขณะนั้นคำว่า "คิดบวก" "คิดลบ" "ความประมาท" หายไปไหนก็ไม่รู้ คำถามอย่างที่คุณผู้อ่านถาม ก็ไม่มี

ถ้ามีคนบอกคุณว่าให้คุณคิดบวก หรือการที่คุณกำลังบอกตัวเองว่าให้คิดบวก แสดงว่า คุณกำลังเพลี่ยงพล้ำจากความสงบทางจิต กระบวนการความคิดของคุณ กำลังปรุงแต่งสิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่นั้น ไปในทางลบ

การใช้คำว่า "คิดบวก" หรือการบอกตนเองให้ "คิดบวก" เป็นชูชีพชั้นดี ที่เอาไว้ให้คุณคว้าเวลาจะจมน้ำ หรือเอาไว้พยุงตัวเวลาหัดว่ายน้ำจนกว่าจะเป็น แล้วโยนมันทิ้งไปได้

คำว่า คิดบวก (positive thinking) หรือ คิดลบ (negative thinking) เป็นวิธีวิเคราะห์ และเป็นมาตรวัดขบวนการปรุงแต่งของความคิดแบบแบ่งแยก ตามแบบตะวันตก มีประโยชน์ แต่..ก็ต้องไม่ติดอยู่ในกรอบที่แบ่งเป็น 2 ด้านของมัน เพราะจริงๆ แล้ว ต้องก้าวพ้นไปกว่านั้น ดังสมการด้านบน

ถ้าวัตถุประสงค์ในการถามของคุณผู้อ่าน คือ ต้องการคำตอบที่เป็นปลายทาง ผมเห็นว่าสภาวะจิต(ที่แท้)นั้น ไม่ใช่สภาวะคิดบวกหรือคิดลบ มันเหนือไปกว่านั้น คำว่า "คิดบวก" ด้อยค่าหรือเทียบไม่ได้ในแง่ความหมายหรือความรู้สึก ตรงนั้นมันไปพ้นจากคำคู่นี้

ที่ยกมาข้างต้นดูเป็นเรื่องทางนามธรรมอยู่มาก กลับมาให้ความเห็นในเชิงรูปธรรมตามคำถาม ดูว่าเป็นอย่างไรได้บ้าง

ผมมีความเห็นว่าปัญหาที่คุณผู้อ่านเล่ามา มันเป็นเรื่องปัญหาทั่วไป อันเกิดจากช่องว่างของความเข้าใจ และมิติของการใช้คำทั้งสองนี้ ซึ่งผมขอแสดงความเห็นไปทีละประเด็น

ประเด็นแรก : คิดบวกก็ประมาทหละซิ คิดลบดีกว่าจะได้ไม่ประมาท

ผมว่ากรณีนี้เป็นการนำเอาคำว่า คิดบวก หรือ คิดลบ ไปใช้แบบสุดขั้ว และเป็นการอ้างถึงแบบเสียๆ หายๆ อาจถูกฟ้องหมิ่นประมาทได้เชียวครับ

ผมว่าการที่เราจะบอกหรือเตือนใคร โดยใช้คำว่าให้ คิดบวก ควรตีความว่า อย่าปรุงแต่งแต่ทางร้ายๆ จนจิตตก เพื่อทำให้เกิดกำลังใจหรือเกิดพลังงานขึ้นมา ใช้แค่เตือนสติ หรือปรับระดับจิตกลับมา เหมือนเป็นชูชีพให้ไม่จมน้ำดังว่า ไม่ใช่บอกให้ลุยลูกเดียวแบบขาดสติ ถ้าไม่อย่างนั้นก็คงก้าวสู่ความประมาทแน่นอน

ส่วนคำว่า คิดลบ ก็เช่นกัน หากเป็นการใช้คำนี้เพื่อบอกหรือเตือนในนัยยะเพื่อไม่ให้ฝันเฟื่องจนขาดสติ ที่จะทำให้เกิดการเห็นแบบรอบด้าน หรือไม่ให้ประมาทดังว่าก็ใช้ได้ แต่หากเป็นการคิดลบด้วยสภาวะจิตจริงๆ ก็แย่ละครับ แผนสำรองที่เกิดจากสภาวะจิตอันเป็นลบนั้น คงพาลงเหวไปพอๆ กับการทำโดยความประมาท

ประเด็นที่ 2 : ถ้ามีแผนการหนึ่งที่จะลงมือปฎิบัติ คิดบวก ก็คือยังไงแผนการนี้ก็สำเร็จ ไม่ต้องมีแผนสำรองก็ได้ แต่ถ้าคิดลบก็ คือแผนนี้อาจจะไม่สำเร็จ จึงมีแผนสำรอง

เรื่องนี้ผมขอให้ความเห็นโดยอ้างอิง สมการ ข้างต้นของผมดังนี้ "เมื่อใดที่คุณเห็นสิ่งที่ต้องเผชิญอยู่ข้างหน้าตามความเป็นจริง" เมื่อนั้นคำตอบว่าจะต้องมีแผนการณ์ หรือไม่มีแผนการณ์เลย จะต้องมีแผนสำรองหรือว่าไม่ต้องมี มันจะปรากฎรู้ขึ้นเอง แล้วเราก็แค่ทำไปตามเหตุโดยรวมที่อยู่ตรงหน้า

วิถีทางที่ถูกต้องผมว่าไม่ใช่การเริ่มคิดด้วยเรื่อง คิดบวก คิดลบ เป็นตัวตั้ง มันเป็นแค่ชูชีพ หรือมาตรวัดเอาไว้เตือนภัยตนเองมากกว่า

เรื่องนี้สอดคล้องกับที่ Jack Welch บอกว่า "มองความจริงตรงตามความเป็นจริง ไม่มองความจริงในแบบที่เคยเป็นในอดีต หรือในแบบที่เราอยากให้เป็น" ซึ่งคงหมายถึง สภาวะการมองที่พ้นจากการปรุงแต่งด้วยฐานจากอดีต พ้นจากการแบ่งเป็นบวก เป็นลบ อยู่กับปัจจุบันตรงหน้านั่นแหละครับ

ประเด็นที่ 3 : เรื่อง the secert บอกว่า ให้เชื่ออย่างสนิทใจ เช่นถ้าขอให้ได้งานนี้ ก็ไม่ควรจะหางานอื่นล่วงหน้าในวันเวลาทับกัน หรือนั่นคืออย่ามีแผนสำรองนั่นเอง แบบนี้ก็เข้าค่ายประมาทไหม

ขอให้ความเห็นแบบ the secret ว่าอย่างนี้ครับ ถ้าหากคุณเชื่อมั่นอย่างสนิทใจ ไม่หวาดระแวง วิตก ไม่มีสักแวบที่คลอนแคลน ก็ไม่ถือว่าประมาทครับ แต่ถ้าคุณยังถามอย่างนี้อยู่ ผมขอเสนอให้คุณมีแผนสำรองครับ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าประมาทครับ
ตามความเห็นของผม เรื่องนี้มันสัมพันธ์กับเรื่องความมุ่งมั่นและความชัดเจนว่า ตกลงคุณต้องการสิ่งใดกันแน่ (ซึ่งจะต้องว่ากันอีกยาวเลยครับ)

ประเด็นที่ 4 : เรื่องของ เดล คาร์เนกี้ ที่บอกว่า ในการประเมินสถานการณ์ ให้ดูว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดคืออะไร

ผมคิดว่านี่เป็นอุบายให้เรา ปล่อยวาง ความกลัว อันนำไปสู่ความวิตกกังวลในจิตใจ เท่านั้นครับ

เรื่องเส้นแบ่งของสิ่งเหล่านี้ ก็อย่างที่ คุณภาสกร บอก ว่ามันอยู่ตรงที่จิตของเราว่าสงบไหม เมื่อสงบก็เห็นความเคลื่อนไปของลำดับการคิดบวก คิดลบ และไม่มีคำว่าประมาทเกิดในระดับนั้น

ดังนั้นต่อคำถามที่ว่า "แล้วคิดอย่างไรจึงจะถูก??"
คำตอบขั้นสูงสุด คือ หยุดคิดครับ

เราต้องเรียนรู้จักที่จะไปพ้นจากความคิดแบบแบ่งแยก ที่ทำให้ใจสูญเสียความเป็นหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักสำคัญของฐานจิตอันสงบ ซึ่งปัญหาดังกล่าวของคุณผู้อ่านจะหายไปเอง ครับ

ถ้าจะอ้างอิงสิ่งที่ ดีพัค โชปรา บอกไว้ ก็เช่น ให้หยุดตัดสิน หยุดต่อต้าน เห็นและยอมรับในสิ่งที่มันเป็น จงเข้าใจและหยั่งถึงความไม่แน่นอน เพื่อปลดปล่อยตนเองสู่อิสรภาพ อันเป็นความมั่นคงที่แท้จริง

ลองปลดปล่อยสิ่งที่ร้อยรัดตัวเองอยู่ ดูครับ ปล่อยทิ้งสิ่งที่รู้ ความกังวลอันเกิดจากคำเหล่านั้น ออกไปบ้างก็ดีครับ

ได้แสดงความเห็น ทำให้ได้ทบทวนตัวเอง ได้เรียนรู้ใจตัวเองดีเหมือนกันครับ

ขอบคุณคุณผู้อ่านเช่นกันครับ





ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 21/08/2008
น่าจะเป็นความเข้าใจผิด หรือเป็นความสับสนมากกว่านะครับ ในการนำคำสามคำซึ่งมีความหมายที่แท้จริงแตกต่างกัน มีจุดประสงค์ในการใช้ในแต่ละกาละเทศะแตกต่างกัน มีบริบทที่แตกต่างกัน..แต่กลับนำมาเปรียบเทียบกัน

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 22/08/2008
หลาย ๆ ครั้งผมก็เคยคิดจนสับสน อยู่เหมือนกัน จากวิธีที่หยุดคิดให้สงบนิ่ง....จากนั้นใจจะสงบและพบคำตอบตามเป็นจริง...น่าจะเป็นสภาวะที่จิตจะรู้สึกได้เอง...ลองทำสมาธิบ่อย ๆ แล้วจะสัมผัสกับสถาวะนี้ได้เองซึ่งมันเป็นสถาวะที่เป็นและไม่ได้เกิดจากการคิดในระดับปกติ...
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 22/08/2008
คงเป็นวิธีที่สมบูรณ์ที่สุด ในการจัดการกับปัญหา
และก็เป็นการกระทำที่ยากสุดๆ เมื่อกำลังผชิญอยู่กับปัญหา
แต่ทำอย่างไรได้ มันก็เป็นหนทางอันสูงสุดหนทางเดียว อยู่ดีแหละครับ
ขอบคุณ คุณนีโอ ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 22/08/2008
ในภาคสนาม ที่ดูเหมือนทุกอย่างเป็นกลลวง
เป็นการยากเหมือนกันค่ะที่จะเชื่อได้อย่างสนิทใจ แบบไม่ต้องมีแผนสำรอง
แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนุกและท้าทาย.....ว่าถ้านิ่งสนิทได้จริงๆ ผลน่าจะออกมาแบบ"เป๊ะ"ตามที่ออกแบบไว้
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 22/08/2008
ขอขอบคุณ ทุกท่านครับ ที่กรุณาแสดงความเห็น
จากที่อ่านมาและสรุปความคิดทั้งหมด ผมสรุปได้ดังนี้ครับ
"ไม่ว่าคิดบวกก็ดี หรือคิดลบก็ดี ก็ยังไม่ใช่วิธีที่ถูกที่สุด เพราะวิธีที่ถูกที่สุดคือนิ่ง หยุดคิด"

ผมชอบประโยคของคุณแฟนพันแท้ที่ว่า
"เป็นเรื่องที่น่าสนุกและท้าทาย.....ว่าถ้านิ่งสนิทได้จริงๆ ผลน่าจะออกมาแบบ"เป๊ะ"ตามที่ออกแบบไว้"
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 23/08/2008
"ที่โลกในระดับของจิตวิญญาณ ทุกๆ สิ่งจะคลี่คลายตัวเองออกหรือดำเนินไป อย่างสมบูรณ์แบบอยู่แล้วตลอดเวลา เราไม่จำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรน เพื่อฝืนบังคับหรือเข้าควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามวิถีทางเฉพาะของเรา แต่มันมักจะเป็นเพราะ จิตที่ประกอบด้วยอัตตา (ego) ต่างหาก ที่ทำให้เกิดความเชื่อว่า เราคือ ตัวตนที่แยกออกเป็นเอกเทศ และต้องใช้ความพยายามหรือดิ้นรนในการที่จะอยู่ให้รอด ในโลกที่เราคิด(เอาเอง)ว่าไม่เป็นมิตร หรือมีแต่อุปสรรคที่ชอบเข้ามาขวางกั้น"

"จงเรียนรู้ที่จะปล่อยให้มันดำเนินไป (ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างมีสติ หรือเห็นได้ว่ามันเป็นอย่างที่มันต้องเป็น) แต่การหัดเรียนรู้ที่จะปล่อยให้มันดำเนินไป ทั้งหมดในทีเดียวนั้น ไม่อาจจะเป็นไปได้ เพราะนี่คือ วิถีทางที่ประกอบไปด้วยก้าวเล็กๆ จำนวนมาก ที่ต้องค่อยๆ เข้าไปแทนที่ปฏิกริยาตอบโต้แบบอัตโนมัติของเรา ด้วยการมีสติอย่างลึกซึ้งมากขึ้นๆ"

"พระเจ้านั้นอาศัยอยู่ในสิ่งที่ไม่อาจรู้ และเมื่อใดที่คุณสามารถสวมกอดต่อสิ่งไม่อาจรู้ได้อย่างเต็มสมบูรณ์ คุณจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง"

คุ้นหน่อยนะครับ ขอยกของเก่ามาเล่าใหม่ จาก "surrender"

เป็นสิ่งท้าทายมาก จริงๆ ครับ
เราถูกท้าทายให้กล้าผจญภัย สู่สิ่งที่ไม่อาจรู้ สู่สิ่งที่กำลังจะปรากฎขึ้นต่อเรา ในทุกขณะที่อยู่ถัดไป เพื่อพบความสดใหม่ ซึ่งเป็นอิสรภาพที่แท้จริง

แต่เราก็ยังเป็นนักโทษที่เข้าๆ ออกๆ คุกที่ว่า กันอยู่ประจำแหละครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 24/08/2008
เพิ่งไปอ่านเจอนิทานเรื่องหนึ่งเข้า คิดว่าอาจจะไปกันได้กับประเด็นที่เรากำลังคุยกันนี้..

..เป็นเรื่องของผู้ชายที่เดินไปตามหน้าผา แต่จู่ๆ เขาก็เสียการทรงตัวและลื่นไถลตกลงไปในเหว โชคยังดีที่เขามีสติพอที่จะคว้าชะง่อนผาไว้ และเขาก็ยึดมันไว้แน่นสุดชีวิต เขาห้อยต่องแต่งอยู่อย่างนั้นจนในที่สุดก็ตะโกนออกมา "มีใครข้างบนพอจะช่วยผมได้มั้ย?" แต่ไม่มีเสียงตอบใดๆ เลย เขาเฝ้าตะโกนร้องเรียกต่อไป "มีใครข้างบนพอจะช่วยผมได้มั้ย?" ในที่สุดก็มีเสียงดังสนั่นกึกก้องตอบกลับมา "ข้าคือพระเจ้า ข้าช่วยเจ้าได้ จงปล่อยมือและเชื่อมั่นในตัวข้า" ลองเดาสิว่าชายผู้ห้อยต่องแต่งนั้นทำอย่างไรต่อไป เขาเงียบไปพักหนึ่ง แล้วก็ตะโกนออกไปว่า "แล้วยังมีคนอื่นอีกมั้ยที่พอจะช่วยผมได้?!?"

ผู้เขียนสรุปว่า บทเรียนอันเรียบง่ายจากเรื่องนี้ก็คือ ถ้าเราอยากมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม เราต้องเต็มใจปล่อยวางวิธีคิดและการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ แล้วนำวิธีคิดแบบใหม่เข้ามาสู่ชีวิต และที่สำคัญ..ต้องมีความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อบางสิ่งบางอย่างที่อาจเกินคำอธิบาย!

ผมว่ามันก็สอดคล้องกันดีกับสิ่งที่คุณนันท์เพิ่งกล่าวไปข้างต้น

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 24/08/2008
ท่านอาจารย์ครับ ลืมลงท้ายครับ ว่า
ฮา.. ฮา..

แต่มันเป็นตลกร้ายปนเศร้า มากๆ
ขอบคุณมากครับผม

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 24/08/2008
มันจะเป็นการประมาทหรือเปล่า ถ้าผมปล่อยมือจาก หินที่เกาะไว้

เหมือนกับที่เคยมีเรื่องเล่าว่าขณะที่หลวงปู่มั่นเข้าป่าแล้วเจอช้าป่าตกมัน ในยุคแรกๆเรื่องเล่าประมาณว่า หลวงปู่มั่นท่านยืนเฉยแล้วใช้เวทย์มนต์จัดการช้างซะอยู่หมัด จนช้างทำอะไรท่านไม่ได้

แต่หลังจากที่เรื่องเล่านี้กระจายออกไป มีคนที่ถูกยืนยันได้ว่าไปธุดงกับหลวงปู่มั่น ได้ออกมาเฉลยความจริงว่า แท้จริงแล้วขณะที่หลวงปู่มั่นเจอช้าตกมันท่านไม่ได้ นิ่ง แต่ท่านวิ่งหนี ครับ
วิ่งไปหาที่หลบที่ช้างเข้าไม่ถึง ก่อนจะหานกหวีดเป่าไล่ช้างไปได้

ผมว่าหลวงปู่มั่นท่านมองความจริงตามความเป็นจริงดีครับ เพราะท่านรู้ว่าอะไรควรสู้อะไรควรถอดไปตั้งหลักดีกว่า เพราะถ้าท่านยืนประจันกับช้า คงโดนช้างเหยียบแน่

อีกเรื่องนึงที่ผมเคยได้ยินมาเรื่องพระมหาชนก ครับ
พอเรือของพระมหาชนกอับปาง ทุกคนต่างโอดโอยกลัวตาย บางส่วนก็ยอมตายเพราะคิดว่าสู้ไปก็ไม่มีหวัง กว่าจะถึงฝั่งอีกตั้งไกล แต่พระมหาชนกท่านไม่ได้ ยอมแพ้แต่ท่านสู้เพียรที่จะว่ายน้ำต่อไปจนถึงฝั่ง
ท่านไม่ได้รอ นางฟ้ามาช่วยตั้งแต่ตอนเรือกแตก แต่ท่านชวยตัวท่านเอง ท่านไม่ได้ขอร้องหรือมั่นใจว่านางฟ้าต้องมาช่วย ถึงแม้นางฟ้าไม่มา ท่านก็จะว่ายของท่านต่อไป เหมือนกับประโยคหนึ่งที่ท่านว่า "ตายในการต่อสู้ ยังดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้ "

ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องราวที่ยกมา 2 เรื่องมันเกี่ยวข้องกันมากหรือน้อยแค่ไหน ครับ
ชื่อผู้ตอบ : Reader ตอบเมื่อ : 24/08/2008
คำถามของคุณผู้อ่าน ทำให้ย้อนคิดไปถึงระดับของการเรียนรู้
ที่คุณนันท์เคยเขียนไว้ว่ามี
1.รู้
2.เข้าใจ
3.ตระหนักรู้
4.หยั่งรู้
นิทานที่อาจารย์วสันต์ได้เขียนเล่ามานั้นเป็นการเล่าเชิงอุบายให้ใช้จินตนาการเพื่อให้ได้ข้อคิด.......ซึ่งคิดว่าน่าต้องใช้ระดับการเรียนรู้ระดับ...ตระหนัก....หรือ....หยั่งรู้...
ส่วนเรื่องหลวงปู่มั่น.....เข้าใจว่าที่ท่านต้องการสื่อคือ....การเป็นผู้ทรงศีล(ในความเข้ม...และบริสุทธิ์)เราสามารถสื่อ/เป็นมิตรกับจิตวิญญาณอื่นๆได้....ซึ่งในความเป็นไปได้มันมีอยู่แล้ว สำหรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรนั้น คงมีเพียงหลวงปู่มั่นกับลูกศิษย์คนดังกล่าวเท่านั้นที่รู้ ซึ่งคงต้องใช้ดุลยพินิจของแต่ละคนในการชั่งอีกที หรือไม่ก็ต้องไปตั้งคำถามว่าระหว่างหลวงปู่มั่นกับลูกศิษย์ใครน่าจะเป็นผู้ ...ทรงศีล...มากกว่ากัน

และอื่นๆสำหรับการตั้งข้อสงสัยของคุณผู้อ่านคงด้องกลับไปที่...หยุดคิดให้จิตเงียบ....คำถามต่างๆเหล่านี้จะลดลง

ขออนุญาตคัดลอกข้อความใน The power of intention ,มาให้อ่านดังนี้ค่ะ

การทำสมาธิเป็นหนทางเดียวที่คุณสามารถเติบโต ไม่มีทางออกอื่นอีกแล้ว เพราะเมื่อคุณทำสมาธิ เมือคุณอยู่ในความเงียบ คุณจะตระหนักรู้ได้โดยไม่ต้องคิดหาเหตุผล แล้วการตระหนักรู้นั้นจะเติบโตขึ้น

หากเรายังชลอเรื่องนี้ จะโดยความไม่พร้อม หรือเรื่องของวัย
ก็จะยังคงมีคำถามทำนองนี้อีก.....ไม่สิ้นสุด

ซึ่งอาจพอเปรียบได้กับนักแปลฯ ที่เค้ายังมีอัตตามากมาย แต่ต้องได้รับมอบหมายให้แปลหนังสือแนวจิตวิญญาณ ผลออกมาคือขัดแย้งกันคนอ่านก็เลย....อ่านไม่รู้เรื่อง
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 25/08/2008
เป็นผมก็คงวิ่งเหมือนกัน แต่น่าจะวิ่งต่างจากหลวงปู่มั่นอย่างแน่นอน
คือผมคงวิ่งหนีแบบอกสั่นขวัญแขวน ไม่คิดชีวิต แต่หลวงปู่ท่าน คงวิ่งหลบเข้าที่กำบังอย่างมีสติ ที่ช้างเข้าไม่ถึง แล้วคิดอุบายเป่านกหวีดไล่ช้างที่กำลังตกมันให้จากไป

ก็อย่างที่ คุณ Reader ว่าเหละครับว่าท่านคงมีสติที่มั่นคง เห็นหรือรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อสถานการณ์ตรงหน้า เช่นถ้าสถานการณ์ต่างไป ช้างแค่เดินมาไม่ตกมัน ท่านอาจจะยืนนิ่ง ก็ได้ (แต่สำหรับผมคงวิ่งเช่นเคย)

กรณีพระมหาชนก ถ้าเป็นผมว่ายไปสักพัก หากไม่เห็นฝั่งคงหมด "ความเพียร" หยุดว่าย หาขอนไม้ลอยคอรอ หรือไม่ก็ตะโกนว่า "มีใครพอจะช่วยผมได้มั้ย?" เหมือนในนิทานของท่านอาจารย์

แต่พระมหาชนกท่านไม่ ท่านก้มหน้าว่ายต่อไปด้วย "ความเพียร" แม้ไม่เห็นฝั่ง ผมว่า พระมหาชนก ท่านอาจเคยเห็นโฆษณาที่บอกว่า "Impossible is nothing" และ "Just do it" และ "Keep walking (swimming)" เป็นแน่แท้เลย

ในหลวง ท่านคงตั้งใจสอนให้เรา จงกล้าหาญและมีความเพียร (ซึ่งไม่ใช่ความพยายามที่ทุรนทุราย)

"เมื่อใด . . ที่เราได้ทำให้การต่อสู้ดิ้นรนนั้นจบลง และได้ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ จากความกลัว หรือความสงสัย ด้วยการมีสติที่เปี่ยมด้วยความสงบนิ่งอันมั่นคงภายใน เราได้ปลดเปลื้องตนเองให้พ้นไปจากอุปสรรค ที่อัตตาของเราได้สร้างขึ้นเอาไว้เอง"
(ถ้าอ่านข้อความนี้แล้วคุ้นๆ เป็นเพราะ ผมดัดแปลงมาจากส่วนหนึ่งของ "surrender" ครับ)

ไม่รู้ว่าความเห็นของผมตรงกับประเด็นของคุณ Reader หรือเปล่า


ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 25/08/2008
ไม่มีใครรู้หรอกครับว่าเหตุการณ์ที่เกิดกับหลวงปู่มั่นนั้นมันเป็นจริงหรือไม่ แล้วที่บอกว่า "มีคนยืนยัน" นั้น ก็ต้องถามว่าใครกัน? ที่ยืนยันเรื่องนี้?

แต่ถ้าถามผมซึ่งเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่มั่นเป็นอย่างยิ่งเช่นกันแล้วละก็ ผมเชื่อโดยสนิทใจว่าท่านไม่จำต้องวิ่งหนีให้เสียบุคลิก! พระระดับท่าน ไม่มีสัตว์ป่าดุร้ายใดๆ จะมาทำร้ายท่านได้ และท่านก็ไม่ต้องร่ายเวทย์มนต์ เพราะท่านก็ไม่ใช่พระแนวนี้ ผมเชื่อว่าท่านเพียงแต่ยืนสงบนิ่งอยู่เฉยๆ แล้วทำสมาธิแผ่เมตตา เพียงเท่านั้นก็ทำให้สัตว์ป่าสงบลงได้

ถามว่าแล้วผมไปรู้ได้อย่างไรว่ามันจะเป็นไปอย่างที่ออกความเห็น ก็ต้องตอบว่าเป็นเพราะเกิดจากการศึกษาประวัติและงานของท่านมาตามสมควร แล้วก็เชื่อมั่นไว้วางใจท่าน เกิดความมั่นใจลึกๆ ว่าพระในระดับท่านย่อมมีรังสีแห่งความเมตตาที่แม้สัตว์ป่าที่ดุร้ายที่สุดก็ยังสามารถสัมผัสได้ แต่ก็นั่นแหละ ผมอาจจะผิดก็ได้

แต่เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้การ "หยั่งรู้" อย่างที่คุณแฟนพันธุ์แท้บอก ขออนุญาตเล่านิทานเซ็นให้ฟังเรื่องหนึ่ง..

..มีชายสองคนเดินผ่านลำธารใส มีปลาว่ายอยู่ในลำธารนั้นหลายตัว ชายคนแรกจึงพูดขึ้นว่า "น่าอิจฉาปลาพวกนี้จังเลยนะ ดูสิ มันว่ายน้ำอย่างมีความสุขเหลือเกิน" ชายคนที่สองจึงพูดสวนขึ้นทันทีว่า "ท่านนี่ก็แปลก ท่านไม่ใช่ปลาสักหน่อย แล้วไปรู้ได้อย่างไรว่ามันว่ายน้ำอย่างมีความสุข?" ชายคนแรกก็ตอบกลับไปทันควันเช่นกันว่า "ท่านนี่ก็แปลก ท่านก็ไม่ใช่เราสักหน่อย แล้วท่านมารู้ได้อย่างไรว่าเรารู้หรือไม่รู้ว่าปลามันมีความสุข!!"

ส่วนเรื่องพระมหาชนกนั้น ประเด็นหลักมันอยู่ที่เรื่อง "ความเพียร" เป็นสำคัญ ไม่น่าที่จะเอาประเด็นอื่นมาวิเคราะห์ให้มันสับสนไปเลยนะครับ

คุณ Reader นี่ ถ้ามีคำต่อว่า Digest เมื่อไหร่ คงไม่ตั้งคำถามให้พวกเราเวียนหัวเล่นกันอย่างนี้ (ฮา) แต่ก็ดีครับ ได้มองกันหลายเหลี่ยมหลายมุมดี
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 26/08/2008
ท่านอาจารย์ครับ นิทานเซ็นเรื่องนี้ยังไม่จบครับ ผมขออนุญาตเติมต่ออีกนิดนะครับ

ปลามันเหลือกตาขึ้นมามองชายทั้งสองคนที่กำลังทะเลาะกัน และนึกในใจว่า "คนสองคนนี่ ท่าทางกำลังมีความสุข..เหมือนเรา" (ฮา)
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 26/08/2008
(ฮา)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 27/08/2008


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code