กฎแห่งความพยายามให้น้อยที่สุด
ถ้าเปรียบหลักการทั้ง 7กฎฯเป็นเพื่อนรักหรือคนรัก กฎข้อนี้ต้อง
ขอบอก
"รักปักใจ"
มีประโยคของอาจารย์ วสันต์ที่"เตะใจ" ในนี้ที่บอกว่า....."การรู้ในหลักการบางทีคิดไม่ออกเหมือนกันว่า แล้วไง? แล้วไปไหนต่อ?...."
...."ไม่มีใครค้นพบอะไรได้ ถ้าไม่ได้กำลังหาอะไรอยู่..."
บังเอิญขี้สงสัยเหมือนคุณน้อง "ผู้อ่าน" (ถึงแม้ว่าจะต่างวัยกันก็ตาม..อิอิ)
มีข้อสงสัยที่ไม่สามารถหาคำตอบได้จากคนธรรมดาๆ หากถามออกไปต้องเสี่ยงถูกมองว่า"เพี้ยน"

ขอสรุปข้อสงสัยของตัวเองที่มีมาตลอด....คือ
เวลาทำงานที่ต้องยุ่งเกี่ยวกะคนมากมาย....แล้วตัวเราตั้งอกตั้งใจมาก(ต้องบอกมากก) ผลลัพท์ออกมา...ไม่ค่อยดีเลย
แต่ช่วงไหนที่เป็นตัวของตัวเอง คือขี้เกียจและทำสบายๆ ..มัมจะออกมาดีเกินคาด
นี่แหละเป็นเหตุที่.....
.........ฉันไม่ทราบวว่า มีใจความอะไร เพราะฉันอ่านหนังสือไม่ออก
ฉันจะให้ผู้รู้อยู่กับสรรพตำราของเขา
ฉันจะไม่รบกวนเขา...เพราะใครจะรู้ได้ว่า
เขาจะอ่านจดหมายนั้นออกหรือเปล่า.....

มีบทความหนึ่งของผู้รู้ภาคสนาม (โค๊ชให้คำปรึกษา) ตอบลูกค้าของเค้าที่มีข้อสงสัยในกฎเดียวกันนี้......ดังนี้
คำถาม1....เราต้องการอะไรอย่างหนึ่ง แต่กลับไม่ผลักดันให้มันเกิด....เป็นไปได้อย่างไร?
คำถาม2....นี่หมายความว่าเราจะไม่ไล่ตาม หรือหมายความว่าต้องทำเป็นไม่ต้องการมันยังงั้นหรือ?
คำถาม3.....หมายความว่าเราต้องปล่อยให้คนอื่น หรือฝ่ายอื่นเริ่มลงมือก่อน งั้นเหรอ?

คำตอบ...คือ
แต่ละข้อไม่มีคำตอบที่ตายตัว และมันก็ไม่ได้หมายความว่า คุณควรทำใจ หรือเอาแต่นั่งเพ้อฝัน อยู่ในห้อง ปล่อยเป้าหมายเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาเอง
วิธีที่จะได้บางสิ่งมาโดยไม่ต้องอาศัยแรงผลักดัน(พยายามมากเกิน) ก็คือ การลงมือทำในสิ่งที่เหมาะสม.....ไปให้ไกลกว่าความคิด และปล่อยให้ความรู้สึกเป็นตัวบอกว่า......คุณต้องทำอะไร


ชื่อผู้ส่ง : แฟนพันธุ์แท้ ถามเมื่อ : 03/08/2008
 


ในทัศนะของผม คือ ผมว่าทั้ง 3 คำถาม ของคนถาม ทำให้คนถามตกอยู่ในมิติที่บังคับให้ตนเองต้องเลือกข้าง..

ซึ่งบังเอิญคำตอบเรื่องนี้ มันอยู่นอกเหนือการเลือกข้าง หรือพูดเป็นมิติของการกระทำก็คือ ต้องดำเนินไปสู่เป้าหมาย โดยอยู่นอกเหนือการฯ ทั้งปวงของคำพูด ที่จำแนกอยู่ในคำถามทั้งสามดังกล่าว

วิธีการที่ว่านั้น มันเป็นวิธีในความหมายเดียวกับ "การกระทำโดยไม่กระทำ" นั่นแหละ (ผมว่ายิ่งพูดผมยิ่งทำให้งง หรือเปล่า ?)

เวลาที่จิตนิ่ง.. นิ่งอย่างไร.. นิ่งในปัจจุบันขณะ.. ปัจจุบันขณะที่จริงแล้วไม่ได้หมายความว่าหยุดนิ่ง เพราะปัจจุบันนั้นเคลื่อนไปอยู่ตลอดเวลา

ถ้านึกไม่ออกว่าปัจจุบันขณะจริงๆ เป็นอย่างไร ผมใช้วิธีนึกภาพเหมือนตัวเองนั่งอยู่บนปลายเข็มวินาที ของนาฬิกาแบบควอทซ์ ที่มันเคลื่อนไปแบบเรียบนิ่งนั่นแหละ.. รู้ตัวทุกขณะบนความเคลื่อนไปนั้นแหละ

วินาที ที่รู้ตัวเต็มสมบูรณ์อยู่อย่างนั้น(ความจริงต้องเรียกว่าทุกขณะจิต) มันจะเกิดความป็นหนึ่งเดียวโดยสมบูรณ์ ความแบ่งแยกอันเกิดจากความคิดใดๆ ไม่มีเกิดขึ้น

แล้วอาการที่ชักนำว่า ต้องทำอย่างไร มันจะดำเนินไปเอง ทุกสิ่งที่กระทำจะเหมาะสมเอง ถ้าจำเป็นต้องคิด มันก็ไม่แบบกลุ้มใจว่าจะทำอย่างไรจึงจะดี เพราะสิ่งที่คิดและทำมันดีไปเองหมด รวมทั้งสิ่งดีๆ มันก็มาทำให้เราเองหมด

มันเหมือนแค่ดำเนินไป ไม่หวาดระแวง ไม่สะดุ้งกลัว ไม่วิตกทุกข์ร้อนใจ ไม่ต้องวิ่งไล่ตามอะไร เลยไม่รู้สึกว่าต้องพยายาม มีแต่ความสม่ำเสมอทำไป ด้วยความตั้งมั่น

ความสำเร็จเช่นนี้ เกิดทุกขณะในตัวแห่งการดำเนินไปนั้นอยู่แล้ว สำเร็จทั้งที่ใจ และสำเร็จที่กายภาพ ด้วยประการทั้งปวง

ที่พูดมาข้างบนเป็นแบบอุดมคติ หากแบบยังอยู่ในวิถีผจญภัยขึ้นๆ ลงอยู่ ผมมักใช้หลักเพื่อปฏิบัติตามความหมายของกฎข้อนี้ ว่า

ให้เพียรทำไป เมื่อใดที่เริ่มรู้สึกว่า ต้องตกอยู่ในภาวะที่ใช้ความพยายาม หรือเริ่มต้องตะเกียกตะกาย ทุรนทุรายมากผิดสังเกต ก็ให้รู้ตัวว่าสงสัยเรามาผิดที่ผิดทาง หนทางแห่งความสำเร็จนั้นแท้จริงแล้วเรียบง่ายทั้งทางใจและทางกาย

เห็นด้วยกับที่ว่านั่นแหละครับ คือ ต้องไปพ้นความคิด หรืออย่าใช้ความคิด(ซับซ้อน)มากไป อย่าเผลอให้ความคิดมันหลอกเราว่ามันฉลาด จนเราหลงทำตาม

บางทีมันต้องแบบที่ ขงจื๊อบอกไว้ว่า
"ถ้ามีปีกก็บินได้ แต่เรายังไม่ได้เรียนรู้ว่า ถ้าไม่มีปีกจะบินได้อย่างไร คนเรามักคุ้นกับสติปัญญาของผู้มีความรู้ แต่เราไม่คุ้นกับสติปัญญาของผู้ที่ไม่มีความรู้"
จะตีความว่าทั้ง "ปีก" และ "สติปัญญาของผู้มีความรู้" คือความหมายเดียวกับ "ความคิด" ก็ไม่น่าจะผิด

ผมว่า เรื่องนี้กับเนื้อหาที่อยู่ในกระทู้เรื่อง "การไม่ตัดสินสิ่งใดๆ......ความหมายแบบละเอียด ?" เรื่องเดียวกันนะ

นี่ผมกำลัง "พยายาม" อธิบายความเห็นของผมมากไปหรือเปล่า.. นี่
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 03/08/2008
ก็ไม่งงนะคะ
แต่รู้สึกตามไม่ได้...เฉพาะเรื่องการไม่ตัดสินสิ่งใดๆ....ความหมายโดยละเอียด

แต่จะนึกใกล้ๆ...ไปเรื่องกฎแห่งการปล่อยวาง(ผลลัพท์)มากกว่า อยาก เล่าแบบขยายรายละเอียด(ด้วยความภาคภูมิใจ..อิอิ) ตามที่เคยเขียนไว้ในกระทู้ก่อนนี้เรื่องจำนวนคนสัมนา 7 คนที่ไหลมาเทมา ภายใน 3 ชั่วโมง ไม่มีคนไหนที่เป็น "ตัวเก็ง" ที่คิดไว้เลย ไอ้คนที่ ทำท่าทำทาง..ดี๊ด๊ามาแน่นอน..หายหน้าหมด (อันนี้ก็แอบวิเคราะห์ตัวเองว่า...ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะหงุดหงิดมาก และถ้าเป็นคนใกล้ตัว จะเริ่มบันทึกความผิดพลาดกันเลยล่ะ) มันน่าแปลกมากๆเลยคือ แต่ละคนใน 7คนนี่มาแบบ ...เฉียดฉิว ดังนี้
*มีอยู่ 1คน มาจากการเปิด website ก่อนหน้าที่จะโทรฯมาสมัคร 2ชั่วโมง และรับปากจะชวนเพื่อนมาด้วยอีก 1คน
*อีกคนมาจาก เศษกระดาษ รีไซเคิล (ที่เป็นใบปลิวโฆษณา)
*2คนมาจาก ผู้บังคับบัญชา เปลียนใจอนุมัติงบ ในเช้าวันนั้น(ก่อนหน้านี้ บอกไม่อนุมัติ ไว้ปีหน้างบใหม่ค่อยไป)
*อีกคนโทรฯมาแบบ...เปลี่ยนใจขอสมัครตอนนี้แหละ(ทั้งๆที่ทราบว่าจ่ายก่อนถูกกว่ายังไม่ตัดสินใจ....คนนี้ก็ไม่บันทึกเป็นผู้มุ่งหวังเลย)

*คนสุดท้ายนี่...ต้องบอกว่าเซอร์ไพซ์สุดๆ คือไม่เคยชวนอะไรเป็นการส่วนตัว เพราะก็ไม่ค่อยแน่ใจเรื่องความเชื่อ ท่านเป็นถึง รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง.....เลยถูกสัมภาษณ์ซะลึก....เค้าบอกว่า ก่อนหน้าที่จะโทรฯ สมัครอบรมฯ~20 นาที มีแพทย์ฝึกหัดมาปรึกษาเรือ่งกรณีศึกษาของผู้ป่วย บังเอิญ มีเนื้อหาที่เกี่ยวเนีอง กับเนื้อหาหลักสูตรฯ....ก็หาเบอร์ผู้จัดเลย

.....มาภายใน20นาที นี่ .....ตื่นเต้นสุดสุด
เช้าวันอบรม....โผล่มาเพิ่มอีก 3คนก็จากจำนวน7คน นี่แหละที่ดึงๆกันมา
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 03/08/2008
ความจริงผมว่าคุณ "แฟนพันธุ์แท้" ก็คงรู้คำตอบอยู่แล้ว

แต่มีประเด็นที่พูดถึงคำถามสามข้อท้ายกระทู้ ซึ่งผมใคร่แสดงความเห็นเพิ่มเติมสักหน่อย ก่อนอื่นขอเล่าอะไรให้ฟังก่อน

ปลายปี 2550 ผมไปซื้อหนังสือว่าด้วย "กฎแห่งการดึงดูด" ซึ่งคนไทยท่านหนึ่งเป็นผู้เขียน เป็นเล่มบางๆ หนาเพียง 60 กว่าหน้า มาอ่านดูพบว่าผู้เขียนสรุปรวบรวมเรื่องนี้ไว้เป็นระบบและกระชับดี จึงเขียนอีเมล์ไปชื่นชม ท่านก็มีน้ำใจมาก อีเมล์กลับมาขอบคุณ พร้อมทั้งส่งหนังสือที่ท่านเขียนอีกเล่มหนึ่ง (ซึ่งเล่มนี้หนาถึงสองร้อยหน้าเศษ) มาให้พร้อมลายเซ็นต์ ผมปลื้มใจมาก รับปากว่าเมื่ออ่านจบจะมี Feed back กลับไป แต่เมื่อผมอ่านจบ ผมมีความรู้สึกอย่างไรพิกล นี่คือบางส่วนของเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว..

"วิธีควบคุมตนเองมีขั้นตอนง่ายๆ คือ หากต้องการความสำเร็จใดก็ตาม คุณจะต้องขัดจังหวะพฤติกรรมเดิมๆ เปลี่ยนรูปแบบ (pattern) การใช้ชีวิตประจำวันเสียใหม่ แล้วทำสิ่งที่คุณสนใจอย่างบ้าคลั่ง หมกมุ่น ทุ่มเท โดยวิธีการที่แปลกประหลาด จงเป็นคนบ้าในสายตาคนอื่น ทำอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง ในที่สุดคุณจะสร้างผลลัพธ์ที่โดดเด่นเหนือใครๆ นี่เป็นวิธีการที่แสนจะง่ายดายแต่ทรงพลัง"

"..หากคุณต้องการมีชีวิตที่ตื่นเต้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เชื่อว่ามันเป็นไปได้ อย่าไปฟังพวกขี้แพ้ พวกขี้เกียจ และคนหลอกลวงที่บอกว่าคุณคงทำได้ไม่ดีกว่านี้ คนอีกพวกหนึ่งที่ไม่อยากให้คุณดิ้นรน คือ คนที่ไม่อยากเห็นคุณก้าวหน้าเกิรพวกเขา ไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่านี้ ไม่มีจริงๆ!!! ความห่วงใยอื่นๆ เป็นเรื่องจอมปลอมทั้งสิ้น"

"การอยู่บ้านวันหยุดเสาร์อาทิตย์เป็นเรื่องฟังไม่ขึ้น นานๆครั้งอาจจะเป็นพาหนะให้ลูกขี่หลังคลานในบ้านบ้าง แต่นั่นควรเป็นเวลาที่จัดไว้อย่างลงตัว หลังจากคุณได้วิ่งกวดความฝันในแต่ละวันอย่างสุดกำลังมาแล้ว"

"แผนการทุกอย่างจะต้องสามารถเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย คุณต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแผนการเสมอหากแผนการไม่ได้ผล จงทิ้งมันแล้วลองคิดแผนใหม่ หากเส้นทางที่ใช้ประจำไม่ทำให้คุณเร็วขึ้น จงมองหาเส้นทางใหม่ หากเพื่อนที่คุณคบอยู่ คู่ครองหรือพันธมิตรที่คุณมี ไม่ได้ช่วยให้คุณก้าวหน้าขึ้น หรือไม่สนับสนุนคุณ ให้ใช้เวลากับเขาน้อยลง แล้วลองใช้เวลากับคนใหม่ๆ ที่สนับสนุนได้ อาจจะดูเหมือนแล้งน้ำใจ แต่นี่ไม่ใช่การรอมชอมชีวิต ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตา กรุณา ให้เก็บใส่กระเป๋าไว้ก่อน เวลานี้คือ คุณต้องพุ่งไปข้างหน้าแบบไม่เหลี่ยวหลัง"

"ศาสตร์เอ็นอแลพี (NLP) เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพมากมายไม่มีที่สิ้นสุด หากรู้จักนำมาใช้อย่างถูกวิธี ไม่ว่าใครก็มีสิทธิเอื้อมไปคว้าสิ่งที่ดีที่สุดได้ทั้งนั้น แต่ต้องออกแรงหรือใช้เทคนิคพิเศษพิสดารสักหน่อย เพราะสิ่งที่มีค่าที่สุดมีอยู่จำกัด ไม่พอสำหรับทุกคน เพราะอย่างนั้นมันถึงมีค่า คุณก็ทำเช่นนั้นได้ หากพร้อมที่เปลี่ยนตัวตนเป็นคนใหม่"

และอีกหลายๆข้อความที่มีเนื้อหาไปในแนวนี้ ผมจึงไม่มี feed back ใดๆกลับไป และไม่ได้ติดต่อกับท่านผู้นี้อีกเลย ผมภาวนาว่าเขาจะไม่ได้เข้ามาอ่านข้อความที่ผมได้นินทาเขาไว้ที่ตรงนี้

นี่ทำให้ผมนึกถึงจดหมายของผู้อ่านท่านหนึ่งที่เขียนถึง Shakti Gawain ผู้เขียนหนังสือ "Creative Visualization" (หรือชื่อในภาคภาษาไทยว่า "จินตนาการสร้างสรรค์") ว่า..

"หนังสือแนวพัฒนาตนเองเล่มอื่นๆ ที่เคยอ่านนั้น ทำให้ดิฉันรู้สึกราวกับว่าใครบางคนกำลังชี้นิ้วใส่พร้อมกับบอกว่า 'นี่ไง..มันต้องเป็นอย่างนี้' แต่ Shakti กลับจูงมือและนำพาดิฉันไปยังสวนสวยงาม และมอบช่อดอกไม้ให้อย่างนุ่มนวล สงบเย็น ด้วยความเอาใจใส่อย่างยิ่ง ขอบคุณสำหรับหนังสือที่มีคุณค่าเล่มนี้"

พวกเราก็คงคล้ายๆ สุภาพสตรีที่เขียนจดหมายนี้ เราไม่ชอบให้ใครมาชี้นิ้วสั่งให้เราทำโน่นทำนี่ (ซึ่งบางครั้งยังให้ทำสิ่งผิดๆ เสียอีกด้วย)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 03/08/2008
ขอลงความเห็นเพิ่มเติมค่ะ
เป็นเหตุผลเดียวกัน ที่ตัวเองไม่อยากอ่านหนังสือของ วาทยากรระดับโลกนั่น
แต่หากมองในแง่ดีตามที่อาจารย์วสันต์ได้.....เหนี่ยวนำให้อ่าน....เอาไว้(บ้าง).....และเห็นว่า"หนังสือเกี่ยวกับการขาย การบริหาร การจัดการ บางครั้งพบสัจธรรมด้านจิตวิญญาณ ได้มากกว่าหนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง จิตวิญญาณล้วนๆ เสียด้วยซ้ำไป"
ทั้งนี้ทั้งนั้น.....จะสมบูณร์แบบมากเลย...หากมีผู้เชี่ยวชาญในการเชื่อมโยงที่มี่ฐานข้อมูลในทางธรรม อย่างคุณนันท์ และมีผู้ที่เปรียบเสมือนgoogleของนักอ่าน ที่มีปัญญาญาณ แยกแยะถูก/ผิด อย่างอาจารย์วสันต์ คอยกำกับดูแลในชมรมนักอ่าน(และคิดบวก)ที่เรากำลังจะจัดตั้งขึ้นนี้นะค่ะ.....อิอิ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 04/08/2008
ถ้าพูดเป็นภาษาบู๊ลิ้ม ก็ต้องบอกว่า "โอ มิกล้า ๆ..ฮูหยินให้เกียรติแก่เล่าฮูมากเกินไปแล้ว" (ฮา)

พูดถึงการเปรียบเปรยแล้วก็อดนึกขำไม่ได้ ใครก็ไม่รู้ไปตั้งฉายาของ Joe Vitale ไว้ว่าเปรียบเสมือน "พระพุทธเจ้าทางอินเตอร์เน็ต" (ฮา) ไม่รู้แกตั้งฉายาของแกเองหรือเปล่า? (ฮา) ถ้า Joe Vitale เป็น "พระพุทธเจ้าทางอินเตอร์เน็ต" คุณนันท์ของเราก็ต้องเป็น "โมเสสทางนันท์บุ๊คส์" ละวะ!! (ฮา)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 04/08/2008
"ผู้เชี่ยวชาญในการเชื่อมโยงที่มี่ฐานข้อมูลในทางธรรม"
คิดประโยคนี้ได้ยังไง ยอดจริงๆ ครับ แต่ฟังดูแล้วมิอาจหาญรับไว้ได้จริงๆ
ผมเป็นแค่หางอึ่งอ่าง ที่เบียดกับกบอยู่ในกะลาครอบ ที่ถุกหินทับไว้อีกที เลยแหละครับ

แต่ "โมเสสทางนันท์บุ๊คส์" ก้ไม่เลวนะครับท่านอาจารย์
ว่าแต่โมเสสนี่ เขาขึ้นเขาไปสลักบัญญัติ 10 ประการ แถม แหวกทะเลได้ด้วย
ผมถนัดแต่ขึ้นเขา เพราะเพื่อนๆ เขาบอกว่าผมเป็นพวกหลังเขาอยู่แล้ว ส่วนเรื่องทะเลผมไม่คุ้นเคยเลยครับ เพราะว่ายน้ำไม่เป็น



ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 04/08/2008
เรียนอ.วสันต์

หนังสือเล่มไหนก็สู้"พลังพูดพลังเพิ่ม"ไมได้
จริงมั๊ยครับ
อิอิ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 04/08/2008
"การกระทำโดยไม่กระทำ"
นอกจากไม่...งง....แล้วยัง

อยากยิ้มให้กับ.....ความสุขปัจจุบัน
และ................ขำขันกับความทุกข์ในอดีต
ความทุกข์ ที่มนุษย์มุ่งกาย กับ มนุษย์มุ่งใจ ต้องโคจรพบกันในรูปแบบการทำงาน
....การกระทำโดยไม่กระทำ...
มนุษย์มุ่งกาย เค้าไม่มีวันเข้าใจเรื่องนี้
และถ้าเราต้องอยู่ใกล้ๆ รวมการรู้ไม่เท่าทัน(ของตัวเราเอง) เกิดการบาดเจ็บ(ทางใจ)อย่างแน่นอน
....การกระทำโดยไม่กระทำ....เค้าตีความกันแบบนี้ค่ะ
เฉื่อยชา...ไม่กระตือรือล้น...อยู่ในโลกของความฝันฯลฯ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 04/08/2008
อย่าหาว่าทำให้เสียเรื่องเลยนะครับ ต้องขอเปล่งคำพูดเป็นภาษาบู๊ลิ้มอีกครั้งหนึ่งว่า.."โอ ฮูหยินช่างกล่าวถ้อยคำได้ล้ำลึกนัก นี่นับว่ามิอาจมิมีผู้ใดมิคิดว่าจะมิเข้าใจในถ้อยคำนี้มิได้!!??!!" (ฮา)

ขอยูเทิร์นกลับไปที่ประสบการณ์ของคุณ "แฟนพันธุ์แท้" ที่ได้เคยเล่ามาก่อนหน้านี้ ที่ก็ได้ทำให้ผมทึ่งอยู่พอแรงแล้ว ครั้นพอมาขยายความในรายละเอียดในกระทู้นี้อีก ก็ต้องเรียกว่าเล่นเอา "อึ้งง่วนไต๋" ซ้ำเข้าไปอีก (อึ้งง่วนไต๋ เป็นดีลเลอร์ขายรถอีซูซุ ดังน้อยกว่า แต่รวยกว่าร้านทำท่อไอเสีย "อึ้งกิมกี่") ประเด็นคืออยากถามคุณ "แฟนพันธุ์แท้" ชนิดถามจริงๆ ไม่ใช่ลองภูมิ หรือไล่เบี้ยเพื่อจะทดสอบอะไรทั้งสิ้นว่า..

(1) แล้วเราจะสามารถทำให้ประสบการณ์อันน่าทึ่งนี้เกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา ได้ในทุกเหตุการณ์ ชนิดที่มันต้องเป็นเช่นนี้ในทุกเรื่อง ได้หรือไม่? คุณ "แฟนพันธุ์แท้" ยังมีประสบการณ์อื่นๆ ในทำนองนี้มาเล่าสู่กันฟังได้อีกหรือไม่?

(2) แล้วเราจะสามารถนำกฎเกณฑ์แห่งจักรวาลนี้ไปใช้ในเรื่องที่ใหญ่โตขึ้นกว่านั้นได้หรือไม่? คุณ "แฟนพันธุ์แท้" ได้เคยมีประสบการณ์ที่มโหฬารพันลึกกว่านั้นบ้างหรือไม่? ถ้าเคย และสามารถนำมาเล่าได้ ณ ตรงนี้ ก็จะมีคุณูปการอันดีเลิศต่อผู้ที่เข้ามาดูในเว็บบอร์ดนี้อย่างหาที่สุดมิได้

(3) ผมยุยงส่งเสริมให้คุณ "แฟนพันธุ์แท้" นำประสบการณ์ภาคสนามที่ผมเชื่อว่าคุณจะต้องมีอยู่ไม่น้อย มารวบรวมเขียนเป็นหนังสือ เอาแค่เล่มเล็กๆ บางๆ หนาไม่ต้องเกินร้อยหน้า ออกมาเผยแพร่ ก็จะดีไม่น้อย (ไม่ต้องกังวลเรื่องวิธีการผลิต เพราะกระบวนการผลิต ตั้งแต่ออกแบบปก ออกแบบรูปเล่ม จัดอาร์ตเวิร์ค ส่งโรงพิมพ์ พิมพ์ จัดจำหน่าย ฯลฯ นั้น สำนักพิมพ์นันท์บุคส์ โดยโมเสสแห่งนันท์บุ๊คส์ เขาน่าจะเป็นธุระดำเนินการได้!?!)

อาจจะดูออกเป็นทีเล่นทีจริง แต่นี่ถามและเสนอแนะอย่างจริงๆนะครับ

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 05/08/2008
ดีจังครับ ที่ คุณแฟนพันธุ์แท้ สรุปออกมา ผมว่าเป็นวิธี ..และภาพความเป็นจริงของชีวิตแท้ๆ เลยเชียว

"กระทำ.. โดยไม่กระทำ"
ถ้าแปลตรงๆ ว่าอย่างนี้ จะช่วยได้ไหมครับ
"กระทำ" แรก คือ กระทำทางกาย
"ไม่กระทำ" หลัง คือ ไม่กระทำทางใจ
ไม่ยอมให้ใจมันทำงาน.. ในทางวิตก กังวลทุกข์ร้อน ให้มันตั้งมั่นอยู่นิ่งๆ เฉยๆ
เข้าท่าขึ้นไหมครับ..
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 05/08/2008
คุณ "ผู้อ่าน" ครับ

หนังสือเล่มที่คุณอ้างอิงถึงอยู่บ่อยๆ นั้น ผมได้ข่าวว่าประเทศกัมพูชาเขาได้ทำเรื่องขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลก" ไปพร้อมๆ กับประสาทพระวิหารไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ นี่ได้ข่าวว่าพม่ากำลังจะทำเรื่องประท้วงเพื่อขอเป็นเจ้าภาพร่วมอยู่ เห็นว่าน่าจะมีข้อพิพาทกันอย่างรุนแรงด้วยนะครับ (ฮา พร้อมปรบมือกระทืบเท้าด้วยความเศร้าใจ)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 05/08/2008
เรียนถาม อ.วสันต์ครับ
หนังสือที่ ว่าด้วย "กฎแห่งการดึงดูด" ซึ่งคนไทยท่านหนึ่งเป็นผู้เขียน
คือหนังสืออะไรหรอครับ เห็นอาจารย์พูดแล้วผมอยากจะลองไปซื้อมาอ่านดู

ขอบคุณมากครับ


** แนะนำหนังสือ รักแท้มีจริง ของดังตฤณ ครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 05/08/2008
เอาไว้ สิ่งที่คิด(ในใจ) ปีนี้ทะลุเป้า จะชวนอาจารย์
มาจัดหลักสูตร" ลิขิตโชคดีให้ชีวิต" ดีมั้ยคะ?
จะได้เป็น ดอรีน บานาสแซค เมืองไทย ........อิอิ

คงมิกล้า....เหมือนกันค่ะ(ที่จะเขียนเป็นเรื่องเป็นราวน่ะ)
ขนาดว่าเจ้าของพื้นที่นี้....มีแบบ...มากมายเค้ายังปิดตัวเงียบเลยค่ะ

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 05/08/2008
ตัวเอง...อาจจะต่างจากอาจารย์นิดนึงตรง......เวลานินทาใครๆ(ก็ไม่มีโอกาสบอก..แบบ ..ซึ่งๆหน้าง่ะ) ก็อยากให้เค้ามีโอกาสได้อ่านนะ

ตอนนี้อยากบอกมนุษย์มุ่งกายทั้งหลายแบบนี้...

แรงปราถนาแรงกล้าไม่ได้หมายถึงการกระโดดโลดเต้น
อย่างบ้าคลั่งสติแตก.....แต่ที่สำคัณคือ...การหยั่งรู้อย่างกล้าหาญ
อยู่ภายใน และมั่นใจแน่นอนว่า ชีวิตไม่มีอะไรยากเย็นอีกต่อไป
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 05/08/2008
นี่ไง..ประโยคบางประโยคถึงถูกจัดให้เป็น "วรรคทอง" ("แรงปรารถนาไม่ได้หมายถึงการกระโดดเต้นอย่างบ้าคลั่งสติแตกฯ.." นี่ผมก็ว่าใช่!)

เรื่องชักชวนกันไปจัดหลักสูตรนั่นทำเป็นเล่นไป เป็นเรื่องที่ทำให้เลือดลมพลุ่งพล่านน้อยอยู่เมื่อไหร่ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ครับ เป็นไปได้จริงๆ เห็นมั้ย คุณนันท์กับคุณหนึ่งยังพยักหน้าหงึกๆ พร้อมกับขมวดคิ้วเห็นด้วยอย่างยิ่งเลย (ฮา)

แต่มีเรื่องหนึ่งที่ต้องขอสารภาพตามตรงว่า แม้ผมจะมีอาชีพรับจ้างบรรยายมากว่ายี่สิบปีแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ถนัดเลยก็คือการทำเวิร์คช็อป การทำบทฝึก การทำแบบฝึกหัด การออกแบบกิจกรรมภาคสนาม หรือการทำกิจกรรมกลุ่มใดๆ นี่นับว่าเป็นจุดอ่อนอย่างที่สุดของผม ผมจึงไม่เคยกล้าเรียกตัวเองว่าเป็น "Coach" เลย ได้แต่เจียมเนื้อเจียมตัวเป็นได้แค่ "Instructure" หรือ "ผู้สอน" "ผู้บรรยาย" เท่านั้น นี่ก็อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมยังต้องเปิดใจอ่านงานเขียนของกลุ่ม "ภาคสนาม" เอาไว้ด้วยอยู่เป็นระยะๆ

อีกประการหนึ่ง "ภาคปฏิบัติ" ที่บรรดากูรูทั้งหลายได้แนะนำไว้หนังสือนั้น ผมก็นำไปฝึกฝนตามนั้นน้อยมาก จึงมักจะ "เข้าใจ" แต่ไม่ค่อย "เข้าถึง" ถ้าพูดตามภาษาพระก็ต้องบอกว่า ได้แต่ "ปริยัติ" แต่ไม่ค่อยได้ "ปฏิบัติ" จึงน่าจะหมดหนทางที่จะ "ปฏิเวธ" (รู้แจ้ง/นิพพาน) เสียเป็นแน่แท้ ผมเข้าไปอ่านกระทู้ล่าสุดของคุณ "นีโอ" ในเว็บบอร์ดนี้ แล้วกดหนีแทบไม่ทัน เพราะไม่รู้จะเอาอะไรไปนำเสนอ

ผมหวังมาตลอดว่าจะมีผู้มาเติมเต็มในสิ่งที่ผมพร่องอยู่ คือผมลุยในเชิงหลักการ แนวคิด เพราะผมเชื่อว่าผมมีความสามารถที่จะทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และทำเรื่องง่ายให้เพลิดเพลินได้ ซึ่งก็น่าจะไปได้ครึ่งทางแล้ว อีกครึ่งทาง ถ้ามีผู้มาออกแบบการนำไปปฏิบัติได้แล้วละก็ ก็ต้องนับว่าชาตินี้ถึงตายก็ไม่เสียดายชีวิตแล้วจริงๆ

จุดเชื้อกันเอาไว้อย่างนี้ก่อน จะทำอะไรกันได้ต่อไป ก็คงจะเป็นไปอย่างที่ว่า.."..หยั่งรู้อย่างกล้าหาญอยู่ภายใน และมั่นใจแน่นอนว่า ชีวิตไม่มีอะไรยากเย็นอีกต่อไป"

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 06/08/2008
คุณ "ผู้อ่าน" ครับ

หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า "พลังเนรมิต" เขียนโดยคุณวิศิษฐ์ ศรีพิบูลย์ เป็นหนังสือเล่มแรกของเขา คุณวิศิษฐ์ เป็นผู้พิพากษา เป็นรุ่นน้องผมหลายปีที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (ผมถึงกล้าเอ่ยชื่อไง ถึงอย่างไรรุ่นน้องก็คงไม่ฟ้องร้องรุ่นพี่หรอก..ฮา) หนังสือเล่มนี้ติดอันดับขายดีที่ศูนย์หนังสือจุฬา ติดต่อกันกว่ายี่สิบสัปดาห์เลยทีเดียว

หนังสือเล่มนี้สรุปรวบรวมความหมาย หลักการ และกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่อง "กฎแห่งการดึงดูด" (Law of Attraction) ไว้ได้อย่างสั้นๆ กระชับ และเป็นระบบดีทีเดียว จึงน่าจะเหมาะกับผู้ที่มีพื้นความรู้ในเรื่องนี้มาบ้าง แต่อาจจะยังรู้สึกกระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ หนังสือก็จะสามารถช่วยเขย่าให้เข้าที่ได้ดีพอสมควร

ผู้เขียนยังมีผลงานอีกสองเล่ม หนึ่งในนั้น ก็เป็นหนังสือที่ผมอ่านแล้วมีความกระอักกระอ่วนใจ ตามที่แสดงความเห็นไว้ในกระทู้นี้นี่แหละครับ (เป็นหนังสือที่นำเสนอเรื่องศาสตร์ของ NLP : Neuro Linguistic Programing เป็นการเฉพาะ) และอีกเล่มหนึ่ง ชื่อว่า "มนตราสั่นสะเทือน" (Law of Vibraton) เล่มนี้ก็ขยายผลมาจาก "พลังเนรมิต" นั่นแหละครับ

ก็หวังว่าคุณวิศิษฐ์ เขาจะไม่เคืองผมมากนัก อุตส่าห์ส่งหนังสือพร้อมลายเซ็นต์มาให้ฟรีๆ ยังมาแอบนินทาเขาเสียอีก (ฮา) ก็เลยถือโอกาสขอไถ่โทษด้วยการแนะนำหนังสือของเขาไว้ ณ ตรงนี้ก็แล้วกันนะครับ

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 06/08/2008
ขอบคุณครับ อ.วสันต์ ผมก็เห็นหนังสือเล่มนี้บ่อยมาก เป็นหนังสือที่ขายดีในศูนย์หนังสือจุฬา มานานครับ
ถ้าใครเข้าไปที่ศูนย์หนังสือจุฬา สาขาศาลาพระเกี้ยว ก็คงจะไม่มีใครที่จะไม่เคยเห็นหน้าของคุณ วิศิษฐ์ เพราะเค้าจะมี TV Pasma ที่เปิดโฆษณาหนังสือเล่มนี้พร้อมกับบทสัมภาษผู้แต่ง ตลอดเวลา หนังสือ
พลังเนรมิต" ผมอ่านแล้วครับ เล่มเล็กๆอ่านวันเดียวจบ
ส่วนหนังสือ NLP ผมซื้อมาแล้วแค่ยังไม่ได้อ่าน ส่วนหนังสือ มนตราสั่นสะทือนยังไม่ได้ซื้อมาอ่านครับ

เดี๋ยวจะลองอ่านๆดูครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 06/08/2008
ที่อาจารย์แซว "ประสบการณ์มโหฬารพันลึก" น่ะ บอกตรงๆว่าเคยทำค่ะ แต่นำมาถ่ายทอดใครๆ เค้าก็.....ไม่เข้าใจ
เคยเปิดตำราแล้วทำตาม
เลยใช้วิธีซื้อหนังสือแจก.....รวมทีมงาน เพื่อน ไปกว่า50เล่ม แนะนำให้ซื้ออีกน่าจะรวม 100เล่ม......ไม่มีใครเข้าใจ
คนที่ไม่เข้าใจนี่....ตอนเรียนปริญญาตรีได้เกรียตินิยมอันดับ1-2กันทั้งนั้นคะ.......ก็เดิน...เดิน...เดินหาหลักสูตร...ก็นั่นแหละไปเจอหลักสูตรของนักแปลฯนิรนาม(ที่เราร่วมกันนินทา...อิอิ)

เฉลยชื่อหนังสือก่อนนะคะชื่อ.....ฝึกจิตฝึกสมาธิ พิชิตความสำเร็จ เรียบเรียงโดยคุณอรทัย เทพวิจิตร ของสร้างสรรค์บุ๊ค(ชื่อ อาจดูยาวและถ้าไม่เปิดดูเนื้อหา.....อาจต้องลงความเห็นว่า..เชย!..เหมือนชื่อ..
7กฎจิตวิญญาณเพื่อความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม..นี่แหละอิอิ)

เค้าเจาะลึกระดับ กลไก (การเปลี่ยนแปลงสารเคมีในร่างกาย) ใช้เวลาอ่าน นานมาก 9เดือน แต่ก็คุ้มค่ะ ทำปาฎิหาริย์ ได้ใน13วัน ช่วง13วัน เนียะ .....มันก็จะเหมือน....ราวกับว่าดวงดาวทุกดวงได้เรียงตัวอยู่ในตำแหน่งที่จะให้โชคกับเราเลยค่ะ
แต่หลังจากนั้น ป่วยเลยหลายวันและมีอาการไม่อยากจะคุยกะใครอยู่นาน.......พอตอนหลังอ่านหนังสือออกแนว จิตวิญญาณ มากเข้า(โดยเฉพาะของ เวย์น ไดเออร์) กลับไปวิเคราะห์ว่าทำไมป่วย ได้คำตอบว่า เราทำไปเพราะมีแรงอัดตาปนเยอะ(อยากเอาชนะน่ะ)
ตอนนี้ก็ยังอยู่ช่วงรถไฟเหาะค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 06/08/2008
"แรงปรารถนาแรงกล้า ไม่ได้หมายถึงการกระโดดโลดเต้น อย่างบ้าคลั่งสติแตก"
"ที่สำคัญ คือ การหยั่งรู้อย่างกล้าหาญอยู่ภายใน.. และมั่นใจแน่นอนว่า ชีวิตไม่มีอะไรยากเย็นอีกต่อไป"
ว้าว.. ล้วนแต่เป็น วรรคทอง จริงๆ อย่างที่ท่านอาจารย์ว่า สงสัยต้องขอเสริมท้ายชื่อเป็น "แฟนพันธุ์แท้ วรรคทอง" ดีไหมครับ อยากมาว่าชื่อหนังสือของเราว่า เชย!

หนังสือ ที่คุณแฟนพันธุ์แท้ บอกว่าชื่อเชยเหมือนของผม ไม่เคยเห็นผ่านตาเลยครับ เดี๋ยวจะลองไปตามหามาอ่านดูครับ

เมื่อไหร่ที่คุณแฟนพันธุ์แท้กับท่านอาจารย์ จัดหลักสูตร "ลิขิตโชคดีให้ชีวิต" บอกด้วยนะครับ ผมจะชวนคุณหนึ่งไปเป็นนักเรียน "ปริยัติ" กับ "ปฏิบัติ" ด้วย 2 คนครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 06/08/2008
กว่าจะถึงตอนนั้น ก็คงจะได้ "ปฏิสังขรณ์" กันครั้งใหญ่ละ! ทั้งคนพูดคนฟัง ในห้องสัมมนาก็คงจะต้องเตรียม "น้ำ" เอาไว้ให้ "ตะบัน" กินกันสนุก หัวข้ออาจต้องเปลี่ยนเป็น "ตายแล้วไปไหน?" หรือ "อยู่ไปทำไม?" น่าจะสอดคล้องกว่า (ฮา)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 07/08/2008
หนังสืออาจหายากหน่อยค่ะ ตามร้านทั่วไปเพราะพิมพ์นานมากแล้ว
หรืออาจต้องรอ งานหนังสือที่เค้านำมาขายลดราคาค่ะ

แต่ถ้าท่านอยากได้...จัดให้ได้....พรุ่งนี้รับได้เลย
หากเกรงใจค่าหนังสือ ก็ช่วยโอนมาซัก200,000บาทถ้วน ละกัน(น้อยกว่านี้ไม่เอานะ..อิอิ) เพราะเล่มนี้เคยทำให้ได้ตังค์ง่ายๆ กว่า 3ล้านบาทมาแล้ว....ขอบอก...ขอบอก
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 07/08/2008
จากประสบการณ์ที่คุณแฟนพันธุ์แท้เล่าเรื่องทำปาฏิหารย์ได้ใน 13 วันแล้วหลังจากนั้นก็ป่วยไปหลายวันทำให้นึกถึงกฏของจักรวาลข้อหนึ่งที่สงสัยมาตลอดในเรื่องของกฎของการให้และการรับต้องสมดุลกันและที่ว่า everything has a price รวมทั้งการที่ชาวตะวันตกบางคนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งจะไม่ accumulate wealth อีกต่อไปแต่จะ contributeสิ่งที่ได้รับมาคืนให้กับสังคมแทน อยากถามทุกท่านโดยเฉพาะคุณนันท์ว่ามีความเห็นหรือคำแนะนำอย่างไรในเรื่องนี้บ้างคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 07/08/2008
ถ้าจะพูดตามพระพุทธศาสนา
เรื่องของ "บุญ"
บุญกิริยาวัตถุ 10
ซึ่ง 1 ในนั้นคือ การทำภาวนา หรือหมายถึง สมถภาวนา


ถ้ามีแจกขอ copyชุดนึงนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 08/08/2008
ที่คุณนพรัตน์กล่าวมา ผมไม่แน่ใจว่ามันไปพ้องกับสิ่งที่ Ralph Waldo Emerson ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกันเคยเขียนไว้ใน "Compensation Law" (กฎแห่งการตอบแทน) หรือเปล่า? ผมคงต้องหาเวลาไปสืบค้นทบทวนดู

แต่ถ้าให้แสดงความเห็นด้วยข้อมูลเพียงเท่านี้ ก็อาจเป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์เช่นนี้ มันอาจต้องใช้กฎแห่งจักรวาลหลายกฏมาพิจารณาประกอบกัน เช่น "กฎแห่งการกระทำ" หรือ "กฎแห่งกรรม" (Law of Cause & Effect) "กฎแห่งความสอดคล้อง" "กฎแห่งจังหวะและเวลา" "กฎแห่งการให้" และอาจหมายรวมถึง "กฎแห่งการตอบแทน" ที่อีเมอร์สัน เคยนำเสนอไว้

กรณีสร้างปาฏิหารย์ในสิบสามวัน แล้วไม่สบายหลังจากนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่า คุณ "แฟนพันธุ์แท้" พยายามจะหักหาญ "หักงวงไอยรา" ให้สำเร็จในชั่วพริบตา ซึ่งมันก็อาจจะสำเร็จ แต่เมื่อมันฝืนกฎแห่งจักรวาลหลายข้อ ก็เลยเกิดผลข้างเคียงตามมา

ไม่แน่ใจอีกเช่นกันว่ามันจะคล้ายๆ กับกรณี "สามล้อถูกหวย" หรือไม่ (พูดถึงประเด็นของคุณนพรัตน์นะครับ ยังไม่ใช่กรณีของคุณ "แฟนพันธุ์แท้") เพราะจากการวิจับพบว่ากว่า 90% ของผู้เคยถูกรางวัลที่หนึ่ง (สำรวจทั่วโลก) นั้น ทุกคนจะมีช่วงเวลาเสพย์สุขจาการใช้เงินนั้นโดยเฉลี่ยเพียงสองปีเจ็ดเดือนเท่านั้นเอง แล้วก็ก็กลับไปจนอย่างเก่า หรือจนกว่าเก่าเสียอีก พวกเขาไม่ได้เตรียมตัวมาเพื่อจะมั่งคั่งร่ำรวย พวกเขายังไม่ได้เตรียมตัวมาเพื่อความสำเร็จ พวกเขายังไม่ได้ "จ่ายราคา" ที่สาสมกันเพื่อการนี้ ดังนั้น พวกเขาอาจสามารถ "รวยฉุกเฉินในชั่วข้ามวัน" แต่ก็ต้องมา "จนเฉียบพลันในชั่วข้ามคืน" กฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ กฎเกณฑ์แห่งจักรวาล คงจะไม่ยอมให้ใครเอาเปรียบ ถ้า "ไม่เหนื่อยในการหามา" ก็จะต้องพิสูจน์ว่า จะ "เหน็ดเหนื่อยยิ่งกว่าในการรักษาไว้" ได้หรือไม่!! นี่คือเหตุผลว่าเหตุใดพวกวิสาหกิจ หรือกิจการต่างๆ ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ หรือใหญ่โตขนาดไหน จึงต้องพิสูจน์ว่าสามารถอยู่ได้เกิน "สามชั่วอายุคน" หรือไม่ เพราะโดยเฉลี่ยจะอยู่ไม่ถึง พวกผู้สถาปนา (Established) ส่วนใหญ่จึงชอบตั้งมูลนิธิ พราะเขาก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าทายาทรุ่นหลังจากเขา จะยังสามารถรักษาอาณาจักรที่เขาอุตส่าห์เพียรพยายามสร้างไว้ได้หรือไม่ ยังไงๆ ตั้งมูลนิธิไว้กันเหนียวว่าต่อไปในภายภาคหน้า อนุชนรุ่นหลังก็ยังจะพอจำชื่อเขาได้ แต่ถ้ากิจการใดอยู่ได้เกินสามชั่วอายุคนแล้วละก็ ก็แน่ใจได้ว่าน่าจะอยู่ได้ชั่วนิจนิรันดร์ ส่วนว่าจะใหญ่ขึ้นเล็กลงอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ปรากฏการณ์ของคุณ "แฟนพันธุ์แท้" นี้ ไม่ธรรมดาแน่ๆ เราก็ได้แต่ลุ้นว่าเธอจะค่อยๆ แย้มพรายรายละเอียดออกมาเรื่อยๆ (เลยไม่รู้ว่าตกลงใคร "ลีลาแยะ" กันแน่!?!)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 08/08/2008
ผมไม่แน่ใจว่าจะให้ความเห็นตรงกับจุดมุ่งหมายของคำถามของคุณนพรัตน์ หรือเปล่านะครับ

จากคำถาม ผมขอแยกแสดงความเห็นออกเป็น 2 มิติที่ทับซ้อนกันอยู่

ความเห็นมิติแรก ผมเชื่อว่า กฎแห่งการให้และการรับ นั้น เที่ยงแท้แน่นอนอย่างยิ่งยวด เพราะมันเป็นหนึ่งในการปรากฎเป็นรูปหรือตัวอย่างการแสดงออกมา ของ “กฎหลัก (อันเที่ยงธรรม)” ในการดำเนินไปของสรรพสิ่งทั้งมวล

ตัวอย่างอื่น ในการแสดงออกของ “กฎหลัก (อันเที่ยงธรรม)” ก็เช่น กฎแห่งกรรม หรือเป็นต้นเหตุของคำพูดที่ว่า “เมื่อขอแล้วเจ้าจะได้” หรือกฎที่ถูกเรียกว่า กฎแห่งแรงดึงดูด กันอยู่นี้ก็ใช่
สำหรับผม กฎอิทัปปัจจยตา หรือ กฎปฏิจจสมุปบาท ก็คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น จากการได้หยั่งรู้ถึง “กฎหลัก (อันเที่ยงธรรม)” หรือความจริงที่มีอยู่แล้วนี้ อย่างกระจ่างแจ้งถึงที่สุด

ตามความเข้าใจของผม “กฎหลัก (อันเที่ยงธรรม)” หรืออาจพูดว่าเป็น สภาวะแห่งการดำเนินไป เกิดขึ้นจากการที่ธรรมชาติหรืองค์ประกอบของสรรพสิ่งทั้งมวล ต้องการที่จะรักษาหรือคงความสมดุลของตนเองในทุกๆ มิติเสมอ

ผมเชื่อและรู้สึกเช่นนั้น เหมือนเวลาผมต้องเดินบนสะพานไม้แผ่นเดียว หากผมยื่นแขนขวา ก็ต้องยกขาซ้าย เพื่อรักษาสมดุลของการทรงตัว คือ เมื่อใดมีเหตุที่ทำให้ความปกติที่เป็นอยู่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในมิติใดก็ตาม ก็จะเกิดบางสิ่งเพื่อชดเชย หรือจะพูดในมุมตามที่เราเข้าใจเรื่อง "การมีเหตุนำไปสู่ผล" ก็ได้ และที่สำคัญมันมักกระทบกันเป็นลูกโซ่ ต่อเนื่อง เป็นการมีเหตุนำไปสู่ผล และผลนั้นก็กลายเป็นเหตุให้เกิดผลอันใหม่ต่อๆ กันไป ไม่จบสิ้น
ซึ่งผมเข้าใจว่า สิ่งที่เป็นพวงอันปรากฎขึ้น ของเหตุและผลกระทบกันไปมาทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่เรียกว่า สังสารวัฏ

ชักนอกเรื่องไปไกล ผมขอกลับมายังความเห็นในมิติที่สอง คือ
ทีนี้ในเมื่อมันเที่ยงแท้แน่นอนอย่างยิ่งยวดแล้ว จึงต้องระวังหรือพิจารณาอย่างยิ่ง ในขบวนการการทำงานของจิตหรือในจิต และรวมถึงที่ต่อเนื่องออกมาทางกายและวาจา ที่เกี่ยวเนื่องทั้งในฐานะของบ "ผู้ให้" หรือในฐานะของ "ผู้รับ"

ที่ผมเห็นว่าต้องระวัง เพราะ ถ้าเราแยกแยะขบวนการหรือขั้นตอนของการเกิดการให้ หรือการรับของแต่ละฝ่ายดู จะเห็นว่าเริ่มจาก
1. เหตุหรือจิตเจตนา ของการให้นั้น มีส่วนผสมอะไรเจือปนอยู่
2. สภาวะขณะที่ให้นั้น จิตและอาการทางกาย วาจาเป็นอย่างไร

ส่วนการรับนั้นก็เช่นกันกับการให้ ผู้รับมีปฏิกริยาทางจิตหรือการตีความการถูกเป็นผู้ให้ เป็นอย่างไร เช่น รู้สึกดีจริงๆ หรือรู้สึกขอบคุณจากหัวใจจริงๆ หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็จะเป็นเหมือนเหตุ ที่ส่งให้เกิดผลตามมากับเราต่อเนื่องไป

อย่างที่ผมเชื่อว่าทุกสิ่งในจักรวาลนี้เที่ยงธรรมเสมอ เป็นไปตามระบบของ เหตุทำให้เกิดผล ดังนั้นถ้าต้นเหตุ ตั้งแต่ใจหรือการกระทำอันนำไปสู่ผลใดๆ ปนด้วยจิตเจตนาหรือเจือปนสิ่งใด (ทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) ก็ย่อมทำให้เกิดผลตรงมิติหรือโจทย์ที่ประกอบเป็นเหตุนั้น และอาจยังเป็นเหตุสืบต่อกันไปอีก

กรณีของคุณ แฟนพันธุ์แท้ ที่ป่วยภายหลัง ผมไม่แน่ใจว่าเพราะไร อยากรู้เหมือนกันครับว่า ความเห็นอันเป็นหลักที่ผมใช้มองเรื่องนี้ สอดคล้องกับเรื่องที่เกิดหรือไม่ ขบวนการในขณะที่คุณแฟนพันธุ์แท้ปฏิบัติการสร้างปาฏิหาริย์นั้น หรือขบวนการในการ “ขอเพื่อจะได้รับ” มีการสร้างเหตุเชิงการปรุงแต่งข้อมูล อันนำไปสู่ผลที่จับมาให้เห็นความสืบเนื่องของมันได้หรือไม่

แต่ก็อาจไม่ตรงกับหลักความเห็นของผมก็ได้ (เพราะทั้งหมดเป็นความเชื่อของผมไม่ใช่ความจริงเสมอไป) หรือว่าบางทีผลนั้นอาจจะเกิดจากเหตุอื่น เช่น คุณแฟนพันธุ์แท้ แอบไปเที่ยวมาจนดึก นอนน้อยไปหน่อยเลยป่วย (แซวเล่นครับ) แต่จริงๆ แล้วอยากทราบเหมือนกันครับว่า เหตุที่ป่วยคุณแฟนพันธุ์แท้คิดว่ามาจากอะไร ช่วยแย้มพรายให้พวกเราทราบกันหน่อย อย่ามัวเลียนแบบ "ลีลาแยะ" เหมือนผมเลย เดี๋ยวจะเข้ากฎ "ว่าเขาอิเหนาเป็นเอง" (แต่อย่างไรก็ขอบคุณท่านอาจารย์นะครับ ที่ช่วยเปิดโปงว่ามีคน "ลีลาแยะ" เหมือนผม)

ส่วนเรื่องที่ชาวตะวันตกบางคน ที่รวยถึงจุดๆหนึ่งจะ contribute สิ่งที่ได้รับมาคืนให้กับสังคม ผมไม่แน่ใจว่าเขาจะคิดเหมือนเศรษฐีคนไทยคนหนึ่งที่ผมรู้จักหรือเปล่า แกเป็นคนรวยอยู่ต่างจังหวัดที่ไม่เป็นที่รู้จักเชิงสาธารณะนัก แกเคยพูดให้ผมฟังว่า “แกรู้สึกว่ายิ่งให้ ก็ยิ่งได้สิ่งดีๆ กลับเข้ามา (ไม่นับเชิงนามธรรม แต่หมายถึงเรื่องราว ความโชคดีที่เป็นรูปธรรมต่างๆ )” ตอนที่ผมได้ยินนั้นผมเชื่อว่าแกพูดจากประสบการณ์ จริง เพราะผมรู้ว่าแกไม่เคยอ่านหนังสือหรือศึกษาในสิ่งที่เราคุยกันอยู่นี้ อย่างแน่นอน

เรื่องนี้ผมวิเคราะห์ว่าอย่างนี้ เวลาคนเราเป็นเศรษฐีมีเงินมากจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็จะก้าวพ้นปัญหาหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นในจิตใจ ของคนที่มีน้อยๆ ก็คือ ความรู้สึกว่าให้แล้วของฉันจะเหลือน้อย หรือมีไม่พอใช้ ซึ่งเป็นปมสำคัญ ที่เกี่ยวเนื่องเป็นเหตุหนึ่งในขบวนการให้ และส่งถึงผลที่จะได้รับ ยิ่งเป็นการที่เศรษฐีให้ด้วยเจตนาดี อย่างแท้จริง เลยยิ่งทำให้แกยิ่งได้ผลกลับมา ในเวลาอันรวดเร็ว

ความเห็นของผมมีแค่นี้ครับ อยากฟังท่านอื่นๆ อีกบ้างเช่นกันครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 08/08/2008
คุณแฟนพันธุ์แท้ครับ ได้รับหนังสือแล้วด้วยความขอบคุณครับ (รวดเร็วจนตกใจ)
ขอเวลา ถ้าอ่านจบแล้วจะแจ้งให้ทราบครับ
รวมทั้งถ้าได้ 3 ล้านบาทมาเมื่อไหร่ จะโอนค่าหนังสือกลับไปให้นะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 08/08/2008
ให้ดีใจ
ไม่ได้ให้ตกใจค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 09/08/2008
มันรวดเร็ว จนทำให้ผม ตกดีใจ ไปเลยครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 09/08/2008
ทำให้นึกถึง...ที่เค้าจัดลำดับความเร็วของอนุภาคคลื่น
ระดับความน้อยสุด....ไปเร็วสุด...เท่าที่.จำได้ดังนี้
1.วัตถุ
2.เสียง
3.แสง(แสนแปดหมื่นหกพันไมล์)
4.ความคิด
5.จิต
พอดีความรวดเร็วเท่าที่ทำให้"ตกดีใจ" เป็นความเร็วเฉลี่ย ระหว่างวัตถุ
กะ จิต...........ก็มันเป็นหนังสือเกี่ยวกะจิตน่ะ...อิอิ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 10/08/2008
พอมีเวลา แอบอ่านไปได้ 66 หน้า จาก 162 หน้า แล้วครับ
ได้ข้อมูลที่ไม่เคยรู้เหมือนกัน เรื่องระดับของคลื่นสมอง
(ความจริงยังมี หนังสือ ageless body timeless mind ของคุณหมอ โชปรา ซึ่งหนามาก ค้างอยู่ ยังไม่ได้เปิดอ่านเลย)
แต่เท่าที่อ่านถึง ณ ขณะนี้ ทำให้นึกถึงหนังสือชื่อ "จินตนาการสร้างสรรค์ (creative visualization)" ของ Shakti Gawain (คุณแฟนพันธุ์แท้เคยอ่านหรือเปล่าครับ)
แต่พอผมอ่านจบแล้ว อาจทำให้นึกอย่างอื่นอีกก็เป็นได้
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 10/08/2008
อะไรกันคะ???!!เป็นถึงสถาปนิก ...มาบอกว่าพึ่งรู้เรื่อง ระดับคลื่นสมอง.....อิอิ...แล้วงี้แม่ค้าส้มตำจะมีโอกาสเข้าใจมั้ยเนี่ย??

จินตนาการสร้างสรรค์ อ่านแล้วค่ะ ..เชคติก กาแวน เป็นอีกคนนึงที่น่าติดตามผลงาน จำได้ว่าหนังของเค้าอ่านง่าย ไม่ได้ใช้ภาษาลึกเท่าโชปรา เล่มนี้ใช้เวลาอยู่2-3วันจบ(ปกติก็เป็นคนอ่านช้าค่ะ)

แต่คุณนันท์ ก็ถือว่าอ่าเร็วมากนะคะ สำหรับเล่มนี้2วันอ่านไป 66หน้าถือว่าเร็วมาก ต้วเองอ่านอยู่ 9 เดือน
ในส่วนของแบบฝึกหัดส่วนใหญ่จะข้าม เพราะไม่ถนัด การเข้าภวังค์แบบนับถอยหลัง(ใช้สวดมนต์แทน) แล้วเวลาทำจิตสงบ 3นาที ดูเหมือนเค้าจะใช้ หัตถโยคะ จินตนาการตามไม่ออกเหมือนกันเลยข้ามส่วนนี้ไป
พอมาศึกษาเรื่องของการสะกดจิต พบว่าการเข้าภวังค์เค้าใช้วิธีแบบเล่มนี้เลย

มีอยู่หลายตอนที่เค้า .... ฉายภาพ....ความสามารถในการมองเห็นความอัศจรรย์ที่เกิดรอบๆตัว ตั้งแต่เรื่อง วิศกรคิดออกเรื่อง ลิฟท์นอกอาคารจากปากฃองพนักงานโรงแรม(ถ้าจำไม่ผิด) แล้วเรื่อง นักประดิษถ์ตู้หยอดเหรียญ จากปากของพ่อเลี้ยงของเค้า

ที่จำได้อีกเรื่องคือ อุปสรรคการ ส่ง/รับคลื่น คือภาวะ วิคกกังวล ซึ่งก็มาตรง กับ 7กฎฯ ในเรื่องการ ปล่อยวาง......อันนี้เลยที่เป็นจุดอ่อนของตัวเองที่ทำให้ป่วย
แต่ฝึกบ่อยๆ มันก็สนุกดีค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 11/08/2008
ขอบคุณมากนะคะสำหรับข้อคิดเห็นของคุณอ.วสันต์ คุณนันท์ และคุณแฟนพันธุ์แท้(ที่ยกไปเปิดเป็นประทู้ใหม่เรื่อง"คือสมดุล") อ่านแล้วได้แง่คิดให้ไปคิดต่ออีกหลายอย่างเลยค่ะ รวมทั้งประสบการณ์ของคุณแฟนพันธุ์แท้ที่เล่าสู่กันฟังก็น่าสนใจจริงๆ ถ้าจัดสัมนา/เสวนาเมื่อไหร่ขอสมัครไปด้วยอีกคนนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 11/08/2008
ตอนเรียนหนังสือ อาจารย์เขาสอนให้รู้จักแต่การวัดระยะ มีวัดระดับเหมือนกัน แต่เป็นระดับความสูงอาคาร ไม่ได้สอนเรื่องการวัดระดับคลื่น เลยครับ
เอาไว้อ่านอีก 96 หน้าให้จบแล้วจะแจ้งความก้าวหน้าให้ทราบอีกครั้ง

ผมย้อนกลับขึ้นไปอ่านกระทู้ด้านบน คุณแฟนพันธุ์แท้ ยังค้างการบ้านที่ต้องตอบท่านอาจารย์วสันต์ (เมื่อ 05/08/2008) อยู่นะครับ อย่าปล่อยให้ผู้อาวุโสของเราหลงคอยนานนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 11/08/2008
ยินดีและปลื้มใจอย่างยิ่ง หากว่ามันเกิดประโยชน์จริงๆ ครับ คุณนพรัตน์
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 11/08/2008
ไม่มีปัญหา และไม่เป็นไรครับคุณนันท์ ช่วงกำลังนี้นี่ (ไม่รู้สำนวนใคร?) ผู้อาวุโสก็ยังไม่ค่อยว่าง กำลังขมักเขม้นฝึกตำส้มตำอยู่ที่บ้านของตนเองอยู่! (มีคนรำพึงว่า "ดูมัน..มันยังไม่ยอมเลิก!")

ผมละอิจฉาคุณนันท์จริงๆ ที่ได้หนังสือดังกล่าวมาอย่างง่ายดายดั่งพลิกฝ่ามือ! ในขณะที่ผมพลิกแผ่นดินหาไปทั้งสามโลก กว่าจะได้มาไว้ในมือกับเขาหนึ่งเล่ม! แต่ครั้นพอได้มา (หลายเพลาแล้ว) ก็ยังไม่ได้พลิกอ่านเลยแม้แต่หน้าเดียว เพราะบังเอิญอ่านเรื่องอื่นค้างอยู่ ก็เลยต้องเป็นไปตามคิว

นี่กระมัง ก็เลยยิ่งทำให้ผู้คนยังคงเชื่อว่า "คนคำนวณ มิสู้ฟ้าลิขิต" จริงๆ

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 11/08/2008
ไม่ทราบอาจารย์วสันต์หาซื้อหนังสือที่คุณแฟนพันธุ์แท้แนะนำได้จากที่ไหนคะ ตอนนี้กำลังจะไปบวชชีพราหมณ์ในวันแม่ เผื่อจะได้อ่านในช่วงปฏิบัติธรรมค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 11/08/2008
ยังไม่ทันพลิก ด้วยซ้ำครับท่านอาจารย์ ก็ลอยมาจากฟ้าเชียงใหม่ มาถึงมือผมแล้ว
ผมยังอิจฉาตัวเองเลยครับ ว่าช่างโชดดีจริงๆ เลยเรา

คุณนพรัตน์ครับ ผมว่าเนื้อหาไม่เหมาะแก่การเอาไปอ่านระหว่างการปฏิบัติธรรมครับ
ว่าแต่เขาให้เราปลีกวิเวก เพื่อหลบ . .ไม่รับ ไม่ดู ไม่อ่าน สิ่งใดๆ ที่มาจากภายนอกไม่ใช่เหรอครับ
ความจริงเขาว่าไม่ควร แม้แต่ "คิด" ด้วยนะครับ แค่ "พิจารณา" ละก็ โอเค
ผมได้ยิน เขาว่ามาอย่างนั้น ไม่ต้องเชื่อตามเขาบอกมาก็ได้ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 11/08/2008
คุณนันท์คงจะปฎิบัติตาม 7กฎฯ จนทำให้ได้สิ่งที่ดีๆอยู่เสมอโดยไม่ต้องพยายามมากมังคะ เรียนอาจารย์วสันต์คะตกลงหาซื้อหนังสือได้แล้วนะคะ จากสำนักพิมพ์โดยตรงเลยค่ะ และอย่างที่คุณนันท์บอกก็ใช่ค่ะอาจจะไว้อ่านภายหลังปฎิบัติธรรมดีกว่า แล้วจะเอาบุญมาฝากทุกท่านนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 11/08/2008
ขอสาธุ . . โดยพร้อมเพรียงกันครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 11/08/2008
นี่เป็นเครื่องหมายแสดงว่าในบรรดาผู้คนแถวๆ นี้ ผมเป็นคนที่บาปหนาที่สุด (ฮา) กว่าจะได้อะไรมานี่เลือดตาแทบกระเด็น (ฮา) คงต้องเอาจริงเอาจังกับการสวดมนต์ภาวนา ทำสมาธิวิปัสสนากัมฐากกรรมฐานทรมานทรกรรม รวมทั้งตำส้มตำกับเขาบ้างแล้ว!!(ก็เป็นเสียอย่างนี้..เฮ้อ..ฮา..ไม่ออก!!)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 11/08/2008


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code