สุดยอดคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขออนุญาตคุณนันท์ โพสข้อความดีๆ ที่สรุกพระพุทธศาสนาเอาไว้
ลองอ่านดูนะครับ บรรยายโดย อ.บุญชัย โกศลธนากุล

............................................................
สุดยอดคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งสรุปรวบยอดคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพจิตให้สูงยิ่งขึ้น
บทสรุปรวบยอดคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้

แนวทางการปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพจิตให้สูงขึ้น

รู้เท่าทันอารมณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง

ทุกข์ของมนุษย์เกิดจากความคิด ฉะนั้น ถ้าจะหยุดทุกข์ก็ต้องหยุดคิด การหยุดความคิดในที่นี้คือการหยุดคิดในสิ่งที่เศร้าหมองในอดีตและหยุดกังวลถึงเรื่องในอนาคตที่ยังมามาถึง โดยการเฝ้ามองดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้งอารมณ์สุข ทุกข์ หรืออารมณ์เฉย ๆ อย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้จะช่วยให้จิตกลับเข้าสู่ความเป็นกลางและเกิดความสงบ และเมื่อจะเริ่มคิดก็ให้เลือกคิดแต่สิ่งที่ดี ๆ มีประโยชน์และสร้างสรรค์ มนุษย์ส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังถูกความคิดลากไปเรื่องแล้วเรื่องเล่า หรือรู้ว่ากำลังคิดแต่ไม่รู้จักเลือกเรื่องที่คิดเพราะคิดเรื่องเศร้าหมองจนเป็นนิสัย หรือรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นก่อให้เกิดความทุกข์แต่ไม่สามารถพาตัวเองออกจากความคิดเหล่านั้นได้ เพราะไม่มีกำลังสมาธิเพียงพอ

นิ่งก่อนจิตจึงจะคิดได้

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า มนุษย์อาจจะรู้ว่า สิ่งที่ตนเองคิดอยู่นั้นก่อให้เกิดทุกข์แต่ไม่รู้ว่าจะออกจากกองทุกข์นั้นได้อย่างไร หรือขณะที่กำลังขบคิดแก้ปัญหาแต่คิดเท่าไรก็คิดไม่ออก ก่อให้เกิดความสับสนและว้าวุ่นเป็นอย่างมาก เมื่อจิตเกิดความไม่สงบด้วยนิวรณ์ ๕ อันประกอบด้วยความอยากมีอยากเป็นอยากได้ ความไม่อยากมีไม่อยากเป็นไม่อยากได้ การหมกมุ่นในกามตัณหา ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้น ความเบื่อหน่ายเซ็งชีวิต ความฟุ้งซ่านสับสน และความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ จิตจะไม่มีสมาธิ ไม่มีความสงบ สภาวะจิตเช่นนี้นอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังจะทำให้เรายิ่งทุกข์และยิ่งแก้ไขปัญหาไม่ออกเหมือนเดิมหรืออาจจะมีปัญหอื่นตามมาอีกเป็นทวีคูณ ฉะนั้น วิธีการที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขปัญหานี้คือ การหยุดคิดและให้ลืมปัญหา ลืมตัวเอง ลืมทุกสิ่งทุกอย่างไปชั่วขณะหนึ่งโดยการสวดมนต์หรือทำสมาธิโดยการจดจ่ออยู่กับลมหายใจ โดยไม่คิดเรื่องอื่น จิตจึงจะมีเริ่มมีพลัง สภาวะจิตนี้เองจึงจะเหมาะแก่การนำไปขบคิดเพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อออกจากกองทุกข์ และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ

นอกจากนั้น ในสภาวะปกติ เมื่อไม่มีความทุกข์ใด ๆ ก็ให้หมั่นสวดมนต์ทำสมาธิและให้นำพลังสมาธินี้ไปใช้เพื่อเฝ้ามองดูอารมณ์ในชีวิตประจำวันและฝึกความรู้เนื้อรู้ตัวในทุก ๆ อิริยาบถ เพื่อทำลายนิสัยเก่า ๆ ที่เคยชินกับความคิดเดิม ๆ ที่เศร้าหมองและสับสน และสร้างนิสัยใหม่ในการเลือกความคิด คิดแต่ในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อไป

พูดทีละคำฟังทีละเสียง

คนส่วนใหญ่มักไม่ได้ยินเสียงที่ตัวเองพูด ไม่รู้ว่าตนเองกำลังพูดอะไร พูดไปทำไม พูดแล้วจะเกิดอะไร พูดและไม่พูดผลต่างกันอย่างไร สักแต่ว่าพูด ๆ ไป ตามความคิดที่ผุดขึ้นมาตามความเคยชิน ฉะนั้น มนุษย์จึงมักชอบพูดเพ้อเจ้อ พูดนินทา พูดส่อเสียด พูดคำผรุสวาท พูดโกหกจนเป็นนิสัยโดยที่ไม่รู้ตัว การพูดโดยขาดสติ ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่มีความรู้สึกในขณะที่พูดนั้นย่อมให้เกิดความทุกข์และความเศร้าหมองใจโดยที่เราแทบจะไม่รู้ตัว ฉะนั้น วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดคือแก้ไขที่ต้นเหตุคือ ให้คิดก่อนพูดและต้องได้ยินในสิ่งที่ตนเองกำลังพูดออกมา

ทำจิตใจให้ผ่องใสและสบาย

การเพียรพยายามประคับประคองจิตใจให้มีความผ่องใสเบิกบานนั้น มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้

รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ก่อนเพื่อทำให้จิตสามารถตั้งอยู่ได้

การผิดศีลข้อหนึ่งคือ การฆ่าสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตหรือการรังแกให้เกิดความเดือดร้อนจะทำให้จิตใจเรามีแต่ความโหดเหี้ยม หยาบกระด้าง ไร้ความรู้สึก ข้อสองคือการลักทรัพย์และข้อสามคือการประพฤติผิดในกาม นอกใจสามีภรรยาหรือแม้แต่คู่รักของตน จิตใจจะเกิดความวกวนและหวาดระแวงเพราะกลัวถูกจับได้ ไร้ซึ่งความสงบในจิตใจ ศีลข้อที่สี่คือ การพูดเท็จ การพูดคำหยาบ การพูดส่อเสียด และการพูดเพ้อเจ้อ การพูดมากโดยขาดสติจะทำให้จิตใจฟุ้งซ่านขาดความสงบ และศีลข้อที่ห้าคือ การดื่มสุราหรือของมึนเมา จะทำให้ขาดสติ และขาดความยับยังชั่งใจ สามารถก่ออกุศลกรรมมากมาย ซึ่งยังผลให้จิตใจเกิดความสับสน ทุกข์ทรมาน ขาดความสงบมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ

มีสติรู้เท่าทันสภาวะจิตของตนเองว่า ในขณะนี้เรากำลังทุกข์ทรมานอึดอัด หรือผ่องใสเบาสบาย

มีสมาธิเพื่อใช้ในการมองและรู้เท่าทันสภาวะจิตอย่างต่อเนื่อง

ใช้ปัญญาในการข่มจิตเพื่อประคับประคองจิตใจ ในกรณีที่จิตในเกิดการปรุงแต่งจนเกิดเป็นอารมณ์เช่น ความโกรธ ความเศร้า หรือความยินดีลิงโลดใจ

รู้จักและเข้าใจระบบความคิดของตนเองในเรื่อง นิวรณ์ ๕

ในขณะที่เราพยายามประคับประคองจิตใจให้ผ่องใสอยู่นั้น พยายามเท่าไรก็ไม่ผ่องใส ให้พิจารณาสาเหตุของความไม่ผ่องใสนั้น ๆ ซึ่งมักหนีไม่พ้นเรื่อง นิวรณ์ ๕ ได้แก่

ความอยากมีอยากเป็นอยากได้และกามตัณหา

ผู้ที่หมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาความสุขเพื่อตอบสนองความสุขทางกายวาจาและใจเช่น การอยากมองสิ่งที่สวยงาม รับประทานอาหารที่มีรสอร่อย และได้ยินเสียงที่ไพเราะ เป็นต้น และรวมไปถึงการหมกมุ่นในกามราคะด้วย วิธีแก้ไขอาการหมกมุ่นดังกล่าวคือ การสวดมนต์ไหว้พระทำสมาธิและหัดถามตัวเองว่า ถ้าเรายังคงหมกมุ่นอยู่กับสิ่งพวกนี้ไปเรื่อย ๆ ต่อไปในอนาคต ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร เราจะมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง หรือในกรณีที่อกหักให้พิจารณาว่า สิ่งไหนเป็นของเราก็เป็นของเรา อันไหนไม่ใช่ก็ไม่ใช่ และไม่ควรคิดทำร้ายตัวเอง เราต้องหัดรักตัวเองก่อนเพราะถ้าเรารักตัวเองไม่เป็นแล้วเราจะรักผู้อื่นเป็นได้อย่างไร

ความโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาท

การที่เรามีความอึดอัดโกรธเกลียดอยู่เป็นประจำ จะทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม และด้วยนิสัยโกรธง่ายนี้จะทำให้เราเป็นที่น่ารังเกียจต่อคนรอบข้าง การทำงานในยุคปัจจุบันจำเป็นจะต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม หากเราไม่สามารถเข้ากับคนอื่นได้ แล้วเราจะประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตได้อย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อเกิดความอึดอัดไม่สบายใจ ให้ลองย้อนกลับมาดูตัวเองบ้างว่า เรามีส่วนอะไรบ้างกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเช่น การการทะเลาะเบาะแว้งที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะเราพลั้งปากไปว่าอีกฝ่ายหรือเปล่า หรือเราพูดมากเกินไปจนอีกฝ่ายรู้ความลับและนำความลับดังกล่าวมาหักหลังจนเกิดเป็นเรื่องราวบานปลาย หรือเราอาจจะชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ นิดนึงก็ไม่ได้นิดนึงก็ไม่ยอม ไม่รู้จักปล่อยวาง เป็นต้น เมื่อมีความหงุดหงิดใจให้พิจารณาถึงสาเหตุ เพราะสิ่งต่าง ๆ ในโลกล้วนเกิดแต่เหตุ ซึ่งมักมี “เรา” เข้าไปมีส่วนร่วมเสมอ แต่เรากลับมองไม่ออกเพราะเรามักกล่าวโทษผู้อื่นก่อนเมื่อมีหายนะหรือความอึดอัด เศร้าหมองต่าง ๆ เกิดขึ้นกับเรา

ความเบื่อหน่ายเซ็งชีวิต

วิธีแก้ไขคือ ให้ถามตัวเองว่า ก่อนจะจากโลกนี้ไปเราอยากทำประโยชน์อะไรให้แก่สังคมและเพื่อนมนุษย์บ้าง และเราอยากให้คนข้างหลังจดจำตัวเราได้ในลักษณะใด แล้ว ณ วันนี้เราลงมือทำแล้วหรือยัง

ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ

ผู้ที่มีความฟุ้งซ่านเป็นอารมณ์ จะพูดไม่หยุดและมีคิดผุดขึ้นมาในใจตลอดเวลา อารมณ์ไม่คงที่ คิดในแง่ลบอยู่ตลอดเวลา ชอบจับผิดผู้อื่น ไม่มีความรู้สึก ไม่มีความสงบและสบายใจ ขยันแต่ไม่ตรงจุด เป็นเจ้าความคิดแต่คิดไม่ตรงประเด็น วิธีแก้ไขคือ พยายามควบคุมความคิดโดยการ

ฝึกสมาธิแบบอาณาปาณสติหรือการทำสมาธิโดยการจดจ่อกับลมหายใจเข้าออก เพื่อลดระดับความคิดให้ลดลงในระดับหนึ่ง

หลังจากทำสมาธิแล้วให้ฝึกดูอารมณ์ตลอดเวลาสุข-ทุกข์-เฉย เพื่อฝึกให้จิตมีความรู้สึก ความคิดจึงจะเปลี่ยนรูปแบบเอง คนที่ฟุ้งซ่านจะฟุ้งน้อยลง คนที่โหดร้ายจะมีเมตตามากขึ้น

แม้ว่าจะพยายามทำสมาธิหรือดูอารมณ์แล้ว ก็ยังฟุ้งซ่านอยู่ให้ใช้ความคิดกล่อมจิตเช่น ให้ถามตัวเองว่า “การที่คิดมาก ๆ มันดีจริงหรือ ถ้ามันดีจริงแล้ว ทำไมชีวิตเราไม่เห็นดีขึ้นเลย” “คิดเยอะแยะแต่ไม่เห็นจะตรงประเด็น นี่หรือคือความคิดที่ดี” หรือถ้าเรากำลังจะคิดในแง่ลบให้นึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ถ้าจะคิดก็ให้คิดแต่สิ่งที่ดี คิดแต่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข คิดแต่ในสิ่งที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น” เป็นต้น

ถ้าจะคิดให้คิดเป็นภาพ ความฟุ้งซ่านจะน้อยลง

ลังเลสงสัย

ผู้ที่มีความลังเลสงสัยจะมีความสับสนและไม่มั่นใจอยู่ตลอดเวลา ไม่กล้าที่จะลงมือกระทำเพราะกลัวความผิดพลาด กลัวความผิดหวัง กลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้ และกลัวว่าสิ่งนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง วิธีแก้ไขคือ

อย่าโลภมากนัก ไม่มีสิ่งไหนที่ดีที่สุดในโลกนี้ แต่จงเลือกทำในสิ่งที่จะสร้างความเดือดร้อน ให้แก่ตนเองและผู้อื่นให้น้อยที่สุด

คิดเป็นภาพ การคิดเป็นภาพจะทำให้เราเห็นผลที่จะเกิดขึ้นจากทั้งสองเหตุการณ์ที่เรากำลังสับสนและลังเลสงสัยอยู่ เมื่อสร้างภาพแล้วให้ถามความรู้สึกว่า การตัดสินใจอันไหนเราทำแล้วเราสบายใจและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นน้อยที่สุด นั่นแหละคือทางออก

กล้าที่ลงมือกระทำ อย่ากลัวความผิดพลาด คนที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาดคือคนที่ไม่เคยลงมือกระทำอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้ใจกล้าบ้าบิ่น ให้พิจารณาพอสมควร พิจารณาถึงผลที่จะเกิดขึ้น สิ่งนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างความเดือดร้อนแก่ตัวเราและผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน เมื่อพิจารณาแล้วให้ “ตัดใจ” ลงมือกระทำทันที และจงตระหนักอยู่ในใจเสมอว่าชีวิตนี้ไม่ได้ยาวมากนัก และจงอย่ากลัวการผิดพลาด การเสียใจและการได้เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดก็ยังไม่น่าเสียดายและน่าเสียใจเท่ากับการที่เราไม่ได้แม้แต่จะลงมือกระทำใด ๆ เลย

อย่าทำในสิ่งที่ตัวเองอึดอัดหรือทำในสิ่งที่คนอื่นเดือดร้อน

ฝึกสมาธิแบบอาณาปาณสติและเฝ้ามองดูอารมณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปริมาณความคิดที่สับสนและงงงวย ยิ่งมีสมาธิ ความลังเลสงสัยก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย

ท้ายสุดของบทรวบรวมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ กุศลต้องสร้าง อกุศลกรรมให้บรรเทา และพยายามประคับประคองให้จิตใจผ่องใสอยู่เสมอ

ชื่อผู้ส่ง : ผู้อ่าน ถามเมื่อ : 31/07/2008
 


ขอบคุณครับสำหรับเนื้อหาดี ๆ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 01/08/2008
Sadhu!
ชื่อผู้ตอบ : Vason Pongsupradit ตอบเมื่อ : 01/08/2008
ทักทายกันได้ อัตโนมัติแบบนี้
คงไม่ใช่ พออ่านออกเขียนได้หรอกน่ะ!
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 01/08/2008
มาอีกชุดใหญ่เลยครับ คุณผู้อ่าน
ผมมีแบบชุดเล็ก มาฝากบ้างครับ

"โดยปรมัตถ์แล้ว
ไม่มีใครเกิด
ไม่มีใครอยู่
ไม่มีใครตาย
มีแต่กระแสแห่งสังขาร
การปรุงแต่ง
ตาม กฎอิทัปปัจจยตา
ของธาตุตามธรรมชาติ
เมื่อไม่มีใครตายแล้ว
จะมีใครเกิด"

พุทธทาสภิกขุ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 01/08/2008
มีทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น
มีทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่
มีทุกข์เท่านั้นที่ดับไป

นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทั้งสิ้น

สุดท้ายฝากไว้ว่า.............
"เมื่อใดที่เรารู้เรื่องที่คิดนั่นคือสมมติบัญญัติ
เราจะละทิ้งการรู้ความจริงคือ ปรมัตถ์ คือเราจะลืมกายลืมใจ"

อนุโมทนาบุญด้วยครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 03/08/2008
ขอขอบพระคุณทุก ๆ ท่านสำหรับข้อมูลดี ๆ โดยเฉพาะ
ดร.บุญชัย โกศลธนากุล ค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : ศินีนาถ ยิ่งเจริญลาภ ตอบเมื่อ : 14/08/2011


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code