การไม่ตัดสินสิ่งใดๆ......ความหมายแบบละเอียด ?
กฎแห่งศักยภาพอันบริสุทธิ์.....กล่าวว่าในแต่ละวันต้องไม่ทำการตัดสินสิ่งใดๆที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดในแต่ล่ะวันเราทำงานเป็นผู้บริหารแล้วต้องคอยดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาแล้วต้องวิจารณ์ลูกน้องตนเองและต้องตัดสินเพื่อประเมินผลงานหรือต้องกล่าวตำหนิ....คุณนันท์คิดว่ามันจะฝืนข้อปฏิบัติของกฎไหมครับ
ชื่อผู้ส่ง : นีโอ ถามเมื่อ : 26/07/2008
 


คุณนีโอ เริ่มตั้งคำถามจากเนื้อหาของ”กฎแห่งศักยภาพอันบริสุทธิ์ฯ” ในเรื่อง การไม่ตัดสินสิ่งใดๆ แต่จริงๆ แล้วคำถามทั้งหมดสัมพันธ์กับ 2 กฎ เพราะขั้นตอนวิจารณ์ ประเมินผลงาน หรือตำหนิลูกน้องนั้น สัมพันธ์กับเนื้อหาใน “กฎแห่งกรรม” เสียมากกว่าครับ

ผมขอเริ่มจากเรื่องที่สัมพันธ์กับกฎข้อแรกก่อน
ในหนังสือบอกว่า “ให้เราฝึกปฏิบัติที่จะไม่ตัดสินสิ่งใดๆ การตัดสิน คือการที่คอยแต่จะประเมินค่าสิ่งต่างๆ ว่าถูกหรือผิด ดีหรือเลว” นอกจากนี้ยังพูดถึง การที่เราคอยแต่แบ่งแยกประเภท ให้คำนิยาม หรือคอยวิเคราะห์สิ่งต่างๆ (นั่นคือ ทั้งหมดที่จิตเรามักทำมันจนเป็นอัตโนมัติอยู่ตลอดเวลา)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในหนังสือบอกไว้ชัดเจนว่า หากเราต้องการเข้าให้ถึง “ศักยภาพอันบริสุทธิ์ฯ” วิธีการหลักก็คือ เราต้องเข้าให้ถึง “สภาวะความว่าง” จากความคิด หรือยุติระบบ (ที่ชอบคอยแต่) ประมวลผลหรือปรุงแต่งของจิต ดังที่ ดีพัค โชปรา บอกว่าให้เราพยายามฝึกขยาย “ช่วงว่างระหว่างความคิด” ให้กว้างมากขึ้นๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ให้ลองฝึกหัดเป็นมนุษย์ที่แค่เห็น แค่รับรู้ สิ่งที่เข้ามา ให้เราเพียงแค่เห็นหรือรับรู้แล้วจบลง... เห็นหรือรับรู้แล้วจบลง... (ผมว่าแบบเดียวกับการฝึกสติปัฎฐาน นั่นแหละครับ)

นั่นจบเรื่องวัตถุประสงค์ที่ ดีพัค โชปรา ต้องการสำหรับ “กฎแห่งศักยภาพอันบริสุทธิ์ฯ” ทีนี้เรามาดูถึงเรื่องที่โยงไปสู่ “กฎแห่งกรรม” กัน

สมมุติว่าเรายังคงเป็นมนุษย์ที่ตกอยู่ในระบบอัตโนมัติ ที่คอยแต่จะประเมินค่าหรือตัดสินสิ่งต่างๆ ซึ่งนั่นก็คือ อาการที่จิตของเราคอยแต่จะประมวลผลหรือปรุงแต่ง และสรุปผล ด้วยการตัดสินทุกสิ่ง ทุกประสบการณ์ ที่ผ่านเข้ามากระทบ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ตลอดเวลา
ตัวอย่างเช่น หากเมื่อเช้านี้ผมเห็นภรรยาของผมใส่ชุดใหม่เดินมา ถ้าหากระบบอัตโนมัติของผมทำงานในทันที นั่นคือ ผมจะประมวลผลสิ่งที่ได้เห็น โดยนำเอาฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ในความทรงจำ ในเรื่องที่เกี่ยวกับภรรยาและชุดของเธอ รวมทั้งการแต่งตัวของเธอ ตั้งแต่วันแรกที่เราพบกัน พร้อมกับข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่ผมเก็บสะสมไว้เกี่ยวกับการแต่งตัวของผู้หญิงทั้งหมด ตั้งแต่ผมลืมตาดูโลก ซึ่งก็จะสัมพันธ์กับอิทธิพลที่ผมได้รับในแต่ละช่วงชีวิต ที่ผมได้สรุปเอาไว้เป็นความชอบ ความไม่ชอบ และเป็นข้อสรุปเชิงอารมณ์เป็นสำคัญ (กรณีนี้ ก็คือสิ่งที่กลายเป็นรสนิยมของผม)

ซึ่งจากการประมวลผลนั้น จะทำให้ผมสรุปหรือตัดสินเรื่องแรก เกิดเป็นคำพูดขึ้นในสมองของผมว่า “ชุดใหม่” เพราะข้อมูลเก่าบอกว่าผมไม่เคยเห็น และถ้าหากว่าตรงนี้ ผมมีข้อมูลเดิมที่สรุปไว้เกี่ยวกับนิสัยการชอบแต่งตัวของภรรยาผมไปในทางไม่ดี เช่น เคยสรุปว่าซื้อมาใส่ไม่กี่ทีแล้วก็ทิ้ง(อาจมีปนด้วยอารมณ์นิดหน่อย) จังหวะนั้นผมก็จะปรุงแต่งต่อว่า “เดี๋ยวก็ทิ้งอีก” ยิ่งถ้าหากข้อมูลเดิมมีอารมณ์ด้าน “โทสะ” ปนอยู่ด้วย ก็อาจคาดคะเนได้เลยว่าเดี๋ยวเป็นเรื่องแน่นอน (ทั้งหมดนี่เรื่องสมมุตินะครับ)

อีกประเด็นที่ผมอาจจะเกิดคำพูดขึ้นในสมองจากการประมวลผล ก็คือคำว่า “สวยจัง” หรือ “เชยจัง” แล้วก็สรุปบอกตัวเองว่า “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” ชุดนี้ (และเก็บเอาไว้เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลคราวหน้า หากเห็นภรรยาของผมใส่ชุดนี้ หรือ ซื้อชุดใหม่มาอีก)

หลังจากนั้น ถ้าระบบอัตโนมัติของผมยังคงทำงานต่อไป ปากของผมก็จะเผลอพูดบางอย่างออกไป ทีนี้มันจะมีเหตุการณ์ใดสะท้อนกลับจากภรรยามาสู่ผม ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผมได้ตัดสินใจเลือก พูดออกไป ว่าอะไร ซึ่งขบวนการตรงนี้เป็นเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ครับ
หากเรา “เลือก” กระทำบางอย่าง ในกรณีนี้คือ การพูดบางอย่างโดยไม่รู้ตัว ย่อมเสี่ยงสูงที่ผมจะต้องรับผลกรรมในทางไม่ดีครับ

เพราะทุกๆ เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเราในแต่ละขณะ ล้วนเป็นผลมาจากการตัดสินใจเลือกที่จะ คิด พูด หรือทำ ของเราในปัจจุบัน และเรามักกระทำการตัดสินใจเลือกด้วยระบบอัตโนมัติ คือขาดสติ ตั้งแต่เลือกที่จะเผลอปล่อยให้เกิดการประมวลผล เผลอให้เกิดการตัดสิน เพื่อสรุปข้อมูลจากสิ่งที่มากระทบเรา และเผลอสร้างกรรมออกไป

การที่ ดีพัค โชปรา บอกให้เรากำหนดว่า “วันนี้ ฉันจะไม่ตัดสินในสิ่งใดๆ” ก็คือ การเตือนตนให้กำกับขบวนการนี้ ไม่ให้เกิดขึ้น เป็นการหัดฝึกการมีสติ ไว้ให้แค่กำหนดรู้เห็นแล้วจบลง เมื่อเป็นเช่นนั้นได้ ก็เท่ากับ "การดำรงอยู่ด้วยปัจจุบันขณะ" ก็เกิดขึ้น และความคิดก็หยุดสิ้นลง

การยกตัวอย่างของผม ก็เพื่อเปรียบเทียบกับคำถามของ คุณนีโอ ที่ต้องคอยดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาในมิติต่างๆ อยากให้เข้าใจว่า หากเราเผลอเลือกกระทำ ไม่ว่าตัดสิน ตำหนิ วิจารณ์ ประเมินผล ด้วยระบบอัตโนมัติ นั่นจะนำไปสู่การผูกปมปัญหาใหม่ที่ไม่สิ้นสุด เพราะเรากระทำออกไป โดยอยู่ในขบวนการที่เกิดขึ้นบนฐานข้อมูลเดิม (โดยเฉพาะฐานข้อมูลที่ต้องระวัง คือข้อมูลที่เราเคยสรุปไว้แบบที่มีอารมณ์ผสมอยู่ด้วย) และจะเกิดวงจรเต็มรูปแบบเดิมต่อๆ ไป

เราอาจไม่ทันรู้ตัวว่า เรามีฐานข้อมูลที่เราสรุปเอาไว้เกี่ยวกับลูกน้องแต่ละคนแตกต่างหลากหลาย ซึ่งบางครั้งด้วยระบบอัตโนมัติ มันได้บดบังบางสิ่งที่จริงแท้ ที่สดใหม่ เป็นของจริง ที่ปรากฏอยู่ข้างหน้าเราไปเสีย ยิ่งหากเป็นเรื่องการวิจารณ์งานหรือบุคคลด้วยแล้ว จากประสบการณ์ของผม ยิ่งเป็นเรื่องที่ชอบเผลอ เอาการประมวลผลด้านความสามารถและอารมณ์เก่าๆ ของเรามาผสมด้วยเสมอๆ ทำให้เรามักพลาดของดีๆ ที่อาจแอบแฝงอยู่ในบางมุมของงานหรือตัวของเขาไปได้

สำหรับคำถามสุดท้ายที่ว่า “มันจะฝืนข้อปฏิบัติของกฎไหม ?”
คำตอบของผมก็คือ เรารู้ตัว จน “เห็นทัน” ขบวนการ ของการตัดสินหรือเลือกใดๆ ของความคิดเรา ในช่วงสภาวะที่กำลังเผชิญอยู่ นั้นไหม...

ถ้าเราเห็น อาการเกิดขึ้น และการดำเนินไปในทุกๆ ขณะ ของมัน เราจะเกิดอาการสรุปแบบไม่ต้องตัดสิน เกิดการเลือกแบบไม่มีใครต้องเสียหาย ตำหนิแบบจะไม่มีใครต้องเสียใจ เพราะว่าหนทางและวิธีการที่จะกระทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้น มันจะเกิดขึ้นแก่ใจของเราเอง อย่างเสมอภาคกัน

ผมก็ยังคงเป็นนักเรียนฝึกหัดไม่ตัดสินสิ่งใดๆ อยู่เหมือนกันครับ อาจยากหน่อย แต่มันทำให้บางครั้ง โลกกว้างขึ้นกว่าเก่าตั้งเยอะ หนทางเลยพลอยกว้างขวางตามไปด้วยครับ

(ผมคิดว่าเนื้อหาเรื่องนี้ เกี่ยวเนื่องกับความเห็นของผมในเรื่อง "กฎแห่งการปล่อยวาง" ในกระทู้ "สงสัย กฎแห่งการปล่อยวาง" เมื่อวันที่ 29/05/2008 และความเห็นเรื่อง "ความเชื่อ" ในกระทู้ "เชิญชวน อ.วสันต์ และคุณนันท์ มาแนะนำหนังสือน่าอ่าน" เมื่อวันที่ 10/06/2008 หากยังไม่ผ่านตา ลองแวะไปอ่านดูได้ครับ)
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 27/07/2008
ถ้าหากสังคมไทยที่กำลังวุ่นวายขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในตอนนี้ได้นำกฏแห่งการปล่อยวางและกฏแห่งกรรมมาใช้บ้างคงทำให้สังคมมีความสุขขึ้นอีกเยอะนะคะ ไม่ทราบจะทำอย่างไรดีให้คนที่กำลังเกลียดชังกันเลิกตัดสินอีกฝ่ายและหันมาพูดและทำแต่สิ่งที่สร้างสรรค์positiveแทน
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 28/07/2008
ขอบคุณมากครับ คุณนันท์สำหรับคำตอบ คงต้องรบกวนคุณนันท์อีกแน่นอนครับเพราะ ยังมีอีกหลายคำถามสำหรับการตีความเนื้อหาเพื่อเอามาใช้งานในชีวิตประจำวัน....ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 28/07/2008
เรียนคุณนพรัตน์
ผมทดลองใช้วิธีนี้อยู่ คือ ต้องคอยเตือนตัวเองอยู่เหมือนกันให้ปล่อยวางต่อสถานการณ์ที่เห็น แล้วตั้งมั่นตัวเองกลับมาอยู่ในความรู้สึกที่ดี
ผมเชื่อในหลักที่ว่า สิ่งใดที่เราให้ความสนใจมันก็จะยิ่งเป็นจริงขึ้นในโลกของเรา เหมือนกับที่สังคมกำลังถูกดึงให้หลงสนใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
แต่เอาไปบอกใครอย่างนี้อาจหาคนเข้าใจยากเหมือนกันครับ

เรียน คุณนีโอ
ยินดีเสมอและตลอดเวลาครับ ผมพยายามหาคำตอบเท่าที่มีความเข้าใจ หากว่าคำตอบยังไม่ตรงเป้านัก ช่วยบอกด้วยครับ ไม่ต้องเกรงใจ
ขอบคุณ คุณนีโอ เช่นกัน ที่สนใจเนื้อหาของหนังสือและร่วมเป็นนักเรียน นำไปทดลองใช้ในชีวิตประจำวัน

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 28/07/2008
เรียนคุณนันท์

ตอนนี้โดยส่วนตัวรู้สึกลำบากที่จะตั้งมั่นในความรู้สึกที่ดีได้บ่อยๆเพราะสิ่งแวดล้อมที่บ้านที่ทำให้ต้องได้ยินเสียงจากวิทยุบ้าง อินเตอร์เน็ทบ้าง คนใกล้ตัวบ้าง ที่แสดงแต่ความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้าม กำลังคิดว่าจะทำอย่างไรดี อย่างน้อยถ้าเปลี่ยนสังคมระดับใหญ่กว่าไม่ได้ ก็อยากให้คนใกล้ตัวอย่าหลงจนมีความรู้สืกที่ติดลบมากๆอย่างเช่นในขณะนี้ คุณนันท์คิดว่ามีกฏของจักรวาลข้อไหนที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้บ้างไหมคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 28/07/2008
ผมว่าเราหลายๆ คนน่าจะมีประสบการณ์ร่วมกับคุณนพรัตน์ ผมเองก็เป็นคนหนึ่งในนั้น ถ้าช่วยกันร่วมให้ความรู้ความเห็นจากมุมมองที่เป็นวิธีแก้ปัญหาของแต่ละคนได้ก็น่าจะดี
แต่คงต้องขอร้องว่า ไม่อยากให้ก้าวเลยไปถึงเนื้อหาของปัญหาต้นเหตุ ที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่ เอาแค่ว่าเราจะดูแลตัวเองหรือคนรอบข้างได้อย่างไร ก็แล้วกัน

วิธีแก้ไขขั้นแรก ผมเริ่มโดยการกลับไปสู่พื้นฐานหรือการรักษาฐานที่มั่นของเราให้ได้ก่อน คือ ต้องดูแลใจของตัวเองให้แข็งแรงไว้ อย่าหวั่นไหวจากสิ่งที่มากระทบ ซึ่งก็ยอมรับว่ายากเหมือนกัน เพราะมันผ่านเข้ามาถึงครัวเรือน ถึงคนใกล้ตัวเราแล้ว

แต่อย่างไรก็ต้องทำให้ได้มากที่สุด ต้องมั่นคง ปล่อยวาง ไม่ให้สิ่งที่มากระทบนั้น ไม่ว่าจะมาผ่านสื่อไหน เกิดมีผลทางอารมณ์หรือเกิดความรู้สึก จนสร้างทัศนคติในทางเป็นลบขึ้นในใจเราเป็นอันขาด อย่างน้อยใจสงบ สติปัญญาก็จะมาช่วยแก้สถานการณ์ของเราได้
เมื่อจำเป็นต้องรับฟัง ผมก็พยายามยกใจขึ้นเหนือสิ่งที่ได้ยิน ฟังด้วยเมตตาและความรัก จำเป็นก็เออ ออห่อหมก ไปกับเขาบ้าง มองเห็นว่าก็เป็นเรื่องๆ หนึ่ง ท่องคาถากำกับว่า “เดี๋ยวก็ผ่านไป” เพื่อให้รู้สึกว่าเราไม่มีแรงต้าน แรงเสียดทานระหว่างเราและเขาจะได้น้อยลง

อย่างน้อยเมื่อเรารักษาฐานที่มั่นของใจเราได้ เราก็จะ “คิดดี พูดดี ทำดี” ต่อเขาด้วยความบริสุทธิ์จากใจที่แท้จริง (แต่ระวังอย่าไปบอกเขาว่า เราเป็นกลาง เขาก็จะคิดว่าเราเป็นคนละฝ่าย หรือเป็นฝ่ายที่ 3 อยู่ดี)

ผมว่ายิ่งต้านทาน(สร้างพลังงานลบ) ไม่ว่าเขาจะคิดว่ามาจากฝ่ายไหน หรือยิ่งสนับสนุนเขา(สร้างพลังงานบวก) ก็จะยิ่งขยายผล เพราะจากประสบการณ์ที่ผมเจอจากคนรอบข้าง เขาจะอยู่ในสภาวะอยากให้คนอื่นคิดเหมือนกับเขา มันเหมือนกับเขาอยากได้เชื้อฟืน ทั้งกรณีที่ต้องป้องกันความคิดของตัวเองหรือหาผู้สนับสนุนความคิดของตัวเอง ดังนั้นให้เราส่งพลังงานบวกเหมือนกัน แต่พลังงานบวกในหมวดความเมตตาและความรัก แทน

ฟังดู ถ้าทำได้แบบนี้จริงๆ เราคงได้เป็นอริยบุคคลทีเดียว หากว่ามองในมุมวิกฤติสร้างโอกาส ใช้ปัญหานี้ ฝึกฝนการยกระดับจิตของเรา ก็น่าจะดีเหมือนกัน

ส่วนวิธีการเปลี่ยนความเชื่อและทัศนคติของคนใกล้ตัวเลยนั้น ผมว่าใช้เวลาและต้องยอมทำใจรอซึ่งผมมีนิทานเรื่องหนึ่งมาเล่า จากหนังสือ “มนุษย์ที่แท้” มรรควิถีของ จางจื๊อ แปลโดย ส. ศิวรักษ์ ที่น่าจะสอดคล้องกับเรื่องนี้มาฝาก แต่ในหนังสือยาวมาก คัดลอกไม่ไหว ขอเล่าแบบย่อๆ นะครับ

มีลูกศิษย์ของขงจื๊อ ชื่อเย็นหุย มาขอลา บอกว่าจะไปแคว้นไหว่อ๋อง เพราะได้ยินว่าเจ้าผู้ครองแคว้นไม่เอาใจใส่ราษฎร เอาแต่ใจตัว ไม่เห็นความผิดตัวเอง หวังว่าจะใช้ความรู้ที่ตนได้ร่ำเรียนไปปฏิบัติเผื่อว่าจะช่วยสถานการณ์ให้ดีขึ้น

ขงจื๊อเลยถามว่าเจ้าจะทำอย่างไร เย็นหุยตอบวิธีไปหลายวิธี ตั้งแต่จะเข้าไปโดยการแสดงให้เห็นว่าไม่แสวงหาลาภยศ ต้องการมาทำสิ่งที่ถูกต้อง ขงจื๊อบอกว่าหากยิ่งอ้างคุณธรรม เขาจะรู้สึกว่าท้าทายเขาและเขาจะยิ่งยึดมั่นในวิธีการของเขา เย็นหุยเลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็เก็บมาตรฐานทางจริธรรมเอาไว้ แสดงประหนึ่งว่าเห็นพ้องกับเขา ไม่ขัดใจเพื่อให้เขาไว้วางใจ แล้วอ้างธรรมเนียมและแบบอย่างของโบราณาจารย์แทน ขงจื๊อบอกว่าแบบนี้แค่เอาตัวรอด ถ้าเขาจะยอมทำตามก็แค่ผิวเผิน

เย็นหุย เลยถามว่า แล้วทำอย่างไรดี ขงจื๊อตอบว่า ต้องถือบวช แต่ไม่ใช่บวชกาย แต่ “ถือบวชที่หัวใจ”

การ “ถือบวชที่หัวใจ” เป็นการบวชที่มีเป้าหมายอยู่ที่ การเป็นหนึ่งเดียวภายใน คือ ได้ยินโดยไม่ใช้หู ได้ยินโดยไม่เกี่ยวเนื่องหรือต่อเนื่องกับความเข้าใจ คือได้ยินด้วยจิต ได้ยินด้วยตัวทั้งตัวของเรา ได้ยินโดยใช้หูเป็นสื่อเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากการได้ยินโดยความเข้าใจ ซึ่งเป็นการได้ยินที่ความคิด หรือมีความคิดมาผสมโรงด้วย

แต่หมายถึง การทำอินทรีย์ทั้งหมดให้ว่างเปล่า เมื่อนั้นตัวตนทั้งหมดอันเป็นหนึ่งเดียวย่อมได้ยิน เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมสัมผัสได้โดยตรงกับสิ่งซึ่งถูกต้อง คือไม่มีความคิดดั้งเดิม ความทรงจำ หรืออคติใดๆ มาบดบัง ซึ่งก่อให้เกิดอิสรภาพ

หากทำเช่นนี้ได้ ก็จะอยู่กับใครก็ได้ โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน และไม่ขัดแย้งกับภาพพจน์ในอุดมคติ หรืออัตตาที่เขาสร้างกั้นขวางเอาไว้

ถ้าเขาจะฟังก็ร้องเพลงให้เขาฟัง ถ้าเขาไม่ฟังก็เงียบเสีย อย่าพยายามทำลายป้อมปราการของเขา ไปเป็นหนึ่งในพวกเขาก็พอ ไม่มีอะไรต้องตั้งใจทำ เราจึงจะพบความสำเร็จ คล้ายๆ กับการกระทำโดยไม่กระทำ

ขงจื๊อบอกว่า ถ้ามีปีกก็บินได้ แต่เย็นหุยยังไม่ได้เรียนรู้ว่า ถ้าไม่มีปีกจะบินได้อย่างไร คนเรามักคุ้นกับสติปัญญาของผู้มีความรู้ แต่เราไม่คุ้นกับสติปัญญาของผู้ที่ไม่มีความรู้

เมื่อเรามองดูหน้าต่าง จะเห็นว่ามันเป็นช่อง และเพราะช่องนี้ทั้งห้องเลยได้รับแสงสว่าง เมื่ออินทรีย์ว่างเปล่า หัวใจก็เต็มไปด้วยแสงสว่าง เมื่อใจสว่างเต็มที่ ก็ย่อมมีอิทธิพลอันช่วยให้ผู้อื่น เปลี่ยนแปลงไปได้โดยไม่รู้ตัว

ผมมีแต่นิทานเรื่องนี้ครับ คุณนพรัตน์ ส่วนกฎของจักรวาลอื่น ที่ช่วยตอบเรื่องนี้ไม่รู้มีหรือเปล่า แต่หากจะมีกฎอื่นใดอีก ผมก็เชื่อว่าทั้งหมดต้องเริ่ม และจบลงภายในตนเองก่อนครับ


ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 28/07/2008
ดี มากเลยครับได้ความรู้เพิ่มเติม และตรงกับชีวิตประจำวันพอดีเลยคนอื่นๆ อีกหลายๆคนคงได้รับคำเเนะนำดี ๆ ไปใช้ในชีวิตประจำวันอีกเพียบเลยครับ ต้องขอขอบคุณ คุณนันท์จริงๆ ครับที่สร้างช่องทางนี้ขึ้นมาเพื่อได้ถามตอบข้อสงสัย จะเป็นกำลังใจให้และจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านหนังสือและได้เข้ามาถามตอบ ณ ที่แห่งนี้ครับ ขอบคุณมากครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 29/07/2008
ขอบคุณคุณนันท์มากนะคะสำหรับคำแนะนำที่ดีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิทานที่นำมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการ"ถือบวชทางใจ"...ต้องขอบอกว่าลึกซึ้งและโดนใจมาก เพราะตรงกับคำถามที่อยู่ในใจพอดี นี่ถ้าหากสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นๆในวงกว้างได้คิดและลองปฎิบัติดูบ้างคงช่วยลดความวุ่นวายตึงเครียดในสังคมขณะนี้ได้ไม่มากก็น้อย สำหรับตอนนี้จะลองเริ่มและจบลงภายในตนเองก่อนตามคำแนะนำของคุณนันท์ แล้วดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในทัศนคติของคนใกล้ตัวบ้างนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 29/07/2008
ยอดเยี่ยมครับคุณนันท์ ยอดเยี่ยมจนไม่รู้จะเห็นเพิ่มเติมอย่างไรได้อีก เราทำได้ดีที่สุดอย่างที่คุณว่ามาจริงๆ คนกลุ่มเล็กๆ (อย่างพวกเรานี้) กำลังรวมตัวกันทางความคิดเพื่อช่วยกันหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณที่ถูกปัจจัยภายนอกสั่นคลอนอยู่ทุกวัน สถานการณ์บ้านเมืองของเราในขณะนี้ แม้แต่คนที่มีขวัญกำลังใจกล้าแข็งอย่างที่สุด ยังอดหวั่นไหวไม่ได้เลยครับ (ดังภาษิตโบราณที่ว่า "เสาศิลาแปดศอกตอกเป็นหลัก คนมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว") ผมเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนรังสีจิตใจโดยผ่านเว็บบอร์ดนี้ จะพอช่วยให้พวกเรามั่นคงแข็งแรงทางจิตวิญญาณได้

คำพูดเก่าๆ ยังคงใช้ได้ดีครับที่ว่า "เราไม่สามารถบังคับควบคุมปัจจัยภายนอกได้ แต่เรายังมีอำนาจอย่างเต็มที่ที่จะสามารถบังคับควบคุมปัจจัยภายในของเรา (ความคิด จิตใจ อารมณ์ ร่างกาย) ได้"

Eckhart Tolle พูดไว้ชัดเจนมากในหนังสือของเขาที่ชื่อ "The Power of Now" (หรือชื่อในภาษาไทยว่า "พลังแห่งจิตปัจจุบัน") ว่าคนเราทุกคนนั้นมีทั้ง "ทุกข์ส่วนตัว" และได้รับเอา "ทุกข์รวมหมู่" (ไม่ใช่ปัญหาของเราโดยตรง แต่เป็นปัญหาของผู้อื่น ของสังคม ของประเทศชาติ) เข้าไว้ด้วย ถ้าเราไม่มีวิธีคิด วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ในการที่จะมีสติรู้ตัว และอยู่ให้ได้ใน "ปัจจุบันขณะ" (หรือที่ภาษาพุทธใช้ว่า "การรู้สึกตัวทั่วพร้อม") แล้วละก็ เราก็กำลังตกอยู่ใน "สถานการณ์ชีวิต" ที่เข้าขั้นวิกฤติแล้วละ

ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรง ถ้าไม่เกี่ยงงอนว่า Tolle เป็นใครถึงบังอาจมาสอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมาตั้งเป็นพันๆปีแล้ว..ผมอยากให้ทุกท่านไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านจริงๆ ครับ จำได้ว่าคุณนันท์เคยแนะนำเล่มคัดย่อมาแล้ว แต่ผมว่าอ่านฉบับเต็มไปเลย จะได้ความกระจ่างมากกว่า ยังมีวางขายในร้านหนังสือครับ เพราะไม่ใช่หนังสือขายดีนัก ผิดกับในระดับโลกที่หนังสือนี้ติดอันดับขายดีของ New York Times เลยทีเดียว
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 29/07/2008
ประโยคที่ท่านอาจารย์ยกมา ที่ว่า "เราไม่สามารถบังคับควบคุมปัจจัยภายนอกได้ แต่เรายังมีอำนาจอย่างเต็มที่ที่จะสามารถบังคับควบคุมปัจจัยภายในของเรา (ความคิด จิตใจ อารมณ์ ร่างกาย) ได้" นี่ ถือว่าเป็นการสรุปประเด็นนี้ ได้อย่างยอดเยี่ยมตรงเป้าเป็นที่สุด

ผมเคยอ่านบทความหนึ่ง เล่าเรื่องของ tiger woods นักกอล์ฟอันดับหนึ่งของโลก ถึงเหตุการณ์หนึ่งในช่วงวัยเด็ก
ด้วยความที่ ไทเกอร์ เป็นเด็กผิวสี(ดำ) และมีแม่เป็นผิวสี(เหลือง) วันหนึ่ง ไทเกอร์กับแม่ คือ คุณกุลธิดา จะเข้าไปซ้อมไดรฟ์กอล์ฟ แล้วมีปัญหาว่าที่นั่นไม่ต้อนรับ

คุณกุลธิดาได้พูดประโยคหนึ่งกับ ไทเกอร์ ว่า
" ไทเกอร์.. จำไว้ว่า ลูกไม่สามารถไปควบคุมหรือเปลี่ยนความคิดของคนอื่นได้ แต่ลูกสามารถควบคุมความคิดของตัวลูกเองได้ และจงภูมิใจในความเป็นตัวลูก.."

เชื่อได้ว่านี่คือ ประโยคที่ทำให้ tiger woods มาได้ไกลถึงขนาดนี้ และผมแอบภูมิใจด้วยว่า คนที่บอกประโยคนี้ให้กับ ไทเกอร์ เป็นคนไทยครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 30/07/2008
เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ก็ไทเกอร์ วูดส์ คนเดียวกันนี้แหละที่เคยให้สัมภาษณ์โอปราห์ วินฟรีด์ ในรายการของเธอว่า..ฝีมือทางด้านกีฬากอล์ฟของเขานั้นไม่ได้เหนือไปกว่านักกอล์ฟในระดับท้อปเท็นของโลกแต่ประการใด เขาเชื่อว่านักกอล์ฟในระดับสุดยอดสิบคนแรกของโลกนั้น มีฝีมือที่ไม่ต่างกันนัก สิ่งที่ทำให้แตกต่างกัน และวัดได้ว่าใครเป้นสุดยอดนั้น มันวัดกันที่ "ใจ" คือใจของใครนิ่งกว่ากัน สงบกว่ากันในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ในยามที่ทุกอย่างดูเหมือนจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด นี่ก็คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ชัยชนะเกือบครึ่งหนึ่งในทั้งหมดของไทเกอร์ วูดส์ ล้วนเป็นชัยชนะที่ต้องชิงดำดวลเพลย์ออฟกันในหลุมสุดท้าย หรือในโค้งสุดท้าย ชนิดหายใจไม่ทั่วท้องทั้งสิ้น คนทั้งโลกถึงได้ชอบดูไทเกอร์ วูดส์ลงแข่งขันไงครับ ชัยชนะครั้งหลังสุดก่อนที่เขาจะต้องเข้ารับการผ่าตัดครั้งใหญ่ ยิ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ยอดเยี่ยม ตามข่าวกล่าวว่าเขามีอาการทรมานจากการบาดเจ็บตั้งแต่การแข่งขันเพิ่งไปได้เพียงครึ่งทางแล้วด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะพิจารณาจากอะไร เขาไม่มีทางแข่งได้จนจบเกมส์ แทบไม่ต้องพูดถึงการแข่งให้ได้ชนะเลิศเลย นี่ก็ได้ข่าวว่าพอเขาไม่สามารถลงแข่งได้ในอีกหลายทัวร์นาเมนท์ รายได้จากการจัดการแข่งขันในแต่ละนัด หายวับไปเป็นพันๆล้านเหรียญเลยทีเดียว!!

ผมก็แอบดีใจเช่นกันว่านี่อาจเป็นอิทธิพลทางความคิดจากคุณแม่ของเขา ที่ทำให้หัวใจของเขาแข็งแกร่งไปได้ถึงขนาดนี้ จะมีแอบน้อยใจอยู่บ้างก็ตรงที่ว่าไทเกอร์ วูดส์เขาไม่เคยคิดว่าเขาเป็นคนไทย (บ้าง) เลย

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 04/08/2008
เราก็ได้แต่แอบภูมิใจอยู่ข้างเดียวแหละครับ..
ถึง ไทเกอร์ เขาจะไม่คิดก็ไม่เป็นไร แต่ผมว่าคนทั้งโลกที่รู้จักไทเกอร์ คิดแทนเขาอยู่แล้วตลอดเวลา ว่าเขานะมีสายเลือดไทย
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 04/08/2008
ไม่ตอบ
ชื่อผู้ตอบ : สมนึก ตอบเมื่อ : 07/10/2008


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code