คุณ "แฟนพันธุ์แท้",คุณ "ผู้อ่าน",คุณ "คนขอนแก่น" และคุณนันท์ ครับ
ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า ในบรรดาศาสตร์แห่งความสำเร็จ ศาสตร์เกี่ยวกับจิตวิญญาณต่างๆ ที่ "ผู้รู้ตัวจริง" (เช่น นโปเลียน ฮิลล์ , ดีพัค โชปรา ฯลฯ เป็นต้น) เป็นผู้นำเสนอทั้งการเขียนและการพูดนั้น "เป็นเรื่องเดียวกัน" ทั้งหมดครับ เพียงแต่แต่ละท่านอาจจะมุ่งเน้นนำเสนอด้วยจุดมุ่งหมายใด ในมิติใด ในแง่มุมใด ในประเด็นใด และในระดับใด รวมทั้งท่วงทำนอง ลีลาในการนำเสนอเป็นแบบใด ฯลฯ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผมถือว่าเป็นการนำผู้ฟัง ผู้อ่าน ไปสู่การค้นพบ "ความจริงสูงสุด" ไปด้วยกันทั้งสิ้น อย่างที่ Echart Tolle เขียนไว้ในหนังสือ "The Power of Now" ของเขานั่นแหละครับว่าไม่ว่าศาสนาใด องค์ศาสดาใด สานุศิษย์และหรือสาวกจะเขียนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร หรือพร่ำสอนกันมาในวิธีใด แบบใด สุดท้ายแล้ว มันก็แค่คือ "ป้ายบอกทาง" ที่นำไปสู่ "ราก" เดียวกันทั้งสิ้น รากที่เป็น "ความจริงสูงสุด"
ตรงนี้นี่เองที่ผู้รู้หลายท่านจึงต่างย้ำนักย้ำหนาว่าอย่าไปติดยึดกับถ้อยคำที่อัตตาเรายึดถือมาตลอด เราจะเรียกว่าอะไรก็ได้ตามที่เราสบายใจ.."พระเจ้า?"/ "ตัวตนสูงสุด?" / "พลังงานไร้รูป?" / "สิ่งสูงสุดในจักรวาล?" / หรือแม้แต่ที่คนไทยชอบเรียกขานกัน "สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในจักรวาล?" / ฯลฯ..
ผมจึงมักไม่ค่อยสบอารมณ์ที่คนไทยหลายคนชอบไปทึกทักเอาว่าพุทธศาสนาดีที่สุด ไม่มีศาสนาอะไรจะประเสริฐเลิศล้ำกว่าศาสนาพุทธอีกแล้ว พระพุทธเจ้าของฉันนั้นเลอเลิศประเสริฐศรีที่สุด ฯลฯ ผมกลับมีความเห็นส่วนตัว (ที่เห็นด้วยกับ Tolle) ว่ามันก็นำไปสู่ "ราก" เดียวกันนั่นแหละ และ "ความจริงสูงสุด" ที่องค์ศาสดาต่างๆ มหาคุรุต่างๆ ได้ค้นพบนั้น มันก็เป็น "ความจริงอันป็นหนึ่งเดียว" เป็น "ความจริงแห่งจักรวาล" เป็น "สัจธรรมสากล" เดียวกันทั้งสิ้น เพียงแต่องค์ศาสดาแต่ละท่าน มหาคุรุ แต่ละท่าน ท่านก็เลือกวิธีการในการนำเสนอที่แตกต่างกันไปให้สอดคล้องกับสภาพของภูมิศาสตร์ สภาพของวัฒนธรรมประเพณีในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งให้สอดคล้องกับ "จริต" ของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ เพียงแต่พอระยะเวลามันผ่านไปเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพันปี ผู้คนในรุ่นหลังๆ ก็อาจเกิดการยึดมั่นถือมั่น เริ่มแบ่งแยก ว่านี่ศาสนาของฉัน นั่นศาสนาของเธอ คำสอนหลายอย่างก็เริ่มวิปริตบิดเบี้ยวไปหลายอย่างหลายประการ จนผู้คนเริ่มไม่รู้ ไม่เข้าใจ และเข้าไม่ถึงแก่นของคำสอนต่างๆ เหล่านั้น ครั้นไปอ่านโน่นนิดนี่หน่อย ก็สับสน บูรณาการไม่ถูก เชื่อมโยงไม่ได้ คิดแต่ว่ามันคนละเรื่องเดียวกัน ?เห็นแค่ต้นไม้ทีละต้น แต่ไม่เห็นป่าทั้งป่า เอาความรู้ ความจริงต่างๆ ที่กระจัดกระจายมาผสมผสานเป็นองค์รวมไม่ได้ โบราณท่านถึงได้กล่าวว่าบางคนนั้น "รู้มากก็ยากนาน" และ "ความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด"
เราไม่รู้สึกประหลาดใจเลยหรือว่าเป็นไปได้อย่างไรที่คนบ้านนอกคอกนา ซึ่งแทบจะอ่านไม่ออก เขียนก็ไม่ค่อยจะได้ ความรู้ก็อาจจะเทียบได้แค่คนที่จบ ป.4 บ้านเรา อย่าง Esther และ Jerry Hicks สองสามีภรรยา จะสามารถคิดเขียนอะไรที่มันลึกซึ้งได้มากมายไปได้ถึงขนาดนี้ และไม่รู้สึก "อึ้งบวกทึ่ง" เลยหรือ ที่คนอย่างนีล โดนนัลด์ วอลส์ช (ผู้เขียน "Conversations with God") ซึ่งไม่ได้มีปูมหลังเป็นนักศาสนา หรือนักอภิปรัชญา หรือนักคิด ฯลฯ อะไรทั้งสิ้นมาก่อน มิหนำซ้ำชีวิตก็ออกจะเหลวแหลกบัดซบอย่างชนิดที่ไม่น่าเข้าใกล้เรื่องดีๆ อะไรได้เลยแม้แต่นิดเดียว แต่กลับเขียนหนังสือเล่มนี้ได้อย่างหมดจดงดงามอย่างที่สุดได้ แล้วเราจะไปสนใจอะไรกับการที่พวกเขาจะ "เข้าทรง" หรือไม่?!!? แค่คิดให้เป็นมงคลหน่อยว่านี่อาจจะเป็น "กุศโลบาย" ในการนำเสนองานเขียน แนวคิดของเขา ก็ยังแทบไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาที่มีพื้นเพอย่างนี้จะทำมันขึ้นมาได้ และแทบไม่ต้องไปคิดว่าพวกเขาไปลอกงานเขียนของใครมาเล่นแร่แปรธาตุเอาเป็นของตัวเองหรือเปล่า? เพราะถ้าใช่ ป่านนี้พวกเขาก็คงต้องเดินวนเวียนขึ้นศาลกันจ้าละหวั่นแล้ว!! ในประการนี้ ผมจึงเห็นไปในแนวเดียวกับคุณ "คนขอนแก่น" ว่าเราจะไปสนใจอะไรถึงที่มาของมัน ถ้าเนื้อหาอันเป็นแก่นของหนังสือมันใช่ตามที่หัวใจของเราบอกแล้ว อย่างอื่นก็ไม่ต้องใส่ใจอะไรทั้งสิ้น เหมือนดังคำพระที่กล่าวว่าเราต้องรู้จัก "ลอกเปลือก เลือกแก่น"
อย่าลืมว่าเรื่องที่เรายังไม่รู้ หรือยังไม่อาจรู้ได้นั้น มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอยู่จริง!!
อาจจะดูเข้มข้น ก้าวร้าวไปหน่อยก็อย่าถือสานะครับ "สังคมอุดมปัญญา" มันก็ต้องอย่างนี้ จะผิดถูกอย่างไร สาธุชนพึงสดับตรับฟังและพิจารณาด้วยตนเองเทอญ..(ไม่ต้องสาธุนะครับ..ฮา)
|
ชื่อผู้ตอบ :
วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ |
ตอบเมื่อ :
11/07/2008 |