เชิญชวน อ.วสันต์ และคุณนันท์ มาแนะนำหนังสือน่าอ่าน จัดชมรมหนังสือเพื่อพัฒนาตัวเอง
โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบอ่านหนังสือแนวพัฒนาตัวเองครับ
ทั้งหมดนี้ต้องยกเครดิต ให้ อ.วสันต์ พงษ์สุประดิษฐ์ เลยครับ
เพราะตัวผมเอง เริ่มต้นจากตอนเด็กอยากเป็นนักพูด ซึ่งกทำให้ ไปหาอ่านหนังสือเกี่ยวกับการพูด เกือบทุกเล่ม ที่มีขายในท้องตลาด ตอนนั้นเท่าที่หาได้ เริ่มแรกของผมคือ พลังพูด พลังเพิ่ม ของ อ.วสันต์ และแม้ผมจะอ่านหนังสือการพูดอีกหลายเล่ม แต่มีอยู่เพียง2 เล่มที่ผมถือว่าเป็นเล่ม ครู ของผมเลยคือ พลังพูดพลังเพิ่ม และ การพูดในที่ชุมนุมชน ของเดลคาร์แนกี้ ที่ผมจะเอามาทบทวนบ่อยๆเมื่อจำเป็นต้องพูดในที่สาธารณะครับ

นั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้พัฒนาตัวเอง
แต่อุปสรรค์อย่างหนึ่งที่ผมเจอคือ
ผมไม่มี คนแนะนำว่าหนังสือเล่มไหน
มีคุณค่า แก่การอ่านครับ
ผมซื้อหนังสือทั้งหมดโดยการสุ่ม
ดังนั้นจากการสุ่มแล้ว
ถึงแม้จะมีหนังสือบางเล่มที่ ไม่ค่อยคุ้มราคา
แต่ก็มีหนังสือบางเล่มที่ ดีจนแทบประเมินค่ามิได้
หนังสือบางเล่ม เปลี่ยนชีวิตผลจากหน้ามือเป็นหลังมือ
(ผมคิดว่าหนังสือที่ดีหรือไม่ดีขึ้นกับ 2 อย่างครับ คือ กึ๋น ของคนเขียนว่ารู้จริงเกี่ยวกับเร่องนั้นมากเพียงใด ปฎิบัติได้จริงหรือเขียนตามทฤษฎี และ 2 การถ่ายทอด ว่าสามารถถ่ายทอดได้ดีขนาดไหน...ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าไม่ใช่หนังสือทุกเล่มจะเป็นหนังสือที่มีคุณค่าครับ)

ผมจึงอยากเชิญชวน ผู้รู้ในวงการหนังสือ
โดยเฉพาะคุณนันท์ ซึ่งผมแน่ใจว่า คุณนันท์เองมีหนังสือเพื่อการพัฒนาชีวิต และจิตใจ ดีๆหลายเล่ม
อาจารย์วสันต์ พงษ์สุประดิษฐ์ ที่ด้วยอาชีพของท่าน ท่านน่าจะอ่านหนังสือแนวพัฒนาตัวเองเป็นจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนเหล่านั้นน่าจะมีหนังสือจำนวนไม่น้อย เป็นหนังสือที่ดีและมีคุณค่า

และเพื่อนคนอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมใน board นี้ มาช่วยกัน
รวบรวมรายชื่อหนังสือดีๆ เพื่อแนะนำกันอ่าน จัดตั้งเป็น ชุมชนหนังสือเพื่อพัฒนาชีวิต และจิตใจ
"เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและ จิตใจที่มีความสุขขึ้น"



*** ขอความรู้ เป็นวิทยาทานครับ******

ขอบพระคุณ

ชื่อผู้ส่ง : ผู้อ่าน ถามเมื่อ : 10/06/2008
 


หนังสือ เวอร์ชั้น ไทย หรือ อังกฤษ ก้ได้ครับ
เพระบางทีอาจจะยังไม่ได้แปล
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 10/06/2008
ด้วยความยินดีอย่างยิ่งครับ ผมสัญญาว่าจะแวะเวียนเข้ามาแสดงความเห็น และเสนอแนะหนังสือดีๆ ในเว็บนี้อีกเรื่อยๆ ครับ
ว่าแต่ว่าคุณผู้อ่านยังอุตส่าห์เก็บหนังสือของผมเล่มนั้นไว้อีกหรือครับ โอ..กรุณาอย่าไปเดินถือหนังสือเล่มนี้แถวๆกรมศิลปากรนะครับ ประเดี๋ยวจะมีคนวิ่งออกมาเวนคืนหนังสือนี้เข้าพิพิธภัณฑ์ไปเสียฉิบ และอีกอย่างหนึ่งกรุณาอย่าถือหนังสือเล่มนี้เอียงมากเกินไปนะครับ..ไม่ใช่อะไร..ประเดี๋ยว "น้ำ" มันจะหกรดเสื้อของคุณหมด (ฮา)
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 11/06/2008

ผมซื้อหนังสือเกือบทุกเล่มของอาจารย์(ส่วน tapeของอาจารย์ผมได้ฟรีครับ ไม่ได้ซื้อ เพราะอาจารย์แจกฟรี) เพราะมุกของอาจารย์ยังคง คม และแทงใจดำ แสบๆคันๆ อยู่เสมอ

ส่วนหนังสือพลังพูดพลังเพิ่ม ในส่วนเนื้อหาหลักผม ก็เอาไปพัฒนาตัวเอง ส่วนมุก(หรือที่อ.เรียกว่าน้ำ) ผมก็เอาไปใช้ประกอบการพูดครับ
เรียกว่า ถ้าเป็นก๋วยเตี๋ยวก็ ซดหมด ทั้งน้ำและเนื้อ เรียกว่าแทบจะเลียชามเลยก็ว่าได้

ผมไม่ได้มีโอกาสคุยกับ อ. มากเท่าไร เท่าที่จำได้น่าจะแค่ครั้งเดียว แต่ผมติดตาม ผลงานของอาจารย์ทั้ง หนังสือ tape และยัง VCD โต้วาที เท่าที่จะหาซื้อได้ (เดี๋ยวนี้หาซื้อยากครับ หาเช่าก็ยาก)

อย่างไรก็ตามก็ขอบพระคุณอาจารย์ นะครับ เพราะที่อาจารย์สอนผม มันเปลี่ยนชีวิตผม จริงๆ


ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 11/06/2008
ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ
ไม่ว่าจะได้อยู่ในฐานะไหนก็ตาม
ทั้งฐานะเจ้าของพื้นที่นี้ ยิ่งต้องยินดีเป็นที่สุด ที่ได้เกิดประโยชน์ที่ดีเช่นนี้
ทั้งในฐานะที่อาจเสนอหนังสือบางเล่มที่ผมรักและชอบ
รวมทั้งฐานะที่จะได้รับโลกทัศน์ด้านหนังสือเพิ่มขึ้นด้วยคน โดยเฉพาะจาก คุณวสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ครับ
และพลอยยินดีไปด้วย ที่วันนี้ ศิษย์กับอาจารย์ ได้พบกัน
แค่นี้ก็ยิ่งกว่ายินดีแล้วครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 12/06/2008
มีหนังสือที่อยากแนะนำหนึ่งเล่มครับ
ผมซื้อมาเมื่อวานนี้ จากร้านนายอินทร์ ที่โกลเด้นเพลส ตรงถนนเลียบทางด่วน เข้าใจว่าพึ่งวางแผง
หนังสือชื่อ "กฎแห่งกระจก" ของเครืออมรินทร์ เล่มปกสีแสดสดใส ราคา 109 บาท
เป็นหนังสือแปล ต้นฉบับเขียนโดย โยชิโนริ โนงูจิ ชาวญี่ปุ่น

ประเด็นหลักของหนังสือคือ ประโยคนี้ครับ
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ ผลลัพย์ เมื่อมีผลลัพย์ก็ต้องมี ต้นเหตุ และต้นเหตุก็มีที่มาจากจิตใจของเราเอง หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต คือ กระจกส่องสะท้อนจิตใจของเราเอง"
นอกจากนี้ยังพูดถึงเรื่อง การขอบคุณ การขอโทษ และการให้อภัย
หนังสือเล่าถึงตัวละครที่ผู้เขียนบอกว่าเป็นเรื่องจริง
เนื้อหาน่ารักดีครับ เล่มเล็กกระทัดรัด อ่านได้รวดเดียวจบ

ผมว่าอยู่ในโทนที่ผู้อ่านคอเดียวกัน น่าจะชอบครับ ลองดูครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 14/06/2008
คุณ"ผู้อ่าน"ครับ

มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่น่าจะเหมาะกับคุณผู้อ่าน และผู้ที่ชื่นชอบหนังสือแนวนี้ แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะมีวางขายอยู่ในร้านหนังสืออยู่อีกหรือไม่ เป็นหนังสือแปลของสำนักพิมพ์ต้นไม้ (ต้องชื่นชมสำนักพิมพ์นี้เป็นพิเศษ เพราะหนังสือแนวพัฒนาตนเองดีๆหลายเล่ม เขาก็เป็นผู้จัดพิมพ์เกือบทั้งสิ้น) แต่เมื่อเข้าไปดูในเว็บไซด์ของสำนักพิมพ์ต้นไม้ ก็ไม่ปรากฎว่ามีรายชื่อหนังสือนี้อยู่อีกแล้ว ทั้งๆที่เพิ่งพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม 2548 นี้เอง

ที่ว่าเหมาะนั้นก็เพราะมันเป็นหนังสือที่รวบรวมหนังสือที่เกี่ยวกับการพัฒนาตนเองไว้ถึง 100 เล่ม โดยผู้เขียนได้แบ่งหนังสือออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเขาคัดสุดยอดหนังสือในแนวนี้ไว้ 50 เล่ม(ที่มีการจัดพิมพ์ไม่เกินปี 2003) และสรุปเนื้อหาอย่างย่อๆทว่าได้ใจความไว้ให้เราได้อ่านด้วย อีกส่วนหนึ่ง เป็นอีก 50 เล่มที่เขารวบรวมไว้ให้อ่านพอเป็นข้อมูลว่าเป็นหนังสือชื่ออะไร ใครเป็นเขียน พิมพ์เมื่อไหร่ และมีข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆเพิ่มเติมในแต่ละเล่ม (เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ไม่เกินปี 2003 เช่นเดียวกัน) ซึ่งคุณผู้อ่านน่าจะชอบ เพราะไม่ต้องไปสุ่มซื้อหนังสือโดยที่ไม่รู้ว่าดีจริงหรือไม่ อ่านบทคัดย่อจากเล่มนี้ก่อน ถ้าเห็นว่าเข้าท่าค่อยไปดิ้นรนหาฉบับจริงมาอ่านอย่างละเอียดพิสดารอีกทีหนึ่ง

หนังสือเล่มนี้ชื่อ "50 สุดยอดพัฒนาชีวิต" (หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า "50 SELF-HELP CLASSICS" เขียนโดย Tom Budler-Bowdon) แปลและเรียบเรียงโดย คุณพรรณี ชูจิรวงศ์ และคณะ เป็นหนังสือที่ Warren Bennis กูรูระดับโลกด้านผู้นำถึงกับลงมือเขียนคำนิยมให้เลยทีเดียวว่า.."ก่อนที่จะซื้อหนังสือพัฒนาตนเองเล่มตอ่ไป โปรดอ่านเล่มนี้ก่อน!"..

แน่นอนอยู่แล้วว่า หนังสือ "The 7 Spiritual Laws of Success" (กฎ 7 ด้านจิตวิญญาณฯ) ของ Deepak Chopra เล่มที่เราหลงไหลนี้ ย่อมต้องอยู่ใน 50 สุดยอดหนังสือพัฒนาชีวิตนี้ด้วย แต่ที่ผมอยากให้พวกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง..คุณนันท์..ที่ได้วิริยะอุตสาหะแปลหนังสือนี้ได้อย่างงดงามมาให้พวกเราได้อ่านกันนั้น ได้รับทราบร่วมกัน ก็คือ ผู้เขียน (Tom Butler-Bowdon) ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า..

"ด้วยพลังที่ใช้ความพยายามน้อยที่สุด และความเรียบง่าย หนังสือ The 7 Spiritual Laws of Success จัดว่าเป็นสุดยอดตัวอย่างงานเขียนร่วมสมัยแนวพัฒนาตนเอง คุณสามารถโยนหนังสือแนวพัฒนาตนเองเล่มอื่นทิ้งไปได้เลย และใช้หนังสือเล่มนี้เล่มเดียวในการดำเนินชีวิตก็พอ!"..นอกจากนี้เขายังเขียนต่อไปอีกว่า.."การให้ความสำคัญกับความสำเร็จและความรุ่งเรืองอาจดูไม่เกี่ยวข้องกับ 'จิตวิญญาณ' สักเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้ถือเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้เลยทีเดียว หากคุณไม่ใช่ฤาษีสมถะ คุณเป็นแค่ตัวละครหนึ่งในโลกเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องหาทางปรับจิตวิญญาณให้เข้ากับสังคมแห่งความมั่งคั่งให้ได้ ความที่เป็นทั้งหนังสือแห่งการอุทิศตน และคู่มือแห่งความรุ่งเรือง หนังสือ The 7 Spiritual Laws of Success จึงจัดว่าเป็นงานเขียนที่เป็นสัญลักษณ์แห่งยุคสมัยของพวกเรา"..

คุณนันท์คงปลื้มใจนะครับที่แปลหนังสือเล่มแรกก็ได้แปลงานที่ไม่ธรรมดาเล่มนี้เลยทีเดียว สำหรับคุณ "ผู้อ่าน" คงต้องใช้ความพยายามในการหาหนังสือเล่มนี้หน่อยนะครับ ลองโทรไปถามที่สำนักพิมพ์ต้นไม้ดูครับเผื่อว่าอาจจะมีข่าวดี

ความจริงยังมีอีกสองสามเล่มที่อยากแนะนำ เอาไว้คราวหน้าอีกทีแล้วกันครับ อ้อ และต้องขอขอบคุณคุณนันท์เป็นอย่างสูงที่ได้ดำเนินการตามที่ผมขอความกรุณาไป
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 17/06/2008
ขอเรียนเสริมว่า เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง กับการแนะนำหนังสือเล่มนี้ของท่านอาจารย์ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการ ไกด์ ในการหาหนังสือแนวพัฒนาตน อ่าน
นี่เป็นคำแนะนำที่โดนใจผมเป็นอย่างยิ่ง ครับ !
เพราะตัวผมเองได้รู้จัก หนังสือ "the seven spiritual laws of success" และ ดีพัค โชปรา เป็นครั้งแรก ก็จากหนังสือเล่มนี้ นี่เองครับ
การที่ได้มีโอกาสอ่านสรุปย่อ และตัวอย่างบางบทตอน ของ "the seven spiritual laws of success" ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเหตุให้ผมทนไม่ได้ต้องหาต้นฉบับภาษาอังกฤษ มาอ่าน และส่งผลต่อให้อยากแปลออกมา
ต้องขอบคุณ หนังสือ "50 SELF-HELP CLASSICS" ขอบคุณสำนักพิมพ์ต้นไม้ ขอบคุณคุณพรรณี ชูจิรวงศ์ (ซึ่งมีหนังสือดีๆ ที่แปลโดยคุณพรรณี อยู่หลายเล่มครับ)
และขอขอบคุณท่านอาจารย์ด้วยครับ สำหรับคำแนะนำที่ให้ไว้ในที่นี้นั้น ละเอียด และครบรอบด้าน อย่างยิ่งครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 17/06/2008
ขอขอบพระคุณ อ.วสันต์ และคุณนันท์ เป็นอย่างมากครับ
ผมจะลองไปหาหนังสือ 50 SELF-HELP CLASSICS และ กฎแห่งกระจกมาอ่านดูครับ

ตอนนี้ผมเพิ่งเริ่มอ่าน the science of getting rich ครับ
และผมเพิ่งอ่าน maximun achivement ของ brian tracy จบไป

จริงๆแล้วหนังสือหลายเล่มผมไปหาดูใน amazon หรืออ่านตาม internet แล้วมันน่าสนใจดีครับ หลายเล่มที่ยังไม่มีใครแปลไทย ผมอยากอ่านมาก แต่ราคาแพงจริงๆ อย่างถูกๆ ก็ประมาณ 400-500 หรือบางเล่มก็เกือบ 1000 ซึ่งผมก็ไม่อาจซื้อได้ ต้องรอฉบับแปลไทยจะได้ถูกหน่อย (ผมเป็นแค่ นศ. ยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเองเลยครับ ไม่อยากรบกวนเงินพ่อแม่)
ก็อยากสนับสนุน ให้คุณ นันท์ หาหนังสือดีๆมาแปลเยอะๆนะครับ คนไทยจะได้มีหนังสือดีๆอ่านกัน

"ผมว่าบางที ราคาหนังสือก็เป็นอุปสรรค์ ในการแสวงหาความรู้เหมือนกันครับ"

มีใครพอจะทราบไหมว่า มีที่ไหนมีหนังสือนอกราคาถูกๆให้ยืมอ่านได้ครับ
ผมเคยลองไปดูที่ ศศิน ที่จุฬา แล้ว ก็ไม่ค่อย work อ่ะคับ เพระหนังสือค่อนข้างเก่าไม่ค่อย update แล้วหนังสือส่วนใหญ่ไม่ค่อย how to ด้วย
ผมกำลังหาห้องสมุดที่ไหนที่มีหนังสือhow to นอกใหม่ๆ update เยอะๆ ผมจะได้ไปยืมอ่าน (จิงๆแล้ว เมืองไทยควรจะมีห้องสมุดที่มีหนังสือดีๆ ให้เยอะๆ เพื่อประชาชยจะได้พัฒนาความรู้ แต่ห้องสมุดประชาชนที่มีอยู่ หนังสือเก่ามาก แล้วมีนิยาย+วารสาร สักส่วนใหญ่ )

ขอบพระคุณ ครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 18/06/2008
คุณ "ผู้อ่าน" ครับ (ผมชอบนามแฝงของคุณจังเลย เพราะเวลาทักทาย มันเสมือนทักทายผู้อ่านทุกท่านที่กำลังอ่านอยู่ ซึ่งผมก็มีเจตนาพูดคุยกับทุกท่านจริงๆ)

อย่าไปกังวลกับ "ปริมาณ" ของหนังสือที่จะอ่านเลยครับ เน้นไปที่ "คุณภาพ" จะดีกว่า หนังสือดีๆ ที่มีคุณภาพนั้น ก็คู่ควรให้เราอ่านซ้ำได้หลายเที่ยว และในทุกครั้งที่อ่าน เราก็จะเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น ได้ความคิดใหม่ๆเพิ่มขึ้น ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ไหลท่วมโลกอยู่ในขณะนี้ เราต้องมีวิจารณญาณในการเลือกว่าอะไรเป็นสิ่งที่ "need to know" อะไรเป็นแค่สิ่งที่ "nice to know" พูดง่ายๆ คือ เราต้องสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ "ต้องรู้", อะไร "ควรรู้", อะไร "น่ารู้", อะไร "รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ดี",ไปจนถึง "อะไรที่ไม่ต้องไปรับรู้อะไรมันเลย จะเป็นมงคลชีวิตอย่างที่สุด!" ด้วย

นอกจากนี้ เราอาจต้องระมัดระวัง "การแสวงหาอย่างไม่สิ้นสุด" ไว้ด้วย เรา "แสวงหา" จนลืม "สร้างสรรค์ความเป็นเลิศ" ที่เราจะสามารถทำได้ไป บางคนนั้นยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกไม่รู้อะไรเลย ยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกยังมีอะไรให้ต้องอ่านอีกมากมายมหาศาล ยิ่งอ่านมากยิ่งขาดความมั่นใจ เพราะรู้สึกว่าทำไมยังไม่ "รู้แจ้ง" เสียที ทำไมมันถึงมีเรื่องราวใหม่ๆ ผุดขึ้นมาได้เรื่อยๆ ทุกเวลา ทุกนาที ถ้าเราเข้าใจหลักการสำคัญๆ ของการเรียนรู้ได้ เราจะเห็นด้วยกับราล์ฟ วอลโด อีเมอร์สัน ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกัน ที่กล่าวว่า.."สังคมมักจะประหลาดใจกับตัวอย่างใหม่ๆของสามัญสำนึกกันอยู่เสมอ!"..

ผลข้างเคียงอีกประการหนึ่งของการอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อวิ่งตามโลก ก็คือ เราอาจหลุดเข้าไปอยู่ใน "Comfort Zone" (พื้นที่แห่งความเคลิบเคลิ้ม ปลอดภัย) ลืมไปเลยว่าโลกแห่งความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร

ผมไม่ใช่คนคลั่งศาสนาพุทธ แต่เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะที่ท่านสอนว่า หนทางแห่งการรู้แจ้งนั้น นอกจากเราจะต้อง "ปริยัติ" (ศึกษาค้นคว้า) แล้ว เรายังต้อง "ปฏิบัติ" (นำไปใช้ในชีวิต) และจากการลองผิดลองถูก การสรุปบทเรียนจากการปฏิบัติ เราก็อาจก้าวไปสู่การ "ปฏิเวธ" (การรู้แจ้ง) ได้ในที่สุด

ต้องขอชื่นชมครับ คุณผู้อ่านอายุยังน้อย ยังเป็นนักศึกษาอยู่ แต่กระตือรือร้นเหลือเกินที่จะไขว่คว้าหาความรู้ที่ไม่มีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา คุณมาถูกทางแล้วครับ ปรับวิธีการเรียนรู้อีกเล็กน้อย ก็จะยอดเยี่ยมทีเดียว ลีโอ ตอลสตอย กวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซียยังเคยเขียนเอาไว้ว่า.."ความรู้ที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ในห้องเรียน และเราอาจหามันไม่พบในห้องสมุด แต่มันมักจะอยู่ที่ร้านกาแฟ ตามตลาด ตามถนนหนทางนั่นแหละ!"..
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 18/06/2008
ขอบพระคุณครับ อาจารย์วสันต์ และคุณ นันท์ ครับ ที่ช่วยเมตตามาให้ความรู้ เปิดโลกทัศน์แก่ผม

วันนี้ตอนกลับบ้าน ผมแวะไปที่ ศูนย์หนังสือจุฬา ศาลาพระเกี้ยว ไปซื้อหนังสือ กฎแห่งกระจก มาอ่าน ในระหว่างทางกลับบ้าน ผมก็อ่านมันจบก่อนจะถึงบ้านซะอีก
ผมว่าideaในหนังสือ แม้จะเป็นหนังสือที่ideaน้อย แต่ก็เป็นideaที่มี impact สูงครับ มันทำให้เราหันกลับมามองคนใกล้ตัว และกลับมามองความรู้สึกลึกๆจริงๆในใจตัวเอง

สาเหตุที่ผมชอบการอ่านหนังสือ แนวพัฒนาตัวเอง(ถ้าเป็น Best seller จะชอบมากครับ) เป็นเพราะหนังสือเหล่านี้ เสริมสร้างกำลังใจผม ได้อย่างมาก ทุกครั้งที่มีปัญหา เรื่องราว,ทฤษฎี หรือ ตัวอย่างต่างๆที่เคยอ่านมา มันจะทำให้ผมไม่เสียศูนย์ กับปัญหาครับเพระถ้ากำลังใจเสียศูนย์แล้ว กำลังอย่างอื่นก็ไปหมด
[เหมือนอย่างที่ หลวงวิจิตรเคยบอกว่า กำลังคนเรามี 3 อย่าง(~กาย,~ความคิด,~ใจ)แต่ถ้าต้องเสียกำลังบางอย่างไป จะรักษากำลังใจไว้ให้ได้]
ผมชอบเรื่องอยู่เรื่องนึงครับ มันสร้างกำลังใจให้ผมได้มาก คือเรื่อง การวิ่ง 1ไมล์ ใน 4 นาที ทุกอย่างมันขึ้นกับความเชื่อจริงๆ
เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมต้องเจอกับปัญหาบางอย่างครับ และเรื่องนี้ก็ทำหน้าที่สร้างกำลังใจให้กับผมอีกครั้ง มันยกตัวอย่างนี้ให้กับตัวเองฟังครั้งแล้วครั้งเล่า จนใจผมเชื่อ ไม่ตระหนกกับปัญหา และท้อแท้ใจจากนั้นผมก็ฝ่าฝันมันได้สำเร็จ
และเมื่อ อาทิตย์ที่แล้ว ผมได้ไอเดียใหม่มาไอเดียนึงครับ จากคนเขียนเรื่อง ไอน์สไตน์พบพระพุทธเจ้าเห็น+the top secret (หมอ สม สุจิรา) ในรายการ สุริวิภา (ดูรายการย้อนหลังได้ที่เว็บ ช่อง 9)
เค้าพูดถึงความแตกต่างระหว่าง "ความอยาก" กับ"ความเชื่อ" ผมว่ามันคือไอเดีย์เดียวกันกับกฎแห่งการปล่อยวาง เพราะเมือเราเชื่ออย่างแน่ใจแล้วว่าเราจะได้/มี/เป็น เราก็จะหมดความอยากอีก(ความอยากได้มันสะทอ้นถึงความกลัวที่จะไม่ได้มัน/ไม่มีมัน)
มันก็สอดคล้องกับ the secret ที่บอกว่า "จักรวาลจะบันดาลให้แต่เจ้าจงเชื่อมั่นและขอ"

อาจารย์วสันต์ครับ comment ของอาจารย์แต่ละอันช่วยให้ผมได้เปิดหูเปิดตากับสิ่งใหม่ๆ และอาจารย์สามารถบรรยายเรื่องยากๆ ให้ง่าย และแยกให้เห็นประเด็นอย่างชัดเจน สมกับเป็นนักพูดระดับแนวหน้าของประเทศไทยจริง
แต่ผมด้วยความอ่อนด้วยประสพการณ์ ทำให้ผมยังสงสัยอยู่ประเด็นหนึ่งครับ รบกวนอาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติมอีกนิดนึงว่าทำไม "การอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ทำให้เรา เข้าไปใน comfort zone โดยลืมโลกเห็นความเป็นจริง"
ตามความเข้าใจผม มันเหมือนเป็นการเพิ่ม ego หรือ ตัวตนอัตตา ว่าข้าเก่งข้าแน่ ข้ารู้เยอะหรือเปล่า
หรือถ้าผมเข้าใจผิด รบกวนอาจารย์ช่วยขยายความหน่อย

ขอบพระคุณครับ
*หมายเหตุ ที่ผมใช้นามแฝงว่า "ผู้อ่าน" เพราะผมคิดว่า นามแฝงนี้มันลดตัวตนอัตตา(หรือที่พระพุทธทาสเรืยกว่า ตัวกูของกู) ดีครับ ผมเริ่มสังเกตุการตั้งฉายาหรือนามแฝงมาจาก พวกชื่อนักเลง ที่ต้องตั้งเพื่อสร้างตัวตนอัตตาให้เยอะๆ เพื่อข่มขวัญ หรือแสดงความเป็นเข้าถิ่น เช่น ปุ๊-ระเบิดขวด หรือ บางคนชอบเอาเขตที่อยู่ ใส่ไปหลังชื่อเล่นของตัวเอง
ดังนั้นผมจึงลองพลิกกลับมาหานามแฟงที่ลดความเป็นตัวตนอัตตาดูบ้างครับ.....ดีใจครับที่อาจารย์ชอบ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 19/06/2008
สวัสดีค่ะ ขอแจมด้วยอีกคน เนื่องจากชอบอ่านหนังสือแนวพัฒนาตนเองตั้งแต่จำความได้ค่ะ ยิ้ม ยิ้มมมม
อาจารย์วสันต์แนะนำให้หนึ่งอ่าน "success build to last "ซึ่ง ดร ปริญญ์ ปราชญานุพร แปล โดยผู้เขียน Jerry Porras และคณะ เล่มนี้หนึ่งก็ชอบมากๆ ค่ะ กราบขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ


ส่วน"the seven spiritual laws of success" ตอนที่อ่านครั้งแรก หลายๆปีที่ผ่านมา ถูกจริตกันมากๆ ตอนนั้นจำได้ว่า ซื้อเทปมาฟังด้วย เพราะ คุณ Deepak ทำเป็นเทปคลาสเซ็ทในสมัยนั้น ออกมาสำหรับผู้อ่านที่ไม่อยากอ่าน แต่อยากฟังแทน
เพิ่งจะทราบว่าเมื่อ สี่ ห้า เดือนที่แล้ว Deepak Chopra ทำเป็น ดี วี ดี มีถามตอบ ในรายละเอียดออกมาวางจำหน่ายแล้วค่ะ ใครอยากได้ จะซื้อมาฝากค่ะ ขณะนี้ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น สงสัย คุณนันท์ วิทยดำรง ต้องหาเวลาแปล dvd ด้วยซะแล้วค่ะ จะได้ฟังตอนรถติด ...:"O)

by the way, " way of peaceful warrior" true story of "Dan millman "เล่มนี้ หนึ่งชอบบบบบบบบบบบบ มากๆ เหมือนกันค่ะ ยังไม่ได้แปลเป็นไทย เป็นเรื่องราวง่ายๆ ชีวิตจริง ทำเป็นหนังด้วยค่ะ ลองหาอ่าน ชม กันนะคะ
มีความสุขมากๆ นะคะ
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ดร วรัญญา สะอาดเอี่ยม ริเท็นนิส ตอบเมื่อ : 19/06/2008
เพิ่มนิดคะ หากผู้ใดอ่าน way of peaceful warrior และ success build to last คงไม่ใช่หนังสือตามฉบับของคุรุเช่น Deepak Chopra นะคะ แต่ที่ชอบเพราะว่าสร้างสรรค์ และมีประโยชน์ ณ จุดๆ หนึ่งค่ะ ถือว่าอ่านสบายๆ เป็น entree ค่ะ

ส่วน dvd กับ cd เชียร์ให้คุณนันท์ทำนะคะ จะได้ส่งต่อให้เพื่อนๆ ที่ชอบ Deepak Chopra ได้อีกหลายๆ คน
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 19/06/2008
คุณ "ผู้อ่าน" ครับ

โดยหลักการแล้ว "อ่านมาก" ดีกว่า "อ่านน้อย" ครับ แต่ที่บอกว่าการอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าอาจทำให้เราหลุดเข้าไปอยู่ใน Comfort Zone นั้น ผมต้องการที่จะหมายถึงการที่ไปยึดถือเอาการอ่านเป็นเป้าหมายในตัวของมันเอง แทนที่จะถือว่าการอ่านคือวิถีทาง หรือกระบวนการ พูดง่ายๆว่าอ่านเพื่ออ่าน ไม่ได้อ่านเพื่อไปสร้างองค์ความรู้ใหม่ (ที่เหมาะกับตัวเราเอง) บางคนอ่านจนเพลิดเพลิน จนลืมนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง

ถึงที่สุดแล้วการอ่านมากหรืออ่านน้อยอาจไม่ใช่ประเด็น ประเด็นมันอาจอยู่ที่ว่ามันทำให้เราเจริญเติบโตทางภูมิปัญญา และทางด้านวุฒิภาวะได้บ้างหรือไม่ ในศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้นั้นเขาถึงได้กล่าวไว้ว่า" เส้นโค้งของการเรียนรู้" (Learning Curve) นั้น ต้องใช้ "การวัด" ไม่ใช่ "การนับ" (Measurement! Not count!) คือไม่ได้นับว่าเรียนจบอะไรมา ปริญญากี่ใบ ฝึกอบรมมาแล้วกี่หลักสูตร อ่านหนังสือมาแล้วกี่เล่ม ทำงานมากี่ปีแล้ว ฯลฯ แต่ต้องใช้การวัด วัดจากอะไร? วัดจากผลงานของการนำไปปฏิบัติจริง วัดจากการนำไปใช้แก้ไขปัญหาได้ วัดจากการถ่ายทอดและสอนผู้อื่นได้ วัดจากการเป็นแบบอย่างได้ ฯลฯ

นี่ผมกำลังพาคุณผู้อ่านเตลิดเปิดเปิงไปถึงไหนๆกันไปแล้วหรือนี่ นี่ผมนึกว่าผมกำลังบรรยายไปเสียแล้วกระมัง งั้นเอาเท่านี้ก่อนก็แล้วกันนะครับ

ขอบังอาจพูดแทนคุณนันท์หน่อยว่า ยินดีต้อนรับคุณหนึ่ง (ดร.วรัญญา ผู้แปลหนังสือ The Science of Getting Rich) ที่ตามมาร่วมคิดร่วมแสดงความเห็นกันในเว็บนี้ คุณหนึ่งคงถึงบางอ้อแล้วว่าเหตุใดอีตาวสันต์แกจึงหายหน้าหายตาไปจากเว็บโน้น (ฮา) ก็อยู่ทางโน้น ไม่มีใครรุมล้อม! (ฮา) คุณหนึ่งกับคุณนันท์นั้นมีอะไรที่คล้ายๆ กันครับ ทั้งสองท่านมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงจากการแปลหนังสือเพียงหนึ่งเล่ม ว่างๆคุณนันท์ตามไปอาละวาดที่เว็บโน้นบ้างก็ได้นะครับ (ฮา)

ขอ confirm หนังสือที่คุณหนึ่งกล่าวถึงครับ หนังสือ Success Built to last ยอดเยี่ยมมาก ไม่น่าเชื่อว่านักวิชาการแท้ๆ จะสามารถคิด ค้นคว้า และเขียนเรื่องราวที่จะว่าไปแล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณได้ถึงขนาดนั้น คุณ "ผู้อ่าน" แคะกระปุกไปซื้อมาอ่านได้เลยครับ หนังสือเล่มนี้มีชื่อในภาคภาษาไทยว่า "สร้างความสำเร็จยืนยง" เขียนโดย Jerry Porras และคณะ จัดพิมพ์โดย สนพ.เนชั่นบุคส์ ราคา 325 บาท
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 19/06/2008
สวัสดีครับ ดร วรัญญา สะอาดเอี่ยม ริเท็นนิส
ผมดีใจมากเลยครับ ที่ได้มีโอกาสพูดคัยกับผู้รู้ในวงการหนังสือ ทั้ง 3 ท่าน ทั้งคุณหนึ่ง คุณนันท์ และ อ.วสันต์
ทั้งคุณหนึ่ง และคุณนันท์ ผู้ที่ประสพความสำเร็จในการแปลหนังสือ แค่เพียง 1 เล่ม หนังสือก็ดังและมีอิทธิพล ต่อคนเป็นจำนวนมหาศาล
ผมนึกถึงที่มีคนบอกว่า
"ผู้ที่โง่เขลา แม้ได้อยู่ใกล้ปราชญ์ ก็อาจเป็นคนเฉลียวฉลาดได้ "

ผมรู้แล้วว่าการได้อยู่ใกล้ปราชญ์มันดียังไง เพราะแค่ ไม่กี่วัน ทิศทางการหาความรู้ และการพัฒนาตัวเองของผม มีหางเสือ ขึ้นเยอะครับ ผมจะทยอยไปอ่านครับ


ขอบพระคุณสำหรับอ.วสันต์ที่ขยายความให้ผมกระจ่างครับ ผมเข้าใจแล้วครับ และทุกครั้งที่ผมอ่านต่อไปจากนี้ผมจะพยายามเอามาประยุกต์ใช้ให้มากขึ้น

ขอขอบพระคุณ คุณหนึ่งที่ได้แนะนำ Success Built to last เดี๋ยวผมจะไปหามาอ่านครับ
ลงทุนกับหนังสือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าครับ
สามร้อยกว่าบาทนี้ ถ้าไปกินข้าวสยาม แป๊บเดียวก็หมด แต่ลงทุนกับหนังสือ มันจะอยู่ในสมองผม และนำมาใช้ได้ตลอดชีวิตครับ
(** ตอนนี้ผมกำลังอ่าน The Science of Getting Rich อยู่ครับ แต่อ่านไปได้นิดเดียวเองครับ เดี๋ยวจะไปอ่านต่อให้จบ ***)

ก่อนหน้านี้ผมไปอ่านหนังสืออยู่เล่มนึงครับ ของ ดร.บุญชัย โกศลธนากุล + ดร.อนุสรณ์ ชื่อหนังสือ จริต 6 ศาสตร์ในการอ่านใจคน ถึงแม้จะไม่ใช่หนังสือแนว spiritual แต่ก็บอกการพัฒนาตนเองดีนะครับ นอกจากสอนให้เราเข้าใจคนอื่นเพิ่มมากขึ้น และยังเข้าใจตัวเองว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร และมีแนวทางพัฒนาตัวเองอย่างไร
หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นหนังสือขายดีอีกเล่มหนึ่งตามร้านหนังสือ หน้าปกโดดเด่นตามฮวงจุ้ยมาก ปกสีแดงตัวหนังสือสีทอง
โดยส่วนตัวผมได้มีโอกาสคุยกับผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ครับ
อ.บุญชัย เป็นคนที่สามารถนำเอา หลัก the power of now มาปฎิบัติใน ชีวิตประจำวันได้ เกือบตลอดเวลา (จนผมทึ่ง!!!จริงๆ) เป็นคนรู้เนื้อรู้ตัวตลอดเวลา น้อยครั้งที่จะเผลอครับ (อันนี้ทั้งจากที่ท่านบอกผม และจากที่ผมสังเกตุขณะคุยกับท่าด้วย)


ขอบพระคุณอ.วสันต์ คุณหนึ่งและคุณนันท์ จากใจจริงครับ เพราะสิ่งที่ทุกท่านแนะนำไม่ได้เกิดประโยชน์กับผมแค่คนเดียว แต่ทุกคนที่เข้ามาอ่านบอร์ดนี้ไม่ว่าจะในตอนนี้หรือในอนาคต จะได้รับประโยชน์จากวิทยาทานของทุกท่านครับ

ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 19/06/2008
ขออภัยอย่างสูงครับ.. ที่มีแขกมาเยี่ยมเรือนแล้วตัวผมไม่ได้มาต้อนรับ และต้องขอบคุณท่านอาจารย์วสันต์เป็นอย่างมากที่ช่วยต้อนรับขับสู้แทน ด้วยไมตรีอันดียิ่ง
นับเป็นเกียรติและขอบคุณครับ ที่ ดร.วรัญญา ช่วยกรุณาแวะมามอบสิ่งดีๆ
ตอนนี้ผมขอร่วมอยู่ในฐานะ “ผู้อ่าน” (ตามความหมายเดียวกับเจ้าของนามปากกา) ด้วยคน เพราะต้องนับว่า ทั้ง 2 ท่าน นั้น เป็นผู้อาวุโส ด้านหนังสือและความรอบรู้ ในด้านพัฒนาตน เป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นผู้อ่านทั้งหลาย คงได้ขยายโลกทัศน์ในการพัฒนาตน ยิ่งๆ ขึ้นไป

ส่วนตัวผมเอง ต้องเรียนว่า เป็นพวกไม่กว้างขวางนักในการอ่าน ขนาดเป็นพวกที่เลือกอ่านเฉพาะแนวพัฒนาตนแล้ว ยังเลือกอ่าน แคบเฉพาะที่ถูกจริต ตัวเองเข้าไปอีก คราวนี้อาจจะได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์กับเขาบ้างก็เป็นได้

ต้องบอกว่า โอ้โห ! เลยครับ.. ที่ ดร.วรัญญา มีรุ่นเป็นเทปคาสเซตเสียงของ The Seven Spiritual Laws of Success แสดงว่ามีก่อนผมนานมาก นับเป็นผู้อาวุโสด้านนี้อย่างที่ผมบอกจริงๆ ที่ผมมีเป็น CD ครับ ส่วนเรื่องการทำเป็น CD หรือ DVD ภาษาไทยนั้น น่าสนใจ ครับ คงต้องขอศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งเรื่องการขอลิขสิทธิ์และการตลาดดู

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่คุณผู้อ่านถามเกี่ยวกับการหาหนังสือต่างประเทศราคาถูก ผมเคยได้หนังสือบางเล่ม จากร้านหนังสือมือสอง ที่ขายให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ร้านแนวเดียวกับที่ผมพูดถึงนี้ไม่แน่ใจว่ามีตรงไหนในกรุงเทพบ้าง ต้องเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวฝรั่งอยู่หรือชอบเดิน ไม่รู้แถวถนนข้าวสารมีหรือเปล่า เพราะร้านที่ผมพูดถึงนี้อยู่ที่เชียงใหม่ ราคาประมาณเล่มละ 200-300 บาท สภาพดีมาก ถามคนขายบอกเป็นมือสองหรือมือหนึ่ง บางทีเอาเข้ามาจากอินเดีย บางเล่มพิมพ์ในอินเดีย ชื่อร้าน GECKO BOOKS มีเวบไซด์ด้วยครับ ลองเข้าไปดูข้อมูลได้ครับที่ www.geckobooks.net ผมไม่เคยซื้อผ่านทางเวบไซด์เหมือนกัน ลองติดต่อดูครับ ที่เชียงใหม่มีร้านแบบนี้อยู่เยอะพอสมควร อาจแวะไปตอนไปเที่ยวก็ได้
ส่วนที่คุณผู้อ่าน กำลังอ่าน The Science of Getting Rich นั้น เยี่ยมเลยครับ ตามความเห็นของผม เป็นเล่มที่ผู้อ่านหนังสือแนวนี้ ควรต้องอ่านเลยครับ คลาสสิคสุดๆ ครับ

อย่างไรเสีย ต้องขอบคุณทั้ง ท่านอาจารย์วสันต์ และดร.วรัญญา ที่ให้เกียรติแวะมา มอบสิ่งดีๆ.. ขอบคุณ คุณผู้อ่าน ที่เป็นตัวแทนคนอ่านคนอื่นๆ ด้วยครับ ยินดีต้อนรับเสมอครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 20/06/2008
คุณนันท์มาเจอหนังสือ ที่ร้านแถวเชียงใหม่เหรอคะ?
วันหน้า ถ้าจัดตั้งชมรมนักอ่านสำเร็จ เจ้าภาพจะพาเที่ยวเน้อเจ๊า!

แล้วเล่ม The science of Getting Rich นี่เค้าแปลไทยรึยังคะ?
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 21/06/2008
ขอแนญาต ตอบคำถามแทน คุณนันท์ นะครับว่า
The science of Getting Rich แปลไทยแล้วครับ
ชื่อศาสตร์แห่งความมั่งคั่งและร่ำรวย

ส่วนคนแปลก็คือ เข้าของ commemt ที่กรุณาเข้ามาในกระทู้นี้อีกท่านหนึ่งครับ
คุณ หนึ่ง ดร วรัญญา สะอาดเอี่ยม ริเท็นนิส

อยากบอกกับคุณแฟนพันธ์แท้ ว่าหนังสือเล่มนี้ดีมากครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 21/06/2008
ผมมีข้อสงสัยครับ!! อยากขอความรู้จาก อ.วสันต์ คุณนันท์ และคุณหนึ่ง ดูครับ

เท่าที่ผมอ่านหนังสือ หลายเล่ม มักจะมีสิ่งหนึ่งหมือนกันที่จะทำให้ประสพความสำเร็จในด้านต่างๆ
นั่นคือ ต้องมี"ความเชื่อ"ว่าจะสำเร็จ

แต่ในสมองคนเรา มีความเชื่อที่ limit และ negative มากมายเกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งมันจะส่งผ่านเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก

แล้วเรามีวิธีการเปลี่ยนความเชื่อตัวเองอย่างไรครับที่ได้ผลเร็วๆ และถาวร บ้างครับ
เคยได้ยินมาว่า ให้พูดกับตัวเองในกระจกทุกวันๆ ตอกย้ำมันเข้าไป
หรือบางทฤษฎีบอกว่า ให้พูดเวลารดน้ำต้นไม้
วิธีพูดกับกระจกผมลองทำแล้ว มันก็โอเคนะครับ สามารถเปลี่ยนความเชื่อได้บางส่วน แต่ถ้าเลิกพูดไปซักพัก พวกnegative มันยกขบวนกันมาใหม่ คือเหมือนยาที่รักษาไม่หายขาด

ไม่รู้ว่า ในต่างประเทศ หรือ ในประสพการณ์ ของอ.วสันต์ คุณนันท์ และคุณหนึ่ง มีวิธีไหนที่ work บ้างครับ


ขอความรู้หน่อยนะครับ เพราะผมมีหลายความเชื่อที่อยากเปลี่ยน อยู่เหมือนกัน

ขอบพระคุณมากครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 22/06/2008
สวัสดีคุณนันท์ ค่ะ

ขอบคุณสำหรับเว๊ปดีๆ และ โครงการดีดีเช่นนี้ หนึ่งขอชื่นชมการตอบ พูดคุยกับผู้อ่านของคุณนันท์ที่ชัดเจนดีมาก จนหนึ่งขออนุญาตเข้ามาอ่านและได้ความรู้กลับไปด้วยทุกๆ ครั้ง หนึ่งยังแอบภูมิใจมากมากกับโครงการหนังสือแลกเปลี่ยนของคุณด้วยค่ะ (ยิ้ม ยิ้ม) จึงขอถือวิสาสะป่าวประกาศให้เพื่อนๆ จากเว๊ปทางโน้น เข้ามาหความรู้ และ ทำความรู้จักหนังสือดีดี ที่นี่ด้วยนะคะ

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ต้องกราบขอบพระคุณอาจารย์วสันต์อย่างจริงใจที่หว่านเมล็ดพันธ์ให้หนึ่งได้ตามมาหาความรู้ได้ถึงที่นี่ สำหรับหนึ่งแล้วเป็นแฟนคลับอาจารย์ไปโดยไม่รู้ตัว เนื่องด้วยความเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ และมีจิตเมตตา ช่วยเหลือหนึ่งมากมาย แถมไปที่ไหน อาจารย์ก็มีสีสันไปหยอดให้พวกเราขำกลิ้งได้ตลอดเวลา

หนึ่งชอบอ่านหนังสือประเภทนี้ ประเภทเดียวค่ะ แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องเป็ราวอะไร ส่วนใหญ่อ่านไว้ปรับชีวิตตนเองเท่านั้น

หนังสือThe Seven Spiritual Laws of Success และคลาสเซ็ต หากหนึ่งจำไม่ผิด เป็นหนังสือเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษที่หนึ่งเริ่มอ่านเป็นเล่มที่สองที่ ( เล่มแรกที่หนึ่งอ่านจะออกแนวหญิงสุดๆ ผู้ชายไม่ชอบอ่านกันนัก คือหนังสือของอาจารย์ Louise Hays ซึ่งเป็นอาจารย์สอน Jerry, Esther Hick และผู้เขียน self help books อีกมากมายในรุ่นหลังๆ ) แต่อย่างที่บอกค่ะ ขอออกตัว หนึ่งอ่านเพื่อใช้ปรับปรุงตนเองเท่านั้น ดังนั้นหากจะนับผู้เป็นอาวุโสจริงๆ อาจารย์วสันต์จะเหมาะสมทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิค่ะ (opppp sorry kha.... หยอกเล่น ด้วยความเคารพค่ะอาจารย์)

ที่สิงค์โปร์มีร้านหนังสือเจ้าของเป็นคนอินเดีย เปิดหลายๆๆๆ สาขา เน้นขายแต่หนังสือ self help อย่างเดียว ทางร้านขอลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์แล้วนำไปที่พิมพ์ที่อินเดีย ราคาถูกกว่าเล่มจริงครึ่งต่อครึ่ง แต่จะไม่เน้นปก หรือความสวย เน้นแต่ text ที่สามารถอ่านได้เท่านั้น ถ้ามีใครนำไปเปิดที่เมืองไทย คงดีนะคะ ยิ้ม

วันนี้ทักทายแค่นี้ก่อนนะคะ ยินดีเป็นอย่างมากที่ได้รู้จักคนเก่งที่มีความตั้งใจอย่างคุณนนท์นะคะ

ขอแสดงความนับถือ
หนึ่งค่ะ (ผู้ยังไม่ (อยาก) อาวุโส) ยิ้ม ยิ้ม ค่ะ

ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 22/06/2008
คุณผู้อ่านถามมาแต่ละคำถาม ต้องยกหนังสือเป็นเล่มๆ มาตอบกันเลยทีเดียว ช่วงนี้ผมงานรัดตัวนิดหน่อย (ว่าจะเลิกบรรยายเรื่องการบริหารเวลาแล้วละ!) จึงยังไม่มีสมาธิดีพอที่จะอภิปรายเรื่องนี้ ขอเว้นวรรคไปโอกาสหน้าก็แล้วกันนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 23/06/2008
ขอโทษ อ.วสันต์ ด้วยครับ ที่ทำให้ อาจารย์ต้องลำบาก

ไม่เป็นไรครับ
ถ้าตอนนี้อ.ยังไม่สามารถตอบได้
ถ้าอาจารย์ว่างเมื่อไรค่อยตอบก็ได้ครับ

ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 24/06/2008
เรียนคุณหนึ่ง (ยิ้ม ยิ้ม ครับ)

ขณะที่ผมเขียนตอบอยู่นี้.. เท้าผมไม่ได้อยู่ติดพื้นครับ เพราะตัวผมลอยอยู่ อันเนื่องมาจากคำชมของคุณหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมพิมพ์ไม่ถนัด หากว่าพิมพ์ผิดขึ้นมาคงต้องโทษคุณหนึ่งนะครับ

ขอขอบคุณและต้องบอกว่าชื่นในใจครับ ทั้งจากคำชมและความกรุณาที่คุณหนึ่งช่วยแนะนำเวบไซด์ นันท์บุ๊ค ให้กับชาว SOGR
ความจริงผมเห็นรายละเอียดเวบไซด์ SOGR จากหนังสือของคุณหนึ่ง ตั้งแต่ตอนซื้อ ช่วงหนังสือออกใหม่ๆ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ขอเรียนว่า พึ่งได้มีโอกาสได้เข้าไปเมื่อเร็วๆ นี้เอง หลังจากที่ท่านอาจารย์วสันต์ได้แนะนำไว้ในกระทู้ก่อนหน้านี้ว่าถ้ามีโอกาสให้ลองแวะไปเยี่ยมเยือนดูได้ และพบว่ามีความอบอุ่นในรูปของมวลพลังงาน ลอยอยู่ให้ผู้ที่เข้าไปเยี่ยมเยือนสัมผัสได้

ส่วนเรื่องของความเป็น ผู้อาวุโส ผมคงต้องขอยืนยัน.. แต่สำหรับคุณหนึ่ง ผมขอยืนยันเฉพาะเรื่องคุณวุฒิครับ ไม่เกี่ยวกับวัยวุฒิ เพราะจากที่เคยเห็นคุณหนึ่งในรายการสุริวิภานั้น ต้องขอเรียนว่า ยังไม่ถือว่าอาวุโสทางวัยวุฒิครับ ส่วนท่านอาจารย์วสันต์ ผมเห็นด้วยกับคุณหนึ่งว่าช่างเหมาะสมทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ เรียกว่าครบ TWO IN ONE เลยแหละ (เราพูดความจริงกันแบบนี้ อาจารย์คงไม่ว่าอะไรใช่ไหมครับ คุณหนึ่ง)

อย่างไรต้องขอบคุณ คุณหนึ่งและท่านอาจารย์ อีกครั้ง สำหรับความกรุณาที่มีให้ครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 25/06/2008
เรียน คุณผู้อ่าน

เรื่องความเห็นเกี่ยวกับ “ความเชื่อ” นั้น จริงอย่างที่ท่านอาจารย์วสันต์บอกว่า เป็นการตอบที่ครบรอบด้านได้ยากจริงๆ แบบว่าต้องยกหนังสือเป็นเล่มๆ มาตอบกันเลยทีเดียว
เอาเป็นว่าผมจะขอลองชวนคุณผู้อ่าน วิเคราะห์และพิจารณาความ ตามวิธีของผมก็แล้วกันนะครับ ก็ไม่รู้ว่าจะนำพาให้เกิดความเห็นไปจนถึงจุดไหนได้บ้าง
ขอเริ่มจากมาดูกันว่า “ความเชื่อ” มันเกิดมาจากอะไรก่อน แล้วทำไมมันถึงได้สถาปนาตนเองกลายเป็น “ความเชื่อ” ขึ้นมาได้ และมันทำให้เกิดอะไรในชีวิตเรา แล้วเราจะเลิกมันได้จริงหรือ ?


“ความเชื่อ” ของเรา เกิดขึ้นจากอะไร ?
แล้วทำไมมันถึงสถาปนาตนเองขึ้นมาได้ ?
จุดเริ่มต้นของ “ความเชื่อ” ของเรา เท่าที่ผมนึกได้ น่าจะเกิดขึ้นจาก 2 + 1 เหตุ คือ

เหตุที่ 1 >>
เริ่มต้นตรงที่ มีคนบอก “ข้อมูลบางอย่าง” ซึ่งหมายรวมถึง ทั้งสิ่งที่เราได้ยินมาหรือได้อ่านมา ก็ตาม (แต่ไม่เคยพบ เห็น หรือว่าประสบ ด้วยตนเอง)

เริ่มทีแรก “ข้อมูลบางอย่าง” ที่เราได้ยินหรือได้อ่านมานั้น มันจะกลายเป็นเค่ “ความรู้” ก่อน มันจะยังไม่ได้สถาปนาเป็น “ความเชื่อ” ในทันที (ซึ่งมีหลายๆ สิ่งในชีวิต ที่เราแค่รู้ แต่ยังไม่เชื่อ)
หลังจากนั้นไอ้เจ้า “ข้อมูลบางอย่าง” หรือ “ความรู้” นี้ มันจะสถาปนาตนเอง จนกลายเป็น “ความเชื่อ” ได้สำเร็จ ก็ต่อเมื่อมันมี “ความเชื่อเดิม” ของเรา (ที่เรามีอยู่ก่อนหน้านั้น) มาช่วยยืนยันหรือประกอบกับมัน

ตัวอย่างเช่น หากว่าตัวเรามี “ความเชื่อเดิม” ที่เกี่ยวข้องกับ คนที่บอก หรือคนที่เขียน ข้อมูลนั้น ว่าเป็นคนที่เชื่อถือได้ เราก็จะสถาปนา “ความรู้” อันใหม่นี้เป็น “ความเชื่อ” อันใหม่ เพื่อเก็บไว้ใช้ต่อไป
หรืออีกกรณีหนึ่ง เช่น ไอ้เจ้า “ความรู้” ใหม่นี้ มันดันมีแนวโน้มไปสอดคล้องกับ “ความเชื่อเดิม” ที่เรามีอยู่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ก็จะเกิดการเข้าไปผสมผสานกันกับ “ความเชื่อเดิม” ให้เป็น “ความเชื่อ” ที่ถูกต่อยอดให้แข็งแรงยิ่งขึ้นไปอีก (ภาษาธรรมะ เรียกขบวนการนี้ว่า ปรุงแต่ง)
(ซึ่งหมายรวมถึง การใช้ความคิดในระบบ “เหตุและผล” ใดๆ ของเราก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนั้น ที่มีฐานมาจาก “ความเชื่อเดิม” ของเราในอดีต และเรามักจะนึกว่า การใช้เหตุผล เพื่อยืนยันกับโลก หรือกับผู้อื่น ตามระบบนี้ ถูกต้องเสมอ)

ทั้งหมดคือ ที่มาและขบวนการสถาปนา “ความรู้” ไปสู่ “ความเชื่อ” ซึ่งหากเราเห็นหรือเข้าใจขบวนการเกิดนี้ เราก็สามารถใช้ไถ่ถอน “ความเชื่อเดิม” ที่ไม่ต้องการได้ และใช้สถาปนา “ความเชื่อ” อันใหม่ ให้เติบโตได้เช่นกัน

เหตุที่ 2 >>
จุดเริ่มต้นเท่านั้นต่างกัน ตรงที่แบบนี้ เราได้พบเห็น หรือประสบกับเหตุการณ์บางอย่าง ด้วยตนเอง (ไม่ได้รับรู้ข้อมูลบางอย่างจากที่คนอื่นบอกมา)
ขณะที่เราสัมผัสด้วยตนเองนั้น ก็จะมีการแปรรูปเป็น “ข้อมูลบางอย่าง” เข้าสู่สมองกลายเป็น “ความรู้” และจากตรงนี้ ก็จะเกิดการสถาปนาเป็น “ความเชื่อ” ต่อไป ซึ่งก็ด้วยขบวนการเดียวกันกับแบบที่ 1

แต่ทั้ง 2 ต้นเหตุ ที่ทำให้เกิดขบวนการสถาปนานี้ จุดสำคัญอยู่ที่การ “สรุป”
ผมขอเน้นคำว่า “สรุป” ก็เพราะว่า ในทุกๆ การเกิดขบวนการสถาปนาจนสำเร็จ โดยการนำเอาฐาน “ความเชื่อเดิม” ของเราที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น มาประมวลผลหรือปรุงแต่ง จะต้องเกิดการตัดสิน เพื่อ “สรุป” ว่า “เชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” จึงจะจบขบวนการ ซึ่งไม่ว่าผล “สรุป” จะเป็นแบบไหน ก็ยังคงเป็น “ความเชื่อ” อย่างใดอย่างหนึ่ง เก็บไว้ใช้ต่อไปอยู่ดี

ยกเว้นการสถาปนา หรือการประมวลผล หรือปรุงแต่งนั้น ไม่มีการ “สรุป” ใดๆ หรือไม่ยอมปล่อยให้เริ่มต้นเกิดขบวนการนั้นเลย หยุดมันเสียก่อน มันก็จะเป็นแค่ “ความรู้” เฉยๆ อยู่แค่นั้น
และผมเคยตั้งสังเกตว่า “ความเชื่อ” ที่เกิดขึ้นจากทั้ง 2 เหตุ ข้างต้นนี้ มักจะถูก “สรุป” ผล ด้วยการตัดสินว่า ถูกหรือผิด และ ชอบหรือไม่ชอบ ประกอบควบเอาไว้กับ “ความเชื่อ” นั้นด้วยเสมอ

ประเด็นต่อมา “ความเชื่อ” อันเกิดจากทั้ง 2 เหตุนี้ จัดอยู่ในประเภทเป็น “ความเชื่อ” แบบสมมุติ และฝากให้ “ระวัง” ในการใช้ “ความเชื่อ” ที่เกิดขึ้น ใน 2 รูปแบบนี้ เพราะ “ความเชื่อ” นี้ มันไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดจากฐานของสิ่งที่เป็น “ความจริง” ที่คงทนถาวร เราไม่สามารถใช้ความเชื่อนี้ไปตลอดได้ เพราะมันเป็น “ความเชื่อ” บนฐานของ “ความเชื่อเดิม” ก่อนหน้านั้น หรือจากฐานของอดีต แค่เท่าที่เราเคยมีประสบการณ์สะสม และปรุงแต่งเอาไว้ มันจึงไม่แน่นอนว่าจะเป็น “ความจริง” ในปัจจุบันอย่างแท้จริง และมันจะไม่แน่นอนว่าจะเป็น “ความจริง” ในอนาคตด้วย

สมมุติผมลองตั้งคำถามว่า ตอนนี้เราเชื่อว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ใช่หรือไม่ ?
เราคงตอบว่า “ใช่ครับ” เพราะอะไร ? นั่นก็เพราะว่าเราเห็นอยู่ทุกวัน ว่ามันขึ้นทุกเช้าทางทิศตะวันออก เมื่อวานนี้ก็ขึ้น วันก่อนมันก็ขึ้น จำได้ว่าตั้งแต่ตอนเด็ก คุณครูก็สอนว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก แต่เราจะ “ยึด” มั่น “ความเชื่อ” นี้ไว้แบบมั่นคงทนถาวร คงไม่ได้ เราคงยืนยัน “ความเชื่อ” นี้ได้แค่ในขณะนี้ อาจแค่ตั้งแต่เราลืมตาดูโลกเห็นมันขึ้น จนถึงวันที่เรามีชีวิตมาถึงตอนนี้ เพราะเราไม่แน่ใจว่า ตอนกำเนิดจักรวาล พระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออก หรือเราก็ไม่กล้าที่จะเชื่อว่า ในอนาคตพระอาทิตย์จะยังคงขึ้นทางทิศตะวันออกไปตลอด

หากจะพูดตามข้อหลักธรรมก็คือว่า ก็ในเมื่อทุกสิ่งล้วนไม่แน่นอน แปรเปลี่ยนอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้นเราจะเอา “ความเชื่อ” ของสิ่งที่เกิดเมื่อวันวาน มาประกอบเป็น “ความเชื่อ” ของวันนี้ รวมทั้ง ยึดมั่น เอาไปใช้ในอนาคต คงไม่ได้

มาถึง “ความเชื่อ” ที่สถาปนาตนขึ้นจากอีกเหตุ (ที่ผมทำเครื่องหมาย +1 เอาไว้)
นี่เป็น “ความเชื่อ” อีกแบบหนึ่งครับ เป็น “ความเชื่อ” ที่เกิดขึ้นจากการได้เห็น ได้รู้ ได้สัมผัส “ข้อมูลบางอย่าง” ที่เป็น “ความจริง ที่ไม่เปลี่ยนแปลง”
เป็น “ความเชื่อ” ที่เกิดต่อ “ความจริง ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ” นั้น และมันก็จะเป็น “ความเชื่อ” ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน

ตัวอย่าง “ความจริง” ชนิดนี้ ก็เช่นที่เราคงเคยได้ยินมาบ้าง เช่น “ทุกสิ่งไม่แน่นอน” หรือ “ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย” เป็นต้น เพียงแต่ว่า เราเกิดมี “ความเชื่อ” ต่อสัจจะธรรมหรือข้อธรรมเหล่านี้ ด้วยเหตุที่เป็นจุดเริ่มเช่นไร

เราอาจเกิด “ความเชื่อ” ต่อ “ความจริง ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ”นี้ จากการได้ยิน หรืออ่านมา เช่น จากครูบาอาจารย์ จากผู้ที่เรานับถือ ศรัทธา หรือแม้แต่พระพุทธเจ้า ซึ่ง “ความเชื่อ” ต่อ “ความจริง ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ” อันเป็นสัจจะธรรมหรือข้อธรรมด้วยวิธีนี้ ก็จะยังคงไม่มั่นคงลงได้ เพราะมันมาจากฐาน ของ “ความรู้” ที่เชื่อตามเขาว่ากันมา (อันนี้ คือ กาลามสูตร ของพระพุทธเจ้า)

หรือหากว่ามันเป็น “ความเชื่อ” ที่เกิดขึ้นจากการที่เราได้มีประสบการณ์ เห็น รู้ สัมผัส “ความจริง ที่ไม่เปลี่ยนแปลง” นั้น ด้วยตัวของเราเอง เห็นแจ้งในจิต จนมันสถาปนาตนเป็น “ความเชื่อ” ขึ้นในใจเรา การเกิดความเชื่อเช่นนี้ จึงจะเป็น “ความเชื่อ” ที่มั่นคง และใช้เป็น “ความเชื่อ” ถาวรไม่ต้องกลัววันเปลี่ยนแปลง เพราะไม่ได้เป็น “ความเชื่อ” ที่ตั้งบนฐานของ “ความรู้” ที่ไม่เป็นนิรันดร์


ทีนี้มาถึงข้อที่ว่า “ความเชื่อ” แต่ละแบบมันทำให้เกิดอะไรบ้างในชีวิตของเรา
“ความเชื่อ” จาก 2 เหตุแรกนั้น เป็น “ความเชื่อ” ที่ทำให้เราวนๆ อยู่ในโลกนี้ แบบเกิดความวุ่นวาย แบบที่คุณผู้อ่านกับผมเป็นอยู่นี่แหละ เพราะมันเป็น “ความเชื่อ” แบบที่เราสะสมและยึดไว้เป็นฐาน เอาไว้ตัดสินสิ่งที่เกิดใหม่ ที่เราเผชิญอยู่ในทุกๆ ขณะของปัจจุบัน ซึ่งมันส่งผลถึงอนาคตของเราให้เป็นไปตามการตัดสิน ตามฐาน “ความเชื่อ” เดิมนั้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มพูนหรือสร้าง “ความเชื่อ” อันใหม่ เอาไว้ตัดสินสิ่งที่ต้องเผชิญต่อไปเรื่อยๆ

และมวลรวมของ “ความเชื่อ” ทั้งหลาย ต่อทุกมิติของชีวิตของเราที่เรามีสะสมไว้นี้ คือ สิ่งที่เป็น “อัตตา” หรือตัวตนของเรานี่เอง
มันคือ เปลือกหุ้ม หรือกระจกที่เราเอาไว้สะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และใช้ต่อยอดทุกสิ่งในชีวิต ซึ่งจะนำพาเราไปสู่สิ่งดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็ว่ากันไป


แน่นอนว่า เราทุกคนอยากต่อยอดทุกสิ่งของชีวิตของเรา ให้พบแต่สิ่งดีๆ เราจึงอยากล้างฐาน “ความเชื่อ” ที่ไม่ดีเดิมๆ ออก และสร้าง “ความเชื่อ” อันใหม่ที่ดีๆ เข้าไปเก็บเอาไว้เป็นฐานแทน
อยากบอกว่า บางทีเราต้องรู้ทันและระวัง “ความเชื่อ” ที่เราคิดว่าดีบางอย่าง ว่าเราไม่ได้เข้าใจผิดไป เรามักเผลอไปชอบมัน และว่ามันดี เนื่องจากบางครั้ง “ความเชื่อ” นั้นก็เป็นหรือช่วยสร้าง COMFORT ZONE ให้เราได้ชั่วคราว (ชอบศัพท์คำนี้ของท่านอาจารย์วสันต์ครับ ขอยืมใช้หน่อยนะครับ)


ตัวผมเองมีวิธีที่พยายามใช้ เอาไว้แก้ปัญหาเดียวกันกับที่คุณผู้อ่านต้องเผชิญ ในเรื่องการแก้ “ความเชื่อ” ที่ไม่ดีต่างๆ หรือใช้รักษา “ความเชื่อ” ที่ต้องการ ให้เกิดความมั่นคง โดยผมเลือกใช้ตามแต่สถานการณ์หรือกำลังของสติ ดังนี้ครับ

1. บางครั้งเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผมก็ใช้วิธีแบบที่คุณผู้อ่านใช้อยู่นั่นแหละครับ คือ วิธีเติม “ความเชื่อ” อันใหม่เข้าไป เติมเยอะๆ ให้มันใหญ่กว่า หนากว่า หรือแข็งแรงกว่า “ความเชื่อเดิม” ที่เราไม่ต้องการ
วิธีการทำให้มันใหญ่กว่า หนากว่า หรือแข็งแรงกว่า “ความเชื่อเดิม” ก็ใช้วิธี หนามยอกเอาหนามบ่งครับ เลียนแบบวิธีที่ “ความเชื่อเดิม” มันใช้สถาปนาตนขึ้นมาจนแข็งแรงนั่นแหละ (ตามขบวนการหรือ “เหตุ” ที่ทำให้เกิด “ความเชื่อ” ข้างต้น)
เราก็ปรุงแต่ง ต่อยอดมัน ให้มหึมา มโหระทึก เท่าที่อยาก วิธีที่คุณผู้อ่านใช้ แค่พูดหน้ากระจก มันค่อนข้างเบา ต้องใช้เวลานาน ควรหา “ความเชื่อเดิม” ที่สอดคล้องกับเรื่องนั้น ที่แข็งแรงๆ ที่เรามีสะสมอยู่ มา SUPPORT ให้ทุกแง่ทุกมุม จะช่วยได้มากครับ

แต่วิธีนี้ ต้องพึงระวังการเผลอสร้างสิ่งที่ไม่ใช่ “ความจริง” เป็น “ความเชื่อ” เดี๋ยวต้องมาคอยรื้อทิ้งภายหลัง เหนื่อยกว่าเดิมอีก
อีกอย่างหนึ่ง “ความเชื่อ” ที่เกิดขึ้นนี้ มันก็จะไม่มั่นคงถาวร อย่างที่คุณผู้อ่านเป็นนั่นแหละครับ เวลาเผลอๆ มันก็จะซวนเซ พ่ายแพ้ต่อ “ความเชื่อเดิม” ที่แอบโผล่มาเสมอๆ

2. แบบนี้เป็นแบบที่เอาไว้ เข้าไปแก้ “ความเชื่อเดิม” ครับ เริ่มโดยการหยิบเอา “ความเชื่อเดิม” ที่ต้องการลบล้างนั้นขึ้นมา แล้วพิจารณาว่ามันคือ “ความเชื่อ” เกี่ยวกับอะไร (อาจไม่ใช่แค่คิดในใจ อาจเขียนออกมาเลยก็ดีครับ) เสร็จแล้ว ลองสืบสาวมัน ค้นมันไปให้ถึง “เหตุ” ของ “ความเชื่อ” นั้นของเรา ว่ามันย้อนไปถึงเหตุต้นเรื่องลึกสุดว่า เพราะอะไร เกิดจากใคร หรือเหตุใด มันได้สร้างความยึดโยงมาจากสิ่งใด และทั้งยึดโยงกับอะไรอยู่บ้าง วินิจฉัยมัน เห็นขบวนการสถาปนาตนของมัน ว่ามันใหญ่โตขึ้นมาจนถึงปัจจุบันอย่างไร (ตามขบวนการหรือ “เหตุ” ที่ทำให้เกิด “ความเชื่อ” ข้างต้น นั่นแหละ )

เมื่อใดที่เรา “เห็น” ขบวนการเกิดนี้ได้ “ความเชื่อ” นั้นจะถูกคลายออกจากความยึดติดของเราได้ ไม่มากก็น้อย หรืออาจบางที ถึงกับปล่อยวางไปได้เลยครับ เพราะเราแอบไปรู้เท่าทันมันเข้าครับ

3. วิธีสุดท้าย เป็นวิธีที่ผมใฝ่ฝัน พยายามฝึกฝนพัฒนาตน ให้ใช้ได้อยู่ในทุกขณะ ก็คือ ผมพยายาม “รู้เท่าทัน” หรือ “เห็นให้ทัน” ขบวนการสถาปนา หรือประมวลผล หรือปรุงแต่ง จนถึงขั้นตัดสินหรือ “สรุป” ของทุกสิ่งที่ผมกำลังเผชิญอยู่ในทุกๆ ขณะ ว่าขณะนั้นผมได้รับรู้สิ่งต่างๆ หรือเผชิญเหตุการณ์นั้นๆ แบบรู้เท่าทัน ไม่เผลอเอา “ความเชื่อเดิม” มาเป็นฐานในการตัดสิน

ซึ่งเทคนิคที่ง่ายๆ แต่ทรงประสิทธิภาพที่สุด ก็คือ “ต้องไม่ตัดสิน” (ตามที่ ดีพัค โชปรา ได้พูดไว้ใน กฎข้อที่ 1 ของหนังสือ) เพื่อจะได้ไม่เผลอไปสร้าง “ความเชื่อ” อันใหม่บนฐาน “ความเชื่อเดิม” ที่เราก็เผลอสร้างไว้ในอดีต เราแค่รับรู้มันไว้เป็น “ความรู้” ก็พอ (ที่ผมพูดมานี้ ผมยังคงเป็นนักเรียนฝึกหัดอยู่นะครับ อย่าเข้าใจผิดว่าทำได้เก่งแล้ว)

วิธีที่ 3 นี้ ช่วยทำให้เรามองข้าม “ความเชื่อเดิม” ที่ไม่ดีที่เรามีอยู่ได้ ถึงแม้ว่าเรายังแก้ไขมันออกไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะบางครั้งเราก็ค้นหามันไม่พบ เนื่องจากบาง “ความเชื่อเดิม” มันแอบซ่อนตัวเก่งหรืออยู่ลึกมาก ด้วยว่าเราเองก็ไม่รู้ตัวว่ามันเกิดมาตั้งแต่หนไหน ซึ่งด้วยวิธีนี้จะ ทำให้เราไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมัน

ทั้งหมดมันก็วนกลับมาสู่จุด ที่ให้เราได้พยายามดำรงชีวิตอย่างรู้ตัวอยู่ในทุกขณะ วนกลับมาเรื่อง การมีสติกับปัจจุบันขณะ เช่นเคย
จริงๆ แล้ว คำตอบต่อคำถามทั้งหมด ไม่ว่าคุณผู้อ่านหรือผมจะใช้วิธีไหน เราย่อมพบปัญหาเดียวกันคือ ความขึ้นๆ ลงๆ ของความมั่นคงในจิตใจ เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวมั่นคง เดี๋ยวอ่อนแอ ตราบใดที่เรายังไม่ “แข็งแรงอย่างแท้จริง”

ความ “แข็งแรงอย่างแท้จริง” ที่ต้องเกิดขึ้นจากการเข้าใจถึงความเป็นไปของสิ่งทั้งมวล เห็นความเป็นไป เห็นถึงความไม่แน่นอนของสิ่งทั้งหลาย แล้วขึ้นอยู่เหนือความไม่แน่นอน เหนือการแบ่งแยกของความคิด อันนำไปสู่ความแบ่งแยก ตัดสิน พอใจ ไม่พอใจ ซึ่งทั้งหมดเป็นการเห็น ที่ต้องปรากฏแก่ใจภายในของเราเอง

ผมว่าเราก็ อย่าไปวิตกหรือทุกข์กับมันนัก อย่าไป “สรุป” ไว้เป็น “ความเชื่อ” ว่ายากเย็นหรือทำไม่ได้ วันนี้ทำได้ พรุ่งนี้ทำไม่ได้ ก็ค่อยๆ เผชิญ เรียนรู้ พัฒนาไป ค่อยๆ เห็นมัน เห็นความเป็นไปของมัน ว่าความไม่แน่นอนมันก็เหมือนที่เราเองเป็นอยู่ ที่เดี๋ยวทำได้ เดี๋ยวทำไม่ได้นี้นั่นแหละ เมื่อเริ่มเห็นขบวนการเกิดขึ้นของมัน การเห็นก็จะเริ่มชัดเจนขึ้นๆ แล้วเราก็จะแข็งแรงขึ้นๆ เองโดยอัตโนมัติ

โอ้.. ตอบมาซะยาวยืดอีกแล้ว เหตุก็เพราะกลัวไม่ชัดเจน สมกับที่คุณหนึ่งได้กล่าวชมผมเอาไว้ (ล้อเล่นครับ.. ยิ้ม ยิ้มครับ)
ความจริงเป็นเพราะ ผมต้องการให้ชัดเจนในใจของตัวผมเองซะมากกว่าครับ

แต่ทั้งหมดนี้ เป็นความเห็นอันเกิดจาก “ความเชื่อเดิม” ของผมนะครับ คุณผู้อ่านอย่าเชื่อในทันทีครับ คุณผู้อ่าน แค่พิจารณาเก็บไว้เป็นเพียง “ความรู้” ลอยๆ อย่าพึ่งไปสถาปนายกระดับมันเป็น “ความเชื่อ” อันใหม่ จนกว่าจะได้มีหรือเห็น “ข้อมูลบางอย่าง” ปรากฏขึ้นแก่ใจคุณผู้อ่านด้วยตัวเองครับ

ขอบคุณครับ ที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 25/06/2008
กระจ่างครับ
ขอบพระคุณมากครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 25/06/2008
ขออนุญาตโพสคำถามใหม่ครับ
เป็นอีกคำถามที่ผมสงสัยมานานครับ
(ขอโทษด้วยครับที่โพสคำถามบ่อยๆ เพราะคำถามแบบนี้
ไม่ร้จะไปถามใคร )

ผมเองเป็นเด็กสายวิทย์ ไม่ค่อยมีหัวทางศิลป์ เท่าไร
ดังนั้นอะไรที่ผมคิดออกมาค่อนข้างจะอยู่ในกรอบครับ
ซึ่งแตกต่างจากพวกเด็กสถาปัตย์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าความคิดแต่ละความคิดที่ออกมานั้น "ติ๊ส" มาก(ย่อมากจาก artist)
ผมอยากทราบว่า การจะคิดแบบ "ติ๊ส" หรือสร้างสรรค์ แบบนี้สามารถฝึกฝนได้หรือไม่
แล้วมีหนังสือใดที่แนะนำให้อ่านในการฝึกคิดแบบนี้
เท่าที่ผมเข้าใจมันคือ สมองซีก ซ้าย กับ ขวา หรือเปล่าครับ
หรือเกิดจากจิตที่สงบแล้วคิดออก เหมือนกัน ดร.อาจอง ที่คิดการลงจอดของยานอวกาศได้ตอนเดินจงกรม
ขอบพระคุณมากครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน (อีกแล้ว) ตอบเมื่อ : 25/06/2008
พระเจ้าช่วย ประทับใจจ๊อด คุณนันท์ ละเอียดยิบเช่นนี้ เป็นวิทยาทานได้ดีเหลือหลายรวมรวบพิมพ์อีกเล่มได้เลยค่ะ ยิ้ม ยิ้ม

ของดิฉันก็มีเทคนิคมาแชร์เล็กๆน้อยๆ แต่ช่วงนี้ประชุมบ่อยมาก ขอให้เคลียร์เวลา แล้วกลับมาคุยกันนะคะคุณผู้อ่าน

Keep up the good work kha khun nun!
ชื่อผู้ตอบ : nung kha ตอบเมื่อ : 26/06/2008
ขอตอบพร้อมสิทธิที่ถูกพาดพิงด้วยนะครับ เพราะในฐานะที่เป็นอดีตนักเรียนสถาปัตย์เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมและเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันมา เคยถกกันอยู่เหมือนกัน

จากคำถามที่คุณผู้อ่านเขียนมา ผมคิดว่ามีคำหลายคำที่เราคงต้องมาพิจารณา เพื่อเข้าใจความหมายให้ตรงกัน แต่เอาเป็นว่าลองเอาตามของผมก่อนก็แล้วกัน

ผมขอวาดภาพให้คุณผู้อ่านนึกตามผมดังนี้ก่อนนะครับ เริ่มจากสมมุติว่ามีคนอยู่ 2 ซีก ซึ่งต่างกันคนละขั้ว
ซีกที่ 1 เป็นพวกที่มีธรรมชาติประจำตัว(หรืออาจถูกสอนมา) ให้เน้นตรรกะ เน้นหลักการตามเหตุผล ต้องเกิดผลเป็นรูปธรรม ที่วัดผลได้จริง
ซีกที่ 2 เป็นพวกที่มีธรรมชาติประจำตัว(หรืออาจถูกสอนมา) ไม่ชอบตรรกะหรือเหตุผล เน้นเอาแต่ตามความรู้สึก อารมณ์ จินตนาการ ที่อยู่ข้างใน

ปัญหาเรื่องความต่างของคน 2 ซีกนี้ ก็คือ
ซีกที่ 1 มักจะเกิดความรู้สึก(หรือถูกมองว่า) เป็นพวกไม่มีความรู้สึก เชิงอารมณ์ จินตนาการ
ซีกที่ 2 มักจะเกิดความรู้สึก(หรือถูกมองว่า) เป็นพวกไม่มีตรรกะ เหตุผล เอาแต่อารมณ์ ชอบฝันฟุ้งไปเรื่อย

ซึ่งถ้าเป็นความหมายของ “การมีความคิดสร้างสรรค์” ในแบบของผมแล้วละก็ เราคงยังสรุปไม่ได้ว่าคน 2 กลุ่มนี้ ใครมีความคิดสร้างสรรค์กว่ากัน

การอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 ซีกนี้ ให้ได้ น่าจะเป็น “การมีความคิดสร้างสรรค์” ที่ใช่ ในความเห็นของผม ซึ่งเกี่ยวพันกับ “การมีความคิดสร้างสรรค์” ที่ผมสรุปไว้ เป็น 2 ระดับ
ระดับแรก เป็นการสร้างสรรค์ในระดับของความคิด (หรือใครจะเรียกว่าระดับจิตสำนึกก็คล้ายๆ กันครับ)
ระดับสอง เป็นการสร้างสรรค์ในระดับเหนือการใช้ความคิดแบบปกติ (ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าระดับจิตใต้สำนึกได้หรือเปล่า)

ทั้ง 2 ระดับนี้ อาจอธิบายให้เข้าใจได้ยากเสียหน่อย (แต่อยากให้เห็นภาพว่า “การมีความคิดสร้างสรรค์” ความจริงก็คือ กระบวนการปรุงแต่งข้อมูลของจิต เพื่อสรุปผล นั่นเอง)

การสร้างสรรค์ในระดับของความคิด ที่เป็นระดับแรกนั้น เป็นการสร้างสรรค์โดยใช้สมองเป็นกลไก โดยเอา “ความรู้” และ “ความเชื่อ” เดิมเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น เป็นฐาน และผูกโยงเป็นเหตุผลต่อกันในการคิด ซึ่งตรงนี้ผู้คิดมักมีอาการแบบที่คุณผู้อ่านบอกว่าชอบติดอยู่ในกรอบนั่นแหละครับ
คำว่ากรอบในที่นี้ หมายรวมถึง “ความเชื่อ” เดิม ในเชิงที่ตัดสินว่า ถูกกับผิด หรือชอบกับไม่ชอบ ที่เคยสรุปแนบไว้กับ “ความเชื่อ” นั้นของตนด้วย
ไอ้ตัวสรุปแนบนี่แหละสำคัญ ตัวทำให้ความคิดตัน เพราะมันเป็นข้อมูลเชิงอารมณ์ที่เป็นตัวสร้างความยึดติด หรือจะเรียกว่าเป็นการกำกับขบวนการคิดนั้นไว้ด้วยอัตตา ก็ได้ ซึ่งมันทำให้กระบวนการคิดเพื่อสร้างสรรค์นั้นมันมักถูก BLOCK ติดขัด ไม่โปร่งโล่ง เป็นอิสระ และได้ผลลัพย์ที่สัมฤทธิ์ผลโดยแท้จริง ดังนั้นจึงต้องระวังและรู้ทันให้ดี
นอกจากนี้มันยังมีกรอบด้าน “ความรู้” ที่มีจำกัดเท่าที่เรารู้อยู่ในขณะนั้น เป็นข้อจำกัดร่วมอยู่ด้วย

ปัญหานี้เป็นปัญหาพื้นฐานของคนทำงานในทุกแวดวง ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นพวกที่เรียนวิทย์ ที่ทำงานในสายวิทยาศาสตร์ หรือสายบริหาร เท่านั้น ผมว่าคนที่ทำงานในสายศิลปะก็เป็นครับ

ผมจำข้อความหนึ่งที่เคยอ่านเจอตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนอยู่สถาปัตย์ ของท่าน ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ (ศิลปินแห่งชาติ ประมาณรุ่นเดียวกับท่านอังคาร กัลยาณพงศ์) ท่านบอกเอาไว้ว่า
“ความมีอิสระเสรี (ในการสร้างสรรค์งาน) ที่ร่ำร้องเรียกหากันนั้น ต้องเกิดขึ้นจาก การรู้ถึงสิ่งที่ติดแน่นอยู่ในตน และชนเป็นอันมากเสียก่อน”

ที่ชี้ประเด็นนี้ออกมาให้เห็นเพราะผมคิดว่าเป็นจุดสำคัญ ใครก็ตามที่จับทางหรือเห็นปัญหาการเกิดสิ่งนี้ของตนเองได้ ผมว่า ไม่ว่าอยู่ในอาชีพไหนก็จะพอหาทางออกในการสร้างสรรค์ได้ทั้งสิ้น ไม่จำเป็นว่างานที่ทำจะต้องเกี่ยวเนื่องกับความงามเท่านั้น ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักบริหาร นักกีฬา แม่ค้าส้มตำ ก็มีสภาวะการสร้างสรรค์ได้ครับ

แต่ประเด็นสำคัญพื้นฐาน คนๆ นั้นต้องมี "ทักษะ" และความชอบในสิ่งนั้นนะครับ เช่น ศิลปินฝันเห็นภาพในจินตนาการแต่วาดรูปไม่เป็นก็ไม่ได้ ทุกอาชีพต้องมีทักษะที่จะนำเสนอสิ่งสร้างสรรค์นั้นออกมาเป็นรูปธรรมได้ นักบริหาร นักพูด นักกีฬา ก็ต้องมีทักษะ และทักษะนี้นี่แหละ จะสร้างสิ่งที่เกิดขึ้น ให้เป็นความเฉพาะตัวของคนๆ นั้นเอง ซึ่งในทางกลับกันเราอาจเคยเห็นนักบริหาร หรือนักกีฬาที่มีทักษะดีเยี่ยม แต่ขาดการเล่นหรือการกระทำอย่างสร้างสรรค์เหมือนกัน

ทีนี้ขอใช้สิทธิที่ถูกพาดพิง ขอพูดถึงพวกเรียน “สถาปัตย์” ผมว่าพวกนี้ โดยเป้าหมายทางอาชีพเมื่อจบออกมา ทำให้จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเป็นคนอีกแบบหนึ่ง (ไม่ได้หมายความว่าพวกสถาปัตย์ เป็นพวกพิเศษนะครับ นักเรียนนิเทศศาสตร์ อักษรศาสตร์ ก็มีโจทย์เรียนทำนองนี้เหมือนกัน)

เดิมทีก่อนที่จะสอบเอนทรานซ์เข้าไปเรียนได้สำเร็จ นักเรียนก็เป็นพวกที่เป็นคนแบบ ซีกที่ 2 ซะเป็นส่วนใหญ่ (ตอนสอบเข้าก็ไม่รู้หรอกว่าต้องเข้ามาเรียนอะไร)
เมื่อเข้ามาเรียนแล้ว นักเรียนสถาปัตย์จะถูกโจทย์จากการเรียน กำหนดให้จัดกระบวนคิดหรือความฝันเฟื่องของตนเสียใหม่ ให้นำความฝันเฟื่องนั้นมาผสมกับเหตุผล และทำเป็นรูปธรรมให้ได้

เพราะงานสถาปัตยกรรมเป็นงานที่ต้องจับต้องได้ เข้าไปใช้สอยได้ คือ มีเหตุผลที่มาที่ต้องคำนึงถึง อันเกิดจากข้อมูลการใช้สอยของคนที่จะต้องเข้าไปอยู่อาศัย ขณะเดียวกันก็ต้องมีความงาม เชิงอารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้นด้วย
นอกจากนี้งานสถาปัตยกรรมเป็นงาน 3 มิติ ดังนั้นมิติในการคิดหรือจินตนาการก็จะซับซ้อน จึงถูกฝึกฝนให้ชำนาญการมอง และจัดการกับมิติที่ซับซ้อนได้ (ซึ่งเป็นทักษะที่สามารถเอาไปปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้พอสมควร)

ผมได้เรียนรู้ว่าขบวนการคิดแบบสร้างสรรค์นี้ จะสัมฤทธิ์ผล สามารถจัดการกับมิติที่ซับซ้อน จนเกิดลงตัวได้ ต้องมีจิตที่สงบครับ ยิ่งเหมือนน้ำใสนิ่ง ได้เท่าไหร่ยิ่งดี ก็จากขณะทำงานเรียนเพื่อส่งอาจารย์นี่แหละครับ (เรื่องจิตสงบนี้คล้ายๆ เรื่องการโยนก้อนหินลงสู่ผิวน้ำที่นิ่ง กับโยนตึกลงในทะเลที่ปั่นป่วน ที่ ดีพัค โชปรา พูดไว้ในในกฎข้อที่ 1 )

ดังเช่นที่คุณผู้อ่าน ยกตัวอย่างของ ดร.อาจอง มานั่นแหละครับ คือ การก้าวเข้าสู่สภาวะจิตระดับหนึ่งที่มีความสงบ ซึ่งในสภาวะนั้น “ตัวรู้” หรือที่เราเรียกว่า ปัญญา ก็จะเกิดขึ้น
เหตุที่เราเกิดตัวรู้หรือปัญญานี้ขึ้น ก็เพราะเราก้าวหลุดพ้นจากสภาวะแห่งความยึดติดในตน ต่อกรอบคิดแบบเอาแต่เหตุผล ต่ออัตตา ต่อความกลัวใดๆ จึงเกิดทางโล่งอันเป็น “อิสระของความคิดที่สมดุลย์” อย่างแท้จริง จนบางครั้งผล หรือทางออกก็จะผุดขึ้นตรงหน้า (ในใจ) เอง ตรงนี้คือสภาวะในการสร้างสรรค์ระดับสอง และเป็นการสร้างสรรค์อย่างแท้จริงในความเห็นของผม งานที่ปรากฎออกมาจากสภาวะนี้ เรามักจะเห็นได้ว่ามันช่างระดับเทพเสียจริงๆ

แต่อย่างไรเสีย ขั้นตอนนี้ต้องเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากการที่เราได้ศึกษาหรือวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับปัญหาหรือโจทย์นั้นๆ ไว้เป็นความรู้ เก็บไว้ในสมอง แล้วปล่อยวางสู่จิตระดับนี้
เคยไหมครับที่เราแก้ปัญหางานไม่ออก คิดเท่าไหร่ก็ไม่ใช่ซักที พอเปลี่ยนไป RELAX ดูหนัง เล่นกับหมา หรือ บางทีคิดออกได้ตอนเข้าห้องน้ำ ก็เพราะจิตมันปล่อยวางสิ่งที่ยึดติดเป็นกรอบไว้ลง หนทางก็ปรากฏขึ้นเอง

คุณผู้อ่าน เคยเห็นนักฟุตบอลชื่อ ซีเนอดีน ซีดาน อดีตทีมชาติ ชาวฝรั่งเศส หรือโรเจอร์ เฟดเดอเรอร์ นักเทนนิส หรือ ไทเกอร์ วูดส์ นักกอล์ฟมือ 1 ของโลกคนปัจจุบัน เล่นไหมครับ ?
เขาไม่ได้เล่นด้วยทักษะเพียงอย่างเดียว แต่ทักษะคือสิ่งที่ทำให้เขาสามารถสร้างสรรค์การเล่นของเขาได้อย่างใจปรารถนา ซึ่งเป็นความปรารถนาที่ไม่ใช่มาจากระดับความคิด(เพราะบางกีฬามันเร็วจนไม่ทันได้ใช้ความคิดในการแก้ปัญหา) เวลาที่คนพวกนี้ท็อปฟอร์ม มันเหมือนกับว่าขณะนั้นเขาได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของพระเจ้า หรือพระเจ้าทำงานผ่านเขาเสียด้วยซ้ำ พวกนี้เป็นนักสร้างสรรค์ในสาขาของเขาครับ

ผมมีคำสัมภาษณ์ของ ไทเกอร์ วูดส์ ที่อธิบายสิ่งนี้มาฝาก ดังนี้ครับ
“ถ้าจะอธิบาย ก็คือว่าลูกกอล์ฟมันไม่มีทางเลือกอื่น มันต้องลงหลุมอย่างเดียว แต่ผมก็อยากรู้สึกแบบนั้นตลอดเวลา แต่มันแค่เกิดขึ้นเอง ผมว่านะ.. โดยเฉพาะเวลาที่สมาธิของผมอยู่ในระดับสูงสุดตลอดไปจนจบทัวร์นาเมนท์ เวลาที่ทุกๆ อย่างเข้าที่เข้าทาง อะดรีนารีนสูบฉีด ผมเหมือนไหลเลื่อนไปกับมัน ในนาทีที่สมาธิผมอยู่ในระดับสูงสุด ผมจะเห็นทุกอย่างชัดเจน ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และพอนาทีแบบนั้นเกิดขึ้น มันเหมือนสิ่งมหัศจรรย์ ผมรู้สึกสงบเยือกเย็นที่สุด”

สุดท้ายผมมีตัวอย่างวิธีการเกิดความคิดสร้างสรรค์มาฝาก ผมได้วิธีนี้มาจากหนังเรื่องหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ หนังนานแล้วครับ พอจำเรื่องได้ว่า เป็นเรื่องของอดีตนักเขียน ที่ผลงานของเขาได้รับการยอมรับว่าเป็นระดับสุดคลาสสิค (แสดงโดย ฌอน คอนเนอรี่) กับเด็กหนุ่มผิวดำที่อยากเป็นนักเขียน
ฉากที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ตอนที่ ฌอน คอนเนอรี่ สอนเด็กหนุ่มให้หัดเขียน ทั้งสองคนต่างนั่งหน้าพิมพ์ดีดและหันหน้าเข้าหากัน แล้ว ฌอน คอนเนอรี่ ก็ชวนให้เด็กหนุ่มเขียนเรื่องๆ หนึ่ง พอกล่าวจบ ฌอน คอนเนอรี่ ก็ก้มหน้าก้มตาพิมพ์ดีดไป
สักพักหนึ่ง ฌอน คอนเนอรี่ หยุดพิมพ์ แล้วเงยหน้าขึ้นถามเด็กหนุ่มว่า “ทำไมนั่งเฉยๆ ไม่พิมพ์” เด็กหนุ่มตอบว่า “ยังคิดไม่ออกว่าจะพิมพ์อะไร”
ฌอน คอนเนอรี่ บอกเด็กหนุ่มไปว่าอย่างนี้ครับ “ใครบอกว่าต้องใช้ความคิด นึกอะไรออกก็พิมพ์ ลงไป เดี๋ยวค่อยใช้ความคิดมาจัดเรียง ไอ้ที่พิมพ์ไป ทีหลัง”

ผมชอบมาก ลองใช้วิธีนี้ดูครับ ผมใช้อยู่บ่อยๆ ได้ผลทีเดียวครับ

ว่าจะไม่ให้ยาวแล้วนะ มันอดไม่ได้ แต่ก็สั้นกว่าเรื่องที่แล้ว นะครับ


ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 27/06/2008

ขอบพระคุณ คุณนันท์มากครับ ที่เมตตาให้ความรู้เรื่องนี้กับผม

ผมเองและเพื่อนๆที่เรียนคณะวิศวะด้วยกัน มักเคยคุยกันว่า เด็กวิดวะไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์เท่าไร สู้พวก ถาปัตย์ กับ นิเทศ หรือ ศิลปกรรมไม่ได้
โดยเรามักพูดถึง งานที่เด็กถาปัตย์ทำ นอกจากงานทางสถาปัตยกรรม แล้วยังเป็นพวกงานทาง วงการบันเทิง (คุณปัญญาworkpoint , คุณกิ๊ก จมูกมด ฯลฯ)


บางทีอาจเหตุผลก็อาจเป็นเหมือนที่คุณนันท์ บอกมาก็ได้ครับ

ผมคิดว่า 2 เรื่องที่ผมถามมานี้(ความเชื่อ และ ความคิดสร้างสรรค์)
แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ หนังสือของ ดีปัค ช๊อบป้า แต่ผมก็คิดว่า คงจะต้องเป็นประโยชน์อย่างมาก กับทุกๆคน

ไม่มีหนังสือ ของพวกฝรั่งที่เค้า วิจัย เรื่องแบบนี้เลยหรอครับ
หรือบ้านเมืองเค้าไม่เคยมีคนสงสัยเหมือนผม???

ขอบพระคุณ คุณนันท์ อีกครั้ง
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 27/06/2008
เรียน คุณผู้อ่าน ว่ายินดี ด้วยความเต็มใจ และเท่าที่มีความเชื่อที่สรุปเอาไว้
ไม่ได้หมายความว่าจะถุกต้อง หรือครอบคลุมได้ทั้งหมด
หวังว่าถ้ามีผู้รู้ท่านอื่น ที่จะช่วยให้แง่มุมด้านอื่นๆ หรือแง่มุมที่แตกต่างกันไป
น่าจะยิ่งเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงครับ

ส่วนเรื่องหนังสือเกี่ยวกับเรื่องทั้ง 2 เรื่องนี้ ผมไม่ทราบเหมือนกัน เลยไม่รู้ว่าจะแนะนำอย่างไรเหมือนกัน
อาจต้องรอท่านอาวุโสทั้งสองของเรา แวะเวียนผ่านมา อาจได้คำตอบก็ได้ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 27/06/2008
พักนี้ บอร์ด ขาดอ.วสันต์ แล้วดูเงียบเหงานะครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 02/07/2008
อ่านคำถามของคุณผู้อ่าน และอ่านข้อคิดเห็นของคุณนันท์แล้ว มันไม่มีทางเงียบเหงาไปได้หรอกครับ..มันอาจจะเงียบ เพราะทำให้เราต้องสงบใจคิดตาม แต่ไม่เหงาแน่ๆ ไอ้ผมเองเสียอีก ที่อาจช่วยทำให้ไม่เงียบ แต่สุดท้ายก็กลับไปเหงาอย่างเก่า เพราะไม่ได้รู้อะไรเพิ่มขึ้นเลย (ฮา)

คุณนันท์ให้ข้อคิดเห็นในเรื่อง "ความเชื่อ" ไว้ค่อนข้างกระจ่างทีเดียวครับ ผู้รู้ทางด้านจิตวิญญาณส่วนใหญ่จึงพูดตรงกันว่าถ้าเราสามารถลบล้างความเชื่อเดิมของเราได้ เราก็จะสามารถเข้าถึง "ความจริงสูงสุด" ได้ในที่สุด ว่ากันว่ากว่า 80% ของความเชื่อเดิมของเรานั้น มักเป็นความเชื่อผิดๆ (ผิดไปจากความจริงสูงสุด) ที่สอนๆ กันเป็นวักเป็นเวรเพื่อแสวงหาความจริง เพื่อให้เข้าถึงความจริง นั้น ก็ล้วนเป็นการสอนให้เรารู้จักลด ละ เลิก ความเชื่อเดิมๆของเราเสียก่อนทั้งสิ้น เพราะนี่นับเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ทำให้เราเข้าไม่ถึง "ความจริงสูงสุด" เพราะถ้าเราเลิก "ต่อต้าน" ได้เพียงเท่านั้นแล้ว บางทีความจริงสูงสุดมันก็จะปรากฎขึ้นมาอย่างฉับพลันทันทีเลยทีเดียว เพราะก็อย่างที่ผู้รู้บอกไว้อีกนั่นแหละว่า "ความจริงสูงสุด" มันก็มิได้อยู่ที่ไหนเลย มันอยู่ในตัวของเราเองนี่แหละ มันขึ้นอยู่กับว่าเราอนุญาตยินยอมให้มันเผยตัวออกมาหรือไม่ โชคร้ายครับ คนส่วนใหญ่ไม่อนุญาต แต่กลับต่อต้านมันด้วยการตั้งค่ายกลไว้เสียแน่นหนา!!
ดังนั้น เมื่อเราไม่เคยยอมลด ละ เลิก "ความเชื่อเดิมๆ" เราก็มักจะเลือกเชื่อในสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว ผมเป็นวิทยากรมากว่ายี่สิบปี ได้พบความจริงที่น่าเศร้าใจว่าคนฟังนั้นเลือกจะฟังในสิ่งที่เขาคิดและเชื่ออยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วเท่านั้น อะไรที่แม้จะเป็นสิ่ง (ที่ผมคิดว่า) ใหม่และดีที่ผมนำมาบอกพวกเขา ถ้าไม่ตรงกับฐานอคติความเชื่อเดิมของเขาแล้ว เขาก็จะไม่ฟัง (ไม่ใช่ไม่เชื่อนะครับ เขาไม่ฟังเอาเลยทีเดียว!) คุณผู้อ่านและคุณนันท์เชื่อหรือไม่ว่าหลายครั้งผมก็พูดในเรื่องเดิมๆกับกลุ่มคนฟังเดิมๆ แต่หลายคนกลับรู้สึกว่าผมมีข้อมูลใหม่มาบอกได้ทุกครั้ง? แสดงว่าขณะฟังในแต่ละครั้งนั้น เขาได้ "เลือกฟัง" บางบทบางตอนเท่านั้น ไม่ได้ฟังทั้งหมด

หลายครั้งที่ผมเคยถามผู้ฟังในห้องสัมมนาว่า "เชื่อหรือไม่ว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตก?" (อย่างที่คุณนันท์ยกตัวอย่าง) และ "เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งของย่อมตกจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ?" ฯลฯ ผู้ฟังทั้งหมดต่างบอกว่า "เชื่อ" และเชื่ออย่างชนิด 100% เลยด้วย แต่ครั้นผมถามใหม่ว่า "แล้วเชื่อหรือไม่ว่าทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว?" และ "เชื่อหรือไม่ว่าค่าของคนนั้นอยู่ที่ผลของงาน?" คนส่วนใหญ่ตอบเสียงเบาลงไปมากว่าเชื่อ แต่ไม่มีสักคนเดียวที่เชื่อถึง 100% หลายคนเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง บางคนไม่เชื่อเลยโดยเด็ดขาดด้วยซ้ำไป!! ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น? ทุกคำถามที่ผมถามก็ล้วนเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นความจริงสูงสุดที่ไม่มีข้อยกเว้น นี่ก็เป็นเรื่องที่คนเราเลือกจะเชื่อในสิ่งที่เขา "รับรู้" เท่านั้น ไม่ได้เชื่อใน "ความจริง" จริงๆของเรื่องนั้นๆ
คุณผู้อ่านพูดถึงคนที่เรียนสายวิทย์ สายศิลป์ เรื่องสมองซีกซ้าย ซีกขวา นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ โอกาสหน้าผมคงได้มาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้อีกครั้ง แต่ในครั้งนี้ คำถามของคุณผู้อ่านทำให้ผมนึกถึงหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง อยากให้คุณผู้อ่านลองไปหามาอ่านดูก่อน เผื่อว่าต่อไปเราอาจจะมาอภิปรายกันในเรื่องนี้กันได้อย่างออกรสมากขึ้น (เคยบอกว่าอย่ากังวลกับปริมาณหนังสือที่อ่าน แต่มาทีไรก็มาแนะนำให้มีเรื่องเสียสตางค์ทุกที!..ฮา!!)

หนังสือเล่มนี้มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า "A Whole New Mind" (หรือในชื่อภาษาไทยว่า "พลิกสมองเปลี่ยนโลก") ผู้เขียนชื่อ Daniel H.Pink (ต้องขออภัยผมจำชื่อผู้แปล และสำนักพิมพ์ไม่ได้) เนื้อหาน่าสนใจดีครับ อาจทำให้คุณผู้อ่าน และผู้ที่สนใจพอจะมองเห็นคำตอบของอะไรบางอย่าง
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 02/07/2008
กระทัดรัดเข้าใจง่ายจริงๆ ครับอาจารย์ครับ
ผมลองค้นข้อมูล "พลิกสมองเปลี่ยนโลก" เพิ่มเติมมาให้
เขียนโดย พิงค์, แดเนียล เอช
แปลโดย สุกัญญา สุดบรรทัด
พิมพ์ครั้งแรกปี 2549 หาชื่อสำนักพิมพ์ไม่เจอเหมือนกัน
ผมจะไปลองตามหามาอ่านดูด้วยครับ



ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 02/07/2008

สวัสดีค่ะคุณนันท์ อาจารย์วสันต์ และคุณผู้อ่าน

หนึ่งเข้ามาเว๊ปนี้ทีไร ก็ได้ความรู้ชั้นเทพพ่วงด้วยความสุขใจกลับไปด้วยทุกๆ ครั้ง จึงขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกๆท่านมากๆนะคะ (ยิ้ม ยิ้ม อย่างมีความสุขค่ะ :)

ขอแชร์ ความคิดเห็นแบบสบายๆกับคุณผู้อ่านนะคะ ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อเรื่อง "วิธีการเปลี่ยนความเชื่อความเชื่อที่ limit และ negative ที่ได้ผลเร็วๆ และถาวร ที่เปิดไว้ตั้งแต่วันที่ 22/06/2008 "

โดยส่วนตัวหนึ่งแล้ว หนึ่งสังเกตตัวเองว่า ความสำเร็จในการเปลี่ยนความเชื่อความเชื่อที่ limit และ negative ที่ได้ผล เริ่มมาจากหนึ่งจะ set point ของความรู้สึกที่ตรงกันข้ามกัน เช่น ความรู้สึกบวก ที่ส่งไปยังสิ่งนั้นๆ ด้วยพลังความศรัทธา แทนความเชื่ออันเก่า การทำเช่นนี้ทุกๆวัน ไปในแนวทางที่เราต้องการ โดยเห็นมันอยู่ข้างหน้าเรา เห็นที่ end result แต่ความรู้สึกคือสิ่งนั้นอยู่ในชีวิตเราแล้ว (clear and definite metal image) หรือว่าเรามั่นใจแล้ว ว่ายังไง เราก็ได้สิ่งที่ต้องการนั้นมา ทุกๆวันก็ปรับความรู้สึกไปเรื่อยๆ ให้เป็นความเคยชินในความคิด ความรู้สึก การกระทำใหม่ หนึ่งสังเกตว่าสิ่งที่เราต้องการเปลี่ยน เราจะเปลี่ยนได้ และได้มาแบบสบายๆ (ประมาณนี้นะคะ)


หากคุยกับหนึ่งเรื่อง ความเชื่อที่ limit และ negative ซึ่งมันจะส่งผ่านเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก หนึ่งเป็นคนชอบทำอะไรพื้นๆ บ้านๆ ง่ายๆ ดังนั้วิธีที่หนึ่งใช้ ส่วนตัว อาจไม่เป็นที่ลึกซึ้งนักสำหรับผู้อื่นนะคะ แต่รับรองผลค่ะ หากเปิดใจค่ะ

1.หนึ่งไม่สามารถจับความคิดตัวเองได้ทันทุกทีไปหนึ่งจึงใช้การจับความรู้สึกแทน หากรู้สึกไม่ดี ลบ ไม่สบายใจ ต่อความเชื่อเก่าๆ หนึ่งจับที่ความรู้สึกได้แล้ว recognise ได้แล้วว่ามีผลกระทบต่อชีวิตมากเพียงไหน ซึ่งเท่ากับเป็นขั้นแรก ของการรู้ตัวการ ขั้นต่อไปหนึ่งก็ take an action โดยโปรแกรมความคิดใหม่เข้าไปแทนที่ ทันที ในทุกๆ ครั้งที่รู้สึกไม่ดี หรือมีปฏิกิริยากับความเชื่อด้านลบ หรือความเชื่อเก่าที่เคยมีมา บอกตัวเองมา ถูกสอนมา อ่านมา รู้มาต่างๆ เกี่ยวกับตัวเอง อาจจะใช้เป็นคำพูดดีๆ สร้างสรรค์ สบายๆ เกี่ยวกับตัวเอง พูดในใจ นอกใจ บ่อยๆ , บทaffirmation ต่างๆ โปรแกรมใส่เข้าไปแทนที่ความเชื่อเดิม ความตั้งใจที่จะคิดในสิ่งที่มีประโยชน์ ทำทุกวิถีทาง โดยมีความสุข สบายๆ และเชื่อได้ว่าฉันมีพลังและแสงสว่างที่ยิ่งใหญ่ ที่จะโปรแกรมความเชื่อที่สร้างสรรค์อันใหม่ แทนอันเก่าได้

มาถึงตรงนี้ หนึ่งจะ keep doing it ไม่ใช่สอง สาม วันแล้วหยุด จะทำจนกลายเป็นความคิดใหม่ ความเชื่อใหม่ การกระทำใหม่ของเรา ของเราไปเอง โดยทุกๆครั้งที่ทำหนึ่งจะบอก หรือ พูดกับตัวเองว่า เราเปลี่ยนแล้วนะ แม้กระทั่งบางครั้งหนึ่งทำไปเพียงสาม สี่วัน หนึ่งก็สั่งิตตัวเองให้รับรู้ว่า เราเปลี่ยนแล้ว act as if แกล้ง แสแสร้ง ใช่ค่ะ หากมีประโยชน์ และไม่ทำร้ายใครทำไปเถิดค๊า หากแต่ว่า ใครเห็นหนึ่งเดินพูดอยู่คนเดียว เดาได้นะคะ ไม่ได้ out of mind ค่ะ ยิ้ม ยิ้ม

2.มีวินัย ตั้งใจที่จะเปลี่ยนความเชื่อที่ไม่สร้างสรรค์ และ ให้ประโยชน์ต่อชีวิตตัวเอง แต่ทำด้วยความสบายใจ ไม่ฝืนหรือ อึดอัด และลงโทษตัวเอง ทำไปสบายๆ เรื่อยๆ หนึ่งสังเกตไปว่า มันก็หายไปเอง

3.เห็นภาพคนใหม่ที่มีความมั่นใจในความเชื่อแบบใหม่ๆที่เราเลือกจากภายใน จะโฟกัสกับความคิด คำพูด ความรู้สึก ที่ทำให้เราเป็นคนใหม่


4.หนึ่งบอกตัวเองเสมอว่าเรามนุษย์เป็น powerful being เราขอบคุณเสียงที่สองจากข้างในของเรา แต่ฟังแล้ว หนึ่งจะบอกเค๊าว่า “thanks for sharing” หรือประมาณว่า “ขอบคุณ กองไว้ที่นั่น” ไม่ได้โกรธ ไม่โทษความเชื่อเก่า ไม่วิจารย์ ทำเป็น diplomatic community อยากเชื่ออยู่ ก็เอา ไม่ว่าอะไร แต่ไม่ใส่ใจนะ ขอสร้างความเชื่อใหม่ไปเรื่อยๆ นะ แล้วอยู่กับเค๊า คุณความเชื่อเก่าให้ได้ แบบไม่ผลักเค๊าออกแรงๆ หรืออยากรีบเปลี่ยนแรงๆ เพราะสังเกตตัวเองว่าหากอยากเปลี่ยนมากๆ เร็วๆ แรงๆ ผลตีกลับมีมากกว่า เกหมือนกดลูกบอลให้จมน้ำทะเล ตีกลับขึ้นมาแรงกว่าเดิม ก็ทำแบบอยู่ๆกันไปแต่เราเป็นผู้ควบคุม เหมือนว่า เราขับรถไป เอาเค๊า คุณความเชื่อเก่านั่งเบาะข้างหลัง เราเป็นคนสั่งให้นั่งข้างหลัง ตัวอย่าง เชื่อว่า success = hard work เพราะฉะนั้นทั้งชีวิตคนที่มีความเชื่อนี้ก็ต้องทำงานหนัก เหนื่อยอยู่ตลอดเวลา ดิฉันก็จะจับความรู้สึกเหนื่อย นี้ให้ทัน รู้ทันความเชื่อเก่า บอกเค๊าว่า “thanks for sharing” แล้วก็โปรแกรมความเชื่อใหม่เข้าไปทันที เหมือนเราเป็นผู้คุมพวงมาลัยในการขับเคลื่อนรถ เราสร้างเส้นทางใหม่ของความเชื่อใหม่ได้ด้วยวิธีใหม่ๆ ของเรา เช่น affirmation, คิดใหม่ อภัยตนเอง พูด คิดเรื่องดี ดี บ่อยๆ คิดถึงความเชื่อใหม่ บ่อยๆ พูดหน้ากระจก พูดกับตัวเอง ต่างๆ มากมาย เป็นต้น

5. อย่างนึงที่หนึ่งคิดว่าสำคัญ คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อในตนเอง แต่เชื่อผู้อื่น เราต้องจับตรงนี้แล้วเปลี่ยนมาเชื่อตัวเอง โดนเฉพาะ develop ความเชื่อใน gut feeling แทนที่เราจะปรึกษาคนอื่นมากกว่า เข้ามาดูใจตัวเอง หาคำตอบจากตนเอง ใจเรานี่แหละแหล่งเป็นแหล่งที่มา เราก็ต้องกลับไปตามดูที่เดิม เพราะคำตอบไม่ได้อยู่ที่อื่น แต่อยู่จากใจเราเอง เพียงให้นิ่งพอ ในการหาที่มา และสร้างที่ใหม่ที่จะไป

6.หาทางที่จะสนุก ง่าย สบายๆ กับการปรับความเชื่อใหม่ให้ตัวเอง ไม่ซีเรียส ทำไม่ได้ ช่างเหอะ แค่รู้ตัว ทำใหม่ ไม่วอรี่ ทำไปทำมา ได้ผลโดยไม่รู้ตัว

7.หนึ่งจะใช้วิธี clear space ตั้งค่าความรู้สึกให้เคลียร์ เป็นศูนย์ พูด ถาม ตั้งคำถาม และตอบตัวเองในใจ ใช้การ ถาม ตอบ เพื่อได้คำตอบเช่นใดที่เป็นความเชื่อที่ไม่ต้องการแล้ว ให้บอกตัวเองว่า ล้างออกซะ ลบออกซะ ทำเช่นนี้ บ่อยๆ ได้ผลมากๆ ค่ะ



8. ข้อสุดท้าย สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดนั้น ต้องรู้ทันเสมอว่า แท้จริงแล้ว เราไม่ได้มีตัวตนอะไร เราเองทึกทักเอาเองว่าเราเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น มีบุคลิกแบบนี้ ความเชื่อแบบนั้น ท้ายที่สุด อย่าไปติดอะไรมากมายกับความคิด หรือความเชื่อแบบที่เราว่าเราเป็นอย่างเนี่ย เชื่อแบบนี้ เพราะจริงๆแล้ว อะไรๆ มันก็แปลี่ยน หรือพัฒนาของมันไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะคุณผู้อ่านที่กล้าที่จะมองเข้ามาดูตัวเองแบบจริงจังและจริงใจ และต้องการแก้ปม หรือตัดปมต่างๆที่ตัวเองเป็นผู้ผูกขึ้นมา หนึ่งเชื่อว่า คนเปลี่ยนความเชื่อได้ หากเปิดใจกว้างงงงงงงงงง และเลือกที่จะบอกตัวเองว่าความเชื่อนั้นเปลี่ยนได้

มีความสุขมากๆนะคะ
หนึ่งค่ะ






ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 04/07/2008
ขอบพระคุณ อ.วสันต์ และ คุณ หนึ่งมากครับ
เว็บนี้ เว็บรวม ปราชญ์ จริงๆ
ผมเพิ่งไปหาหนังสือ the spontaneous fulfillment of desire
มาครับ
หลังจากลองหาที่ศูนย์หนังสือจุฬา และอีกหลายๆร้านแล้วหาไม่เจอ
และแล้ววันนี้ก็เจอแล้วครับ
คิดว่าใช้เวลาอาทิตยืนึงคงอ่านเสร็จ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 06/07/2008
นี่คือประสบการณ์แท้ๆ ของคนที่ทำจริง ฝึกฝน เรียนรู้ ใช้ในการดำเนินชีวิตจริง จนประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม
ขอบคุณ คุณหนึ่งมากครับ สำหรับสิ่งดีๆ ที่มอบให้

คุณผู้อ่านครับ ถ้ายังอยากอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องความเชื่ออยู่
ผมพึ่งนึกออกได้อีกเล่มหนึ่ง ชื่อ
"พลังไร้ขีดจำกัด (UNLIMITED POWER)"
เขียนโดย ANTHONY ROBBINS แกดังมากทีเดียวในแนวพัฒนาตนเอง แต่เป็นแนวจิตวิทยาตะวันตกแขนงหนึ่งเรียกว่า NLP
แปลโดย อานันท์ ชินบุตร (ไม่แน่ใจว่าของสำนักพิมพ์อะไร)
ไม่ทราบว่าคุณผู้อ่านเคยอ่านหรือยัง หนังสือนานหลายปีแล้วเหมือนกัน
หนังสือหนามาก คงต้องใช้เวลาอ่านนานกว่า the spontaneous fulfillment of desire แน่ๆ เลยครับ
แต่ก็ให้ระวัง อย่างที่ท่านอาจารย์วสันต์ ได้เตือนพวกเราไว้เรื่องการอ่านด้วยนะครับ


ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 06/07/2008
ขอบคุณครับ คุณนันท์
หนังสือ UNLIMITED POWER
ผมอ่านแล้วครับ

ANTHONY ROBBINS เป็นนักเขียนอีกคนที่ผมชื่นชอบ
สิ่งที่เค้าสอนเป็นสิ่งใหม่ที่ผมไม่เคยได้ยินจากไหน
อาจจะเป็นได้ว่า NLP เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย

UNLIMITED POWER เป็นของสำนักพิมพ์ต้นไม้
หนาจริง หนาเท่า dictionary เลยครับ

ผมเพิ่งไปอ่านหนังสืออีก 2เล่ม ไปยืมห้องสมุดมาครับ
ไม่รู้ว่าแปลไทยหรือยัง
เป็นแนวพัฒนาสมองอ่ะครับ
ของ Tony BuZan (เจ้าของ Mind Map "แผนที่ความคิด")
ชื่อ Master your memory กับ Use your memory
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 06/07/2008
โอ..พ่อเจ้าประคุณรุนช่อง คุณ "ผู้อ่าน" นี่ต้องนับว่าเป็น "หนอนหนังสือ" ตัวจริงเสียงจริงเลยทีเดียว ผมชักรู้สึกเสียวไส้แทนอาจารย์ที่สอนคุณอยู่ในมหาวิทยาลัยเสียแล้วละ (ฮา)

ถ้าชอบค้นคว้าศึกษาหาความรู้นอกห้องเรียน (ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง) แบบนี้ ก็นี่เลย เอาไปอีกดอกนึง! แต่คราวนี้ไม่ต้องเสียสตางค์ (ฮา) แต่อยากจะแนะนำเว็บไซด์ดีๆ ที่น่าเข้าไปอ่านเรื่องดีๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับ "ความจริงสูงสุด" นั่นก็คือ "www.จิตวิวัฒน์ proj" ที่นั่นมีบทความดีๆให้อ่านเยอะมาก เป็นเรื่องที่อยู่ในบริบทที่พวกเรากำลังสนใจกันอย่างยิ่งนี่แหละ

ว่าแต่ว่าดูหนังสือสอบบ้างหรือเปล่าล่ะเนี่ย!!??!!(ฮา)
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 07/07/2008
แอบแว้บไปสำรวจ เว็บจิตวิวัฒน์ มาสักครู่นี้เอง
น่าสนใจมากครับ
มีเวลาคงได้เข้าไปเก็บรายละเอียดอีกรอบ
ขอบคุณครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 07/07/2008
ผมชอบอ่านหนังสือทุกประเภทครับ ยกเว้นหนังสือเรียน (อิอิ)
แต่จริงๆแล้ว หนังสือเรียนมันเป็น fight บังคับอยู่แล้ว (เดี๋ยวไปอัจฉริยะข้าวคืนแถวๆช่วงสอบ 5 5 5 )

คนที่จบมายังไง หนังสือเรียนก็รู้พอๆกัน แต่หลักการในการดำรงชีวิต แนวคิด วิธีพัฒนาตัวเอง นั้นรู้ไม่เท่ากัน ดังนั้นผมจึงใช้เวลาว่างมาศึกษาเรื่องแบบนี้ เพระผมเชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว วันสุดท้ายของชีวิต คือวันสรุปรวบยอดทั้งชีวิต เพื่อที่วัดว่า ปรัชญาการดำเนินชีวิตของใคร ถูกต้องแค่ไหน ถ้าปรัชญาของใครถูก ต้อง รวย เจริญ(ทั้งทางโลกและทางธรรม) และต้องมีความสุข

แต่การศึกษาของผมยังเป็น ซี้ซั้ว อาศัยแอบฟังเค้าพูดๆกัน หรืออ่านตามหนังสือพิมพ์ดูเค้าวิจารณ์หนังสือ ซึ่งสะเปะสะปะ จนกระทั้งได้รับความกรุณาจาก อ.วสันต์ คุณนันท์ และคุณหนึ่ง ที่จุดแสงสว่างทางปัญญาให้กับผม ให้ผมเห็นแนวทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ผมต้อง"กราบ" ขอบพระคุณ ทั้ง 3 ท่าน ที่ไม่เห็นแก่เสียเวลา เมตตาให้แสงสว่างทางปัญญา กับเด็กคนหนึ่ง
มาถึงตรงนี้ ทำให้ผมคิดว่า ถ้าในอนาคต ผมมีความรู้ ความสามารถเพียงพอ ที่จะแบ่งปันให้กับ คนอื่นๆได้ ผมจะเต็มใจที่จะทำอย่างเด็มที่ เหมือนดังที่ ทั้ง 3 ท่านได้เมตตาให้แก่ผมในครั้งนี้
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 08/07/2008
ผมเพิ่งไปอ่านเว็บจิตวิวัฒน์ มาคับ
กำลังศึกษาอยู่ครับว่า ชมรมแต่ละชมรม
ที่ระบุในเว็บ เค้ามีกิจกรรมอะไรกัน

อย่างไรก็ตามขอขอบพระคุณ อ.วสันต์ ที่แนะนำเว็บดีๆแบบนี้นะครับ
ขอบพระคุณมากคัรบ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 08/07/2008
ไม่ได้เข้ามาแค่พักเดียว ดีใจมากเลยค่ะที่กลับมาเห็นมีผู้รู้และผู้สนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้คำแนะนำต่างๆมากมาย ว่างๆถ้าจัดให้มาพบปะกันบ้างก็น่าจะดีนะคะ อยากดู ดี วี ดีของ Deepak Chopra ช่วงถามตอบในรายละเอียดที่ ดร วรัญญา กล่าวถึงค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 11/07/2008
สวัสดีครับ คุณ นพรัตน์
ผมเอง ก็เป็น ปลื้ม เหมือนกัน
ที่ข้อสงสัย ที่ผมสงสัยมาตลอดชีวิต มีผู้รู้มาเมตตา ตอบให้

ผมก็เห็นด้วยนะครับ ที่ว่าควรจะจัดผมปะกัน
สำหรับผม นั้นเป็นแค่ นศ. ธรรมดาคนนึง คงใช่เรื่องยาก
แต่ท่านอื่น เป็นคนทำงานแล้ว คงจะมีภาระกิจเยอะแยะ
จนยากที่จะปลีกตัวออกมา

ผมว่าช่องทางนี้ก็เป็นช่องทางที่ดีอีกช่องทางหนึ่ง
ที่ทำให้คนที่เวลาว่างไม่ตรงกันสามารถพูดคุยกันได้

แต่จิงๆแล้วนั้น ผมก็อยากเห็นตัวจริงของ คุณนันท์ กับคุณหนึ่ง
เหมือนกัน ไม่รู้ว่าในงานหนังสือ ตุลานี้ ท่าน 2 คนจะไปหรือเปล่า
สำหรับ อ.วสันต์ ผมเคยสัมผัสตัวจริง แล้วตอนที่ผมเรียนที่ Manpower
(แต่จริงๆก็ นานแล้วนะ เพราะผมเรียนเมื่อประมาณ 9 ปีก่อน)
ถ้ามีโอกาสได้เจอ อ.วสันตฺอีกครั้งคงจะดี
เพราะผมไม่ได้เห็น อ.วสันต์ บรรยายสด นานแล้ว
โดยส่วนใหญ่ ผมจะเอา VCD ของอาจารย์ มาดูอยู่บ่อย
เพราะผมชอบ สไตร์การพูดของอาจารย์ ที่แสบๆคันๆ สะใจดี

**** ถ้าอาจารย์วสันต์ มีบรรยาย อันไหนที่ผมสามารถเข้าฟังฟรีได้(ในฐานะ นศ ผมไม่อยากรบกวนเงินคุณพ่อคุณแม่มากเท่าไร)
ช่วยบอกผมหน่อยคัรบ ผมอยากฟัง บรรยายสด ของอาจารย์

สวัสดีครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 11/07/2008
ที่คุณ นพรัตน์ พูดถึงถามตอบใน ดีวีดี ของ คีพัค โชปรา ใช่หมายถึง ดีวีดี the seven lspiritual laws of success หรือเปล่า ตอนนี้ชักงงๆ

เรื่องการจัดพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น มีคนถามมาบ่อยเหมือนกัน
ผมเป็นพวกที่แบบพบหน้าแล้วจะพูดไม่ค่อยออก ขอรวบรวมกำลังใจและความกล้าอีกสักหน่อยครับ
ในฐานะคนแปล ก็อยากเห็นหน้าคนอ่านหนังสือของเราจะตาย . .
มันชื่นใจนะครับ เอาไว้พร้อมเมื่อไหร่ ผมขออาสาเป็นเจ้าภาพ จิบกาแฟไปคุยไปเองครับ


ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 12/07/2008
เป็นไปได้รึคะเนี่ย???(ไม่น่าเชื่อเลย)
.....เรื่องรวบรวมความกล้า...
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 13/07/2008
แหม.. ก็ขอมีลีลาออกตัว สักเล็กน้อยก็ไม่ได้.. ทำแซว
เดี๋ยวบุกไป อู๊กำเมือง ให้ม่วนใจ๋ เสียเลย ดีก่อ

จริงๆ แล้วก็มีความคิดอยู่ครับ มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามประสาคนที่แปลหนังสือเป็นเล่มแรก แบบปนขี้เห่ออะไรทำนองนั้น
ว่า.. เอ๊ะ คนอ่าน เขาจะเข้าใจที่เราพยายามแปลไหมเนี่ย หรือถ้าเขาเข้าใจ เขามีความคิดต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไง หรือว่าที่มีบ่อยๆ คือบางคนอ่านแล้วงงๆ.. บ้างก็บ่นว่าเข้าใจยาก แต่ก็รู้สึกว่าน่าสนใจนะ ก็มีครับ

รวมๆ ก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะตอบสนองความรู้สึกคาใจนี้ได้ มาตลอด ตั้งแต่หนังสือออก
การได้พูดคุยบ้างผ่าน webboard นี้ ก้เป็นทางหนึ่ง หรือผ่านมาทาง mail ก็ทางหนึ่ง หรือแม้แต่โทรศัพท์ ก็ทางหนึ่ง แต่อย่างว่ามันก็ยังไม่ตอบโจทย์อย่างใจอยากรู้

สิ่งที่อยากรู้ที่สุด คือ คนที่ได้อ่านแล้ว เข้าใจไหม
เพราะมันเป็นเจตนาเดียวของการแปล ที่ต้องการส่งต่อความหมาย หรือข่าวสารที่อยู่ในหนังสือ
ถ้ามีคนเข้าใจได้น้อย ถึงแม้หนังสือจะขายได้มากแค่ไหนก็ตาม ก็ถือว่ายังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ของผม

ที่เขียนว่า อาสาเป็นเจ้าภาพ จิบกาแฟไปคุยไป ข้างบน
นั่นก็มาจากไอเดียนึง ที่เคยนึกไว้ว่า อยากนัดคนที่อ่านแล้วงงๆ แล้วอยากเข้าใจว่า ไอ้ที่แปลตรงนั้น.. ตรงนี้.. มันหมายถึงอะไร ทำไมเรียกหรือแปลว่าอย่างนี้ เป็นต้น
ที่นึกอย่างนี้ก็เพราะว่า ขณะแปลก็พยายาม หาคำมาสื่อถึงสิ่งที่ผู้เขียนเขียนถึง บางทีมันยากเย็น เนื่องด้วยคำต้นฉบับมันไม่รู้จะใช้คำตรงๆ ในภาษาไทย มาแสดงหรือแทนได้ยังไง
เคยมีบางท่าน โทรมาถามว่าคำๆ นี้ที่ผมแปล ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่าอะไร เลยบอกแล้วอธิบายประกอบ เขาก็จะพออ๋อขึ้นบ้าง

ซึ่งนี่น่าเป็นสาเหตุหนึ่ง ของผู้ที่งงๆ นอกเหนือจากแนวของหนังสือ ที่คนอ่านอาจจะต้องมีพื้นฐานอยู่บ้าง
เลยคิดว่าถ้าเห็นหน้า แล้วได้อธิบายว่าตอนแปลตั้งใจบอกว่าอะไร น่าจะสื่อกันชัดเจนกว่า

เลยมาถึงตรงที่ต้องรวบรวมความกล้า.. ไม่ได้กลัวเรื่องเลี้ยงกาแฟ แต่กลัวว่า นัดแล้ว ต้องร้องว่า นัดแล้วทำไมไม่มา มากกว่าครับ
สารภาพตรงๆ กลัวว่าจะเป็นอย่างนั้น กลัวจนตัวสั่นเลยแหละครับ




ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 13/07/2008
ส่วนใหญ่การนัดหมายแบบนี้...เป็นสถิติอยู่แล้ว
แต่รวบรวมความต้องการของคนไปเรื่อยๆๆๆ....ถึงจุดหนึ่งทำได้แน่นอน......ก็ต้องใช้กฎแห่งความมุ่งมั่นและกฎแห่งความพยายามให้น้อยที่สุดต่อไป...อิอิ

โดยส่วนใหญ่เวลามีคนซื้อหนังสือเล่มนี้...แล้วได้รับการอธิบาย(เค้าเรียกว่าการปลุกเสก...อิอิ) แบบส่งตัว คือ...อ่านยากหน่อยนา...เล่มนี้คนแปลฯเค้าอุตริ..เอ้ย! มีอุดมการณ์เรื่องการริเริ่ม "กฎแห่งการให้"คือ........แบบนี้แบบนี้(..บอกเรื่องการส่งต่อ)

ส่วนใหญ่จะตื่นเต้นขอเบอร์คนขายไว้ด้วยเผื่อมีอะไร ผิดพลาดและโทรฯคุย.......เป็นยังงี้~70-80%ของคนซื้อเลยจริงๆ..นอกจากซื้อจากน้องผู้ช่วยขาย
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 14/07/2008
ถ้านัดเมื่อไร ผมเป็นอีกคนนึงที่จะไปคัรบ
(ในกรณีที่ผมไม่ติดสอบนะครับ ถ้าเรียนคงโดดได้ ยกเว้น lab )

ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 14/07/2008
การมาพบปะพูดคุยกันอาจจะต้องคำนึงนิดนึงเพราะคนที่สนใจในแนว Spiritual development ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนสันโดษ ชอบคิดและอยู่กับตัวเองเงียบๆมากกว่า แต่บางครั้งเนื่องจากติดปัญหาที่อ่านเองแล้วไม่เข้าใจ สงสัย หรือไม่แน่ใจในเรื่องบางเรื่อง ถ้ามีผู้รู้ช่วยชี้แนะหรือขยายความให้ก็จะช่วยให้กระจ่างและช่วยต่อยอดความคิดได้ หรือหากคิดในแง่ว่าเราแต่ละคนเป็นพลังงาน การมารวมตัวกันก็อาจทำให้เกิดDynamicของพลังงานใหม่ๆที่ช่วยเสริมกันก็ได้ เพียงแต่อาจจะมีการบ้านไปคิดว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิด dynamic ดังกล่าวได้ อาจจะเริ่มจากทำกิจกรรมบางอย่าง เช่นจัดไปทำบุญ ดูนก ดูดาว ดูดีวีดี The Seven Spiritual Laws of Success หรือไปฟังอาจารย์วสันต์บรรยายก่อนก็ได้นะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 16/07/2008
เป็นแง่มุมและคำแนะนำ ที่ดียิ่งครับ
ช่วยทำให้เกิดแง่คิด โดยเฉพาะเรื่องการหาจุดร่วมให้เกิด dynamic
ผมขออนุญาตเก็บไปทำเป็นการบ้านดู เผื่อว่าพร้อม มีโอกาสเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ จะได้มีประโยชน์อย่างแท้จริง
หากมีแง่มุม หรือคำแนะนำจากผู้อื่นอีก ขอเป็นความรู้ด้วย จะขอบคุณมากๆ ครับ และขอขอบคุณ คุณนพรัตน์เช่นกันครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 17/07/2008
ที่คุณนพรัตน์ตั้งข้อสังเกตมา ก็มีเหตุผลมากทีเดียวครับ ว่าแต่ว่าที่จะมาฟังผมบรรยายนั้น คุณนพรัตน์เป็นวัยรุ่นหรือเปล่า? (ฮา) คนที่ฟังผมบรรยายนั้น เป็นวัยรุ่นทั้งนั้นครับ ไม่มีใครยอมแก่เลยสักคนเดียว! (ฮา)
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 17/07/2008
มีผู้กล่าวว่า อดีต ปัจจุบัน อนาคต ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะวัยไหนๆก็เป็น"รุ่น"เดียวกันได้ ยิ่งถ้าฟังบรรยายแล้วกลายเป็นวัยรุ่นไม่ยอมแก่ จะให้อาจารย์วสันต์เป็นผู้อาวุโส(ที่ไม่ได้หมายความว่าแก่)กว่าก็ได้นะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 18/07/2008
อ.วสันต์ครับ
ช่วงนี้มีบรรยายอันไหนที่เข้าฟังได้บ้าง
ผมก็อยากฟังอาจารย์ บรรยายสดอีกครั้งหลังจากไม่ได้ฟังมาร่วม 7ปี

และขอบพระคุณ คุณนพรัตน์ ที่แนะนำกิจกรรมดีๆ ที่เสริมสร้างภูมิปัญญาและสังคมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น

ขอบพระคุณมากคัรบ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 18/07/2008
คนแถวนี้ เป็นวัยรุ่นกันทั้งน้าน.. แหละครับอาจารย์
ว่าแต่ "สุขสันต์วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา" ครับท่านอาจารย์ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 18/07/2008
เล่นเอา "ธรรมะเข้าข่ม" กันแบบนี้ ก็ต้องขอเลิกต่อปากต่อคำเรื่ออายุเสียที ไม่ใช่อะไรหรอก ผมเสียเปรียบคนเดียวทั้งขึ้นทั้งล่อง (ฮา)

ที่จริงก็ไม่มีอันใดต้องขัดข้องครับ คุณ "ผู้อ่าน" แต่งานบรรยายของผมช่วงหลายปีมานี้ มักเป็นงานบรรยายภายในบริษัทต่างๆ เสียเป็นส่วนมาก เนื้อหาที่บรรยายจึงมักเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจงกับองค์กรของเขา และกว่า 80% ก็มักเป็นเรื่องงานขาย งานบริการ การทำงานร่วมกัน การติดต่อสื่อสาร ฯลฯ ซึ่งต้องเน้นหนักไปที่ "ปัญหา" และ "ความต้องการ" ของเขาเป็นสำคัญครับ จึงอาจไม่เหมาะกับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนในประชาคมแห่งนั้น เอาไว้มีโปรแกรมที่เป็นลักษณะ Public Course และหัวข้อสอดคล้องกับที่คุณผู้อ่านสนใจ ผมก็ยินดีครับ
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 21/07/2008
ขอบพระคุณ อ.วสันต์ ล่วงหน้าด้วยครับ
ถ้ามีงานไหนที่ผมจะสามารถ เข้าฟังได้ ช่วยแจ้งด้วยนะครับ

แต่จริงๆแล้ว อ.วสันต์พูดมันส์ทุกเรื่อง ฟังแล้ว "ได้คิดได้ขำ"

ด้วยการสอนของ อ.วสันต์ ทำให้ผมได้มีโอกาส มากมายหลายเรื่องในชีวิตที่ดีกว่าคนอื่นครับ ผมอยากจะกราบของพระคุณ อ.วสันต์จริงๆครับ เพราะคอสที่ผมเรียนกับ อ. ที่manpower ทำให้ผมได้ชีวิตใหม่
จริงๆครับ
โอกาสหลายอย่างที่ผมไม่คิดว่าผมจะได้ ทั้งหมดนี้ก็ได้ด้วย ทักษะที่ผมเรียนรู้จาก manpowerครับ

ขอบพระคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 21/07/2008
สวัสดี ทุกๆ ท่านค่ะ

คุณ นพรัตน์ คะ

สัญญาว่าจะเอา DVD ของ Deepak Chopra มาให้ค่ะ แต่รบกวนต้องรอประมาณปลายเดือนกันยายนช่วงกลับไปทำงานที่ออสเตรเลียค่ะ เพราะหนึ่งเห็นวางขาย และ ให้เช่า ที่ร้านวีดีโอที่โน่นค่ะ

อย่างไรก็ตามจะหาเวลาไปดูที่ร้านประจำที่สิงค์โปร์ให้ หากพบที่นี่ จะรีบเข้ามาแจ้งไว้ที่บอร์ดนี้ ค่ะ

ตอนนี้ ขอตามอ่านทุกๆ กระทู้ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และ ความบันเทิง ก่อนนะคะ โดยเฉพาะกระทู้ที่นี่ได้ความรู้ และความบันเทิงใจด้วย ของ
ท่านบาทหลวง อาจารย์ วสันต์ ค่ะ

ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 23/08/2008
สวัสดีค่ะ คุณนันท์ คุณนพรัตน์

หนึ่งเอา DVD หนังสือThe Seven Spiritual Laws of Success ของ Deepak Chopra มาให้แล้วค่ะ

รบกวนถามว่าจะให้หนึ่งส่งไปให้ที่ไหนดีคะ

หนึ่งค่ะ

ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 20/09/2008
ต้องขอโทษคุณหนื่งอีกครั้งในกระทู้นี้นะคะที่ไม่ได้กลับมาอ่าน รบกวนไปตามคำตอบจากคุณนันท์ในกระทู้ Golf for Enlightenment นะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 02/10/2008
สวัสดีครับ คุณหนึ่ง

ต้องขอโทษด้วย ไม่ได้กลับมาดูกระทู้เก่าๆ นานมาก เลยพลาดข้อความของคุณหนึ่งไป โชคดีที่ท่านอาจารย์วสันต์ไปแจ้งข่าวไว้ที่กระทู้ใหม่ชื่อ Golf for Enlightenment ผมกับคุณนพรัตน์จึงได้รับทราบเรื่อง และตกลงกันว่าจะให้ผมเป็นส่วนกลาง ผมเลยอาสาจะหาวิธีทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกท่านครับ

รบกวนคุณหนึ่งส่งไปที่ nantbook ได้ไหมครับ
ด้วยความขอบพระคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 02/10/2008
เข้ามาแอบอ่านบ่อยมากค่ะ เพราะอยากรู้ว่า Adventure of Socrates กับ Way of Peaceful warrior นั้น มีท่านผู้เชี่ยวชาญท่านใดจะแปลให้หนูตาดำๆได้อ่านบ้าง

ก็อนุญาตแทรกว่า
หนังสือที่หนูชอบก็จะเป็น แนวนี้ค่ะ ก็งมอ่านภาษาอังกฤษ ไปเรื่อยๆ
The Alchemist - Paulo Coelho (เล่มนี้หนูกำลังตามหา ภาคภาษาไทย ของ อ.ชัยวัฒน์อยู่ค่ะ ยังไม่ได้อ่านแบบภาษาไทยเลย)
Veronika Decides to Die - Paulo Coelho
One Hundred Years of Solitude
do it anyway
the neverending story

หนูไม่ใช่นักอ่านถึงขนาดคุณ "ผู้อ่าน"ค่ะ แต่ก็ชอบอ่านหลายๆแนว สืบสวน สอบสวน Davinci Code บ้าง การ์ตูนบ้าง
แต่ตั้งตารอ Way of Peaceful warrior มากๆเลยค่ะ หนังสือแนวนี้ทำให้หนูรู้จักเคารพตัวเองมากขึ้น รักตัวเองมากขึ้น

ไม่กล้าสั่งจาก amazon เยอะ เพราะยังเรียนอยู่ เกรงใจคุณแม่ค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : นิตติ้ง (แม่หนูชอบถัก) ตอบเมื่อ : 09/10/2008
เผอิญได้มีโอกาสเข้ามา (แอบ) อ่านเหมือนกัน แต่เป็นครั้งแรกค่ะ
มีข้อสังสัยนิดหน่อยเกี่ยวกับหนังสือแนวพัฒนาตัวเองค่ะ ว่าหนังสือประเภท self help กับหนังสือแบบ how to เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรคะ รบกวนช่วยไขข้อสงสัยให้หน่อยค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : O.D. ตอบเมื่อ : 16/10/2008


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code