สงสัย กฎแห่งการเปล่อยวางครับ
จากในหนังสือที่ว่า
"...ไม่ได้หมายความว่า ให้ยกเลิกความุ่งมั่นในการสรรค์สร้างความปรารถนาของคุณ คุณไม่จำเป็นต้องละทิ้งความมุ่งมั่น และไม่จำเป็นต้องละทิ้งความปรารถนาของคุณ คุณเพียงแต่ละทิ้งความยึดติดต่อเป้าหมาย...."

ผมไม่เข้าในในประโยคดังกล่าวครับ เพราะมันขัดอย้งกันเองครับ
คำว่ามุ่งมั่น และ ปรารถนา ก็คือ การพยายามทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ตามที่หวังไว้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมเป็นนักเรียนแล้ว อยากได้เกรด 4.00 สิ่งที่ผมต้องทำก็คือ มุ่งมั่นในการอ่านหนังสือ โดยปรารถนาให้ได้เกรด 4.00 จิตผมต้องบอกกับตัวผมเองว่า อ่านหนังสือนะ เพื่อให้ตัวเองได้เกรด 4.00 ถ้าปราศจากการยึดติดต่อผลรับ แล้วมันจะได้มีพลังหรอ
เท่าที่ผมเคยอ่านมาในหนังสือบางเล่มบอกว่า คนเราควรมีเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจน แล้วมั่งมั่นในเป้าหมายนั่น
ถ้าคนๆนึงต้องการจำทำบางอย่างเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ เช่นอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง จบภายใน 3 วัน ถ้ายึดมั่นกับเป้าหมาย ปล่อยเลยตามเลย จิตก็ไม่มีพลัง ผัดวันประกันพรุ่ง ต่อให้อ่าน3อาทิตย์ก็ไม่จบครับ
ชื่อผู้ส่ง : ผู้อ่าน ถามเมื่อ : 29/05/2008
 


ผมคิดว่าสิ่งที่ คุณผู้อ่าน เข้าใจ ในส่วนที่ยกตัวอย่างเรื่องความอยากได้เกรด 4.00 รวมทั้งการที่คนเราควรมีเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจน แล้วมุ่งมั่นในเป้าหมายนั้น ไม่ผิดเลยครับ
แต่ประเด็นที่อยากชวนวิเคราะห์ต่อ โดยลองตั้งคำถามต่อไปก็คือว่า ในระหว่างที่เราดำรงความมุ่งมั่นและทำสิ่งต่างๆ เพื่อสำเร็จผลนั้น เราเกิดความวิตก ความกังวล หรือความกลัวว่าจะไม่เป็นไปดังหวัง จนเป็นความทุกข์ หรือเปล่า
ถ้าขณะระหว่างที่มุ่งมั่นนั้น เป็นสภาวะความมุ่งมั่นที่มั่นคง ไม่ทุกข์ คือ ไม่เกิดมีความวิตกกังวล หรือเกิดความกลัวว่าจะไม่ได้ ไม่เป็นอย่างที่หวัง นั่นคือ สภาวะการปล่อยวาง ต่อความยึดติด ในความหมายนี้ไปแล้วในตัว
การที่เรายังมีความวิตกกังวล เพราะกลัว แสดงว่าเรานั้นมีความยึดถือ หรือติดยึด ต่อเป้าหมาย ยังไม่เกิดการปล่อยวาง
ความมุ่งมั่นที่แท้ คือ การที่เราเห็นเป้าหมายนั้นอย่างชัดเจน แต่ไม่แบกเป้าหมายนั้นเอาไว้ เหมือนเราเห็นแก้ว แต่ไม่ยกขึ้นมาถือ แต่เห็นแก้วอย่างชัดเจน ไม่ยกมาถือหรือกอดแน่น จนหนักเป็นทุกข์ มือเราเลยไม่ว่าง
ความวิตกกังวล เกิดเพราะเรายึดติดแน่น กลัวจะไม่ได้ กลัวจะไม่เป็นอย่างที่คิด มันคือ สิ่งบดบัง หนทางที่แท้จริง ที่จะทำให้ได้มา หรือจะเรียกว่า บดบังจิตขณะที่จะดำเนินไป ไม่ให้มีปัญญา ที่จะทำให้เห็นหนทางอันราบรื่น เห็นโอกาส หรือสามารถนำสภาวะแวดล้อมที่ประสบอยู่ มาช่วยให้บรรลุผลของความมุ่งมั่นนั้น นอกจากนี้ ความวิตกกังวล ทั้งหลายจะกลับสร้างอุปสรรคขึ้นมา หรือพาเราสะดุดขาตัวเราเอง

สภาวะจิตเช่นนี้โดยแท้จริง คือ การที่เรามีความมุ่งมั่นในการสรรค์สร้างความปรารถนาของเรา ด้วยการอยู่ในจิตปัจจุบันขณะ มันจะเป็นความมุ่งมั่นที่มั่นใจและมั่นคง ที่ซึ่ง ความกลัว อันเกิดจากความคิด (ที่ปรุงแต่ง) ให้เกิดความวิตกกังวล นั้นไม่ปรากฏต่อเรา
ผมชอบที่ โชปรา บอกว่า “ความสำเร็จ คือ วิถีแห่งการเดินทาง มันไม่ใช่จุดหมายปลายทาง”
เพราะผลของความมุ่งมั่น นั้น ย่อมเป็นความสำเร็จพร้อมอยู่แล้วในทุกขณะแห่งการดำเนินไปด้วยจิตปัจจุบันขณะ
ในสภาวะนี้ เราจะไม่เห็นเป้าหมายเป็นเหมือนสิ่งที่อยู่ในอนาคต ที่เรายังไปไม่ถึง
แต่หากไม่เป็นเช่นนี้แล้ว มันจะเป็นสภาวะจิตที่เกิดการแบ่งแยก เมื่อเกิดแบ่งแยกก็จะเกิดระยะห่าง(หรือระยะทาง) และย่อมเกิดการปรุงแต่ง เกิดการวิตกกังวล และความกลัว ครับ

“จงทำงานทุกชนิด ด้วยจิตว่าง”
พุทธทาส ภิกขุ

จิตชนิดนี้เป็นจิตชนิดเดียวกันกับที่ท่านพุทธทาสได้บอกเราไว้ ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 30/05/2008
เรียนถามคุณ นันท์ ต่อไปว่า
ถ้าเช่นนั้น กฎแห่งแรงดึงดูด ในthe secret ก็คือกุศโลบายหนึ่งในการปล่อยวาง
เพราะในกฎดังกล่าว บอกว่า หลังจากขอ แล้วให้เชื่อมั่นว่าเราได้รับมันจากการขอจากจักรวาล(หรือพระเจ้า แล้วแต่ใครจะเรียกว่าอะไร)
จริงๆก็คือกุศโลบายให้เราปล่อยวางนั่นเอง
มีอยู่ประโยคหนึ่งซึ่งผมสรุกจากหนังสือเล่มนั้นว่า
การขอเป็นสิ่งที่เราต้องทำ
แต่หนทางไปสู่จุดนั้น(เป้าหมาย) จักรวาลจะสร้างสรรค์ทาง มาเอง
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 30/05/2008
ถ้าจะลองคิดตาม อย่างที่ คุณผู้อ่านได้ตั้งข้อสังเกตมา
ผมก็มีความเห็นด้วยว่า ใช่ครับ
แต่อยากชวนสร้างความเข้าใจและระวัง ที่ลึกขึ้นอีกนิด
เช่น สมมุติถ้าหากเราพูดว่า “หลังจากการขอแล้วให้เชื่อมั่นว่าเราได้รับมันจากการขอจากจักรวาล (หรือพระเจ้า แล้วแต่ใครจะเรียกว่าอะไร)”
การ “ขอ” ดูจะเสี่ยงกับอาการเชื่ออย่างงมงาย สำหรับคนที่ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เหมือนเรามักจะเข้าใจคำว่า “อธิษฐาน” ไปในแบบเดียวกัน
ก็คล้ายกับคำว่า “พระเจ้า” หรือ ฯลฯ (ซึ่งก็แล้วแต่ใครจะเรียกว่าอะไร ดั่งที่คุณผู้อ่านบอก) ก็เสี่ยงกับคำว่า งมงาย ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเข้าใจหรือคิดว่า พระเจ้า หมายถึงอะไร

หากเราคิดว่าจะใช้ความเชื่อเป็น กุศโลบายให้เราปล่อยวาง อย่างที่คุณผู้อ่านว่า ก็อยากให้ระวังว่าจะเป็นการใช้ศรัทธาหรือความเชื่อนำ โดยไม่พัฒนาต่อเพื่อเข้าใจถึงแก่นแท้ หรือกฎทางธรรม(ชาติ) ของความเป็นไปทั้งหลายนี้
เปรียบไปก็คล้ายหลักคำสอน ทางศาสนาคริสต์ (หรือหลักคำสอนของอีกหลายศาสนา) กับหลักคำสอน ทางพุทธศาสนา ที่ใช้กุศโลบาย หรือหลักการสอน ไปสู่สัจจะธรรมคนละแบบ

ส่วนที่คุณผู้อ่านสรุปจากหนังสือ the secret ว่า
“การขอเป็นสิ่งที่เราต้องทำ แต่หนทางไปสู่จุดนั้น(เป้าหมาย) จักรวาลจะสร้างสรรค์ทางมาเอง”
ผมก็ว่า ใช่ อีกนั่นแหละ แต่ก็ต้องระวังเช่นเดียวกันครับ
โดยส่วนตัวผมแล้ว คำพูดประโยคนี้ สุ่มเสี่ยงกับเรื่องความเชื่อแบบบริสุทธิ์แท้ๆ กับเรื่องระดับปรมัตถ์ ของผู้บรรลุสัจจะธรรม ทีเดียวเลยครับ
แต่ทั้งหมดแล้ว การที่คุณผู้อ่าน สรุปออกมาได้เช่นนี้ ผมมีความเชื่อว่า ต้องลึกซึ้งพอที่จะเลยจุดที่ต้องระวังไปแล้วครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 31/05/2008
เรียน คุณนันท์ วิทยดำรง
ในพระพุทธศาสนา มีคำสอนใด ที่สอดคล้องกับการปล่อยวางกับเป้าหมายบ้าง
เพราะเท่าที่ผมเคยได้ยินมา การที่เราจะประสพความสำเร็จพระพุทธเจ้าทรงแนะนำ อิทธิบาท 4
1. ฉันทะ
2. วิริยะ
3. จิตตะ
4. วิมังสา

ถ้าจะพิจาณา จิตตะ ซึ่งแปลว่า ถึงความไม่ทอดทิ้ง สิ่งนั้น ไปจากความรู้สึก ของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็น วัตถุประสงค์ นั้นให้เด่นชัด อยู่ในใจเสมอ

มันจะขัดกับ กฎแห่งการปล่อยวางหรือเปล่า
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 03/06/2008
คุณนันท์ ตอบคำถามได้กระจ่างอย่างยอดเยี่ยมจริงๆ ครับ ผมเห็นด้วยที่ว่า หนังสือ the Secret นั้น ต้องอ่านด้วยความระมัดระวัง (ผมเองก็ชื่นชอบหนังสือเล่มนี้ แต่ก็ตระหนักดีว่ามันอาจก่อผลข้างเคียงได้อย่างมหาศาลเช่นกัน)
ในเรื่องการพยายามเปรียบเทียบกับคำสอนในศาสนาพุทธนั้น(อย่างที่คุณ "ผู้อ่าน" ถามมา) ผมเห็นว่าอย่าพยายามทำเช่นนั้นเลยครับ อะไรมันดีหรือไม่ดี ก็พิจารณาจากเนื้อแท้ หรือเนื้อหาของมันไปโดยตรง ไม่น่าที่จะไปเทียบเคียงอะไรทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นเราก็จะติดกรอบความเชื่อฝังหัวเก่าๆ ซึ่งก็สอนกันมาผิดๆ ถูกๆ บางคนเอาพระพุทธเจ้าไปเปรียบเทียบกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เลยด้วยซ้ำ ซึ่งไม่เข้าเรื่องเลย เอาศาสดาไปเทียบกับนักวิทยาศาสตร์ แล้วก็มาสรุปว่าพระพุทธเจ้าของฉันนั้นเก่งที่สุด สิ่งที่ไอน์สไตน์ "พบ" นั้น พระพุทธเจ้าของฉัน "เห็น" มาตั้งนานเป็นพันปีแล้วย่ะ อะไรในทำนองนี้ ซึ่งก็ไม่รู้จะไปเปรียบเทียบให้มันได้อะไรขึ้นมา ครั้นพอฝรั่งเขาจะคิดค้นคว้ากฎแห่งจักรวาลอะไรมานำเสนอ คนไทยก็จะรีบนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ แล้วก็บอกว่าฝรั่งมันช่างตื้นเขินเสียเหลือเกิน (ของเขามี The Secret เราก็เกทับบลัฟแหลกว่า นี่ศาสนาพุทธของฉันเหนือกว่า เพราะมันเป็นเป็น The Top Secret เชียวนะจะบอกให้!!) แล้วก็สรุปว่าพุทธศาสนาของฉัน พระพุทธเจ้าของฉันนั้นลึกซึ้งที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรมาเปรียบเปรยได้อีกแล้ว
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 04/06/2008
ลองค้นดู ก็ไม่พบคำสอนเรื่อง การปล่อยวาง ที่สัมพันธ์กับ เรื่องเป้าหมาย แบบตรงๆ ในพุทธศาสนาของเรา เลยไม่ทราบเหมือนกันว่ามีหรือไม่ หากมีผู้รู้ช่วยแนะนำด้วยก็จะดียิ่งครับ

ก่อนอื่นผมอยากขออนุญาต ชวนมาพิจารณาถึงมิติต่างๆ ของ “การปล่อยวาง” ว่าจริงๆ แล้วมันคือ ปล่อยวางอะไร ปล่อยวางตอนไหน หรือ ลักษณะอาการของการปล่อยวางมันเป็นอย่างไรกัน

ผมเคยได้ยินคำสอนของครูบาอาจารย์ ที่ท่านสอนการปฏิบัติกรรมฐานว่า ขณะปฏิบัติแล้วเห็นหรือพบหรือรู้สึกอะไร ก็ให้มีสติ แค่กำหนด “เห็น หรือ รู้” หากมันเกิดต่อเนื่องก็ให้ “แค่ ตามรู้ ตามเห็น ตามดูไป” ให้ปล่อยวาง อย่าผูกเอามาคิดหรือปรุงแต่งต่อ

ผมเห็นว่าไอ้อาการ “แค่ ตามรู้ ตามเห็น ตามดูไป” นี้ น่าจะเป็นอาการอันสำคัญของ การปล่อยวาง ครับ

มีตัวอย่างอีกเรื่อง เพื่อนผมเคยบ่นให้ผมฟัง เรื่องลูกน้องใกล้ตัวของเขา 2 คน จบปริญญาโทมาจากเมืองนอกเหมือนกัน แต่ทำงานต่างกันเหลือเกิน เขาบอกว่าคนนึง เวลาให้งานอะไรไป สบายใจ จัดการได้สำเร็จเรียบร้อย ส่วนอีกคนสั่งงานไป ไม่กล้าปล่อยมือ ต้องคอยเรียกมาตรวจตรา กำชับแล้วกำชับอีก ไม่อย่างนั้นงานหลุดตลอด

หากมองง่ายๆ ผมว่าเพื่อนผมมีอาการ ปล่อยวาง ต่อลูกน้องคนแรก ส่วนคนที่สองอยู่ในอาการ ไม่ปล่อยวาง เพราะเมื่อสั่งงานไปแล้ว จิตเพื่อนผมก็ปรุงแต่งต่อ เกิดวิตกกังวล ทุกข์ใจ กลัวว่าเขาจะทำงานพลาด เพราะมีความทรงจำเก่าๆ เรื่องผลงานที่ไม่ดี

ที่ผมเล่าถึงตอนนี้อาจเกิดคำถามขึ้นว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะทำอย่างไร ปล่อยให้ทำกันไปไม่ต้องไปยุ่ง หรือจ้ำจี้จ้ำไช ถ้าหากงานพลาดมาก็จะเสียหาย

ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ ผมคิดว่า มันไม่ได้หมายความว่า ให้เราปล่อยวางในตัวงานหรือตัวคน แบบปล่อยไปไม่สนใจ แต่ที่ให้ปล่อยวาง นั้นก็คือ ปล่อยวาง ความคิดที่ปรุงแต่ง ที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล ความกลัว ที่มีทั้งต่อลูกน้องคนที่สอง หรือแม้กระทั่ง ควรที่จะต้อง ปล่อยวาง ต่อความไว้วางใจ(ที่อาจมีมากจนเกินไป) ที่มีต่อลูกน้องคนแรกด้วย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นความแน่นอนที่ไม่มีวันพลาด ผมว่า ไม่ว่าจะเป็นคนแรก หรือคนที่สอง เราก็ต้องอยู่ในอาการ คอยตามเห็น ตามรู้ ตามดู ด้วยใจที่สงบเป็นกลางและมีสติ แค่ให้รู้ว่าคนหนึ่งทำงานดี อีกคนต้องคอยระวัง แค่ตระหนักรู้ไว้แค่นั้น เพราะถ้าขาดซึ่งใจที่สงบเป็นกลางและมีสติ หากเกิดสถานการณ์ที่เป็นปัญหาขึ้น เช่น คนที่สอง เกิดพลาดอีก เราก็อาจจะยิ่งพาลโมโห เพราะวินาทีนั้นจิตคอยตั้งท่าปรุงแต่งต่ออยู่แล้วว่า อุตส่าห์กำชับแล้วยังพลาดอีกจนได้ ปัญหาที่กำลังเกิดอยู่ ซึ่งหากมีสติ จะเกิดปัญญาแก้ได้ง่ายๆ ก็มัวแต่โกรธหรือ โมโห ปัญญาก็พาลจะหายไป

ทั้งหมดที่เล่ามา ผมพยายามจะชวนให้เห็นภาพว่า ในเบื้องต้น เราต้องปล่อยวางอะไร นั่นก็คือ ปล่อยวาง ต่อความวิตกกังวล ความกลัว แล้วปล่อยวางตอนไหน จริงๆ แล้วต้องปล่อยวางอยู่ในทุกขณะ ซึ่งความจริงการปล่อยวางนั้น จะเป็นผลพลอยได้ โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว หากเราดำรงสติ มีความสงบในจิต ไม่ฟุ้งซ่าน หรือปรุงแต่ง คือ มีสติรู้ อยู่ในทุกขณะ เมื่อเราดำรงอยู่ในสภาวะเช่นนั้นได้ มันก็จะเกิด ลักษณะอาการของการปล่อยวาง ขึ้นเอง มันจะแค่ตามเห็น ตามรู้ ตามดู ต่อเหตุการณ์ทุกเรื่องที่เราประสบ หรือ ทุกสิ่งที่มากระทบ

นี่เป็นความหมายของ อาการปล่อยวาง ที่ผมอยากพูดถึง ที่สัมพันธ์ กับเรื่องเป้าหมาย คือ ให้เราแค่กำหนดรู้ในเป้าหมาย แบบรู้เห็นมันไว้ในใจ และมีสติ ตามกำหนดมัน เมื่อเผชิญปัญหาหรืออุปสรรค ก็อย่าเผลอให้เกิดความคิดไปปรุงแต่ง จนเลยเถิดเป็นความวิตกกังวล ความกลัว (ดังข้อความที่ผมเคยตอบไว้ข้างบน)

ส่วนเรื่อง อิทธิบาท 4 ผมเห็นตรงกันกับคุณผู้อ่านว่า น่าจะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกันกับเรื่องนี้

ผมขอยกความหมายเรื่อง อิทธิบาท 4 มาจากคำบรรยายของ ท่านพุทธทาส ซึ่งน่าจะตรงกับที่ คุณผู้อ่าน ได้ยกเรื่อง จิตตะ มาพูดถึงไว้

ท่านพุทธทาส ได้บรรยายความหมายไว้ดังนี้
“คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เป็นเครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น 4 คือ

1. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
2. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
3. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
4. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

ธรรม 4 อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน

ฉันทะ คือความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ตนถือว่า ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ ข้อนี้ เป็นกำลังใจ อันแรก ที่ทำให้เกิด คุณธรรม ข้อต่อไป ทุกข้อ
วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึงการการะทำที่ติดต่อไม่ขาดตอนเป็นระยะยาว จนประสบความสำเร็จ คำนี้มีความหมายของความกล้าหาญเจืออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง
จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้น ไปจากความรู้สึกของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ นั้นให้เด่นชัด อยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่
วิมังสา หมายถึงความสอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้รวมความหมายของคำว่าปัญญาไว้อย่างเต็มที่”

ผมมีความเห็นว่า การมีสติ และการมีอาการปล่อยวางนั้น จำเป็นต้องประกอบอยู่ในการดำรงชีวิตทุกขณะ รวมทั้งประกอบอยู่ในการปฏิบัติตามทุกคำสอนในพุทธศาสนาของเรา

ทดลองมาพิจารณา ธรรมทั้ง 4 อย่างนี้ ว่าต้องประกอบด้วย การปล่อยวาง อย่างไรกันดู

1. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
ความพอใจรักใคร่นี้ น่าจะเป็นความพอใจรักใคร่ในแบบมีสติเต็มๆ คือ ไม่ปล่อยให้ปรุงแต่ง เลยเถิดไปจนถึงความลุ่มหลง จนถ้าไม่ได้หรือไม่ใช่ เกิดกลายเป็นทุกข์ หรือเกิดเลยเถิดไปกระทำเรื่องที่เป็นการเบียดเบียน ที่ไม่เหมาะสม
2. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
ผมชอบคำว่า ความเพียร มากกว่าคำว่า พยายาม เพราะคำว่า ความเพียร ดูเป็นการกระทำแบบมีสติ เป็นการหมั่นทำไปอย่างคงที่ และสม่ำเสมอ มีอาการปล่อยวางประกอบร่วมอยู่ คือ ไม่ทุรนทุราย หรือเป็นความพยายาม ที่เป็นทุกข์
3. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
ผมคิดว่า นี่เป็นการหมั่นกำหนดรู้ หรือระลึกรู้เป้าหมายนั้นอย่างมั่นคงภายในใจเสมอ และอย่างมีสติอยู่พร้อม เป็นปัจจุบันขณะ ให้แค่กำหนดรู้ไว้ในใจ แบบปล่อยวางซึ่งความคิดปรุงแต่ง อันจะนำไปสู่ความวิตกกังวล หรือความกลัว และรวมถึงความโลภ หรือความไม่พอใจ หากมันไม่เป็นไปดังคาด เป็นต้น
4. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น
ข้อนี้ท่านพุทธทาสบอกไว้ว่า “คำนี้รวมความหมายของคำว่าปัญญาไว้อย่างเต็มที่” ยิ่งต้องมีอาการของการปล่อยวาง ร่วมอยู่กับการเกิดปัญญา เพื่อพิจารณา ให้เห็นหนทางสู่ความสำเร็จนั้น

ผมอยากสรุปว่า เรื่องทั้งหมด มันจบสิ้นลงตรงที่ว่า ให้เรากำหนดเป้าหมายในจิต แบบรู้เท่าทันจิต หรือขบวนการปรุงแต่งของความคิดให้ได้ ด้วยการมีสติรู้ตัวอยู่ในทุกๆ ปัจจุบันขณะ ที่ชีวิตเราเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ซึ่ง ความปล่อยวาง รวมเลยถึงปัญญา มันเกิดขึ้นพร้อมกันเองโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

สุดท้าย(ขอแถมอีกเรื่อง) ผมอยากชวนพิจารณาถึงวิธีของ การปล่อยวางที่แท้ หรือจะเรียกว่า เป็นการปล่อยวางได้ แบบถอนรากถอนโคนเลยทีเดียว

ซึ่งจะมีเกิดขึ้นได้ ก็จากการที่เราเกิดความเข้าใจหรือเห็นอย่างลึกซึ้งยิ่ง ในเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้สรุปบอกเราว่า ทุกสิ่งในโลกหรือจักรวาลนี้ หรือทุกสิ่งที่เราสัมผัสรู้ได้นั้น

1. ไม่มีสิ่งใดเที่ยง (หรือคงที่แน่นอนไม่แปรเปลี่ยนไป)
แท้จริงแล้ว ไม่มีสิ่งใดคงสภาพเดิมอยู่ได้แม้ชั่วขณะจิต ที่เรานึกว่าหลายๆ สิ่งมันคงที่ เพราะ การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสของเรานั้น มันมีประสิทธิภาพไม่พอให้เราเห็นหรือรู้ได้
ผมเคยนึกขอบคุณการค้นพบของวงการวิทยาศาสตร์ ในเรื่องที่ว่า ทุกๆ สิ่งล้วนคือ พลังงาน ที่อยู่ในรูปปรากฏที่ต่างกัน สสารก็คือพลังงาน ผมลองทำความเข้าใจง่ายๆ ตามเรื่องนี้ โดยลองนึกถึงความจริงว่า องค์ประกอบพื้นฐานของตัวเราเอง หรือของวัตถุต่างๆ เช่น เซลล์อันเป็นองค์ประกอบของร่างกายของเรา หรือลึกลงไปในระดับโมเลกุล ถึงระดับอนุภาคที่อยู่ในอะตอมนั้น ความจริงแล้วมันไม่เคยคงที่ หรือหยุดนิ่งเลย ทั้งไม่สามารถควบคุมให้มันหยุดนิ่งได้ มันมีความแปรเปลี่ยนไปมา ถ่ายเทพลังงานกันอยู่ตลอดเวลา แม้แต่สิ่งที่อยู่ในรูปของแข็ง เช่น ก้อนหินหรือโต๊ะ ก็ตามที และรวมไปถึงอารมณ์ ความรู้สึก หรือสภาวะทางจิต ที่ทั้งแปรเปลี่ยน และทั้งเกิดดับอยู่ทุกขณะ
ดังนั้นจึงอย่าได้หลงไป ยึดติด หรือยึดมั่นถือมั่น ว่ามันต้องเป็นเช่นนั้น เช่นนี้เสมอ หรือแน่นอนตลอดไป แต่ให้รับความแปรเปลี่ยน หรือความไม่เที่ยงนั้นด้วยความเข้าใจ
ผมชอบเรื่องที่มีคนเปรียบเอาไว้ว่า ความไม่เที่ยงนี้ มันมี 2 ด้าน เพราะ ถ้าทุกอย่างกลายเป็นสิ่งที่เที่ยงหรือคงที่แล้ว จะมีดอกไม้คลี่บานออกมาให้เราเห็นความงามหรือ ? ซึ่งนั่นทำให้เราต้องยอมรับ เมื่อมันร่วงโรยลงเช่นกัน
2. ไม่มีสิ่งใดที่เป็นตัวเป็นตนอย่างแท้จริง (แม้แต่ +โดยเฉพาะ ตัวเรา)
ไม่มีเส้นแบ่งที่แท้จริงระหว่างสิ่งต่างๆ ทุกสิ่งล้วนมีการหมุนเวียน สืบเนื่อง และพึ่งพากันไปมา
สิ่งที่ผมไม่นึกขอบคุณบทเรียนหนึ่งทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องท่องจำตอนเด็กๆ เลย ก็คือ บทเรียนที่สอนให้เราแบ่งแยกเรื่อง สิ่งมีชีวิต กับสิ่งไม่มีชีวิต หรือ แบ่งประเภท คน สัตว์ พืช วัตถุ (ซึ่งทำให้เราต้องมาปลด “การเห็น” แบบแบ่งแยกนี้ออกให้ได้ ในตอนโตขึ้น)
หากเราลองพิจารณาดูแบบง่ายๆ จะเห็นว่า สิ่งๆ หนึ่งนั้น ล้วนประกอบเป็นรูปร่างขึ้นมา จากธาตุต่างๆ สารพัน และเป็นธาตุที่ได้เคยหมุนเวียนเปลี่ยนรูปร่างไปประกอบรูป สลับกันไปมา ทั้งกับสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งไม่มีชีวิต เดี๋ยวไปเป็นส่วนหนึ่งของพืช เดี๋ยวไปเป็นส่วนหนึ่งของสัตว์ หรือแม้แต่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเรา เคยเป็นสิ่งนั้นแล้วก็มาเป็นสิ่งนี้ อยู่ในห้วงจักรวาลนี้ ไม่รู้กี่แสน กี่ล้าน รอบแล้ว และก็ยังเกิดอยู่ในทุกขณะ
ดังนั้นจึงไม่ควรยึดติด หรือยึดมั่นถือมั่น ว่ามีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตน หรือจะเป็นของๆ ตน แท้จริงแล้ว ล้วนพึ่งพา เป็นหน่วยรวมเดียวกัน ทุกสิ่งล้วนประกอบปรากฏรูปขึ้นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แบบวูบเดียวบ้าง ยาวบ้าง อาจนานบ้างจนเราตายมันก็ยังอยู่ แต่เมื่อเทียบกับอายุของจักรวาลนี้ มันก็แสนสั้นอยู่ดี

ผมว่าถ้าเราสามารถเข้าใจ จนถึงขั้นเห็นอย่างลึกซึ้งยิ่ง ถึงความจริงของ 2 ข้อนี้ ของพระพุทธเจ้า เรา ก็คงเข้าใจ “ความหมายที่สุด” ของคำว่า การปล่อยวาง ครับ

ตอบมาเลยเถิด เสียยืดยาว เลยครับ ก็ขอให้ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน

ผมขอบคุณมากๆ สำหรับความเห็นของ คุณวสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ครับ เป็นเรื่องที่ทำให้เราต้องฉุกคิดอย่างมาก เช่นกันครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 07/06/2008
ขอขอบคุณครับทั้ง คุณ นันท์ วิทยดำรง และ อ.วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ซึ่งทั้งผมดีใจ ที่ข้อสงสัยของผมถูกแสดงความเห็นจาก 2 ท่านผู้รู้
ซึ่งสำหรับ อ.วสันต์ นั้นผมติดตามผลงานของ อ. มาแล้วหลายเล่มครับ

ขอบพระคุณ ทั้ง 2 ท่านครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 07/06/2008
ดีใจจังครับ ไม่ได้มานานแล้ว มาคราวนี้มีผู้รู้มาเพียบเลย ดีใจจริง ๆครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 07/07/2008
ยินดีต้อนรับครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 07/07/2008
-ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : เจได ตอบเมื่อ : 14/07/2008
สุดท้ายต้องไปลงเอยที่ผลงานของท่านพุทธทาส
....อ่านแล้ว ตรองแล้วด้วยสติ
และสัมผัสด้วยการปฏิบัติ...
ชื่อผู้ตอบ : ลุงปิง ตอบเมื่อ : 15/07/2008


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code