คำถามเกี่ยวกับกฎแห่งการให้
ผมมีเรื่องที่สงสัยเกี่ยวกับกฎแห่งการให้ ที่บอกว่า
...ถ้าคุณต้องการความสุข คุณก็จงให้ความสุขกับคนอื่น ๆ ถ้าคุณต้องการความรัก ก็จงเรียนรู้ที่จะให้ความรัก ถ้าคุณต้องการความเอาใจใส่และการชื่นชม คุณจงเรียนรู้ที่จะใส่ใจและชื่นชมผู้อื่น....
กับประเด็นที่ว่า “เราไม่สามารถให้ในสิ่งที่เราไม่มี” (รวมไปถึงในสิ่งที่เราไม่ได้เป็นด้วย)
คุณนันท์มีความคิดเห็นอย่างไร และเราจำเป็นต้องไปพัฒนาตัวเราเองให้มี ให้เป็น ในสิ่งที่เราจะให้หรือเปล่า
ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ส่ง : tik ถามเมื่อ : 19/05/2011
 


ในมุมมองของผม เห็นด้วยว่าทั้ง 2 เรื่องนี้สัมพันธ์กันอย่างยิ่งครับ โดยเฉพาะที่บอกว่า “เราไม่สามารถให้ในสิ่งที่เราไม่มี รวมไปถึงในสิ่งที่เราไม่ได้เป็น"

ผมคิดว่าความหมายของการ "มี" หรือ "เป็น" นั้น มีมุมที่ลึกซึ้ง มากกว่าปกติ ซึ่งผมทำความเข้าใจง่ายๆ ไว้ว่าอย่างนี้ครับ

สมมุติเป็นกรณี “ถ้าเราต้องการความสุข เราต้องให้ความสุขกับคนอื่น” เพราะ ถ้าเราทุกข์ หรือไม่รู้สึกเป็นสุขในการให้ เราไม่สามารถส่งต่อความสุขจริงๆ ให้คนอื่นได้ อาจจะเป็นไปได้ว่า ในขณะนั้นภาพรวมของชีวิตเรากำลังลำบาก หรือกำลังทุกข์ แต่วินาทีที่เรากำลังส่งมอบความสุข หรือกำลังสร้างความสุขให้คนอื่น เราต้องเกิด หรือมีความสุขไปพร้อมๆ กัน กับการให้นั้น

ความรักก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่เรามอบความรักให้กับผู้คน หรือกับใครก็ตาม เราไม่อาจให้ในขณะที่หัวใจเราเต็มไปด้วยความเกลียด หรือเฉยๆ

เพราะไม่เช่นนั้น มันจะเป็นความสุขหรือความรักแบบปลอมๆ ที่ถูกส่งมอบออกไป แล้วมันก็จะดึงดูดความสุขหรือความรักแบบปลอมๆ กลับมาสู่เรา แบบตรงไปตรงมา

เรื่องความเอาใจใส่ หรือการชื่นชม ความปรารถนาดี ฯลฯ ก็เช่นกัน

อีกกรณีหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะต่างกัน คือ ถ้าเราอยากร่ำรวยเงินทอง เราก็ต้องบริจาคหรือให้เงินออกไป ซึ่งความจริงไม่ต่างกัน เพราะถ้าเราให้ออกไป ด้วยความรู้สึกว่าเราเองก็ขาดแคลน มันก็จะดึงดูดความขาดแคลนกลับมาสู่เรา ไม่ว่าเราจะบริจาคให้มากมายแค่ไหน แต่ในทางกลับกัน คนมีน้อย บริจาคออกไป โดยก้าวข้ามความรู้สึกขาดแคลน ไปสู่ความรู้สึกว่าฉันนั้นมีมากพอที่จะให้ โลกก็จะตอบแทนกลับมาตามคุณภาพของใจของเขาในขณะนั้น

สรุปในมุมมองของผม ประเด็นนั้น อยู่ที่หัวใจของการให้ ว่าขณะนั้นหัวใจของเรา "มี" หรือ "เป็น" ในสิ่งที่เรากำลังให้หรือเปล่า ผลตอบแทนก็จะตรงตามนั้น และพร้อมเพิ่มเท่าทวีคูณ ตามกำลังของหัวใจที่เราได้มอบให้ออกไปครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 21/05/2011

ขอบคุณ คุณนันท์นะครับ ที่ทำให้เข้าใจอะไรได้ดีขึ้น โดยเฉพาะที่คุณนันท์ใช้คำว่า “คุณภาพของใจ” สำหรับผม มันสื่อความหมายได้กว้างและครอบคลุมได้ดีมากครับ เมื่อก่อนผมเองไม่เคยได้สังเกต รู้เท่าทันความคิดของตัวเองเลย ไม่รู้ระดับของ “คุณภาพของใจ” ตัวเอง เดี๋ยวนี้ มันเห็น มันรู้อะไรมากขึ้น ว่า เรามี “ความคิด” (ความเชื่อ) อะไร และมี “รูปแบบ” อะไรบางอย่างที่มันไม่สวยงามอยู่

พอดีผมได้อ่านหนังสือ”ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” ก็ได้คำอธิบายที่เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพของใจเพิ่มเติม ขออนุญาตคัดลอกมา ดังนี้

ถาม : เมื่อฉันเห็นความน่าเกลียดในตัวเอง ฉันไม่รู้ว่าจะยอมรับมันอย่างไร ฉันมักพยายามหลบเลี่ยงไม่มองมัน หรือพยายามเปลี่ยนแปลงมันเสีย แทนที่จะเป็นการยอมรับอย่างที่มันเป็น

ตอบ : อืม...เธอไม่ต้องซ่อนมัน ไม่ต้องพยายามเปลี่ยนมัน แต่มองเข้าไปให้ลึกขึ้น เมื่อเธอมองเห็นความน่าเกลียดในตัวเอง นั่นเป็นแค่อคติที่เธอมีต่อตัวเอง เธอมองมันเป็นความน่าเกลียด ซึ่งนั่นก็เชื่อมโยงกับหลักคิดของ “ดี” กับ “ชั่ว” แต่เธอต้องมองให้ข้ามพ้นคำเหล่านั้นให้ได้ ต้องทะลุผ่านเข้าไปให้พ้นถ้อยคำและการยึดมั่นทางความคิด สู่สิ่งที่เธอเป็น ให้ลึกขึ้น ลึกขึ้น แค่แวบแรกยังไม่พอ เธอต้องลงไปในรายละเอียดอย่างปราศจากการตัดสิน ปราศจากการใช้ถ้อยคำหรือหลักการ การเปิดกว้างต่อตัวเองอย่างเต็มที่ นั่นแหละคือการเปิดกว้างต่อโลก

ชื่อผู้ตอบ : tik ตอบเมื่อ : 25/05/2011
ลองหารายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ”ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” ที่คุณtikกล่าวถึง พบว่าจะมีเสวนาเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ด้วยดังนี้...

บ้านตีโลปะ ร่วมกับร้านหนังสือศึกษิตสยาม และมูลนิธิโกมลคีมทอง
เปิดพื้นที่เสวนาพูดคุยสำหรับผู้อ่านหนังสือ ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ

เสวนา : "สุขนิยม ทุกข์นิยม และวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ : การแสวงหาคุณค่าและแรงบันดาลใจในหมู่คนรุ่นใหม่"

วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2554 เวลา 13.00 น. ที่ร้านหนังสือศึกษิตสยาม ถ.เฟื่องนคร

13.00 น. ลงทะเบียน

13.30 น. กล่าวนำเสวนา "ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ" กับพุทธศาสนาในสังคมไทยสมัยใหม่ โดย ส.ศิวรักษ์

14.00 น. เสวนา "สุขนิยม ทุกข์นิยม และวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ:
การแสวงหาคุณค่าและแรงบันดาลใจในหมู่คนรุ่นใหม่"

ผู้ร่วมเสวนา อนุสรณ์ ติปยานนท์ , สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ , วิจักขณ์ พานิช

16.30 น. เวลากันเอง ถามคำถามเกี่ยวกับหนังสือ พูดคุยกับผู้ร่วมเสวนาและแจกลายเซ็นโดยผู้แปล

เฉพาะผู้ที่เคยอ่านหนังสือหรือสนใจเสวนาเกี่ยวกับหนังสือ "ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ" เท่านั้น

รับจำนวนจำกัด 40 ท่าน

สำรองที่นั่ง ptigerpen@gmail.com


ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 26/05/2011
ชอบที่คุณ tik คัดลอกมาจังครับ เข้าเนื้อดีจริงๆ คงต้องไปหามาอ่านดูแล้วล่ะครับ

วันเสาร์ อาทิตย์นี้ไม่ว่างทั้ง 2 วันเลยครับ ขอบคุณครับคุณนพรัตน์
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 27/05/2011
ขอบคุณคุณนพรัตน์ที่แนะนำ น่าสนใจมากครับ

ชื่อผู้ตอบ : tik ตอบเมื่อ : 28/05/2011
ด้วยความยินดีครับคุณนันท์ ผมมั่นใจว่าถ้าคุณนันท์อ่านแล้วจะ "โดนอย่างแรง" ผมยังอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่จบนะครับ เลือกอ่านเฉพาะเรื่องที่สนใจก่อน
ชื่อผู้ตอบ : tik ตอบเมื่อ : 28/05/2011
ขอบคุณครับคุณ tik
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 29/05/2011
เรื่องของการให้ หรือการบริจาค
เคยเชื่อมโยงข้อมูลของ "พลังไร้รูป" และข้อมูลของกูรูที่เป็น
ที่รู้จักอย่าง โชปรา และเวย์น ไดเออร์
ช่างเหมือนกันเลยนั่นก็คือ ไม่เกี่ยวกับขนาด(จำนวนตัวเลข)
จักรวาล หรือจิตใต้สำนึก ไม่รับรู้(ไม่รู้จัก) เวลา และ ขนาด
ไม่ว่าตัวเลขของการให้ทานนั้นจะเป็น 10บาท
หรือกระทั่งเป็น 100 ล้านบาท บุญ(วัดจากเป็นสุขใจ)จะเกิดหรือไม่...สิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่..เจตนา
เวย์น ไดเออร์ เคยบอกว่า หากในขณะที่เรากำลังจะให้เงินแก่
ขอทานซัก 20 บาท ในขณะกำลังหยิบให้ มีสงสัยแว็บเดียวว่า
"เป็นแก้งต้มตุ๋นรึเปล่า?" ไดเออร์ แนะนำว่า จงงดการให้ได้เลย
เพราะนอกจากมันไม่ต่างแต่อย่างใดแล้ว ยังอาจหงุดหงิดใจ


ดังนั้น "การให้" จึงสำคัญที่ความสุขใจก่อนให้
ความสุขใจขณะที่ให้
และความสุขใจหลังจากให้แล้ว


มีละครชีวิต(เวทีจริงๆ) ที่ผ่านเข้ามา ให้ได้ร่วมเรียนรู้เรื่อง
การให้
หรือการบริจาค
แล้วเวลาต่อมา...ไม่ถูกใจ.....จึงขอคืน
อันนี้น่ากลัวว่า เหตุของการให้อาจเป็นอื่น ที่ห่างไกลแก่นแท้ของความสุขใจในกุศลแห่งการให้และบริจาค
( อันนี้ อ้างอิงแนวทางของกูรูอ่ะน่ะ)


ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 14/06/2011
มีคำพูด(คำสอน) ของพลังไร้รูปที่ฟังจนคุ้นเคย เกี่ยวกับการให้

"ให้ทั้งหมด ไม่ขอเอาคืน และไม่ขอติดกรรม"

ซึ่งกูรูภาคสนามอย่าง เวย์น ไดเออร์
เค้าแนะนำการให้ทานในแนวทางเดียวกันกับข้อความข้างต้น
เพื่อตอกย้ำจิตใต้สำนึก ของตัวเราว่าเป็นผู้มั่งคั่งอย่างแท้จริง
ก็โดยการเลือกให้ กับผู้คนหรือ สถานการณ์ที่ตัวเราไม่ต้องการ
การตอบแทน เช่นจ่ายค่าทางด่วนเผื่อรถคันหลังเรา, ให้คิวกับผู้
อื่นก่อนเวลาไปกด ATM หรือรอจ่ายเงินตามห้างสรรพสินค้าฯลฯ


พอตัวเราเห็นด้วยกับหลักการนี้ ที่เป็นเรื่องดี
เรื่องไม่ดีก้อเกิดขึ้นพร้อมๆกันคือ
ไปมองคนอื่นที่อยู่นอกแนวทางนี้ว่า


อ้าว! ให้แล้วขอคืน? คุณไปวัด แล้วยังเข้าไปไม่ถึงวัดนี่นา!


ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 17/06/2011
อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กับความหมายของการ "ให้"
เมื่อประมาณปี 2541-2542 แถวๆนั้น ได้มีโอกาสไปทำค่าย(เรียนรู้)
ใช้สถานที่ รีสอร์ธของจังหวัดเชียงราย ด้วยสายสัมพันธ์ของ
วิทยากรประจำค่าย ที่มีต่อ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
จึงทำให้พวกเรา ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมบ้านของอ.เฉลิมชัย
ที่ปลูกสร้าง คร่อมน้ำตก(น้ำตกจริงไม่ได้สร้างขึ้น) และรวมความ
อลังการงานสร้างอื่นๆ ที่ทำให้ผู้อยู่อาศัย รู้สึกได้ว่า ได้อยู่ใน
บ้านของตัวเอง และในขณะเดียวกันได้อยู่ป่าเขาลำเนาไพรไปด้วยเลย

อ.เฉลิมชัย พาเที่ยวชมวัด ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังไม่มี
เค้าความงาม กันเลยน่ะ
อ.เฉลิมชัย เล่าให้ฟังว่ามี คุณหญิง คุณนาย(ไฮโซไซตี้) เดินทาง
มาจากกรุงเทพฯ มาเพื่อขอร่วมทำบุญบริจาคในการสร้างวัด เดินทาง
มาเป็นกลุ่มใหญ่เลยทีเดียว ในขณะพูดคุยเจรจาว่าใครจะบริจาค
เท่าไหร่ ก้อมีการขอจารึกชื่อ(ติดตามที่ต่างๆของวัด) ด้วย
ความเคยชินอยู่นั้น(เสียงคุณหญิง/คุณนาย คงจะดังเซ็งแซ๋)

อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เลยต้องหยุดแล้วบอกว่า
"คุณนายๆ ทั้งหลายครับ ผมเนี่ยตั้งใจด้วยหัวใจ และจิตวิญญาณ
ที่จะฝากงานศิลปะ ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน หากใครอนุโมทนา
และต้องการทำบุญด้วยจิตบริสุทธิ์ ไม่ต้องสิ่งใดตอบแทนทั้งสิ้น
ผมยินดีเปิดรับ แต่หากต้องจารึกชื่อของท่านๆทั้งหลายแล้ว
โน่นนนนนนน! โน่นเลยครับประตูทางออก!"

.........................
มันไม่มีอะไรได้ดั่งใจ...
พวกที่ได้ดังใจนั้น...
คิดเล็กพวกที่คิดใหญ่น่ะไม่ได้ดั่งใจหรอก...
ตายอีกกี่หมื่นชาติก็ไม่ได้ดั่งใจ...
เพราะในหัวใจมันยิ่งใหญ่มากทำได้สัก 50-60%นี่ก็เหลือแดกแล้วมนุษย์ทำตัวเองให้มีความสุขได้ 50%ของชีวิต ก็มีความสุขแล้ว

คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น...
ไม่ได้ฟลุคเขาเตรียมการ มีขบวนการจัดการ
มีการก้าวเดินตามทางแห่งแสงสว่าง...
โดยไม่เบี่ยงเบนนี่คือสิ่งที่นำมาสู่ความสำเร็จ ของมนุษย์เหนือมนุษย์

คำกล่าวของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์


ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 17/06/2011
มีการก้าวเดินตามทางแห่งแสงสว่าง...
โดยไม่เบี่ยงเบน

ก้าวเดินตามคนที่ไปวัด......แล้วไปไม่ถึงวัด น่ากลัวว่าจะมีโอกาสมืดมน!


ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 18/06/2011

ขอบคุณ คุณแฟนพันธ์แท้ครับ ผมเข้าใจอะไรขึ้นอีกมากมาย

ชื่อผู้ตอบ : tik ตอบเมื่อ : 21/06/2011
5 กฎการให้แห่งความสำเร็จ

ผมได้อ่านหนังสือเรื่่อง “ยิ่งให้ยิ่งได้” หรือ “Go – Giver” เป็นหนังสือที่เขียนได้ดี อีกอันหนึ่งครับ เป็นเหมือนการเล่าเรื่องมากกว่าหนังสือ How-To ทำให้ข้อคิดมากมาย และอ่านไปแล้วอ่านจะได้ อย่างอื่นมากกว่า กฎ 5 ข้อจิงๆ เราสามารถนำกฎนี้มาประยุกต์ได้กับชีวิตของเราอย่างมาก แล้วทำให้ชีวิตเรามีความสุขด้วยครับ อันนี้ผมคัดลอกมาจากในหนังสือเลยนะครับ

1. กฎแห่งคุณค่า

ค่าที่แท้จริงของตัวคุณวัดได้โดยมูลค่า ของสิ่งที่คุณให้นั้นสูงกว่าเงินที่คุณได้รับมามากแค่ไหน

2. กฎแห่งค่าตอบแทน

รายได้ของคุณตัดสินโดยดูว่าึคุณให้บริการผู้คนจำนวนมากแค่ไหน และคุณบริการพวกเขาดีเพียงใด

3. กฎแห่งอิทธิพล

คุณจะมีอิทธิพลมากเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับคุณให้ความสำคัญแก่ผลประโยชน์ของ
ผู้อื่นก่อนตัวเองมากแค่ไหน

4. กฎแห่งความจริงใจ

สิ่งทรงคุณค่าที่สุดที่คุณจะต้องมอบให้คนอื่นๆก็คือตัวคุณเอง

5. กฎแห่งการรับ

กุญแจสู่การให้อย่างมีประสิทธิภาพคือการเปิดใจกว้างที่จะรับ


กฎ มีเพียงแค่นี้ครับ แต่้ถ้าอยากได้แนวคิดอื่นๆนอกจากกฎต้องลองอ่านดูครับ มันมีอะไรมากกว่ากฎ 5 ข้อมันเป็นการเล่าเรื่องให้ได้แนวคิดและความคิดใหม่ๆ ผมว่าชีวิตเรา ถ้าคิดดี ทำดี ต้องได้ดี แต่ดีในที่นี้ต้องมาจากจิตใจจริงๆ ไม่ใช่มาจากแนวคิด หรือสิ่งที่ทำให้ได้ผลสนองนะครับ


http://www.iosic.com/index.php?topic=71.0
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 26/06/2011
กฎมหัศจรรย์แห่งการมีเหลือเฟือ

ไม่มีสถานการณ์ใดที่จะเรียกว่าสิ้นหวังได้ด้วยกฎแห่งการมีเหลือเฟือ

ผู้หญิงคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในฟลอริดาต้องเจอกับปัญหาหนักในชีวิต เธอย้ายมาจากอิลลินอยส์พร้อมกับเงินที่เธอคิดว่าเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตที่สมถะ เธอมีรายได้จากการลงทุนในหุ้นสามัญ

ก็อย่างที่มักเกิดขึ้นกับคนอื่นอีกจำนวนมาก มีเรื่องที่ทำให้เธอต้องเปลี่ยนแผน โรเบิร์ต เบอร์น เขียนไว้ว่า “แผนที่คิดว่าดีที่สุดของคนและหนูมักกลับตาลปัตร และไม่เหลืออะไรให้เราเลยนอกจากความเจ็บปวดและความเศร้าในความสุขที่คิดว่าจะได้มา” ซึ่งมันก็เกิดขึ้นกับเธอจริงๆ
มันเกิดกับเธอจริงๆ

เพราะว่าเมื่อตลาดหุ้นพังทลายลงในปี 1929 เธอต้องสิ้นเนื้อประดาตัว เธอสูญเงินทั้งหมดของเธอ โชคดีที่บ้านของเธอไม่ได้ติดจำนองที่ไหน เธอจึงมีหลังคาคลุมหัว แต่เธอก็ไม่มีรายได้อะไร และแน่นอนเธอย่อมจะต้องกังวล

“หนูจะทำยังไงดี” เธอเขียนจดหมายไปหาน้าที่เป็นหญิงชราซึ่งช่วยเหลือตัวเองแทบไม่ได้ และอาศัยอยู่ที่เพนซิลเวเนีย “ที่จริง สถานการณ์ตอนนี้เลวร้ายมากถึงขนาดที่หนูไม่รู้จะหาเงินมาซื้ออาหารประทังชีวิตได้ยังไง เชื่อมั้ยว่า ตอนนี้หนูมีแค่ขนมปังก้อนหนึ่งและเนยแข็งจำนวนเล็กน้อยอยู่ในครัว แต่กว่าที่หนูจะได้จดหมายตอบจากคุณน้าอาหารเหล่านี้ก็คงหมดไปแล้ว หนูลำบากมากจริงๆ”

เมื่อน้าที่ช่วยเหลือตัวเองแทบไม่ได้ ได้รับจดหมายฉบับนั้น เธอก็นั่งลงเขียนจดหมายตอบกลับไป ตัวเธอเองไม่มีเงินแม้แต่น้อย แต่เธอเธอให้สิ่งที่ดีกว่ากับหลานสาวของเธอ นั่นคือแรงจูงใจที่มีพลัง ความคิดเรื่องการมีเหลือเฟือ เธอให้สูตรสำหรับการเอาตัวรอดจากสถานการณ์อันเลวร้าย

น้าของเธอเขียนว่า “ปัญหาของเธอคือ เธอคิดถึงเรื่องอดตาย ทั้งๆ ที่ธรรมชาติ มอบให้เราอย่างเหลือเฟือ เธอคิดเรื่องการรับแทนที่จะเป็นการให้ ดังนั้น เคล็ดลับในการรอดจากสถานกาณ์อันเลวร้ายของเธอคือ ให้ ให้ ให้!”

คุณอาจบอกว่า นั่นเป็นคำแนะนำประเภทที่คุณสามารถเดาได้จากน้าแก่ๆ ที่มีชีวิตอยู่บนเก้าอี้โยก แต่ที่จริง คำแนะนำที่ดูเหมือนไม่เข้าท่านี้แสดงปัญญาอันฉลาดหลักแหลมที่มีต่อธรรมชาติของสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้ง

วันที่จดหมายของน้ามาถึงฟลอริดา หลานสาวของเธอแทบจะไม่มีเหลืออะไรแล้ว เธอเหลือขนมปัง 2 แผ่น เท่านั้นในบ้าน คุณอาจจะจำไม่ได้ แต่ยังจำสภาพที่ไม่น่าชื่อที่เกิดขึ้นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงทศวรรษที่ 30 ได้ สถานการณ์แบบนี้เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในช่วงนั้น

ตอนที่บุรุษไปรษณีย์ส่งจดหมายให้เธอ เธอฉีกซองจดหมายออกโดยหวังว่า บางทีอาจมีเงินอยู่ข้างใน แต่เธอก็ไม่พบอะไร เธอพลิกจดหมายและฉีกซองออกให้กว้างขึ้นและหาดูอีกครั้ง แต่น้าไม่ได้ส่งเงินมาแม้แต่น้อย เธอจึงอ่านจดหมายฉบับนั้น

เธอรู้สึกหงุดหงิด และโยนจดหมายทิ้งไปอย่างไม่ไยดี

ในขณะที่เธอโยนจดหมายนั้นทิ้งไป ก็พอดีมีเสียงเคาะประตูดังขึ้นที่หน้าบ้านของเธอ เธอไปเปิดประตูด้วยความรู้สึกที่ยังหงุดหงิดอยู่ และที่หน้าประตูบ้านของเธอมีเพื่อนบ้านคนหนึ่งยืนอยู่ เป็นชายแก่ที่สุภาพเรียบร้อบซึ่งอาศัยอยู่ที่ท้ายถนนห่างออกไปไม่ไกล เขามีท่าทางอับอายและอึดอัดใจ ดูละอายมากที่ต้องมายืนที่หน้าบ้านของเธอในสภาพเช่นนี้ เขาพูดว่าเธอมีอะไรพอที่จะเหลือแบ่งให้เขากินได้บ้างหรือไม่ เขากำลังเดินกลับบ้านหลังจากที่ออกไปหางานทำแต่ไม่ได้งานอะไร ภรรยาของเขาป่วยและเขาจำเป็นที่จะต้องหาอะไรให้เธอกิน เขาพูดด้วยความเศร้าสร้อยว่า เขาไม่อยากเชื่อเลยว่า เขาจะต้องมามีสภาพเช่นนี้

คำพูดในจดหมายของน้าดังขึ้นในใจของเธอ “เคล็ดลับในการรอดจากสถานการณ์อันเลวร้ายของเธอคือ ให้ ให้ ให้!”

ด้วยอารมณ์ชั่ววูบเธอเดินเข้าไปในครัวและหยิบขนมปัง 1 แผ่น ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของสิ่งที่เธอมีทั้งหมด แล้วเดินกลับออกมา แต่แล้วเธอก็หยุดอีก “เคล็ดลับในการรอดจากสถานการณ์อันเลวร้ายของเธอคือ ให้ ให้ ให้!”

เธอหยุดคิดสักครู่หนึ่งแล้วเธอก็หันหลังกลับไปในครัวและหยิบขนมปังที่เหลืออีก 1 แผ่นออกมาด้วย เธอห่อขนมปังทั้ง 2 แผ่นด้วยกระดาษแล้วยื่นให้ชายแก่พร้อมกับกล่าวขอโทษที่ไม่มีอะไรจะให้ได้มากกว่านี้ ชายแก่ผู้ซาบซึ้งในบุญคุณไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่เธอหยิบให้เขาเป็นอาหารทั้งหมดที่มีอยู่ในบ้านหลังนั้น

เรื่องที่เกิดต่อมาอาจฟังดูเหมือนไม่น่าเชื่อ มันอาจดูเหมือนเกินจริง แต่ผมกล้ายืนยันกับคุณว่า แม้แต่สิ่งที่เหลือเชื่อยิ่งกว่านี้ก็ยังเกิดขึ้นกับผู้คนอยู่ทุกวัน ประตูบ้านของสุภาพสตรีคนนี้เปิดต้อนรับทุกครั้งเวลา มีคนมาเคาะอีก

คราวนี้เป็นเพื่อนบ้านอีกคนหนึ่งที่ถือขนมปังก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งซึ่งสดใหม่ออกจากเตาอบ และวันต่อมาเช็คเงินปันผลจำนวน 10 ดอลลาร์ ก็ส่งมาถึงเธออย่างไม่คาดคิด เธอรีบแบ่งมันไปช่วยเหลือเพื่อนบ้าน

และหลังจากนั้นอีก 2-3 วัน เช็คจำนวน 50 ดอลลาร์ ก็ส่งมาถึงเธอในรูปของ “ของขวัญที่มาหลังวันเกิด” จากพี่ชายคนหนึ่งซึ่งเขียนว่า “พี่คิดว่าเธออาจจะกำลังขาดแคลน” แน่นอน คราวนี้เธอยังคงนำเงินจำนวนนี้ออกแบ่งปันอีก

เพราะถึงตอนนี้ สุภาพสตรีของเราคนนี้ได้บทสรุปกับตัวเองเหมือนที่ลอยด์ได้รับหลายปีต่อมาที่ฮอท ช๊อปเปส นั่นคือ เธอไม่อาจทนที่จะไม่แบ่งปันได้เลย

ดังนั้น นี่เป็นวิธีที่กฎแห่งการมีเหลือเฟือให้ผล มันพร้อมอยู่ตรงนั้นที่จะมอบสิ่งดีๆ ทุกอย่างให้กับคุณ สิ่งที่คุณต้องทำมีแค่เพียงกระตุ้นให้เกิดการไหลของกระแสแห่งความเหลือเฟือ โดยการพัฒนาสิ่งเร้าบางอย่าง ได้แก่ ทัศนคติหรืออุปนิสัยบางอย่างที่จะเริ่มและดำรงกระแสแห่งความเหลือเฟือเอาไว้

สิ่งหนึ่งก็คือการทำอย่างมุ่งมั่นและตั้งใจด้วยความคิดว่ามีเหลือเฟือ บอกตัวเองให้กำจัดความคิดว่าขาดแคลนออกไปจากจิตใจ

ปฏิบัติไปตามความคิดแห่งความมีเหลือเฟือจนกระทั่งมันกลายเป็นนิสัยนึกหรือสร้างจินตนาการว่าชีวิตของคุณเต็มไปด้วยสิ่งดีๆ ที่มีค่า นึกถึงตัวเองในฐานะที่เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการไหลของกระแสแห่งความดี (ไม่ใช่ความเลว) แห่งความร่ำรวย (ไม่ใช่ยากจน) ช่วยให้คนอื่นคิดและทำในลักษณะเดียวกันนี้ เพราะมันไม่อาจมีเหลือเฟืออย่างถาวรสำหรับใครถ้ามันไม่แพร่กระจายออกไปในวงกว้าง ความร่ำรวยที่ทุกคนได้รับจะช่วยยกระดับแห่งความมีเหลือเฟือสำหรับทุกคนเสมอ

นอร์แมน วินเซนต์ พีล “มหัศจรรย์แห่งการคิดบวก - the amazing results of positivething

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 28/06/2011


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code