"ความตาย"
> เห็นเลยว่ามีแง่มุมเกี่ยวกับความตายอีกเยอะมากที่ผมไม่เข้าใจ <

ใช่ นี่เป็นเพราะเธอไม่อยากจะคิดถึงเรื่องนี้ ทว่าเธอต้องใคร่ครวญถึงความตายและความสูญเสียในวินาทีที่เธอรับรู้ถึงมันไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนในชีวิต ไม่อย่างนั้นเท่ากับเธอยังไม่ได้เข้าใจชีวิต หากแต่รู้เพียงครึ่งๆ กลางๆ เท่านั้น

ทุกห้วงขณะจบสิ้นลงในวินาทีที่มันเริ่มต้นขึ้น ถ้าไม่เห็นความจริงนี้เธอจะไม่เห็นความงามที่แฝงอยู่ในทุกห้วงยาม แล้วเธอก็จะมองช่วงเวลาต่างๆ ว่าธรรมดาสามัญ ไม่มีอะไรสลักสำคัญ

ทุกปฏิสัมพันธ์ “เริ่มสิ้นสุด” ในวินาทีที่มัน “เริ่มก่อเกิด” เมื่อใคร่ครวญเรื่องนี้ให้ถึงก้นบึ้งและเข้าใจถ่องแท้ คุณค่าแท้จริงของทุกห้วงยาม (และของชีวิต) จะเปิดเผยต่อเธอ

ไม่มีวันที่เธอจะเข้าถึงชีวิตถ้าไม่เข้าใจความตาย และเธอก็ต้องทำมากกว่าแค่เข้าใจ เธอจะต้องรักมันด้วย เธอต้องรักความตายแบบเดียวกับที่เธอรักชีวิต

ห้วงยามที่เธอมีสัมพันธ์กับแต่ละคนจะมีค่าขึ้นทันทีที่เธอมองว่า มันคือปฏิสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายของเธอกับเขา ในลักษณะเดียวกัน ประสบการณ์ที่เธอมีในแต่ละห้วงขณะจะถูกยกระดับยิ่งกว่าอะไร ในวินาทีที่เธอคิดว่ามันคือวาระสุดท้าย การไม่ยอมพิจารณาความตายของตัวเอง ทำให้เธอมิอาจพินิจชีวิตตัวเองตามไปด้วย

เธอไม่ได้เห็นสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น เธอคลาดห้วงขณะนั้นไปต่อหน้า แถมยังพลาดทุกสิ่งที่มันนำติดมือมาให้ เธอมองผ่านมันแทนที่จะมองทะลุเข้าไป

ถ้าเธอมองสิ่งใดให้ลึกซึ้ง เธอจะมองทะลุมัน การเพ่งพินิจเรื่องใดให้ลึกซึ้ง คือการมองเรื่องนั้นจนทะลุ ภาพตบตาจะเลือนหายไป แล้วเธอก็จะเห็นเรื่องนั้นหรือสิ่งนั้นอย่างที่มันเป็นจริงๆ เมื่อนั้นเธอจะสามารถมีความสุขกับมันอย่างแท้จริง ซึ่งหมายถึง สามารถนำความรื่นรมย์เบิกบานใส่เข้าไปในเรื่องนั้น (การ “มีความสุข - enjoy” กับเรื่องใด คือการทำให้เรื่องนั้นกลายเป็นสิ่งเบิกบาน – joyful ขึ้นมา)

กระทั่งสิ่งมายาเธอก็สามารถมีความสุขกับมัน เพราะเธอจะรู้ว่ามันไม่ใช่ของจริง แค่รู้อย่างนี้ก็สุขไปครึ่งหนึ่งแล้ว! เพราะเธอเฝ้าแต่คิดว่ามันเป็นจริง ใจเธอถึงโดนเผาจนเจ็บร้าวอยู่อย่างนี้

ไม่มีอะไรต้องเจ็บปวดเมื่อเธอเข้าใจว่ามันไม่จริง ขอพูดอีกรอบนะ

ไม่มีอะไรต้องเจ็บปวดเมื่อเธอเข้าใจว่ามันไม่จริง

มันเหมือนกับภาพยนตร์หรือละครที่ฉายบนเวทีแห่งจิตใจของเธอเอง เธอกำลังผูกเรื่องสร้างสถานการณ์และวางบทบาทตัวแสดง ทั้งยังเขียนบทเองด้วย

ไม่มีสิ่งใดให้เจ็บปวดเมื่อเธอเข้าใจว่าทุกอย่างไม่ใช่เรื่องจริง

นี่เป็นความจริงกับเรื่องความตายเฉกเช่นเรื่องชีวิต

เมื่อไหร่ที่เข้าใจว่าความตายก็เป็นภาพลวงตา เมื่อนั้นเธอจะพูดได้ว่า “โอ มัจจุราชเอ๋ย ไหนละ เหล็กไนของเจ้า”

กระทั่งความตายเธอก็มีความสุขกับมันได้! แม้แต่ความตายของคนอื่นเธอยังสามารถเริงรื่นกับมัน

ฟังดูพิลึกใช่ไหม เหมือนพูดเรื่องประหลาดหรือเปล่า

มันจะพิลึกและประหลาดต่อเมื่อเธอไม่เข้าใจความตาย (และชีวิต) เท่านั้นละ

ความตายไม่เคยเป็นจุดสิ้นสุด หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นเสมอ ความตายคือทวารที่เปิดออก มิใช่ประตูที่ลั่นดาลลง

เมื่อไหร่ที่เข้าใจว่าชีวิตเป็นนิรันดร์ เธอจะเข้าใจว่าความตายคือมายาหรือภาพลวงตา ซึ่งทำให้เธอคอยพะวงกับเรื่องทางกาย (จึงยิ่งเสริมให้เธอเชื่อว่าตัวเธอคือร่างกาย) ทว่าเธอหาใช่ร่างนี้กายนี้ การเสื่อมสลายของกายสังขารจึงไม่ใช่เรื่องที่เธอต้องกังวล

ความตายควรสอนเธอให้รู้ว่า สิ่งจริงแท้คือชีวิต และชีวิตก็ควรสอนเธอว่า สิ่งมิอาจหลบเลี่ยงหาใช่ความตาย หากเป็นความไม่เที่ยงหรืออนิจจัง

ความไม่เที่ยงคือสัจธรรมหนึ่งเดียว

ไม่มีสิ่งไหนคงมั่นไม่แปรผัน ทุกสิ่งต่างเลื่อนไหลไม่หยุดนิ่ง ทุกห้วงขณะ ทุกภวังค์จิต

หากสิ่งใดจะเที่ยงแท้จีรัง มันก็ไม่มีทางเป็นอย่างนั้นไปได้ เพราะแม้แต่มโนคติเรื่องความเที่ยงก็ยังตั้งอยู่บนความไม่เที่ยงจึงจะมีความหมายอะไรขึ้นมา ฉะนั้นกระทั่งความเที่ยงแท้ก็ไม่เที่ยง จงมองเข้าไปให้ลึก ใคร่ครวญสัจธรรมนี้ให้ดี ทำความเข้าใจเรื่องนี้แล้วเธอจะเข้าใจพระเจ้า

นี่คือธรรมะ และนี่คือพุทธะ นี่คือธรรมะของพุทธะ นี่คือพระธรรมและพระผู้มีพระภาคเจ้า คือบทเรียนและบรมครู คือผู้ถูกสังเกตและผู้สังเกต ...ร้อยรึงเข้าเป็นหนึ่ง

ไม่เคยมีอะไรที่พ้นไปจากความเป็นหนึ่ง ตัวเธอนั่นละที่คลี่คลายมันออกมา เพื่อว่าชีวิตจะตีแผ่ให้เธอเห็นต่อหน้า

ทว่ายามเธอเห็นชีวิตตัวเองกระจัดกระจายอยู่ตรงหน้า อย่าให้ตัวเองกระเจิดกระเจิงตามไปด้วย แต่จงผนึกตัวเองไว้ให้มั่น! เห็นภาพมายานั้น! หาความสุขจากมัน! แต่อย่ากลายเป็นตัวมัน!

เธอมิใช่มายา หากแต่เป็นผู้สร้างมันขึ้นมา

เธออยู่ในโลกนี้ แต่มิได้เป็นของโลกใบนี้

จงใช้มายาแห่งความตายให้เป็นประโยชน์ ใช้มันเสีย! ยอมให้มันเป็นกุญแจไขตัวเธอสู่ชีวิตที่ไพศาลขึ้น

มองดอกไม้ว่าแห้งเหี่ยวเฉาตายเธอก็จะมองด้วยใจอาวรณ์ แต่หากมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมแห่งต้นไม้ที่กำลังแปรสภาพ ซึ่งไม่นานก็จะผลิดอกออกผล นั่นละเธอถึงจะเห็นความงามที่แท้จริงของดอกไม้ เมื่อไหร่ที่เธอเข้าใจว่าการผลิบานและโรยราของแมกไม้ คือสัญญาณว่าต้นไม้พร้อมจะให้ผล แสดงว่าเธอมองชีวิตอย่างผู้เข้าใจ

เข้าใจเรื่องนี้ให้ดี แล้วเธอจะประจักษ์ว่า ชีวิตเป็นดั่งอุปมาสอนใจ

ระลึกไว้เสมอว่า เธอมิใช่กลีบบุปผา มิใช่กระทั่งดอกผล หากแต่เป็นทั้งมวลพฤกษา รากของเธอหยั่งลึกแน่นหนาในตัวฉัน ฉันคือผืนดินที่เธอชูช่อชำแรกขึ้น ทั้งกิ่งก้านใบและดอกผลจะหวนคืนสู่ฉัน พร้อมรังสรรค์ผืนดินให้อุดมขึ้นใหม่ ชีวิตจึงก่อให้เกิดชีวิต ไม่มีทางเคลื่อนคล้อยสู่ความตายได้เลย ไม่มีทาง

. . . . .

บางส่วนจาก "สนทนากับพระเจ้า เล่ม 3" สำนักพิมพ์ โอ้มายก็อด
ชื่อผู้ส่ง : นันท์ วิทยดำรง ถามเมื่อ : 07/02/2011
 


วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554, 18.30-20.30 น. ธรรมบรรยาย “การตายอย่างสงบ" “Dying Gracefully” โดยท่าน ริงกุ ทุลกุ ริมโปเช (ไม่มีแปลไทย)
ณ โรงแรมอริยสมวิลล่า สุขุมวิทย์ ซอย 1

(ริงกุ ทุลกุ รินโปเช เกิดปี 1952 ที่แคว้นขาม ในทิเบตตะวันออก ได้รับการสั่งสอนจากพระอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 16 ได้แก่ HH the 16th Gyalwang Karmapa and HH Dilgo Khentse Rinpoche และได้ศึกษาที่สถาบันนัมกยัล ที่มีชื่อเสียงของโลกที่สนับสนุนให้นักวิจัยสนใจศิลปะและวัฒนธรรมทิเบต และที่มหาวิทยาลัยสัมปุระนานันด์สันสกฤต ท่านได้เดินทางไปสอนพระพุทธศาสนาและการนั่งสมาธิที่มหาวิทยาลัยและศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างๆ ในยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเอเชีย ท่านยังแต่งหนังสือพระพุทธศาสนาทั้งในภาษาทิเบตและยุโรปอีกด้วย)

ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 07/02/2011
สนทนากับพระเจ้า เล่ม 1 ก็ดูเหมือนเขียนแบบนี้เลย
ว่าแต่ลอกมาอ่านเพื่อเป็นการซักซ้อมเตรียมใจ และกำลังดูแล
สัตว์ป่วยระยะสุดท้ายเหรอคะ?
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 08/02/2011
เปล่าครับ ไม่ได้ทันนึกเช่นนั้น
ได้อ่านมาพักใหญ่แล้ว พอดีกลับไปอ่านเจอ
จึงเห็นว่าควรนำมาแบ่งปัน เพราะมีหลายอันที่ชอบครับ ..

"ทุกห้วงขณะจบสิ้นลงในวินาทีที่มันเริ่มต้นขึ้น ถ้าไม่เห็นความจริงนี้เธอจะไม่เห็นความงามที่แฝงอยู่ในทุกห้วงยาม แล้วเธอก็จะมองช่วงเวลาต่างๆ ว่าธรรมดาสามัญ ไม่มีอะไรสลักสำคัญ"

"ทุกปฏิสัมพันธ์ “เริ่มสิ้นสุด” ในวินาทีที่มัน “เริ่มก่อเกิด” เมื่อใคร่ครวญเรื่องนี้ให้ถึงก้นบึ้งและเข้าใจถ่องแท้ คุณค่าแท้จริงของทุกห้วงยาม (และของชีวิต) จะเปิดเผยต่อเธอ"

"ไม่มีสิ่งใดให้เจ็บปวดเมื่อเธอเข้าใจว่าทุกอย่างไม่ใช่เรื่องจริง"

.. เป็นต้น

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 10/02/2011
ขอบคุณมากค่ะอังเคิลนันท์ที่น่ารักของทุกๆคน

หนึ่งซื้อเล่มนี้ฉบับภาษาอังกฤษให้เจ้านายเก่า ตอนที่คุณพ่อนายเสีย ซึ่งคุณแม่เสียไม่นานก่อนคุณพ่อ ทำให้ายเศร้ามากกกก

นายเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือใดๆ เลย

พอนายได้เล่มนี้ นายอ่าน แล้วอินมาก นายบอกว่าจิตใจปลอดโปล่งขึ้นมาก ทำให้ลูกน้องที่รักนายมากอย่างเรา พอเข้ามาอ่านสิ่งที่คุณนันท์กรุณาแชร์ตรงนี้ รู้สึกดีไปด้วย

ขอบคุณค่ะ

"ทุกห้วงขณะจบสิ้นลงในวินาทีที่มันเริ่มต้นขึ้น ถ้าไม่เห็นความจริงนี้เธอจะไม่เห็นความงามที่แฝงอยู่ในทุกห้วงยาม แล้วเธอก็จะมองช่วงเวลาต่างๆ ว่าธรรมดาสามัญ ไม่มีอะไรสลักสำคัญ"

"ทุกปฏิสัมพันธ์ “เริ่มสิ้นสุด” ในวินาทีที่มัน “เริ่มก่อเกิด” เมื่อใคร่ครวญเรื่องนี้ให้ถึงก้นบึ้งและเข้าใจถ่องแท้ คุณค่าแท้จริงของทุกห้วงยาม (และของชีวิต) จะเปิดเผยต่อเธอ"

"ไม่มีสิ่งใดให้เจ็บปวดเมื่อเธอเข้าใจว่าทุกอย่างไม่ใช่เรื่องจริง"
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 11/02/2011
"ไม่มีสิ่งใดให้เจ็บปวดเมื่อเธอเข้าใจว่าทุกอย่างไม่ใช่เรื่องจริง"

ฟังสัจธรรมผ่าน"พลังไร้รูป" อยู่บ่อยๆ
.....ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องจริง.......อันนี้เค้าหมายถึง.....
ยศ-ตำแหน่ง,ความสัมพันธ์, ทรัพย์สมบัติ


มันเป็นเรื่องสมมุติ...ทั้งน้าน!



ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 11/02/2011
ทุกสิ่งล้วนเป็นเรื่องลวงใจ
สุขบ้างทุกข์บ้าง
แต่ก็แอบสนุกทุกครั้งที่ถูกลวง .. ฮา

สวัสดีครับคุณหนึ่ง ทริปแอ่วเหนือท่าทางจะม่วนแต้ๆ นะเจ๊า
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 11/02/2011
ทริปเหนือประทับใจมากค่ะคุณนันท์ ต้องขอบคุณพี่โก้ พี่แฟนฯ เพื่อนๆ น้องๆๆๆ ที่เกี่ยวข้องทุกท่านจริงๆ
ซนเป็นลิงเป็นค่างตลอดเส้นทาง ไม่ใช่น้องๆ (แต่เป็นหนึ่งเอง)
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 15/02/2011
"The most beautiful and profound emotion we can experience is the sensation of the mystical. It is the sower of all true science. He to whom this emotion is a stranger, who can no longer wonder and stand rapt in awe, is as good as dead. To know that what is impenetrable to us really exists, manifesting itself as the highest wisdom and the most radiant beauty, which our dull faculties can comprehend only in their primitive forms - this knowledge, this feeling, is at the center of true religion."

Albert Einstein
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 16/02/2011
คุณนันท์จะช่วยกรุณาแปลข้อความของไอน์สไตน์ข้างต้น พร้อมทั้งให้ความเห็นหน่อยได้มั๊ยคะ ขอบคุณค่ะ
(ข้อความนี้ได้มาจากเวปเกี่ยวกับ Bardo Meditation ของธิเบตค่ะ)
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 18/02/2011
ยากจัง ผมว่าจะมาผลักภาระให้ผมแต่เพียงผู้เดียวกยังไงอยู่นะ
เราควรจะแบ่งหน้าที่กันดีไหมครับ
เอาเป็นว่าคุณนพรัตน์แปล ส่วนผมให้ความเห็นดีไหมครับ
555 .. ผมสบายกว่า



ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 18/02/2011
เชื่อว่าคุณนันท์คงแปลได้สละสลวยกว่ามาก แต่เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระก็ขอแปลไปตามความเข้าใจก่อนก็แล้วกันนะคะ..

"อารมณ์ที่งดงามและลึกซึ้งที่สุดซึ่งคนเราจะสามารถประสบได้คือความรู้สึกถึงความลึกลับ ซึ่งทำให้ศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงก่อเกิดขึ้น ผู้ใดที่ไม่คุ้นเคยกับอารมณ์ดังกล่าว หรือไม่รู้สึกถึงความน่าประหลาดใจและตะลึงพรึงเพลิดในสิ่งต่างๆอีกต่อไป ก็เปรียบคล้ายดังคนตายไปแล้ว

การได้รู้ว่าสิ่งที่เราเข้าไม่ถึงนั้นมีอยู่จริง โดยปรากฏอยู่ในรูปแบบของปัญญาอันสูงสุดที่สว่างไสวสวยงามยิ่ง ซึ่งประสาทสัมผัสที่ทื่อทึบของเราจะสามารถเข้าใจได้ก็เพียงแค่รูปแบบดั้งเดิมเท่านั้น...ความรู้ความเข้าใจดังกล่าวคือหัวใจของศาสนาที่แท้จริง"

แปลแล้วช่วยให้ง่ายขึ้นบ้างไหมคะคุณนันท์? (แต่คนแปลเองยังไม่ค่อยเข้าใจเลยค่ะ...555)

ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 19/02/2011
คุณนพรัตน์ครับ มันดีมากๆ เลยครับ

คุณนพรัตน์แปลให้อ่านแล้วเข้าใจง่ายดีครับ เพราะถ้าเป็นผมแปลจะยิ่งเข้าใจยากไปใหญ่ .. ฮา ความจริงข้อความนี้แปลยากนะครับ บางคำที่ไอน์สไตน์พูด อาจต้องการคำอธิบายเพิ่ม ยากแก่การหาคำแปลสั้นๆ มาใช้ได้ ที่เป็นเช่นนั้นผมประเมินว่าสิ่งที่ไอน์สไตน์พูดถึงนี้เป็นนามธรรม หรือเป็นระดับจิต หรือเป็นสภาวะทางธรรมครับ ผมจะลองให้ความเห็นดังว่าดูครับ

ตรงข้อความชุดแรกที่บอกว่า
"อารมณ์ที่งดงามและลึกซึ้งที่สุดซึ่งคนเราจะสามารถประสบได้คือความรู้สึกถึงความลึกลับ .. ผู้ใดที่ไม่คุ้นเคยกับอารมณ์ดังกล่าว หรือไม่รู้สึกถึงความน่าประหลาดใจและตะลึงพรึงเพลิดในสิ่งต่างๆ อีกต่อไป ก็เปรียบคล้ายดังคนตายไปแล้ว .."

ตรงคำว่า "ความรู้สึกถึงความลึกลับ" ผมคิดว่ามันกินความไปมากกว่าคำว่าลึกลับ มันหมายถึงการมี "สภาวะความรู้สึกถึงความอัศจรรย์" ต่อทุกสิ่งในทุกขณะ (หรืออาจไม่ต้องถึงในทุกขณะก็ได้) จะว่าไปมันเป็นเรื่องสภาวะจิต ในระดับที่เราได้เห็น สัมผัสสิ่งต่างๆ เห็นสิ่งที่เราเคยมองว่าสามัญ คุ้นเคย กลับมาเป็นเรื่องสดใหม่ อัศจรรย์ใจ หรือเห็นว่าโลกในทุกขณะไม่เหมือนเดิม จะว่าการเห็นเช่นนั้นเป็นภาวะแจ่มกระจ่างของจิตปัจจุบันขณะก็ใช่ครับ ไอน์สไตน์เลยบอกว่า ใครที่ไม่เคยเห็นเช่นนั้น (ได้บ้าง) ".. ก็เปรียบคล้ายดังคนตายไปแล้ว .."

ส่วนข้อความช่วงหลังก็เสริมช่วงแรกครับ ว่าสภาวะที่ว่านี้ไม่อาจสัมผัสหรือหยั่งถึงได้ผ่านประสาทสัมผัสปกติ (ความจริงใช้ครับแต่ใช้เป็นแค่เครื่องมือหรือสื่อ) และผมขอเสริมด้วยว่าไม่อาจสัมผัสถึงผ่านทางความคิดด้วยสมอง หรือแค่ระดับความเข้าใจ แต่ต้องหยั่งถึงหรือตระหนักรู้ด้วยทั้งใจและกาย หรือจะพูดให้ลึกไปกว่านั้น เราข้ามทั้งใจและกายไปแล้ว เป็นไม่มี เพราะในระดับสภาวะนั้น เรากับทุกสิ่งเป็นหนึ่งเดียว หรือจะพูดให้เทียบเคียงได้ก็คือ เป็นสภาวะรู้ตัวทั่วพร้อมมีสติสมบูรณ์ต่อทุกสิ่ง หรือสภาวะที่เราเข้าถึงได้จากการมีสมาธิในรูปแบบหนึ่ง (แต่ไม่ใช่การทำสมาธิแบบตัดผัสสะออกจากโลกภายนอกนะครับ คนละเรื่องกัน)

ดังนั้นตรงประโยคสุดท้ายที่บอกว่า ".. ความรู้ความเข้าใจดังกล่าวคือหัวใจของศาสนาที่แท้จริง"

จึงใช้คำว่า "รู้และเข้าใจ" ยังไม่เพียงพอ คงต้องขยายว่า สัมผัสถึง หยั่งถึง ได้รู้สึกถึง ก็ได้ครับ

โดยส่วนตัว จากข้อความที่คุณนพรัตน์ยกมา ผมตีความว่า ไอน์สไตน์เจ๋งจริงๆ ครับ ยกเว้นผมมั่ว .. ฮา

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 20/02/2011
ขอเสริมอีกนิด ตรงที่ไอน์สไตน์บอกว่า ".. ซึ่งทำให้ศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงก่อเกิดขึ้น .."

ที่ไอน์สไตน์พูดเช่นนี้ คงต้องการสื่อถึงการทำเพื่อสิ่งที่ดีงาม เนื่องจากสภาวะนี้นี่แหละที่เป็นสภาวะที่ไปพ้นกิเลส เป็นสภาวะทางธรรม ว่างโดยแท้ หรือจะเรียกว่าสรรค์สร้างร่วมไปกับพระเป็นเจ้าก็ได้ ศิลปินที่แท้ทำงานผ่านสภาวะนี้ ไอน์สไตน์คงอยากบอกว่า นักวิทยาศาสตร์ก็ควรทำงานผ่านสภาวะนี้เช่นกัน (อันนี้คิดเอาเอง)

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 20/02/2011
ในความหมายของเรื่องที่เราคุยกัน ผมเห็นด้วยครับว่า ทุกคนพึงทำงานผ่นสภาวะนี้เช่นกันครับ สภาวะที่ไม่มี "คำพูด" ใดๆรออยู่ปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นคำว่าสำเร็จ ร่ำรวย หรือนิพพาน หรืออะไรก็ตาม ไม่มีครับเพราะสิ่งเดียวที่อยู่ตรงนี้จริงๆสำหรับเราผู้มีชีวิตคือความตาย หรือในอีกชื่อก็คือพระเจ้านั่นแหละครับ เมื่อตระหนักเช่นนี้ ผมจึงไม่มีพระเจ้าหลายใจที่หยิบยืมใช้ร่วมกับใครอีกต่อไป แต่ผมกำลังสร้างพระเจ้าของผมเอง ในแบบที่กำเนิดมาจากการเรียนรู้ชีวิตของตนเอง

หรือหากอธิบายแบบบ้านๆในอีกความหมาย เอาแบบในนัยยะทางโลก
วันก่อนในวงเบียร์ เมื่อมีการตั้งบทสนทนาเรื่องความเชื่อขึ้น ผมได้อธิบายไปว่าผมไม่เชื่อในพระเจ้าองค์ไหนอีกต่อไป ไม่เชื่อเรื่องศรัทธา นิยามซ้ำซาก จับต้องลำบาก หรืออัศจรรย์รักใดๆอีก รำคาญ แต่ผมจะเสกพระเจ้าขึ้นมาเอง เสกผ่านท้องภรรยานั่นแหละ เสกพระเจ้ามารักและดูแลเองดีกว่า

ส่งข่าวความคืบหน้าครับ

ชื่อผู้ตอบ : กานต์ ตอบเมื่อ : 20/02/2011
ความรัก การเกิด ความตาย เป็นนิสัย(ไม่ค่อยดี)ของพระเจ้า .. เพราะชอบทำให้เราระทมทุกข์

พระเจ้าหนุ่มหล่อจะเสกพระเจ้าองค์น้อยในท้องพระเจ้าสาว เป็นของตนเอง .. 555 ชอบครับ จะรอฟังข่าวดีครับ

ด้วยความระลึกถึงครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 21/02/2011
ขอบคุณค่ะคุณนันท์สำหรับความเห็นเพิ่มเติม และสำหรับคุณกานต์ จะรอฟังข่าวดีค่ะ

ข้อความของไอน์สไตน์ดังกล่าวข้างต้น ให้ข้อคิดที่เกี่ยวโยงกับธรรมบรรยายหลายอย่างที่ได้ฟังมาตั้งแต่ช่วงเดือนก่อนเป็นต้นมา ทั้งจากท่านพัคชก ริมโปเช ท่านอาจารย์ชยธัมโม ภิกขุ ท่าน ริงกุ ทุลกุ ริมโปเช และ ท่าน Chong Go Sunim (วัดเซ็นเกาหลี ซอยเอกมัย) ซึ่งจะขอแชร์บางส่วนดังนี้ค่ะ...

- ความกลัว ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน รวมทั้งความต้องการและความปรารถนาต่างๆ ดูเหมือนเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งทำให้เราเดี๋ยวก็ทุกข์เดี๋ยวก็สุข วนเวียนเรื่อยไปในวัฏสงสาร แต่แท้จริงแล้ว ทุกสิ่งล้วนเป็น "ความว่าง" (Emptiness หรือสุญญตา) สิ่งต่างๆที่ดำเนินไปเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุและปัจจัย เป็นพียง"สมมุติ"ที่จิต(Mind) ของเราสร้างเป็นภาพขึ้น(projection) ด้วยสมอง ความจำ และประสาทสัมผัสทั้งห้าที่มีข้อจำกัดในการมองเห็นและเข้าใจตามความเป็นจริงที่แท้

- มองจากพื้นผิวภายนอก เราดูเหมือนแบ่งแยก เป็นแต่ละบุคคล แต่ในระดับลึกที่สุดของชีวิตคือ” จิต” (Conciousness) นั้นเราทุกคนล้วนมีเมล็ดพันธ์ของ "จิตเดิมแท้" หรือ”พุทธภาวะ” (Buddha Nature) ที่บริสุทธิ์ สว่างไสว เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีคุณสมบัติที่สามารถ"เห็นแจ้ง"ในความเป็น”สุญญตา” ได้ เพียงเราแต่จะต้องมีความเชื่อมั่นในคุณสมบัติดังกล่าว และหมั่นปฏิบัติในสิ่งที่จะทำให้ธรรมชาติดังกล่าวในตัวเรา "สว่าง" ขึ้นด้วยศีล สมาธิ ปัญญา และการปล่อยวาง แทนการทำให้"มืดมน"ลงด้วยความยึดติดและกิเลสตัณหา

- และสืบเนื่องกับหัวข้อในกระทู้นี้ ศาสนาพุทธวัชรยาน มีคำสอนที่สำคัญเกี่ยวกับจิต (Conciousness) เรียกว่า“บาร์โด” ซึ่งหมายถึงช่วงการเปลี่ยนสภาวะของจิตในแต่ละระยะ เช่นบาร์โดที่เกี่ยวกับความตาย(สภาวะระหว่างการตายกับการเกิดใหม่) บาร์โดการดำรงชีวิตอยู่ (สภาวะระหว่างการเกิดกับการตาย) ซึ่งแบ่งย่อยไปอีกเป็น บาร์โดการฝัน (สภาวะระหว่างการนอนหลับกับการตื่น) และบาร์โดการทำสมาธิ (สภาวะระหว่างการอยู่ในสมาธิกับการอยู่นอกสมาธิ)

- บาร์โดที่เกี่ยวกับความตายหมายถึงช่วงเวลาที่เราตายไปจนกระทั่งไปเกิดใหม่ (ซึ่งโดยปกติเชื่อว่ากินเวลา 49 วัน) ในช่วงเวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ 3 ครั้ง คือในขณะที่เรากำลังจะตาย ขณะที่เป็นสัมภเวสี และขณะที่กำลังจะไปเกิดใหม่ หากเราไม่เคยรู้จักบาร์โดมาก่อน เมื่อตายไป เราย่อมเกิดความกลัวและมีความทุกข์รมานอย่างมาก เปรียบเสมือนการเดินทางไปดินแดนใหม่ หากเราไม่เคยรับรู้เรื่องราวของดินแดนนี้มาก่อน เราย่อมเกิดความกังวลใจหรือไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร คำสอนว่าด้วยบาร์โดนี้จึงถือเป็นคำสอนที่ยิ่งใหญ่เพราะนอกจากจะทำให้เราได้เตรียมตัวตายอย่างมีสติแล้วยังสามารถนำพาเราไปสู่ความหลุดพ้นได้ โดยในขณะที่อยู่ในบาร์โด หากเรารู้ตัวและรู้ทันสิ่งที่เกิดขึ้น เราจะสามารถแปรเปลี่ยนประสบการณ์ที่น่ากลัว (นิมิตของบาร์โด) เป็นประสบการณ์ที่นำไปสู่การรู้แจ้ง (Enlightenment)ได้ คำสอนนี้ถ่ายทอดในทิเบตในคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยการ์มา ลิงปะ พระอาจารย์นิกายญิงมาปะ(นิกายโบราณ) ผู้ค้นพบคัมภีร์ที่ว่าด้วยเรื่องนี้ซึ่งเป็นคำสอนของพระคุรุปัทมสมภพ พระพุทธเจ้าองค์ที่สองของชาวทิเบต คัมภีร์นี้รู้จักกันในนาม “คัมภีร์มรณศาสตร์” (Tibetan Book of the Dead) หรือชื่อภาษาทิเบต เรียกว่า “บาร์โด เทอเตรอ” (Bardo Thodol) ซึ่งหมายถึงการหลุดพ้นจากบาร์โดโดยการได้ยิน พระลามะมักจะสวดหรืออ่านคัมภีร์นี้ให้แก่บุคคลที่กำลังจะตาย เพราะเชื่อว่าให้อานิสงส์ที่เพาะเมล็ดพันธุ์ของการหลุดพ้นได้ นอกจากนี้หากได้ปฏิบัติธรรมมาดีในช่วงบาร์โดการดำรงชีวิตอยู่ ก็มีหลักฐานชี้ให้เห็นชัดว่าผู้นั้นก็จะไม่ต้องทนทุกข์ในบาร์โดแห่งความตายเช่นกัน หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคือการที่ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถกำหนดเวลาที่จะตายได้และเมื่อตายแล้วร่างได้สลายกลายเป็นอากาศธาตุ หรือที่กล่าวกันว่าร่างได้กลายเป็น“ร่างรุ้ง” หรือ “ร่างประภัสสร”

- มีการปฎิบัติเกี่ยวกับจิตอีกอย่างหนึ่งของศาสนาพุทธวัชรยานที่น่าสนใจ คือการปฏิบัติโพวา (Phowa) ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่เชื่อว่าจะทำให้คนเราสามารถถ่ายโอนจิตในเวลาแห่งการตายไปสู่ดินแดนสุขาวดี แห่ง พระอมิตาภะพุทธเจ้าในทิศตะวันตกซึ่งเป็นดินแดนแห่งทิพสุข การปฏิบัติโพวานั้นมีพลังที่จะสามารถผลักดันให้ผู้ปฎิบัติหลุดพ้นในทันที แม้ว่าจะสะสมอกุศลกรรมามากมายและมีความรู้สึกที่รบกวนอยู่มาก หรือแม้หากยังไม่หลุดพ้นในทันที การปฏิบัติที่พิเศษนี้ก็จะทำให้ได้จุติเป็นเทวดาหรือมนุษย์ซึ่งจะมาพร้อมด้วยความอิสระและวาสนาในการที่จะปฏิบัติธรรมต่อไปโดยไม่โดนขัดด้วยการไปจุติในภพล่างอันเนื่องจากอกุศลกรรมเก่าของบุคคลผู้นั้น...

ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 22/02/2011
ขอบคุณ คุณนันท์ และคุณนพรัตน์ นะครับ ที่ทำให้ผมเข้าใจอะไรบางอย่าง (อีกแล้ว) จากข้อความ

"ไม่มีสิ่งใดให้เจ็บปวดเมื่อเธอเข้าใจว่าทุกอย่างไม่ใช่เรื่องจริง"
และ
“ความกลัว ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน รวมทั้งความต้องการและความปรารถนาต่างๆ ดูเหมือนเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งทำให้เราเดี๋ยวก็ทุกข์เดี๋ยวก็สุข วนเวียนเรื่อยไปในวัฏสงสาร แต่แท้จริงแล้ว ทุกสิ่งล้วนเป็น "ความว่าง" (Emptiness หรือสุญญตา) สิ่งต่างๆที่ดำเนินไปเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุและปัจจัย เป็นพียง"สมมุติ"ที่จิต(Mind) ของเราสร้างเป็นภาพขึ้น(projection) ด้วยสมอง ความจำ และประสาทสัมผัสทั้งห้าที่มีข้อจำกัดในการมองเห็นและเข้าใจตามความเป็นจริงที่แท้”

ผมเข้าใจว่า “ไม่มีอะไรที่เราต้องไปยึดมั่นถือมั่น ความทุกข์ ความเจ็บปวด ความกลัว ฯลฯ แม้กระทั่งความสุขเอง ก็ไม่ควรที่จะไปยึด หรืออาจจะกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องจริง”

อาจจะเข้าใจด้วยความคิด ไม่ได้เข้าใจด้วยการพิจารณาตรึกตรองในสมาธิ(การวิปัสนา) อย่างที่คุณนพรัตน์ได้เคยกรุณาแนะนำไว้ ถ้าผมจะฝึกปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึง (สภาวธรรมดังกล่าว) จะขอคำแนะนำจากคุณนพรัตน์ได้หรือไม่ครับ

ผมสงสัยว่า "ความว่าง" (Emptiness หรือสุญญตา) กับ “อนัตตา” (ความไม่มีตัวตน) เหมือนหรือต่างกันอย่างไร คุณนพรัตน์ช่วยกรุณาอธิบายหน่อยได้ไหม

คุณนพรัตน์พูดถึงเรื่อง “บาร์โด” ไม่ทราบว่า เคยได้อ่านหนังสือเรื่อง “ประตูสู่สภาวะใหม่” หรือไม่ครับ ผมเคยเปิดอ่านผ่าน ๆ พอคุณนพรัตน์พูดถึง ก็เลยคิดที่จะหยิบมาอ่านแบบจริง ๆ จัง ๆ สักที

ชื่นชมและนับถือคุณนพรัตน์จริง ๆ
ชื่อผู้ตอบ : tik ตอบเมื่อ : 22/02/2011
ขอบคุณค่ะคุณtik ยินดีที่ทราบว่าสิ่งที่เขียนเพื่อความเข้าใจของตัวเองได้ยังประโยชน์แก่ผู้อื่นบ้าง โดยส่วนตัวยังเป็นผู้ศึกษาและแสวงหาสัจธรรมอยู่ เกรงว่าจะให้คำแนะนำได้ไม่ลึกซึ้งหรือครอบคลุมพอ แต่ถ้าคุณtikสนใจ จะเข้าเป็นกลุ่มกัลยาณมิตรด้วยกัน ก็ยินดีค่ะ

เกี่ยวกับคำถามที่ว่า "ความว่าง" (Emptiness หรือสุญญตา) กับ “อนัตตา” (ความไม่มีตัวตน) เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เผอิญเป็นคำถามเดียวกับที่มีคนถามท่านสมเด็จพัคชก ริมโปเชพอดี เลยขออนุญาตนำคำตอบของท่านมาเล่าต่อ (เท่าที่จำได้โดยสังเขป) ว่าทั้งสองคำจะมีความหมายคล้ายคลึงกันมาก จะต่างกันก็ตรงที่ “อนัตตา” (ความไม่มีตัวตน) หรือ Selflessness จะเน้นที่การปราศจากซึ่ง”อัตตา” (Ego) ของบุคคล ส่วน”สุญญตา”นั้นจะมีความหมายครอบคลุมมากกว่า คือ”ว่างเปล่าทั้งหมด” ไม่มีแม้แต่สิ่งที่เรียกว่า”ธรรมคู่” ทั้งหลายอีกต่อไป เช่น ไม่มีผู้รู้หรือผู้ถูกรู้ ไม่มีผู้กระทำหรือถูกกระทำ ฯลฯ เหมือนธรรมชาติของ”ที่ว่างเปล่า” (Space) ซึ่งหากมีแม้แต่ความคิดหรือความรู้สึกเล็กๆแวบเข้าไป เช่นคิดว่าตนเข้าถึงสภาวธรรมระดับนั้นระดับนี้ หรือนั่งสมาธิจนจิตนิ่งแล้วเกิด”ปิติ”ขึ้น ก็จะไม่ใช่”ว่างเปล่าทั้งหมด”อย่างแท้จริงอีกต่อไป...การจะเข้าถึงสภาวะธรรมดังกล่าวได้ ท่านบอกว่าต้องด้วยการทำสมาธิแบบไร้ซึ่งความคิดใดๆ (Non-Conceptual Meditation) (คิดว่าน่าจะคล้ายกับสภาวะ”ช่องว่างระหว่างความคิด” ใน 7 กฎฯ นะคะ)

ส่วนความเข้าใจของคุณtikที่ว่า “ไม่มีอะไรที่เราต้องไปยึดมั่นถือมั่น ความทุกข์ ความเจ็บปวด ความกลัว ฯลฯ แม้กระทั่งความสุขเอง ก็ไม่ควรที่จะไปยึด หรืออาจจะกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องจริง” นั้นในความเห็นส่วนตัวคิดว่าก่อนจะถึงจุดนี้ได้ ต้องเข้าใจในธรรมชาติของอารมณ์ทั้งหลายก่อน โดยมองการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของอารมณ์ต่างๆ “ตามความเป็นจริง” ไม่ต้องปฏิเสธหรือยอมรับ ไม่พยายามบังคับ ก่าวก่าย หรือคล้อยตาม มองด้วยจิตจนเห็นความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของอารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วจิตก็จะสามารถปล่อยวางเองได้ในที่สุด

สำหรับหนังสือเรื่อง “ประตูสู่สภาวะใหม่”ยังไม่เคยอ่านค่ะ ดูเหมือนเป็นหนังสือเก่าตั้งแต่ปี 2541 ตอนนี้คงหาซื้อไม่ได้แล้ว ถ้ามีอะไรน่าสนใจ คุณtikช่วยเล่าสู่กันบ้างนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 24/02/2011
พอดีพระอาจารย์หมอดิลก ชยธัมโม ภิกขุ เดินทางมากรุงเทพฯ จึงขอเรียนเชิญทุกท่านที่สนใจเข้าร่วมปฏิบัติสมาธิและสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ ณ ชั้น 7 อาคารซีทราน ตามวันและเวลาข้างล่างนี้ได้ค่ะ

วันศุกร์ที่ 25 ก.พ. : เวลา 17:30 - 21:00 น.
วันเสาร์ที่ 26 ก.พ. : เวลา 07:00 - 21:00 น.
วันอาทิตย์ที่ 27 ก.พ. : เวลา 07:00 - 12:00 น

(แผนที่อาคารซีทรานและรายละเอียด ดูได้จากบทความอ้างอิง: http://www.dmbodhiyan.com/news/2554/02/ctran)
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 24/02/2011
ขอบคุณ คุณนพรัตน์ครับ ได้ความกระจ่างขึ้นอีกเยอะเลยและอธิบายให้เข้าใจ เรื่องของธรรมชาติของอารมณ์ ที่คุณนพรัตน์บอกว่า ให้เข้าใจ “ตามความเป็นจริง” ไม่ต้องปฏิเสธหรือยอมรับ ไม่พยายามบังคับ ก้าวก่าย หรือคล้อยตาม ผมกำลังฝึกปฏิบัติตรงจุดนี้อยู่พอดี

หนังสือเรื่อง “ประตูสู่สภาวะใหม่” ถ้าผมอ่านจบแล้วจะมาเล่าให้ฟังครับ





ชื่อผู้ตอบ : tik ตอบเมื่อ : 25/02/2011
ขอร่วมแชร์ “มุมมอง” นะครับ สำหรับส่วนตัวผมมีความเห็นว่า 2 อย่างนี้ จุดสำคัญน่าจะต่างกันที่จุดหรือระดับสภาวะของการรับรู้ของเรา

เริ่มจากพื้นฐานที่ว่า “อนัตตา” นั้นเป็นสภาพความเป็นจริงหนึ่ง ซึ่งเป็นคุณลักษณะ หรือเป็นธรรมชาติอันสำคัญ ของสิ่งทั้งหลาย

ความจริงนั้นคือ ทุกสิ่งทั้งสิ้นทั้งปวง ไม่มีตัวมีตน (เป็นของตนเอง) ล้วนแต่พึ่งพาสิ่งอื่นๆ ให้สืบรูปหรือสถานะให้เป็นตัวเป็นตน ที่ทำให้เราสัมผัสรู้อยู่ด้วยกรอบของอายตนะ

ประเด็นต่อมาก็คือ เราจะเข้าใจหรือเห็นความจริงนี้อย่างแท้จริง ก็เมื่อเกิดปัญญา(หรือตัวรู้) เกิดเป็นความเห็นถึงสภาพความเป็นจริงข้อนี้ เพื่อให้เราได้คลายยึดมั่นถือมั่น หรืออัตตาลง จนถึงได้หมดสิ้น
ซึ่งสำหรับผมแล้วเห็นว่าสภาวะนี้ "ยังมีผู้เห็นและสิ่งที่ถูกเห็นอยู่" (ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับที่เห็นว่าทุกสิ่งเป็น "อนิจจัง" "ทุกขัง")

ส่วน "สุญญตา" นั้นเป็นสภาพความเป็นจริงหนึ่งเช่นกัน แต่เป็นสภาพความเป็นจริงสุดท้ายหรือเป็นสภาวธรรมแท้ (สูงสุด) ที่ขณะนั้นไม่มีผู้เห็น ไม่มีผู้ถูกเห็น หรือไม่มีผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้

ที่มันหายไปเพราะขณะนั้นจิตไม่เกิดมีกระบวนการคิด หรือความเห็น ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยก เป็นผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ หรือหากพูดกลับด้าน ก็อาจพูดว่า เป็นสภาวะก่อนการแบ่งแยกใดๆ หรือพูดได้ว่ามันได้กลับกลายเป็นทั้งหมด เป็นทั้งหมด ที่ไม่มีขอบเขตจุดจบ ไร้ปริมาตรวัดมันได้ ก็เลยเหมือนไม่มี ไม่มีก็เพราะ ไม่มีการเปรียบเทียบมันได้อีกต่อไป ว่ามีหรือไม่มี

ซึ่งก็คือจุด ณ ที่ความคิดได้หยุดสิ้นลงโดยสิ้นเชิง แค่รับรู้เต็มสภาพ ด้วยความว่างจากความคิดแม้ธุลี



ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 25/02/2011
ขอไปปลีกวิเวกสักสัปดาห์แล้วจะเข้ามาคุยใหม่ค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 25/02/2011


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code