สมาธิ
จิตที่เป็นสมาธินั้น .. เงียบ
เป็นความเงียบชนิดที่ไม่สามารถหยั่งถึงได้จากการคิด
มันไม่ใช่ความเงียบสงบในยามพลบค่ำ
มันคือความเงียบ เมื่อความคิด ..
ซึ่งประกอบด้วยภาพของความคิด คำพูดของความคิด
และขบวนการทำความเข้าใจใดๆ ได้ยุติลงอย่างสิ้นเชิง
จิตที่เป็นสมาธิเช่นนี้เอง คือจิตทางศาสนา
ศาสนาในแบบที่ไม่อาจสัมผัสถึงได้ ด้วยโบสถ์ วิหาร หรือการสวดมนต์

จิตทางศาสนา เป็นสภาวะการเผยออกของความรัก
ในความรักนี้ ที่เราได้หยั่งถึงความไม่แบ่งแยกใดๆ
สำหรับมัน ไกลคือใกล้ มันไม่มีทั้งหนึ่งเดียวหรือมากสิ่ง
อาจพูดได้ว่า ในสภาวะของความรักนี้ การแบ่งแยกทั้งหลายได้จบสิ้นลง
เหมือนกับความงาม ที่คำพูดไม่อาจวัดได้
จากความเงียบนี้เท่านั้น จิตที่เป็นสมาธิ กระทำการ

. . .

จาก Meditations ของ กฤษณมูรติ
สวัสดี วันอาสาฬหบูชา ครับ

ชื่อผู้ส่ง : นันท์ วิทยดำรง ถามเมื่อ : 26/07/2010
 


ขอบคุณมากค่ะคุณนันท์สำหรับบทความอันสละสลวยและทำให้รู้สึกถึงสภาวะความสงบแห่งจิตอันเป็นสมาธิได้โดยแทบไม่ต้องทำอะไร...

สวัสดีวันเข้าพรรษาค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 27/07/2010
สัจจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีคุณ

. . .

คุณรู้สึกว่าชีวิตคุณมีความงามบ้างไหม หรือรู้สึกครึ่งๆ กลางๆ ไม่มีความหมายอันใด มีแต่การดิ้นรนต่อสู้ไม่หยุดหย่อนตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

ความงามคืออะไร นี่ไม่ใช่คำถามเชิงรักๆ ใคร่ๆ ทั้งไม่ใช่คำถามเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ แต่เป็นคำถามที่จริงจัง เพราะเมื่อไร้ความงามในหัวใจของคุณ คุณไม่อาจเบ่งบานในความดี

คุณเคยมองดูขุนเขาหรือทะเลสีคราม โดยปราศจากถ้อยคำที่พึมพำอยู่ภายใน ปราศจากสุ้มเสียง แต่ใส่ใจจริงๆ ต่อทะเลสีคราม ต่อความงามของผืนน้ำ ความงามของแสงที่สาดต้องผืนน้ำ ยามเมื่อคุณแลเห็นความงามล้ำแห่งแผ่นดิน อีกทั้งแม่น้ำลำธาร ทะเลสาบ เทือกเขา อะไรหรือที่เกิดขึ้นจริงๆ

อะไรเกิดขึ้นยามเมื่อคุณมองดูบางสิ่งบางอย่างที่งดงามอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ทั้งงานประติมากรรม บทกวี ดอกบัวในสระ หรือสนามหญ้าที่ได้รับการดูแลอย่างดี

ชั่วขณะนั้น ความอลังการแห่งขุนเขาทำให้คุณลืมตัวคุณเอง .. คุณเคยอยู่ในสภาวะอย่างนั้นบ้างไหม

หากคุณเคย เคยเห็นสภาวะนั้นแล้ว คุณย่อมไม่มีอยู่ มีอยู่เพียงความงามอันโอฬารเท่านั้น แต่ชั่วไม่กี่วินาที หรือนาทีถัดมา วัฏจักรทั้งหมดก็เริ่มขึ้น ทั้งความสับสนและเสียงพึมพำอยู่ภายใน

ดังนั้นความงามเกิดขึ้นเมื่อ “คุณ” ไม่ปรากฏ .. ช่างเป็นโศกนาฏกรรมหากคุณมองไม่เห็นสิ่งนี้

สัจจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มี “คุณ” มีความงามและความรัก ณ ที่ที่ไม่มี “คุณ” .. ทว่าเราไร้ความสามารถ ที่จะมองเห็นสิ่งพิเศษนี้ ที่เรียกว่าสัจจะ

. . .

จาก สัจจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีคุณ Truth is Where You are Not
ของ กฤษณมูรติ
แปลโดย ทีมงานมูลนิธิ อันวีกษณา

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 31/07/2010
"Meditation demands an astonishingly alert mind; meditation is the understanding of the totality of life in which every form of fragmentation has ceased. Meditation is not control of thought, for when thought is controlled it breeds conflict in the mind, but when you understand the structure and origin of thought, which we have already been into, then thought will not interfere. That very understanding of the structure of thinking is its own discipline which is meditation.
Meditation is to be aware of every thought and of every feeling, never to say it is right or wrong but just to watch it and move with it. In that watching you begin to understand the whole movement of thought and feeling. And out of this awareness comes silence. Silence put together by thought is stagnation, is dead, but the silence that comes when thought has understood its own beginning, the nature of itself, understood how all thought is never free but always old —this silence is meditation in which the meditator is entirely absent, for the mind has emptied itself of the past.
If you have read this book for a whole hour attentively, that is meditation. If you have merely taken away a few words and gathered a few ideas to think about later, then it is no longer meditation. Meditation is a state of mind which looks at everything with complete attention, totally, not just parts of it. And no one can teach you how to be attentive. If any system teaches you how to be attentive, then you are attentive to the system and that is not attention. Meditation is one of the greatest arts in life —perhaps the greatest, and one cannot possibly learn it from anybody, that is the beauty of it. It has no technique and therefore no authority. When you learn about yourself, watch yourself, watch the way you walk, how you eat, what you say, the gossip, the hate, the jealousy —if you are aware of all that in yourself, without any choice, that is part of meditation.
So meditation can take place when you are sitting in a bus or walking in the woods full of light and shadows, or listening to the singing of birds or looking at the face of your wife or child.
In the understanding of meditation there is love, and love is not the product of systems, of habits, of following a method. Love cannot be cultivated by thought. Love can perhaps come into being when there is complete silence, a silence in which the meditator is entirely absent; and the mind can be silent only when it understands its own movement as thought and feeling. To understand this movement of thought and feeling there can be no condemnation in observing it. To observe in such a way is the discipline, and that kind of discipline is fluid, free, not the discipline of conformity."

Freedom from the known
ของ กฤษณมูรติ

เนื้อหาโดยสรุปคือการทำสมาธิต้องมีความ"รู้ตัวทั่วพร้อม"ในทุกขณะจิต ตามรู้การเกิดขึ้นและการเคลื่อนไหวของทุกความคิดและอารมณ์ความรู้สึกโดย"ไม่ต้องตัดสิน"ว่าผิดหรือถูก...ด้วยการตามรู้เช่นนี้ จะทำให้เราค่อยๆ"เข้าใจ"ถึงที่มาที่ไปและธรรมชาติของความคิดและอารมณ์ความรู้สึกทั้งปวงได้ ผลคือจิตจะเข้าสู่ความเงียบของสมาธิจิตได้โดยไม่ต้องใช้ความคิด ความมีตัวตนของผู้รู้จะหายไป และความรักที่แท้จริงก็จะบังเกิดขึ้น...ไม่ทราบมีคำแปลเป็นไทยฉบับเต็มรูปแบบแล้วหรือไม่ หากไม่มี ท่านใดจะช่วยกรุณาแปลให้ด้วยภาษาอันสละสลวยก็คงเป็นประโยชน์ไม่น้อยนะคะ...

ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 01/08/2010
หากเป็นการมองเห็นความงามใน จิตใจเพื่อนมนุษย์ ที่ไม่ใช่ทั้งงานประติมากรรม
บทกวี ดอกบัวในสระ จะทำให้ "ความงาม" ในกระทู้นี้เสียบรรยากาศมั้ย???

เป็นความอึ้งและทึ่ง....ไม่รู้จะไปบอกกล่าวได้ที่ไหน?
เมื่อ 7-8 วันที่ผ่านมา มีนัดพบกันกับผู้คนที่ได้เริ่มรู้จักในเว็บบอร์ดนี้
วัตถุประสงค์เริ่มต้นเป็นเพียง พบปะเพื่อความรื่นเริง สังสรรค์
พบปะเพื่อกำหนด เวลาที่จะพบกันคราวต่อไป

แต่ก็มีบางอย่างนั้น เปลี่ยนทิศไป เมื่อดูเหมือนจะมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่
บุคคลผู้ที่ริเริ่มการพบกันนั้น "ลืม และเลิกกำหนด" โปรแกรมฯ ตามความตั้งใจเดิม

อาสาที่จะทุ่มเทเต็มศักยภาพส่วนตนในภารกิจ ที่จะเกิดนี้

........
คุณรู้สึกว่าชีวิตคุณมีความงามบ้างไหม

สำหรับตัวเองแล้ว.....เป็นเรื่องการสัมผัสพลังความงาม


ขอถือโอกาสนี้แสดงความชื่นชมพลังความตั้งใจ(อาสา)ของบุคคล 2ท่าน ที่โดดเด่นออกมาทั้งคุณหนึ่ง และคุณตุ๊กที่ทั้ง 2ท่าน มีทิศทาง
เปลี่ยนความตั้งใจ(ส่วนตน) ไปสู่กิจกรรมข้องเกี่ยวการช่วยเหลือมวลมนุษย์

คงเปรียบได้เป็น

ชั่วขณะนั้น ความอลังการแห่งขุนเขาทำให้คุณลืมตัวคุณเอง
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 01/08/2010
ไม่ต้องแปลแล้วครับคุณนพรัตน์ บทสรุปใจความที่ย่อมานั้น ครบถ้วนแล้วจริงๆ ผมเองคุ้นๆ ว่ามีคนแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทยแล้ว ลองเข้า google หาดู ก็เป็นจริงดังว่า "Freedom from the known" เล่มไทยชื่อว่า "อิรภาพเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่รู้" ครับ น่าไปลองหามาอ่านดูเหมือนกัน

คุณแฟนฯ ครับ .. แล้วหลัง ชั่วขณะนั้น หรือชั่วไม่กี่วินาที หรือนาทีถัดมา วัฏจักรทั้งหมดก็เริ่มขึ้น ทั้งความสับสนและเสียงพึมพำอยู่ภายใน .. ดังที่กฤษณมูรติบอกไว้หรือเปล่าครับ .. 555
ผมหมายถึง เสียงพึมพำ จนถึงอึงคนึง จากการสนทนาของทั้ง 7 สาวในวันนั้นน่ะครับ .. ฮา อีกที เสียดาย ไม่ได้ไปแอบฟังด้วยคน

ว่าาแต่คุณหนึ่งและคุณตุ๊ก จะไปช่วยเหลือมวลมนุษย์ที่ไหนเหรอครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 01/08/2010
มีอีกข้อความ ที่น่าจะสอดคล้องกันกับที่คุณนพรัตน์ยกมา และทั้งหมด

. . .

เพื่อที่จะเข้าใจขบวนการทั้งหมดของความคิดและความรู้สึก เราต้องเป็นอิสระจากความคิดและความรู้สึกทั้งหมดที่มี .. เมื่อนั้นใจและการดำรงอยู่ จะกลับกลายเป็นความเงียบ จนมันคือส่วนหนึ่งของชีวิต และในความเงียบนั้น เราจะสามารถเห็นต้นไม้ ผู้คน ท้องฟ้า และดวงดาว .. บนความงดงามของชีวิต

. . .

ของ กฤษณมูรติ


ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 01/08/2010
เรื่องมันยาวง่ะ
ให้คุณหนึ่งมาเล่าเองละกัน
เห็นว่างานนี้คงไม่ใช่เรื่อง...บังเอิญ
หลังจากพบกันวันนั้น คุณหนึ่งเธอเจอเหตุการณ์ประจวบเหมาะที่สิงคโปร์
แล้วโทรฯ มาคุยกับพี่อิ๋วได้เป็นนานค่ะ

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 01/08/2010
ตกลงในกระทู้นี้เราคุยเรื่องสมาธิและการพบปะของ 7 สาว สลับไปมาก็แล้วกันนะคะ จะได้หลากหลายและไม่เครียดดี (555 !)

วันนี้ได้อ่าน the BOOK of SECRETS ที่คุณ ดีพัค โชปรา แนะนำ ไปบางส่วน...เป็นเรื่องความเร้นลับในการการค้นหาตัวตนที่แท้จริงของเราว่าเป็นใครและเกิดมาทำไม...อ่านแล้วรู้สึกว่า"มึน" ไม่น้อยเลย เพราะไม่ค่อยเข้าใจเป็นส่วนใหญ่ (แหะ แหะ)...แต่มีบางข้อความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำสมาธิและสิ่งที่กฤษณมูรติกล่าวถึง ซึ่งจะค่อยๆสรุป(เท่าที่เข้าใจ)มาแชร์กันต่อไปค่ะ


-
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 02/08/2010
หากการทำ สมาธิ มีส่วนช่วยการค้นหาตัวตนที่แท้จริงของเราว่าเป็น
ใครและเกิดมาทำไม... รวมทั้งส่งผลลัพท์ให้ก้าวพ้นเมล็ดพันธ์แห่ง
กรรม(ส่วนบุคคล)ได้ และความรักที่แท้จริงก็จะบังเกิดขึ้น...

การทำสมาธิหมู่ ตามความเชื่อของกูรู ว่าสามารถ สลายภัยพิบัติของโลก(ก้าวพ้นเมล็ดพันธ์แห่งกรรม)
น่าจะเป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่(มาก) และถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ใน
การศึกษาเรื่องราวทางจิตวิญญาณค่ะ

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 02/08/2010
ความเงียบเป็นปัจจุบันเสมอ ในขณะที่ความคิดไม่ ..
ความคิดเป็นของเก่าเสมอ ซึ่งไม่มีทางจะเข้าสู่ความเงียบ ซึ่งสดใหม่เสมอ
ความสดใหม่นี้ .. กลายเป็นเก่า เมื่อความคิดสัมผัสมัน
ความรัก ปรากฏเฉพาะเมื่อความคิดหยุดนิ่งลง
ความหยุดนิ่งลงนี้ ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยความคิด
ความคิดเป็นของเก่าเสมอ แต่ความรักไม่ ..
การผลิบานของความดีงาม ไม่อาจอยู่ในผืนดินของความคิด

. . .

ของ กฤษณมูรติ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 03/08/2010
ใน the BOOK of SECRETS ดีพัค โชปรา ลำดับการรับรู้ของจิต (awareness) ไว้ 3 ขั้น คือ

1.ขึ้นกับประสาทสัมผัสทั้งห้า ซี่งเป็นพื้นฐานของตัวตนและอัตตา ถูกจำกัดด้วยเวลาและเนื้อที่ ทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆผิดได้มากมาย เช่นเห็นว่าพระอาทิตย์หมุนรอบโลกโดยขึ้นทางตะวันออกและตกทางตะวันตก หรือเห็นว่าโลกแบน เป็นต้น สิ่งต่างๆแบ่งแยกกับตัวเรา มีความรู้สึกกลัว และขัดแย้งได้ทุกเมื่อ...

2.ขึ้นกับความเข้าใจในกฏแห่งธรรมชาติ ที่ได้จากการคิด และทดลอง จนสามารถควบคุมธรรมชาติได้มากขึ้น ความหวาดกลัวจะลดลง แต่การใช้ความคิดทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกของวัตถุยังเป็นสิ่งที่แยกอยู่ “ภายนอก”ตัวเรา จนเมื่อไรที่เราหยุดการคิดแล้วถามตัวเองว่า”เราคือใครที่กำลังใช้ความคิดทั้งหลายเหล่านั้น” เราจึงจะเริ่มก้าวสู่การรับรู้อันบริสุทธิ์ที่อยู่นอกเหนือความคิดในขั้นต่อไปไปได้...

3.ขึ้นกับจิตรู้ด้วยการเป็น(being)หนึ่งเดียวกับธรรมชาติ สมองว่างจากความคิดทั้งหลาย (เช่นสภาวะในช่วงการทำสมาธิ) การแบ่งแยกต่างๆสลายไป ไม่มีความจำกัดของเวลาและเนื้อที่ เป็นความรับรู้ที่สร้างสรรค์ ความตั้งใจทุกอย่างสัมฤทธ์ผล รู้สึกมั่นคง ปลอดภัย โล่ง โปร่งเบา สงบ เงียบ แต่สว่างไสว เต็มไปด้วยความรัก และความศักดิ์สิทธิ์ ....
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 04/08/2010
ดีจังครับ .. แปลอีกครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 04/08/2010
ขอเสริมครับ ถ้าเปรียบให้เห็นภาพ คงเป็นโลก 3 ระดับคือ

1.BODY โลกระดับทางกายภาพหรือโลกในระดับวัตถุ ที่สัมผัสรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า

2.MIND โลกทางใจหรือโลกในระดับความคิด หรือโลกระดับพลังงาน เป็นโลกในระดับที่เราใช้สร้างโลกภายนอกในระดับกายภาพให้ปรากฏขึ้น ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

3.SPIRIT โลกในระดับจิตวิญญาณหรือโลกในระดับความว่าง เป็นอนันตภาวะ และเป็นการเข้าถึง "ธรรมธาตุ" นั้น ที่ทำหน้าที่เป็นกฎ หรือเป็นพลังงานแห่งความศักดิ์สิทธิ์อันบริสุทธิ์ อันเป็นคุณสมบัติของพระเป็นเจ้า ที่ทำให้ทุกอย่างดำเนินไป ด้วยหลักการที่ว่า เหตุปัจจัย ย่อมนำไปสู่ผลที่สืบๆ เนื่องกันไป
. . .
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 05/08/2010
ขอบคุณค่ะคุณนันท์ที่ช่วยเปรียบเทียบ ทำให้เข้าใจความแตกต่างระหว่าง MIND กับ SPIRIT ได้ดีขึ้น แต่มีคำถามต่อค่ะว่า "จิตกับความคิดเหมือนหรือต่างกันอย่างไร" และ "เมื่อเราจากโลกนี้ไป MIND ของเราสูญสลายไปด้วยหรือไม่" แล้ว "รหัสกรรมและพลังงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับตัวเราที่ทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีกเรื่อยๆไปอยู่ที่ไหน...ในโลกระดับของ SPIRIT หรือ MIND "

คำตอบอาจไม่ง่ายนัก หรือเป็นอจิณไตย (สิ่งที่เป็นไปโดยหาเหตุผลไม่ได้ หรือไม่มีทางหาเหตุผลที่แน่นอนได้) แต่คงไม่ถึงขั้นรู้ไปใช่ได้ประโยชน์อะไร หรือรู้ไปก็แค่นั้นเอง...เพราะถ้ารู้ได้ อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องกฏของธรรมชาติได้ดีขึ้น (โลกในระดับ 2) ใช่ไหมคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 05/08/2010
โอ้โห คุณนพรัตน์ ถามอย่างกับผมเป็นผู้รู้แจ้งแล้วเลย เอาเป็นถือว่า เป็นการแสดงความเข้าใจ ปนความเห็น ในมุมมองของผมก็แล้วกัน ถ้ามีผู้รู้ร่วมแลกเปลี่ยนด้วยก็จะดีนะครับ

จากคำที่ใช้ในคำถาม ก่อนอื่นผมขอแสดงความเห็นว่า มันมีมิติความแตกต่างทั้งเรื่องของ การใช้คำ จาก 2 ภาษา และจากคนละทางศาสนา

อย่างแรก การแบ่งแบบ 3 เรื่องข้างต้น คือ BODY – MIND – SPIRIT นั้น เป็นแบบตะวันตก

แต่ถ้าหากพิจารณาตามพุทธแบบเถรวาทที่เราคุ้นเคยนั้น เราแบ่งตัวเราเป็น รูป-นาม หรือ กาย-จิต

ซึ่งถ้าหากเป็นแบบมหายาน จะมีจิตอีกประเภท คือ จิตเดิมแท้ (จิตอันบริสุทธิ์ ก่อนถูกอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน เข้าเคลือบคลุม จนเกิดอัตตา หรือตัวกูของกู) ซึ่งส่วนตัวผมเปรียบ จิตเดิมแท้ นี้เทียบเคียงกับระดับ จิตวิญญาณ ของตะวันตก

กลับมาเรื่อง “จิตกับความคิด เหมือนหรือต่างกันอย่างไร”
ตัวผมถือว่า ความคิด เป็นอาการเคลื่อนไหวของจิต

ที่มาคือ ผมวิเคราะห์ตามหลักพุทธศาสนาในเรื่องที่บอกว่า เรานั้นประกอบด้วย ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ดังนั้น จิต ย่อมประกอบด้วย

เวทนา : การรู้สึกสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์
สัญญา : การจำได้หมายรู้
สังขาร : การปรุงแต่ง
วิญญาณ : การรู้ผ่าน หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ

ผมจึงสรุปเอาว่า การคิด ก็คือ อาการของ “สังขาร” ที่เป็นธรรมชาติด้านการปรุงแต่งของจิต (ซึ่งเราคิดด้วยภาพและเสียง ดังที่เคยแสดงความเห็นไว้ในกระทู้ “มุมมองเรื่อง "การหยุดคิด") โดยใช้ฐานข้อมูลเดิม จาก “สัญญา” (ซึ่งนั่นจึงทำให้ ความคิดเป็นของเก่าเสมอ เพราะมาจากข้อมูลในอดีต ถึงแม้เรากำลังคิดไปถึงอนาคตก็ตาม)

สรุป ความเห็นของผมเรื่อง จิตกับความคิด จึงไม่ใช่เรื่อง การเหมือนหรือต่างกัน แต่ความคิด เป็นธรรมชาติหรืออาการอย่างหนึ่งของจิต ครับ

คำถามต่อมา "เมื่อเราจากโลกนี้ไป MIND ของเราสูญสลายไปด้วยหรือไม่"
"รหัสกรรมและพลังงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราที่ทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีกเรื่อยๆไปอยู่ที่ไหน...ในโลกระดับของ SPIRIT หรือ MIND "

อืม .. ผมไม่รู้จริงๆ ครับคุณนพรัตน์ แต่จะลองชวนกันคิด และวิเคราะห์ดูนะครับ ผมจะขอแสดงความเห็นรวบ 2 ประเด็นนี้เลย เพราะน่าจะเป็นเรื่องสืบเนื่องกัน

ตามมุมมองของผม หากเราเริ่มพิจารณาจากแนวคิดที่ว่า ..
จักรวาลทั้งหมดนี้ คือ สนามของ “พลังงานและข้อมูล” ที่อยู่ในมิติที่ทั้ง ยังไม่ปรากฏรูป และปรากฏรูป ซึ่งเรานั้น รับรู้หรือมีประสบการณ์ต่อ สนามพลังงานและข้อมูลนี้ ว่ามันเป็นหรือปรากฏรูปอะไร และปรุงแต่งเลยไปจนถึงรู้สึกอย่างไร ก็โดยอาศัยการรับรู้จาก อายตนะสัมผัส ตามกรอบของมนุษย์อย่างเรา ซึ่งพุทธศาสนา แยกแยะออกเป็น 6 อย่าง คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ (ซึ่งใจนั้น ทางตะวันตก ไม่มี)

คำว่า MIND ในที่นี้ หากมองแบบตะวันตก (BODY – MIND – SPIRIT) คำว่า MIND นี้ น่าจะหมายถึง ความคิดและความรู้สึก หากมองเผื่อ ไปเป็นแบบพุทธศาสนา ก็น่าจะเทียบได้กับ จิต ซึ่งแยกออกเป็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ซึ่งตัวการหรือตัวขบวนการของ MIND หรือ จิต นี้แหละ ที่ปรุงแต่ง ทำให้เรานึกว่าตัวเองเป็นตัวเป็นตน เลยกลายเป็นตัวเป็นตน จนต้องเกิดแล้ว เกิดอีก ต่อเนื่องไป จนกว่าเราจะรู้ทันกลไก หรือขบวนการนี้ จนพ้นการสร้างสิ่งยึดโยง ให้เราต้องมีเหตุต่อไป ก็หมดสิ้น ทั้งรูปกาย และทั้ง MIND ทั้งจิต เหลือแต่ความไม่มีทั้งสิ้นทั้งปวง ไม่มีแม้แต่ พลังงานและข้อมูล อาจพูดได้เพียงว่า เป็นพลังงานอันบริสุทธิ์ หรือกลับไปเป็นจิตเดิมแท้ หรือเป็นความว่าง หรือนิพพาน เป็นต้น

ผมพาอ้อมมาขนาดนี้ ก็เพราะการตอบว่า MIND ของเรา สูญสลายไปด้วยหรือไม่นั้น หากเป็นไปตามแนวคิดข้างต้น ก็คงมีทั้งไม่สูญสลาย และสูญสลายไปครับ ขึ้นอยู่กับว่าคำว่า "ของเรา" ยังมีอยู่ไหม หรือเราพ้นไปแล้วหรือยัง

และการตอบเรื่อง รหัสกรรมและพลังงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราที่ทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีกเรื่อยๆ ไปอยู่ที่ไหน ..ในโลกระดับของ SPIRIT หรือ MIND

ตามแนวคิดนี้ หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ผมคิดว่า ถ้ายังมีรหัสกรรมและพลังงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา ก็แสดงว่ายังอยู่ในโลกระดับของ MIND ซึ่งเป็นโลกในระดับพลังงานและข้อมูล

แต่ต้องหมายเหตุไว้ว่า ในความเข้าใจของผม โลก 3 ระดับนี้ ไม่ได้แบ่งตัดขาดจากกัน เป็นตรงนี้ ตรงโน้น ความจริงมันทับซ้อนกันรวมอยู่ตรงนี้ ในตัวเรานี้ และตรงหน้าเรา ในทุกๆ สิ่งพร้อมกันนี้อยู่แล้ว หากเอาแบบเป็นรูปธรรม ดูด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ก็คือ จากวัตถุ ย่อยละเอียดเข้าไปเป็น โมเลกุล เป็นอะตอม เป็น อนุภาค เป็นความว่างระหว่างอนุภาค หรือ ทางนามธรรม ก็คือ จากกาย สู่จิต (ขบวนการปรุงแต่ง) หยุดปรุงแต่งก็เข้าสู่สภาวะความว่าง

ผม คิดว่า สนามพลังงานและข้อมูลนั้น มันคงมีอยู่เสมอ แต่จิตมนุษย์นี่แหละ ที่เข้าไปหยิบจับมันขึ้นมาเป็นตัวเป็นตน ความจริงไม่ต้องพูดถึงเรื่องหลังเราตายหรอกครับ มันเป็นเช่นนั้นตลอดเวลา ถ้าเราไม่ปรุงแต่ง จนเกิดตัวตน มันก็ไม่มีอยู่ ได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย ไม่เกี่ยวกับอยู่หรือตาย ผู้รู้ท่านบอกว่า เราเกิดและตายอยู่แล้วในทุกขณะ ตามการเกิดดับของจิต ครับ

อันหลังนี่ ไม่ได้ถาม แต่กลอนพาไปครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 06/08/2010
อ่านคำอธิบายของคุณนันท์แล้วรู้สึกกระจ่างขึ้นมาก แต่ก็มีคำถามต่อเพราะเผอิญไปเจอบทคัดย่อเกี่ยวกับ Life After Death ของ ดีพัค โชปรา ซึ่งกล่าวว่า เวลาที่ร่างกายตาย SOUL หรือ ดวงวิญญาณจะออกจากกายไป SOUL นี้เป็น”อัตตา” หรือ Self ซึ่งศาสนาและปรัชญาฮินดูถือว่าเที่ยงแท้ถาวร เป็นวิญญาณดวงเดียวไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอมตะเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อย ๆ... แต่ถ้าดูความหมายในทางพุทธศาสนา"วิญญาณ"ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ด้วยอาศัยเหตุปัจจัย แม้จะมีการเวียนว่ายตายเกิด เป็นผู้ทำและรับผลของกรรม แต่ก็มิได้คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนความเชื่อของพวกพราหมณ์...

โดยส่วนตัวรู้สึกว่า ดีพัค โชปรา มีความเชื่อเกี่ยวกับ SOUL ตามแบบฮินดูมากกว่าทางศาสนาพุทธ (ซึ่งไม่ได้หมายความถูกหรือผิดนะคะ เพียงแต่คิดว่าความเชื่อที่ต่างกันจะมีผลต่อจุดหมายและการดำเนินของชีวิตที่ต่างกัน)... ไม่ทราบคุณนันท์มีความเห็นอย่างไรคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 07/08/2010
คุณนพรัตน์ครับ คำถามนี้ผมว่าหนักกว่าคำถามก่อนนี้อีกครับ ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาระดับ อจินไตย ของแท้อย่างที่คุณนพรัตน์พูดไว้ในคำถามที่แล้ว ซึ่งคำว่า อจินไตย ผมไปหาจาก google มา พระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสไว้เช่นนี้ครับ

. . . . .

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน

อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ..
พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ (เรื่องที่เป็นพุทธวิสัยโดยเฉพาะ)
ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ (เรื่องที่วิสัยของผู้ได้ฌาน)
วิบากแห่งกรรม ๑ (เป็นเรื่องของผลกรรมอันซับซ้อนของสัตว์โลก ยากแก่การอธิบาย)
ความคิดเรื่องโลก ๑ (เป็นปัญหาโลกแตก เช่น ความคิดเกี่ยวกับเรื่องของโลก จักรวาล ว่าเกิดขึ้นอย่างไร จะมีการสิ้นสุดหรือไม่ เป็นต้น)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความ
เป็นบ้า เดือดร้อน ฯ

. . . . .

คือท่านเตือนว่า หากจะคิดวิเคราะห์อะไรนั้น ควรมีพื้นฐานในเรื่องนั้นๆ มากพอ หรือบางเรื่อง เราไม่สามารถรู้ความจริงจากการคิดเอาเอง เพราะหากไปคิดมากๆ เข้า อาจจะเป็นบ้า หรือพูดออกไปอาจเดือดร้อนได้ครับ

ผมจึงขอมีแต่ความเห็น เฉพาะเรื่องการใช้คำ ที่อยู่ในเนื้อหาของคำถาม และผมมีความเห็น ไม่ค่อยตรงกับการใช้คำ ในคำถามคุณนพรัตน์ ซึ่งไม่รู้ว่าตรงกับ ดีพัค โชปรา หรือเปล่า ในหลายประเด็น

จากเนื้อความที่คุณนพรัตน์เขียนมาว่า “เวลาที่ร่างกายตาย SOUL หรือ ดวงวิญญาณจะออกจากกายไป SOUL นี้เป็น อัตตา หรือ Self ซึ่งศาสนาและปรัชญาฮินดูถือว่าเที่ยงแท้ถาวร เป็นวิญญาณดวงเดียวไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอมตะเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อย”

- ตรงคำที่บอกว่า “SOUL นี้เป็น อัตตา หรือ Self” ผมไม่แน่ใจตรงคำว่า “อัตตา” นั้น คุณนพรัตน์แปลเอาเองจากคำว่า “Self” หรือว่า ดีพัค โชปรา เขียนทับศัพท์เอาไว้เลยว่า “อัตตา” ?? เพราะโดยส่วนตัวผม คำว่า “Self” ผมจะไม่แปลว่า “อัตตา” ผมคิดว่าหมายถึง พระเจ้า หรือตัวตนที่ยิ่งใหญ่ สูงสุด

(คงต้องพิจารณาในเรื่อง มิติความต่างของภาษาที่มาจาก 2 ภาษา และจาก 2 ศาสนา บางทีคำที่ใช้มันอาจจะคนละนัยยะกัน โดยเฉพาะคำว่า SOUL ที่โยงกับคำว่า อัตตา และ อัตตา กับคำว่า Self)

- หากลองตัดเฉพาะประโยคออกมาดู ตรงที่บอกว่า “SOUL นี้เป็น อัตตา” หากคำว่า SOUL หมายถึง วิญญาณที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ก็น่าจะเป็นผลจากการมีอัตตา อันเกิดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ คือยังไม่หลุดพ้น แต่การใช้คำสรุปว่า SOUL เป็น อัตตา ได้เลยหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ คือ หากจะพูดให้ละเอียด ในมุมมองของผม SOUL ในขณะมีชีวิต นั้นน่าจะประกอบด้วย อัตตา แต่พอตาย ยังใช้คำว่ามี อัตตา อยู่หรือเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจครับ

- ส่วนตรงคำว่า “อัตตา หรือ Self” ผมคิดว่า ไม่น่าเป็นคำเดียวกัน ดังคำแปล Self ของผมที่หมายถึง พระเจ้า หรือตัวตนที่ยิ่งใหญ่ สูงสุด ซึ่งเป็น สภาวะธรรม ที่บรรลุถึงได้จากการก้าวไปพ้นจากอัตตา แล้วอย่างสิ้นเชิง

- ตรงประโยคที่ว่า “Self ซึ่งศาสนาและปรัชญาฮินดูถือว่าเที่ยงแท้ถาวร” หาก Self หมายถึง พระเจ้า หรือตัวตนที่ยิ่งใหญ่ สูงสุด ตรงนี้ผมเห็นด้วย ตามหลักความเชื่อของฮินดู (ผมจะแสดงความเห็นอีกทีภายหลัง)

- แต่ไม่เห็นด้วยกับคำที่ว่า “วิญญาณดวงเดียวไม่เปลี่ยนแปลง” เพราะสำหรับผมถ้า วิญญาณ ยังเวียนว่ายตายเกิด ก็ยังคงเปลี่ยนแปลงไป คงคล้ายที่คุณนพรัตน์ พูดในมุมพุทธศาสนา และอาจเปลี่ยนแปลงไปเป็น ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกก็ได้ เมื่อหลุดพ้นจากกิเลสอย่างถาวรแท้จริง

งงไหมครับ ?

หากผมจะปรับคำในคำถาม ตามความเข้าใจหรือทัศนะของผม ผมจะเขียนใหม่ได้ดังนี้ครับ

“เวลาที่ร่างกายตาย SOUL หรือ ดวงวิญญาณจะออกจากกายไป SOUL นี้เป็น (ผลของ) อัตตา (ที่ยึดติด สะสมไว้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ จึงทำให้ยังต้อง) เวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อย”

และยกเนื้อหาอีกส่วนมาเป็นอีกประโยค ซึ่งไม่เกี่ยวกัน ในเบื้องต้นได้ว่า

“Self (พระเจ้า หรือตัวตนที่ยิ่งใหญ่ สูงสุด) ศาสนาและปรัชญาฮินดูถือว่าเที่ยงแท้ถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอมตะ”

ที่ผมเขียนว่า ไม่เกี่ยวกันในเบื้องต้น แต่ความจริงผมคิดว่าไปเกี่ยวพันกันในเบื้องปลายได้ เพราะเมื่อ วิญญาณ ที่เวียนว่ายตายเกิด สามารถพ้นพันธนาการแห่งอัตตาได้ในชาติใด ก็จะกลับเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า กลายเป็นเที่ยงแท้ถาวร

ซึ่งที่ผมแสดงความเห็นอย่างนี้นั้น ต้องบอกว่าค่อนข้างอิงไปตามหลักของฮินดู ไม่ใช่แบบพุทธศาสนาโดยตรง


เรื่องต่อมา สิ่งที่คุณนพรัตน์ถามเชิงเปรียบเทียบ 2 ศาสนานั้น ผมมีความเห็นว่า เป็นเรื่องยากแก่คนที่มีสติปัญญาระดับเราจะชี้ชัด ความต่างดังที่ว่า โดยเฉพาะตรงมิติหรือสภาวะสุดท้าย ปลายทางของแต่ละศาสนา ซึ่งก็มีผู้รู้ยังเคยถกกันอยู่ (เรื่องนี้ผมเคยเขียนความเห็นไว้บ้างในกระทู้เก่านานมาแล้ว)

ขอกลับมาเรื่องความรู้ มุมมอง และความเข้าใจพื้นฐานส่วนตัว ในด้านศาสนา ที่ผมใช้เป็นบรรทัดฐานในการแสดงความเห็น เริ่มที่ความเชื่อหลักของฮินดู ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ตรงกับเรื่องที่คุณนพรัตน์ถามอยู่คือ

ฮินดูนั้นเชื่อในสภาวะอันเป็นเอก เป็นอนันตภาวะ เป็นความจริงสูงสุด เรียกว่า “ปรมาตมัน” และเชื่อว่าในตัวเราทุกคน และในทุกสิ่งมี “อาตมัน” ซึ่งเป็นหน่วยย่อยและเป็นส่วนหนึ่งของ “ปรมาตมัน” แฝงอยู่ในทุกสรรพสิ่ง เป็นผู้บันดาลทุกสิ่ง เมื่อใดที่เราหลุดพ้นจากกิเลส (โมกษะ) อาตมัน ของเราก็จะกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของ ปรมาตมัน (อันนี้ฟังดูคล้ายศาสนาคริสต์ ไหมครับ คือ กลับไปอยู่กับพระเจ้า)

ผมเทียบเคียงเอาเองว่าคำว่า Self ในหนังสือของคุณนพรัตน์ น่าจะหมายถึง ปรมาตมัน หรือ พระเจ้า นี่แหละ (ส่วน อาตมัน นั้นไม่ใช่ อัตตา นะครับ ผมคิดว่าคนละคำกัน แต่หากจะเทียบ ผมอยากเทียบ อาตมัน กับ จิตเดิมแท้ ในพุทธศาสนาแบบมหายาน คือ สภาวะจิตอันบริสุทธิ์ ที่ผมเขียนถึงในคำถามข้อที่แล้ว)

ข้อถกเถียงที่เคยได้ยินกันอยู่ก็คือ ถ้า อาตมัน กลับไปอยู่กับ พระเจ้า หรือปรมาตมัน อย่างนั้นก็ยังมีตัวตนอยู่นะสิ ผมคิดว่ามันก็คงขึ้นอยู่กับว่า เราให้ความหมาย พระเจ้า หรือปรมาตมัน ว่าอย่างไร หรือคืออะไร

ทีนี้มาถึงกรณีหากเปรียบเป็นแบบ พุทธศาสนา จะเทียบ พระเจ้า หรือปรมาตมัน กับอะไรดี

ส่วนตัวผมคิดถึงคำอยู่ 2 คำครับ คือ “ธรรมธาตุ” หรือ “นิพพาน” ซึ่งผมขอละคำว่า นิพพาน ไว้ก่อน

พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึง “ธรรมธาตุ” ว่า ถึงพระองค์จะเกิดมาหรือไม่ ธรรมธาตุ นั้นก็มีอยู่แล้วตลอดกาล เป็น ตถตา หรือความเป็นเช่นนั้นเอง (สังเกตว่าเป็นสิ่งที่มีและเป็นอยู่ตลอดกาล)

ส่วนตัวผมจึงเทียบ ธรรมธาตุนี้ ว่าน่าจะตรงกับ พระเจ้า หรือ ปรมาตมัน ของทั้งฮินดู และคริสต์ ที่ทำหน้าที่เป็นกลไก ทำให้ทุกสิ่งดำเนินไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ตามเหตุปัจจัยไปสู่ผล ไม่จบสิ้น (อันนี้ผมผสม 3 ศาสนาเลย) ว่าเป็นตัวเดียวกัน หรือเป็นสิ่งเดียวกับที่ จวงจื้อ เรียกว่า เต๋า ก็ได้

ผมมองว่า พระเจ้า หรือปรมาตมัน หรือธรรมธาตุ เป็นสภาวะหนึ่ง ที่เป็นความจริงแท้ หรือเป็นกฎที่เที่ยงแท้ ที่ถาวร มีอยู่ ทำหน้าที่อยู่ตลอดกาล ไม่มีขอบเขต อยู่ในทุกที่ไม่มีเว้น ตรงนี้ผมอยากหมายเหตุว่า มันมีอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีตัวมีตน (โดยเฉพาะตัวตนแบบ อัตตา) หรือเห็นภาพเป็นพระเจ้าแบบที่มีหนวดเครา นะครับ

ทีนี้มาพูดถึง นิพพาน ผมคิดว่า เป็นสภาพหรือสภาวะอันบริสุทธิ์แท้ คือได้พ้นไปจากการถูกกิเลส ตัณหา อุปาทาน เข้าเคลือบคลุม เกิดอัตตา หรือตัวกูของกู หรือยังเห็นว่าทุกสิ่งเป็นตัวเป็นตน ได้แบบถาวรสิ้นเชิงแล้ว

ประเด็นที่ไม่รู้คือ นิพพาน ไปสัมพันธ์หรือเทียบได้กับ พระเจ้า หรือปรมาตมัน หรือธรรมธาตุ อย่างไร ?
อันนี้ผมว่าอย่าไปวิเคราะห์ดีกว่า เป็นเรื่องเหนือวิสัยเรา

ขอหมายเหตุเอาไว้ว่าตามความเข้าใจของผม ความแตกต่างที่สำคัญของคำสอนของพุทธศาสนา ที่ต่างจากจากศาสนาอื่น คือ การเน้นเป้าหมายเรื่อง การไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

ประเด็นสุดท้าย ผมมีมุมมอง มาชวนให้คิดตามครับ

คำว่ามีตัวตน มันน่าจะเกิดขึ้น เฉพาะ เมื่อเรายังมีอัตตา เพราะเมื่อไม่มีอัตตา เราก็จะเห็นทุกสิ่งเป็นของไม่มี ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นที่จิต อันนี้นี่แหละที่เป็นที่มาของปัญหา หรือเป็นเหตุให้เรามาถกกันอยู่นี้

หรือพูดอีกแบบ คนที่ยังมีอัตตา หรือยังไม่หลุดพ้นแบบเรา ก็จะเห็นทุกอย่างเป็นตัวเป็นตน เลยอาจพิจารณาพระเจ้า ว่าเป็นตัวเป็นตน ถึงแม้ว่าจะพยายามคิดหรือเชื่อว่า พระเจ้าไม่เป็นตัวเป็นตนก็ตาม แต่เพราะด้วยกรอบความคิด หรือจินตนาการของเรา เราก็จะคิดหรือจินตนาการ ตามกรอบที่เราเคยรู้ หรือเคยมีประสบการณ์ได้เท่านั้น ส่วนคนที่หมดสิ้นซึ่งอัตตา หรือถึงซึ่งอนัตตา ก็จะบอกว่า ทุกสิ่งมันไม่มี ซึ่งคนที่มี อัตตา อย่างเราๆ ก็จะไม่เข้าใจ นึกไม่ออก จินตนาการไม่ถึง

เรื่องนี้คล้ายกับที่ผมแสดงความเห็นไว้ในข้อที่แล้ว ตรงเรื่องที่บอกว่า “สนามพลังงานและข้อมูลนั้น มันคงมีอยู่เสมอ แต่จิตมนุษย์นี่แหละ ที่เข้าไปหยิบจับมันขึ้นมาเป็นตัวเป็นตน ..” คือ ความมีตัวตนหรือไม่ มันไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่เรามอง .. แต่อยู่ที่เรา หรือผู้มองต่างหาก ถ้าเราไม่มี (อัตตาหรือตัวตน) ทุกสิ่งก็ไม่มี ..

ทั้งหมดนี้ ผมก็ได้แต่คาดคะเน ตามสติปัญญา ฟังหูไว้หูนะครับ เพราะถ้าเมื่อใด ได้ไปถึงหรือบรรลุถึงซึ่งสภาวะอันบริสุทธิ์แท้นั้นแล้ว เราจึงจะรู้จริงครับ ผู้ไม่รู้อย่างเราจึงต้องมาถกกันแบบนี้

ส่วนผู้รู้เขาไม่พูด ผู้ที่พูดเป็นผู้ไม่รู้ .. ฮา

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 08/08/2010
หากจะถกว่า”จริงหรือไม่” คงเป็นอจิณไตยแน่นอน ฉะนั้นถกกันแค่ระดับคำสอนหรือความเชื่อดีกว่านะคะคุณนันท์

เข้าไปดูใน www.hinduwebsite.com ก็ยืนยันตามความเข้าใจของคุณนันท์ค่ะในเรื่องเกี่ยวกับความหมายของ Self หรือ อาตมัน เขาบอกว่า Ego หรือ อัตตา นั้นไม่ใช่ Self หรือ อาตมัน แต่เป็นเพียงแค่”ลูกพี่ลูกน้อง”ที่แย่ของSelf ซึ่งเกิดขึ้นจากระบบประสาทสัมผัสทั้งห้ากับสิ่งกระทบภายนอก และจากความจำความคิดที่สั่งสมมา มีธรรมชาติที่ต้องการควบคุมและครอบครอง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงภาพสะท้อนของประสาทสัมผัส ของความคิด หรือสิ่งที่จิตใจปรุงแต่งขึ้นเอง ไม่มีตัวตน ไม่ยั่งยืน และทำให้เกิดทุกข์ ส่วน Self จะเป็นผู้ดูผู้สังเกตุการณ์ที่อยู่เงียบๆภายใน ต่อเมื่อการทำงานของประสาทสัมผัสทั้งห้าหยุดกระทบต่อจิต ทำให้จิตเป็นอริสระจากความคิดความปรารถนาทั้งปวงจนเข้าสู่ความเงียบ Self หรือตัวตนที่แท้จริงจึงจะปรากฏ...
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 10/08/2010
โอโฮ .. สุดยอด !! ชอบมาก เป็นบทย่อสรุปอันชัดเจน ที่ผมพยายามเขียนมาซะยืดยาวข้างบนทั้งหมด ชอบจริงๆ (น่าจะยกมาก่อนหน้านี้ .. ฮา)

ผมตามเข้าไปดูในเวบไซด์ที่คุณนพรัตน์บอก ตาลาย เยอะไปหมด หาตรงที่คุณนพรัตน์ยกมาไม่เจอ นี่ถ้าอ่านภาษาอังกฤษได้แบบภาษาไทยก็ดี เพราะบ้านเราหาหนังสือเกี่ยวกับหลักคำสอนของฮินดูอ่านยากจริงๆ ไม่ค่อยมีคนแปล

คุณนพรัตน์เข้าไปอ่าน เจอที่น่าสนใจเอามาสรุปให้ฟังแบบข้างบนได้ก็ดีนะ ผมว่าเป็นประโยชน์มาก ผมก็จะได้อานิสงค์ไปด้วย

ผมว่ารากฐานเดียวกับพุทธศาสนาของเรา เพราะพระพุทธเจ้าท่านเกิดในแผ่นดินของฮินดู ศึกษาตามฮินดูมาโดยตลอด จะทำให้เราได้แง่มุมของพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น และช่วยขยายมุมมองในอีกแบบ เพียงแต่ต้องเทียบเคียงที่หลัก ไม่ไปติดที่คำมากนัก

" .. ส่วน Self จะเป็นผู้ดูผู้สังเกตุการณ์ที่อยู่เงียบๆภายใน .. ทำให้จิตเป็นอริสระจากความคิดความปรารถนาทั้งปวงจนเข้าสู่ความเงียบ Self หรือตัวตนที่แท้จริงจึงจะปรากฏ .."

หรือ "จิตเดิมแท้" ก็จะปรากฏ .. นั่นเอง

ขอบคุณคุณนพรัตน์ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 10/08/2010
ขอบคุณมากครับ นึกถึงหัวหอม และแกนในของมันที่มีอยู่ตรงนั้นอยู่แล้วเลยครับ
ชื่อผู้ตอบ : karn ตอบเมื่อ : 11/08/2010
รายละเอียดอยู่ตรงหน้า www.hinduwebsite.com/atman.asp ค่ะ คุณนันท์ลองเข้าไปดูก็ดีนะคะ เผื่อจะมีสาระสำคัญที่อาจตกหล่นหรือย่นย่อเกินไป คุณนันท์จะได้ช่วยแปลเพิ่มเติมให้ได้
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 11/08/2010
ขอบคุณครับคุณนพรัตน์ ตามไปอ่านแล้ว ตาลายเหมือนเคย แต่มีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ มีเปรียบเทียบกับพุทธศาสนา ในแง่มุมเรื่อง GOD ด้วย แต่เป็นทัศนะเปรียบเทียบในมุมของผู้เขียน ซึ่งไม่ใช่ตามคัมภีร์อุปนิษัท เดิมของฮินดู
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 15/08/2010
คัมภีร์อุปนิษัท เดิมของฮินดู เปรียบเทียบกับพุทธศาสนา ในแง่มุมเรื่อง GOD ไว้อย่างไรบ้างหรือคะคุณนันท์

เท่าที่อ่านจากเวปดังกล่าวมีข้อหนึ่งที่แตกต่างกันระหว่างฮินดูกับพุทธศาสนาคือเรื่องของอาตมัน ทางฮินดูเชื่อว่าเป็นอมตะ แต่ทางพุทธศาสนาเชื่อในเรื่องความเป็นอนัตตา และไม่เชื่อเรื่องอาตมัน...อันนี้ไม่ทราบเข้าใจถูกต้องหรือเปล่าคะ

ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 17/08/2010
คุณนพรัตน์ครับ ประเด็นเรื่องคัมภีร์อุปนิษัท ผมหมายความว่า หัวข้อที่ผมได้อ่านในเว็บฮินดูนั้น เป็นทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ทัศนะที่คัดมาจากคัมภีร์อุปนิษัท และไม่ได้หมายความว่าในคัมภีร์อุปนิษัทนั้น มีการเขียนเปรียบเทียบเรื่องที่ว่าเอาไว้ครับ (หรืออาจมี ซึ่งตัวผมเองไม่เคยทราบ)

ส่วนเรื่อง ที่คุณนพรัตน์ถามว่า “เว็บดังกล่าวพูดถึงข้อแตกต่างระหว่างฮินดูกับพุทธศาสนา ในเรื่องของอาตมัน ทางฮินดูเชื่อว่าเป็นอมตะ แต่ทางพุทธศาสนาเชื่อในเรื่องความเป็นอนัตตา และไม่เชื่อเรื่องอาตมัน .. อันนี้ไม่ทราบเข้าใจถูกต้องหรือเปล่าคะ”

ตามความเห็นของผม ผมเองก็ไม่แน่ใจว่า การที่ผู้เขียนเว็บ ระบุไว้เช่นนั้น เป็นความเห็นที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะผมเคยอ่านจากแหล่งอื่น เขาก็บอกว่า เป็นเรื่องที่ไม่ขัดกัน แต่พูดสอนกันคนละแง่มุม

ผมเคยอ่านที่มีผู้รู้เขียนเอาไว้ มีมุมมองน่าสนใจ เขาบอกว่า เป็นการยากมากที่จะมีใครสักคนหนึ่งตอบปัญหานี้ได้ เพราะคนๆ นั้นต้องเข้าใจที่มาของศาสนาทั้ง 2 ศาสนา และเข้าใจสภาวะหรือที่มาของการใช้ภาษา ของผู้ที่ระบุหรือกำหนดคำทั้ง 2 คำนั้นเอาไว้ อย่างแท้จริง ซึ่งนั่นยากยิ่งที่จะเกิดได้ในคนๆ เดียว

ผมลองนึกภาพเล่นๆ ว่าถ้ามีคุรุจากทั้งสองศาสนา ซึ่งได้บรรลุสัจจะธรรมสูงสุดแล้วตามคำสอนของศาสนาของตน มาพบนั่งคุยกัน แล้วมีคนอื่นถามปัญหานี้ขึ้นมา ท่านทั้งสองอาจแค่มองหน้ากัน แล้วก็หัวเราะ และก็ไม่ตอบ เพราะผมเชื่อว่าผู้ที่บรรลุแล้ว เขาคงไม่ติดขัดอยู่ กับคำทั้งสอง ด้วยหมดความสงสัย ไปแล้วโดยอัตโนมัติ

ส่วนพวกเรานั้น ยังสนุกกับการพยายามตีความหรือสร้างความเข้าใจด้วยตัวอักษร เพื่อจะเป็นความหมายรู้ถึงสิ่งๆ นั้นเอาไว้ ทั้งคำว่า “อนัตตา” และ “อาตมัน” หรือแม้แต่ เช่นคำว่า “อมตะ” เราเองก็แค่เข้าใจว่า หมายถึง การไม่มีวันตาย แต่จะมีใครเข้าถึงความหมายได้อย่างแท้จริงของการไม่มีวันตาย ถ้าไม่เคยมีประสบการณ์ถึง

อีกแง่มุมหนึ่ง ผมเห็นว่า ทั้งคำว่า “อนัตตา” และ “อาตมัน” เป็นเรื่องของสภาวะทางธรรม (ในระดับที่ไม่อาจประเมินได้) และเมื่อเราใช้คำมาอธิบายหรือเปรียบเทียบ จึงเป็นที่มาของปัญหานี้ เพราะเราก็ยังคงวนอยู่กับการตีความด้วยความเข้าใจตามภาษาตัวอักษร ไม่ใช่จากการมีประสบการณ์ด้วยตนเอง

หรือความแตกต่างที่พูดถึงนี้ อาจเกิดขึ้นจากการพูดกันคนละแง่มุม สมมุติว่าคนสองคน นั่งเถียงกันถึงเรื่องทะเล คนหนึ่งบอกกับเราว่า สิ่งนั้นเค็มมาก ส่วนอีกคนหนึ่งกลับบอกว่า สิ่งนั้นประกอบด้วย ก๊าซไฮโดรเจนและอ็อกซิเจน แล้วเราคนฟังก็งงๆ ว่า ตกลงพูดเรื่องเดียวกันอยู่หรือเปล่าหว่า .. จนกว่าเราจะลองไปตักน้ำทะเลมาชิมดู แล้วเอาไปแยกธาตุ จึงถึงรู้ว่า ที่แท้ก็พูดเรื่องเดียวกันแฮะ

ออกนอกเรื่องไปเสียยาว สุดท้าย ผมขอแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวแบบ “ตามตัวอักษร” ดังนี้ครับ

อันแรก “เรื่องอาตมัน ฮินดูเชื่อว่าเป็นอมตะ”

ประโยคนี้ หากผมนำมาเทียบเคียงกับสิ่งที่ผมได้เคยเขียนแสดงความเห็นไว้ข้างบน โดยแยกพิจารณาว่า

- ทางฮินดู “อาตมัน” นั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ปรมาตมัน” และหากตีความว่า “อมตะ” หมายถึงการมีอยู่ตลอดกาล เป็นนิรันดร์

- ทางพุทธศาสนา คำว่า “ธรรมธาตุ” นั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงบอกว่า ถึงพระองค์จะเกิดมาหรือไม่ “ธรรมธาตุ” นั้นก็มีอยู่แล้วตลอดกาล เป็น ตถตา หรือความเป็นเช่นนั้นเอง

ดังนั้นถ้าเราลองเทียบกันระหว่างความหมายของคำว่า อมตะ ที่เราตีความ กับคำว่า มีอยู่แล้วตลอดกาล ของพระพุทธเจ้า ดูแล้วมันก็เข้าเค้า เหมือนว่าน่าจะไปด้วยกันได้ ดังที่ผมเคยเทียบเคียงเอาไว้ข้างบน

ส่วนเรื่องที่บอกว่า “ทางพุทธศาสนาเชื่อในเรื่องความเป็น อนัตตา และไม่เชื่อเรื่อง อาตมัน”

อันนี้แน่นอน เพราะในพุทธศาสนาเท่านั้น ที่พูดถึง “อนัตตา” และไม่เคยพูดสอนถึงคำว่า “อาตมัน” แต่ต้องบอกว่า เราพูดกันในความหมายตามตัวอักษร แต่ไม่ได้พูดถึง สภาวะอันเป็นประสบการณ์ที่แท้ของคำๆ นั้น ว่าเหมือน ต่าง หรือว่าเหลื่อมกันอย่างไร

ความจริงผมเองก็อยากตอบคุณนพรัตน์ให้ได้จริงๆ รอผมบรรลุถึงซึ่งความเป็นอนัตตา และอาตมัน ด้วยตนเองเสียก่อน รอไหวไหมครับ อาจจะประมาณอีกไม่เกินสองแสนโกฏิชาติ และคุณนพรัตน์กับผมต้องมาเกิดร่วมกันทุกชาติไปด้วยนะ (ฮา)

ผมขอให้ความเห็นตามความเข้าใจส่วนตัว อย่างนี้ ซึ่งเด็ก สตรี และคนชรา (อันเป็นอมตะ เช่นคุณนพรัตน์) กรุณาใช้วิจารณญาณ ในการรับชมและรับฟังด้วยครับ (ฮา .. อีกที)

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 21/08/2010
...(อันเป็นอมตะ เช่นคุณนพรัตน์)...คุณนันท์หมายถึงทั้งสามวัยหรือเฉพาะคนชราคะ ? (555 !)
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 21/08/2010
แค่สอง .. คือ สตรี และคนชราครับ (555)
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 21/08/2010
ผมมีความเห็น ที่เป็นแง่มุมเพิ่มเติมเล็กน้อย ต่อจากเรื่อง อาตมัน คือ ผมไปเปอ่านเจอว่า คำว่า อาตมัน แปลว่า ตัวตน เป็นคำในภาษาสันสกฤต ตรงกับคำในภาษาบาลี คือ อัตตา เลยแจ้งไว้ด้วยครับ เพราะที่ผมแสดงความเห็นไว้นั้น ไม่ตรงกัน

ส่วนตัวผมมีมุมมองว่า อัตตานั้น คือสภาวะจิตที่ยังยึดมั่นในความมีตัวมีตนของเราเอง ส่วนอาตมัน ของทางฮินดูที่ผมเคยได้อ่านมานั้น เขาบอกว่า เมื่อเข้าถึงอาตมันของตนแล้ว ก็จะเข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับ ปรมาตมัน

ผมจึงคิดว่า อาตมัน นั้นน่าจะเทียบได้กับ จิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นสภาวะที่จิตหมดสิ้นลงซึ่งอัตตา (จะชั่วคราวหรือถาวรก็อีกเรื่องหนึ่ง)

ตรงนี้อาจจะเป็นช่องว่างที่ทำให้ผมเห็นต่างในเรื่องที่คุณนพรัตน์ถามน่ะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 21/08/2010
อ่านตามช้าาาาา ช้าาาาา แล้วแม่หนึ่งยังดันไม่เข้าใจเล๊ย เช่นนี้แล้วข้าผู้น้อยคงต้องเรียนรู้อีกหลายแสนชาติ ฮา
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 26/08/2010
ผมเองก็อ่านไม่เข้าใจ สงสัยอยู่เหมือนกันว่า แล้วคุณนพรัตน์เธอเข้าใจได้ไง .. หรือว่าไม่เข้าใจเหมือนกัน ฮา
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 26/08/2010
อ่านแล้วพอเข้าใจค่ะ(แม้จะไม่ทั้งหมด) แต่ที่ไม่ได้ถามต่อเพราะติดตรงที่คุณนันท์บอกว่า"...ผมลองนึกภาพเล่นๆ ว่าถ้ามีคุรุจากทั้งสองศาสนา ซึ่งได้บรรลุสัจจะธรรมสูงสุดแล้วตามคำสอนของศาสนาของตน มาพบนั่งคุยกัน แล้วมีคนอื่นถามปัญหานี้ขึ้นมา ท่านทั้งสองอาจแค่มองหน้ากัน แล้วก็หัวเราะ และก็ไม่ตอบ เพราะผมเชื่อว่าผู้ที่บรรลุแล้ว เขาคงไม่ติดขัดอยู่ กับคำทั้งสอง ด้วยหมดความสงสัย ไปแล้วโดยอัตโนมัติ..." เลยต้องหยุดความสงสัยเอาไว้ชั่วคราวก่อน รอให้ท่านคุรุจากทั้งสองศาสนาหยุดหัวเราะแล้วค่อยถามต่อค่ะ (ฮา)

ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 26/08/2010


ท่านพี่ทั้งสองอย่าได้ถ่อมตน เพราะข้าน้อยเห็นอยู่ในบีอิ้งของท่านอย่างชัดเจนแล้ว


....................................
....................................
"และขบวนการทำความเข้าใจใดๆ ได้ยุติลงอย่างสิ้นเชิง "




ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 26/08/2010
ฮา .. และยอดเยี่ยมจริงๆ ครับคุณหนึ่ง

ไม่เข้าใจ ดีกว่าพยายามเข้าใจ .. ฮา (อีกที)
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 27/08/2010
ถ้า Being (เป็น อยู่ คือ) แบบชิวๆได้ก็ดีนะคะ จะเข้าใจหรือไม่ก็ไม่เป็นไร (555 !)
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 27/08/2010


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code