สรุปเนื้อหาจากกิจกรรม "มั่วสุมความสุข"
งาน "มั่วสุมความสุข" เมื่อวันเสาร์ที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผ่านไปด้วยความสุข และท่านอาจารย์วสันต์ ได้บันทึกประเด็นสำคัญของการแลกเปลี่ยนเอาไว้ใน facebook ผมเห็นว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง เลยขอนำมาเผยแพร่ครับ

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
เสร็จจากงาน "มั่วสุมความสุข" ผมก็กลับไป "ซ่องสุมความทุกข์" ต่อ..เอ๊ย..กลับไป "มั่วซั่วความฉุกละหุก" ในหน้าที่การงานต่อไปเสียหลายวัน (ฮา) วันนี้พอมีเวลา เลยเข้ามาที่นี่ ได้เห็นภาพแห่งความประทับใจจำนวนมาก จากฝีมือถ่ายภาพของคุณเอ๋ และหนูแอนนา มันยอดเยี่ยมมาก อย่างไรก็ตาม ตามประสาคนชอบสรุป ก็อยากสรุปประเด็นสำคัญที่ผมเห็นว่าเราได้รับกันในวันนั้น ดังนี้ :-

เรื่องสำคัญที่สุดเรื่องแรกที่เราได้คุยกันในครั้งนี้ คือเรื่อง "สำนึกของการรู้คุณ" ซึ่งแสดงออกด้วย "การขอบคุณ" ในทุกๆ สิ่ง เราสามารถแสดงความขอบคุณในทุกสิ่งที่เรามี และในสิ่งที่เราไม่มี รวมทั้งทุกสิ่งที่เราอาจสูญเสียไปแล้ว หากเราสามารถทำเช่นนี้ได้ (การขอบคุณ) ย่อมเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเราอยู่ในสภาวะของการปล่อยวาง และผ่อนคลายได้อย่างถึงที่สุด เราไม่ได้ตอบโต้หรือต่อต้านสิ่งใดเลย เราสามารถยอมรับในทุกสิ่ง เราไม่ได้แก่งแย่ง แข่งขัน เปรียบเทียบ กับใครเลย นี่ ย่อมเป็นสภาวะที่พร้อมจะได้รับทั้งความสุขและความสำเร็จ เราอาจจะยังไม่สามารถแสดงการขอบคุณได้อย่างสมบูรณ์ หมดจด เราอาจต้องเสแสร้งขอบคุณไปบ้างตามมารยาท แต่ไม่ว่าประการใด ก็จงขอบคุณไปเถิด เสแสร้งว่าสำนึกรู้คุณไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็จะรู้สึกสำนึกรู้คุณไปจริงๆ ได้ในที่สุด!

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ "คุณน้อง" แขกคนสำคัญของเราในวันนั้น ได้มาตอกย้ำถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของ "กฎแห่งการดึงดูด" ตามกระบวนการ "ขอ..เชื่อ..รับ" เธอกล้าที่จะขอ เธอกล้าที่จะมุ่งมองถึงสิ่งที่เธออยากได้ เธอจินตนาการมันชัดเจนเป็นรูปธรรม เธอคิดถึงสิ่งที่เธอต้องการตลอดเวลา เธอเชื่อว่าเธอคู่ควรกับสิ่งนั้น เธอมั่นใจว่าต้องได้มันมา แต่ในท่ามกลางความต้องการและความเชื่อเหล่านั้น เธอก็ผ่อนคลายอย่างยิ่ง ปล่อยวางอย่างยิ่ง และเธอรู้สึกไปแล้วว่าเธอได้รับทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอต้องการไปเรียบร้อยแล้ว แล้วทุกสิ่งที่เธอได้จินตนาการไว้และนึกถึงมันตลอดเวลา ก็ปรากฏเป็นจริง คนที่ไม่เข้าใจในกฎสำคัญแห่งจักรวาลนี้ ก็อาจคิดไปได้ว่า นี่ก็เป็นเทพนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่คนที่เข้าใจเรื่องนี้ดี ย่อมรู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้เป็นเรื่องบังเอิญ! แม้แต่การบังเอิญมาเจอกัน ก็ยังไม่ใช่เรื่องบังเอิญ!

นั่นเป็นสองประเด็นสำคัญที่เราได้รับในวันนั้น และในตอนท้ายนี้ ผมอยากเสริมว่า พวกเราหลายคนอาจอิ่มเอมกับกิจกรรมนี้ไปได้สักพักหนึ่ง จากนั้นไม่นานก็อาจรู้สึกเคว้งคว้างกับชีวิตต่อไปอีกเหมือนเดิม ซึ่งผมเห็นเป็นการส่วนตัวว่าน่าจะเป็นเพราะบางคนนั้น อาจจะยังไม่รู้ว่าจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางไหน และกำลังจะไป ณ ที่ใด เราอาจพบแผนที่ แต่กลับไม่รู้ที่ๆ จะไป เราพบบันได แต่ไม่รู้จะไปพาดตึกไหน และที่เศร้าที่สุดคือ เอาบันไดไปพาดผิดตึก! ดังนั้น ผมเสนอให้พวกเราจงมีทั้ง "ทิศทาง" และ "ที่หมาย" ให้ได้กันเสียก่อน แล้วการสัมมนาในลักษณะนี้ ซึ่งอาจมีได้บ่อยเท่าที่เราต้องการ ก็จะทำให้เรามุ่งไปในทิศทางนั้น และไปยังที่หมายนั้น ได้อย่างแน่วแน่ มั่นคง

มีคำกล่าวว่า "หากเราไม่รู้ชัดว่าเราอยากไปอยู่ ณ ที่ใด (เป็นเรื่องของ "ที่หมาย" : Destination) เราก็มักจะได้ไปอยู่ในที่ที่เราไม่อยากอยู่..แต่ถ้าเราไม่รู้ชัดว่าเราจะไปอยู่ ณ ที่นั้นทำไม (เป็นเรื่องของ "ทิศทาง" : Direction) เราอาจต้องมานั่งเศร้าใจเมื่อพบว่าพอไปถึงที่ๆ เราอยากอยู่แล้ว มันกลับกลายเป็นที่ที่เราไม่ควรดิ้นรนมาอยู่เลย!!"

หากเรามีทิศทางและที่หมายที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับเราแล้ว กิจกรรมการพบปะกันแบบ "มั่วสุมความสุข" นี้ก็จะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้ายังไม่พบ ยังไม่มี ทั้งทิศทางและที่หมาย เราก็อาจตื่นเต้นไปได้สักพักหนึ่ง แล้วก็ต้องหาโอกาสมารดน้ำมนต์กันใหม่ (ฮา)
ชื่อผู้ส่ง : นันท์ วิทยดำรง ถามเมื่อ : 26/06/2010
 


บันทึกต่อเนื่องอีกบทครับ

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม "มั่วสุมความสุข" และได้อ่านข้อเขียนสรุปเนื้อหาของผมแล้ว เกิดคำถาม ถามผ่านคุณแจงมา ผมจึงขอถือโอกาสนี้ขยายความเพื่ออธิบายเพิ่มเติมไว้ ณ ตรงนี้ ดังนี้ :-

"ที่หมาย" (Destination) ซึ่งอาจอนุโลมว่ามีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า "เป้าหมาย" (Goal) ก็ได้ (ทั้งๆ ที่ก็อาจมีเหลี่ยมมุมแตกต่างกันอยู่บ้าง) นั้น ก็คือการ "อยากมี อยากทำ อยากเป็น" อะไร? แค่ไหน? เท่าไหร่? ซึ่งหากพิเคราะห์โดยกว้างแล้ว ก็อาจนำหลักการของ Wallace D.Wattles ที่เขาได้เขียนไว้ใน The Science of Getting Rich ที่ว่า คนเราควรบรรลุเป้าหมายความมั่งคั่งร่ำรวยให้ได้ใน 3 ด้าน คือ "ความมั่งคั่งร่ำรวยทางร่างกาย" (ทางวัตถุ/ความสะดวกสบายในชีวิต) "ความมั่งคั่งร่ำรวยทางความคิดจิตใจ" (ความรอบรู้/ความเพลิดเพลิน/ความรื่นเริงบันเทิงใจ) และ "ความมั่งคั่งร่ำรวยทางจิตวิญญาณ" (ความสงบ/ความหลุดพ้น) ซึ่งเราก็ต้องถ่วงน้ำหนักของทั้ง 3 ด้านนี้ให้ดี เพราะมันไม่สามารถเท่ากันได้ทุกด้าน แต่จะขาดด้านใดไปมิได้ อย่างเราๆ ท่านๆ ก็ต้องมุ่งเน้นทางด้านวัตถุ แต่อย่าเสียสมดุลย์ด้านความคิดจิตใจไป (รวยแต่โง่ รวยแต่เครียด มันก็ไม่ไหว) และก็ต้องไม่ละเลยด้านจิตวิญญาณด้วย (รวย ฉลาด กินดีอยู่ดี แต่ทุกข์โศกซ้ำซ้อน รุ่มร้อนซ้ำซาก มันก็ไม่เหมาะ) หากมีโอกาส ลองเข้าไปอ่านข้อเขียนเรื่อง "จะมีความสุขได้อย่างไรใน 3 โลก" ในเว็บไซต์ของผมประกอบด้วย ก็อาจได้รับความกระจ่างขึ้น แต่ขอเตือนไว้ก่อนนะครับว่าข้อเขียนชิ้นนั้น เขียนขึ้นขณะกำลังแผ่รังสีอำมหิตชนิดสุดๆ (ฮา) ดังนั้น หากใจไม่แข็งพอก็อย่าเข้าไปอ่าน (ฮา) และที่สำคัญ ผมเขียนเพื่ออ่านเองเป็นสำคัญ!! (ฮา)

เมื่อเราอยากมี อยากทำ อยากเป็น อะไรแล้ว ต่อไปก็ต้องหาเครื่องมือเพื่อไปสู่สิ่งนั้น คราวนี้เครื่องมืออันทรงพลังอย่าง "กฎแห่งการดึงดูด" (Law of Attraction) ก็จะเป็นประโยชน์มาก เราก็ปฏิบัติไปตามนั้นอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามกระบวนการ "ขอ เชื่อ รับ" ไปอย่างเคร่งครัด กระบวนการนี้ Wattles เรียกว่า "Certain Way" และคุณหนึ่งแปลวา่า "แนวทางตายตัว" ซึ่งก็คือกฎแห่งกการดึงดูดนั่นเอง

เพื่อทำให้เราไปสู่ที่หมายหรือเป้าหมายได้อย่างมั่นคง มีความสุข แนวคิดของ Deepak Chopra จากหนังสือ "เจ็ดกฏด้านจิตวิญญาณฯ" ที่แปลโดยคุณนันท์ ก็จะช่วยได้มาก มันทำให้เราเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในศักยภาพสูงสุดของเราเองอันเป็นสิ่งที่เรามีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ทำให้เราปล่อยวางผลลัพธ์ ทำให้เราไม่ตัดสินสิ่งใด ทำให้เรารู้จักสำนึกรู้คุณ ทำให้เรามีความสุขในวิถีแห่งการเดินทาง (ไปสู่ที่หมายที่ต้องการ) โดยไม่กังวลว่าจะไปถึงเมื่อไหร่ หรือแม้แต่จะไปถึงหรือไม่! นอกจากนี้ "ข้อตกลง 4 ประการ" ซึ่งคุณหนึ่งแปลล่าสุด ก็จะช่วยเสริมและตอกย้ำเรื่องการระมัดระวังคำพูดในแง่ลบที่ทำร้ายทั้งตัวเราเองและผู้อื่น การไม่ยึดติดกับอัตตาตัวตน หรือไม่ยึดสิ่งใดมาเป็นของเรา ไม่ตีความอะไรไปเอง โดยเฉพาะการตีความในทางลบ และการทำดีที่สุดเสมอ (เวลาเราป่วย ไม่ว่าทางกายและทางใจ ศักยภาพเราย่อมลดลง ก็ให้ยอมรับมัน ถ้าป่วย ก็ทำในสิ่งที่คนป่วยจะสามารถทำได้ดีที่สุด ไม่ต้องไปหงุดหงิดใจว่าไม่ได้ดังใจเหมือนตอนไม่ป่วย)

หลักการแนวคิดเกี่ยวกับสร้างความสำเร็จ แม้เป็นเรื่องพื้นๆ ก็อาจจำเป็น เช่น แนวคิดของ Dr.Napoleon Hill / Brian Tracy etc. หรือแม้แต่เครื่องมือประเภท how to ต่างๆ หรือเทคนิคเฉพาะเรื่อง เฉพาะวิชาชีพ ก็มีความจำเป็น เราก็ต้องแสวงหาและนำมาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของเราได้ (อยากทำธุรกิจร้านอาหารก็ต้องไปเรียนรู้เรื่องการทำอาหาร ไม่ใช่มัวไปทำสมาธิ หรือนั่งๆ นอนๆ ดึงดูดอะไรอยู่แต่ในบ้านสถานเดียว)

เห็นไหมว่า เมื่ือเรารู้แน่ชัดว่าเราอยากมี อยากทำ อยากเป็นอะไรแล้ว คน สัตว์ สิ่งของ ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อบรรลุสิ่งนั้น มันก็จะคลี่คลายขยายตัวของมันให้เราเห็นเอง คำสอนของเซ็นมีว่า "เมื่อนักเรียนพร้อม ครูก็จะปรากฏตัวขึ้น!" ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า "ขอให้คุณรู้ให้ชัดเท่านั้นว่าคุณต้องการอะไรจริงๆ ในชีวิต และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณก็ไม่เคยเปลี่ยนความต้องการนั้น..ที่เหลือ จักรวาลจะเปิดทางทุกทาง ถนนทุกเส้น แม่น้ำทุกสาย ย้ายภูเขาออกไปทุกลูก ไว้รอต้อนรับคุณทันทีเลยทีเดียว!" จึงไม่ใช่คำกล่าวที่ลิเกแต่ประการใดเลย!

"ทิศทาง" (Direction) คือคุณค่าของความเชื่อหลัก ค่านิยม เปรียบเสมือน "ดาวเหนือ" ที่คอยนำทางชีวิตเราให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม (สำหรับเรา) คือการตอบคำถามให้ได้ว่าไอ้ที่เราอยากมี อยากทำ อยากเป็นอะไรต่อมิอะไรนั่นน่ะ เราจะมี จะทำ จะเป็นไปหาสวรรค์วิมานอะไร (ฮา) มันคือการตอบโจทก์ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังการอยากมี อยากทำ อยากเป็นนั้น เราอยากมันจริงๆ หรืออยากเพราะเห็นคนอื่นเขาอยากกัน ขอทบทวนสิ่งที่เคยสรุปไว้จากการสัมมนา "เกิดมาเพื่อสำเร็จ" ว่า ไม่ว่าเราจะอยากมี อยากทำ อยากเป็นอะไร ก็ขอให้ตอบตัวเองให้ได้ในคำถาม 2 ข้อคือ หนึ่ง ไอ้ที่เราอยากมี อยากทำ อยากเป็นนั้นน่ะ มันเป็นสิ่งที่สวรรค์ (หรือจักรวาล หรือพระเจ้า หรือธรรมชาติ ฯลฯ) ส่งเรามาเกิดเพื่อมี ทำ เป็น ในสิ่งที่เราจะสามารถมี ทำ เป็นได้ดีที่สุดหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราสามารถใช้ความถนัดเฉพาะตัวของเราสร้างสรรค์ได้อย่า่งสูงสุดหรือไม่ (โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร) และสอง สิ่งที่เราจะมี ทำ เป็น ได้ดีที่สุดในข้อแรกนั้น มันจะสามารถไปรับใช้ผู้คน (แม้เพียงสักหนึ่งคน) และโลกใบนี้ (ทีละคน) ได้อย่างไร? ดังนั้น ทุกอย่างที่เราจะมี ทำ เป็น นั้น มันต้องทำให้เราบรรลุสองสิ่งนี้ ประสบการณ์ทุกอย่างมันต้องทำให้เราเก่งขึ้นในวิถีที่เราเกิดมาเพื่อจะเป็น และความเก่งของเรา หากไม่สามารถช่วยเหลือผู้คนและโลกใบนี้ได้แล้ว ก็หาค่าอันใดมิได้

ผมได้พูดมาบ่อยครั้งถึงวิธีรู้ว่าเราถนัดอะไร มีพรสวรรค์อะไร มีความสามารถเฉพาะตัวอะไร (ที่สวรรค์ส่งเรามาเกิดเพื่อจะเป็น) ขอสรุปสั้นๆ อีกครั้งว่า ก็ต้องเลือกและตัดสินใจเพื่อลองผิดลองถูก แล้วใช้ความรู้สึกในหัวใจตัดสินเอา ถ้าใช่ก็เดินหน้าขึ้นสู่ที่สูง ถ้าไม่ใช่ก็เลือกและตัดสินใจใหม่

แนวคิดเล็กๆ เกี่ยวกับว่าเราเป็นม้าหรือว่าเราเป็นเต่า นั่นก็เป็นการพิจารณาถึง "จริต" และ "สัณชาตญาณ" การทำงานของเรา เป็นเรื่องของทิศทางอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ขอย้ำว่าในความเห็นของผม ที่หมายของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ทั้งในแง่ของขนาดและความเข้มข้น ดังนั้น จงอย่าเปรียบเทียบ แข่งขันกับใคร และไม่ว่าที่หมายของเราจะเป็นเช่นไร ก็ขอให้แน่ใจว่ามันมี "ทิศทาง" ที่ถูกต้องเหมาะสม

ว่าจะขยายความแต่พอสังเขป แต่ก็ลากยาวมาขนาดนี้ มิหนำซ้ำก็ไม่ทราบว่าทำให้หายสงสัย หรือว่าทำให้ยิ่งสับสนยิ่งขึ้น (ฮา)
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 26/06/2010


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code