มุมมองเรื่อง "การหยุดคิด"
เมื่อเราต้องการกลับสู่ต้นกำเนิด เราต้องหยุดคิด
เมื่อเราต้องการให้กำเนิด เราจึงคิด
ซึ่งทั้งสองสิ่ง เกิดขึ้นได้จากการเห็นทันขบวนการความคิดของตนเอง

แต่เดิมผมรู้สึกมากๆ ว่าตัวเองชอบหลงอยู่ในโลกของความคิด คิดในทุกๆ เรื่องในทุกๆ ขณะ เห็นพบประสบสิ่งใดก็ต้องหยิบมาคิด วิเคราะห์ แยกแยะตัดสิน .. ส่วนหนึ่งอาจจะด้วยธรรมชาติของสาขาที่เรียนมาและการงาน หลงแบบคิดว่ามันเป็นทั้งหมด เป็นคนเสพติดความคิด หลงว่าความคิดทั้งหลายเหล่านั้นเป็นเรา

คิดตลอดเวลา ในทุกๆ เรื่อง จนต้องฝึกเห็นการเกิดขึ้นของความคิดให้ทัน จะได้เลือกคิดได้บ้าง

สุดท้ายก็พอจะเข้าใจได้ว่า ก่อนที่ความคิดจะผุดขึ้นมา สมองมันว่างอยู่ ความคิดมันผุดขึ้นมาจากความว่างนั้น และด้วยการรู้หรือเห็นความว่าง หรือเห็นทันช่วงว่าง ที่คั่นอยู่ระหว่างความคิดแต่ละความคิดเหล่านี้เท่านั้น เราจึงจะเห็นทันขบวนการเกิดขึ้นของความคิดอย่างแท้จริง

หนักๆ เข้า ผมเลยคิดว่า ควรจะฝึกหยุดพักใจตัวเองให้อยู่ในความว่าง หรือช่วงว่างที่ว่านี้ให้มากขึ้น ถึงขนาดว่าถ้าเป็นไปได้ จะให้มันเป็นช่วงเวลาหลักของใจ ให้มันมากกว่าช่วงเวลาที่ความคิดเกิดขึ้น และเป็นที่มาของเรื่องที่ผมเรียกเอาไว้ใช้เองว่า "ศิลปะการหยุดคิด" ที่ผมเขียนไว้ใน "ธรรมธาตุ"

ขอแชร์แค่นี้ครับ
ชื่อผู้ส่ง : นันท์ วิทยดำรง ถามเมื่อ : 15/06/2010
 


"การหยุดคิด" กับการคิดแบบ"ไม่ปรุงแต่ง" กับการคิดแบบที่กล่าวถึงใน "As a Man Thinketh" คุณนันท์ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรคะ (จากแง่ของธรรมธาตุ)
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 15/06/2010
ถ้าทางจะยาวครับคุณนพรัตน์ แล้วจะรีบเข้ามาให้ความเห็นนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 16/06/2010
คุณนันท์ไม่ต้องรีบค่ะ...พอดีจะไปต่างจังหวัดหลายวัน กลับมาก็เข้าปฏิบัติธรรมต่อจนถึงเกือบสิ้นเดือนแน่ะค่ะ...ช่วงนี้จะลองหัด"หยุดคิด"ดูบ้างว่าจะทำได้แค่ไหนอย่างไรค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 16/06/2010
สารภาพจริงๆ ว่า คิดอยู่ตั้งนาน ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดีครับ

ขอเริ่มจากการพิจารณาคำจำกัดความของคำที่คุณนพรัตน์กำหนดมาก็แล้วกัน ซึ่งจะตรงกันกับคำจำกัดความของคุณนพรัตน์หรือไม่ก็ตาม .. แต่เอาแบบผมไปก่อนก็แล้วกัน (ฮา)

ก่อนอื่นต้องมองคำจำกัดความของคำว่า “ความคิด” ก่อน ถึงจะไปพูดเรื่อง “การหยุดคิด”

ตามข้อสรุปของผม “ความคิด” ปรากฏรูปร่าง รวมทั้งขยายหรือขับเคลื่อนตัวเอง ด้วยอุปกรณ์ 2 อย่าง คือ คำพูดหรือภาพ ที่ปรากฏขึ้นในสมองหรือในใจ ซึ่งทั้ง 2 อุปกรณ์นี้ อาศัยวัตถุดิบหรือข้อมูลที่สะสมมาจากอดีตในรูปของความทรงจำ สร้างตัวมันขึ้นมา

ดังนั้นคำว่า “การหยุดคิด” คือ สภาวะที่ไม่มี คำพูด และภาพใดๆ ปรากฏขึ้นในสมองหรือภายในใจ ซึ่งช่วงขณะนั้นจะสั้นจะยาวแค่ไหน ก็ว่ากันไป

หากจะขยายความก็คือ เป็นช่วงที่เราแค่รับรู้สิ่งต่างๆ ผ่าน หู ตา จมูก ลิ้น และกาย เฉยๆ หรือแบบเงียบๆ

คำต่อมา “การคิดแบบไม่ปรุงแต่ง” คำๆ นี้ ผมไม่ค่อยคุ้น เลยงงนิดๆ ผมเลยขอแยกแยะว่า มันน่าจะเป็นความคาบเกี่ยวระหว่าง จุดที่สมองหรือใจเราแค่นึกคำพูด หรือภาพอะไรบางอย่างขึ้นมา กับการเคลื่อนจากจุดแรกนั้นไป สู่การมีความคิดแบบปรุงแต่ง

ขอสรุปแบบกระชับๆ อีกทีว่า ผมให้คำจำกัดความของคำ “การคิดแบบไม่ปรุงแต่ง” นี้ว่า เป็นอาการคิด (นึก) บางอย่าง เป็นคำพูดหรือภาพขึ้นมาในสมองหรือในใจ แต่ยังไม่ทันปรุงแต่งจุดเริ่มต้นนั้นต่อ

ซึ่งปกติการปรุงแต่งนี้เกิดขึ้นเมื่อ สมองหรือใจเราเริ่มเอาข้อมูลจากความทรงจำเก่าๆ ที่เราเคยสรุปไว้เป็นความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งนั้น เข้ามาผสมผเส ปรุง หรือเรียกว่า built ให้สิ่งที่เพิ่งนึกขึ้นมา มันขยายใหญ่โตจนเกิดเป็นผลด้านความรู้สึก และเกิดเป็นอารมณ์ต่างๆ หรือเลยเถิดไปถึง โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผมขอเสริมคำที่คุณนพรัตน์ ไม่ได้พูดถึง แต่อาจจะตั้งใจที่จะหมายถึงอยู่ด้วย คือ “การเห็นทันการเกิดขึ้นของความคิด” และ “การเห็นทันกระบวนการสืบเนื่อง ดำเนินไปของความคิด” ซึ่งเป็นสภาวะที่ช่วยทำให้การผสมผเส ข้อมูลจากความทรงจำเก่าๆ ข้างต้น ไม่เลยเถิดไปจนเกิดเป็นผลด้านอารมณ์ ต่างๆ เพราะเรารู้ตัวหรือเห็นทันมันเสียแล้ว หรือเกิดก็เบาๆ ถอนง่ายหรือเบรคทัน

คำต่อมา “การคิดแบบที่กล่าวถึงใน As a Man Thinketh” ผมเองต้องกลับไปเปิดหนังสือนี้อีกที เพราะอ่านนานแล้ว และจับแค่ประเด็นความเข้าใจเอาไว้ จึงขอลอกคำที่น่าจะเป็นหัวใจของหนังสือมาประกอบเพื่อให้เห็นคำนิยามดังนี้

.. เราใช้ความคิดเป็นเครื่องมือ เพื่อถางทางสู่ประสงค์
ไม่ว่าจะหฤหรรษ์ .. หรือหายนะ
เราคิดอยู่เงียบๆ หากสิ่งนั้นกลับสะท้อนก้อง
เพราะโลกมิใช่อื่นใด นอกไปจากภาพสะท้อนของความคิด
(เจมส์ แอลเลน)

เป้าหมายของผู้เขียนคงกำลังบอกเรา ให้ใช้ความคิดอย่างระมัดระวัง แต่ความคิดในแบบที่ว่านี้ ก็ไม่ได้มีคำจำกัดความต่างจากความคิดในกรณีอื่นๆ ข้างบน แต่ผมเข้าใจว่าที่คุณนพรัตน์ยกมาถาม น่าจะหมายถึง สภาวะการใช้ความคิด ที่สามารถกำหนดผลได้อย่างที่ต้องการ ตามหนังสือเล่มนี้ ว่าต่างจากอีก 3 คำอย่างไร (เอาไว้สรุปตอนท้ายครับ)

คำสุดท้าย คือ “จากแง่ของธรรมธาตุ” ซึ่งต้องขอแยกพิจารณาออกเป็นสองแง่

ในแง่แรก ตัว “ธรรมธาตุ” นั้นเป็นแกนหรือเป็นแก่น เป็นกลไก เป็นผู้ดำเนินการถาวรตลอดกาล ที่เที่ยงตรง ไม่เปลี่ยนแปลง “ที่อยู่เบื้องหลังความเป็นไปทั้งมวล” ทั้งนามธรรมและรูปธรรมที่เรารับรู้อยู่ในทุกขณะ
* อยากให้จับประเด็นเอาไว้ว่า เป็นธรรมที่อยู่เบื้องหลังความเป็นไปทั้งมวล

ในแง่ต่อมา “ธรรมธาตุ” เป็นสภาวะที่บรรลุถึงได้ ด้วยจิต หรือถ้าจะพูดอีกเชิงหนึ่ง บรรลุถึงได้ เมื่อลุถึงความไม่มีแม้แต่จิต หรืออยู่ในสภาวะที่ก้าวพ้น อยู่เหนือ พฤติกรรมธรรมชาติของจิต
* อยากให้จับประเด็นเอาไว้ว่า เป็นสภาวะธรรมอันบริสุทธิ์ ที่บรรลุถึงได้

ผมจึงขอสรุปความเห็นต่อคำถามของคุณนพรัตน์ ในแบบที่เห็นเป็นภาพได้ว่า

“การหยุดคิด” นั้นอยู่ ณ จุดศูนย์ หรือว่าง

“การคิดแบบไม่ปรุงแต่ง” เป็นจุดเริ่มนับหนึ่ง

(โดยมี “การคิดแบบปรุงแต่ง” เป็นตัวนับ 2 นับ 3 นับต่อไปไม่จบสิ้นอยู่ในสังสารวัฏ)

“การคิดแบบที่กล่าวถึงใน As a Man Thinketh” เป็นสิ่งที่อยู่ได้ทั้งในจุดนับหนึ่ง และนับ 2 นับ 3 หรือนับต่อไปไม่จบสิ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถเห็นทันการเกิด หรือขบวนการเกิดความคิดนั้น และกำหนดรู้ได้แค่ไหน ตามที่ได้พูดถึงใน “การเห็นทันการเกิดขึ้นของความคิด” และ “การเห็นทันกระบวนการสืบเนื่อง ดำเนินไปของความคิด”

“ธรรมธาตุ” นั้นเป็นธรรม ที่อยู่เบื้องหลังการเกิดผลของ “การคิดแบบไม่ปรุงแต่ง” “การคิดแบบปรุงแต่ง” และ “การคิดแบบที่กล่าวถึงใน As a Man Thinketh” ซึ่งจะเกิดผลอย่างไร และได้ดังใจกำหนดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการกำหนดรู้ทัน "ความคิด"

และ“ธรรมธาตุ” เป็นสภาวะธรรมสูงสุด ที่มี “การหยุดคิด” เป็นประตูบานใหญ่ และ “การเห็นทันการเกิดขึ้นของความคิด” และ “การเห็นทันกระบวนการสืบเนื่อง ดำเนินไปของความคิด” เป็นบันไดขึ้นไปสู่ประตูนั้น

ตอนนี้นึกออกแค่นี้ครับ ..

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 18/06/2010
....................................................
"ธรรมธาตุ" นี้ มีคุณสมบัติเป็นธาตุรู้ เป็นแหล่งกำเนิดของญาณทัศนะหรือปัญญาญาณ
มีสภาพเป็นพลังงานอันบริสุทธิ์ ที่เราจะหยั่งถึงได้เมื่อขบวนการทางความคิดทั้งหลายยุติลง เข้าสู่ความสงัดของใจ
ผู้ที่เข้าถึง ผู้ที่หยั่งถึงซึ่ง "ธรรมธาตุ" นี้ เรียกว่า พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
................................................
มีเหตุการณ์เกิดกับเพื่อนคนนึง ที่น่าจะเข้าข่ายความหมาย
"ผู้ที่หยั่งถึง" นี้โดยที่เจ้าตัวเองยังประหลาดใจว่าเกิดได้อย่างไร
(ไม่เคยฝึกวิปัสสนา สวดมนต์บ้างบางครั้งไม่ได้เป้นประจำหรือสม่ำเสมอ)

ได้เอาอาการนี้เล่าให้ผู้รุ้ ท่านบอกว่า เพื่อนคนนี้ได้บรรลุธรรมมาแล้ว(ไม่ขั้นใดก็ขั้นนึงในอดีตชาติ)
เอาอีกแล้ว พูดถึงอดีตชาติ นี่จะชวนให้งมงายกันอีกรึเปล่า??

ไปดูดาวหมื่นดวงแล้ว กลับมาจะมาเล่าต่อค่ะ

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 18/06/2010
ขอเพิ่มเติมข้อความเล็กน้อย มาอ่านซ้ำจึงรู้ตัวว่า ตกหล่นไป ตรงบรรทัดที่ว่า ..

ตามข้อสรุปของผม “ความคิด” ปรากฏรูปร่าง รวมทั้งขยายหรือขับเคลื่อนตัวเอง ด้วยอุปกรณ์ 2 อย่าง คือ คำพูดหรือภาพ ..

ตรงเรื่อง "อุปกรณ์ 2 อย่าง คือ คำพูดหรือภาพ" นั้น ไม่ใช่คำพูดอย่างเดียว ต้องรวมถึง "เสียงต่างๆ" ด้วย คือ ความเดิมผมแบ่งเป็น "เสียงและภาพ" ครับ แต่ในทั้งหมด "คำพูด" สำคัญที่สุด

ขออภัยด้วยครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 21/06/2010
"ผู้ที่หยั่งถึง" ในมุมมองส่วนตัวคือ ผู้ที่มีความสามารถหยั่งเหตุการณ์
หรือความเป็นจริง(ที่มันเป็นจริงๆ) เกินพิกัดที่ประสาทสัมผัสทั้ง 5รับรู้

มีคำถามของเพื่อนที่เค้ามีประสบการณ์แปลกๆว่า
ความคิด กับความรู้สึก ต่างกันอย่างไร??
(เรื่องราวที่เกิดกะเธอ น่าจะใกล้เคียงการหยุดคิด.....รึเปล่าไม่แน่ใจ)

เป็นเรื่องราวที่เกิดบนหอผู้ป่วยค่ะ
เป็นตึกที่รับรักษาผู้ป่วยพื้นฟูสภาพ หลังอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยร้ายแรง
การรักษาที่เป็น Ordinary คือจะรักษาร่วมกับแผนก จิตเวช ในช่วงแรกของการปรับตัวของผู้ป่วย

มีผู้ป่วยรายนึงแรกรับมาด้วยอาการอัตพาตแบบครึ่งท่อน
อาการแรกรับรู้สึกตัวดี และรับรู้เรื่องราวความเจ็บป่วยจากทีมรักษา
แล้ว สภาพจิตใจอยู่ในขั้นปกติ ผ่านไป 2สัปดาห์ มีอาการเปลี่ยนไปคือ
พูดจาเพ้อเจ้อ เลอะเลือน

ทีมแพทย์รักษาเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นทั้งหมดอย่างละเอียด
และลงความเห็นว่า เป็นอาการทางจิตเวช
วางแผนที่จะมีการ Conference ร่วมกัน

เพื่อนคนดังกล่าว(เธอเป็นพยาบาล) ได้ร่วมตรวจเยี่ยมผู้ป่วย
และรับรู้และเป็นผู้รับผิดชอบผู้ป่วยรายนี้
อยู่ๆเธอนั้นก็
รู้สึกว่าปัญหาของผู้ป่วยรายนี้........ไม่ได้เป็นเรื่องจิตใจ

เธอรู้สึกได้ว่าเป็น..........สารเคมีในร่างกายไม่สมดุล
ซึ่งสิ่งที่เธอรู้สึก........ไม่มีข้อมูลสนับสนุนเลย ผู้ป่วยรับอาหารได้ทุกมื้อตามปกติ

อย่างไรก็ตามเธอได้ให้ข้อมูลเชิงคำถามว่า....ได้เฝ้าระวังเรื่องสารเคมีในร่างกายไม่สมดุลหรือยัง????

ทีมแพทย์ที่รักษาถามกลับเกี่ยวกับอาหารแต่ละมื้อที่รับได้
หากเป็นไปตามปกติ ไม่มีข้อบงชี้ที่จะต้องเจาะเลือดผู้ป่วยเพื่อตรวจ
แต่สงสัยว่าด้วยความ.........เกินเอาไว้ดีกว่าขาด
ทีมแพทย์ตัดสินใจ เจาะเลือดเพื่อตรวจดู ความสมดุลสารเคมีในร่างกาย


และผลออกมาคือ
ที่ผู้ป่วยมีอาการพูดจาเลอะเลือน เพ้อเจ้อ มีสาเหตุจาก

สารเคมีในร่างกายไม่สมดุล!
(รอดจากเหตุการณ์ที่ต้องรับยาทางจิตเวช.......ซึ่งอาจต้องเจอฤทธิ์ข้างเคียงของยาอีกมากมาย)

แล้วก็เป็นที่มา ที่เธอมีคำถามว่า

ความคิด
กับความรู้สึก

มันต่างกันอย่างไร????


ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 22/06/2010
"ความคิด" กับ "ความรู้สึก" .. มันต่างกันอย่างไร?

เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก ผมเคยถามตัวเองคล้ายๆ แบบนี้เหมือนกัน
แต่ผมไม่ได้ใช้คำเปรียบเทียบคู่นี้ว่า "ความรู้สึก"

ผมแยกตีกรอบความหมายของคำว่า "ความรู้สึก" ไปเป็นเฉพาะเรื่อง ใน 2 กรณี คือ
1. ที่เกิดภายนอกจากการสัมผัสทางกาย เช่น รู้สึกร้อน เย็น หนาว
2. ที่เกิดภายในใจหรือจิต เช่น รู้สึกสุข ทุกข์ ชอบ ไม่ชอบ

ส่วนคำที่ผมใช้ ที่น่าจะตรงกับความหมายที่คุณแฟนพันธุ์แท้ พูดถึงนั้น ผมใช้ว่า "รู้" หรือ "ตัวรู้" เป็นการรู้ขึ้นมาเฉยๆ มันผุดขึ้นมาเองในใจ หรือบริเวณหน้าอกหรือกึ่งกลางลำตัว ประมาณแถวๆ นั้น ซึ่งมักเกิดขึ้นเวลาที่จิตเราว่าง สงบ (ผมได้พูดถึงไปบ้างในกระทู้ธรรมธาตุ ตอนตอบคุณนีโอ เรื่อง โฟกัส จดจ้อง)

ซึ่งการเกิด "รู้" เช่นนี้ ต่างกับการรู้ ที่ได้จากขบวนการความคิด หรือจากการทบทวน วิเคราะห์ สังเคราะห์ จากความทรงจำ หรือข้อมูลเดิม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ได้มาจากสมอง

ผมไม่แน่ใจว่าตอนที่เพื่อนของคุณแฟนพันธุ์แท้เกิด "รู้" (ซึ่งมันก็เผินๆ เหมือน "รู้สึก") ว่าปัญหาของผู้ป่วยรายนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องจิตใจ แต่เป็นเพราะสารเคมีในร่างกายไม่สมดุล นั้น จิตเธอนิ่ง สงบว่างพอดีหรือเปล่า ตัวผมเองเปรียบสภาวะนี้เหมือนกับเวลาที่เราเกิด ปิ๊งแวบ ขึ้นมาเวลาเข้าห้องน้ำ หรือกำลังจิตใจสบายๆ นะครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 22/06/2010
ตอนที่เธอ"รู้" หรือ "รู้สึก" ดังที่เล่านั้น
เธอก็บอกไม่ได้ว่าจิตสงบหรือเปล่า
(เพราะสิ่งแวดล้อมขณะแพทย์เยี่ยมผู้ป่วยจะมีความวุ่นวายพอควร)
ต้องคอยติดตามทีมฯ และให้ข้อมูลเวลามีเรื่องถกกัน ต้องใช้สมาธิ
และใช้สมองพอสมควร แต่พอสรุปได้ว่าบรรยากาศไม่ได้ผ่อนคลาย
จนจะส่งผลให้จิตใจสบายจนเกิด"ปิ๊งแว๊บ"ได้ค่ะ

เหตุการณ์คล้ายๆกันแบบนี้เคยเกิดมาแล้วครั้งนึงเมื่อ กว่า 10ปีที่ผ่านมาค่ะ
เป็นปัญหาที่เกิดกับผู้ป่วยเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา
ที่พิเศษกว่าธรรมดาคือ ผู้ป่วยท่านนั้นเป็นคุณแม่ของเธอเอง
และแพทย์เฉพาะทางที่เป็นเจ้าของไข้เป็นพี่ชายแท้ๆของเธอด้วย
ช่วงที่ต้องเฝ้าไข้ก็ไม่น่าจะเป็นบรรยากาศผ่อนคลายได้


เรื่องราวคล้ายๆกัน(จำรายละเอียดลึกๆไม่ได้แล้ว)
เป็นลักษณะว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ให้การรักษา ตามสิ่งตรวจพบภายนอก
ตามข้อมูลสนับสนุนที่มี(ก็ต้องรักษาสุดฝีมือเพราะผู้ป่วยคือแม่ของตัวเอง)
เอาเข้าจริงๆการรักษาตามตำรากลับกลายเป็นหลงทาง(อยู่พักนึง)
พอ Investigate ตามที่เธอ"รู้สึก" กลับเป็นทางออก....ที่เป็นคำตอบ


อย่างไรก็ตามใตรๆที่อ่านเรื่องนี้คงไม่ไป"ระแวง/ระวัง" การรักษาของแพทย์ซะหมดนะคะ


มีประโยคนึงที่สวยงามและพึ่งได้
จากอารย์ ลูอีส แอล เฮย์

"ทุกมือที่สัมผัสฉันในโรงพยาบาล เป็นมือที่ให้การรักษาและความรัก
และการรักษาดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และสมบูรณ์แบบ
ฉันรู้สึกสบายดี และไว้วางใจได้ตลอดเวลา"

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 22/06/2010
ผู้ที่ให้ความเห็นว่าการหยั่งรู้ได้ ตามที่เล่านั้น คือมีฐานเดิมจากอดีต(ชาติ)

เค้าลงความเห็นว่าคุณนันท์เป็นแบบนั้นเช่นกัน
(จากเข้ามาอ่านบางกระทู้)

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 23/06/2010
น่าจะเป็นจากอาการ ปิ๊งแว่บ จิตนิ่ง ครับ
คล้าย ๆ กับนักกีฬาที่อยู่ในขณะการแข่งขัน และกดดัน
สุดขีด รวมถึงสิ่งแวดล้อมก็วุ่นวายน่าดู บางคนที่เป็น ซูปเปอร์สตาร์
ก็สามารถเข้าถึงขีดความสามารถได้ในจุดคับขัน ดึงศักยภาพสูงสุด
ออกมาได้ทันการณ์ ไม่รู้ว่าเหมือนกับ บางคนเห็นบ้านตัวเองไฟกำลังไหม้บ้านตัวเองอยู่ เกิดตกใจสุดขีด ยกโอ่งออกมาจากบ้านได้ ยังงัยอย่างงั้น ครับ แต่ในกรณีแพทย์ เป็นการกดดันที่ต้องตัดสินใจในยามคับขันแทน คิดว่าคล้าย ๆ กันครับ ( แอบฟังอยู่ห่าง ๆ ครับ )
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 23/06/2010
พี่แฟนฯ ครับ ให้เค้าอ่านกระทู้ผมบ้างสิครับ
อยากรู้อดีตบ้าง ( ฮา )
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 23/06/2010
เอาแบบคมชัดลึก เลยดีมั้ย??
แต่เจ้าตัวต้องมาเองนะ
ให้หญิงอัศจรรย์(คนนี้เค้าซี้กับ อ.รุจ ที่เชี่ยวชาญเรื่องโหราโยคะ)จัดการให้น่ะ

มั่นใจว่ารู้แล้วคนแบบคุณน้องเนี่ย ไม่ยึดติดหรอก
เรื่องประมาณนี้เป็นเรื่อง"ต้องห้าม" สำหรับคนทั่วไป
(เพราะมันสุ่มเสี่ยงที่จะยึดติด)
ผู้รู้บอกว่า เค้าให้รู้เพื่อ "การวาง"(ก็เพราะทุกอย่างมันไม่เที่ยงง่ะ)


ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 23/06/2010
แอบเข้ามาอ่านบางกระทู้ด้วย .. ใครนะ ?

แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่ไม่มีฐานเดิมจากอดีต(ชาติ) จะไม่สามารถรู้ได้ใช่ไหมครับ .. ฮา

คุณนีโอครับ บางทีไม่รู้ดีกว่า อายตัวเองครับ .. ฮา
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 23/06/2010
*แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่ไม่มีฐานเดิมจากอดีต(ชาติ) จะไม่
สามารถรู้ได้ใช่ไหมครับ *

อันนี้เลยค่ะที่เคยสงสัย และหาคำตอบอยู่ตลอดเวลา
และไม่สะดุ้งสะเทือนกับคำกล่าว........ทำไมต้องติดต่อกับเทพได้
หรือต้องไปเคร่งศาสนา หรือบ้าลัทธิ

ดีพัค โชปรา
ให้คำตอบนี้ในหนังสือ โชคดวง ความบังเอิญ คุณกำหนดได้
(ขอลอกมาอีกรอบค่ะ)

เรามีชีวิตเหมือนนักแสดงในละครเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้รับบทเพียงบทเดียว
แต่ละครั้ง และเข้าร่วมแสดงโดยปราศจากความเข้าใจเรื่องราวทั้งเรื่อง
แต่เมื่อคุณสัมผัสกับวิญญาณของคุณ(เค้าหมายถึงการสวด:แฟนพันธุ์แท้)
คุณจะเข้าใจและมีส่วนร่วมในเรื่องอย่างมีสติ และ
มีความสุข
สิ่งที่น่าตื่นเต้นมากก่ว่นั้นคือ ตัวเราสามารถเขียนบทละครขึ้นมาใหม่
ได้ หรือเปลี่ยนแปลงบทบาท (หมายถึงการทำสมาธิ:แฟนพันธุ์แท้)
โดยใช้ความตั้งใจไขว่คว้าโอกาสที่เกิดจากเหตุบังเอิญ

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 24/06/2010
ชอบที่ ดีพัค โชปรา เขียน ตรงที่คัดลอกมาเช่นกัน

แต่ส่วนตัว ไม่ได้เข้าใจความหมาย แบบเดียวกับที่คุณแฟนฯ วงเล็บไว้ ทั้ง 2 ที่

ช่วยแชร์มุมมองของคุณแฟนฯ ว่าที่มาเป็นอย่างไร ถึงวงเล็บไว้เช่นนั้นได้ไหมครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 24/06/2010
ข้ออ้างข้อความของ เวย์น ไดเออร์

คุณไม่ใช่ตัวตนทางร่างกายมนุษย์ที่กำลังมีประสบการณ์ของจิตวิญญาณ
แต่คุณคือตัวตนทางจิตวิญญาณ ที่กำลังมีประสบการณ์ของการของการเป็นมนุษย์

ถ้าเรายอมรับความเป็นนิรันด์ ตามนี้
คงไม่ต้องไปถกกันอีกเนาะ ว่าภพชาติที่แล้ว/ภพชาตินู้น/ภพชาตนี้

ในหนังสือโชค ดวงฯ แฟนพันธ์แท้เข้าใจว่า โชปรา พยายามที่จะสื่อออกมาตามที่
ตัวเองได้วงเล็บไว้นั่นแหละค่ะ บังเอิญว่าอาจซับซ้อน(ต้องอ่านกลับไป/กลับมาหลายรอบ)
และที่เป็นหลักฐานชัดเจนโดดเด่นคือ เค้ามีบทสวด มีพระสูตร

.....................
ถึงตรงนี้ ขออ้างข้อความของ กูรู ท่านอื่นที่เราผ่านตาบ่อยๆ

......ถ้าการสวดมนต์คือการคุยกับพระเจ้าแล้วละก้อ
ลางสงหรณ์/ญาณหยั่งรู้(ได้รับอนุญาติจากผู้กำกับการแสดง/ผู้อำนวยการสร้าง) ก้อเป็นการที่พระเจ้าคุยกับคุณ........

เวย์น ไดเออร์ ได้จัดลำดับคลื่นสั่นสะเทือน ตามคลื่นต่ำ/สูง ไว้
5 หมวด(ในหนังสือพลังแห่งเจตนารมณ์) เรียงแบบนี้ค่ะ

คลื่นขอวัตถุที่จับต้องได้<คลื่นเสียง<คลื่นแสง<คลื่นความคิด<คลื่นจิตวิญญาณ

เค้าสรุปว่า คลื่นเสียงของมนุษย์ เป็นคลื่นเดียวที่มนุษย์ สามารถ ปรับ/เปลี่ยน จากจุดกำเนิดที่เราจะส่งออกไปภายนอกได้

และมีข้อมูลสนับสนุน(ถ้าจะเอาแบบมี Referenceต้องให้เวลาเน้อ)
ว่า คลื่นของการสวดมนต์เป็นคลื่นที่เข้าใกล้คลื่นจิตวิญาณหรือคลื่นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

หมายความตามนี่แหละค่ะ ถ้าเราเป็นนักแสดงที่รู้บทบาทที่แสดงวันนี้
วันเดียว ไม่รู้เลยพรุ่งนี้เค้าจะย้ายกองถ่ายไป บุกน้ำลุยโคลน
เราก็พลาดในการเตรียมตัว

อันนี้ก็เป็นวงเล็บที่ 1 ค่ะ


ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 24/06/2010
สิ่งที่น่าตื่นเต้นมากก่ว่นั้นคือ ตัวเราสามารถเขียนบทละครขึ้นมาใหม่
ได้ หรือเปลี่ยนแปลงบทบาท

ช็อทนี้เข้าใจว่า
ก้อไม่ชอบใจบทที่ผู้กำกับมอบหมายง่ะ อยากปรับเปลี่ยนบางอย่าง
หรืออยากเปลี่ยนทั้งหมด(รวมทั้งพระเอกที่ให้มาร่วมแสดงด้วยเนี่ย.....อิอิ)

อันนี้ถ้าอ่านในโชค ดวงฯ แล้วไม่เข้าใจตามนั้น
ขอแนะนำให้อ่าน 7 กฏ ด้านจิตวิญญาณ ฯ หน้า 78
ว่าด้วยการจัดการกับกรรมวิธีที่ 3 คือการก้าวขึ้นอยู่เหนือกรรม
บรรทัดที่ 9-12 บอกว่า
คุณสามารถที่ก้าวหลุดพ้นจากเมล็ดพันธ์แห่งกรรมของคุณได้
โดยการเข้าไปดำรงอยู่

"ช่องว่าง" ระหว่างความคิด และแน่นอนว่า สิ่งนี้สามารถทำได้โดยผ่านทาง

..............การทำสมาธินั่นเอง!!!!!!!!.............

อย่างไรก็ตามตอนนี้เรากำลังพูดถึงคนที่ตั้งสมมุติฐานว่าตัวเองนั้น
ไม่-มี ฐานดั้งเดิมจาก

อดีตชาติ

ดังนั้นคนที่มีฐาน จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวอาจเถียงว่า
มันไม่จำเป็น ต้องวิธีนี้ ฉันนั่งท่ามกลางความวุ่นวายโวกเวก
ของผู้คนมากมาย ฉันก้อ "เข้าถึง" สภาวะนี้ได้
เพราะฉันนั้นมี "ศิลปของการหยุดคิด"
ซึ่งมันก็คงเป็นสภาวะเดียวกันกับ
"ช่องว่าง" ระหว่างความคิด

หนังสือโชด ดวง ฯ หน้า 206 บรรทัดที่ 16-12
หลักการของการลิขิตชีวิตอย่าประจวบเหมาะ เสนอทางตรงสู่การ
พัฒนาการเชื่อมต่อของคุณกับโลกไร้ที่ตั้ง จงทำสมาธิและทบทวน
แก่นของพระสูตรทุกวัน แล้วคุณจะทันเห็นว่าตัวคุณเชื่อมโยง กับจิตวิญญาณ
ในลักษณะที่สร้างปาฏิหาริย์ได้ ไม่ใช่เพียงแค่มีโอกาสเป็นไปได้
แต่มันจะเป็นส่วนที่เป็นธรรมชาติในชิวิตประจำวันของคุณ

เสนอทางตรง!!!!!!!.......

สู่การพัฒนาการเชื่อมต่อของคุณกับโลกไร้ที่ตั้ง

จงทำสมาธิ!!!!!!!!!!!

ทั้งหมดนี้เป็นวงเล็บที่2 ค่ะ

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 24/06/2010
^^ สวัสดีค่ะลุงนันท์ วันนี้หนูตื่นเช้าแล้วเกิดอยากอ่าน เลยเข้ามาที่นันท์บุ๊ค ได้สมใจจริงๆ ขอบคุณมากค่ะ เข้าใจสภาวะการคิดของตัวเองมากขึ้นเลย บางครั้งเมื่อรู้แล้ว แต่ไม่ได้ฝึกฝนลงมือทำ ก็ลืมในสิ่งที่รู้ไป ได้อ่านเนื้อความในหน้าที่ทั้งหมดแล้วได้ ฉุกคิดที่จะฝึกฝนพัฒนการต่อไป

ขอบพระคุณทุกท่านสำหรับความรู้ เรื่องการหยุดคิด การทำสมาธิ การเชื่อมโยงต่างๆ ขอบพระคุณค่ะ :P
ชื่อผู้ตอบ : Fangly ^^ ตอบเมื่อ : 25/06/2010
ยอดเยี่ยม ! เลยครับคุณแฟนฯ ..

สวัสดีหลานฟาง บางอันลุงแอบเอาไปใส่ไว้ในบันทึก facebook ของลุงด้วยล่ะ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 25/06/2010
พี่แฟนฯ
พี่เห็นหรือเปล่าว่าพี่แฟนฯเป็นผู้เชื่อมโยง ที่สามารถเชื่อมโยง ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว
ขอบคุณนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 25/06/2010
ขอบคุณค่ะคุณน้อง(หนึ่ง)

แก้คำผิด

หนังสือโชด ดวง ฯ หน้า 206 บรรทัดที่ 16-12
เปลี่ยนเป็น

บรรทัดที่16-20 ค่ะ
ชาวเมืองไหนเค้าอ่านย้อนศรกันน่ะ(อิอิ)

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 26/06/2010
ก่อนอื่นขอขอบคุณคุณนันท์มากค่ะสำหรับคำตอบเรื่อง"การหยุดคิด" กับการคิดแบบ"ไม่ปรุงแต่ง" กับการคิดแบบที่กล่าวถึงใน "As a Man Thinketh" ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรจากแง่ของธรรมธาตุ เพราะเป็นทำให้ได้แง่มุมในการไปแสวงหาคำตอบเพื่มเติมจากการปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นแบบแนวดูจิตในหลักสูตรที่ชื่อว่า"ระลอกคลื่นบังน้ำใส"ของพระอาจารย์อำนาจ โอภาโส แห่งพุทธธรรมผาซ่อนแก้ว บังเอิญในการบรรยายธรรมของพระอาจารย์มีหลายอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่อง"การหยุดคิด"ในกระทู้นี้ของคุณนันท์ จึงขออนุญาตมาแชร์สิ่งที่พอจำได้ดังนี้ค่ะ

-จากชื่อของหลักสูตร ท่านอธิบายว่าจิตเดิมแท้ของเรานั้นเปรียบเหมือนน้ำที่ใสบริสุทธิ์ แต่ด้วยความคิดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเล็กน้อยคล้ายน้ำแค่หยด หรือมากจนกลายเป็นระลอกคลี่น ความนิ่งใสบริสุทธิ์ก็จะถูกบดบังไป จนกว่าเหตุต่างๆเหล่านั้น(คือความคิดทั้งหลาย)จะหยุดลง น้ำ(ซึ่งก็คือจิตของเรา)จึงจะกลับไปนิ่งใสดังเดิมได้ (ความจริงท่านอธิบายถึงเรื่องการทำงานของขันธ์ 5 ตัณหา อวิชชา ผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้ ปฏิจสมุทบาท และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเป็นศัพท์แสงทางธรรมะที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจอีกมาก จึงขอละไว้ก่อน)

- เหมือนที่คุณนันท์ได้กล่าวไว้คือ สิ่งที่จะช่วยให้จิตของเรา"หยุด"คิด(กลับมาใสดังเดิม)ได้นั้น ขั้นต้นต้องอาศัยการมีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวตลอดว่ากำลังทำอะไร กำลังคิดอะไรอยู่

-ให้เข้าใจเรื่องอนัตตา หรือความไม่มีตัวตน (emptiness) เพื่อจะได้ไม่เกิดการยึดถือ และก่อเกิดเป็นกิเลสตัณหา คิดว่าเป็นตัวเราของเรา

-ความว่างมีความกว้างใหญ่ไพศาล แต่เมื่อมีความคิดเกิดขึ้น ก็จะเกิดการ"จำกัด"บริเวณขึ้น เปรียบเหมือนการเขียนวงกลมลงบนแผ่นกระดาษที่ว่างเปล่าอยู่เดิม แม้ความว่างนอกวงกลมจะยังมีอยู่ แต่ถ้าจิตเราเข้าไปอยู่ในวงกลม(ความคิด)ที่เกิดขึ้น "การจำกัด"ก็จะเกิดขึ้น แทนที่ความกว้างใหญ่ไพศาลของความว่างที่มีอยู่เดิมภายนอกความคิดของเรา....

ขอแชร์เท่านี้ก่อนนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 27/06/2010
ขอต่ออีกนิดนะคะ..การคิดในภาษาธรรมะทางขันธ์ห้าเรียกว่า"สังขาร"หมายถึงระบบคิดปรุงแต่ง แยกแยะสิ่งที่รับรู้ รู้สึกและจำได้ หรือถ้าเทียบกับระบบคอมพิวเตอร์ ก็คือ"data processing" ที่อาศัย"ข้อมูล"ที่ป้อนเข้าไปร่วมกับ"โปรแกรมการทำงาน" และ"คำสั่ง"ให้ "process" หากขาดอย่างไรอย่างหนึ่ง ก็จะไม่เกิดเป็นกระบวนคิดขึ้น หรือหากมีการเปลี่ยนแปลง"โปรแกรม"ในจิตของเรา การทำงานที่เกิดขึ้นก็จะเปลี่ยนไป....

ดังนั้นหากจะ"หยุดคิด"และอยู่ใน"ธรรมธาตุ"ตามที่คุณนันท์กล่าวถึง จึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องหยุด"รับรู้"สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว หากแต่เพียงไม่นำไปปรุงแต่งหรือprocessต่อ ก็จะไม่เกิด"สังขาร"(ความคิด) ที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสิ่งอื่นๆตามมาที่ทำให้"ความว่าง" หรือ"ธรรมธาตุ" หายไป นอกจากนี้ในทางปฏิบัติ ต้องไม่ใช้ความพยายามในการ"หยุดคิด"ด้วย มิเช่นนั้นความต้องการที่จะให้ได้"ธรรมธาตุ" ก็จะกลายเป็นการ"ส่งจิตออกนอก"อีกแบบหนึ่ง...

ธรรมะยามเช้าเพื่อทบทวนสิ่งที่เข้าใจมาจากการไปปฏิบัติธรรมและอาศัยโจกท์จากกระทู้ของคุณนันท์ไปหาคำตอบเพิ่มเติมค่ะ (ซึ่งขอขอบคุณคุณนันท์อีกครั้งที่ช่วยให้เกิดแง่คิดดังกล่าวด้วยค่ะ)
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 28/06/2010
ขอบคุณพี่นพรัตน์ค่ะ
ถือว่าเป็นความก้าวหน้าในการแลกเปลี่ยน ในเว็บไซด์จิตวิญญาณค่ะ

ช่วงนี้อยู่ในการฝึก การจัดระเบียบความคิดค่ะ
หากมีความก้าวหน้า(เลื่อนระดับ).......ก้อหวังว่าจะเข้าถึง"การหยุดคิด"ค่ะ

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 28/06/2010
ด้วยความยินดีครับคุณนพรัตน์ โดยเฉพาะเรื่องที่คุณนพรัตน์นำมาแชร์จากการไปปฏิบัติธรรม

ยินดีที่ทราบว่าคุณนพรัตน์ได้ไปพบสิ่งดีๆ ยินดีที่เรื่องที่คุณนพรัตน์แชร์ กับเรื่องที่ผมกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับการฝึกหัดหยุดคิด เท่าที่อ่านดูเป็นเรื่องเดียวกัน เลยพลอยมีกำลังใจ

ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 28/06/2010
*นอกจากนี้ในทางปฏิบัติ ต้องไม่ใช้ความพยายามในการ"หยุดคิด"ด้วย
มิเช่นนั้นความต้องการที่จะให้ได้"ธรรมธาตุ" ก็จะกลายเป็นการ"ส่ง
จิตออกนอก"อีกแบบหนึ่ง...*


เคยรู้สึกประทับใจการสอน "การทำสมาธิ" ของคุณริชชี่(พีรวัฒน์ อริยทรัพย์กมล)
ที่สอดคล้องกับเรื่องนี้ และดูเหมือนว่าเข้าใจธรรมชาติของจิต(ของคนส่วนใหญ่)
เค้าบอกว่าไม่ต้องห้ามความคิด.......ให้คิดไปเรื่อยๆ(หรือฟุ้งก็ฟุ้งไปเรื่อยๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ)
จนกระทั่งเรื่องที่จะคิดหรือจะฟุ้งทั้งหมดไม่มีแล้ว(หยุดลง)
ให้ "ตรึงช่องว่างนี้" (เรื่องเดียวกันมั้ยคะ?????) ออกไปให้นานที่สุด
เท่าที่จะนานได้



.........โดยลำพังมนุษย์ ไม่ได้มีพลังอำนาจที่แท้จริงใดๆ ด้วยอัตตาของตน
เอง พลังที่แท้จริงคือการได้เชื่อมโยงกับพลังอำนาจแห่ง "ธรรมธาตุ" นี้
ทุกคำอธิษฐาน ทุกคำอวยพร ทุกการประสาทพร ให้กล่าวอ้าง หรือ
ระลึกถึง หรือหยั่งถึง “ธรรมธาตุ” อันเป็นพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงนี้ ให้เป็นผู้ดำเนินการ


ทุกคำอธิษฐาน ทุกคำอวยพร ทุกการประสาทพร
พลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงนี้ ให้เป็นผู้ดำเนินการ

ริชชี่ให้คำแนะนำในสมาธิแก้กรรม
หรือการทำสมาธิในการอธิษฐานใดๆ(ในการบันดานเป้าหมายให้เป็นจริง)
ว่าก่อนนั่ง......อธิษฐานฯลฯ
แล้วให้นั่งจนกระทั่งลืมคำอธิฐานนั้นไป
(อยู่ในช่องว่างของการคิด ซึ่งก็ตรงกับ การที่ โชปรา บอกไว้ในการ
ก้าวหลุดพ้นจากเมล็ดพันธ์แห่งกรรม)






ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 29/06/2010
การแผ่เมตตาให้แก่ทุกสรรพสิ่ง เป็นการอธิษฐานอย่างหนึ่ง เวลาไปปฏิบัติธรรม หลังการนั่งสมาธิหรือสวดมนต์เสร็จ จะตามด้วยการแผ่เมตตา เนื่องจากจิตของเรามักจะนิ่งใสและเชื่อมโยงกับพลังอันบริสุทธิ์ของธรรมธาตุมากขึ้น ทำให้ทุกคำอธิษฐานสามารถส่งผ่านสนามพลังงานดังกล่าวได้ดีขึ้น ในสายของวัชรยานที่เคยไปปฏิบัติมา จะให้ตั้งจิตที่จะแผ่เมตตาทั้ง"ก่อน"และ"หลัง"การนั่งสมาธิ ซึ่งวิธีดังกล่าวน่าจะสอดคล้องกับหลัก 7 กฏฯ ของ ดีพัค โชปรา ที่กล่าวไว้ในขั้นตอนทั้งห้าของกฏแห่งความมุ่งมั่นและปรารถนา คือให้ตั้งความมุ่งมั่นหรือเป้าหมายไว้ทั้งก่อนและหลัง"ช่วงว่าง"ระหว่างความคิด (และด้วยความปล่อยวางต่อผลที่จะได้รับ)
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 01/07/2010
ผมมีความเห็น ที่น่าจะสอดคล้องกับสิ่งที่คุณนพรัตน์ได้กล่าวถึงข้างต้น

โดยส่วนตัวเข้าใจว่า การทำสมาธิหรือสวดมนต์ เป็นสภาวะการสำรวมจิต ให้สงบนิ่งใส อยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือกิจใดกิจหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกรอบเฉพาะตน

ส่วนการแผ่เมตตา เป็นสภาวะการแผ่ขยายจิต ออกจากกรอบเฉพาะตน ที่มีความสงบนิ่งใสเป็นฐานนั้น .. สู่มวลสรรพสิ่ง โดยมีความรักความปรารถนาดีเป็นมวลพลังงานในการเชื่อมโยง ซึ่งผลพลอยได้สุดท้ายคือ สภาวะแห่งความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันของเราและสรรพสิ่ง

จากประสบการณ์ในการปฏิบัติ ของคุณนพรัตน์ ผมเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่ครับ ขอการชี้แนะด้วย
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 01/07/2010
เนื่องจากจิตของเรามักจะนิ่งใสและเชื่อมโยงกับพลังอันบริสุทธิ์ของ
ธรรมธาตุมากขึ้น ทำให้ทุกคำอธิษฐานสามารถส่งผ่านสนามพลังงานดังกล่าวได้ดีขึ้น
ตั้งจิตที่จะแผ่เมตตาทั้ง"ก่อน"และ"หลัง"การนั่งสมาธิ ซึ่งวิธีดังกล่าวน่า
จะสอดคล้องกับหลัก 7 กฏฯ ของ ดีพัค โชปรา ที่กล่าวไว้ในขั้นตอน
ทั้งห้าของกฏแห่งความมุ่งมั่นและปรารถนา คือให้ตั้งความมุ่งมั่นหรือ
เป้าหมายไว้ทั้งก่อนและหลัง"ช่วงว่าง"ระหว่างความคิด (และด้วยความปล่อยวางต่อผลที่จะได้รับ)


พอดีว่าช่วงฝึกปฏิบัติ(ภาคสนาม) มีโจทย์นึงที่เราถกกันแล้วกำลังหา
ข้อสรุปยังไม่ได้(ในตอนนั้น) คือเรื่องคำอธิษฐาฯค่ะ มีเพื่อนเค้าตั้งข้อสังเกตว่าเวลาเค้าตั้งจิตฯ ให้คนอื่นที่อยู่รอบตัว มันสำเร็จและเป็น
ไปตามความต้องการเกือบทุกครั้ง แต่ทำไมใช้กับปัญหาตัวเองแล้วมันติด????
(เดี๋ยวเขียนเรื่องนี้ละเอียดทีหลังค่ะ) เรื่องนี้เราเลยทดลอง
สลับ แผ่เมตตาให้กันและกัน ดู

.............มีเหตุการณ์ที่สนับสนุนข้อความพี่นพรัตน์ ในประสบการณ์ของตัวเองค่ะ
ช่วงมีโอกาสไปปฏิบัติธรรมของมูลนิธิโกเอ็นก้า 11วัน ตลอด 11วันเนี่ย
มีความเก็บกดเกี่ยวกับรสชาดของอาหาร(จืดสนิท) ตั้งใจเอาไว้ว่า
ออกมา อาหารมื้อแรกต้องเป็นอารอิสาน หรือไม่ก็เป็นอาหารใต้
กะว่ามื้อแรกเลยจะเป็น ส้มตำปูปลาร้า(แบบเผ็ด) และฯลฯ ที่มันแซบ!
พอออกมาจริงๆ 3 วันแรก ไม่หิวข้าว ไม่มีความอยากอาหารเลย
(มันคนละอย่างกับอาการไม่หิวตอนป่วยไข้น่ะ)
คุณน้องผู้รู้เค้าเลย บอกว่าช่วงเนี่ยเป็นช่วงที่ดีมากๆ ที่จะแผ่เมตตาให้ผู้อื่น
เพราะยังอยู่ในพลังงานบริสุทธิ์(อิ่มทิพย์)
พระพุทธองค์หลังตรัสรู้ได้ ท่านไม่เสวยอาหารเลยอยู่ได้ 49วัน

........แล้วก็เกิดการทดลองและสังเกต.....ที่สอดคล้องกับข้อความนี้เลยค่ะ

ส่วนการแผ่เมตตา เป็นสภาวะการแผ่ขยายจิต ออกจากกรอบเฉพาะตน
ที่มีความสงบนิ่งใสเป็นฐานนั้น .. สู่มวลสรรพสิ่ง โดยมีความรักความ
ปรารถนาดีเป็นมวลพลังงานในการเชื่อมโยง ซึ่งผลพลอยได้สุดท้าย
คือ สภาวะแห่งความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันของเราและสรรพสิ่ง


ก่อนที่จะเล่าในรายละเอียด คงต้องขออภัยต่อมุมมองที่อาจมี(ว่าอวดอิทธิฤทธิ์/ปาฎิหาริย์)
เจตนาจริงคือ อยากบอกผู้คนที่ไม่มีฐานใดๆในอดีต
ว่า
มีโอกาสฝึกได้!

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 02/07/2010
การอธิษฐานหรือ แผ่เมตตา ในช่วงนั้นก้อไม่ได้ถึงกะว่าเกิดปาฎิหาริย์
ที่อลังการยิ่งใหญ่(แบบช๊อควงการ)
แต่ก็ถือได้ว่าสนับสนุนข้อความบทนี้เลยค่ะ


จุดเริ่มต้นของพลังอำนาจในการสรรค์สร้าง คือ ความสามารถในการ
เห็น ..
เห็นถึงความมหัศจรรย์ที่กำลังเกิดอยู่รอบๆ ตัวเรา และนั่นจะทำให้สิ่ง
มหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเติบโตได้ง่ายขึ้น

ดีพัค โชปรา
. . . . . . . . . . . . . . . . .
ช่วงปลายเดือน มีนา-ต้นเมษา เป็นช่วงกีฬาสีแห่งชาติ(ศึกสีเสื้อ)
กำลังเข้มข้น ส่งผลให้เมืองเชียงใหม่ทั้งเมืองเงียบเหงาผู้คนมาก
มีอยู่วันนึงต้องใช้บริการรถ สี่ล้อแดงค่ะ จำได้ว่าใช้บริการอยู่ 3 คัน
คันแรก คนขับก็บ่นมาก(เรื่องเศรษฐกิจ) ส่งพลังงานค่อนข้างลบ
พอเสร็จธุระใช้บริการ รถคันที่ 2 คนขับก็กลางๆ แต่ก็แสดงตัวนิดหน่อยว่า "ฉันเสื้อแดงเน้อ"

พอคันที่ 3 แฟนพันธ์แท้นั่งจาก หน้าห้างเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว ไปโรงพยาบาลมหาราชฯ
คนขับชวนคุยเช่นเดิม(เรื่องการเมือง) "สำหรับผมนะจะเป็นเสื้อสีอะไร
ก้อขอให้เคารพในกติกา ใครได้เป็นรัฐบาลก็ควรปล่อยหรือให้โอกาส
กันเต็มที่ก่อน มัวแต่มาทะเลาะกันบ้านเมืองเสียหายหมด
เมืองท่องเที่ยวเนี่ยเห็นชัดสุด รู้มั้ยวันนี้ผมออกบ้านตั้ง 8โมงเช้า
นี่คุณเป็นผู้โดยสารคนแรก"(เวลาตอนนั้นบ่ายโมงกว่า)

แฟนพันธ์แท้เริ่มอธิษฐานให้คนขับรายนี้
(ถ้าเป็นเมื่อก่อนนู้นคงได้แต่สงสารง่ะ ช่วยอะไรไม่ได้ ช่วงไปยุ่งกับ
ศาสตร์สะกดจิต พึ่งได้ความรู้ว่าคลื่นความรู้สึกสงสาร เป็นคลื่น
พลังงานต่ำมาก ต้องปรับให้เป็นคลื่นเมตตา......ก็แผ่เมตตากันเลยคราวนี้)

การเดินทางช่วงเวลาดังกล่าวใช้เวลา 10-15 นาที ระหว่างทาง ผ่านถนนศิริมังคลาจารย์
มีผู้โดยสารทยอยเรียกใช้บริการ รวม 8คน พอรถเลี้ยวส่งในโรง
พยาบาล มีเพิ่มอีก 2คน รวมตัวเองที่ใช้บริการคนแรกเป็น 11คน

คนขับสี่ล้อแดงพูดเองว่า
"นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ธรรมดานะ ไม่มีธุระที่ไหนขอเชิญนั่งเป็นนางกวักซักครึ่งวันได้ก่อ?"

(โดยที่เค้าไม่มีโอกาสรู้เลยว่าแฟนพันธ์แท้ทำอะไรไปบ้าง)


ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 03/07/2010
......เรื่องคำอธิษฐาฯ มีเพื่อนเค้าตั้งข้อสังเกตว่าเวลาเค้าตั้งจิตฯ
ให้คนอื่นที่อยู่รอบตัว มันสำเร็จและเป็นไปตามความต้องการเกือบ
ทุกครั้ง แต่ทำไมใช้กับปัญหาตัวเองแล้วมันติด????........

ความกระจ่างเรื่องนี้ ได้คำตอบที่ใกล้เคียงกับคำถามของพี่นพรัตน์(นอกรอบ)
"หลังสวดฯ-ภาวนา"แล้ว การแผ่เมตตา
กับการไม่แผ่เมตตา มันจะต่างกันอย่างไร??

แต่เป็นความเข้าใจในระดับที่เข้าใจเองค่ะ
ยังไม่อยู่ในระดับที่สามารถ จะทำให้ผู้อื่นเข้าใจด้วยได้
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 05/07/2010
ขอบคุณค่ะคุณแฟนพันธุ์แท้ที่นำประสบการณ์การอธิษฐานให้ผู้อื่นแล้วได้ผลมาแชร์ให้ทราบ ส่วนคำถามที่ว่า"หลังสวดฯ-ภาวนา แล้ว การแผ่เมตตา กับการไม่แผ่เมตตา มันจะต่างกันอย่างไร??" นั้นคงได้คำตอบแล้วนะคะ

สำหรับเรื่องที่คุณนันท์ถามความเห็นจากประสบการณ์ในการปฏิบัติ ที่ว่า "... การทำสมาธิหรือสวดมนต์ เป็นสภาวะการสำรวมจิต ให้สงบนิ่งใส อยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือกิจใดกิจหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกรอบเฉพาะตน ส่วนการแผ่เมตตา เป็นสภาวะการแผ่ขยายจิต ออกจากกรอบเฉพาะตน ที่มีความสงบนิ่งใสเป็นฐานนั้น .. สู่มวลสรรพสิ่ง โดยมีความรักความปรารถนาดีเป็นมวลพลังงานในการเชื่อมโยง ซึ่งผลพลอยได้สุดท้ายคือ สภาวะแห่งความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันของเราและสรรพสิ่ง"...นั้น ส่วนตัวก็มีความเห็นเช่นเดียวกับคุณนันท์ค่ะ เพียงแต่ว่าในทางปฏิบัติมักจะไม่ได้อธิบายในแง่มุมที่เป็นวิทยาศาสตร์เช่นนี้ แต่จะเป็นศัพท์แสงทางศาสนาที่เราคุ้นเคยกันมากกว่าคือ การทำสมาธิหรือสวดมนต์ จะทำให้จิตของเรานิ่งสงบ ยกระดับดีขึ้น เกิดเป็น”บุญกุศล” ส่วนการแผ่เมตตาก็คือการอุทิศ ”บุญกุศล” ที่เกิดขึ้นนั้นให้แก่สรรพสิ่งทั้งหลาย (จากความเชื่อที่ว่าตัวเราและสรรพสิ่งนั้นล้วนเชื่อมโยงกันอยู่) ด้วยความรักความปรารถนาดี หรือด้วยพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ผลเบื้องต้นคือทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราดีขึ้น สามารถตัดกรรมได้บางส่วน (สอดคล้องกับกฏของการให้ และกฏแห่งกรรม ใน 7กฏฯ) แต่ผลที่แท้จริงก็คือทำให้เราหลุดพ้นจากอัตตา(หรือความคิดที่ว่าเรากับสรรพสิ่งนั้นแบ่งแยกกัน)ได้ในที่สุด...
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 05/07/2010
หยดน้ำบนใบบัว
บทความนี้ผมนำมาจาก www.sogr.biz ของคุณหนึ่ง ซึ่งเป็นการสนทนาธรรมระหว่าง หลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช กับโยมอุบาสกนักปฏิบัติภาวนาท่านหนึ่ง ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ครับ

หลวงพ่อว่า การเรียนรู้กายและใจ แค่รู้ แค่เห็น
ไม่ต้องไปวิตก วิจารณ์ต่อ การคิด วิเคราะห์จะเกิด
หลังจากแค่รู้ แค่เห็น จิตมันมีธรรมชาติปรุงแต่งตาม
เหตุปัจจัย และปกติก็ไม่ได้มี ไม่ได้เป็นอะไร


แต่เมื่อเกิดการปรุงแต่ง มีเหตุปัจจัยเข้ามากระทบ
ก็เกิดการปรุงแต่ง เราก็แค่รู้ แค่เห็น รู้แล้วทิ้ง
รู้แบบคนโง่ โง่เพื่อเรียนรู้ได้ทุกอย่าง รับรู้สิ่งต่างๆ
ที่เกิดขึ้นไม่ไปทำต่อ หากทำต่อ เช่น ไปบังคับ
ไปควานหา ไปทำให้หาย ก็เป็นการสร้างภพใหม่ไปเรื่อยๆ
หรือแม้แต่นิพพานเองก็ไม่ได้มีไม่ได้นึกคิดเอาเอง


แต่นิพพานมีอยู่แล้ว แต่เราไม่เห็น การที่เราจะเข้าถึงได้
เราต้องทิ้งทุกอย่างที่เรารู้ เราจำ ต้องกล้าหาญและ
อดทนอย่างยิ่งที่จะรู้ตามความเป็นจริง เวลาที่รู้แล้ว
จะมีช่องระหว่างเกิดดับ เป็นสุญญะวิโมกข์ รู้จุดนี้
เห็นจุดนี้ รู้ไปเรื่อยๆ จนถึงอาสวขญาณ ก็ถอดถอน
ความเห็นผิด จนวันที่แจ้ง สุญญตา ความว่างที่ปราศ
จากความปรุงแต่ง ความไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไร
ไม่เอาอะไร มันเป็นเช่นนั้นเอง จิตจะเห็น
ไม่ใช่คิดเอาเอง ธรรมชาติภายนอกและธรรมชาติภายใน
ก็เป็นขันธ์ การจะดับทุกข์ได้ก็เมื่อดับขันธุ์ จิตใจที่อยู่
เหนือธาตุขันธ์ ก็เป็นดั่งใบบัวและหยดน้ำใบบัว
เป็นเหมือนขันธุ์ และน้ำคือจิต จิตของพระอรหันต์


จะเหมือนหยดน้ำบนใบบัว น้ำมีแต่ไม่เปียกใบบัว
ต่างคนต่างอยู่ รูป นาม ธาตุขันธ์ แยกกัน
จากความเป็นตัวเป็นตน แต่จิตของปุถุชนทั่วไป
เหมือนหยดน้ำที่กระจายเปราะเปื้อนบนใบบัว
เกาะติดกับใบบัว เดี๋ยวก็หลุด เดี๋ยวก็เกาะ
เวลาที่ใบบัวหายไป หรือ ขันธุ์ดับไป


จิตก็ไปเกาะใบบัวใหม่ กระบวนการเกิดก็เลยเกิดขึ้น
เป็นวัฎจักรหมุนเวียนไปไม่รู้จักจบสิ้น แต่หากจะไม่
เกิดก็ห้ามไม่ได้ เพราะทุกอย่างต่างมีการเกิดและดับลง
เป็นธรรมชาติ สิ่งที่เราทำได้คือการยอมรับความจริง
รู้ว่าธาตุขันธ์เกิดขึ้นและดับลง แค่รู้แค่เห็น รู้คือญาณ
เป็นปัญญาญาณเกิดในใจ เห็นคือ ทัศนะ ญาญทัศนะ
จึงเห็นตามความเป็นจริง ก็ค่อยๆ ถอดถอนความยึด
เงาของจิต ความมั่นหมาย การให้ค่าต่างๆ เป็นเพียง
สิ่งที่เกิดดับ เป็นสิ่งที่ไม่มี ไม่เป็น น้ำจึงอยู่ส่วนน้ำเป็น
กลุ่มก้อน บัวก็อยู่ส่วนบัว แต่ไม่ได้หายขาดจากกัน
แต่อยู่ด้วยกันอย่างต่างคนต่างอยู่



ชีวิตคนเราก็เหมือนดังภาพยนตร์ ในจอภาพยนตร์เราเห็นนักแสดงเต็มไปหมด
ชีวิตเราก็เหมือนหนังเรื่องหนึ่ง ทุกอย่างที่เห็นเป็นสมมติ
เป็นนิมิตที่ดำรงอยู่ แต่เราไปสำคัญว่าเป็นตัวเป็นตน
เข้าไปอินกับหนังเรื่องนั้น จริงจังกับมัน แทนที่จะเป็น
ธรรมดา เฉยๆ กับมันแต่มันอดไม่ได้ที่จะเข้าไปดัดแปลงบท

ตกแต่งบทใหม่ ให้มันเป็นอย่างที่เราต้องการ
มันช้าก็เร่งมันเร็ว มันไม่ดีก็ทำให้มันดี ฉะนั้นเราจึงแค่
อดทนดูไป เห็นไป รู้ไป หรือมันเหมือนเวลามือเราเปียกน้ำ
แทนที่เราจะรอให้มันแห้งแต่เราก็ไปทำมันให้มันไปเช็ดมันให้แห้ง



ดังนั้นการที่เราไปทำ คือมีเจตนา อยากให้มันเป็น
อยากให้มันดี มันก็สร้างภพใหม่ไปเรื่อยๆ สิ่งที่ควรทำก็แค่รู้
แค่เห็น ตามจริง อดทน ดู เพราะมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย
ไม่มีอะไรคงทนถาวร ทุกอย่างเป็นไปเพื่อความเสื่อม
โลกไม่ได้เจริญขึ้น แต่ความจริงโลกคือความเสื่อมลงๆ
แม้แต่พระพุทธศาสนาก็เสื่อมๆ ลง นี่คือความจริง


ที่อยู่อย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ฉะนั้นเราจึงเพียงแค่รู้
แค่เห็น ตามจริง ไม่ให้ความเห็น ไม่บัญญัติ ไม่ให้ค่ากับ
สิ่งที่เกิดขึ้น อย่างมือเราก็ปล่อยให้มันแห้งเอง เมื่อแห้ง
แล้ว มันก็แค่มือ มือก็คือมือ กายใจก็คือกายใจ รูปนามก็คือรูปนาม

มันเป็นของมันอย่างนั้น มันไม่มีอะไรอยู่จริง

แม้กระทั้งนิพพานก็ไม่มีอยู่ ไม่มีอะไร แม้กระทั่งท้ายที่สุดมือเรา
ก็จำเป็นต้องตัดทิ้งไม่ว่าจะเป็นคน เป็นฆราวาสหรือเป็นพระ
เป็นนักบวช มันก็แค่สมมติ ความจริงไม่มีอะไร ถึงจะอยู่
ในสภาวะไหนงานหลักที่ต้องทำคือรู้ รู้แบบนี้ รู้ซื่อๆ
รู้แล้วทิ้ง รู้และคนโง่ ไม่ต้องกลัวไม่ฉลาด ฉลาดที่จำได้
แต่ก็ไม่เท่าโง่แต่เรียนรู้ ฉลาดในทางสมมติกับโง่ในปรมัตถ์

จะเลือกแบบไหนก็อยู่ที่เรา เป็นอะไร ก็ดำเนินไปตามเหตุปัจจัย


การเปลี่ยนสภาพภายนอกเป็นการเรียนรู้ในบรรยากาศใหม่ๆ

รู้ทุกอย่างเห็นตามจริง การให้ค่าก็คือสีลพตปรามาส

เป็นธรรมชาติ ทุกๆ ขณะอยู่แล้ว ที่เกิดขึ้น ห้ามไม่ได้ จึงแค่รู้
แค่เห็นมันตามจริง การให้ค่า แบบนี้ดี แบบนี้ไม่ดี

ก็เป็นการลูบคลำศีล เข้าไม่ถึงความจริงเพราะเห็นหลายอย่างเป็นคู่ๆ
สุข ทุกข์ ดีไม่ดี เขา เรา กิเลส นิพพาน แยกออกจากกัน


สิ่งที่เห็นเป็นคู่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ห้ามไม่ได้ แต่เราแค่รู้
แค่เห็น เพื่อสู่ความเป็นหนึ่ง ไม่มีนอก ไม่มีใน ไม่มีอะไร
ไม่เป็นอะไร เห็นมันแค่นั้น สิ่งทั้งหลายเพียงแค่สมมติขึ้นมา
แล้วเราก็ไปให้ค่า ยึดถือเอาไว้ จนเป็นวงจรทุกข์ไม่รู้สิ้น
เวลาที่จิตมันปรุงมันก็เกิด เวทนาต่างๆ รับรู้ที่ละส่วนๆ
ตาได้เห็น ก็เกิดคนละขณะกับหูได้ยิน และได้กลิ่นก็ต่าง
คนต่างรับรู้ที่ละขณะ อารมณ์เกิดทีละขณะ แต่เราไม่เห็น
เหมือนหนังมันจะเป็นช๊อตๆ แต่เราเห็นมันต่อเนื่องเรา
จึงคิดว่ามันเที่ยง มันเป็นจริง ไปจริงจังกับมัน
ทั้งที่มันต่างคนต่างอยู่ แยกกันอยู่ ไม่มีอะไรเป็นตัวตน


จริงๆ กระบวนการเกิดอุปทานก็เกิดขึ้น ภพก็เกิด หมุนเวียน
เป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ การจะข้ามพ้นก็แค่ยอมรับความ
เป็นจริง รู้กายใจตามจริง รู้แล้วทิ้ง ไม่เอาอะไร จุดที่เขา
จะเข้าสู่มรรคผลก็เรื่องของจิต ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญ
อดทนต่อความอยากได้ อยากเป็น อยากภาวนา เช่น
เร่งความเพียรหลายคนเร่งความอยากมากกว่า
เพราะอยากดี อยากบรรลุ ก็ไปนั่งสมาธิ ไปเดินจงกรม
ไปเร่งจนขาดสติไม่เห็นความจริง ไปสร้างภพขึ้นมา


ความเพียรที่แท้คือการรู้และเห็นตามจริง อดทนต่อสิ่ง
ที่เกิดขึ้นและแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย ไม่ไปให้ค่า
ไม่ทำอะไรต่อ จุดที่จะเกิดมรรคผลเป็นเรื่องของจิต
อดทนไปเรื่อยๆ เช่น ต้นไม้มันมีอายุของมัน ไม่ต้อง
ไปให้ปุ๋ย ต้นไม้ก็ขึ้น มันขึ้นของมันเอง เราก็ไม่ต้อง
ไปเร่งให้มันรีบ ค่อยๆ เป็นไป ดูมันไป เห็นมันเป็นไป
เองตามธรรมชาติ มีอะไรให้รู้ก็รู้ ไม่มีอะไรก็รู้ว่าไม่มีอะไร
สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ รู้ไปเรื่อยๆ นี่คือความเป็นธรรมดาของ
ธรรมชาติ ทั้งธรรมชาติภายนอกและธรรมชาติภายใน
เป็นของมันเอง เราจึงแค่รู้ แค่เห็น ในกายในใจนี้ก็พอ
โลกก็มีความเสื่อมเป็นธรรมดับ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็น
ไปเพื่อความเสื่อม สิ่งใดเกิดขึ้นมาย่อมทุกข์เสมอๆ


ทุกข์คือความทนอยู่ไม่ได้ เสื่อมลงๆ เป็นธรรมดา
ของมัน ธรรมชาติสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุ
ปัจจัยแม้แต่ดอยเชียงดาวเมื่อก่อนยังเป็นทะเล

ตอนนี้เป็นดอย มันก็เป็นไปของๆ มัน ธรรมชาติภายนอกที่เราเห็น
ผ่านหน้าต่าง ผ่านบานประตูก็เป็นเหมือนหนังเรื่องหนึ่ง

ที่ผ่านมาให้เรารู้และเห็น เราเพียงแค่ยอมรับในสิ่งที่มันเป็น


น้อมเข้ามาสู่ใจ เรียนรู้ภายในใจ โอปะนะยิโก
น้อมเข้ามาใส่ตัว และมันจะปัจจัตตัง เวทิตัปโพ ...
รู้ได้เฉพาะตัว เห็นเฉพาะตน มันจะเป็นอย่างไร
จะคิด จะให้ค่า จะฟุ้งหรือสงบ ก็แค่รู้และเห็น
มันจะเข้าใจได้เฉพาะตัว ฯลฯ

.
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 06/07/2010
สาธุ....
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 06/07/2010
มีบางเรื่องราวที่
ดูเหมือนว่าหลวงพ่อ
กับ โชปรา

เค้าพูดถึงสิ่งเดียวกันค่ะ

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 20/07/2010
ได้ศึกษามาว่า
ให้รู้คิด รู้ไม่คิด นี่แหละคือ'ความรู้สึกตัว' มันคือ 'ปัจจุบัน'
ชื่อผู้ตอบ : ประไพศิริ เชี่ยววิริยกิจ ตอบเมื่อ : 20/01/2013


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code