ธรรมธาตุ ..

มี "ธรรมธาตุ" หนึ่ง ซึ่งเป็นพลังงานแห่งความศักดิ์สิทธิ์อันบริสุทธิ์ อันเป็นคุณสมบัติของพระเป็นเจ้า ที่เราสามารถตระหนักรู้ หยั่งถึงได้ เชื่อมโยงถึงได้ ด้วยสภาวะทางจิต และมันคือ การที่เราได้เข้าถึงซึ่งพลังอำนาจที่แท้จริง

"ธรรมธาตุ" นี้ มีคุณสมบัติเป็นธาตุรู้ เป็นแหล่งกำเนิดของญาณทัศนะหรือปัญญาญาณ
มีสภาพเป็นพลังงานอันบริสุทธิ์ ที่เราจะหยั่งถึงได้เมื่อขบวนการทางความคิดทั้งหลายยุติลง เข้าสู่ความสงัดของใจ
ผู้ที่เข้าถึง ผู้ที่หยั่งถึงซึ่ง "ธรรมธาตุ" นี้ เรียกว่า พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

คุณสมบัติของ “ธรรมธาตุ” นี้คือ ทำให้ทุกสิ่งดำเนินการไป ภายใต้หลัก เหตุ ปัจจัย นำไปสู่ผล สืบๆ เนื่องไป เป็นอิทัปปัจจยตา หรือเป็นเช่นนั้นเอง

"ธรรมธาตุ" นั้นมีอยู่แล้วเสมอ และเป็นสิ่งที่เราทุกคนควร ตระหนักรู้ หยั่งถึงได้ ด้วยอาศัยศรัทธาอันสูงส่ง ด้วยความเชื่อมั่น ด้วยความว่าง สว่าง สงบ สันติสุข ตื่นตัว ในจิตใจ

โดยลำพังมนุษย์ ไม่ได้มีพลังอำนาจที่แท้จริงใดๆ ด้วยอัตตาของตนเอง พลังที่แท้จริงคือการได้เชื่อมโยงกับพลังอำนาจแห่ง "ธรรมธาตุ" นี้
ทุกคำอธิษฐาน ทุกคำอวยพร ทุกการประสาทพร ให้กล่าวอ้าง หรือระลึกถึง หรือหยั่งถึง “ธรรมธาตุ” อันเป็นพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงนี้ ให้เป็นผู้ดำเนินการ

นี่คือ เทคนิคหรือเคล็ดลับสำคัญที่สุด ในการสร้างสิ่งมหัศจรรย์

มันไม่ใช่การเชื่อมั่นในตนเองอันเกิดด้วยอัตตา
แต่มันเป็นการเชื่อมั่น ศรัทธาในพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในตน

. . . . . . . .

เอามาฝาก เนื่องในวันวิสาขบูชาครับ
ชื่อผู้ส่ง : นันท์ วิทยดำรง ถามเมื่อ : 29/05/2010
 


ทั้งหมดนี้คุณนันท์ เขียนออกมาจากญาณทัศนะ.....รือ??
หรือว่ามาจากที่ใด
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 29/05/2010
คงต้องตอบว่า .. คงเกิดจากสองอย่างประกอบกัน
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 30/05/2010
มันไม่ใช่การเชื่อมั่นในตนเองอันเกิดด้วยอัตตา
แต่มันเป็นการเชื่อมั่น ศรัทธาในพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในตน

บังเอิญว่าตัวเองเนียะได้เรียนรู้แบบย้อนศรกับ กูรูทั้งหลายบอกไว้
คือเรียนรู้/สังเกตุ จากการมองออกไป(ที่ผู้อื่น)
คือไปมัวหลงให้เครดิตปัจจัยภายนอก(ปริญญา/หลักสูตรทั้งหลายบรรดามี/คุณวุฒิตำแหน่ง)

ข้อความทั้งหมดนี้ไขข้อข้องใจ ความสงสัย
ข้อมูลทั้งหลายที่เกิดจากญาณทัศนะหรือปัญญาญาณ ของผู้คนที่ไม่มีวุฒิการศึกษาใดๆรับรอง
ไม่ว่าจะเป็นของ ลูอิส แอล เฮย์ อาจารย์รัตน รัตนญาโน
และอื่นๆอีกมากมาย(ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นที่รู้จัก)

และมีกำลังใจที่จะเรียนรู้จากภายใน
เพื่อ

เทคนิคหรือเคล็ดลับสำคัญที่สุด ในการสร้างสิ่งมหัศจรรย์

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 30/05/2010
ถ้าอยากจะใช้ ธรรมธาตุ ให้เป็นประโยชน์สูงสุดควรปฏิบัติตัวอย่างไรในแต่ล่ะวันครับ
จะรู้ได้อย่างไรว่า การเชื่อมั่นในตนเองอันเกิดด้วยอัตตา หรืออันไหนเป็นการเชื่อมั่น ศรัทธาในพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในตน ครับ


ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 31/05/2010
นั่นสิ คำถามของคุณนีโอ เชื่อว่ามีอีกหลายๆคนอยากรู้ค่ะ

โดยส่วนตัวเชื่อเรื่องโหราศาสตร์หรือการดูดวง (ว่าไม่ใช่เรื่องงมงานไร้สาระ)
แต่ที่สังเกตุได้คือ การทำนาย(ไปในทางดี ออกแนวปาฎิหาริย์)
จะเกิดจริงในเวลาต่อมา สำหรับคนที่ วางผลลัพท์ได้
(มักเกิดกับคนที่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง......ก็เพราะ ณ เวลานั้น คำทำนายออก...เว่อร์น่ะ)


เลยตั้งสมมุติฐานไว้อย่างนี้ค่ะ
การหยั่งรู้เหตุการณ์ โดยบุคคลอื่น(เกี่ยวกับตัวเรา) แล้วไม่เกิดจริง(ในเวลาต่อมา)
คงเป็นเพราะ คุณสมบัติหรือกฎเกณท์อื่นๆที่จะช่วยให้เกิด......
เหตุการณ์ดังกล่าว(ปาฎิหาริย์/การสร้างสิ่งมหัศจรรย์) นั้นไม่อยู่ในสภาวะสมดุล


เหมือนๆกับ หากเราตั้งใจปล่อยวาง.......เราจะปล่อยวางไม่ได้ หรือได้ก็ใช้เวลานานมาก
แต่พอเราอยู่กับปัจจุบันได้....มันปล่อยวางได้แบบอัตโนมัติเลย


ก้อมีความเชื่อ(และเห็นด้วยทั้งหมด)ว่า จะต้องมีจุดสมดุล.....จุดนึงที่
ทุกอย่างเป็นไปแบบ........อัตโนมัติได้(ก้อ ณ จุดที่เราหยั่งรู้ด้วยตนได้.....นั่นแหละมั้ง???)


???
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 01/06/2010
เกรงว่า ถ้าจะให้เป็นประโยชน์สูงสุดจริงๆ คงต้องพูดถึงการปฏิบัติตัวไม่ใช่แค่ในแต่ละวัน .. แต่คงต้องว่ากันถึงแต่ละขณะ เลยล่ะครับ .. ฮา

ผมอ่านจากคำถาม ใช้คำว่า “ใช้ธรรมธาตุ ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ควรปฏิบัติตัวอย่างไร” ตามหลักพื้นฐาน จะให้เกิดประโยชน์สูงสุด .. เราก็ต้องสามารถ หยั่งถึง เชื่อมโยง เป็นหนึ่งเดียว หรือ เป็นสิ่งนั้น เป็นธรรมธาตุนั้น ไปเสียเลย และดำรงความเป็น (being) ให้ได้ในทุกขณะ ! (ตอบแบบอุดมคติสูงสุด และแนวกำปั้นทุบดินหน่อยนะครับ)

เมื่อเป้าหมายสูงสุดเป็นเช่นนั้น วิธีการปฏิบัติเป็นเช่นไร จึงจะทำได้ ..
ถ้าวิธีตามหลักสูตร แบบถึงที่สุด ก็ต้อง ตามที่พระพุทธเจ้าท่านบอกเอาไว้ คือ สติปัฏฐานสี่ ดังที่รู้กันอยู่แล้วน่ะครับ คงไม่มีอะไรเป็นการปฏิบัติพื้นฐานที่ดีไปกว่านี้

ส่วนตัวผมทำความเข้าใจง่ายๆ ในแบบฉบับส่วนตัวไว้ว่า
1. เป็นการตามดู ตามรู้ ตามเห็นทัน อาการของกายที่เคลื่อนไหวไปในทุกๆ อณู แบบให้เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไปทั้งองค์รวมของกาย ทั่วทุกเซลล์ มากกว่ารู้ทันแค่อาการใดอาการหนึ่งของการเคลื่อนไหวกาย
2. เป็นการตามดู ตามรู้ ตามเห็นทัน อาการของความรู้สึก ที่เกิดขึ้น และการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
3. เป็นการตามดู ตามรู้ ตามเห็นทัน อาการของจิต ซึ่งผมใช้ ดู ความคิด ที่เกิดขึ้น และอาการปรุงแต่ง ขยายผลไปขยายมาของมัน
4. เป็นการเห็นทันความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ขององค์ประกอบของเหตุการณ์ที่เรากำลังประสบ ทั้งที่เกิดภายนอกตัวเรา เป็นการเห็นแบบพิจารณา และเข้าใจมัน รวมทั้งที่เกิด ภายในใจ แต่กรณีนี้ มักเป็นเรื่องสัมพันธ์หรือต่อเนื่องกับ การเห็นทันในข้อ 2 และ 3 อยู่บ้างแล้ว

ที่เล่าทั้ง 4 ข้อนี้มา ไม่ได้หมายความว่าผมแก่กล้านะครับ อย่างที่ขึ้นประเด็นไว้ว่า “.. ทำความเข้าใจง่ายๆ ในแบบฉบับส่วนตัวไว้.. ” หนักไปในทางทำความเข้าใจไว้ มากกว่าปฏิบัติจริงจัง เป็นพวกผุบๆ โผล่ๆ นึก วิธีไหนออก หรือใจมันนึกวิธีไหนขึ้นมา ก็ทำซะที ตามสถานการณ์ หรือเป็นห้วงๆ ช่วงนี้ฮิตอะไร ก็อินเป็นพักๆ

เช่นช่วงหลังๆ มานี้ ที่ผมกำลังอินเป็นพิเศษ คือ “ฝึกหัดการหยุดคิด” เหมือนที่ผมเขียนเอาไว้ข้างบนว่า “เราจะหยั่งถึงได้เมื่อขบวนการทางความคิดทั้งหลายยุติลง เข้าสู่ความสงัดของใจ”

ความจริงผมเรียกเอาไว้อีกอย่างว่า “ศิลปะการหยุดคิด” เนื่องด้วยผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องอ่อนไหว สวยงาม มากกว่าการเคร่งเครียดจริงจัง และฟังดูชวนหลงใหลดี ถึงขนาดเขียนกำกับเอาไว้ว่า “ คนเรานั้น รู้ประโยชน์อย่างยิ่งของการคิด แต่ยังไม่รู้ประโยชน์อันยิ่งกว่า ของการหยุดคิด ” เขียนเสร็จก็รู้สึกว่าคำมันเท่ๆ ดีเหมือนกัน ทำให้เตือนใจตนเองดี

ประโยชน์ของการหยุดคิดก็ดังที่ทราบดีอยู่แล้วครับ ว่าเพื่อทำให้มิติทั้งหลายอันเกิดจากอดีต และอนาคตหายไป เหลือแต่ภาวะการรู้ตัวเปล่าๆ ที่เคลื่อนไป (หรือเรียกว่าปัจจุบันขณะ)ไม่วัดค่าสภาพของประสบการณ์ใดๆ เพื่อก้าวสู่อิสรภาพที่แท้จริง และก้าวเข้าสู่ความเป็นไปได้อันไร้ขอบเขต ที่ไม่ต้องคาดหวังสิ่งใดอีกต่อไป เนื่องจากเกิดความรู้สึกว่าทุกสิ่งนั้นมีพร้อมอยู่แล้ว (ก่อนที่เราจะร้องขอ) เพราะมันเป็นไปอยู่แล้วอย่างที่มันต้องเป็น เพราะมันต้องดีอยู่แล้วด้วยเหตุของทุกขณะมันดี (ออกแนวอุดมคติอีกแล้วนะครับ)

คำถามที่ว่า “ ..จะรู้ได้อย่างไรว่า การเชื่อมั่นในตนเองอันเกิดด้วยอัตตา หรืออันไหนเป็นการเชื่อมั่น ศรัทธาในพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในตน .. ”

ขอตอบแบบกำปั้นทุบดินอีกที ว่าต้องรู้ให้ได้ด้วยตัวเองครับ .. ฮา
คือ หมายความเช่นนั้นจริงๆ เพราะ ถ้าเราเข้าใจผิดว่า ตัวเองไม่ได้เชื่อมั่นอันเกิดจากอัตตา ก็ไม่มีใครจะไปรู้ดีเท่าตัวเอง ผมเองก็ยังไม่แน่ใจตัวเองเลยครับว่าเป็นแบบไหน

แต่หากจะเทียบเคียงรูปธรรม ก็อาจต้องยึดหลักพระพุทธเจ้าไว้น่ะครับ ว่ามันรู้สึก โปร่งโล่ง เบา สว่าง ว่าง กระจ่าง ใจตื่น และเบิกบานขนานแท้ หรือเปล่า ส่วนของดีพัค โชปรา ก็มีมุมว่า เราจะรู้สึกมั่นคงจากภายใน ไม่รู้สึกต้องการที่จะอยู่เหนือใคร และก็ไม่รู้สึกว่ามีใครอยู่ที่อยู่เหนือเรา หรือไม่ต่อต้านสิ่งใดๆ โอโช บอกว่า เราจะรู้สึกว่าทุกๆ สิ่ง และทุกๆ ขณะล้วนศักดิ์สิทธิ์ .. ประมาณนั้นครับ

ปล. ที่ผมเขียนข้างบน มันก็เป็นเรื่องที่ผมบันทึกการผสมผสานความเข้าใจของแง่มุมบางอย่าง เก็บเอาไว้ มันจึงมีหลายคำศัพท์ ที่เป็นลูกผสมอยู่ เป็นทั้งคำพุทธ และคำนอกจากพุทธ ที่ใช้กันในหนังสือต่างๆ เช่น จากหนังสือ 7 กฎฯ แต่ประเด็นหลักก็หมายถึงสิ่งเดียวกัน

เช่น ธรรมธาตุ ผมเอามาจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า "ตถาคตจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม ธรรมธาตุนั้น ตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว คือ ตั้งอยู่ตลอดกาล".
เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง เป็นอิทัปปัจจยตา หรือ เป็นเช่นนั้นเอง

หรือคำว่า พลังงานแห่งความศักดิ์สิทธิ์อันบริสุทธิ์ อันเป็นคุณสมบัติของพระเป็นเจ้า หรือพลังงานอันบริสุทธิ์ ก็คือศักยภาพอันบริสุทธิ์ ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน เป็นต้นกำเนิด หรือเป็นตัวตนที่แท้ของเรา หรือ จิตวิญญาณ ในหนังสือ 7 กฎฯ ครับ

ไม่รู้ว่าผมตอบตรงคำถามคุณนีโอหรือเปล่า หรือตรงแต่ไม่เข้าเป้า .. ฮา

. . . .
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 02/06/2010
เราจะรู้สึกมั่นคงจากภายใน ไม่รู้สึกต้องการที่จะอยู่เหนือใคร
และก็ไม่รู้สึกว่ามีใครอยู่ที่อยู่เหนือเรา

ประโยคนี้น่าจะถือว่าเป็นเกณท์ใช้วัด ความเข้มแข็ง/อ่อนแอ ทางจิตวิญญาณ ได้เลยค่ะ
พระไพศาล วิศาโล เคยเขียนประมาณนี้อยู่บ่อยๆ


ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 02/06/2010
ขอบพระคุณคุณนันท์ค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 02/06/2010
คำถามครับ
แล้วที่สอนกันว่า ถ้าอยากทำอะไรให้ได้สำเร็จ ต้อง โฟกัส จดจ้อง ตลอดเวลา แบบตั้งใจเพื่อให้เห็นหนทาง ยังงี้จะขัดกันไหม หรือว่า โฟกัสแบบมีความรู้ตัวทั่วพร้อม ผสมกัน ฟังดูเหมือนจะขัดกัน ว่าสภาวะแบบหยุดคิด กับให้คิดย้ำอยู่เสมอให้ฝังจิตใต้สำนึก

ขอบคุณล่วงหน้าครับ น้า ( ฮา )
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 02/06/2010
ช่วงนี้คุณน้องนีโอ มีคำถามและข้อสงสัยเหมือนคุณพี่เลยเนอะ
เวลาใช้ข้อควรปฎิบัติของส่วนกลาง(ก้ไม่รู้จะให้ชื่อว่าไงน่ะ)
มันจะสวนทางกะ ความรู้สึกจากข้างในง่ะ

แต่ก็ยังคลำ สภาวะ"พลังงานบริสุทธิ์" นี่ยังไม่ได้ซักที
แต่ยังไงๆก็ชอบคำว่า“ฝึกหัดการหยุดคิด” นะ
และถ้ามันฝึกได้โดยไม่ต้องไปทรมานกาย ในสถานปฏิบัติธรรม
จะขอบคุณผู้เหนี่ยวนำหลายๆเน้อเจ๊า

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 02/06/2010
มีหนังสืออยู่เล่มนึงค่ะคุณน้อง
น่าจะไปได้กับการ"เข้าถึง" ธรรมธาตุ ที่ว่ามาเนี่ย
ชื่อหนังสือ
วิธีรวยมหาศาลอย่างคนขี้เกียจ ของ มาร์ค อัลเลน


เค้าเน้นย้ำมากคือ
ความสำเร็จ มันจะต้องง่ายดาย ผ่อนคลายและเป็นบวก
และดีต่อสุขภาพ


ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 02/06/2010
แล้วที่สอนกันว่า ถ้าอยากทำอะไรให้ได้สำเร็จ ต้อง “โฟกัส จดจ้อง ตลอดเวลา แบบตั้งใจ เพื่อให้เห็นหนทาง” ยังงี้จะขัดกันไหม หรือว่า “โฟกัสแบบมีความรู้ตัวทั่วพร้อม” ผสมกัน ฟังดูเหมือนจะขัดกัน ว่า “สภาวะแบบหยุดคิด” กับให้ “คิดย้ำอยู่เสมอให้ฝังจิตใต้สำนึก”

. . . . . . .

ผมขอสร้างภาพเปรียบเทียบ เพื่อพิจารณาอย่างนี้ก่อนได้ไหมครับ ..

เหตุการณ์ที่ 1.

สมมุติว่าวันนี้เป็นวันปกติ เราจะไปทำงานที่ office ตอนเช้าก่อนขับรถออกจากบ้าน เราก็คิดว่าเรากำลังจะไปทำงานที่ office ในขณะนั้นเราก็จะนึกภาพ ตึกหรือ office พร้อมข้อมูลเส้นทางประกอบที่มีเก็บอยู่ในความทรงจำขึ้นมาแว้บหนึ่ง เพื่อกำหนดที่หมาย แล้วเราก็ขับรถออกจากบ้านไปตามถนนหนทางด้วยความคุ้นชิน

สมมุติว่าวันนี้สมาธิเราดี จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ความคิดสงบเงียบ เราขับรถด้วยจิตอันสงบนิ่ง เกิดภาวะรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างนุ่มนวล เห็นเช้าวันนี้สว่างสดใส แม้จะรถติดไปบ้าง หรือมีรถคันข้างหลัง บีบแตรใส่ ก็ยังไม่อาจทำให้การเดินทางอันมีความสุขวันนี้กระทบกระเทือนแต่อย่างใด ถึง office อย่างปลอดภัย สบายๆ ไม่หลงไปไหน

ในอีกกรณีหนึ่ง สมมุติว่าวันนี้สมาธิเราไม่ดี จิตใจฟุ้งซ่าน เครียดค้างมาตั้งแต่เมื่อวาน ขับรถออกจากบ้าน พร้อมกับความคิดที่ผุดขึ้นมา ถึงเรื่องปัญหาที่คั่งค้างต้องแก้สารพัน งานของลูกค้าก็เร่งส่ง กำลังนึกถึงหน้าลูกค้า ดันมีรถขับเบียดเข้ามา เลยเผลอด่าขึ้นในใจ หรืออาจเป็นว่า เราขับรถออกจากบ้านด้วยอาการ ใจลอยคิดไปถึงใบหน้าน้องหวานใจ นึกว่าวันนี้จะไปกินข้าวเย็นด้วยกันที่ไหนดี พอดีรถคันหน้าดันเบรกกะทันหัน เลยไปทิ่มตูดเขาเสียนิ ..

เหตุการณ์ที่ 2.

สมมุติว่าวันนี้เราไม่ได้เข้า office ต้องไปพบลูกค้าแต่เช้า ตอนก่อนขับรถออกจากบ้าน ก็นึกขึ้นว่าต้องไปทางพระประแดง เพราะ office ลูกค้าอยู่แถวนั้น นึกภาพ ตึกหรือ office รวมทั้งเส้นทาง ไม่ชัดเจนนัก เพราะเคยไปครั้งเดียว นานมากแล้ว

สมมุติว่าวันนี้สมาธิเราดี จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน เราขับรถด้วยจิตอันสงบนิ่ง ความคิดก็เงียบสงบ เกิดภาวะรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างนุ่มนวล เห็นเช้าวันนี้สว่างสดใส ขณะที่เราขับรถไปตามเส้นทางที่คุ้นเคย เราก็จะรู้สึกสบายๆ แต่พอถึงทางที่เราไม่คุ้นเคย เราถึงจะใช้ความคิดประมวลสถานการณ์เส้นทางขึ้นในใจ ว่าจะไปทางไหนต่อดี พอเข้าสู่เส้นทางที่ใช่หรือคุ้นชิน เราก็จะสบายๆ หยุดความคิด ทำเช่นนี้ไปจนถึง office ลูกค้า อย่างมีความสุข

ในอีกกรณีหนึ่ง สมมุติว่าวันนี้สมาธิเราไม่ดี จิตใจฟุ้งซ่าน ใจลอย ความคิดผุดขึ้นในสมองสารพัน ขณะขับรถออกจากบ้านไปถึงทางแยก แทนที่เราจะเลี้ยวขวาเพื่อไปทางพระประแดง เรากลับขับตรงไป ซึ่งเป็นทางไป office เราเอง เพราะตอนนั้นใจลอยคิดเรื่องอื่นอยู่ เลยลืมเป้าหมายใหม่วันนี้ ความคุ้นชินเลยพาเราไปเป้าหมายเดิม ที่เราไปอยู่ทุกวี่วัน

ผมไม่รู้ว่า จะอธิบายความเห็นอย่างไร เลยพยายามสร้างภาพสถานการณ์ ที่อาจเป็นสถานการณ์เปรียบเทียบที่แตกต่างกันชัดๆ แต่ใกล้ตัว ให้เห็นอาการที่เรา (รวมทั้งตัวผม) เป็นกันอยู่ ซึ่งผมเคยใช้เป็นกรณี เพื่อพิจารณาเรื่องการกำหนดเป้าหมาย และการเดินทางไปสู่เป้าหมาย ว่ามันเกิดอาการอย่างไรได้บ้าง

อีกเหตุผลหนึ่ง ที่เขียนเรื่องข้างบน ก็เนื่องด้วย ผมพยายาม ตีความคำที่เขียน ที่ถามมา ค่อนข้างลำบาก เช่น

1. คำว่า “โฟกัส จดจ้อง ตลอดเวลา แบบตั้งใจเพื่อให้เห็นหนทาง” กับคำว่า “โฟกัสแบบมีความรู้ตัวทั่วพร้อม” ที่ถามว่าจะขัดกันไหม

อาจตอบได้ยาก เพราะผมอาจจะเข้าใจความหมาย ของคำ ไม่ตรงกับความตั้งใจที่เขียนมา

หากจะให้ความเห็น โดยอ่านตรงๆ ตามคำ ผมคิดว่า ระหว่างที่เรากำลังประกอบกิจหรือดำเนินการงานบางสิ่ง “อาการ โฟกัส จดจ้อง ตลอดเวลา” ไม่น่าจะใช่ เพราะมันฟังดูเหมือนตั้งใจเกินไป ออกแนวเกร็งหรือเครียด และอาการการโฟกัส จะไปอยู่ที่ระดับการใช้ความคิดหรือสมองในการโฟกัส มันจะยิ่งทำให้จิตไม่เปิดกว้าง เพื่อเห็นหนทาง หรือตระหนักรู้ถึงองค์รวมของสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ แบบสมดุล เสมอภาคกัน

ส่วนอาการ “โฟกัสแบบมีความรู้ตัวทั่วพร้อม” น่าจะใช่กว่า เพราะฟังดูจิตเปิดกว้างกว่า แต่ก็ขึ้นกับความหมายของคำว่า โฟกัสด้วย ถ้าหมายถึงกำหนดหรือตระหนักรู้ไว้ในใจ เป็นสภาวะทางความรู้สึก มากกว่าเป็นการคิดจากสมองตลอดเวลา ก็น่าจะดีหรือใช่กว่า

ซึ่งอาการ จิตว่าง หรือสภาวะแบบหยุดคิด ที่ผมพูดถึง ใกล้กับอันหลังนี้มากกว่า และต้องขออธิบายเพิ่มเติมว่า มันไม่ได้หมายความว่า ว่างเปล่า ไม่มีความคิดใดๆ เกิดขึ้นเลย .. ในความเห็นของผม มันมีความคิด แต่เป็นความคิดในลักษณะที่ไม่ใช่มาจากหรือปรากฏขึ้นในสมอง มันเหมือนความคิดที่ผุดขึ้นมา แบบความรู้มากกว่า ซึ่งมักปรากฏขึ้นแถวๆ ใจหรือหน้าอก หรือกึ่งกลางลำตัว

ส่วนการ “คิดย้ำอยู่เสมอให้ฝังจิตใต้สำนึก” นั้น ก็ต้องพิจารณาเป็น 2 ประเด็น

1. เป็นเรื่องที่ว่า การคิดย้ำนั้น เป็นการเกิดความคิดย้ำจากระดับใด จากระดับสมอง หรือจากลึกๆ ภายใน (ซึ่งมักกำหนดแถวๆ อกหรือกึ่งกลางลำตัว) ในความเห็นของผม ประสิทธิผลไม่เท่ากัน แบบหลังดูหนักแน่นกว่า แบบแรก

2. เป็นเรื่องช่วงเวลา ที่ทำการคิดย้ำ ส่วนตัวผมคิดว่า ไม่ควรคิดย้ำตลอดเวลา ย้ำเฉพาะเวลา ที่เราต้องการ ให้เป็นการกำหนดรู้ เพื่อตระหนักรู้ไว้ภายใน หลังจากนั้น ก็ปล่อยวาง ดำเนินกิจไป การตระหนักรู้ทางความรู้สึกยังคงอยู่ แต่ไม่ใช่อาการคิดแล้ว และไม่มีกังวล เพราะถ้ายังคิดยังย้ำ ก็ยังกังวล ที่สำคัญ หากยังอยู่ภายใต้อาการคิด (ด้วยสมอง) ตลอดเวลา ก็เท่ากับเราไม่ปล่อยให้ ศักยภาพอันบริสุทธิ์ได้ออกมากระทำการแทนเรา

มีคำอธิบายสรุปเพิ่มเติม
- การคิดยังคงมีอยู่ในวิถีชีวิต แต่การหยุดคิด มีมากกว่า สลับกันไป ตามภารกิจของชีวิต
- ประเด็นสำคัญคือ คิดด้วยอะไร คิดด้วยสมอง หรือคิดด้วยตัวรู้ภายใน
- การคิด อาจคิดด้วยอะไร ก็ได้ ตามเรื่องราวหรือโจทย์ เพราะ ที่สำคัญกว่าคือ เรานั้นคิดด้วยสภาวะอย่างไร เป็นการคิดแบบรู้ตัว เห็นทัน ความคิดในขณะนั้นหรือไม่

มีความเห็น (ส่วนตัว) ดังนี้แหละครับ ไม่รู้จะเกิดประโยชน์หรือเปล่า และยาวมาก .. ฮา
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 04/06/2010
สวัสดีเพื่อนๆๆทุกๆๆๆท่าน ชาวนันท์บุ๊ค( ยิ้มแย้มค่ะ )

ขอบพระคุณคุณนันท์ค่ะ ชอบบบความเห็น(ส่วนตัว)ของคุณนันท์น่ะ เกิดประโยชน์และยาวเลย .. (ฮา –:)

ตัวอย่างการขับรถไปถึงเป้าหมาย บังเอิญมากที่หนึ่งเคยใช้คุยกับเพื่อนๆเหมือนกัน แต่คุยแบบเล่าเรื่องยาวๆ เพราะไม่ชอบเลยเรื่องอธิบาย เป็นครูไม่ได้เด็ด เว้นแต่ว่าจะเล่านิทานให้เด็กหัวเราะทั้งวัน ( ฮา)

หนึ่งกำลังบอกตัวเองดังๆว่า
1 “โฟกัส จดจ้อง ตลอดเวลา แบบตั้งใจเพื่อให้เห็นหนทาง”
และ
2“โฟกัสแบบมีความรู้ตัวทั่วพร้อม”

ปลายทางเป็นเรี่องเดียวกันหรือเปล่าคะ ???
สำหรับหนึ่ง 1 & 2 เป็นเพียงทางเดิน หรือ วิธี
คนที่โฟกัส จดจ้อง ตลอดเวลา หากข้างในจริงๆของเราว่าง ว่าง หมายถึงว่างจริงๆ เหมือนทำงานมาก ดูภายนอกยุ่ง ไม่มีเวลา แต่ทำด้วยความชอบ ความสนุก ความกตัญญูต่อโอกาส ผู้ทำก็รู้ตัว รู้สึกละเอียด มีพลังงาน flow ในขณะโฟกัสดจ้องนั้นๆ


ประเด็นอยู่ที่ว่า เรามีความรู้สึกอย่างไรในขณะที่เราโฟกัส จดจ้อง ตลอดเวลา …. "ความรู้สึกที่ดี" "สบาย" "ไม่อึดอัด" เบิกบาน flow ลื่นไหลหรือเปล่า ???

ดังนั้นหากโฟกัส จ้อง ตั้งใจ เห็นเหมือนสิ่งนั้นอยู่กับเราตลอดเวลา แต่เราจะไม่รู้สึกหนัก ไม่เหนื่อย ไม่รำคาญ กลับเพิ่มพลังงานของเรา กระเตื้อง ตื่นตัว กระตุ้นให้ผลบวก ความรู้สึกดี เบิกบาน ในขณะที่ตั้งใจ ก็แสดงว่าข้างในเรา อยู่ในสภาวะจิตประภัสสร ไม่ว่าจะใช้วิธีใด ก็ให้ความสำเร็จ

หนึ่งว่าหากเราไปจำแนก แยกแยะ คำว่าจดจ้อง ตั้งใจ โฟกัส รู้ตัว ทั่วพร้อม แบบที่ “ให้อิทธิพลต่อความหมายของภาษาพูด ภาษาเขียนมากเกินไป” เราอาจจะ "ติดกับดักดักภาษา" เพราะแท้จริงแล้ว คำเหล่านี้มันเป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสารเท่านั้น ประเด็นสำคัญจริงๆ กระบวนการ วิธีนั้นๆ ให้ความรู้สึกอย่างไรต่อเรา จ้อง โฟกัสแล้วหดหู่ เหนื่อยล้า

หรือรู้ตัวทั่วพร้อมแบบ รู้จังเลย รู้อยู่นั่น ไม่เคยว่างเลย (555)

ทั้งจด ทั้งจ้อง ทั้งตั้งใจ รู้ทั้งตัวให้ทั่วให้พร้อม เหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งวิธี ที่มันก็อยู่กับเรา ตลอดเวลาอยู่แล้วไม่ใช่หรือคะ ?? เราต่างหากเป็นกัปตันหยิบใช้มันด้วยจิตประภัสสร นั่นคือ ไม่ว่าใช้วิธีไหนก็จะนำมาซึ่งความสำเร็จในแบบและระดับที่เป็นคู่เหมือนกับข้างในของเรา เหมือนการเดินทางไปที่เดียวกัน แต่มีหลายเส้นทางให้เลือกใช้ คนชอบนั่งเครื่องบิน บอกคนเดินเท้าว่า เดินทำไมให้เหนื่อย คนเดินทางบอกว่า ได้ออกกำลังกาย ………….

ว่าไปแล้ว ทำให้นึกถึงประเด็น เรื่อง “ความเชื่อมโยง” เคยเล่ากับเพื่อนๆกลุ่มหนึ่งว่า ความเชื่อมโยงกับพลังภายในของเราจะทำให้เราพบศักยภาพที่สูงสุด เช่นนี้ เช่นนั้น ฟังแล้วคำว่า ความเชื่อมโยงเป็นภาษา เป็นความหมาย เป็นคำที่ดี มีพลังบวก
แต่ท้ายสุดคำว่าเชื่อมโยง ก็เป็นเพียงภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร
เพราะหากเราเชื่อมโยงเอาทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกันตลอดเวลา หนึ่งไม่รู้ว่าเหมือนกันว่าอยากจะใช้ “วิธี” เชื่อมโยงตลอดไหม อย่างไร รู้แต่ว่าคนที่ชื่อเจ้าชายสิทธัตถะ “พยายาม ” อย่างเดียวที่จะไม่เชื่อมโยง !!! ( ฮา )
ใช้คำว่า “พยายาม” เอาอีกแล้ว ก็ไหนเจ็ดกฏฯ บอกว่าไม่ต้องพยายามไง ( ฮา )
ทั้งใช้ความรู้สึก ทั้งสองวิธี สามสี่ร้อยวิธี ท้ายสุดคนเขียนก็นั่งขำ คนอ่านก็อ่านให้ขำไว้ค่ะ อย่าซี อย่าซี จำมาก จำไม่ จำไปหมด จำทำไม แล้วเมื่อไรจะว่างละจ๊ะ ??? แล้วพอไม่ว่าง “โฟกัส จดจ้อง ตลอดเวลา แบบตั้งใจเพื่อให้เห็นหนทาง” หรือ “โฟกัสแบบมีความรู้ตัวทั่วพร้อม” ….พลังงานแห่งความสำเร็จ จะหลุดออกมายังไง ?? ?



กราบขออภัยพี่ๆ เพื่อนๆผิดพลาด ประการใด และเรื่อยเปื่อย นอกลู่นอกทาง เพราะตั้งใจอยากชวนออกนอกลู่ นอกทางกันบ้างเถิดนะพ่อคุณ แม่คุณ
ว่าง เป็นสิ่งประเสริญ ดีแล้ว
ด้วยพลังแห่งความรักล้นใจ ( ยิ้ม 555)
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 04/06/2010
โอ๊ยยยย พิพม์หล่นค่ะ
เขียนว่า ชอบที่คุณนันท์แชร์ เกิดประโยชน์ และ " ไม่ ยาว เลย '
ฮา
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 04/06/2010
สุด ยอดดดดดดดดดด.....อาจารย์ทั้งสอง ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 04/06/2010
.......เพราะตั้งใจอยากชวนออกนอกลู่ นอกทางกันบ้างเถิดนะพ่อคุณ แม่คุณ .........


จะบอกว่าประโยคนี้มาในจังหวะ-เวลาที่ถูกต้องมา ก ก


ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 04/06/2010
เห็นด้วยกับคุณหนึ่งเลยครับ จำไม่ได้ว่าผมอ่านจากตรงไหน เขียนบอกว่า "ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารชั้นดี แต่สื่อความชั้นเลว" .. ฮา

ฟังดูท่าทางจะจริง เพราะหากมานึกดูแล้ว กรณีการใช้เพื่อสื่อสารเรื่องที่เป็นรูปธรรม ละก็ โอเคเลย แต่มันสามารถสื่อความหมาย ได้ค่อนข้างผิวเผิน ได้แค่ระดับหนึ่ง ในเรื่องที่ออกนามธรรมหรือความรู้สึก

เช่น ถ้าผมอยากบอกทุกๆ คนว่า "คุณหนึ่งเป็นคนน่ารักมาก" คนที่ไม่เคยเจอตัวจริง จะนึกไม่ออกหรอกว่าคุณหนึ่งน่ารักขนาดไหน เพราะคำๆ นี้กินความไปทั้งรูปร่างหน้าตา นิสัยใจคอ และจิตใจ ทุกคนก็อาจจะจินตนาการความหมายนี้ ไปหลายแนว หลายระดับ และอาจจะน้อยกว่าความเป็นจริงไปมากๆ ด้วยครับ .. ฮา (แต่ พูดเรื่องจริงครับ)


ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 06/06/2010
กัดเจ็บง่ะ! ไม่เห็นนุ่มนวล(ชวนหลงไหล)เหมือนภาษาธรรมะหรือ
พลังงานบริสุทธิ์ที่พูดถึงเลย

คนน่ารักทั้งจากภายในยังภายนอก แบบคุณหนึ่งตอบโต้ไม่เป็นหรอก แบบเนียะ

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 09/06/2010
หือ .. งงแฮะ คิดมากไปนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 09/06/2010
กำลังฝึกปฎิบัตเพื่อเข้าให้ถึง “ศิลปะการหยุดคิด”
สงสัยย้อนศรกะชาวเมืองเค้า
เลยออกมาเพี้ยนแบที่เห็นนี่แหละค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 09/06/2010
55555 เข้ามาฟังคุณนันท์กับพี่แฟนฯคุยกัน 5555


พี่แฟน ฯ " หยุดคิด " ว่าน้องน่ารักได้ แต่ให้คิดว่าน้อง สวยมาก แทนนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 09/06/2010
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หากต้องการจะชมใคร ก็ให้ชมตรงๆไม่ต้องเชื่อมโยงมาก มิฉะนั้นอาจเกิดการ"ตีความผิด"จนทำให้"งง"ได้... (ฮา)
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 09/06/2010
ไม่จริงครับ .. คุณหนึ่งน่ารักครับ ไม่ใช่สวย

(อันนี้ตรงไปหรือเปล่าครับคุณนพรัตน์ .. ฮา)
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 09/06/2010
ตรงดีค่ะคุณนันท์...แต่คำว่า"ไม่" กับ"ไม่ใช่"น่าจะตัดออกได้นะคะ (คุณหนึ่งเห็นด้วยมั๊ยคะ)
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 10/06/2010
สาธุ!!! กับข้อความดีๆ ทั้งหมดทั้งปวงครับ
ชื่อผู้ตอบ : ธุลีของจักรวาล ตอบเมื่อ : 10/06/2010
สวัสดีเพื่อนๆๆๆนันท์บุ๊คค่ะ อิอิ ยิ้มๆ

555555555 555555 :P)
ชื่อผู้ตอบ : 1kha ตอบเมื่อ : 11/06/2010
ชอบที่คุณนันท์ เขียนเรื่องธรรมธาตุ (พึ่งได้อ่าน)
คุณนันท์เป็นผู้มีปัญญา
ชื่อผู้ตอบ : ลัดดา (เพื่อนคุณแจง) ตอบเมื่อ : 03/08/2010
ขอบคุณคุณลัดดาครับ ..ที่ชอบและชม
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 03/08/2010


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code