มองโลกในแง่ดี มีความสุข มองโลกตามความเป็นจริง พ้นทุกข์
จากกระทู้ที่ผมเคยตั้ง หลังจากการเฝ้าหาคำตอบมานานนับปีในที่สุดผมก็พบคำตอบในหนังสือที่ชื่อว่า “ธรรมใจ” เป็นหนังสือไดอารี่บันทึกการตามดูจิตของตัวเองของชายผู้หนึ่ง ซึ่งแต่งหนังสือเล่มนี้มาก่อนจะตัดสินใจบวชอย่างไม่มีกำหนดสึก
เมื่อก่อนผมเผ้าหาคำตอบว่า
“””ทำไมหนังสือบางเล่มบอกให้คิดบวก บอกให้มองโลกในแง่ดี ในขณะที่พระพุทธเจ้า บอกให้เรามองโลกตามความเป็นจริง รวมถึงCEO อย่าง แจ๊ค เวลล์ ก็บอกให้เรามองทุกอย่างตามความเป็นจริง แม้ในครั้งนั้นทุกท่านพยายามอธิบายแต่ผมก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่าเวลาไหน”””” ควรจะมองโลกแบบไหนถึงจะถูกต้องจนกระทั้งไปเจอหนังสือ ธรรมใจ กับประโยคที่บอกว่า
“มองโลกในแง่ดี มีความสุข มองโลกตามความเป็นจริง พ้นทุกข์”
ผมถึงกับบางอ้อ เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย เหมือนจุดไฟในที่มืด ว่าแท้จริงแล้ว จะมองอย่างไร อยู่ที่จุดประสงค์ของเราว่าคืออะไร
ผมขออนุญาตสรุปประเด็นของหนังสือเล่มนี้ให้ฟังบางประโยคที่ผมประทับใจครับ
- การรู้ทุกๆ สภาวะตามความเป็นจริง เป็นการรู้ เห็นซื่อๆ ไม่ปรุงแต่ง มองด้วยความเป็นกลาง
- มีอุเบกขาเกิดขึ้นในจิต และมอง ความคิดทั้งที่ดีไม่ดี สุขหรือทุกข์ โมโหหรือดีใจ โกรธหรือเมตตา ด้วยความเป็นกลางวางเฉย ไม่ปรุงแต่งใดๆ
- ลองทำตัวเองเป็น “ผู้ดู” มากกว่าเป็น“ผู้เล่น”
- การที่เราได้ “รู้” ทันความคิดนั้น ก็คือ การที่เรามีสติ พอเรามีสติไปรู้อารมณ์ต่างๆ แล้ว อารมณ์นั้นๆ จะตั้งอยู่และดับลง หากในทางกลับกันเมื่อเรา“หนี” อารมณ์ “โกรธ” โดยการคิดเอาว่า “ฉันไม่โกรธ” “ฉันเบิกบาน” โดยที่ไม่ได้ ตามรู้ พิจารณาดูอารมณ์นั้นๆ มันก็อาจทำให้อารมณ์นั้นหายไปได้
- การ “รู้” ไม่ใช่การ “เพ่ง” ไม่ใช่การ “คิดไว้ล่วงหน้าว่าจะรู้” แต่เป็นการรู้หลังที่เกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา
- “รู้” โดยไม่ใช้สมองคิด ไม่ปรุงแต่ง
“รู้” โดยไม่กด ไม่เพ่ง ไม่จ้อง ไม่ประคอง ไม่หนี
“รู้” โดยใจที่เป็นกลาง วางเฉย
“รู้” โดยไม่ตั้งหน้าตั้งตาจะรู้
“รู้” ความจริงของสภาวะลงปัจจุบัน
- “รู้ความปรุงแต่งโดยไม่ปรุงแต่ง” นั้นคือ
รู้ถึงสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น เห็นความไม่เที่ยง
- สิ่งที่เราจะทำได้นั้นคือเอาใจมาดู มารู้กาย รู้จิต รู้ลงไปในปัจจุบันขณะ คือรู้ความโกรธ รู้ความเสียใจ รู้ความหลง แต่ไม่ใช่ปรุงแต่งว่าเรื่องที่โกรธคืออะไร เรื่องที่เสียใจคืออะไร อยู่อย่างนั้น ถ้ามัวไปคิดพิจารณาแล้วหาอะไรมาปรุงแต่งใจให้ดีขึ้น เช่น หาหนังสือมาอ่าน หาเพลงมาฟัง เพื่อให้หายโกรธ หายเสียใจสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความโกรธ ความเสียใจหายไปจริงๆ แต่กลับจะทำให้สภาวะเหล่านี้เก็บซ่อนไว้ในจิตใต้สำนึกและรอวันปะทุมาในอนาคต
- สิ่งเดียวที่เราจะทำได้คือ “เห็นทุกๆ อย่างตามความเป็นจริง”และ “รู้ลงปัจจุบัน” เพียงเท่านี้ ก็พอแล้ว ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมไม่ต้องแทรกแซง บังคับจิตใจ เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง หากใครที่อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว อย่าเครียดกับการภาวนานะครับ ให้รู้ซื่อๆ แบบสบายๆ ค่อยๆ ไป หลงบ้างเผลอบ้าง รู้บ้าง ตื่นบ้าง ก็ไม่ว่ากัน ขอแค่รู้ลงปัจจุบันด้วยใจที่เป็นกลางก็พอแล้ว
ชื่อผู้ส่ง : ผู้อ่าน ถามเมื่อ : 23/02/2010
 


ขอบคุณ ดีจริงๆ ครับ คุณผู้อ่าน
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 24/02/2010
เอามาฝากบ้างครับคุณผู้อ่าน ..

มีกระแสพลังงานหนึ่ง หรือสภาวะหนึ่ง ที่หยั่งถึงได้ทางจิต
สภาวะนี้ มีคุณลักษณะทางความรู้สึกดังนี้
เป็นอิสระ สิ้นจากสิ่งร้อยรัด ที่เคยมีทั้งปวง
ว่าง จากความกลัว วิตก กังวล
กลับเบิกบาน รื่นเริง ในจิตใจ
เป็นสุขในแบบไร้เหตุ
ไม่มีการแบ่งแยกใดๆ มาขวางกั้นอีกต่อไป
สะอาด กระจ่างใส มั่นคงลึกอยู่ภายใน
หัวใจกลับเต็มไปด้วยความรักอันไร้ขอบเขต
เรากับทุกสิ่งไม่ได้แยกจากกันเลย

...
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 24/02/2010
ถูกใจค่ะ happy for no reason ...
ขอบคุณทั้งสองท่านสำหรับปัญญาก้อนนี้ค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 25/02/2010
ชอบมากและขอบคุณเช่นกันค่ะ ไม่ทราบข้อความที่คุณนันท์เอามาฝากได้มาจากไหนหรือคะ ?
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 26/02/2010
เอามาจากใจครับ .. ฮา
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 26/02/2010
อึมม์ เป็นข้อความที่เยี่ยมจริงๆคุณนันท์... นับถือค่ะนับถือ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 26/02/2010
สภาวะที่คุณนันท์เขียนมาทั้งหมด
เป็นสภาวะที่คุณน้องท่านหนึ่ง...ใช้ความเพียร"บอกทาง"ให้คนรอบข้าง
ไปให้ถึง

ซึ่งเธอนั้นมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายในภาคสนาม
ในการ"เข้าถึง"
และใช้

........กระแสพลังงานหนึ่ง หรือสภาวะหนึ่ง ที่หยั่งถึงได้ทางจิต........


ที่ว่านี้ ในการแก้ปัญหาหนักๆ ของตัวเองและคนรอบข้าง

หากมีโอกาสดีๆเหมาะๆ คงได้รวบรวมนำมาแชร์ในสถานที่แห่งนี้(ซึ่งเธอยินดี)


ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 27/02/2010
ขอขยายความสิ่งที่เธอนั้นได้ใช้ประโยชน์จากสภาวะนี้คือ
คำอธิฐานใดๆ ที่ใส่เข้าไป หรือ ก่อนเกิดสภาวะดังกล่าวนี้
หลังจากนั้นไม่นาน
มันเหมือน
ทุกสิ่งทุกอย่าง.....เสกได้(โดยที่เราแทบไม่ขยับกิจกรรมใดๆ)
เมื่อถึงตรงนั้นจริง เธอบอกว่า ไม่มีอาการตื่นเต้น(รู้ล่วงหน้าแล้ว)
ไม่มีฟู...ไม่มีแฟบ


แต่คนฟังประสบการณ์ทั้งหมด(รวมตัวเอง) ที่เป็นวีรกรรมผ่านบททดสอบที่เป็นกลลวง เทียบได้กับ ปาฎิหาริย์ เกือบตลอดเวลานั้น

ยังตื่นเต้นที่เธอนั้น เรียกว่าเข้าใกล้ สิ่งที่โชปราบอกไว้ว่า


ถึงจุดหนึ่งเราสามารถบรรลุทุกสิ่ง....โดยไม่ต้องทำอะไร


ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธ์แท้ ตอบเมื่อ : 27/02/2010
ผมขอขยายสิ่งที่โชปราบอก ว่าเราอาจต้องผ่านการทำอะไรต่อมิอะไรมากเหมือนกันนะครับ แต่เป็นการทำที่ใจ จนทำให้ใจเห็น รู้ทัน เพื่อไม่ไปทำอะไรกับกลลวง ส่วนกิจกรรมทางกาย ก็จะเป็นผลของใจนั้น ทำให้ไปอยู่ถูกที่ถูกจังหวะ ซึ่งมองดูเหมือนว่าไม่ทำ หรือทำเท่าที่แรงดลใจหรือข่าวสารจะนำไป แต่ทั้งหมดนี้ ต้องไม่คิดว่าต้องทำนะครับ

ไม่รู้ว่าจะขยายทำไมยิ่งงงไปใหญ่ไหมครับคุณแฟนฯ .. ฮา ว่าแต่เธอเป็นคนเชียงใหม่ ก๊ะ

ขอลอกสิ่งที่โชปราพูดในหนังสือมาให้อ่านกันอีกรอบครับ โดยผมขอใส่เครื่องหมายคำพูดในข้อความที่เป็นหัวใจเอาไว้ด้วย

คำว่า ความสำเร็จในชีวิต นั้น เราสามารถที่จะให้คำจำกัดความได้ว่า มันคือ สภาวะของการมีความสุขที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ "การตระหนักรู้ได้ถึงความเจริญก้าวหน้าของเป้าหมายอันมีค่าของตนเอง อยู่ในทุกๆขณะ"

ความสำเร็จ คือ ความสามารถในการเติมเต็มความปรารถนาของคุณ ได้อย่างง่ายดาย และนอกจากนี้ ความสำเร็จ ยังหมายรวมถึง ความสามารถในการสรรค์สร้างความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ที่มักจะถูกทำให้เชื่อกันว่า จะต้องได้มาด้วยความยากลำบากเสมอ หรือมันต้องเกิดจากการเบียดบังผู้อื่น เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ การเข้าถึงจิตวิญญาณที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและความร่ำรวยที่ถูกต้องมากกว่านี้ ที่ที่ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทุกสิ่งที่ดีๆ จะเกิดการไหลเนื่องเข้ามาหาคุณ

ด้วยการเข้าใจ และปฏิบัติตาม กฎด้านจิตวิญญาณ เราจะนำตนเอง "เข้าสู่สภาวะแห่งความกลมกลืนกับธรรมชาติ และสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ด้วยความเป็นอิสระ ด้วยความเบิกบาน และด้วยความรัก"

องค์ประกอบของความสำเร็จนั้นมีหลายด้าน "ความมั่งคั่งทางวัตถุเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น" และที่สำคัญ "ความสำเร็จ คือ วิถีแห่งการเดินทาง มันไม่ใช่จุดหมายปลายทาง"

ประโยชน์ของการปรากฏมีขึ้นของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุ เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆองค์ประกอบ ที่ช่วยทำให้วิถีแห่งการเดินทางนั้นมีความสนุกสนานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความสำเร็จ ยังหมายรวมถึง การมีสุขภาพที่ดี การเต็มไปด้วยพลังและความกระตือรือร้นในชีวิต การมีสัมพันธภาพที่สมบูรณ์ การมีอิสระในการสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ การมีความมั่นคงทางอารมณ์และทางจิต การมีความรู้สึกที่ดี และ "การมีความสงบสุขภายในจิตใจ"

สภาวะแห่งความสำเร็จที่แท้จริง ก็คือ ประสบการณ์แห่งความมหัศจรรย์ มันคือ การคลี่กางออก หรือการปรากฏออกมาของพลังงานแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในตัวเรา "มันคือ การหยั่งรู้ หรือ การสัมผัสถึงซึ่งพลังงานแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ในทุกๆที่ที่เราไป ในทุกๆสิ่งที่เราสัมผัส ทั้งในดวงตาของเด็กน้อย ในความงามของดอกไม้ หรือในการร่อนบินของนก"

สวัสดีวันมาฆบูชา .. ทุกท่านครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 28/02/2010
สวัสดีวันมาฆบูชาเช่นกันค่ะ ขอความมีจิตแห่งพุทธะ คือ ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จงได้บังเกิดแก่ทุกท่านด้วยนะคะ...

พร้อมกันนี้ก็อยากขอความเห็นจากคุณนันท์และคุณผู้อ่าน รวมทั้งท่านอื่นๆสักเล็กน้อยค่ะ คือสภาวะที่คุณผู้อ่านนำมาฝากที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของ"จิตรู้" ที่"ว่างจากความมีตัวตน"และความยึดติด เพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ กับสภาวะที่คุณนันท์นำมาฝากตามแนวทางของโชปรา ซึ่งเป็นสภาวะของการ"กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่ง"ด้วยความรัก ทำให้จิตใจ"มีแต่ความสุข"ปราศจากความรู้สึกทุกข์ด้วยประการทั้งปวง อยากทราบว่าระหว่าง "จิตว่าง" ที่"ปราศจากความมีตัวตน" กับ "ความเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่ง" ซึ่งไม่ใช่ความรู้สึกว่าง แต่เป็น"การดำรงอยู่"ของเราที่กลมกลืนกับธรรมชาติ จะเป็นสภาวะที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร...ถือเป็นการสนทนาธรรมเพื่อความเป็นมงคลในวันสำคัญทางศาสนาวันหนึ่งก็แล้วกันนะคะ


ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 28/02/2010
ผมขอแสดงความเห็นส่วนตัว ซึ่งอาจต้องขึ้นตัวหนังสือแบบในทีวี ว่า “กรุณาใช้วิจารณญาณในการรับชม” ครับ

ตามความเข้าใจ ผมแยกมันออกเป็นคนละขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 >
เป็นขณะที่เรารับรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด (ความจริงน่าจะพูดว่า รับรู้ทุกสิ่งหรือรับรู้ทุกสรรพสิ่งพร้อมๆ กันในแต่ละขณะ มากกว่า) โดยผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างเงียบเชียบ คือ จิตไม่เกิดขบวนการใดๆ ไม่เกิดแม้แต่ขบวนการจำได้หมายรู้หรือตีความขึ้นในจิต เช่น ร้อน เย็น หมา ต้นไม้ รถยนต์ เมฆ ฯลฯ ผมถือว่าขณะนี้จิตเป็นหนึ่งเดียวโดยสมบูรณ์ ไม่มีการแบ่งแยกใดๆ ระหว่างสิ่งที่ถูกรับรู้ กับผู้รับรู้ เป็นการรู้โดยสมบูรณ์ คือมีแต่ธาตุรู้อันบริสุทธิ์ ว่าง (แต่มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมนะครับ ไม่ใช่อยู่ในอาการเคลิ้ม หรือล่องลอย)

ขั้นที่ 2 >
ขั้นนี้เป็นขั้นตอน หรือขบวนการที่เกิดขึ้นต่อจากขั้นที่ 1 คือ เมื่อเราสัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว เราเรียกข้อมูลความจำได้หมายรู้สามัญ ที่เป็นสมมุติโลกปกติมาใช้ เช่น ไอ้ที่รู้สึกอยู่นี่เรียกว่า ร้อน เรียกว่าเย็น ไอ้ที่เห็นอยู่เรียกว่า หมา เรียกว่าต้นไม้ หรือเพื่อนชื่อนิติพงษ์ ไอ้ที่ได้กลิ่นอยู่นี่เป็นกลิ่นนำหอมของภรรยา หรือเพลงที่ได้ยินอยู่นี้ เป็นเพลงของ บอย โกสิยพงษ์ เป็นต้น การเกิดขบวนการขั้นนี้ จิตเริ่มเกิดการแบ่งแยกเป็นผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้

ขั้นที่ 3 >
ขั้นนี้เป็นขั้นขยายผลจากขั้นที่ 2 คือ พอเกิดการจำได้หมายรู้ตามสมมุติสามัญพื้นฐานนั้นแล้ว ยังไม่หยุด จิตเกิดขบวนการประมวลผลแบบปรุงแต่งข้อมูลต่อ เช่น จากแค่จำได้ว่าไอ้ที่ได้กลิ่นอยู่นี้ เป็นกลิ่นนำหอมของภรรยา แล้วจบ .. มันดันเกิดขบวนการ ไปฉุดเอาไฟล์ข้อมูลเก่าทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องภรรยา และเรื่องน้ำหอม ที่เราสั่งสมไว้ ซึ่งหมายรวมถึงข้อมูลเชิงอารมณ์ที่เกี่ยวกับความรู้สึกชอบไม่ชอบ พอใจไม่พอใจ ที่เคยมี มาประมวลผลด้วย ถ้าเรามีข้อมูลเก่าในทางที่ดี เช่นเป็นกลิ่นที่เราเคยซื้อให้ตอนจีบกันใหม่ๆ ก็ดีไป .. แต่ถ้าข้อมูลเก่าที่มี มันไม่ดี เช่น ไอ้ที่เราซื้อให้ไม่ชอบใช้ แต่ดันมาชอบกลิ่นนี้ที่คนอื่นซื้อให้ เอาละสิ เป็นเรื่อง .. ฮา

ผมมีหลักการไว้เห็นภาพดังนี้แหละครับ ซึ่งทั้ง 3 ขั้นนี้ มันเป็นขบวนการปกติที่ต้องเกิดกับการดำเนินชีวิตของเราทุกคนในทุกขณะ เพียงแต่เรามักจะเห็นไม่ทันมัน มันมักเป็นระบบอัตโนมัติ พอไม่เห็นทันขบวนการทำงานของจิต โดยเฉพาะในขั้นที่ 3 ก็เกิดการประมวลผลแบบไม่สามารถกำหนดได้ หรือหยุดทัน ก่อนที่มันจะนำสู่ทุกข์ หรือสุขก็ตาม

ในการรู้ทัน เห็นทันขบวนการนี้ หากประกอบด้วยจิตที่มีสติว่องไวและมั่นคง มันก็อาจทำให้ไม่เกิดขบวนการปรุงแต่งที่ว่าเลย หรือหากเกิด ก็เลือกหยุดได้ หรือปล่อยให้เกิดแบบไม่เป็นพิษเป็นภัยได้ คือแยกออกว่านั่นเป็นขบวนการคิดหรือปรุงแต่ง ไม่ใช่เรา

หรือในกรณี ที่จิตมีสติแต่ไม่ว่องไวนัก ก็อาจไปรู้ทันตอนขบวนการมันเลยไปจนถึงขั้นท้ายๆ ของการประมวลผล เกิดความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจไปแล้ว ก็ยังดี คือยังเห็นทันช่วงผล ที่เกิดเป็นอารมณ์ ก็พอทุเลามันได้ ลดดีกรีได้ หรือถึงปล่อยวางมันได้ จากการเห็นทันนั้น

หรืออีกกรณี คือ บางทีไปรู้ตัววันรุ่งขึ้น ก็ยังดี ที่จะได้มาย้อนทบทวนขบวนการเกิด ตั้งแต่เหตุ จนถึงผลแห่งความไม่พอใจ เพื่อถึงบางอ้อ ว่าอ๋อ เหตุมันเป็นเช่นดังนี้ ตามขบวนการสร้างหรือปรุงแต่งที่ว่า จนเกิดเป็นความพอใจหรือไม่พอใจ มันเป็นเช่นนี้เอง ก็จะทำให้เรารู้ทันเร็วขึ้นในครั้งต่อๆ ไป

ไอ้ความทรงจำ ในสารพัดมิติ เกี่ยวกับข้อมูลในเรื่องนั้นๆ นั่นแหละ ที่ส่วนตัวผมเรียกว่า ตัวตนหรืออัตตา เป็นสิ่งที่เราไปยึด ไปเอามาห่อหุ้มเราไว้ ทั้งความรู้สามัญและข้อมูลเชิงอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมด ความชอบหรือไม่ชอบต่อสิ่งใด ที่เราสะสมไว้นั่นแหละ คือ เปลือกที่เราสร้างขึ้นเป็นตัวเป็นตนหรืออัตตา ในความเห็นของผม

ซึ่งถ้าเราเข้าใจว่า เราเองนั่นแหละไปสร้าง แล้วยึดมันไว้ใช้ประมวลผล และตัดสิน สิ่งใหม่ๆ ที่กำลังเกิดกับเราอยู่ในทุกๆ ขณะ และแถมเป็นขบวนการประมวลผล แบบไม่ทันรู้ตัว เราก็จะตกอยู่ในกรงขังที่เราสร้างขึ้นเอาไว้เอง ต่อไปไม่จบสิ้น

ส่วนความสามารถในการรู้ทันเห็นทันนั้น เป็นดาบเอาไว้ให้เราตัดโซ่ที่ยึดโยงสิ่งที่ประกอบเป็นอัตตาหรือตัวตนของเรานี้ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ ให้แยกออกจากกัน ส่วนการที่เราจะต้องดำรงจิตช่วงไหน อยู่ในขั้นตอนที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 ก็ขึ้นอยู่กับภาระตรงหน้า หากรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ทัน สติว่องไว ก็ไม่เดือดร้อนทุกกรณีครับ


ทีนี้มาถึงที่คุณนพรัตน์พูดถึง .. "จิตรู้" ที่ "ว่างจากความมีตัวตน" และความยึดติด เพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ .. กับ .. สภาวะของการ"กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่ง "ด้วยความรัก ทำให้จิตใจ" มีแต่ความสุข" ปราศจากความรู้สึกทุกข์ด้วยประการทั้งปวง
อยากทราบว่าระหว่าง "จิตว่าง" ที่"ปราศจากความมีตัวตน" กับ "ความเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่ง" ซึ่งไม่ใช่ความรู้สึกว่าง แต่เป็น "การดำรงอยู่" ของเราที่กลมกลืนกับธรรมชาติ จะเป็นสภาวะที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร..

ความเห็นผม “เป็นปลายทางสุดท้าย เพื่อว่างแบบเดียวกันครับ” แต่มันคนละช่วงขั้นตอน

ผมเข้าใจของผมอย่างนี้ครับ คือ เพื่อให้เห็นภาพชัด ขอเรียกสภาวะจิตใน ขั้นที่ 1 ว่า ว่างแท้ครับ คือ เมื่อจิตไม่เกิดขบวนการตีความ หรือปรุงแต่ง หรือเรียกว่าเกิดความคิดก็ได้ จิตเราก็ว่าง หรือเป็นหนึ่ง ไม่มีการแบ่งแยก เป็นผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้

พอจิตว่างแท้ ความรักที่แท้ก็บังเกิด เพราะมันไม่มีนิยาม ของคำว่าความเกลียด หรือความรัก ในแบบทางโลก ที่เกิดจากการปรุงแต่งทางความคิด ความสุขที่แท้ก็เกิด ที่บอกว่าแท้คือ ไม่ได้เป็นความสุขที่เกิดขึ้นโดยผ่านการประมวลผลทางความคิด ที่อิงกับความทรงจำจากอดีต ส่วนตัวผมเรียกว่า เป็นสุขโดยไร้เหตุ เพราะมันสุข ตามสภาพเดิม มันเบิกบานอยู่โดยตัวมันเองอยู่แล้ว

อีกแง่มุมหนึ่ง พอจิตว่าง จิตไม่เกิดขบวนการตีความ ให้เกิดการแบ่งแยก ก็เป็นหนึ่งไม่มีสอง เป็นทั้งหมด จิตกลายเป็นตัวธรรม (ชาติ) นั้นไปเสียเอง เป็นกลไกของธรรมอันยิ่งใหญ่นั้นไปเสียเอง จึงเกิดความกลมกลืนไปเองอยู่แล้ว

ส่วนสภาวะ "จิตรู้" หรือ “จิตว่าง” ที่ “ปราศจากความมีตัวตน” ที่คุณนพรัตน์เขียนมา น่าจะหมายถึงสภาวะจิตในขั้นที่ 2 ก็คือ การดำเนินชีวิตโดยปกติมันย่อมมีการจำได้หมายรู้ แต่ไม่เอามายึด เป็นตัวเป็นตน หรือเป็นของเรา ที่ไม่ยึด เพราะเห็นความจริงแล้วว่า เราสร้างข้อมูลเดิม เอาไว้ลวงตัวเราเอง

หรือในขั้นที่ 3 คือ ชีวิตเรายังไงก็ต้องเกิดขบวนการปรุงแต่ง ทางความคิด ก็ขอให้เห็นทัน จะได้แค่เลือก หรือตัดสินใจ ต่อเหตุการณ์ที่ประสบ แต่ไม่ไปพิพากษาว่าสิ่งนั้นดี เลว หรือชอบ ไม่ชอบ จนเกิดเป็นอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งนำไปสู่ทุกข์ หรือสุข ให้ยึดติดต่อไป คือสภาวะจิตว่างแบบนี้ ส่วนตัวผมมักแยกว่าเป็นการว่างจาก ความพอใจ ไม่พอใจ ความกลัว ความวิตกกังวล อันนำไปสู่ความรู้สึกว่าสุข หรือทุกข์

ที่คุณผู้อ่าน เน้นยกเรื่องการอยู่กับปัจจุบันขณะ ส่วนตัวผมเห็นว่า นั่นเป็นหัวใจ เป็นกุญแจใช้ไขเรื่องนี้ทั้งหมด เพราะหากจิตหรือใจเราสามารถอยู่กับทุกๆ ปัจจุบันขณะที่เคลื่อนไป ใจก็จะเป็นหนึ่ง ไม่เกิดความคิดยึดโยงไปถึงอดีต และไม่ประมวลผลไปในอนาคต หรือถ้าจะเกิดความคิดใดๆ หากจิตอยู่ในปัจจุบันขณะ ก็จะเห็นทันขบวนการนั้น และไม่ตกเป็นเหยื่อของความคิดของตัวเอง

ผมขอยกคำสอนของหลวงปู่ดูล อตุโล ที่เห็นว่าน่าจะสอดคล้องกับเรื่องนี้มาประกอบครับ

เมื่อจิตว่างจาก "พฤติ" (กิริยาอาการของจิตที่เกิดขึ้น) ต่างๆ แล้ว จิตก็จะถึง ความว่างที่แท้จริง ไม่มีอะไรให้สังเกตได้อีกต่อไป จึงทราบได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว จิตนั้นไม่มีรูปร่าง มันรวมอยู่กับความว่าง ในความว่างนั้น ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ซาบซึมอยู่ในสิ่งทุกๆ สิ่ง และจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน

เมื่อจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน และเป็นความว่าง ก็ย่อมไม่มีอะไรที่จะให้อะไรหรือให้ใครรู้ถึง ไม่มีความเป็นอะไรจะไปรู้สภาวะของอะไร ไม่มีสภาวะของใครจะไปรู้ความมีความเป็นของอะไร

เมื่อเจริญจิตจนเข้าถึงสภาวะเดิมแท้ของมันได้ดังนี้แล้ว "จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง" จิตก็จะอยู่เหนือสภาวะสมมุติบัญญัติทั้งปวง เหนือความมีความเป็นทั้งปวง มันอยู่เหนือคำพูด และพ้นไปจากการกล่าวอ้างใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์และสว่าง รวมกันเข้ากับความว่างอันบริสุทธิ์และสว่างของ จักรวาลเดิม

คุณนพรัตน์ ถามความเห็นสั้นๆ ผมก็โม้ซะยาวเลย ต้องเรียนคุณนพรัตน์ว่า ผมไม่ใช่นักปฏิบัติ อาจต้องฟังความเห็นของผู้รู้ ท่านอื่นๆ ด้วยครับ

. . . . . . . . .
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 28/02/2010
ขอบคุณค่ะคุณนันท์สำหรับคำอธิบายที่ละเอียดชัดแจ้ง ขอรอความเห็นจากผู้รู้ท่านอื่นก่อนจะถามเพิ่มนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 01/03/2010
ชอบครับ น้า ถูกใจหลายเด้อ..........
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 02/03/2010
เราพยายามที่จะว่าง หรือ กลมกลื่นกับธรรมชาติ หรือปล่อยวางความยิดติด ด้วยระดับของความคิด ซึ่งแท้จริงแล้วการทำแบบนั้นเเหมือนเป็นของปลอม
ถ้าเป็นโสดาบัน ก็คงเป็น โสดาบันกิติมาศักดิ์ คล้ายดุษฎีบันทิตกิติมาศักดิ์ อ่ะครับ ถ้าอยากได้ของจริง ต้อง สติปฐาน 4 เท่านั้นครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 03/03/2010
ดีจังครับ ทั้งแนวที่เป็นด้านบวก และด้านที่เป็นความจริง
เลือกรับเอาได้ทั้งสองอย่าง แล้วแต่จะเลือก
จริงๆ แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้ามีมาแต่ดั้งเดิมเป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนาอยู่แล้วนะครับ
"ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้เบิกบาน"
ท่านไม่ได้บอกให้ทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ ขอเพียงให้มองเห็นความจริง
ฉะนั้นผมว่าด้านบวกยังไงก็จำเป็นต้องทำ แต่ไม่ต้องยึดติด แล้วจะเห็นสัจจธรรม
(คิดว่านะครับ)
ชื่อผู้ตอบ : ธุลีของจักรวาล ตอบเมื่อ : 05/03/2010
ผมมีแง่มุมความเห็น คล้ายๆ กับที่คุณผู้อ่านบอก

ความคิดนั้นตัวดีเลยแหละ มักหลอกเรา เรามักคิดว่าความคิดนั้นเป็นตัวเรา ขอให้รู้ทันว่ามันหลอกเรา แล้วระวังความคิดที่ว่าเรารู้ทัน มันอาจจะกำลังหลอกเราว่าเรากำลังรู้ทัน .. ฮา

เคยอ่านที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านบอกว่า
“คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้ แต่ต้องอาศัยการคิด”

เมื่อกี้ไปอาศัยพระอาจารย์ google จะเปิดหาคำบางคำ แล้วไปเจอพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์และประมวลธรรม โดย พระธรรมปิฎก ท่านพูดถึงเรื่องความคิดไว้ดังนี้ว่า

ความคิดนึก - ความคิด-ความนึก-จิตสังขาร-มโนสังขาร เป็นสังขารขันธ์ (ขันธ์๕) เป็นสิ่งที่ต้องมี ต้องเป็นโดยปกติธรรมชาติ ไม่เป็นโทษ และจำเป็นยิ่งในการดำเนินชีวิตหรือขันธ์ ๕

คิดนึกปรุงแต่ง - คิดปรุงแต่ง - จิตปรุงแต่ง - จิตฟุ้งซ่าน - จิตฟุ้งซ่านไปภายนอก - หรือคิดนึกฟุ้งซ่าน - คิดนึกเรื่อยเปื่อย - คิดวนเวียนปรุงแต่ง - จิตส่งออกไปภายนอก = ล้วนมีความหมายเป็นนัยเดียวกัน เป็นการกล่าวถึง จิตที่ไปทำหน้าที่อันไม่ควร จึงเป็นทุกข์ จึงเน้นหมายถึงไปคิดนึก อันเป็นเหตุปัจจัยทําให้เกิดกิเลสตัณหา

เพราะคิดนึกปรุงแต่ง ก็เกิดแต่ขันธ์ ๕ อย่างหนึ่ง และมักมีกิเลสแอบแฝง อันย่อมต้องเกิดเวทนาร่วมด้วยทุกครั้งทุกทีไป อันจักเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา จากความคิดนึกปรุงแต่งที่มีเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย
ความคิดหรือนึกปรุงแต่งถึงอดีตและอนาคต อันมักเจือด้วยกิเลสอันทําให้ขุ่นมัว หรือเจือด้วยตัณหาความอยาก ไม่อยาก อันจักก่อตัณหาต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นใหม่นั้น (เวทนา)ได้ง่ายเช่นกัน

แต่ถ้าเป็นการคิด ในหน้าที่หรือการงาน เช่น การทำงาน คิดพิจารณาธรรม ฯ. ก็ไม่ได้จัดว่าเป็นคิดปรุงแต่ง แต่ก็ต้องควบคุมระวังสติให้ดี เพราะย่อมต้องเกิดเวทนาขึ้นเช่นกัน

หลักการปฏิบัติโดยทั่วไป “ไม่ใช่ให้หยุดคิด” แต่ให้เห็นความคิดชนิดคิดปรุงแต่ง หรืออาการของจิตที่ฟุ้งซ่านฟุ่มเฟือย หรือเห็นเวทนาที่เกิดขึ้น แล้วอุเบกขา คือหยุดการคิดปรุงแต่งนั้นๆ เท่านั้นเอง

ส่วนความคิดนึก (ไม่ปรุงแต่ง) ในขันธ์ ๕ ที่ใช้ในชีวิต เช่น การงาน โดยไม่มีกิเลส ตัณหา เป็นสิ่งจําเป็นที่ควรจะมีอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นเพียงความคิดนึกในสังขารขันธ์ของขันธ์ ๕ อันเป็นปกติ เป็นประโยชน์ และจําเป็นในการดํารงชีวิต แยกแยะพิจารณาให้เข้าใจชัดเจน

การคิดพิจารณาในธรรม ก็ไม่ใช่ความคิดนึกปรุงแต่ง เป็น “ธรรมะวิจยะ” ความคิดนึกที่ควรปฏิบัติและควรทําให้เจริญยิ่งขึ้นไป


ผมสนใจคำว่า “ธรรมะวิจยะ” เลยรบกวนพระอาจารย์ google ท่านต่อ ไปเจอ ปุจฉา – วิสัชนา ของหลวงปู่ชา พูดถึง “ธัมมวิจยะ” ไว้เหมือนกัน เลยเอามาเล่าต่อเนื่องไปดังนี้

ปุจฉา หลวงพ่อครับ เวลาเราภาวนาอยู่นะครับ คล้าย ๆ กับว่าเรากำลังสนทนาพูดคุยกับตัวเราเองอยู่นี่ อย่างนี้จะมีทางแก้ยังไงครับ

วิสัชนา อย่าไปแก้มันเลยตรงนั้น มันดีแล้ว มันเป็นโพชฌงค์น่ะ “ธัมมวิจยะ” มันจะก่อเกิดปัญญาแล้วตรงนั้นน่ะ มันอยู่ในความสงบของมันแล้ว มันเป็น ธัมมวิจยะ...สอดส่องธรรมะไม่ต้องไปแก้มันเถอะ ดูไปตรงนั้นแหละ ถ้ามันมีตรงนั้นแล้วมันไม่ฟุ้งซ่านรำคาญหรอก มันอยู่ในที่สงบของมันแล้วจะต้องเป็นอย่างนี้ อันนี้มันเป็นโพชฌงค์ เป็นองค์ธรรมที่จะตรัสรู้ธรรมะอยู่แล้ว ไปแก้มันทำไมตรงนี้

ปุจฉา อยากให้มันสงบครับ

วิสัชนา นั่นแหละ มันอยู่ในความสงบนั่นเอง ถ้าเราไม่มีอย่างนี้ มันจะมีปัญญาสงบนิ่งขึ้นไปมั๊ย หมายความว่า เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นมา มันทำความสงบให้ยิ่งขึ้นไป เมื่อความสงบยิ่งขึ้นไป มันทำให้ปัญญายิ่งขึ้นมา มันเป็นไวพจน์ซึ่งกันและกันอยู่อย่างนี้ มันยังไม่จบเรื่องของมัน อย่าไปอ้างมันสิ มันเป็นองค์ของโพชฌงค์ เป็น ธัมมวิจยะ...สอดส่องธรรมะ เรื่องนี้มันเรื่องไม่ฟุ้งซ่าน มันเรื่องที่จะให้เกิดปัญญาสุขุมขึ้นไปเรื่อย ๆ

เรื่องฟุ้งซ่านไม่ใช่เรื่องของอย่างนี้ เรื่องฟุ้งซ่านมันก็ไม่ใช่เรื่องของ ธัมมวิจยะ มันไม่ใช่องค์ธรรมที่จะทำให้ตรัสรู้ธรรมซิ ความเป็นจริง คนเราไม่อยากจะให้มันรู้ อยากจะให้มันเฉย ๆ อย่าให้มันเป็นอย่างนั้น คือรู้เฉย เข้าใจไหม? ...เหมือนกับไม่รู้แหละ

ผมเลยได้ความรู้ในพุทธศาสนาเพิ่มอีก ขออนุญาตเอามาเล่าต่อ ว่าจะหารายละเอียดคำว่า "โพชฌงค์" อีก ก็จะยาวไปไม่จบ แค่นี้ก่อนครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 06/03/2010
ขอบคุณครับ คุณนันท์ วิทยดำรง , คุณนีโอ , คุณแฟนพันธ์แท้ , คุณนพรัตน์ , คุณหนึ่ง







หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางยังไม่ขาดสาย ลงมือเสียแต่วันนี้ ก่อนที่กระแสลมแห่งกาลเวลา จะพัดพารอยพระบาทของท่านหายไป เพราะถึงเวลานั้นพวกเราก็จะต้องระหกระเหินไร้ทิศทาง ไปอีกนานแสนนาน
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 07/03/2010
.......หากมีโอกาสดีๆเหมาะๆ คงได้รวบรวมนำมาแชร์ในสถานที่แห่งนี้(ซึ่งเธอยินดี)........

รออีกซักนิดนึงนะคะ คุณพี่นพรัตน์
กำลังตกผลึกองค์ความรู้ในภาคสนามอยู่ค่ะ

เธอเป็นคนทุกๆที่ค่ะคุณนันท์(อิอิ....คือไปอยู่จังหวัดไหนๆเธอก็ยังเป็น
คนอยู่ง่ะ) เธอเกิดที่เชียงราย และดำเนินชีวิตตามปกติในเชียงราย
เดินทางมาเชียงใหม่ทุกเสาร์-อาทิตย์

น่าเสียดายที่เมื่อวานเป็นวันจันทร์
ไม่ยั้งงั้นพี่นพรัตน์ได้ ....ปัญตินัญจเสวนา...แน่ๆเลยค่ะ อิอิ

ช่วงนี้ก็ได้ทำหน้าที่"เชื่อมโยง" บุคคลที่ติดขัดเรื่องพลังงานทั้งหลาย
"ให้ได้มาเจอกัน"
เพราะปัญหาของทุกที่ทุกววงการก็คือ
คนที่รู้จริง เค้าก็ไม่พูด(หากไม่จำเป็น)
คนพยายามจะพูด/เขียน ก็รู้แต่ในตำราไม่รู้จริงสัมผัสจริงในภาคสนาม(รวมตัวเองด้วยเน้อเจ๊า)

ก็เลยขอลุยในภาคสนามกันก่อนเนอะ
และขอเป็นผู้เชื่อมโยง"เป็นพักๆ" แล้วแต่ว่าจักรวาลจะส่งสัญญาณ
ว่าควรทำอะไร..เมื่อไหร่

ดีก่อเจ๊า???

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 09/03/2010
อันนี้ก็เป็นความรู้ที่ลอกมาอีกที...อีกครั้งนะคะ

.......................ถ้าคุณพร้อมที่จะเชื่อมโยงกับจักรววาล คุณก็สามารถครอบครองทุกสิ่งที่ต้องการ
คุณมิได้อยู่ตามลำพัง เพราะถ้าคุณมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายอันสูงสุด
คุณจะพบว่า

ประตูทุกบานเปิดกว้าง!

.........Sanaya Roman.......

ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 09/03/2010
สุขสันต์วันเกิดอีกครั้งสำหรับใครบางคน...ดู(เดา)ว่าปีนี้น่าจะมีโชคดีนะเจ๊า (ถ้าแม่น แม่ญิงอย่าลืมเลี้ยงขันโตกด้วยเน้อ)
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 11/03/2010
Happy Belated Birthday kha :O)
ชื่อผู้ตอบ : 1 kha ตอบเมื่อ : 31/03/2010
โค้ชทางจิตวิญญาณเค้าให้ระมัดระวัง....สัจจะบารมีน่ะพี่
ไว้ผ่านโชคดีจริง.....ค่อยวางแผนกันทีหลัง

ดีมั้ยคะ??
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 11/04/2010


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code