|
มาครับ จะเล่าให้ฟัง !!!!!! |
หลังจากที่ผมได้เคยแชร์ประสบการณ์ จากการอ่านหนังสือต่าง ๆ และได้เล่าถึงการปฏิบัติไว้บ้างแล้ว ก็ได้รับปากกับพี่แฟนพันธ์แท้และอาจารย์วสันต์ว่าจะเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเอง ที่มีจากหนังสือเล่มต่าง ๆ มา ซี่งผมเองได้เรียบเรียงความรู้สึกทั้งหมดอีกครั้ง โดยกว่าจะเรียบเรียงได้ก็ถามตัวเองอยู่หลายครั้งว่าจะเริ่มตั้งแต่ตรงไหนดีเพราะเนื้อความนั้นกว้างซึ่งถ้าให้ดีกว่านี้ ถ้ามีคนถามผมว่าอ่านหนังสือต่าง ๆ แล้วเกิดอะไรตรงไหนบ้างแล้วตอบแบบพูดคุยกัน น่าจะง่ายกว่าให้นั่งนึก เริ่มต้นเองกว่าเยอะ
แต่พอลองได้นั่งเอาจริงเอาจัง ทุกความคิดก็ค่อย ๆ ไหล ออกมาเป็นคำพูด ประกอบกับตัวผมเองนั้นได้นั่งนึกถึงเรื่องราวที่เกิดกับตนเองที่ผ่านมา 4-5 เดือน ด้วยก็เลยนึกขึ้นได้จากคำว่า การยอมรับสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างที่มันเป็น หรือการยอมรับปัจจุบันขณะ ซึ่งตรงกับเนื้อหาในหนังสือ 7 กฎ ฯ ในเรื่อง กฎแห่งการพยายามให้น้อยที่สุด ในส่วนที่ว่าให้เรายอมรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในอย่างที่มันต้องเป็น ไม่ใช่ในแบบที่เราอยากจะให้เป็น ตามมุมมองส่วนตัว ผมถือว่ามันเป็นหัวใจหลักของการดำเนินชีวิต ในแต่ล่ะวันเลยทีเดียว
ที่สำคัญจะว่าไป บอกให้ทำเนี้ยค่อนข้างง่าย แต่พอลองลงมือทำจริง ไม่ง่ายดั่งใจคิด เพราะสิ่งที่เราต้องทำในกิจวัตร ประจำวันซึ่งต้องพบกับผู้คนที่หลากหลาย มีทั้งคนที่เราชอบหรือไม่ชอบ จากพื้นฐานเดิมของเก่าหรือความชอบเก่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้มักทำให้เราเผลอหลุดไป รักไปเกลียด ไปต่อต้านเอาได้ ง่าย เช่น ฝนตกเราก็เซ็งว่ะ ร้อน เบื่อโว้ย ซึ่งไอ้ที่ว่ายากมันก็คือ ความรู้ตัว เนี้ยล่ะครับ ที่ฟังดูก็ไม่เห็นจะมีอะไรยาก แต่มันยากก็ตรงที่ว่า เรานั้นมักรู้ตัวแบบอยู่ในความคิด ไม่ได้รู้ตัวแบบรู้สึกตัวสด ๆ เดี๋ยวนั้น ในส่วนตรงนี้อธิบายค่อนข้างยากครับ ซึ่งผมเองนั้นกว่าจะเข้าใจได้ก็เนื่องจากได้อ่านหนังสือ คำสอนของหลวงพ่อเทียน ครับ
ซึ่งท่านได้รับการยอมรับว่า เป็นอาจารย์เซน ในเมืองไทย ซึ่งคำสอนจนถึงเนื้อหาในการปฏิบัตินั้น ล้วนเน้นไปที่การฝึกรู้ตัวเป็นส่วนใหญ่ และเป็นการรู้ตัวแบบฉับพลันทันที ตีแสกหน้า โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการใด ๆ
ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ผมนั้นสนใจ จนเมื่อถึงจุดหนึ่งจากการได้อ่านวิธีการของหลวงพ่อเทียนซึ่งท่านไม่ได้เน้นที่ตัวความรู้เลย แต่กลับเน้นไปที่ความรู้ตัวเพียงอย่างเดียว ซึ่งพื้นฐานของหลวงพ่อเทียนนั้นท่านไม่สามารถอ่านหนังสือได้ เนื่องจากเป็นชาวบ้านแถบอีสาน แต่มีความต้องการที่จะหาวิธีฝึกเพื่อที่จะระงับความโกรธของตัวเองให้ได้
ตัวผมเองก็เลยได้ทดลองฝึกตามแนวทางของท่านดู ทำให้เข้าใจว่านี้เรากำลังฝึก การมีสติอยู่น่ะ โดยที่ไม่เคยคิดมาก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะเคยอ่านหนังสือมาก่อนแต่ไม่เคยได้ทดลองจริง ๆ จังๆ เรามัวแต่คิด ( เพราะจิตนั้นชอบคิด หรือพอรู้อะไรเข้าก็มักจะติดไม่ปล่อย ) ว่าการปฏิบัตินั้นเหมาะกับการไปทำที่วัดหรือไม่ก็ต้องอยู่ในสถานะนักบวชก่อนจะเอื้ออำนวยกว่า โดยผมมักจะใช้เวลาก่อนนอนหรือไม่ก็ตอนเช้า ปฏิบัติ ทำสมาธิ หรือไม่ก็การภาวนา โดยในแบบของหลวงพ่อเทียนนั้น ท่านได้เน้นที่การเคลื่อนไหวเป็นหลัก มิให้นั่งนิ่งหลับตา เพราะว่าจิตของผู้ที่เริ่มทำใหม่ ๆ มักจะหลุดอยู่เสมอ โดยท่านได้ออกอุบายให้เรานั้น เคลื่อนไหวมือเป็นจังหวะ แล้วให้จับอาการความรู้สึกเดี๋ยวนั้น ว่ากำลังเคลื่อนที่อยู่ โดยไม่ต้องไปกำหนดว่า กำลังเคลื่อนไหว เช่น ไม่ต้องไปกำหนดว่า จะเดินหนอ หรือ ก้าวหน่อ แต่ให้จับที่อาการนั้นสด ๆ แค่ให้รู้เดี๋ยวนั้นว่า เดิน และให้เคลื่อนช้า ๆ
โดยที่หลวงพ่อท่านบอกว่า ถ้าในขณะนั้นบางคนรู้ตัวว่า กำลังมีความคิดฟุ้ง ไปถึงเรื่องอื่นอยู่ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่ว่าไม่ดี ท่านว่าก็ให้เริ่มตั้งต้นจากความคิด คือให้รู้ว่าคิดแล้วน่ะ ตามดู ตามรู้ไปเรื่อย ๆ เมื่อดูเมื่อรู้แล้วให้ทิ้งทันที่ อย่าไปติด อย่าได้หลงเข้าไปในความคิด ให้อยู่เหนือคิด เพราะโดยพื้นฐานของจิตนั้น มักชอบติด เมื่อรู้อะไรเข้าให้แล้ว ซื่งเมื่อได้ทำอย่างต่อเนื่อง อาการรู้นี้จะเกิดขึ้นกับเราเองบ่อย ๆ ในระหว่างวัน ซึ่งผมได้ประโยชน์จากตรงจุดนี้มากไม่ว่าจะทำงานหรือกำลังสนทนากับลูกค้า หรือคนรอบ ๆ ข้าง มันจะเหมือนกับว่า ตัวเรานั้นไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้น คือไม่มีเสียงความคิดดังแทรกเข้ามาในหัวขณะฟังผู้อื่น หรือในตอนที่กำลังคิดอะไรอยู่ก็คล้าย ๆ กับว่าความคิดนั้นวิ่งไปข้างหน้า สามารถวิเคราะห์ สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ โดยไม่รู้สึกว่าเหนื่อยกับการทำงาน จนพอมองย้อนดู กลับไปที่ผลงาน ก็แปลกใจว่าเราทำงานออกมาได้ เกินคาด อย่างไหลลื่น จนลืมกังวล ลืมความยาก-ง่าย
และผมเองนั้นก็เลยได้พบว่าตนเองนั้น ได้มีประสบการณ์ ของคำว่าจิตว่าง แล้ว ซึ่งก็นึกถึงว่าพอทำตัวเองให้มันหายไป ความลื่นไหล มันก็บังเกิดขึ้นเอง ซึ่งตรงจุดนี้ก็ได้นึกถึ่งข้อเขียนที่คุณนันท์ได้กรุณาเอามาแชร์ ไว้ ของ จางจื้อ ในหนังสือ มนุษย์ที่แท้ ซึ่งผมได้หามาอ่าน ก็เลยได้มีประสบการณ์จริงๆ
ที่กล่าวมานี้ มีความเกี่ยวเนื่องกันกับ คำกล่าวที่ว่า ยอมรับกับปัจจุบัน ในแบบที่มันเป็น แต่มิใช่ในแบบที่เราอยากให้เป็น ครับ หรือ ยอมรับกับปัจจุบันขณะ ว่า คำว่าสติ นั้นมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้เรานั้นยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างได้ง่าย ขึ้น เร็วขึ้น
ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเอง ครับ มิได้เกิดจากการท่องจำ หรืออ่านตำรา หมายถึงเกิดจากการรู้ที่เกิดจากตัว ( รู้สึกตัว ) ตรงจุดนี้มีเรื่องเล่าของหลวงพ่อเทียน ที่น่าสนใจครับ
เรื่องนี้เกิดกับ หลวงพ่อเทียน และ ท่าน อ.โกวิท ( เขมานันทะ ) ในสมัยที่ อ.โกวิทได้บวชเรียนนั้นท่านได้ใกล้ชิดกับหลวงพ่อเทียนมาก อ.โกวิท ท่านได้เล่าให้ฟัง ว่า ตัวท่านนั้นเป็นผู้ที่ชอบอ่านค้นคว้าในตำราว่ากันว่า ท่านนั้นได้อ่านพระไตรปิฎก หลายรอบ จนจำได้ท่องได้
มีอยู่วันหนึ่ง อ.โกวิท ได้ทำการสอนให้กับภิกษุบวชใหม่อยู่ และสอนเนื้อหา อ้างถึงพระไตรปิฎก แล้วหลวงพ่อ ท่านได้ผ่านมาพอดี ได้รับฟังและเดิน จากไป จนถึงเวลาฉันเพล หลวงพ่อได้ถาม อ.โกวิทว่า เมื่อตอนเด็ก ๆ ยังเล็ก พ่อ แม่ได้สอนอะไรจำได้บ้างไหม อ.โกวิท ตอบไปว่าจำไม่ค่อยได้เพราะว่าเวลาผ่านมาเนิ่นนานแล้ว จากนั้น หลวงพ่อ ท่านได้ยืนขึ้น แล้วเอาจานข้าวที่วางอยู่ตรงหน้า เขวี้ยงทิ่งลงบนพื้นโครมใหญ่ แล้วกล่าวเสียงดังว่า เวลาผ่านมาแค่ไม่กี่สิบปี ยังจำเรื่องราวไม่ได้ แล้วนับประสาอะไรกับเรื่องราวตั้ง 2500 ปีมาแล้วยังจะเอามาพูดได้อย่างไร กล่าวเสร็จ ก็เดินลุกหนีจากไป สร้างความงุนงง ให้กับ อ.โกวิท เป็นอย่างมาก
ซึ่ง อ.โกวิท นั้นท่านได้เล่าว่า ตัวท่านนั้นสมัยก่อนนั้นมักจะอิงความรู้กับตำรา แบบแผนอย่างมาก ซึ่งหลวงพ่อนั้นได้ทำการสอนแบบฉับพลันในเรื่องนี้ ทำให้คำสอนนั้นตีแสกหน้าเข้าไปอยู่ในใจ ของ อ.โกวิท
ครับ นี้คือตัวอย่างของคำสอนในเรื่องของการติดรู้ครับ ซึ่งผมว่าดีต่อตัวผมมาก ๆ ทำให้ผมนั้นคอยตามดู ตามรู้ความคิดอยู่เสมอ พยายามไม่ให้หลงเข้าไปในวังวนความคิดของการติดรู้แบบท่องจำอย่างเดียว
หนังสือที่ผมอ่านมา นั้น ที่กล่าวมาชื่อว่า ปาฏิหาริย์ของผู้ไม่รู้หนังสือ( หลวงพ่อเทียน และ จากดักแด้สู่ผีเสื้อ ) เขียนโดย เขมานันทะ
จบแล้วครับ ต้องขอโทษ พ่อแม่พื่น้อง ทุกท่านล่วงหน้าครับ ถ้าผมเกิดพิมพ์ ตก ล่นไปบ้าง นี้บางครั้งพิมพ์ไป ก็ต้องลุกขึ้นไปถามคนข้าง ๆ ว่า คำนี้สะกดว่า อะไร ยังงัยก็เน้นที่เนื้อความน่ะครับ
นีโอ วิชยะ คุ้มสุด
|
ชื่อผู้ส่ง : นีโอ วิชยะ คุ้มสุด |
ถามเมื่อ : 08/08/2009 |
|