12 วิธีเพิ่มความมั่นใจให้ตนเอง
12 วิธีเพิ่มความมั่นใจให้ตนเอง


การมีความรักเป็นสิ่งดี ไม่ว่าจะรักพ่อแม่
พี่น้อง เพื่อนรู้ใจ สัตว์เลี้ยง ฯลฯ
เมื่อมีความรักทำให้เราสดชื่น
มีกำลังใจและมีความสุข
อย่างไรก็ตามมีความรักอีกอย่าง
ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ รักตนเอง
แต่ไม่ได้หมายถึงหลงตัวเอง เห็นแก่ตัว
ถือว่าตนดีกว่าคนอื่นหรือเหย่อหยิ่งจนไม่น่าดู
แต่เป็นความรักที่ทำให้เราคิดดีต่อตนเอง
เพิ่มความมั่นใจให้แก่ตนเอง รู้สึกว่าตนเองมีค่ามากขึ้น
หลายๆ คนที่ไม่รักตนเองมักประสบกับปัญหาภาวะซึมเศร้า
มีแนวโน้มที่จะทำร้ายตนเองด้วยการฆ่าตัวตาย
หรือหันไปพึ่งยาเสพติด แล้วอะไรคือสาเหตุสำคัญ
ที่ทำให้คนไม่รักตนเอง?

โดยรวมแล้วขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
เพราะตั้งแต่แรกคนเราไม่ได้เกิดมา
พร้อมกับความรู้สึกมั่นใจตนเอง
สภาพแวดล้อมและคนรอบตัวต่างหากที่เป็นตัวกำหนด
เช่น การเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเล็ก
ซึ่งหากเด็กเติบโตมาพร้อมกับพ่อแม่ที่เอาใจอย่างดี
แสดงความรักอย่างเปิดเผย
เด็กก็จะรู้สึกว่าตนเองมีค่า มีความมั่นใจ
ตรงกันข้ามหากเด็กโตมาพร้อมกับการตำหนิว่ากล่าว
พ่อแม่ไม่ใส่ใจ โดนตีบ่อยๆ หรือแม้กระทั่ง
โดนเพื่อนล้อเลียน ก็จะรู้สึกว่าตนเองไม่สำคัญ
ไม่มีความมั่นใจในตนเองและติดเป็นนิสัยเมื่อเป็นผู้ใหญ่

หากจะให้แยกว่าคนไหนมั่นใจตนเอง
คนไหนไม่มั่นใจตนเอง สังเกตจากภายนอกคงไม่ได้
เพราะ บางคนเวลาทำงานดูเป็นคนมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว
แต่ภายในก็อาจจะคิดกังวลเป็นทุกข์อยู่คนเดียว
ซึ่งไม่มีใครรู้ความจริง
โดยทั่วไปคนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง
ไม่รักตนเองจะมีลักษณะนิสัยดังต่อไปนี้

• ปิดบังตัวตนไว้ภายใน
เป็นประเภทแสดงออกว่าตนเองมีความมั่นใจในตนเอง
ประสบความสำเร็จ แต่จริงๆ กลัวมาก
ว่าสักวันตัวตนที่แท้จริงของตนจะมีคนรู้
คนประเภทนี้มักติดอยู่กับความคิดสมบูรณ์แบบ
การแข่งขันแก่งแย่ง และกลัวการสูญเสีย

• ต่อต้านผู้อื่น
เป็นประเภทไม่สนใจความคิดเห็นของคนอื่น
มักขัดแย้ง กับผู้บริหารหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ
แต่จริงๆ แล้วทำเพราะรู้สึกโกรธตนเอง
ที่ทำอย่างไรก็รู้สึกไม่พอ ไม่มีความสุข

• คิดว่าเป็นผู้แพ้เสมอ
เอาความทุกข์ หรือความลำบากของตน
มาเป็นเกราะ หรือข้ออ้างสำหรับตนเอง
คนประเภทนี้มักพึ่งพาแต่ผู้อื่น
และมักจะทำสิ่งต่างๆ ได้ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้เรื่อยไป

• คิดแบบเหมารวม
หากเคยผิดพลาด หรือล้มเหลวครั้งหนึ่งแล้ว
ก็คิดว่าครั้งต่อๆ ไปก็จะพลาดไปตลอด

• ประเมินมาตรฐานตนเองต่ำเกินไป
แทนที่จะพูดถึงคุณสมบัติด้านดีที่แท้จริงของตน
ก็ยกข้อเสียมาอ้าง บั่นทอนภาพลักษณ์ตนเองเสียหมด

• คิดแบบสุดโต่ง
คนประเภทนี้คิดอยู่เพียงสองด้าน
นั่นคือ ถ้าไม่ดีสมบูรณ์พร้อม ก็ไร้ค่า
ไม่เคยมีความคิดแบบทางสายกลาง

• โทษแต่ตัวเอง
มักกล่าวโทษตัวเองสม่ำเสมอ
ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของตนเอง

• ช่างเปรียบเทียบ
มักเอาข้อด้อยตนเองไปเปรียบเทียบ
กับข้อดีของคนอื่นๆ เป็นประจำ ทำให้ตนรู้สึกแย่มากขึ้น

• คิดไปเองคนเดียว
ชอบสรุปว่าคนนั้น คนนี้ไม่สนใจ โกรธ เกลียดตนเอง ฯลฯ
ซึ่งไม่มีมูลจริงเท็จว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะคิดแบบนี้
หรือคาดหวังว่าทุกสิ่งที่ทำจะเป็นไปอย่างที่คิดทุกประการ

• แบกทุกอย่างไว้บนบ่า
รู้สึกว่าตนเองต้องรับผิดชอบ จัดการทุกอย่าง
แม้ว่าจะเป็นเรื่องสุดวิสัย ไม่สามารถควบคุมได้
ก็จะรู้สึกว่าตนเองโดนลงโทษ โดนแกล้ง

หากคุณมีแนวคิดเช่นนี้ ยิ่งทำให้รู้สึกผิดหวัง ท้อแท้
ไม่มีความมั่นใจและรักตนเองน้อยลงทุกที
แต่จะให้เปลี่ยนความคิดแบบปัจจุบันทันด่วน
ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงความคิด
ต้องใช้เวลาพอสมควร และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจนดีขึ้นเรื่อยๆ
โดยหลักความคิดง่ายๆ ที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจ
และรักตนเองมากขึ้น มี 12 วิธีหลักๆ ดังนี้

1. อย่าเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
เป็นหลักการง่ายๆ แต่หลายคนก็ยังทำใจแข็งไม่ได้เสียที
วิธีแก้คือ ต้องทำใจยอมรับตัวตนของเรา
ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เช่น สีผิว รูปร่าง ฯลฯ
ทุกคนเกิดมาย่อมแตกต่างกัน
ดังนั้นจงรักตนเอง ภูมิใจในสิ่งที่เราเป็นดีที่สุด

2. จงเปรียบกับคนที่ด้อยกว่า
สำหรับคนที่กำลังท้อแท้ คิดว่าตนเองแย่ที่สุดแล้ว
ให้หันมามองผู้ที่ลำบากกว่า หรือจะลองเป็นอาสาสมัคร
ไปเยี่ยมผู้ยากไร้ขาดโอกาสดูบ้างก็ได้
เพราะการทำเช่นนี้นอกจากจะสร้างกำลังใจ
ให้ตนเองต่อสู้กับความยากลำบากแล้ว ยังได้บุญกุศลอีกด้วย

3. ไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก
ไม่ควรคิดว่าไม่มีใครเข้าใจปัญหาของเรา หรือไม่มีใครสนใจ
อันที่จริงหากเรามองไปรอบด้าน
ก็จะเห็นว่าหลายคนยินดีที่จะช่วยเหลือเรา
เพียงแต่ว่าเราไม่ได้เอ่ยปากขอร้องเท่านั้นเอง
แน่นอนว่าหากเราตกที่นั่งลำบาก
และสิ่งที่ขอให้ช่วยก็ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงนัก
เชื่อว่ามีคนเต็มใจช่วยแน่นอนค่ะ

4. พูดคุยกับเพื่อน
เมื่อไรที่มีปัญหาหนักใจ อย่าลังเลที่จะปรึกษาเพื่อนสนิท
หรือว่าหากเกิดขัดใจกันขึ้นมา อย่าลังเลที่จะเปิดอกพูดคุยกัน
อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นปัญหาคาใจ

5. ปรึกษานักบำบัด
หากพบว่าตนพยายามแก้ไขวิธีคิดแล้ว แต่ไม่สำเร็จสักที
ให้นัดเวลาพูดคุยกับนักบำบัด หรือจิตแพทย์ก็ได้
ไม่ต้องกลัวหรืออายว่าคนอื่นจะหาว่าบ้า
เพราะหากปล่อยให้กังวลใจอยู่เช่นนี้สุขภาพจิตเสียแน่นอน

6. ให้รางวัลตนเอง
หลังจากที่ผ่านงานยากๆ หรืออุปสรรคหนักๆ
เช่น ไปท่องเที่ยวพักผ่อน นัดสังสรรค์กับเพื่อนรู้ใจ

7. เก็บความภูมิใจลงในบันทึก
ให้จดบันทึกข้อดี ลักษณะเด่น ความสามารถพิเศษ
หรือความสำเร็จที่ตนเอง ภาคภูมิใจลงบนไดอารี่
หรือสมุดจด อาจทำเครื่องหมายเน้นผลงานที่ทำสำเร็จ
เพราะเมื่อไรที่หยิบมาอ่านจะได้ชื่นใจ
เกิดความภูมิใจในความสามารถของตนเอง
หรืออาจใช้วิธีประเมินตนเองอย่างยุติธรรม
โดยจดสิ่งที่ตนทำสำเร็จในแต่ละวัน
แล้วประเมินอาทิตย์ละครั้ง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตนเอง

8. เสริมจุดเด่นลดจุดด้อย
อย่าลังเลที่จะเรียน หรือทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ
ไม่แน่คุณอาจจะมีพรสวรรค์บางอย่าง
ซ่อนอยู่แบบไม่รู้ตัวมาก่อนก็ได้

9. พยายามทำกิจกรรมที่ตนชื่นชอบ
ไม่ต้องกังวลว่าต้องไปตามลำพังตราบใด
ที่ยังชอบและมีความสุขกับกิจกรรมนั้นๆ
เช่น ไปเรียนวาดรูป เรียนภาษาต่างประเทศ ฯลฯ
นอกจากจะทำให้จิตใจแจ่มใส ยังอาจจะได้รู้จักเพื่อนใหม่
เจอคนหลากหลายมากขึ้น

10. อย่าโทษตัวเองไปเสียทุกเรื่อง
ปรับวิธีคิดให้มีเหตุและผลมากขึ้นกว่าเดิม

11. เผชิญหน้ากับการว่ากล่าว
การว่ากล่าวนับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องพบเจอ
แต่สำหรับคนที่ขาดความมั่นใจ
จะเกิดอาการสะเทือนใจมากกว่าคนอื่น
เพื่อจะลบความรู้สึกนี้
ก่อนอื่นต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของการว่ากล่าว
เช่น ติเพื่อก่อ หรืออคติ
หากเข้าข่ายประเด็นหลัง อย่าเก็บมาใส่ใจ
เพราะจะยิ่งบั่นทอนความมั่นใจให้ลดน้อยลงไปอีก
แต่หากเป็นเหตุผลแรก ให้ยิ้มสู้ รับฟัง
และกล่าวขอบคุณ นำคำตินั้นมาปรับปรุงพัฒนาตนเอง

12. ดูแลสุขภาพตนเอง
พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ
กินอาหารที่มีประโยชน์ รักษาความสะอาด
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
วิธีดูแลตนเองเช่นนี้นอกจากจะให้บุคลิกภาพดูดีขึ้นแล้ว
ยังทำให้จิตใจแจ่มใสอีกด้วย ไม่ให้จิตใจจดจ่อ
หมกมุ่นอยู่กับข้อด้อยของตนเองมากไป

การเปลี่ยนแปลงความคิดตนเองเพื่อเพิ่มความมั่นใจ
อาจดูยาก และใช้ความอดทนพอสมควร
แต่ความมั่นใจนี้เองจะทำให้คุณมีความสุขกับชีวิต
กลายเป็นคนใหม่ที่รักและพอใจกับสิ่งที่คุณเป็น
ชื่อผู้ส่ง : ผู้อ่าน ถามเมื่อ : 27/05/2009
 



กลยุทธ์การสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในตนเอง...
Sep 20, '07 11:31 PM
for everyone
มีคำกล่าวว่า We are what we think as we think so we become คุณเป็นอย่างที่คุณคิด หากคุณคิดว่าคุณทำได้ คุณก็จะทำได้สำเร็จ จากการศึกษาผู้ที่ประสบความสำเร็จในโลกนี้พบว่าทุกคน มีคุณสมบัติของความเชื่อมั่นศรัทธาในตนเองจัดเป็นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่ง
กลยุทธ์การสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในตนเอง
1. พึ่งตนเองได้ " อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ " หมั่นฝึกตนช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด
ก่อนจะร้องขอให้ผู้อื่นช่วย เพราะหากเราไม่ช่วยตนเองแล้วยากที่ใครจะมาช่วยเรา และจะเป็น
การตัดโอกาสและความก้าวหน้าของตนเองอย่างน่าเสียดาย เพราะไม่ได้พัฒนาความสามารถอย่างเต็มที่ ดังนั้นจงช่วยตนเองอย่างเต็มความสามารถ แล้วคุณจะพบว่าคุณสามารถทำได้ด้วยตนเอง
2. รู้จักตนเอง พยายามรู้จักตนเองให้ดีที่สุดด้วยการสำรวจตัวเองว่า มีจุดดี จุดด้อย จุดเด่นอะไรบ้าง จะปรับจุดด้อยให้ดีขึ้นได้อย่างไร ใช้จุดเด่นของตนให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นได้อย่างไร และยอมรับตนเองในฐานะมนุษย์ ซึ่งมีความสามารถ พลัง ค้นให้พบ
หาให้เจอ พลังที่ซุกซ่อนอยู่ภายในตัวและนำมาใช้ให้เต็มที่ พร้อมกันนั้นก็ยอมรับจุดอ่อนที่มีหลังจากได้พยายามปรับแล้ว เพราะทุกคนก็ย่อมมีจุดแข็งจุดอ่อน " นี่คือมนุษย์ "
3. ศรัทธาในตนเอง นับถือตนเองเชื่อในความสามารถของตนเอง ไม่ดูถูกเหยียดหยามตนเอง เพราะคุณจะเรียกศรัทธาจากผู้อื่นได้ก็ต่อเมื่อคุณศรัทธาเชื่อถือตนเอง ดังคำพูดที่ว่า " คุณทำได้หากคุณเชื่อว่าคุณสามารถทำได้ " ทุกข์ สุข อยู่ที่ความคิดของคุณเอง " ไม่มีใครจะนำความสุขความสำเร็จมาให้คุณนอกจากตัวคุณเอง"
4. กำจัดความกลัว ความกลัวเป็นอุปสรรค์ต่อความสำเร็จและทำให้ไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวว่าจะทำได้ไม่ดีจะผิดพลาดแต่คนที่ไม่เคยทำอะไรเลย ก็จะไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น ส่วนคนที่ทำงาน โอกาสสำเร็จและผิดพลาดก็ย่อมจะมีบ้างเป็นธรรมดาแต่หากทำดีที่สุดแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องยอมรับและไม่กลัวที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น พึงคิดเสมอว่า " ทำไม่ดี ไม่มี มีแต่ยังไม่ได้ทำหรือยังทำดีไม่มากพอ " การลงมือทำเป็นเรื่องสำคัญ อย่าได้กลัวที่จะลงมือทำ ดังที่ว่า
อย่าเพียงแต่ดู จงลงมือทำ
อย่าเพียงแต่พูด จงลงมือทำ
อย่าเพียงแต่กลัว จงลงมือทำ
ลงมือทำทันที เดี๋ยวนี้เท่านั้น
และหากยังคงมีจิตใจกลัวและหวาดหวั่นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ ก็ให้บอกกับตนเองว่า
คนที่ดีที่สุด ยังไม่เกิดขึ้น
คนเก่งที่สุด ยังไม่เกิดขึ้น
แต่ฉันนี่แหละคือคนเก่ง คนที่ดีที่สุดที่จะต้องสร้างสรรค์ และจัดการทำให้ได้ ดังนั้น จงขจัดความกลัว และเพิ่มความกล้า ให้คุณมีก้าวแรกเกิดขึ้นให้ได้ และก้าวต่อไปไม่ยาก ดังที่ว่า " ร้อยลี้พันลี้ ไม่สำคัญเท่าลี้แรก "
5. การมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เมื่อจะทำสิ่งใดให้ใส่ใจเอาใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำ รวมพลังความคิดลงสู่การกระทำในขณะนั้นไม่ห่วงหน้า พะวงหลัง หรือยึดติดกับอดีต กังวลกับอนาคต แต่มุ่งใจให้เป็นหนึ่งเดียวกับเวลาปัจจุบัน ทำเรื่องใดก็สนใจทุ่มเท มีสมาธิและจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นดังที่ว่า " ถอดหัวใจให้สิ่งที่ทำ " ณ เวลานั้น
6. คิดในทางบวก พยายามคิดในเรื่องที่ดีที่ทำให้เป็นสุขเกิดพลังใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นให้คิดว่าเป็นประสบการณ์เป็นสิ่งที่ดี ที่ทำให้เราเติบโตขึ้น แกร่งขึ้น และเพิ่มพูนประสบการณ์ ตัวอย่าง เพลงของเบิร์ด " ผิดเป็นครู " อกหักทำให้รู้จักชีวิตมากขึ้น ให้หัดคิดเปลี่ยนปัญหาอุปสรรคให้กลายเป็นความสำเร็จมองวิกฤตให้เป็นโอกาสและเปลี่ยนปัญหาให้เป็นการพัฒนา
7. ปลูกฝังอุปนิสัยที่ดี การที่เราจะมีการเชื่อมั่นศรัทธาในตนเองได้ ก็ต้องฝึกฝน เสริมสร้างและสั่งสมนิสัยที่ดี เช่น เป็นผู้มีความหวังเสมอ พรุ่งนี้ยังมีวันใหม่ให้ก้าวเดิน ความไม่กลัวต่อความลำบาก จิตใจเข้มแข็ง ต่อสู้ กล้าหาญ อดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เพียรพยายามอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประมาท เกิดเป็นคนไม่ควรขลาดกลัว จงเก่งกาจ กล้าหาญชาญชัย
ขอฝากความคิดสะกิดใจเพื่อเพิ่มพลังสู่ความสำเร็จ
" ถ้าคุณคิดว่าคุณพ่ายแพ้ คุณจะพ่ายแพ้ ถ้าคุณคิดว่า คุณไม่กล้า คุณจะไม่กล้า ถ้าคุณต้องการที่จะชนะ แต่คุณคิดว่าคุณไม่อาจชนะ เกือบจะ แน่นอนว่าคุณจะไม่ชนะ ถ้าคุณคิดว่าคุณย่อยยับคุณจะย่อยยับ " เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ความสำเร็จเริ่มต้นด้วยความต้องการของคนผู้นั้นทั้งหมด มันขึ้นอยู่กับท่าทีของจิตใจ ถ้าคุณคิดว่าคุณแพ้ยับเยิน คุณจะเป็นเช่นนั้น คุณจะต้องคิดให้สูงเพื่อที่จะยกตัวของคุณให้สูงขึ้น
คุณจะต้องเชื่อถือในตัวของคุณเองก่อน ก่อนที่คุณจะชนะ รางวัลสงครามชีวิตมิได้อยู่ที่ผู้ที่แข็งแรง หรือเร็วกว่าเสมอไปแต่ในที่สุดไม่เร็วก็ช้า คนที่ชนะคือคนที่คิดว่าเขาทำได้

ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 27/05/2009
เทคนิคการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์สำหรับตนเอง

ฉลาดทางอารมณ์ = ฉลาดคิด+ ฉลาดพูด + ฉลาดทำ
ฉลาดคิด ---> ควบคุมความคิดได้ คิดในทางที่ดี คิดในทางสร้างสรรค์
ฉลาดพูด ---> เลือกพูดแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงคำพูดที่จะทำให้คนเองและบุคคลอื่นเดือดร้อน
ฉลาดทำ ---> "ทำเป็น" ไม่ใช่แค่ "ทำได้" มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานนั้น ๆ
๑. รู้ทัน ฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง บอกกับตัวเองได้ว่าขณะนี้กำลังรู้สึกอย่างไร และรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง ยอมรับข้อบกพร่องของตนเองได้ แม้เมื่อผู้อื่นพูดถึง ก็สามารถเปิดใจรับมาพิจารณา เพื่อที่จะหาโอกาสปรับปรุงหรือใช้เป็นข้อเตือนใจที่จะระมัดระวังการแสดงอารมณ์มากขึ้น

๒. รับผิดชอบ เมื่อเกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจ ท้อแท้ ให้ฝึกคิดอยู่เสมอว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเองจากการกระตุ้นของปัจจัยภายนอก เพราะฉะนั้นจึงควรรับผิดชอบต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น และควรหัดแยกแยะ วิเคราะห์สถานการณ์ด้วยเหตุผล ไม่คิดเอาเองด้วยอคติหรือประสบการณ์เดิม ๆ ที่มีอยู่ เพราะอาจทำให้การตีความในปัจจุบันผิดพลาดได้

๓. จัดการได้ อารมณ์ไม่ดีที่เกิดขึ้นสามารถคลี่คลายสลายให้หมดไปด้วยการรู้เท่าทันและหาวิธีจัดการที่เหมาะสม เช่น ไม่จ่อมจมอยู่กับอารมณ์นั้น พยายามเบี่ยงเบนความสนใจ โดยหางานหรือกิจกรรมทำ เพื่อให้ใจจดจ่ออยู่กับงานนั้น เป็นการสร้างความเพลิดเพลินใจขึ้นมาแทนที่อารมณ์ไม่ดีที่มีอยู่

๔. ใช้ให้เป็นประโยชน์ ฝึกใช้อารมณ์ส่งเสริมความคิด ให้อารมณ์ช่วยปรับแต่งและปรุงความคิดให้เป็นไปในทางที่มีประโยชน์ ฝึกคิดในด้านบวกเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ในการทำงาน

๕. เติมใจให้ตนเอง โดยการหัดมองโลกในแง่มุมที่สวยงาม รื่นรมย์ มองหาข้อดีในงานที่ทำ ชื่นชมด้านดีของเพื่อนร่วมงาน เพื่อลดอคติและความเครียดในจิตใจ ทำให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขมากขึ้น

๖. ฝึกสมาธิ ด้วยการกำหนดรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ รู้ว่าปัจจุบันกำลังสุขหรือทุกข์อย่างไร อาจเป็นสมาธิอย่างง่าย ๆ ที่กำหนดจิตใจไว้ที่ลมหายใจเข้าออก การทำสมาธิช่วยให้จิตใจสงบ และมีกำลังใจในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

๗. ตั้งใจให้ชัดเจน โปรแกรมจิตใจตนเอง ด้วยการกำหนดว่าต่อไปนี้จะพยายามควบคุมอารมณ์ให้ได้ และตั้งเป้าหมายในชีวิตหรือการทำงานให้ชัดเจน

๘. เชื่อมั่นในตนเอง จากงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง จะมีความสำเร็จในการทำงานและการเรียนมากกว่าคนที่ไม่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง

๙. กล้าลองเพื่อรู้ การกล้าที่จะลองทำในสิ่งที่ยากกว่าในระดับที่คิดว่าน่าจะทำได้ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ตนเอง และเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความสามารถให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ฉลาดทางอารมณ์ = ฉลาดคิด+ ฉลาดพูด + ฉลาดทำ
ฉลาดคิด ---> ควบคุมความคิดได้ คิดในทางที่ดี คิดในทางสร้างสรรค์
ฉลาดพูด ---> เลือกพูดแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงคำพูดที่จะทำให้คนเองและบุคคลอื่นเดือดร้อน
ฉลาดทำ ---> "ทำเป็น" ไม่ใช่แค่ "ทำได้" มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานนั้น ๆ

ความฉลาดทางอารมณ์กับความรักและครอบครัว

ครอบครัวที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ต้องอาศัยความรัก ความเข้าใจและยอมรับได้ในข้อบกพร่องของผู้อื่น อีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์ จึงมีผลอย่างมากต่อความสงบสุขในบ้าน หรือในชีวิตคู่ ปัญหาความแตกแยก หย่าร้างที่เกิดขึ้นล้วนมีต้นตอมาจากการไม่พยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือยอมรับข้อบกพร่องของอีกฝ่ายไม่ได้ เมื่อมีปัญหาก็ไม่หันหน้าคุยกันดี ๆ หรือบางทีก็ใช้ความรุนแรง

ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา จึงไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้คนสองคนไปกันรอด ตรงกันข้าม ถ้าคนเก่งสองคนอยู่ด้วยกัน แล้วไม่ยอมกันพยายามที่จะเอาชนะคะคานกัน อนาคตก็คงไม่พ้นการหย่าร้าง ด้วยเหตุนี้ คนเก่ง ๆ จำนวนไม่น้อย ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน จึงล้มเหลวในชีวิตคู่

การเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตคู่ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว อุปสรรคและปัญหาแตกต่างกันไปในแต่ละคู่ การเรียนรู้ธรรมชาติและความต้องการของแต่ละฝ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

การเรียนรู้จะทำให้เราเข้าใจตัวเองและคนที่เรารักได้ดียิ่งขึ้น

เพราะเมื่อคนเรามีความข้าใจ ความยอมรับได้ก็จะตามมา

การรู้ธรรมชาติของชายหญิง จะช่วยให้เราอ่านใจ อ่านอารมณ์ของอีกฝ่ายออก ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร ทำให้เราสามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง และถูกใจคนที่เรารัก

แน่นอนว่า ในการเรียนรู้เรื่องความรักและการอยู่ร่วมกัน "หัวใจ" เท่านั้นที่มีความสำคัญในเรื่องนี้

ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญาจึงไม่ช่วยอะไรมากนักกับการประคองนาวารักของคนสองคน

ในทางจิตวิทยา กล่าวถึงอีคิวกับการสร้างความอบอุ่นในครอบครัวเอาไว้ว่า


๑. สนใจ และเข้าใจในความกังวลของคนในครอบครัว
๒. รับรู้และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนในครอบครับได้ดี
๓. รู้และเข้าใจศักยภาพ ส่งเสริมความรู้ความสามารถของสมาชิกในครอบครัวให้ถูกทาง
๔. ความจริงใจต่อกัน เป็นรากฐานของความผูกพันทางอารมณ์ที่ลึกซึ้ง

จากคู่มือความฉลาดทางอารมณ์ ฉบับปรับปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข หน้า 20-23
http://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1035


ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 27/05/2009
ขอบคุณครับคุณผู้อ่าน ผมอ่านอยู่ 2 วันถึงจะจบ
ถ้าจะจำไปใช้ให้หมด คงต้องขอเวลา 2 เดือนนะครับ (ฮา)
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 30/05/2009
ขอบคุณค่ะ อ่านอันแรกจบแล้วดีมากวันต่อไปจะมาอ่านที่เหลือนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : เอ๋ ตอบเมื่อ : 08/06/2009
อ่านแล้ว อยากทำได้จัง
ชื่อผู้ตอบ : นุ ตอบเมื่อ : 24/06/2009
คิดว่าทำได้แต่พอลงมือทำจริงๆแล้วกลับทำไม่ได้
ชื่อผู้ตอบ : wade ตอบเมื่อ : 03/06/2013
มันคงจะทำได้หรอก
ชื่อผู้ตอบ : อาทิตย์ ตอบเมื่อ : 06/06/2013


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code