ฟังแบบ ZEN
เพิ่มสติในการฟังด้วยพุทธวิถีแบบ Zen



บทความที่นำเสนอสรุปประเด็นจากหนังสือเรื่อง The ZEN of Listening แต่งโดย Rebecca Shafir ซึ่งเป็นผู้เชื่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาในด้านการสื่อความ และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า 12 ปีในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการพูดต่อหน้าสาธารณชน บทความของเธอได้รับการตีพิมพ์และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง


นอกจากนั้น เธอยังศึกษาและปฏิบัติพุทธศาสนาสายเซ็นมานานกว่าสิบปี เธอจึงพยายามนำพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และจากประสบการณ์อันยาวนาน เธอรู้สึกว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราทะเลาะเบาะแว้งกันคือ การไม่ยอมฟังซึ่งกันและกัน คนส่วนใหญ่มักชอบพูดสวนขึ้นมากลางบทสนทนา ทั้ง ๆ ที่อีกฝ่ายยังพูดไม่จบ สิ่งนี้นอกจากจะเป็นการเสียมารยาทแล้ว ยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายด้วย เพราะเนื่องจากผู้ฟังนั้นฟังบ้างไม่ฟังบ้าง อาจทำให้ตีความหมายคำพูดของอีกฝ่ายไปในทางที่ผิดได้ ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างหลีกเลี่ยงเสียไม่ได้ ผู้แต่งได้กล่าวถึงสาเหตุและข้อเสียของการไม่ฟังซึ่งกันและกัน และวิธีการฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดี มีใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้

สาเหตุที่คนเราไม่ฟังผู้อื่น

มีอคติกับฝ่ายตรงข้าม

อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าอีกฝ่ายมีฐานะ การศึกษา หรือวุฒิภาวะที่ต่ำกว่า เป็นต้น ทำให้เราไม่เห็นความสำคัญของอีกฝ่าย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสียเวลามาฟังอีกฝ่ายพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคน ๆ นั้น เป็นบุคคลที่เราเคยทะเลาะเบาะแว้งด้วย ความทรงจำในอดีตเกี่ยวกับคน ๆ นั้น จะยิ่งทำให้เราเกิดอคติต่อผู้พูดได้อย่างง่ายดาย จึ่งยากที่จะยอมทนฟังให้อีกฝ่ายพูดจนจบประโยค

ยึดมั่นในอุดมการณ์ หรือความเชื่อของตนเอง

หากผู้ใดพูดจาขัดแย้งกับสิ่งที่เราเชื่อ มนุษย์มักตีความว่าสิ่งนั้นผิด และจะไม่ยอมฟังเหตุผลใด ๆ จากอีกฝ่ายว่า เพราะเหตุใดเขาจึงไม่เห็นด้วยกับเรา นอกจากนั้น ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในอุดมการณ์และความคิดของตนเอง นอกจากจะไม่ฟังแล้ว ยังจะสวนกลับและพยายามหาเหตุผลมาพูดหักล้างความเชื่อของอีกฝ่ายด้วยเสียอีก

ไม่ยอมรับความเป็นจริง

มนุษย์มักคิดว่าทุกอย่างจะต้องเหมือนเดิมและจีรังยั่งยืนตลอดไป ฉะนั้น เมื่อต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี เช่น การที่สามีหรือภรรยานอกใจเรา เป็นต้น จิตใจของมนุษย์ที่มีความเชื่อที่ผิด ๆ ดังกล่าว จึงรับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมทนรับฟังความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า สิ่งนี้จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มนุษย์ไม่ยอมฟังซึ่งกันและกัน

มีนิสัยที่ชอบแสดงความคิดเห็นเป็นชีวิตจิตใจ

การมีนิสัยเช่นนี้จะทำให้เราได้รับข้อมูลได้อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะในขณะที่อีกฝ่ายพูดยังไม่ทันจะจบประโยค ในใจของเรานั้น เราได้เตรียมข้อมูลเพื่อที่จะมาหักล้างประเด็นของอีกฝ่ายเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น วินาทีที่เรากำลังคิดถึงสิ่งที่เรากำลังจะพูดนั้น สมาธิของเราจึงไม่ได้จดจ่อไปกับการฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังพูด จึงทำให้เราได้รับข้อมูลอย่างไม่ครบถ้วน




โทษของการไม่ฟังผู้อื่น

การไม่ฟังอีกฝ่ายเป็นการแสดงออกถึงการไม่ให้เกียรติ และการไม่ให้ความเคารพในสิทธิของผู้อื่นที่จะแสดงความคิดเห็น เมื่อไม่มีใครฟังใครย่อมก่อให้เกิดความระหองระแหงและการทะเลาะเบาะแว้งตามมา นอกจากนั้น ในกรณีการเสนอขายสินค้า หากเราไม่เป็นผู้ฟังที่ดี จะทำให้เราไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า แม้จะพูดจนน้ำไหลไฟดับ หรือพูดจนหมดเรี่ยวหมดแรงก็ไม่สามารถจูงใจให้ลูกค้ายอมซื้อสินค้าได้ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ ฉะนั้น หากเราต้องการเพิ่มยอดขายสินค้า เราควรฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดี นอกจากนั้น โทษอีกประการหนึ่งของการไม่ฟังผู้อื่นคือ การพูดมากจะทำให้เหนื่อย ทำให้ไม่สามารถทำการใหญ่ได้ เพราะพลังงานส่วนใหญ่หมดไปกับการพูด

นอกจากนั้น การพูดขัดขึ้นมากลางบทสนทนา ถือเป็นกิริยาที่ไม่ค่อยสุภาพ แสดงถึงความไม่มีมารยาท ทำให้คนไม่ชอบหน้า และรำคาญไม่อยากจะเสวนาด้วย และที่สำคัญคือ การพูดคั่นระหว่างการสนทนาเป็นการแสดงถึงการมีระดับสมาธิที่ต่ำ เพราะมีความคิดฟุ้งซ่านตลอดเวลา ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันได้ ฉะนั้น ผลที่ตามมาคือ เมื่อมีสมาธิต่ำ ความสามารถในการเรียนรู้ย่อมต่ำตามไปด้วยเป็นธรรมดา เมื่อเรียนรู้สิ่งใด ก็ย่อมซึมซับได้อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะฟังคำเดียว แต่พูดอีกสามประโยค เมื่อความรู้และข้อมูลไม่เพียงพอจึงเกิดความไม่มั่นใจ สาระที่พูดก็มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ ฟังแล้วไม่น่าเชื่อถือ คนรอบข้างจึงไม่กล้าที่จะมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ เพราะรู้สึกไม่ไว้ใจและไม่มั่นใจในความสามารถของบุคคลประเภทนี้ ผลเสียประการสุดท้ายของการไม่ฟังผู้อื่นคือ คนที่ไม่หัดฟังผู้อื่นจะไม่สามารถเป็นนักเจรจาที่ดีได้ เพราะคนที่ไม่ยอมฟัง ย่อมไม่รู้ว่าประเด็นไหนของอีกฝ่ายที่เราควรจะหักล้าง และประเด็นไหนเป็นประเด็นที่เราควรจะนำเสนอ เพื่อให้การเจรจายุติลงได้ด้วยดี เกิดเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย




วิธีการฝึกการฟังผู้อื่น

หัดปิดตาและฟังเสียงต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว หรือแม้แต่การฟังเพลงให้ลองสังเกตดูว่า ในเพลงนี้ มีเครื่องดนตรีทั้งหมดกี่ชิ้น การฝึกเช่นนี้จะเป็นการปลุกประสาทหู ให้ตื่นตัวและมีพลังขึ้นมา

สังเกตว่าเสียงแบบไหนหรือประโยคแบบใด สามารถกระตุ้นให้จิตใจเราเกิดการปรุงแต่ง เกิดการกระทบกระเทือน กระเพื่อมอย่างรุนแรง เกิดเป็นอารมณ์ต่าง ๆ ตามมา วิธีนี้เป็นการฝึกสติฐานเวทนา เพื่อจับสังเกตว่า จิตใจของเรา มีการปรุงแต่งเมื่อไหร่ นานแค่ไหน และปรุงแต่งในเรื่องอะไร

ฝึกจิตใจให้สงบ เช่น การทำสมาธิแบบอานาปนสติ คือการจดจ่อกับลมหายใจเข้าออกที่กระทบปลายจมูก

ฟังเสียงทุกเสียงที่ตัวเองพูด หัดฟังน้ำเสียง จังหวะจะโคน และเนื้อหาที่พูดว่า มีประโยชน์หรือไม่ หรือมีความชัดเจนแค่ไหน

เวลาฟังผู้อื่นพูด ให้เราจินตนาการว่า เรากำลังชมภาพยนตร์อยู่ เพราะเวลาดูหนังเราจะตั้งใจดู ตั้งใจฟัง เราจะไม่พูดแสดงความคิดเห็นใด ๆ ในโรงหนังเลย วิธีนี้จึงเป็นการฝึกการเป็นผู้ฟังได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว


ชื่อผู้ส่ง : ผู้อ่าน ถามเมื่อ : 01/05/2009
 


จิตรานุภาพของการตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน



บทความที่นำเสนอสรุปจากหนังสือชื่อ The Power of Now แต่งโดย Eckhart Tolle ว่าด้วยเรื่องของพลังแห่งการจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้เราให้เราประสบความสำเร็จ มีความสุข และมีความสงบในจิตใจ ผู้แต่งได้อธิบายถึงกลไกของความคิดที่ก่อให้เกิดความทุกข์และวิธีการสร้างความสุขให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ


ซึ่งมีใจความสำคัญดังต่อไปนี้

ระบบความคิดซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ มีลักษณะตามสภาวะธรรมชาติ ดังนี้

ทำงานด้วยตัวของมันเอง เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา และไม่สามารถบังคับได้

ข้อมูลจากการวิจัยทั่วโลกพบว่า มนุษย์มีความคิดที่ผุดขึ้นเองตามธรรมชาติมากกว่าห้าหมื่นเรื่องต่อวัน ความคิดเหล่านี้เป็นสาเหตุให้มนุษย์เกิดความทุกข์ เพราะส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองเช่น ความอยากมี อยากเป็น อยากได้ ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากได้ หรือความโกรธเกลียดอาฆาตแค้น เป็นต้น โดยมนุษย์ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าความคิดดังกล่าวเป็นตัวเรา เป็นของเรา และถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติไม่จำเป็นต้องแก้ไขใด ๆ ฉะนั้น เมื่อมีความทุกข์หรือมีความอึดอัดใจ พวกเขาเหล่านั้นจึงรู้เพียงแต่ว่า พวกเขาไม่มีความสุข แต่ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรหรืออาจจะหาทางออกโดยการเสาะแสวงหาความสุขด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อเป็นการชดเชย โดยมองข้ามต้นตอของความทุกข์ไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งวิธีนี้เป็นหนทางออกจากความทุกข์เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อกลับมาคิดอีกก็ทุกข์อีก วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ไม่มีที่สิ้นสุด

วิธีการแก้ไขคือ ให้ตระหนักอยู่เสมอว่า ความคิดไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เราจึงควบคุมไม่ได้ และถึงแม้ว่าเราจะบังคับความคิดไม่ได้ แต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกคิดเฉพาะเรื่องที่ดี มีประโยชน์ และสร้างสรรค์ได้ เราไม่จำเป็นจะต้องจมอยู่กับกองทุกข์เสมอไป เราสามารถเลือกที่จะมีความสุขได้ด้วยตัวของเราเอง

ไม่อยู่กับปัจจุบัน

ความคิดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมักเป็นเรื่องในอดีตทั้งในแง่บวกและแง่ลบ หรือไม่ก็เป็นเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ความคิดเหล่านี้ก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งสิ้น เพราะเรื่องในอดีต หากเป็นเรื่องในแง่ลบย่อมทำให้เราจิตใจเศร้าหมอง แต่ถ้าเป็นเรื่องในแง่บวกก็อาจทำให้เราประมาทและเผลอเรอได้ ส่วนเรื่องในอนาคต มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความกังวลหรือคิดเกินปรุงแต่งไปเอง

ก่อให้เกิดอารมณ์

ความคิดที่เกิดขึ้นในขณะที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวนั้น จะเป็นความคิดที่เต็มไปด้วยตัวกูของกู จึงก่อให้เกิดอารมณ์ได้ทั้งในแง่ลบและแง่บวกเช่น เมื่อถูกตำหนิหรือด่าทอ จิตใจเราจะปรุงแต่งทันที เกิดเป็นความคิดต่อต้าน จนเกิดเป็นอารมณ์โกรธ เพราะคิดว่า ตัวเราเป็นเจ้าของความคิดเหล่านั้น หรือเมื่อเห็นของที่โปรดปรานจิตใจจะปรุงเป็นความคิด จนเกิดเป็นอารมณ์รักหรือพอใจ เมื่อนั้นจะเกิดเป็นตัณหา ความอยากที่จะครอบครอง เมื่อไม่ได้ดังใจก็จะเกิดความทุกข์ตามมา

เป็นเสียง

เมื่อจิตใจเกิดการปรุงแต่ง จะแสดงออกมาในรูปแบบของเสียงที่ดังอยู่ในใจ หากเราเชื่อว่าเสียงดังกล่าวเป็นตัวเรา เราก็จะมีพฤติกรรมและคำพูดเป็นไปตามความคิดที่ผุดขึ้นมา ซึ่งตามที่ทราบกันดีแล้วว่า ความคิดที่เกิดขึ้นเองเมื่อเราไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัวนั้น จะเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งส่งผลให้การกระทำและคำพูดของเราปราศจากความรู้สึก เต็มไปด้วยความเป็นตัวกูของกู และวินาทีที่เราไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว ความคิดในแง่ลบที่ผุดขึ้นจะมีผลต่อจิตใจของเราทันที ก่อให้เกิดความทุกข์สุมอยู่ในจิตใจ




วิธีการสร้างความสุขและเปิดจิตเข้าสู่ความสงบโดยไม่ต้องนั่งกรรมฐาน

1) ฝึกรู้ทันความคิดและอารมณ์ที่ปรุงแต่งขึ้นมาทุกวินาที

หลักในการมองความคิดหรือมองอารมณ์คือ เราจะต้องสวมบทบาทเป็น “ผู้มอง” อย่างเดียวโดยไม่ต้องเติมสีปรุงแต่ง แม้ว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นสุขหรือทุกข์ก็ตามที อย่างไรก็ตาม การฝึกมองอารมณ์นั้นจะปลอดภัยกว่าการมองความคิดเพราะการมองความคิด อาจจะหยุดไม่ได้และอาจทำให้เสียสติ ดังนั้น จึงแนะนำว่า เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นให้ เพียงทำใจ“รู้”ว่ามีความคิดเกิดขึ้น หากเป็นความคิดที่ไม่ดี ไม่สร้างสรรค์ ให้ตัดทิ้งทันทีไม่ต้องเสียดาย ให้เลือกคิดแต่ในสิ่งที่ดี หมั่นสร้างความคิดที่ดีให้เกิดขึ้นในจิตใจเพื่อเป็นการทดแทนความคิดที่ไม่ดี และพยายามประคองไม่ให้ความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้นได้อีกเลย เมื่อนั้นจิตใจจะเกิดความสงบและสบาย จิตจะเข้าใกล้ความเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานมากขึ้นในทุกขณะจิต

2) ฝึกความรู้สึกทั่วทั้งสรรพางค์กายและฝึกหายใจลึก ๆ ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

การฝึกความรู้ตัวทั่วพร้อมจะช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เพราะจิตไม่เกาะอยู่กับความคิด จึงไม่เกิดความทุกข์ ความเครียด หรือความกังวล เมื่อจิตใจดีร่างกายก็จะดีตามไปด้วย นอกจากนั้น การฝึกความรู้สึกทางร่างกายจะช่วยให้มองเห็นอารมณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเช่น หากเรานั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ร่างกายจะปวดเมื่อย ส่งผลให้เกิดเป็นอารมณ์ที่อึดอัดซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

3) ฝึกมองดูผัสสะที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

เมื่อมีการกระทบเกิดขึ้นทางอายาตนะทั้งห้า ให้ตั้งเรารับรู้ถึงการกระทบดังกล่าวอย่างแท้จริง เพื่อฝึกการจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน

4) ฝึกความคิดที่ถูกต้อง

หัดยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต่อหน้า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่ก็ตาม และให้ตระหนักอยู่เสมอว่าความคิดนั้นไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา และเราไม่สามารถบังคับมันได้ จะทำให้จิตใจถอดถอนออกจากความเป็นตัวกูของกู สามารถมองความจริงตรงตามความเป็นจริง จิตใจจะสงบ เมื่อนั้นจึงจะเกิดปัญญาช่วยให้เราสามารถหนีออกจากกองทุกข์ได้

5) คบหาสมาคมกับคนที่มีสติและสมาธิ

เพื่อเป็นการวัดระดับความมีสติและสมาธิของตนเอง เพราะถ้าตัวเราเองยังไม่รู้ว่าสภาวะของคนที่มีสติและสมาธิเป็นอย่างไรแล้ว ตัวเราจะพัฒนา แก้ไข และปรับปรุงพลังสติและสมาธิของตนเองได้อย่างไร ฉะนั้น เราจึงควรศึกษาพฤติกรรม คำพูด และการกระทำของคนเหล่านั้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้และพัฒนากำลังสติและสมาธิของเราต่อไป เมื่อเรามีสติและสมาธิเพียงพอ ความคิดในทางอกุศลย่อมกระทบเราไม่ได้ เมื่อนั้นเราจึงมีความสุข เป็นอิสระจากความทุกข์ และสามารถลืมตาอ้าปากสามารถสร้างชีวิตที่ดีและมีคุณภาพได้ด้วยสองมือของเราอย่างแท้จริง

ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 01/05/2009
วิธีปลิดนิวรณ์ 5 ออกจากจิต


วิธีออกจากกองทุกข์และยกสภาวะจิตใจให้สูงขึ้น มีดังนี้

ทำใจให้สบาย ๆ ตั้งจิตบอกกับตัวเองว่า เราจะไม่ยอมจมอยู่กับกองทุกข์โดยเด็ดขาด

การจะมีความสุขได้ก็ต้องแก้ไขที่เหตุแห่งทุกข์เสียก่อน อันได้แก่นิวรณ์ทั้ง 5 ประการ

ดังนี้

1) มีความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (ตัณหา) เมื่อจิตใจถูกปกคลุมไปด้วยนิวรณ์ประเภทนี้พระพุทธเจ้าเปรียบสภาวะจิตใจดัง กล่าวกับน้ำที่มีสีต่าง ๆ เจือปนอยู่ มองเท่าไรก็มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใต้ผิวน้ำซึ่งในที่นี้ก็คือหนทางในการแก้ไขปัญหานั่นเองตัณหาหรือความอยากนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

- ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น (ภวตัณหา)

- ความไม่อยากมี ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น (วิภวตัณหา)

- การยึดเกาะติดกับรูป รส กลิ่น เสียง- สัมผัส และกามารมณ์ (กามตัณหา)

2) มีความโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาท จิตใจประเภทนี้พระพุทธเจ้าเปรียบกับน้ำที่เดือด ทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใต้ผิวน้ำ

3) มีความง่วงเหงาหาวนอน เบื่อหน่ายเซ็ง ชีวิต จิตใจประเภทนี้พระพุทธเจ้าเปรียบกับหนองน้ำที่มีแหนปกคลุมอยู่ ทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใต้ผิวน้ำ

4) มีความลังเลสงสัย สับสน กังวล หวาดกลัวเกินความเป็นจริงจิตใจประเภทนี้พระพุทธเจ้าเปรียบกับน้ำที่ขุ่นไปด้วยโคลน ทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใต้ผิวน้ำ

5) มีความฟุ้งซ่านรำคาญใจ จิตใจประเภทนี้พระพุทธเจ้าเปรียบกับผิวน้ำที่โดนลมพัดให้กระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใต้ผิวน้ำอีกเช่นเดียวกัน

วิธีรับมือกับนิวรณ์ 5 ที่รุมเร้าจิตใจ

เมื่อจิตใจเกิดความเศร้าหมองจากนิวรณ์ 5 ตัวใดตัวหนึ่ง วิธีแก้ไขคือ เราจะต้องใช้สัมมาทิฏฐิหรือความคิดที่ถูกต้องมาช่วยบรรเทาความทุกข์เหล่านั้น แต่ก่อนอื่นเราจะต้องฝึกพลังสมาธิและสติให้เข้มแข็งโดยการสวดมนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการภาวนาพระคาถาชินบัญชรอย่างน้อย 3 รอบถึง 9 รอบโดยขณะที่สวดจะต้องไม่คิดเรื่องอื่น แล้วจึ่งค่อยใช้สัมมาทิฏฐิเพื่อประคับประคองจิตใจให้เข้าสู่ภาวะปกติ สัมมาทิฏฐิดังกล่าวที่ใช้รับมือกับนิวรณ์ทั้ง 5 ประการ มีดังนี้

นิวรณ์ประการที่ 1 ความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

1) ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น (ภวตัณหา)

วิธีรับมือ ทำจิตใจให้สบายก่อนเพราะโชคลาภวาสนาต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นกับสภาวะจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น หากจิตใจเรามีแต่ความอึดอัด เคร่งเครียด จิตใจจะมัวหมอง ยิ่งคิดหาทางออกเท่าไรก็ยิ่งงงและสับสน ก่อนอื่นต้องทำใจให้สบายและยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบันก่อน แล้วจึ่งค่อยคิดหาหนทางต่าง ๆ อย่างมีเหตุมีผลโดยจิตใจจะต้องไม่กระเพื่อม

2) ความไม่อยากมี ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น (วิภวตัณหา)

วิธีรับมือ บอกตัวเองว่าเราจะต้องอยู่ได้ในทุกสภาวะ สิ่งนี้มิใช่เป็นการหลอกตัวเองเพราะสภาวะจิตจริง ๆ แล้วมันอยู่ได้ แต่การปรุงแต่งเกินความเป็นจริงจะทำให้เราคิดว่าเราอยู่ไม่ได้ และต้องหายใจลึก ๆ นาน ๆ และบ่อยครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้

3) การยึดเกาะติดกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และกามารมณ์ (กามตัณหา)

วิธีรับมือ พิจารณาอสุภกรรมฐาน พิจารณาความสกปรกของร่างกาย เพื่อให้รู้ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ไม่ได้สะอาดสวยงาม และน่าปรารถนาอย่างที่เราคิด นอกจากนั้น ให้ตระหนักถึงผลของการเสียเวลาไปกับการใช้ชีวิตอย่างไร้สาระไปวันหนึ่ง ๆ เพื่อสนองตอบต่อตัณหาและความต้องการของตนเอง และให้ลองสร้างภาพว่าในอีกห้าปีหรือสิบปี ถ้าเรายังใช้ชีวิตแบบนี้เรื่อยไป ชีวิตเราจะไม่มีอะไรเลย ไม่มีอนาคต และถ้าถึงตอนนั้นเราจะทนรับสภาพดังกล่าวได้หรือไม่

นิวรณ์ประการที่ 2 ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นพยาบาท

วิธีรับมือ 1. ให้ตระหนักถึงสัจธรรมที่ว่า ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่ควบคุมได้ ดังนั้น เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ ให้รับรู้ทุกอย่าง ให้กระทบได้แต่อย่าให้กระเทือนจิตใจ

2. เลิกจับผิดผู้อื่น หัดเมตตา เห็นอกเห็นใจ และให้อภัยผู้อื่นบ้าง

3. หัดฟังเสียงที่ตนเองพูดจะได้รู้ว่า ตัวเราเองก็ไม่ได้เป็นพ่อพระหรือแม่พระอะไรมากนัก เพราะคนที่ใจร้อนโกรธง่ายมักชอบใช้วาจารุนแรงและเชือดเฉือนคนอื่นอยู่เป็นประจำ ในเมื่อตัวเราก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบอะไรมากนัก ฉะนั้น เมื่อเห็นผู้อื่นทำอะไรขวางหูขวางตา ก็ให้หัดปล่อยวางเสียบ้าง

นิวรณ์ประการที่ 3 ความง่วงเหงาหาวนอน เบื่อหน่ายเซ็งชีวิต

วิธีรับมือ ถามตัวเองว่า ก่อนจะจากโลกนี้ไปเราอยากทำประโยชน์อะไรให้แก่สังคมและเพื่อนมนุษย์บ้าง และเราอยากให้คนข้างหลังจดจำตัวเราได้ในลักษณะใด แล้ว ณ วันนี้เราลงมือทำแล้วหรือยัง

นิวรณ์ประการที่ 4 ความลังเลสงสัย สับสน กังวล หวาดกลัวเกินความเป็นจริง

วิธีรับมือ ทำทุกอย่างพอสมควร ให้อยู่ในทางสายกลาง อย่าให้ความสำคัญกับตัวเองมากนักเพราะถึงแม้ว่าพรุ่งนี้เราจะต้องจากโลกนี้ไป โลกก็ยังคงดำเนินต่อไปได้โดยไม่ต้องมีเรา ฉะนั้น อย่าไปกังวลใจอะไรมากนัก ทำทุกอย่างตามหน้าที่อย่างสุดความสามารถแล้วก็ปล่อยวาง

นิวรณ์ประการที่ 5 ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่

วิธีรับมือ เจริญอานาปานสติ พิจารณาลมหายใจ หายใจเข้าและออกให้ลึก ๆ นาน ๆ และบ่อยครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอยู่กับปัจจุบันให้แนบแน่นที่สุด อดีตผ่านไปแล้ว จบแล้วจบเลย อย่าหยิบขึ้นมาพูดหรือคิดอีก

3. ฝึกพลังจิตให้เข้มแข็ง

เมื่อจิตใจอยู่ในสภาวะปกติ เราจะต้องฝึกพลังจิตหรือพลังความรู้สึกให้เข้มแข็งเพื่อเตรียมรับมือกับเหล่านิวรณ์ 5 ที่จะเข้ามาโจมตีเราเมื่อไรก็ได้ การฝึกพลังความรู้สึกจะทำให้จิตใจของเราไม่สั่นคลอนมากนักเมื่อโดนนิวรณ์ 5 เล่นงาน หรือถ้าตกอยู่ในวังวนแห่งความทุกข์ เพียงไม่นานก็จะสามารถหาทางออกได้ การฝึกดังกล่าวสามารถทำได้โดยการเฝ้ามองอารมณ์ตลอดเวลาในทุก ๆ อิริยาบถ โดยปกติอารมณ์ของคนเราจะมีอยู่ 3 แบบ คือ สุข ทุกข์ และเฉย การเฝ้ามองอารมณ์นั้นให้มองทั้งในสภาวะปกติและในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลง และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงให้มองว่าสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนั้นคืออะไร และเมื่อไรจึงกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เมื่อจิตใจมีความสงบจึงจะมีพลังสามารถนำไปใช้ขบคิดแก้ไขปัญหาและคิดสร้างสรรค์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไป

ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 01/05/2009

ฝึกจิตตามคัมภีร์วชิรสูตร


บทความที่นำเสนอสรุปจากหนังสือเรื่อง Classics of Buddhism and Zen โดย Thomas Cleary ผู้แต่งได้แปลและเรียบเรียงมาจากพระสูตรหลาย ๆ พระสูตรของพุทธศาสนาสายเซ็น โดยหนึ่งในพระสูตรดังกล่าวที่จะนำมาเสนอคือ วชิรสูตร (Diamond Sutra) พระสูตรนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนแก่พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ สุพุทธิ (Subhuti) ซึ่งคำสอนใน พระสูตรดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบไว้ว่า มีความคมดั่งเพชรที่สามารถตัดผ่านกิเลส ตัณหา และอุปาทานได้อย่างรวดเร็วภายในพริบตาและ อีกบทความนำมาจากหนังสือชื่อ (Thus Have I Heard) "ตามที่ได้สดับตรับฟังมา" โดย Maurice Walshe ว่าด้วยเรื่องข้อธรรมต่าง ๆ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งผู้แต่งได้แปลและเรียบเรียงจากพระสูตรต่าง ๆ หลายพระสูตร โดยหนึ่งในพระสูตรเหล่านั้นได้แก่ พระสูตรฑีฆนิกาย ซึ่งเป็นพระสูตรขนาดยาวกล่าวถึงมหาสติปัฏฐาน ๔ อันเป็นแนวทางการเจริญวิปัสสนาเพื่อให้จิตใจเกิดความผ่องใส เบิกบาน ปราศจากความทุกข์

ทำให้จิตใจมีความผ่องใส เบิกบานปราศจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง ใจความสำคัญและวิธีปฏิบัติของพระสูตรนี้ มีดังต่อไปนี้

1. ให้ระวังความคิดทุก ๆ ความคิด

หากมีความคิดใดก็ตามผุดขึ้นมาในจิตใจขอให้เป็นความคิดที่ดี บริสุทธิ์ผ่องใส และเป็นกุศลนำมาซึ่งความสุขสงบ ความคิดใดก็ตามที่นำมาซึ่งความเศร้าหมอง อึดอัด ร้อนรน ให้ตัดทิ้งเสียหรือให้สักแต่รู้สักแต่เห็น การเอาใจจดจ่อและควบคุมความคิดทุก ๆ ความคิดนั้น ถือได้ว่าเป็นการทำสมาธิอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งในพุทธศาสนาสายมหายานนั้น การทำสมาธิจะไม่จำกัดอยู่เพียงการนั่งขัดสมาธิแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นการเลือกคิดแต่ในสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อให้จิตใจผ่องใสและเบิกบาน มีพลัง และไม่หวั่นไหวต่อสิ่งภายนอกที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งคำสอนนี้ตรงตามมรรค ๘ คือ สัมมาวิริยะหรือความเพียรชอบ ในที่นี้คือ ความเพียรในการประคับประคองจิตใจให้ผ่องใสตลอดเวลา

ความคิดที่ถูกต้องที่ควรปลูกฝังไว้ในจิตใจ ได้แก่

1) ความคิดที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่สำคัญตนมากจนเกินไป

2) ให้ตระหนักเสมอว่า สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ล้วนเป็นเพียงเรื่องสมมติ ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน แต่ให้ทำตามหน้าที่ที่โลกสมมติขึ้นมาอย่างดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะกระทำได้ โดยขณะที่ทำจะต้องทำด้วยจิตใจที่สงบและปลอดโปร่งเบาสบาย

3) ไม่รักจนลุ่มหลงและไม่เกลียดจนเข้ากระดูกดำ ในที่นี้คือ การพยายามจิตใจประคับประคองจิตใจไม่ให้จมปลักไปกับความรักหรือความเกลียดที่มากเกินความพอดี

4) พยายามบำเพ็ญจิตเข้าสู่วิถีความเป็นโพธิสัตว์ ซึ่งก็คือ การฝึกจิตให้มีสภาวะผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในทุกขณะจิต และว่างจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง วิธีการบำเพ็ญจิต มีดังนี้

1. ไม่ยึดติดกับวัตถุภายนอก

2. มีความรัก เมตตาปราณี และเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

3. หมั่นทำความดี โดยไม่ต้องหวนคิดถึงความดีความงามของตน และให้หัดลืมตัวเอง

4. ไม่ตกเป็นทาสของตัณหาทั้ง ภวตัณหา ความอยากมีอยากได้อยากเป็น และวิภวตัณหา ความไม่อยากมี ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น

2. มุ่งทำแต่ความดี และให้ทานเป็นสรณะ

ปลูกฝังความเป็น"ผู้ให้" ในจิตใจตลอดเวลา โดยในขณะที่ให้นั้นเราจะต้องไม่สำคัญตนว่าเราเป็น "ผู้ให้และจะต้องไม่เลือกว่าใครจะเป็น "ผู้รับ" และไม่วิตกกังวลหรือสำคัญมั่นหมายในปริมาณ หรือมูลค่าของสิ่งที่เราให้มากจนเกินไปนัก ขอเพียงแต่ให้ด้วยใจบริสุทธิ์และสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่ออีกฝ่ายก็เพียงพอแล้ว และสุดท้ายเมื่อให้แล้วให้หันหลังไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ สิ่งนี้ถือเป็นการให้ทานที่สมบูรณ์แบบที่สุด มีคุณานุปการทั้งแก่ทั้งผู้ให้และผู้รับมากมายนับไม่ถ้วน

3. ให้ตระหนักว่า จิตมีแต่สภาวะผู้รู้เท่านั้น

ธรรมชาติของจิตสามารถอยู่ได้ในทุกสภาวะ และมีแต่ความผ่องใสเบาสบาย ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีอารมณ์เกิดขึ้น เช่น สับสนวิตกกังวล ฟุ้งซ่าน หลงใหล เคลิบเคลิ้ม โกรธเกลียดอาฆาตแค้น หรือเศร้าโศก นั่นเป็นอาการแสดงที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งล้วน ๆ ทำให้จิตใจเศร้าหมองและหวั่นไหว ดังนั้น วิธีการรักษาสมดุลในจิตใจไม่ให้กระเพื่อมไปกับอารมณ์ภายนอกและความคิดปรุงแต่งทั้งปวงคือ ไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือจริงจังกับสิ่งต่าง ๆ มากจนเกินไป ให้มองว่าสิ่งต่าง ๆ ในโลกว่า "ก็เป็นเช่นนั้นเอง" แต่ให้ทำตามหน้าที่และพยายามปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่าง ๆให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อเกิดความแปรปรวนในจิตใจให้รู้เท่าทันว่า มันเป็นของปลอม เป็นเพียงการนึกปรุงแต่งไปเท่านั้นเอง เมื่อจิตหยุดกระเพื่อม จิตใจจะเบาสบายเข้าสู่ความสมดุล สามารถใช้ขบคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

4. อดทนอดกลั้นและรักษาศีลให้เคร่งครัดที่สุด

การรักษาศีลในที่นี้ได้แก่ ศีลของฆราวาสหรือศีล ๕ ประกอบด้วย ๑. การไม่ฆ่าสัตว์ ๒. การไม่ลักทรัพย์ ๓. การไม่ประพฤติผิดในกาม ๔. การไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดยุแยงตะแคงรั่ว และไม่ติฉินนินทาผู้อื่น ๕. การไม่เสพสุราหรือของมึนเมา นอกจากนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เลิกจับผิดผู้อื่น เพราะการจ้องจับผิดผู้อื่นจะเป็นการก่ออกุศลกรรม ทำให้จิตใจเกิดการปรุงแต่งและฟุ้งซ่านอย่างไม่หยุดยั้ง และที่สำคัญที่สุดคือ จงอย่าใส่ใจต่อคำชมเชย หรือเศร้าหมองกับคำตำหนิมากจนเกินไป และให้ตั้งใจกระทำในสิ่งที่ควรกระทำอย่างสุดความสามารถด้วยจิตใจที่โล่งโปร่งสบาย

ก่อนที่จะทราบถึงวิธีการบำเพ็ญกายและจิตให้สงบผ่องใส ไร้ซึ่งความเศร้าหมองใจ จำเป็นต้องเข้าใจถึงสาเหตุแห่งความทุกข์เสียก่อน ความทุกข์เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำในเรื่องที่เป็นอกุศลครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อให้เกิดอารมณ์ที่เป็นอกุศล เช่น ความอึดอัด ความไม่สบายใจ หดหู่ คับแค้น อาฆาตพยาบาท หรือเศร้าโศก เป็นต้น ฉะนั้น วิธีการดับความทุกข์คือ การหยุดคิดในสิ่งที่เป็นอกุศลนั่นเอง วิธีการหยุดคิดในที่นี้ก็คือการเปลี่ยนที่เกาะของจิตให้ไปอยู่ใน 3 ลักษณะ ได้แก่

1. ฐานกาย คือ

วิธีการเปลี่ยนฐานที่ตั้งของจิตให้ไปอยู่ที่ร่างกายสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่

1) การกำหนดใน 4 อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เช่น จับหนอ นั่งหนอ ยืนหนอ เห็นหนอ เป็นต้น

2) การเอาใจจดจ่อไปที่จุดสัมผัสระหว่างกายกับพื้นผิวต่าง ๆ ที่เราสัมผัส ในทุก ๆ อิริยาบถ

2. ฐานอารมณ์

ให้มองดูอารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ และอารมณ์เฉย ๆ ในขณะที่ดูนั้นจะต้องดูอย่างต่อเนื่อง แม้ในขณะที่จิตอยู่ในสภาวะเฉย ๆ ก็ตาม เพราะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ไปทางลบและบวก จิตใจจะได้ตามทันไม่ไหลไปตามกระแสอารมณ์ที่เกิดจากความคิดต่าง ๆ

3. ฐานธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในขณะที่จิตใจเกิดความทุกข์ หรือเกิดอาการกระเพื่อมอย่างรุนแรงให้คิดถึงธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อใช้ในการประคับประคองจิตใจให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ตัวอย่างธรรมะดังกล่าว ได้แก่

1) สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนเกิดดับและเปลี่ยนแปลง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

2) มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสุข-ทุกข์ มีความเศร้าใจ-ดีใจ มีรัก-เกลียด โลกก็เป็นเช่นนั้นเอง เป็นต้น

3) นิวรณ์ ๕ ได้แก่

1. ความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (ตัณหา) สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

- ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น (ภวตัณหา)

- ความไม่อยากมี ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น (วิภวตัณหา)

- การยึดเกาะติดกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และกามารมณ์ (กามตัณหา)

เมื่อจิตใจตกอยู่ในอำนาจของตัณหาหรือความต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกลุ่มความคิดใดความคิดหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในจิตใจก่อให้เกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา เมื่อเกิดสภาวะเช่นนี้ให้ใช้วิธีไตร่ตรองพิจารณาว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ เมื่อทำแล้วจะเกิดผลอะไร ให้พิจารณาผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ ในขณะที่พิจารณาจิตจะถอดถอนจากกลุ่มความคิดที่ก่อให้เกิดความอยาก ทำให้จิตใจสงบลงจากตัณหา สามารถขบคิดและเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ในที่สุด

2. มีความโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาท

เมื่อจิตใจเกิดความอาฆาตแค้นให้รู้จักปล่อยวาง และให้คิดเสียว่า บางทีธรรมชาติอาจจะส่งคน ๆ นี้มาเพื่อยกระดับคุณภาพจิตใจของเรา เพื่อสอนให้เรารู้จักให้อภัย รู้จักปล่อยวาง แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามทำนองครองธรรม ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก แต่จิตใจเราจะต้องไม่หวั่นไหวหรือรุ่มร้อนไปกับเรื่องดังกล่าว หรือในกรณีที่เกิดความอิจฉาริษยาในจิตใจ ให้พิจารณาความเป็นจริงที่ว่า คนเราทุกคนที่เกิดมานั้น ไม่มีเลยสักหนึ่งคนที่เหมือนกัน ฉะนั้น จงอย่าไปเสียเวลาเปรียบเทียบ เสียเวลาอิจฉาริษยาให้เหนื่อยเปล่า ควรเอาเวลาไปขบคิดหาหนทางเพื่อพัฒนาตนเองให้ชีวิตดีขึ้นและประสบความสำเร็จมากขึ้นจะดีกว่า

3. มีความง่วงเหงาหาวนอน เบื่อหน่ายเซ็งชีวิต

ให้สวดมนต์ไหว้พระให้จิตใจเกิดความสงบ และให้พิจารณาว่า ที่ผ่านมาเราอาจจะขบคิดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตและหน้าที่การงานไม่รอบด้านพอ ทำให้ชีวิตไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ฉะนั้น ต่อไปนี้เราจะเริ่มต้นใหม่ เราจะเริ่มสร้างแผนที่ชีวิตให้ละเอียดรอบคอบกว่าเดิม เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

4. มีความลังเลสงสัย สับสน กังวล หวาดกลัวเกินความเป็นจริง

จิตใจที่มีความลังเลสับสนเกิดจากความโลภมาก คิดถึงประโยชน์ของตัวเองมากไป ทำให้ตัดสินใจไม่ถูก เกิดความปริวิตก ฉะนั้น ให้รู้จักปล่อยวางบ้าง เอาแต่พอประมาณ ให้อยู่ในทางสายกลางและอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง

5. มีความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ

ความฟุ้งซ่านเกิดจากความคิดที่มีมากเกินไป ฉะนั้น ให้โยกจิตไปไว้ที่ฐานกาย หรือฐานอารมณ์ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หรือให้พิจารณาลมหายใจ เข้าและออกให้ลึก ๆ นาน ๆ และบ่อยครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดปริมาณความคิดที่ถาโถมเข้ามาในจิตใจ และที่สำคัญคือ เมื่อจิตใจเริ่มสงบแล้วอย่าหยิบเรื่องเก่ากลับมาคิดอีก อดีตผ่านไปแล้ว จบแล้วจบเลย

ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 01/05/2009
คุณภาพความคิดสามารถลิขิตชะตาชีวิต


บทความที่นำเสนอจากหนังสือเรื่อง As a Man Thinketh โดย James Allen ผู้แต่งได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากการศึกษาพุทธศาสนามานานเป็นเวลาหลายสิบปี หนังสือเล่มนี้ผู้แต่งได้รวบรวมแง่คิดต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างแรงดลบันดาลใจ และยกระดับคุณภาพจิตใจให้สูงขึ้น มีคุณธรรมและมีระเบียบวินัยมากขึ้น

ข้อคิดดังกล่าวมีใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. มนุษย์สามารถ "เลือก" ที่จะคิดในสิ่งที่ดีได้

ความคิดสามารถกำหนดชะตาชีวิตของคน ๆ หนึ่งได้ ดั่งคำพูดที่ว่า "คุณคิดอย่างไร คุณก็เป็นคนเช่นนั้น (You are what you think)" ดังนั้น หากเราต้องการมีชีวิตที่ดีเจริญก้าวหน้า เราต้องตั้งใจควบคุมความคิด โดยการเลือกคิดแต่สิ่งที่ดี ถ้ามีความคิดที่ไม่ดีผุดขึ้นมาในจิตใจ ให้รีบดับความคิดนั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่จิตใจสับสนว้าวุ่น หยุดความคิดไม่ได้ เราควรสงบจิตสงบใจก่อนโดยการกำหนดลมหายใจ (อานาปานสติ) แล้วจึ่งค่อยเลือกคิดในสิ่งที่ดีต่อไป

2. ความคิดและการกระทำที่ดี ไม่เคยก่อให้เกิดผลเสียต่อเราเลย ในทางกลับกันความคิดและการกระทำที่ไม่ดีก็ไม่เคยส่งผลดีต่อเราเลย เช่นเดียวกัน

ความคิดที่ดีและการกระทำที่ดี ในที่นี้คือ การไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง ส่วนความคิดและการกระทำที่ไม่ดีได้แก่ การทุศีล การสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น การคดโกงเอาเปรียบผู้อื่น การโกงบริษัท และการโกงชาติ เป็นต้น

3. มนุษย์จะมีความสุขได้จะต้องเข้าใจกฎธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น

1) ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว

2) เราไม่สามารถควบคุมโลกให้เป็นไปตามที่ใจเราต้องการได้

อย่างไรก็ตาม หากเราอยากให้สถานการณ์เปลี่ยน เราต้องรู้จักสร้างเหตุและปัจจัยใหม่ เพื่อทำให้สิ่งที่เราปรารถนาประสบผลสำเร็จตามที่เราวาดหวังไว้ เช่น ถ้าเราอยากร่ำรวย เราต้องรู้จักประหยัดอดออม ไม่เล่นการพนัน และรู้จักเลือกประกอบอาชีพหรือหาลู่ทางที่สามารถสร้างเงินทองได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมความดี ไม่คดโกง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นต้น

3) โลกทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพียงโลกสมมติ

เราไม่ควรยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตมากจนเกินไป แต่เราก็ไม่ปฏิเสธโลกสมมติเหล่านั้น ฉะนั้น การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องคือ ทำทุกอย่างให้อยู่ในทางสายกลาง ทำทุกอย่างตามหน้าที่ตามที่โลกสมมติได้กำหนดไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงทำได้ โดยที่จิตใจของเราจะต้องไม่กระเพื่อม

4. ชีวิตจะมีพลังและเป็นแก่นสารสาระได้ ถ้าเรายึดมั่นในคุณธรรม ความถูกต้อง และความเที่ยงธรรม

ความถูกต้องและเที่ยงธรรมในที่นี้คือ การไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น และการให้ความยุติธรรมแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น การปูนบำเหน็จให้ลูกน้องตามความสามารถที่แท้จริง เป็นต้น นอกจากนั้น การยึดมั่นในคุณธรรมในที่นี้ รวมถึงการรู้จักหันกลับมามองตัวเองว่า ตัวเราเองเป็นคนดีมีคุณธรรมควรค่าแก่การเคารพนับถือหรือไม่ มากกว่าการพยายามจับผิดผู้อื่นว่ามีคุณธรรมเพียงพอแล้วหรือยัง

5. จิตสามารถสร้างสรรพสิ่งทั้งปวง

ถึงแม้ว่าจิตจะเป็นตัวกำหนดให้เรามีบุคลิกลักษณะ และนิสัยที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์และการปรุงแต่งของจิตนั้น ๆ แต่จิตนั้นเองก็สามารถเป็นตัวสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดขึ้นตามที่ใจเราต้องการได้ ฉะนั้น หากเราอยากเป็นคนดีและมีความสุข เราก็สามารถกำหนดเองได้ด้วยจิตของเรานั่นเอง เช่น จิตเมื่อประสพกับสิ่งที่ไม่พอใจก็เกิดการปรุงแต่งเป็นอารมณ์โกรธ ทำให้เรามีกิริยาเกรี้ยวกราดและโหดร้าย แต่หากจิตมีความเมตตาและอยากให้อภัย กิริยาอันดุร้ายและอารมณ์อันรุนแรงก็สามารถสลายอารมณ์โกรธนั้นไปได้ เป็นต้น

6. เราเป็นคนเช่นไรสวรรค์ก็จะประธานสิ่งที่ตรงกับคุณภาพจิตของเรามาให้ มากกว่าจะประธานในสิ่งที่เราปรารถนา (We do not attract what we want, but attract what we are)

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นคนคิดเล็กคิดน้อย สิ่งที่เราได้รับก็จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่มีคุณค่าอะไร ถ้าเราเป็นคนที่หงุดหงิดและขุ่นเคืองผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เราประสบก็มักจะเป็นสิ่งที่ขัดหูขัดตาอยู่ร่ำไป ถ้าเราเป็นคนที่ละโมบโลภมาก เราจะรู้สึกขาดแคลนและอิจฉาริษยาผู้อื่นอยู่ตลอดเวลาหาความสุขมิได้ หรือถ้าเราเป็นคนที่เบื่อหน่ายชีวิต สิ่งรอบข้างที่เราประสบก็มักจะเป็นสิ่งที่ซ้ำซากและจำเจ ฉะนั้น หากเราประสบความล้มเหลวหรือพลาดหวังในชีวิต จงอย่ากล่าวโทษชะตาฟ้าลิขิต แต่ให้สำรวจมุมมองและการกระทำของตัวเองว่า ที่ผ่านมาเราได้ทำในสิ่งที่เหมาะสม ควรค่าแก่การได้รับในสิ่งที่เราปรารถนาแล้วหรือไม่ และมีจุดไหนบ้างที่เรายังไม่ได้ทำหรือขาดตกบกพร่องไป

7. ความคิดที่ดีมีคุณธรรมเป็นรากฐานของความมีบุญญาบารมี และเป็นที่เคารพรักของผู้อื่น

ถึงแม้ว่าบุคคลที่มีฐานะร่ำรวยหรือมีการศึกษาสูงจะเป็นที่น่าชื่นชมและน่าเคารพแก่คนทั่วไป แต่หากบุคคลเหล่านั้นขาดคุณธรรมความดี ความร่ำรวยและความรู้ต่าง ๆ ที่สั่งสมมาก็จะกลับกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่าได้ภายในเสี้ยววินาที แต่คุณธรรมต่างหากเล่า จะเป็นสิ่งที่คงทนและอยู่คู่กับบุคคลผู้มีคุณธรรมไปตราบนานเท่านาน เป็นที่น่าสรรเสริญ รักใคร่ และศรัทธา แก่บุคคลทั่วไป

8. ลักษณะนิสัยของมนุษย์ไม่ได้ถูกกำหนดจากบุคคลรอบข้างและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น แต่บุคคลรอบข้างและสถานการณ์ดังกล่าว เป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้นิสัยที่แท้จริงของมนุษย์ได้แสดงออกมา (Circumstances do not make a person, they reveal him)

มนุษย์ส่วนใหญ่เมื่อประสบกับความล้มเหลว หรือสิ่งที่ไม่น่าพอใจ มักกล่าวโทษบุคคลรอบข้างและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นว่า เป็นต้นเหตุของสิ่งที่ตนเองกำลังประสบ ผู้แต่งเชื่อว่า การคิดเช่นนี้จะยิ่งเป็นการมอบชะตาชีวิตของตนเองไว้ในอุ้งมือของผู้อื่น เพราะบุคคลรอบข้างและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการจะกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง เราจะต้องหัดเปลี่ยนมุมมองและนิสัยของตัวเองแทนที่จะคอยโทษผู้อื่นอยู่ร่ำไป

ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 01/05/2009
สอนจิตให้คิดเป็น


ในปัจจุบัน คนเรามักประสบกับความเครียดอยู่เป็นประจำทั้งจากหน้าที่การงาน ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ชีวิตไม่ค่อยมีความสุขเท่าใดนัก ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่า สิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถควบคุมได้ และคงต้องทนรับสภาพต่อไป ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดเพราะคนเราจะมีความสุขได้อยู่ที่วิธีการมองโลกของตนเอง ไม่ได้อยู่ที่คนรอบข้าง หรือสภาวะแวดล้อมภายนอก ถ้าเรามองโลกอย่างถูกต้อง เราจะมีความสุข

สงบ ผ่องใส เพราะจิตดั้งเดิมของมนุษย์ล้วนมีแต่ความผ่องใสประภัสสร แต่ถูกครอบงำด้วยความคิดที่ผิด ๆ จึงทำให้มีความทุกข์ร้อน เศร้าหมองใจ ซึ่งเรียกว่า เป็นสภาวะจิตที่ยังไม่ได้รับการฝึก ดังนั้น บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงลักษณะของจิตที่ยังไม่ได้ฝึก และวิธีการฝึกจิตที่ถูกต้อง มีใจความสำคัญ ดังนี้

ธรรมชาติของสภาวะจิตที่ยังไม่มีการฝึก มีลักษณะ 4 ประการ คือ

1. ชอบบังคับโลกให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนา

มนุษย์ชอบบังคับคนรอบข้างและสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่ใจต้องการ เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็เกิดความหงุดหงิดงุ่นง่านพร้อมที่จะระเบิดอารมณ์เพื่อระบายความคับข้องใจ หรือใช้กำลังอำนาจขู่เข็ญเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนประสงค์ หรือเพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้เป็นจุณ จิตใจมนุษย์ที่ยังไม่มีการฝึกยากที่จะมีการยับยั้งชั่งใจ จึงส่งผลให้พฤติกรรมที่แสดงออกมาไม่ต่างจากสรรพสัตว์ที่รังแต่จะใช้อารมณ์และกำลังเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกัน

2. คิดว่าทุกอย่างจะต้องเป็นเหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงไม่ได้

จิตที่ยังไม่ได้ฝึกมักคิดว่าทุกอย่างจะต้องเป็นเหมือนเดิมตลอดกาล เช่น เมื่อมีความสุขก็จะต้องมีตลอดไป ฉะนั้น เมื่อประสบกับความทุกข์แม้เพียงเล็กน้อยก็รับไม่ได้ ตีโพยตีพายทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ หรือในทางกลับกัน เมื่อประสบกับมรสุมชีวิตก็มักมีความท้อแท้ละเหี่ยใจกับโชคชะตาของตนเอง คิดว่าชาตินี้คงไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้อย่างแน่นอน เป็นต้น

3. มีความขุ่นมัวไปด้วยนิวรณ์ 5

นิวรณ์ 5 คือเครื่องเศร้าหมองใจที่ติดมากับกมลสันดานของมนุษย์ทุกคน มีดังนี้

1) ความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความอยากได้ในสิ่งที่ไม่ควรได้ หรืออยากได้ในเวลาที่ไม่เหมาะสม ความทะยานอยากของมนุษย์แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

- การยึดเกาะติดกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส (กามตัณหา)

- ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น (ภวตัณหา)

- ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น (วิภวตัณหา)

2) ความอาฆาตแค้นพยาบาท (อิจฉาริษยา)

3) ความง่วงเหงาหาวนอน เบื่อหน่ายเซ็งชีวิต (ถีนมิทธะ)

4) ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ หวาดกลัวเกินความเป็นจริง (อุกกธัจจะกุกุจจะ)

5) ความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา)

4. ยึดเกาะติดกับสิ่งสัมผัสที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะทั้ง 5 เมื่อร่างกายมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และสัมผัส ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส ย่อมเป็นธรรมดาที่จิตจะมีความชอบและไม่ชอบในทันทีทันใดที่ประสบกับสิ่งเหล่านั้น จิตที่ยังไม่มีการฝึกจะไม่มีความเป็นกลาง ชอบที่จะปรุงแต่งไปก่อนล่วงหน้าอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้เรามองความจริงที่กำลังปรากฎอยู่ตรงหน้าไม่ตรงตามความเป็นจริงนั่นเอง

วิธีการรับมือกับสภาวะจิตที่ยังไม่มีการฝึก

1) จะต้องไม่ให้ความคิดผุดขึ้นมาเองตามสภาวะธรรมชาติ

ความคิดที่ผุดขึ้นมาเองส่วนใหญ่เป็นความคิดในแง่ลบทำให้จิตใจเศร้าหมอง ว้าวุ่น และไม่ทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้าเท่าใดนัก ดังนั้น วิธีที่จะสกัดกั้นความคิดเหล่านี้ไม่ให้ผุดขึ้นมาเองคือ การเอาจิตไปเกาะที่อารมณ์โดยการมองดูอารมณ์ตลอดเวลา หรือเกาะที่ร่างกายโดยการออกกำลังกายมาก ๆ หรือเดินจงกรม หรือเพ่งดูความรู้สึกที่จุดสัมผัสระหว่างร่างกายกับสิ่งที่เราสัมผัสเช่น ขณะที่หยิบขวดน้ำให้เพ่งความรู้สึกไปที่ฝ่ามือที่กำลังสัมผัสกับขวดน้ำ เป็นต้น เมื่อความฟุ้งซ่านต่าง ๆ ลดน้อยลง จิตใจจึงจะเริ่มมีความสงบ มีความสุข ความคิดที่ดีและมีคุณภาพจะผุดขึ้นมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้นตามลำดับ

2) สร้างความคิดที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

ก่อนที่จะสร้างความคิดใหม่ ๆ ขึ้นมา เราต้องยอมรับความเป็นจริงทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเราทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวให้ได้เสียก่อน หลังจากนั้น จึงเริ่มฝึกมองความจริงตรงตามความเป็นจริง โดยการสร้างความคิดที่ถูกต้อง อันได้แก่

1. มองความจริงตรงตามความเป็นจริง

เมื่อเรามองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และสัมผัสสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา ให้รับรู้ถึงอาการเหล่านั้นโดยไม่ปรุงแต่งใด ๆ และประคับประคองจิตใจไม่ให้กระเพื่อมหรือหวั่นไหวไปกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น เมื่อจิตใจไม่กระเพื่อม นั่นก็คือการไม่ปรุงแต่งนั่นเอง

2. มองถึงหลักเหตุและปัจจัย (อิทัปปัจจยตา)

เริ่มสร้างมโนภาพและจินตนาการถึงสิ่งที่เราปรารถนา และมองย้อนกลับว่าเหตุและปัจจัยอะไรที่จะทำให้เราสมปรารถนา หรือในทางกลับกัน หากเรากำลังมีความทุกข์ ให้มองกลับว่าพฤติกรรมใดของเราในอดีตที่ส่งผลให้เรามีความทุกข์อยู่ในปัจจุบันนี้ เช่น เหตุที่เราตกงาน หรือยากจนข้นแค้นอยู่ทุกวันนี้ อาจเป็นเพราะเราไม่ตั้งใจทำงาน หรือทำงานไม่ตรงประเด็น เราใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่เคยประหยัดอดออม หรือเราชอบทะเลาะเบาะแว้ง หรือนินทาว่าร้ายเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น

3. คิดในสิ่งที่ตรงกันข้าม

เมื่อจิตใจกำลังว้าวุ่นสับสน เศร้าหมองให้คิดในสิ่งตรงข้าม เช่น หากเราไม่ชอบหน้าใครก็ตาม แต่จำเป็นต้องเจอหน้าทุกวัน หลีกเลี่ยงไม่ได้ให้คิดตรงข้ามว่า คน ๆ นี้น่าสงสารนะ เขาอาจจะกำลังมีความทุกข์อยู่ในใจ จึงแสดงพฤติกรรมที่รุนแรง และหยาบกระด้างออกมาเช่นนี้ เป็นต้น

3) วิธีสร้างกำลังของจิต

ฝึกสมาธิโดยการจับลมหายใจเข้าออก วิธีนี้จะทำให้จิตสงบ สงบจากความคิดที่ว้าวุ่นจึงจะทำให้จิตมีกำลัง หรือการเดินจงกรม หรือการมองดูอารมณ์ของตนเองอยู่ตลอดเวลา หรือการกระทำในทุก ๆ อิริยาบถให้ช้าลงหน่อย เพื่อให้มีสติตามทัน

4)ดูแลร่างกายให้แข็งแรง

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่จำเป็น ขณะที่กินควรเคี้ยวให้ละเอียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควรหัดควบคุมอารมณ์ให้คงที่ เพราะทุกครั้งที่เกิดอารมณ์แปรปรวนร่างกายจะปล่อยสารพิษออกมา เช่น เมื่อมีอารมณ์โกรธเกิดขึ้นร่างกายจะหลั่งสารคอร์ติโซล ซึ่งมีผลต่อการทำลายเนื้อเยื่อในร่างกาย ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม ใบหน้ามีริ้วรอย เป็นต้น



************************************

ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 01/05/2009
นานๆแวะมาที เลยเอาสรุปหนังสือ มาแจกให้อ่าน
ถ้าชอบก็ขอกำลังใจหน่อยนะครับ
จะเอาที่สะสมไว้มาแจกอีก เป็นระยะๆ

ขอสวัสดี น้องใหม่ของเรา น้อง ฟาง
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 01/05/2009
โอวว์....สว่างไสว งดงามดังพระอามทิตย์ยามเช้าเลยครับ
ชอบที่สุด ผมตามเก็บปริ๊นส์หมดแล้วครับ ด้วยความขอบพระคุณอย่างสูงในความกรุณาครับผม ขอคุณผู้อ่าน สุขอิ่มเอมเปรมใจ สมหวังในทุกสิ่งครับ ยิ้มๆๆๆๆ
ชื่อผู้ตอบ : โก้ครับ ตอบเมื่อ : 02/05/2009
หมายความว่าสรุปเอาเองเหรอครับ ดีครับเลือกใช้ได้เลยตามจริตของแต่ละคน ขอบคุณคุณผู้อ่านครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 02/05/2009
คุณผู้อ่านหายไปนาน พอมาทีก็มีสิ่งดีดีมาฝากกันอีกเพียบ ขอบคุณนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : dadeeda ตอบเมื่อ : 02/05/2009
สวัสดีค่ะ พี่ผู้อ่าน ^^

ขอบคุณสำหรับสรุปหนังสือดีดีนะคะ

การฝึกจิตให้เงียบสงบยากจังเลยค่ะ T^T
เพราะอยากทำให้ได้ไวไว รึเปล่าอ่ะคะ ถึงทำไม่ได้ซักที
ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 02/05/2009
ขอขอบคุณกำลังใจจาก คุณอาๆ พี่ๆ และน้องฟางครับ
ผมไม่ได้สรุปเองหรอกครับ แต่มีครูของผมสรุปเอาไว้
ผมถือเสมอว่า ชีวิตก็เหมือนคอมพิวเตอร์ หน้าที่ของผม
คิดหา software เอาไปใส่ ความคิดลบก็เหมือนไวรัสครับ
สิ่งพวกนี้ก็เปรียบได้กับ norton เอาไว้ปราบไวรัส
สิ่งที่ผมค้นพบคือ ในโลกชีวิตจริงเรามีโอกาสติดไวรัสความคิด
(ไม่ได้หมายถึง ไข้หวัดหมูนะครับ ) มากกว่าในinternet ซะอีก
ถ้าเป็นในinternet เรามีnorton ก็ไว้ใจได้ แต่ถสำหรับชีวิตแล้ว
นอกจากจะมีsoftware anti virus แล้ว ยังต้องมีสติ เพื่อ activate มันอีก ถ้าไม่ activate ก็เปรียบได้กับสิ่งที่พระพทุธทาสเรียกว่า "เต่าแบกคัมภีร์"

------------------to น้องผาง---------------------------
การฝึกจิตให้สงบ ไม่ยากหรอกครับ พระพุทธเจ้าท่านให้วิธีไว้ตั้ง 40 วิธี เลือกตามสะดวกเลย มีตั้ง 40 อย่าง มันต้องมีซักอย่างหนะ ที่โดนกับน้องฟาง

สิ่งที่พี่จะแนะนำน้องฟางคือ
"ถ้าทำแล้วจิตไม่สงบ ก็ปล่อยมันครับ ปล่อยให้มันไม่สงบ(น่าน....งง อ่ะดิ)"
จิตมันมีสภาวะตามธรรมชาติที่จะคิดอยู่แล้วครับ แล้วเราก็ใช้มันคิดมาตั้งเป็นสิบๆปี เหมือนกับปล่อยเด็กคนนึงให้วิ่งเที่ยวเล่นมานานเป็นสิบๆปี อยู่ๆจะมาสั่งให้นั่งเฉยๆย่อมเป็นเรื่องยากครับ เว้นแต่จะมีเทคนิกครับ ซึ่งเทคนิกก็มีมากมายในประไตรปิฎก อย่างที่กล่าวไว้ว่ามี 40 วิธี แล้วในแต่ละวิธียังมี detail อีก

วันนี้ลองแนะนำแบบ ออเดริป ดูก่อนถ้าน้องฟางอยากรู้ก็ค่อยมาคุยกับพี่ผู้อ่านใหม่แล้วกันนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 02/05/2009
พี่ผู้อ่านเปรียบเทียบเห็นภาพเลยค่ะ ...
ที่เปรียบจิตเหมือนเด็ก ... เข้าใจมากขึ้นเลยค่ะ ว่าทำไมทำไม่ได้

แล้วหนูต้องลอง ทั้ง 40 วิธีเลยมั้ยอ่ะคะ T^T
เราจะรู้ได้ยังงัยคะ ว่า จิตเราสงบแล้ว ...
หนู ไม่เคยเข้าถึงสภาวะนั้นเลยค่ะ

เคยอ่านนหังสือจินตนาการสร้างสรรค์ ตามที่คุณแม่แจงแนะนำ
ก็สร้างจินตนาการไปเรื่อย แต่จิตก็ยังคงวุ่นวาย T^T

แล้วในหนังสือ พูดถึงตันตนที่สูงล้ำกว่าด้วยอ่ะค่ะ
ว่าเราสามารถติดต่อกับตัวตนที่สูงล้ำกว่าได้ด้วยการทำสมาธิ
แต่หนูลองทำทีไร หลับไปเฉยเลยอ่ะค่ะ >< เขิลจัง

หนูขอคำแนะนำ คุณลุง คุณน้า คุณพี่ๆ ด้วยนะคะ ...
หนูมีความสนใจในเรื่องนี้จริงๆค่ะ

รบกวนด้วยนะคะ ... ขอบคุณค่ะ ^^




ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 02/05/2009
aha...thanks kha :O)
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 02/05/2009
ตามความเห็นของพี่เองแล้ว
ไม่ว่าตัวตนที่สูงกว่าจะมีจริงหรือไม่
แต่การทำใจให้สงบ มันมีประโยชน์อยู่แล้วครับ

เค้าบอกกันว่า
"จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" หรือ
"ใจคือประธานของสิ่งทั้งปวง" หรือ
"ทุกอย่างสำเร็จลงได้ด้วยใจ"

แต่วันๆนึงเราดูแลใจมากแค่ไหน

เราแปลงฟันวันละ 2 ครั้ง
เราอาบน้ำวันละ เช้า เย็น (ถ้าร้อนๆก็กลางวันด้วย)
ถ้าวันไหนไม่อาบน้ำแปลงฟัน เราคงไม่กล้าออกไปพบใครต่อใครแน่นอน แล้วก็คงทนตัวเองไม่ได้ เพราะสิ่งสกปรกของเมื่อวานที่สะสมนฟันเรา ในเนื้อตัวเรา มันคงเริ่มทำให้เราเน่าไปทุกที
แต่มีสักกี่ครั้งที่เราคิดจะทำความสะอาดใจเรา วันๆนึงใจเราก็ได้รับสิ่งสกปรกมากมาย เช่นเมื่อวานเราอาจจะโกรธใครนึงอยู่ ถ้าเราไม่จัดการกับใจเราซะ สิ่งสกปรกนี้มันก็จะเริ่มเน่าและส่งกลิ่นเหม็น เหมือนกับเราไม่ได้แปลงฟันแล้วปากเหม็นนั่นแหละ ดังนั้งไม่ว่าตัวตนที่สูงกว่า จะมีตัวตนหรือไม่ การทำความสะอาดใจเรา ก็ควรจะอยู่ในภาระกิจนึง เช่นเดียวกับการอาบน้ำ แปลงฟัน
-------------------------------------------------------------------
วิธีการทำสมาธิ ไม่จำเป็นต้องทำ ทั้ง40 แบบครับ
พระพุทธเจ้าท่านทรงติดฉลากให้กับวิธีทั้ง 40 วิธีเพื่อบอกว่า
ใครเหมาะกับวิธีไหนเรียบร้อยแล้ว
พระองค์ทรงแบ่งคนเป็น 6 ประเภท แล้วก็ ให้ direction การปฎิบัติ
ไว้สำหรับคน 6 ประเภท ดังนั้นเมื่อรู้ว่าเราเป็นประเภทไหนแล้วปฎิบัติ
ถูกต้องก็จะเป็นเร็วแบบก้าวกระโดด แต่ถ้าผิดจริต "ชาติหน้าตอน afternoon" ก็ยากจะสำเร็จครับ

ที่เล่ามาเมื่อกี้มันคือหลักการครับ

ในทางปฎิบัติ มันมีวิธี ง่ายๆ อีกมากมายที่สอนให้กับคนส่วนใหญ่
เช่น
วิธี นับคำ ของหลวงวิจิตรวาทการ
วิธี หายใจทางเท้า ของพระอาจารย์มิซูโอ๊ะ
วิธี ตามรู้การคิด จนการคิดหยุดลง
วิธี หายใจลากเส้น ของ หลวงปู่พุทธอิสระ
วิธี ชินบัญชร ของหลวงพ่อโต
ฯลฯ
ซึ่งวิธีหลังๆใจเป็นสมาธิได้ง่าย และเป็นวิธีที่apply มาจาก40 แบบแรกครับ

การทำสมาธิมันมีมานานแล้วครับ นานกว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติอีก เพราะตอนหนุ่มๆ ก่อนจะมาเป็นพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธะก็ทรงเรียน
วิชาสมาธิมาเหมือนกัน ดังนั้นสมาธิไม่ใช่เรื่องยากครับ เค้ามีตั้งแต่โบราณ แต่สมาธินั้นอาจจะไม่ใช่คำตอบของทุกปัญหา ในตำราเค้าเรียกว่าวิธี "หินทับหญ้า" ถือถ้าเอาหินออกหญ้าก็จะโต ..... แต่มันก็ยังดีกว่าปล่อยให้หญ้าโต อย่างน้อยหญ้าไม่ตาย แต่ก็ไม่โต

ไปและครับ...เอาไว้ว่างๆค่อยแวะมาคุยใหม่
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 03/05/2009
ขอแก้คำว่า
แปลงฟัน เป็น แปรงฟัน นะครับ
เพื่อความถูกต้องของภาษา
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 03/05/2009
โอววว เกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่
ผมเพิ่งไปไล่อ่าน กระทู้เก่าๆ
ถึงทราบว่า ฟางน่าจะอายุ พอๆกันกับผม
ตอนแรกเห็นเรียกว่าน้องๆ กัน เลยเรียกตาม
(บอกแล้ว ว่าอย่าเชื่อเพราะว่าตามๆกันมา)

แต่พอเปิดดูกระทู้เก่าๆ ก็ทำให้พบว่า อายุน่าจะพอๆกัน
ผมก็จบ ป ตรี เตรียมรับปริญญา เหมือนกัน

ยังไง มีไรค่อยคุยกันใหม่นะ ฟาง
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 03/05/2009
คุณผู้อ่านเกิดปี 31 หรือ 30 ครับ
ผมเกิด 31
ที่อยากรู้มานานคือคุณผู้อ่านเรียนคณะอะไรน่ะครับ ถึงมาสนใจหนังสือแนวนี้
ชื่อผู้ตอบ : นิก-สปิริต-นิวเอจ ตอบเมื่อ : 03/05/2009
ถ้าคุณผู้อ่านเกิดปี 31 เหมือนผม คงจะไม่ใช่ความผิดพลาดครั้งใหญ่แล้วล่ะครับ แต่เป็นครั้งอภิมหาอลังกโ-ตรใหญ่เลยทีเดียว(ฮา)
ชื่อผู้ตอบ : นิก-สปิริต-นิวเอจ ตอบเมื่อ : 03/05/2009
แล้วอภิมหาคัมภีร์แห่งความสำเร็จ(QUANTUM SUCCESS) ของสนพ.ต้นไม้ที่เมื่อก่อนผมแนะนำว่าชื่อ เดชคัมภีร์เทวดา ที่คุณผู้อ่านเมื่อก่อนถามถึงประจำ คุณผู้อ่านได้อันเชิญเข้าบ้านมาหรือยังครับ เห็นไม่พูดถึงเลย
ชื่อผู้ตอบ : นิก-สปิริต-นิวเอจ ตอบเมื่อ : 03/05/2009
ผมเกิด 30 ครับ

หนังสือ quantum success ผมได้อ่านแบบแว๊บๆ ตามร้านหนังสือแล้ว
หลายครั้ง จริงก็เรียกได้ว่า แอบอ่านมาเกือบหมดแล้ว แต่ยังไม่ได้ซื้อตัวหนังสือจริงๆขึ้นมาครับ

สำหรับ เรื่องคณะ ผมเรียนคณะวิศว ครับ

ผม งง ๆ ตรงที่คุณนิกบอกว่า ถ้าผมเกิดปี 31 จะผิดพลาดครั้งใหญ่
เพราะอะไรหรอครับ
อย่าบอกนะ ว่า เอาปีเกิดผมไปทำ เสน่ห์เรียบร้อยแล้ว
"บ้าน่ะตัวเอง แอบชอบเค้าก็ม่ะบอก" 555555


ที่จริงช่วงนี่เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาไม่ค่อยมีครับ
ถ้าว่างๆจากภาระกิจก็เน้นฝึกสติ กับสมาธิ ซะส่วนมาก
เรื่องหนอนหนังสือ ต้องยกให้คุณนิกจริงๆ ผมยอมแพ้
ผมเป็นเพียง practitioner ครับ ไม่อยากเป็นปราชญ์
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 03/05/2009
เป็น practitonner น่ะดีแล้วครับคุณผู้อ่าน เป็นปราชญ์ฟังแล้วดูเคร่งเครียดยังไงไม่รู้
แต่การเปิดสนพ.น่ะ คงจะเป็นอาชีพผมในอนาคตมั้งครับผมถึงชอบหาอ่านมาเผื่อถูกใจเล่มไหนจะได้ลองแปลดู จะเลือกแต่เล่มฟอร์มยักษ์จริงๆครับ เพราะรู้ว่ายังมีหลายเรื่องที่ต้องทำ ถ้าเขียนแบบหน่อมแน้ม หรือธรรมดาเกินไปผมก็ไม่อ่านเหมือนกัน อย่างของดีพัค โชปราเนี่ยถือว่าฟอร์มยักษ์ครับ อย่าง7กฏเนี่ยเล่มเล็กแต่ก็ถือว่าฟอร์มยักษ์เพราะอัดแน่นไปด้วยความเข้าใจ โชปราเป็นนักเขียนที่ถือว่าคำนึงถึงผู้อ่านเป็นหลักก็ว่าได้ ซึ่งผมนับถือในความสามารถของเขามาก เพราะมันมีหนังสือประเภทคนเขียนเขียนเอามันส์ คือคนเขียนเขามันส์เวลาเขาเขียน เขาก็เลยพร่ำพรรณนาเพ้อพก เล่าเรื่องตัวเองมากเกินไปเนื้อหาสาระแทบจะไม่มีเลยก็มี
ผมก็ต้องเลือกพอสมควรครับ
คงไม่ถึงขนาอ่านทุกอย่างที่ขวางน่าครับ
คุณผู้อ่านเรียนวิศวน่ะ อ่านหนังสือนอกเวลาน้อยๆก็ดีแล้วครับ เพราะแค่วิชาที่เรียนก็บรมโ-ตรยากพอสมควรอยู่แล้ว(ฮา ผมได้ยินกิตติศัพท์มาพอสมควรน่ะครับ)
เรื่องปีเกิดที่ผมถามไม่ใช่อะไรหรอกครับ ตอนแรกที่คุยๆกันในเว็บบอร์ดนี้ผมนึกว่าคุณผู้อ่านอายุเท่าผม(เกิด31เหมือนกัน)ไม่นึกว่าจะเป็นพี่ผมปีนึง เพราะถ้าคุณผู้อ่านเกิดปี 31 เหมือนผม แล้วไปเรียกฟางว่าน้องนั่นแหละครับผิดพลาดครั้งใหญ่55555
ชื่อผู้ตอบ : นิก-สปิริต-นิวเอจ ตอบเมื่อ : 03/05/2009
เมื่อก่อนผมไม่เคยอ่านหนังสือแนวนี้ ผมชอบเกี่ยวกับหนัง-ละคร ผมก็จะดูออกว่าเรื่องไหนฟอร์มยักษ์ เรื่องไหนปัญญาอ่อน ไม่ได้อยู่ที่จำนวนวันที่ละครฉาย(เพราะก็ประมาณเดือนนึงพอๆกันทุกเรื่อง)แต่อยู่ที่ว่าเนื้อหาเข้มข้น ล้ำลึก มีความซับซ้อน หรือเป็นเชิงที่ตัวละครมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ดุจเทพแบบที่โชปราว่ามั้ยนัน่แหละครับฟอร์มยักษ์ แบบปัญญาอ่อนก็คือดูมาเกือบ 20 วันแล้วก็ยังไม่ไปถึงไหน ยังกัดกันอยู่แต่เรื่องเดิมๆ เหมือนไม่รู้จะหาอะไรมาเล่นให้คนดูดีแล้วก็วนกันอยู่ที่ปลอมตัวเป็นคนตาบอด(ซึ่งดูยังไง้ก็ไม่บอด)เปิดหม้อเปิดไหกันอยู่นั่นก็มีครับ ส่วนหนังไม่เคยดูเลยจริงๆครับ(หลายท่านคงจะแปลกใจมาก)แต่ก็พอจะแยกได้ว่าอันไหนคลาสสิกฟอร์มยักษ์ อันไหนสักแต่ว่าทำออกมาขาย หนังสือก็เหมือนกันครับ ทำหนังสือแนวสนพ.ต้นไม้หรือสนพ.โอ้มายก้อดหรือแม้แต่หนังสือ 7 กฏของคุณนันท์เองก็ต้องทำใจนิดนึงว่าหนังสือมันคงจะมีค่ามากเกินไปที่จะขายดีในประเทศนี้ แต่เราทำหนังสือเราต้องมีใจรักในการทำครับ เสนอแต่สิ่งที่เราพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์และพัฒนาจิตวิญญาณให้กับคนอ่าน ถ้าจะทำเพื่อเงินอย่างเดียวคงจะทำได้แต่แนวละลายกรรม ล้างกรรม สแกนกรรม หรือไม่ก็ไปแนวเรื่องสั้นแบบ คำสารภาพของเด็กใจแตก เรื่องคาวของสาวแดนเซอร์ ผู้ชายฮอร์โมนเน่า(ฮา)ทำนองนี้เป็นต้น ถ้าผมเปิดธุรกิจสนพ.แล้วผมทำหนังสือแนวนี้ผมรวยเละ แต่ผมยึดถือคำพูดหนี่งของพระเยซูที่โอโช่นำมาพูดไว้ในหนังสือปัญญาญาณของเขา ซึ่งคิดว่าเจ้าของสนพ.ที่ทำหนังสือแนวที่ผมยกตัวอย่างมาข้างบนนี้คงจะไม่เคยได้อ่านหรือเห็นผ่านตา หรืออาจจะเห็นแต่ไม่ใส่ใจ คำพูดนี้คือ:
"มนุษย์จะได้อะไร ถ้าเขาต้องเสียจิตวิญญาณของเขาไป แต่ได้โลกมาทั้งใบ"
ชื่อผู้ตอบ : นิก-สปิริต-นิวเอจ ตอบเมื่อ : 03/05/2009
คุณนันท์ครับกระทู้อันล่างสุดของผมนี่ ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็ลบทิ้งได้เลยนะครับ ผมต้องขอโทษที เพราะพักหลังๆมาเนี่ยสัญญากับตัวเองแล้วว่าจะไม่ว่าหรือวิจารย์ใครอีก แต่สติไม่แข็งพอ เผลอพูดถึงเรื่องหนังสือฟอร์มยักษ์นิดเดียว ก็เลยเลยเถิดไปต่อว่าหนังสือแนวที่ผมเห็นว่ามันไม่ได้เรื่อง(ซึ่งผมก็ไม่ควร ไปตัดสินดี-เลว ถูก-ผิด) มีอยู่วัหนึ่งเข้าไปในเว็บบอร์ดของสนพ.โอ้มายก้อด คนตั้งกระทู้ตั้งใจจะต่อว่าสนพ.โอ้มายก้อดเรื่องหนังสือสนทนากับพระเจ้า พูดทำนองว่า ที่ออกแต่ละเล่มออกมาช้าเหลือเกิดต้องการจะหลอกเงินคน โดยพูดว่าพระเจ้าลวงเงิน พระเจ้าโฆษณาเสื่อม แถมชื่อนามแฝงมันยังใช้ชื่อว่าเสื่อม ก็มีการอธิบายกันให้เข้าใจยกใหญ่ มีคนๆหนึ่งที่พูดได้ดีมากบอกว่า ถ้าสนพ.จะทำเงินจากการทำหนังสือคงไม่ทำหนังสือ CWG หรอกครับ เพราะเป็นแนวที่เสี่ยงจะขายไม่ดีเอามากๆ ซึ่งผมก็เห็นด้วยเลยไปเสริมต่อว่า ถ้าสนพ.อยากจะรวยโดยการทำหนังสือจริง คงไม่มาทำหนังสือแนวนี้หรอก คงไปทำแนว แก้กรรม ล้า งกรรม สแกนกรรมอะไรเทือกนั้น คือผมเข้าใจ และเห็นใจคุณอัฐพงศ์ครับที่อาจจะมีผู้ไม่หวังดีมาว่าๆที่ทำอยู่เนี่ยหลอกลวง แต่ผมดูจากแนวหนังสือทั้งที่สนพ.โอ้มายก้อด สนพ.ต้นไม้ สนพ.โกมลคีมทอง สวนเงินมีมาและก็อีกหลายสนพ.ผมก็รู้ว่าจุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อเงิน เงินเป็นผลพลอยได้จากการตั้งใจรังสรรค์ผลงานที่เปี่ยมล้นด้วยความงดงามมาให้คนได้อ่าน ได้ปรับใช้ ได้แนวคิดชีวิตที่หลุดจากกรอบแคบๆดั้งเดิมที่เคยยึดถือมา บางทีผมเห็นแวที่ไม่น่าจะมีประโยชน์หรือจรรโลงใจอันใดเลยแต่ดันขายดี ผมก็ hurt เล็กน้อย ในฐานะผู้มีใจรักอยากจะทำงานหนังสือแนวจิตวิญญาณแนวที่คนไทยยังชอบอ่านน้อยอยู่ คุณวันชัยเคยบอกว่ามันต้องใช้เวลานิดนึง เพราะมันเกี่ยวกับจังหวะและช่วงวิวัฒนาการในแต่ละช่วงหนึ่งๆ ยังไงต้องขออภัยมานะที่นี้ด้วยถ้าข้อความของผมไปอาจจะทำให้เสียความรู้สึก หรือปล่อยคลื่นพลังงานลบไปบ้าง
คงไม่ได้มาคุยที่บ่อยๆอีกแล้ว เพราะต้องเข้ามหาวิทยาลัย(เสียที) ยังไงก็ถ้ามีอะไรดีดี ที่ผมพบเจอทั้งด้วยประสบการณ์จริงและอ่านจากในหนังสือ จะมาเล่าสู่กันฟังเป็นระยะๆนะครับ ขอบคุณมากครับ
ชื่อผู้ตอบ : นิก-สปิริต-นิวเอจ ตอบเมื่อ : 03/05/2009
เราแต่ละคนก็มีทัศนะ อันเป็นกรอบในการมองของแต่ละคนไม่เท่ากัน สำหรับผมสิ่งใดก็ตาม ตราบใดที่ผมเข้าใจได้ว่า การกระทำนั้นมันเป็นไปเพื่อสิ่งที่ดีงามหรือดีขึ้น (ตามทัศนะของเขาเอง) ผมจะยินดีกับสิ่งที่เขาทำครับ รวมทั้งสิ่งที่คุณนิก ทำอยู่นี้เช่นกันครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 03/05/2009
ดีใจที่นิก มีเป้าหมายชีวิตที่จะผลิตหนังสือดี เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ ถ้าคุณนิกจะแปลหนังสือทำ สนพ ขึ้นมาจริงๆ ผมว่า สนพ.ต้นไม้ ต้องหนาวๆร้อนๆแล้วแหละครับ เพราะเท่าที่จำได้ คุณวันชัย ศึกษาเรื่องเหล่านี้ตอนที่โตกว่านิก ดังนั้นนิกศึกษามาก่อนขนาดนี้ คงจะเป็นผู้เชี่ยวชาญแน่นอน



ผมได้ไปอ่านกระทู้เก่าๆ ดูแล้วฟาง อยากเรียนฝึกการทำใจให้สงบ หรือสมาธิ จริงๆ ... ผมเองก็อีกคนนึงที่เมื่อหลายปีก่อน ก็เที่ยวหาคนสอนการทำสมาธิหรือทำใจให้สงบ เช่นกัน ผมทั้งอ่านหนังสือ ทั้งสอบถามผู้รู้ ทั้งหาครูอาจารย์ จำนวนมากมาย เพราะอยากจะฝึกการทำจิตสงบให้ได้จริงๆ ผมจึงเข้าใจความรู้สึกของฟางเป็นอย่างดี เพราะเหมือนผมเมื่อหลายปีก่อน
ถ้าฟาง อยากจะหัดการทำสมาธิ ผมก็ยินดีที่จะให้การสนับสนุนครับ บางอย่างผมก็พอแนะนำเองได้ แต่บางอย่างก็คงต้องส่งต่อให้อาจารย์ผม
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 03/05/2009
ดีใจจังเลยค่ะ ที่อายุเท่าๆกัน ฟางก็เกิด 30 เหมือนกัน อิอิ

เรื่องฝึกสมาธิ คือ อยากทำให้ได้มานานแล้วค่ะ
แต่ทำไม่ได้ซักทีก็เลย พยายามทำตัวลืมๆไป อะไรแบบนี้อ่ะค่ะ -*-

จนมาอ่านหนังสือแนวๆนี้มากขึ้น ก็เลยเหมือนย้ำอยุ่ตลอดเกี่ยวกับเรื่องฝึกสมาธิ

รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโอนเอียงง่ายมากเลยค่ะ ...
บางครั้งจิตใจเหมือนไม่แข็งแรง ฮ่าๆ
แบบว่ามักเอียงไปกับคำพูดลบๆของคนอื่น -*-
(ทั้งๆที่อ่านหนังสือมาก็หลายเล่มแล้ว)

แล้วก็ไม่เคยนั่งสมาธิได้สำเร็จเลย
คือ ไม่เคยรู้สึกได้ถึงความสงบในจิตใจว่ามันเป็นยังงัยอ่ะค่ะ
เลยไม่รู้ว่า สมาธิคือ ยังงัย T^T

วันนี้อ่านหนังสือ 7 กฎฯ ครบทั้ง 7 ข้อแล้ว
งงใน กฎข้อที่ 6 มากมายเลยค่ะ
กฎของการปล่อยวางอ่ะค่ะ

ใน "การละทิ้งความยึดติด" อ่ะค่ะ คือ ยังงัยอ่ะคะ
และที่ว่า "การละทิ้งซึ่งการยึดติดกับสิ่งที่เคยรู้ และก้าวสู่สิ่งที่ไม่อาจรู้"
และประสบการ์ที่ไม่แน่นอน มันคือประสบการณ์แบบไหนคะ

มันอาจเคยเกิดขึ้นแล้วโดยที่ฟางไม่รู้ตัวรึเปล่าคะ

รบกวนด้วยนะคะ T^T ฟางยังมีข้อสงสัยอีกมากมายเลยค่ะ
หวังพึ่งพิง ทุกๆคนในบ้านนี้ช่วยไขข้อข้องใจให้ทีนะคะ

ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ ^^
ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 04/05/2009
ถ้าอยากฝึก ก็ยินดีที่สอนสมาธิให้
แล้วใจเข้าใจว่าทำไมเค้าถึงบอกว่า
"สุขอื่น ยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี"
ประโยชน์ของสมาธิ มีมากมายยยยยยยย


ถ้าสนใจ ก็โทรคุยกันได้ หรือ msn
เราไม่สะดวกให้เบอร์มือถือเราตรงนี้
รบกวนฟาง ติดต่อมาที่เมลล์ของเราแล้วกัน
surachet_chet123@yahoo.com
เรายินดีที่จะสอนให้เป็นวิทยาทาน
เพราะ"การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง"

บ๊ายบาย
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 04/05/2009
อ่านจบแล้ว ดีใจ (ลุงเองดีใจ ที่มีคนอ่านจบเพิ่มขึ้นอีกคน) งงเลย ใช่มั้ย เป็นธรรมดานะ

หลานฟาง เรื่อง "กฎของการปล่อยวาง" รวมทั้ง "การละทิ้งความยึดติด" ลุงและ ป้า พี่ น้า อา เพื่อนๆ เคยคุยกันอยู่บ้าง หลานฟางลองตามไปอ่านดูที่กระทู้ชื่อเหล่านี้

> สงสัย กฎแห่งการเปล่อยวางครับ
> “surrender” การปล่อย หรือ การยอม (ให้มันเป็นไป)
> อะไรคือความแตกต่างระหว่าง คิดบวก -ประมาท-มองความจริงตามความเป็นจริง
> ว่าด้วยกฎข้อที่ 5 "the law of intention and desire"
> คุณนันท์ แชร์ประสบการณ์ จาก 7 กฏ ฯ

ความจริงมีแทรกซึมอยู่ในกระทู้อื่นๆ อีก ซึ่งอาจพอขยายความเข้าใจได้บ้าง ลองตามอ่านดู หากยังมีประเด็นเพิ่มเติมถามต่อได้อีกครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 05/05/2009
ขอบคุณคุณลุงนันท์มากค่ะ
ขอบคุณผู้อ่านด้วยค่ะ ^^

ตอนนี้คงตามไปอ่านกระทู้ที่ลุงนันท์แนะนำ ก่อนนะคะ อิอิ
ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 05/05/2009
ขออนุญาติขอบคุณ คุณลุงนันท์ ในกระทู้นี้เลยนะคะ

"ขอบพระคุณ คุณลุงนันท์อย่างสูงค่ะ"

หนูเข้าใจในเรื่องการปล่อยวางกระจ่างชัดเลยค่ะ
ตอนนี้หนูคิดว่า จะปล่อยวางได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับจิตใจของตัวเอง
ที่จะปรุงแต่งความกลัว ความวิตกจริตขึ้นมาเองมั้ย -*-

หากเปรียบเป็นสถาณการ์ณหนึ่งนะคะ ...

เมื่อหนูปรารถนาในสิ่งหนึ่งสิ่งใด หนูมีความตั้งมั่น มุ่งมั่นว่าจะสมปรารถนา หนูเพียงมองเห็นภาพความสมปราถนานั้นอย่างแจ่มชัด
โดยปราศจากซึ่งความวิตกกังวล ความกลัว หรือ ความคลางแคงสงสัยใดๆ
การปราศจากความคิดวิตกกังวล กลัวในผลลัพธ์ ก็ คือการที่หนูปล่อยวางจากการยึดติด หนูเข้าใจถูกแล้วใช่มั้ยคะ
แล้วถ้าเมื่อไหร่หนูเกิดความกลัว ความวิตกกังวล ก็ให้ตระหนักรู้เท่าทันมันใช่มั้ยคะ ว่าเนี่ย ไม่ใช่ละ จิตปรุงแต่งขึ้นมาเองแล้วนะ
แล้วก็ทำใจให้สงบ แบบนี้รึเปล่าคะ

การที่เราจะกำจัดจิตที่ปรุงแต่ง การนั่งสมาธิคือ วิธีที่จะช่วยได้ใช่มั้ยคะ

เอ่อ แล้วในขณะพิมพ์อยู่นี่ อยู่ๆหนูไปนึกถึง แฮรี่พอตเตอร์อ่ะค่ะ (ฮ่าๆ ซะงั้น)
นึกถึงตอนที่ แฮรี่ส่องกระจก แล้วเห็นตัวเองในกระจกเอามือล้วงกระเป๋าแล้วมีศิลาจารึกอยู่ในกระเป๋า แล้วพอล้วงจริงๆ ก็มีจริงๆ
มันคงไม่เกี่ยวอะไรก็การปล่อยวางมั้งคะ แต่จิตหนูดันฟุ้งไปนึกถึง (ฮ่าๆ เพี้ยนแต่เช้าเลย >///<)

ขอบคุณคุณลุงนันท์อีกครั้งนะคะ ...
ขอบคุณคำถามของผู้อ่านด้วยค่ะ เป็นคำถามที่ฟางเองอยากรู้และสงสัยมานาน พอได้อ่านที่คุณลุงนันท์ ท่านอ.วสันต์ และผู้รู้หลายๆท่านมาตอบ กระจ่างชัดมากเลยค่ะ ...

อ่านทฤษฎีแล้ว ตอนนี้ต้องเหลือ ภาคปฏิบัติ อิอิ ^^

PS.
- เรื่องฝึกสมาธิแอดเมล์ผู้อ่านไปแล้ว รบกวนด้วยนะคะ
- ประโยคของคุณแฟนพันธ์แท้ที่ ผู้อ่านบอกว่า โดน นี่ โดนเหมือนกันเลยค่ะ อยากให้ผลมัน เป๊ะๆ จริงๆเลยน๊า

^_______________^ วันนี้ รู้สึกดีแต่เช้าเลยค่ะ
"ขอบคุณทุกๆคน ในบ้านหลังนี้ค่ะ ... สุดยอดจริงๆ"









ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 05/05/2009
เมลล์มาแล้วหรือครับ

ยังไม่ได้รับเลย รบกวนเมลล์อีกรอบนึง
นะครับ ผมยินดีแนะนำ เพราะเข้าใจความรู้สึก
ของคนที่นั่งสมาธิไม่เป็น เหมือนกันครับ


สุดท้ายนี้มันมี เคล็ดลับข้อนึงของการทำสมาธิครับเค้าบอกว่า
"ความสุข เป็นเหตุใกล้ ให้เกิดสมาธิ"
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 05/05/2009
ยังไม่ได้ส่งเมลืไปเลยค่ะ
แต่แอดเมล์ผู้อ่านไว้ใน MSN

เด๋วจะส่งเมล์ไปรบกวนนะคะ อิอิ

"ความสุข เป็นเหตุใกล้ ให้เกิดสมาธิ" หมายถึงยังงัยอ่ะคะ

หากเรามีความสุข เราจะสามารถเข้าใกล้กันเกิดสมาธิหรอคะ
จิตใจที่มีความสุข จจะทำให้เกิดสมาธิได้เร็วหรอคะ
หรือยังงัย

ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 05/05/2009
ผมก็ยังไม่ได่เมลล์อยู่ดี(ตอนเปิดดู บ่าย3โมงครึ่ง)
เอางี้ครับ ลงเมลล์ของฟางไว้เลยได้มั๊ยครับ
เดี๋ยวเราแอ๊ดเธอและส่งเมลล์ไปหาเธอเอง
----------------------------------------------------------
คำว่า ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ ก็คือ
เมื่อใจเรามีความสุข ใจเราก็จะมีสมาธิได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงสมาธิได้ง่าย

ดังนั้นถ้าฟางนั่งแล้วก็หงุดหงิดกับตัวเองทำไมนั่งไม่ได้ซักที ใจก็ไม่มีความสุขใช่มั๊ย? ดังนั้นตามหลักแล้วก็เป็นธรรมดาที่ใจไม่มีสมาธิ

หรือแม้แต่นั่งด้วยความอยาก เมื่อยาก ใจเราก็ไม่เป็นสุข (อยากสุข ก็ถือเป็นความอยาก) เช่นอยากจะได้นั่น ได้นี่ อยากจะพบกับตัวตนที่สูงกว่า อยาก.... ฯลฯ เมื่ออยากใจเราก็ไม่เป็นสุข ดังนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม ไม่เกิดสมาธิ

ดังนั้นตอนที่นั่งสมาธิ ก็ให้บอกตัวเองไว้ว่า ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ ถ้าที่ทำอยู่ไม่ใช่ความสุข ก็ไม่มีทางเกิดสมาธิครับ

คนที่กล่าวประโยคนี้ ไม่ใช่ผมกล่าวเอง แต่คนที่กล่าวคือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ แล้วผมก็พิสูจน์แล้วว่าจริง
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 05/05/2009
0.0 เห็นภาพเลยค่ะ
นี่เมล์ฟางค่ะ tatsu_winds@hotmail.com

ขอบคุณมากๆนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 05/05/2009
เรื่องการปล่อยวาง ลุงคิดว่าหลักนั้น หลานฟางจับได้แล้ว
เหลือการปฏิบัติ ฝึก รู้ทัน เห็นทัน อาการของจิตหรือใจ ที่มันวิตก กลัว นั้น ให้ทัน หรือรู้ตัวเร็วที่สุด มันจะได้ไม่เผลอนาน ลุงเองก็ฝึกอยู่เช่นกัน

คำว่าการ "ฝึกสมาธิ" ตามความหมายหรือความเข้าใจของลุง จะหมายถึง การฝึก ให้จิตสงบนิ่งลง โดยการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆ เพื่อให้กำลังจิตแข็งแรงมั่นคง ไม่ฟุ้งซ่านง่าย

ลุงจะใช้คำว่า "ฝึกวิปัสสนา" สำหรับการฝึก "รู้ตัว" โดยฝึกตามดู ตามรู้ ตามเห็น อาการหรือพฤติกรรมของกาย ของจิต หรือใจ หรือความคิด (ที่ฟุ้งซ่าน ปรุงแต่ง) หรือตามดูความรู้สึก ที่กำลังเกิด หรือ ความเป็นไปของสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ที่เรากำลังประสบอยู่ตรงหน้า

ตัวอย่างเช่น ทันทีที่หลานฟางเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งหล่อ แล้วเกิดปิ๊ง ก้รู้ทันว่าปิ๊ง รู้ทันว่าขณะนั้นเกิดความคิดว่าอย่างไร เช่น "หล่อจัง. . อยากรู้จัก ทำอย่างไรดี อ้าว . . มีผู้หญิงมาด้วย สวยด้วยแฮะ ว้า ! สงสัยมีแฟนแล้วแหงเลย" อาจเลยไปถึงรู้สึกอิจฉา จิตใจห่อเหี่ยว กลับบ้านแล้วยังนึกเสียดายอยู่เลย

โดยปกติเราเกือบทุกคน เกิดระบบวนคิด (ปรุงแต่ง) นี้โดยอัตโนมัติ "ไม่รู้ตัว" เขาให้ "รู้ตัว" ตั้งแต่เริ่มคิด ยิ่งเร็วยิ่งดี จะได้ไม่เผลอไปจนใจเสีย เสียใจ ทั้งที่ผู้หญิงคนนั้นอาจเป็นน้องสาว อาจเป็นคุณแม่ยังสาวของเขาก็ได้ ประมาณนี้ครับ

เหมือนที่หลานฟาง บอกว่ากำลังพิมพ์ แล้วจิตหรือความคิดมันแวบไปนึกถึง แฮรี่ พอตเตอร์ การฝึกวิปัสสนาก็เพื่อให้เรามีสติ "รู้ตัว" เห็นทันอาการเกิดหรืออาการไหวไปของความคิดได้ทัน ถึงแม้มันจะฟุ้งซ่านไป ก็เห็นว่ามันฟุ้ง ฟุ้งแบบรู้ตัว จะฟุ้งต่อก็ไม่เป็นไร เพราะรู้ตัวแล้ว ก็ไม่เรียกว่าฟุ้งซ่านแล้ว หรือจะหยุดฟุ้ง กลับมามีสมาธิกับสิ่งที่ทำต่อก็ได้ ในทางกลับกัน การมีสมาธิก็จะทำให้จิตเราแน่วแน่ไม่วอกแวก ก็ไม่เกิดปัญหาฟุ้งซ่านเช่นกัน มันเป็นของคู่กันในความเข้าใจของลุงครับ

หลานฟางคงเคยได้ยิน ที่เขาฝึกวิปัสสนากรรมฐาน แล้วพูดว่า กินหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ซึ่งเป็นการฝึกตามรู้ทันอาการเคลื่อนไปของกาย คือ เห็น รู้ทัน การกระทำต่างๆ นั้น เป็นต้น มันเป็นวิธีฝึกรู้ตัว ซึ่งเมื่อรู้ตัวได้เก่ง ก็รู้ทัน ทั้งกาย ใจ ความคิด ความรู้สึก ได้หมด

อันนี้เป็นสรุปความเข้าใจของลุงเองนะ สารภาพตรงๆ ลุงไม่ใช่นักปฏิบัติ ต้องคุณผู้อ่านนั่น เขาแน่นปึ้กเลยละครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 05/05/2009
ถ้าเป็นหนังจีน ก็ต้องใช้คำว่า "ข้าน้อยมิกล้ารับ"
ผมไม่ได้แน่นปึกขนาดนั้น ความรู้หางอึ่ง รวมกับการปฎิบัติ กระปิดกระปอย ก็คงไม่ทำให้ผมแน่เท่าตามที่คุณนันท์อ้างไว้ครับ

ผมเองก็เป็นครับ ที่บอกว่าทำเรื่องนึง แล้วใจก็คิดถึงอีกเรื่องนึง
โดยปกติแล้ว ใจมันทำหน้าที่ปรุงอยู่แล้วครับ มันทำหน้าที่เป็นพ่อครัว
ไม่ว่ากระทะไหนผ่านหน้ามันจับใส่ซิอิ้ว น้ำปลา หมด แต่ถ้าหน้าที่ของวิปัสสนา ไม่ได้ไปสั่งพ่อครัวว่าห้ามปรุงนะครับ แต่เพียงไปรู้ให้ทันว่าพ่อครัวกำลังปรุงอยู่เท่านั้น

ซึ่งบางทีการที่จิตเราปรุงแต่งนั้น มันก็อาจจะไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องปัจจุบันที่เราทำเลย ผมไม่แน่ใจว่ารอบๆตัวฟางมีอะไรเกี่ยวกับแฮรี่หรือเปล่า แต่เค้ายกตัวอย่างกันว่า
บางทีเดินๆ อยู่ดีๆ ก็นึกขึ้นเองได้ว่า "ใยส้ม เคยโกงเงินเรา"ทั้งๆที่ไมได้มีอะไรเกี่ยวกับเงิน หรือ ใยส้ม เลย
แล้วก็จิตปรุงแต่งไปเรื่อยๆเลย
ถ้าปรุงว่า " เราไม่น่าไปไว้ใจ ใยส้มเลย เพื่อนเราหลายคนก็บอกหลายรอบแล้วว่า ใยนี้ไว้ใจไม่ได้" ถ้ามันปรุงแบบนี้จิตก็จะโกรธ แต่โกรธตัวเอง

ถ้าเปลี่ยนใหม่เป็นปรุงว่า "ใยส้มนี่มันร้ายจริงๆ หนอยแน่! ตอนมายืมก็ทำมาออดอ้อน ยืมไปแล้วทำเป็นเฉยๆ ไม่ยอมคืน นี่ก็ปีกว่าแล้ว เดี๋ยวโทรไปทวงมันหน่อย ถ้ายึกยักจะด่ามันให้เสียคนเลย" ถ้ามันปรุงแบบนี้จะเปลี่ยนไปเป็นโกรธใยส้ม แทน

แต่หน้าที่เราไม่ใช่ห้ามจิตไปคิดถึงใยส้มตั้งแต่แรก หรือห้ามจิตมาปรุงเรื่องใยส้มต่อ แต่หน้าที่ของวิปัสสนาคือ
ถ้าอยู่ๆใจก็คิด เราก็ต้องรู้ทันใจว่าอยู่ๆก็นึกทัน
ถ้าปรุงต่อก็รู้ว่าปรุงต่อ ที่สำคัญคือต้องรู้ทันว่าปรุงแต่งต่อ
(หลวงพ่อเทียนเคยอุปมาเหมือนแมวจับหนู ที่ต้องให้ทันหนู ไม่งั้นก็แพ้หนู)
หลักการฟังดูเหมือนง่ายแต่ของจริงๆยากนะ เพราะเรามีแนวโน้มจะไหลตามเรื่องไป มันต้องมีเทคนิกการทำ

ส่วนสมถะก็คือการห้ามจิตไม่ให้คิดถึงใยส้มตั้งแต่ต้น โดยการเอาไปดูอย่างอื่นแทน เช่นลมหายใจ แต่พอเลิกทำ จิตมันก็วิ่งเล่นอีก ดังนั้นเค้าเลยบอกว่าเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่การมีสติรู้มันเรื่องที่คิดเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว


ฟาง เราส่งเมลล์ให้เธอแล้ว นะลองเปิดอ่านดู
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 06/05/2009
ใช้คำศัพท์เทคนิกไปนิดนึง ฟางจะไม่เข้าใจ
สมถะ คือ สมาธิ ครับ

พอดีเมื่อกี้อีเมลล์คุยเรื่องธรรมะเลยติดมา โทษทีครับ
(-_-")
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 06/05/2009
ขอบคุณ คุณลุงนันท์ อีกครั้งค่ะ
หนูเข้าใจมากขึ้นอย่างมากๆ ^^

ตอนนี้ฝึกปฎิบัติอยู่ค่ะ เมื่อคืน จิตปรุงแต่งซะหมองเลยค่ะ
แต่ก็รู้สึกว่า รู้ตัวนะคะ ว่าคิดอะไร เรื่องที่คิดเกิดจากอะไร
แล้วก็เอาไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ตัวอย่างในกระทู้เก่าๆ แล้วก็เข้าใจมากขึ้นเลยค่ะ

จะค่อยๆฝึกไปทีละนิด ทุกๆวัน ^^

ขอบคุณ คุณลุงนันท์มากมายๆจริงๆค่ะ

แล้วก็อ่านเมล์ผู้อ่านแล้วค่ะ ^^
ขอบคุณที่เมล์มานะคะ

คงได้รบกวนถามหลายเรื่องเลยค่ะ

วันนี้ Have a nice day นะคะ ทุกคน ^^

ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 06/05/2009
ยินดีตอบนะครับ ถ้าผมมีปัญญาตอบ
ทุกคำถามนะครับ แต่ความละเอียด อาจจะแปรผันกับเวลาว่างหน่อยหนึง
ถ้าไม่ค่อยมีเวลาอาจจะ ตอบแบบกระชับ แต่ถ้ามีเวลามากหน่อยก็จะตอบได้เยอะ

จริงๆผมแล้วผมอยากให้เรียกว่าถาม-ตอบเลย เรามาแชร์ความเห็นกันดีกว่าครับ

ฟางกับเรา ก็อายุไม่ต่างกัน ก็แชร์ๆกันเหมือนเพื่อน แลกเปลี่ยนความเห็นกันครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 06/05/2009
พิมพ์เร็วไปหน่อย
ขอแก้จาก อยากให้เรียกว่าถาม-ตอบ
เป็นไม่อยาก ให้เรียกว่าถามตอบ ครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 06/05/2009
ยินดีครับ หลานฟาง ทดลอง พิจารณา ใคร่ครวญ รู้ เห็น หนทาง หาที่เหมาะแก่ตน ให้เจอ ได้เป็นดีที่สุด ลุงคิดว่าอย่างนั้นนะ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 06/05/2009
ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังให้หลานฟางคนเก่ง......ทดลอง พิจารณา ใคร่ครวญ รู้ เห็น หนทาง หาที่เหมาะแก่ตนนะครับผม...สบายๆ..รู้ทั่วตัวพร้อมให้ค่อยๆเพิ่มเพียงวันละนิดๆละหน่อย ยิ้มๆๆครับ
ชื่อผู้ตอบ : โก้ครับ ตอบเมื่อ : 07/05/2009
ขออณุญาติเพิ่มคำที่ขาดในประโยคครับผม

*ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้หลานฟางคนเก่ง*
ชื่อผู้ตอบ : โก้ครับ ตอบเมื่อ : 07/05/2009
ขอบคุณน้าโก้สำหรับกำลังใจ อิอิ

ผู้อ่านแนะนำวิธีฝึกสมาธิ ให้หนูมา 2 วิธีค่ะ
ตอนนี้กำลังฝึกปฏิบัติอยู่ ... ทำแล้วรู้สึกดีมากๆเลยค่ะ

ต้องขอบคุณผู้อ่านมากๆเลย สำหรับคำแนะนำ ^^

ขอบคุณกำลังใจจากน้องโก้อีกครั้งค่ะ ... ขอบคุณนะคะ

ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 07/05/2009
ตกลงแล้ว คุณ "โก้ครับ" อายุน้อยหรือมากกว่า ฟางกันแน่

คุณโก้ เรียกฟาง ว่า "หลาน"
ส่วน ฟางเรียกโก้ ว่า "น้อง"

อ่านแล้วก็ งงๆ เหมือนกันครับ


ผมก็แนะนำ วิธีเท่าที่เคยลองๆ มาแล้ว work
ถ้าฟางทำแล้วเกิดประโยชน์ ก็ดีใจครับ





ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 07/05/2009
-*- กรี๊ดดดดด

ไม่นะ 555+ พิมพ์ผิด น้าค่ะน้า เราผิดพิมพ์นะผู้อ่านนนนน

ขอโทษน้าโก้ค่ะ ฟางพิมพ์ผิดอ่ะ T^T
(-*- เขิลอ่ะ ทำไปได้)

Have a nice day ค่ะ ทุกคน
ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 08/05/2009
ไม่เป็นไรค้าบหลานฟาง
น้าโก้.....ไม่ถือว่าเป็นการพิมพ์ผิด และไม่ต้องเขิลล เพราะพี่ฟาง ทำได้ดีที่สุดเลยจ้า และอยากให้ทำตลอดไป เพราะใครๆได้เจอน้าโก้ก็ต้องเรียกผิดทั้งนั้น เนื่องจากใบหน้าที่ยังเยาว์วัย(ฮา)และสมองก็ยัง อ่อนเยาว์ ด้วยจ้า
ชื่อผู้ตอบ : เฮ่อ!!!!น้าโก้....เหมือนเดิมก็ได้ ตอบเมื่อ : 08/05/2009
55555 น้าหลานเค้าหยอกกัน น่ารักดี

ทำไม่น่าจุดประเด็นเลย ทำฟาง เขิลลล เลย
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 08/05/2009
ลูกเต้าใครกันนะ ไม่มาดูแล ปล่อยไก่ตัวเบ้อเร่ออีกแล้วครับ คุณแม่ jang

หวังว่าหลานฟางไม่สับสนเรียกลุงว่า ปู่ นะ โกรธกันตายเลย จริงๆ ด้วย
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 08/05/2009
ไม่เรียกปู่แน่นอนค่ะคุณลุงนันท์ อิอิ
มิกล้าพอค่ะ ><
ช่วงนี้อากาศร้อน ... หนูเลยเบลอๆ 0.0 (เกี่ยวกันมั้ยเนี่ย หุหุ)

ขอบคุณน้าโก้ที่ให้อภัยหนูนะคะ ^o^

ขอบคุณผู้อ่านที่เปิดประเด็น ... ครั้งหน้าเวลาพิมพ์อะไรจะได้ตรวจทานมากขึ้น จะได้ไม่ปล่อยไก่ออกมาวิ่งเล่นอีก ฮ่าๆ

วันนี้ลองกลับมาอ่านสรุปของผู้อ่านใหม่ตั้งแต่ต้น
ยอมรับว่าครั้งแรกที่อ่าน อ่านผ่านๆอ่ะ แบบว่าเห็นเยอะ เลยรีบๆ (ฮ่าๆ)

วันนี้เลยค่อยๆไล่อ่านใหม่ทีละเรื่องๆ ไป แล้วรู้สึกว่าเข้าใจมากขึ้น
เหมือนแบบว่า ตอนนี้ถึงเวลาขอวเราแล้ว ที่จะต้องเข้าใจเรื่องนี้ 55+

เรื่องการเป็นผู้ฟังที่ดี ... อ่านครั้งแรกเฉยๆ แต่อ่านตอนนี้รู้สึกตกใจนิดๆ ประมาณว่า เราเคยเป็นผุ้ฟังที่ไม่ดีบ้างรึเปล่า 555+ รู้สึกว่าต้องมีแน่เลย แต่ก็ปล่อยมันไป มันเป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันก็ทำตัวเป็นผู้ฟังทีดีแทน ^^

เรื่องๆอื่นอย่างเช่นเรื่อง ระวังความคิด เลือกคิดสิ่งดี ลองเอามาคิดตามแล้ว ที่ผ่านมา เรายึดติดกับสิ่งต่างมากเกินไป ยึดติดกับอะไรก็ไม่รู้สินะ นั่นน่ะสิ จากนี้ไป เลือกสิ่งดีๆให้ตัวเองดีกว่าเนอะ

ตอนนี้ก็ได้เวลาสั่งสอนจิตใจตัวเองแล้วสิ อิอิ
วิธีรับมือนิวรณ์ นี่คงเป็นภาคปฏิบัติ ที่เริ่มทำได้เลย อ่านแล้วเห็นภาพ เลยว่าควรทำยังงัย เกี่ยวกะอารมณ์มากมายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

แล้วสุดท้ายที่ชอบมากๆ เลย

6. เราเป็นคนเช่นไรสวรรค์ก็จะประธานสิ่งที่ตรงกับคุณภาพจิตของเรามาให้ มากกว่าจะประธานในสิ่งที่เราปรารถนา (We do not attract what we want, but attract what we are)

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นคนคิดเล็กคิดน้อย สิ่งที่เราได้รับก็จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่มีคุณค่าอะไร ถ้าเราเป็นคนที่หงุดหงิดและขุ่นเคืองผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เราประสบก็มักจะเป็นสิ่งที่ขัดหูขัดตาอยู่ร่ำไป ถ้าเราเป็นคนที่ละโมบโลภมาก เราจะรู้สึกขาดแคลนและอิจฉาริษยาผู้อื่นอยู่ตลอดเวลาหาความสุขมิได้ หรือถ้าเราเป็นคนที่เบื่อหน่ายชีวิต สิ่งรอบข้างที่เราประสบก็มักจะเป็นสิ่งที่ซ้ำซากและจำเจ ฉะนั้น หากเราประสบความล้มเหลวหรือพลาดหวังในชีวิต จงอย่ากล่าวโทษชะตาฟ้าลิขิต แต่ให้สำรวจมุมมองและการกระทำของตัวเองว่า ที่ผ่านมาเราได้ทำในสิ่งที่เหมาะสม ควรค่าแก่การได้รับในสิ่งที่เราปรารถนาแล้วหรือไม่ และมีจุดไหนบ้างที่เรายังไม่ได้ทำหรือขาดตกบกพร่องไป

เห็นภาพตามเลยอ่ะ เห็นเป็นสถาณการณ์ที่ผ่านมา มันเกิดจากตัวเราทั้งนั้นเลยอ่ะ
จากนี้ไป ก็ทำคุณภาพจิตให้ดีกว่าเดิม เตรียมต้อนรับสิ่งดีๆ สิ่งใหม่ๆ อิอิ ^^

เมื่อคืน ลองฝึกสมาธิ เม กะ มุ อุ ... แล้วแอบพึมพำเสียงเบาๆด้วยอ่ะ 555+
แบบว่าต่อคำไป ต่อมา ชักงง หลับเลยดีกว่า ฮ่าๆ ไม่ช่ายยย

แต่แบบสวดมนต์ในใจนี่ เข้าทางเราเลยอ่ะ วิธีนี้ใจสงบขึ้นเรื่อยๆเลย

ขอบคุณผู้อ่านอีครั้ง ^^



ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 09/05/2009
หลานฟางสรุปทวนสิ่งที่อ่านมาจากคุณผู้อ่าน ทำให้ลุงได้พลอยทบทวนตัวเองไปด้วย ดีจริงๆ ครับ

ข้อ 6 ที่ว่านี่ เยี่ยมยอดจริงๆ ขอชอบด้วยคน ทำให้นึกผสมผเสกันกับที่ได้ยินมาว่า

1. เราเป็นอย่างที่เราคิด
2. ชิวิตก็จะให้กับเรา อย่างที่เราเป็น

ความจริงลุงว่าหลานฟางนี่ก็ไม่ธรรมดานะเนี่ย
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 09/05/2009
หนูอยากไม่ธรรมดาให้ได้แบบที่ ลุงนันท์บอกจังเลยค่ะ

ช่วงนี้หนูงานเข้าเยอะจริงจัง -*-
เพราะคุณภาพจิตใจไม่ได้มาตราฐานแน่ๆเลย

มีเรื่องนึง ที่หนูคิดว่าจะไม่คิด แต่สงสัยว่า จิตใต้สำนึกที่ไม่สงบคิดไปไกลแล้ว

หนูตั้งใจจะส่งหนังสือให้ พี่คนนึงค่ะ เค้านับถือ ป่าป๊ากับหม่าม๊าหนูมาก เค้าเป็นอดีตหวานใจพี่สาวหนูเอง
หนุเห็นว่า พี่เค้าก็ยังนับถือ ป่าป๊าหม่าม๊า ก็น่าจะแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้เค้า

หม่าม๊าบอกว่า ควรโทรบอกเค้าก่อนที่จะส่งหนังสือ เพราะเด๋วพี่เค้าจะงง ว่า หนังสืออะไร ยังงัย หม่าม๊าเลยโทรไปก่อนรอบนึง

แล้วเมื่อคืนม๊าบอกให้หนุโทรไปบอกว่า จะส่งให้เมื่อไหร่ ... ตอนโทรหนูก็ว่าไม่ได้ฟุ้งซ่านอะไร ก็คิดแต่ว่า เนี่ยหนังสือนี้ดีจริงๆ อยากให้พี่เค้าได้อ่านบ้าง

พอโทรไป ปรากฎว่า พี่เค้าพูดเหมือนว่า หนูกำลังขายหนังสือเล่มนี้ให้เค้า ความหมายคำพูด เหมือนแนวๆ ขายตรงอ่ะค่ะ

เค้าพูดประมาณว่า "แล้วต้องซื้ออะไรยังงัยล่ะ" หนูก็ งง
หนุเลยบอกว่า เปล่าค่ะ ฟางได้มาฟรี ฟางอยากให้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายค่ะ แต่แค่ถ้าพี่เห็นว่ามีประโยชน์แก่ เพื่อนๆ พี่ คนรู้จัก เมื่อ่านจบแล้วก็ช่วยส่งต่อ เท่านั้นเอง

พี่เค้าตอบกลับว่า อย่างี๊แหละ เป้นกลยุทธ์ ของคนที่จะขายหนังสือ แบบไม่ต้องเสียค่าโฆษณา ...

ตอนนั้นหนูอึ้ง ไปเลยอ่ะค่ะ คิดได้ไกลดีจัง -*-

หนูเลยตอบเค้าไปว่า หนังสือเล่มนี้นานแล้ว ไม่ใช่ว่าจะหาซื้อได้ง่ายๆหรอกค่ะ จากนั้น ก็พูดคุยอีกนิดหน่อยแล้วก็วางสาย

หนูพูดจริงๆว่า รู้สึกเสียใจอย่างบอกไม่ถูกอ่ะค่ะ เหอๆ
หนูได้รู้จักคุณลุงนันท์ และทุกๆคนที่นี่
หนูรู้สึกดีมากจริงๆ คุณลุงนันท์ใจดีแล้วก็ให้คำแนะนำหนูเสมอ
คุณน้า คุณพี่ที่นี่ ก็แชร์แต่เรื่องราวที่มีประโยชน์

ขายหนังสืออะไรอ่ะ หนูงงจริงจัง ... จิตใจคนเราก็คิดได้ -*-

เฮ้ออออ ...

ที่หนูรู้สึกไม่ดีเพราะ หนูยังไม่ปล่อยวางคำพูดของพี่เค้าใช่มั้ยคะ
จริงๆ พี่เค้าก็ไม่ผิด เค้าแค่ไม่ได้มาสัมผัส หรือพูดคุย หรือได้อ่านหนังสือ เค้าเลยไม่เข้าใจ พูดไปตามความคิด
หนูก็แค่เฉยๆไป ปล่อยไป คำพูดเมื่อคืนมันกลายเป็นอดีตไปแล้ว

ในเหตุการณ์นี้จริงๆแล้วมันก็ไม่มีอะไรเลยใช่มั้ยคะ
แต่จิตหนูปรุงแต่ไปเอง เฮ้อ เหมือนกำลังจะไปได้ดีแล้วเชียว
ฟางหนอฟาง -*-

เมื่อเช้าที่พิมพ์ตอบ หนูก็เหมือนไม่รู้สึกอะไรแล้ว
อ่านทบทวนสรุปของผู้อ่านก็เข้าใจ แล้วก็ทดลองปฏบิติดู
แต่ไหงตกเย็น จิตตกได้ขนาดนี้ล่ะเนี่ย 555+ (ซะงั้น)

หนูไม่อยากตั้งกระทุ้ใหม่อ่ะค่ะ เลยใช้พื้นที่ของผู้อ่านแทน ฮ่าๆ
ขอรบกวนมา ณ ที่นี้ด้วยนะผู้อ่าน

ปล. รู้สึกดีขึ้นนะคะ พอได้พิมพ์ออกมา เหมือนได้ระบายบางอย่าง -*-
ขอบคุณ พื้นที่เล็กๆ ที่นี่ ของลุงนันท์นะคะ เป็นที่พึ่งพิง และให้ความรู้อย่างมากมายเลยทีเดียว
ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 09/05/2009
อิอิ กลับมาตอบอีกรอบค่ะ
ไปอาบน้ำ ชำระจิตใจ + นั่งสมาธิมาค่ะ

ตอนนี้หายเป็นปลิดทิ้ง ^^

คงเพราะได้พิมพ์ระบายบ่นๆ ระหว่างที่พิม ก็เหมือนได้ทบทวนจิตใตอีกครั้ง แล้วก็รู้ว่า คิดอะไรยังังย

พอไปอาบน้ำมาเย็นๆ สดชื่น แล้วนั่งสมาธิต่อ
เลยรู้สึกดีขึ้นจากเมื่อกี๊ ...

ฮา ... ^^ นั่งสมาธิแล้วดีจัง

คืนนี้ฝันดีนะคะ ทุกคน
ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 09/05/2009
หวัดดี....น้าโก้เอง

...ฮ่าๆ หายแล้วแป๊ปเดียว ฟางเก่งจริงๆ ไม่ธรรมดาอย่างลูงนันท์กล่าวไว้เลย น้าโก้ขออณุญาติแชร์นะครับ

เก่งๆๆๆมากๆๆๆ ที่ฟางคนเก่งคิดได้ว่าเป็นเพราะพี่เค้าไม่รู้ จ้า เพราะพี่เค้าไม่รู้จริงๆ "เวลาของฟางแต่อาจยังไม่ใช่เวลาของพี่เค้าเนาะ"ยิ้มๆ

น้าโก้เอง...ถ้ามีเหตุการณ์ที่ทำให้เรานอยๆแบบนี้ ก็ ทำนู่นนี่ไป กลับมาคิดบ้าง ลืมคิดบ้าง ปล่อยให้ "เวลารักษาใจ" น้าโก้เรียนรู้ว่า..การ...ค่อยๆปล่อย จะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของเรา อ่า..นะ*เราเปลี่ยนใครไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนความคิดเราได้* ปล่อยไปซักพัก เอิงเอยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วให้ความคิดค่อยๆมองหาข้อดี พอค้นเจอ ความรู้สึกดีขึ้นก็จะค่อยๆเคลื่อนเข้ามาแทนที่ และเราก็จะได้อะไรกับทุกๆกับทุกประสพการณ์ได้เนาะ

แฮะๆสรุปน้าโก้ว่า ฟางปล่อยวางดีกว่าน้าโก้โขเลย วิธีปรับจิตใจของฟาง ดีมากๆ และอย่างน้อยเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ฟาง ตั้งมั่นที่จะ ปฏิบัติสมาธิเพิ่มเติม ซูฮก!ครับผม

น้าโก้เชื่อว่าถ้าเวลาของพี่เค้ามาถึง และพี่เค้าทราบเจตนาที่แท้จริงของฟาง พี่เค้าจะต้องชื่นชมฟางคนเก่งอย่างมากๆๆที่สุดเลย ยิ้มๆๆๆๆๆ
ชื่อผู้ตอบ : โก้ครับ ตอบเมื่อ : 09/05/2009
อ้าว . . ก็หลานฟางอยากฝึกไม่ใช่เหรอ เทวดาเขาก็เลยส่งเรื่องมาให้ฝึกไงละ เมื่อเห็นได้ ก็สอบผ่าน โธ่ . . แค่นั้นเอง

ประโยคที่บอกว่า ". . ระหว่างที่พิมพ์ ก็เหมือนได้ทบทวนจิตใจอีกครั้ง แล้วก็รู้ว่า คิดอะไรยังงัย " นั่นแหละไม่ธรรมดา นะ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 10/05/2009
ยิ้ม
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 10/05/2009
^^ อย่างที่ลุงนันท์ว่า แน่ๆเลย
ช่วงนี้จักรวาลเลยจัดให้ชุดใหญ่ ฮ่าๆ

พอผ่านเรื่องแบบนี้มา ก็รู้สึกว่าเข้าใจอะไรมากขึ้น

แบบที่ดีพัค บอกไว้เลยค่ะ "ให้สถาณการณ์ที่เรารู้สึกแย่เป็นเหมือนบทเรียนสอนเรา" อิอิ

ขอบคุณน้าโก้ที่แวะเข้ามาทักทายนะคะ
ขอบคุณลุงนันท์ และ ผู้อ่านด้วย

Have a nice day ค่ะ

ขอบคุณ

ชื่อผู้ตอบ : Fangly ตอบเมื่อ : 10/05/2009
เห็นคนแก่สองสามคนคุยกับเด็กๆ แล้ว ก็ปลื้มใจ (ฮา) นึกขึ้นได้ว่า นี่ก็ก็เพิ่งผ่าน "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" มาไม่ถึงเดือนดี (ฮา)
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 10/05/2009
ฟางตื่นเช้าจริงๆ

ปกติเราจะมาcomment ตอนตี4 ตี5 บ้าง
บางทีก็ ตอน 6 7 โมงเช้า ก่อนเข้านอน
พอเม้นไปได้แป๊บเดียว กลับมาดูใหม่
ก็เห็นเขียนตอบโดยfangly ซะแล้ว


Have a nice day!! ครับฟาง และทุกๆท่าน
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 11/05/2009
ประโยคนี้ของคุณโก้โดนค่ะ

" น้าโก้เอง...ถ้ามีเหตุการณ์ที่ทำให้เรานอยๆแบบนี้ ก็ ทำนู่นนี่ไป กลับมาคิดบ้าง ลืมคิดบ้าง ปล่อยให้ "เวลารักษาใจ" น้าโก้เรียนรู้ว่า..การ...ค่อยๆปล่อย จะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของเรา อ่า..นะ*เราเปลี่ยนใครไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนความคิดเราได้* ปล่อยไปซักพัก เอิงเอยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วให้ความคิดค่อยๆมองหาข้อดี พอค้นเจอ ความรู้สึกดีขึ้นก็จะค่อยๆเคลื่อนเข้ามาแทนที่ และเราก็จะได้อะไรกับทุกๆกับทุกประสพการณ์ได้เนาะ "

ขอบคุณนะคะ

ขอบคุณเรื่องราวจากบททดสอบจักรวาลของน้องฟางด้วยค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : dadeeda ตอบเมื่อ : 14/05/2009


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code