อันเนื่องมาแต่ 5 รอบนักษัตร รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา

ผมได้รับการ์ดเชิญให้ไปร่วมงานฉลองอายุครบ 5 รอบนักกษัตร หรือครบรอบ 60 ปี ของ รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา หรือที่พวกผมในฐานะรุ่นน้องของท่าน มักจะเรียกท่านว่า “พี่อี๊ด” ในทุกครั้งที่พบหน้ากัน พี่อี๊ด เขียนข้อความไว้ในการ์ดเชิญดังกล่าวว่า..

“ตอนอายุ 20 ปี ดีใจที่บรรลุนิติภาวะ
ตอนอายุครบ 25 ปี ไม่สบายใจ เพราะคนเขาบอกว่าเบญจเพศต้องระวัง!
ตอนอายุจะถึง 40 ปี ใจหาย นี่เราแก่ขนาดนี้เชียวหรือ?
ตอนอายุครบ 50 ปี ดูนายร้อย นายพัน ผู้กำกับ ผู้จัดการ คณบดี อธิการบดี เด็กไปหมด
หวั่นไหวนิดๆ ว่าเราคงแก่เต็มที ที่มองใครๆ รู้สึกว่าเขาเด็ก
ตอนนี้อายุจะครบ 60 ปี วันที่ 14 มีนาคมนี้!
ดีใจจังเลย ในที่สุดเราก็ถึงวันที่คนเขาบอกว่าใช้ชีวิตคุ้ม และมีค่า”

นอกจากนี้ ที่ปกหลังของการ์ดนี้ พี่อี๊ดยังเขียนข้อความไว้อีกว่า...

“ทำได้ดั่งฝัน”
“หลายคนบอกว่า ดร.เสรี เป็นคนที่ทำอะไรได้ดังฝัน
ประสบความสำเร็จหลายสิ่งอัน
เพราะรู้จักฝันสิ่งที่ควร...และเป็นไปได้
หลายคนบอกว่า ดร.เสรี เป็นคนที่ชีวิตมีความสุข
เป็นคนไม่ยอมจะเป็นทุกข์
เพราะนึกว่าสุขหรือทุกข์..อยู่ที่ใจ..ของตนเอง”


ผมเขียนข้อเขียนชิ้นนี้ ก่อนวันงานดังกล่าวข้างต้นจะมีขึ้นหนึ่งวัน ดังนั้นกว่าที่ท่านจะได้อ่านข้อเขียนของผมชิ้นนี้ งานฉลองที่ผมต้องไปร่วมด้วยอย่างแน่นอน ก็คงจะผ่านพ้นไปแล้ว

ผมแน่ใจอย่างยิ่งว่าสิ่งที่พี่อี๊ดเขียนไว้ในการ์ดนั้น เป็น “ของจริง” และเป็น “สิ่งที่ใช่” ตามนั้นทุกถ้อยกระทงความ...OSHO พูดไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “Maturity : The Responsibility of Being Oneself” (หรือในชื่อฉบับภาษาไทยว่า “วุฒิภาวะ : ศิลปะของผู้ถึงพร้อม” แปลโดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด) โดย OSHO ได้เล่าว่า..
ครั้งหนึ่ง มีชายคนหนึ่ง ถาม Ralph Waldo Emerson ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกัน ว่า “ท่านอายุเท่าไหร่?” อีเมอร์สันตอบว่า “เกือบสามร้อยหกสิบปีแล้ว!” ชายคนดังกล่าวจึงพูดขึ้นว่า “ข้าไม่เชื่อ ดูท่านไม่น่าจะอายุเกินหกสิบปี” อีเมอร์สันจึงได้ตอบไปว่า “ที่จริงแล้วข้ามีชีวิตอยู่มาหกสิบปี ท่านพูดถูกแล้ว แต่ในหกสิบปีของข้านี้ มันมีอะไรเกิดขึ้นมากมาย จนเวลาสามร้อยหกสิบปีของท่านก็อาจจะรับมันได้ไม่หมด ข้าได้อยู่มาเป็นเวลาหกเท่าของอายุตัว!”

OSHO ได้สรุปไว้อีกว่า คนจำนวนมาก ได้แต่ “แก่ตัวลง” (Growing Old) ในทุกวันเดือนปีที่ผ่านไป แต่มีคนเพียงบางคนเท่านั้นที่ “เจริญพัฒนา” หรือ “เติบโตขึ้น” (Growing Up)ไปอย่างไม่หยุดยั้ง ไปตลอดวันเดือนปีที่ผ่านไป คนพวกแรก (Growing Old) มีชีวิตอยู่ใน “แนวราบ” คือ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” ไปตามอายุขัยของกาลเวลาทางโลก แต่พวกเขาไม่ได้เรียนรู้ หรือมีประสบการณ์อันล้ำค่าอย่างใดเลย แต่คนพวกหลัง (Growing Up) มีชีวิตอยู่ใน “แนวตั้ง” ซึ่งบนเส้นทางในแนวตั้งนี้ เราไม่ได้นับกันที่จำนวนปี แต่นับกันที่ประสบการณ์ของคนๆ นั้น สิ่งที่อยู่บนเส้นทางในแนวตั้งนั้น ถือว่าเป็นสมบัติทั้งหมดของการดำรงอยู่...เราจะต้องเคลื่อนไปบนเส้นทางในแนวตั้ง เพราะไม่เช่นนั้น เราจะพลาดโอกาสทั้งหมดของชีวิตไป เมื่อเราเคลื่อนไปบนเส้นทางในแนวตั้งทุกๆ วัน เรากำลังเข้าใกล้ชีวิตมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ยิ่งไกลออกไป แล้วการเกิดของเราก็จะไม่เป็นการเริ่มต้นของความตายอีกต่อไป การเกิดของเราจะเป็นการเริ่มต้นของชีวิตที่เป็นนิรันดร.....

แม้ว่า ดร.เสรี หรือพี่อี๊ดของผม อาจจะไม่ได้มีคุณสมบัติครบถ้วน สมบูรณ์แบบ ที่จะถือได้ว่าเป็นผู้ “เจริญพัฒนา” (Growing Up) ซึ่งมีชีวิตอยู่ใน “แนวตั้ง” ตามอุดมคติที่ OSHO ได้พูดไว้ในหนังสือของเขา แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ดร.เสรี เป็นคนเพียงไม่กี่คน บนโลกใบนี้ ที่ “ใช้ชีวิต” อย่างคุ้มค่า และอย่างมีคุณค่า สมตามที่ท่านได้เขียนข้อความไว้ในการ์ดเชิญดังกล่าว แทนที่จะเพียงแค่ “ทำมาหาเลี้ยงชีวิต” อย่างที่คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ มักจะกระทำกัน

ไหนๆ ก็ไหนๆ เพื่อไม่ให้ข้อเขียนนี้ดูเป็นเรื่องส่วนตัว ที่คนกันเองมาชมกันเอง ผมจึงใคร่ขอขยายความเรื่องนี้ไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกท่านได้รับประโยชน์เพิ่มเติมยิ่งขึ้น ด้วยการขอยกข้อความจากหนังสือ “มณฑลแห่งพลัง : ญาณทัสนะแห่งการเข้าถึงตัวตนที่แท้” ซึ่งเขียนโดย อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู ดังนี้ :-

ในประเด็นเรื่อง “ช่วงแห่งชีวิตการงาน” หนังสือเล่มดังกล่าว ได้อ้างอิงถึง รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ว่า รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ได้แบ่งช่วงชีวิตของคนเรา ออกเป็นช่วงละเจ็ดปี สามช่วงแรกคือแรกเกิด ถึงยี่สิบเอ็ดปี ซึ่งก็ถือได้ว่าคือช่วง “วัยแห่งการศึกษาเรียนรู้”

เจ็ดปีแรก คือการเรียนรู้ผ่านกาย ผ่านอายาตนะ หรือประสาทสัมผัส และการเคลื่อนไหว เด็กๆ จะเรียนรู้ผ่านกิจกรรม การเล่น การเรียนรู้ต่างๆ ช่วงนี้เป็นการสั่งสมพลังชีวิต หรือเจตจำนง สั่งสมพลังแห่งกิจวัตร หรือการสร้างนิสัยด้านบวก
เจ็ดปีที่สอง เป็นจิตหรืออารมณ์ความรู้สึก หรือความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ และผู้คนต่างๆ เป็นการเรียนรู้ผ่านศิลปะและความงาม ความรักและเอื้อเฟื้อ
เจ็ดปีที่สาม เป็นการเข้าถึงจิตวิญญาณ หรือธรรม หรือความคิด เป็นเวลาที่โลกแห่งสัญลักษณ์เข้ามามีความหมาย เรียนรู้บัญญัติ และเนื้อที่แห่งการไปพ้นบัญญัติ เปิดตาที่สามขึ้น อันสามารถมองไปพ้นทวิภาวะ หรือคู่ตรงข้ามอันขัดแย้งกันทั้งหลาย
เจ็ดปีที่สี่ (คืออายุยี่สิบเอ็ด ถึงยี่สิบแปด) เป็นช่วงของการเผชิญโลกและค้นหาตัวเอง เป็นช่วงที่ดีที่สุดที่จะค้นหาว่า ตัวเราคือใคร? มีที่ทางอย่างไรในโลก? นั่นคือการหา “งานของชีวิต” ซึ่งบางทีโลกสมัยใหม่ ได้ลดทอนมันลงไปเป็นเพียง “อาชีพการงาน” เท่านั้น ซึ่งมิติของมันออกจะคับแคบเกินไป สิ่งที่ดีที่สุดของคนในวัยนี้นั้น เขาควรจะได้ค้นหา ได้ลอง ได้ท่องไปในโลกกว้าง เวลานี้โครงสร้างในการจัดหางาน ของอารยธรรมปัจจุบัน ไม่ได้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับความต้องการนี้ โลกมนุษย์เห็นแก่ประโยชน์ทางวัตถุอันคับแคบเกินไป เราไม่ได้ให้ที่ให้ทางกับคนวัยนี้ อย่างที่เขาและเธอควรจะมีได้ เราสร้างงานขึ้นมาในสังคมมนุษย์อย่างคับแคบ และแข็งตัวเกินไป เพราะฉะนั้น การปฏิรูปการศึกษา และเศรษฐกิจสังคม จะต้องมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง
เจ็ดปีที่ห้า (คือวัยยี่สิบแปด ถึงสามสิบห้า) พอเข้าอายุยี่สิบแปด เขา หรือเธอ ก็จะพบกับตัวเองพอสมควร คนที่โชคดีก็จะพบสิ่งที่ท้าทายศักยภาพของตนเอง ช่วงนี้มนุษย์จะมองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น เป็นช่วงแห่งการนิ่งลง มากขึ้น และมั่นคงในการงานที่ตัวทำ เป็นช่วงวัยแห่งการทำงาน การทำให้งานสำเร็จเป็นจริงเป็นจัง คนวัยนี้จึงเป็นวัวงานในทุกๆ สถานที่ แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้ถึงซึ่งความกลมกล่อมของชีวิต พวกเขาอาจจะเครียดและจริงจังกับงาน กับโลก และกับชีวิตไปบ้าง โดยเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นจริงเป็นจังมากเกินไป เห็นอะไรเป็นขาวเป็นดำมากไปหน่อย เขาต้องการผู้อาวุโสที่เข้าใจถ่วงดุลมิติในการมองโลก โลกของเขาจึงจะอ่อนโยนขึ้น และน่าอยู่ขึ้น แต่ในโลกที่รังเกียจความแก่ชรา และไม่รู้คุณค่าของผู้อาวุโสเช่นนี้ บางทีรอยต่ออันสำคัญตรงนี้ ก็ขาดหายไปอย่างน่าเสียดาย
เจ็ดปีที่หก เมื่อเข้าใกล้วัยสามสิบห้า เราจะเข้าสู่วิกฤติของการผ่านเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้ง เราจะเริ่มถามตัวเองด้วยคำถามใหญ่ๆ อีกครั้ง เป็นรอยต่อระหว่างการใช้ชีวิตไขว่คว้าหาวัตถุ ทรัพย์สินศฤงคารเท่านั้น หรือว่าจะหาความหมายอันยิ่งใหญ่ของชีวิต แรงผลักดันแห่งการเรียนรู้ และวิวัฒนาการแห่งจิตวิญญาณ จะเข้ามาอีกระลอกใหญ่ หลายคนเริ่มเป็นโรคนอนไม่หลับ และเริ่มตั้งคำถามขึ้น ในค่ำคืนอันเงียบสงัดว่า “ชีวิตมีความหมายเช่นไร กับเขาหรือเธอ?”
คำถามที่มาคราวนี้ มั่นคงหนักแน่น และจริงจังกว่าเมื่อช่วงเจ็ดปีที่สี่ (วัยยี่สิบเอ็ดถึงยี่สิบแปด) ซึ่งช่วงนั้น ก็เป็นวัยที่มีความใฝ่ฝันเช่นกัน แต่ความฝันครั้งที่สองนี้ อัดแน่นและทรงพลังกว่า อีกทั้งยังมีเจ็ดปีแห่งความสามารถในการดำรงอยู่ในโลกอย่างที่เป็นอยู่ รองรับอีกด้วย มันจึงเป็นการถ่างออกครั้งใหญ่ มันจึงเจ็บปวดมาก และเป็นวิกฤติที่รุนแรงกว่าทุกครั้ง บางคนเรียกมันว่า “เบญจเพศใหญ่”
เจ็ดปีที่หกนี้ ส่วนมากสำหรับคนในสังคมนั้น เป็นเพียงการประนีประนอมกับวัฒนธรรมแห่งความกลัว และวิตกกังวลอย่างไม่รู้จักจบสิ้น มันสอนให้เราแหย และเลือกหนทางการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เราไม่กล้าหาญและมั่นคงพอ ที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่โต และบางคนก็ตัดสินใจที่จะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลยด้วยซ้ำ สำหรับคนที่ไม่เปลี่ยน ชีวิตของพวกเขาคือฝันร้าย เพราะเขาหรือเธอไม่ยอมเคลื่อนไป พวกเขาจึงต้องเผชิญหน้ากับรุ่นน้อง และรุ่นน้องพวกนี้ ก็กลายมาเป็นคู่แข่งในการทำงาน ถ้าไม่เปลี่ยนงาน แต่ได้เลื่อนขึ้นไปทำงานทางนโยบายมากขึ้น พวกเขาจะเหมาะสำหรับการดูแลพวกรุ่นน้องไฟแรง เพราะพวกเขาเริ่มจะมีมิติของการมองไป พ้นจากขาวดำมากขึ้น และสามารถประสานประโยชน์ได้มากกว่า
เจ็ดปีที่เจ็ด (คือวัยสี่สิบสอง ถึงสี่สิบเก้า) ในช่วงวัยนี้นั้น โอกาสและวิกฤติทางจิตวิญญาณ ก็เปิดออกให้กับเราอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ในโลกแห่งวัตถุธรรมนั้น ผู้คนจะหลงลืมวัย และพยายามจะคงวัยหนุ่มสาวให้ได้อยู่เสมอ มันจึงเป็นโศกนาฏกรรมอันบอกเล่าได้ไม่รู้จบสิ้น
วัยนี้ ในแง่การงาน เขาหรือเธอจะต้องเข้าสู่เรื่องนโยบายอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่ผลักดันงานเชิงปฏิบัติแล้ว และไม่เพียงแต่เท่านั้น พวกเขาควรจะได้เปิดตัวเองให้กับงานที่ลุ่มลึกกว่างานอันคับแคบของที่ทำงาน พวกเขาควรจะเปิดตัวตนออกรับมิติอันกว้างกว่า ด้วยการรับผิดชอบต่อสังคมและโลก วัยนี้อาจจะเป็นวัยแห่งการประสานนโยบายทางโลก เข้ากับวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณก็เป็นได้ คนวัยนี้จะเป็นสุขมาก หากได้ขยับตัวและทำงานรับใช้ผู้อื่น และสังคม ตลอดจนสรรพชีวิตในโลก มากขึ้น
เจ็ดปีที่แปด (คือวัยห้าสิบปีขึ้นไป ถึงห้าสิบหกปี) เป็นวัยที่ควรจะจุดตะเกียงส่องทางให้กับยุวชนรุ่นหลังแล้ว นั้นแล ชีวิตและการงาน จึงจะสมบูรณ์พูนสุขได้อย่างแท้จริง!

นอกจากจะขอแสดงความชื่นชมยินดี มายัง รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา หรือ “พี่อี๊ด” ของผม ในโอกาสฉลองแซยิด ครบห้ารอบนักษัตร อายุหกสิบปี แล้ว ผมก็ขอจบข้อเขียนนี้ ด้วยถ้อยความของ OSHO ซึ่งพูดไว้ในหนังสือดังกล่าวข้างต้นว่า...

“ขณะนี้ เรากำลังอยู่ในยุคของความมืด – มันเป็นความคิดของคนแก่ที่มองว่า ข้างหน้ามีแต่ความมืด ไม่มีอะไรเลย เด็กๆ คิดถึงแต่อนาคต อนาคตที่เรืองรอง คนแก่ คิดถึงแต่อดีต อดีตที่เรืองรอง แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นเฉพาะบนเส้นทางใน “แนวราบ” เท่านั้น บนเส้นทางใน “แนวตั้ง” แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ก็ล้วนแต่เรืองรองทั้งสิ้น เพราะมันเป็นชีวิตแห่งการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่
ดังนั้น โปรดอย่าได้กังวลเกี่ยวกับกฎของวัยชราเลย ให้ท่านคิดถึงเส้นทางที่รถไฟของท่านจะวิ่งต่อไป มีเวลาเสมอที่จะเปลี่ยนทิศทาง ทั้งนี้เนื่องจากในทุกๆ ขณะ นั้น ท่านสามารถสับรางได้ตลอดเวลา ท่านสามารถจะเลือกว่า ต้องการจะไปในแนวราบ หรือจะไปในแนวตั้ง มันเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ!!”
ชื่อผู้ส่ง : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ถามเมื่อ : 13/03/2009
 


อ่านข้อเขียนของอาจารย์แล้วทำให้"สะดุ้ง"คิดในเรื่องการมีและการดำรงอยู่ของชีวิตอย่างมีความหมาย ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองคงต้องพยายามกวาดผักตบชวาที่ติดอยู่ออกไปให้ได้แล้วหาทางขึ้นบอลลูนไปดูโลกทัศน์ในแนวตั้งแทนบ้างค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 14/03/2009
ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ วสันต์ อย่างสูงยิ่งที่ทำให้ผมตระหนักถึง ความสำคัญและมีค่าของอายุที่เพิ่มขึ้นอันต้องมาพร้อมกับความสุขและหน้าที่

เช่นกันครับคุณนพรัตน์ ผมเองก็ขออณุญาติทำตามด้วยครับ"พยายามกวาดผักตบชวาที่ติดอยู่ออกไปให้ได้แล้วหาทางขึ้นบอลลูนไปดูโลกทัศน์ในแนวตั้งแทนบ้าง"ครับผม ขอบพระคุณครับ ยิ้มๆ
ชื่อผู้ตอบ : โก้ ตอบเมื่อ : 14/03/2009
ได้สัมผัส พี่อี๊ด บ้างไม่มากนัก ทั้งผ่านงานในแวดวงที่ทำ และในฐานะเคยเป็นลูกศิษย์บ้างครั้งคราว แบบนานๆ หน และนานมาแล้ว แต่สิ่งที่ท่านอาจารย์ยกมาพูดถึง ผมมั่นใจว่าไม่ผิดจากน้ำใจที่แท้จริงของท่านเลย และที่ผมย้อนระลึกได้ ผมยังรู้สึกได้ว่า พี่อิ๊ดมีน้ำใสใจจริงของความเป็นครูบาอาจารย์ที่แท้ ที่มีความปราถนาดีเสมอต่อทุกคนที่ได้รู้จัก ผมนึกออกแค่นี้ครับ ซึ่งผมว่าน่าจะน้ำใจเดียวกับท่านอาจารย์นะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 15/03/2009
รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) เรียกว่าเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณเลยนะครับ เพียงแต่ผ่านทางด้านการศึกษา แล้วแตกแขนงไปยังเกษตร การรักษาสุขภาพด้วย ฯลฯ

นอกจากครบรอบ 7 ปี แล้วยังพูดถึงพัฒนาการแต่ละอายุด้วย หมอดูแม่นๆ เลยแหละ คนมีลูกมีหลานน่ารู้มากครับ
ชื่อผู้ตอบ : คนขอนแก่น ตอบเมื่อ : 16/03/2009
เห็นด้วยกับคุณคนขอนแก่นครับ หลายท่านที่เรานับถือได้ว่าเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณที่แท้จริงนั้น บางทีหากดูเผินๆ จากภาพลักษณ์ที่ท่านเหล่านั้นนำเสนอผลงานออกมา (Positioning) เราก็อาจคิดว่าท่านเหล่านั้น เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง อย่างเช่นรูดอล์ฟ สไตเนอร์ นี้ หลายคนคิดว่าท่านเชี่ยวชาญด้านการศึกษาเท่านั้น หรือมิฮาย ซิกเซ็นต์มิฮายยี ที่ผมเคยอ้างอิงอยู่บ่อยครั้ง หลายคนก็คิดว่าเป็นนักวิชาการด้านจิตวิทยาทั่วไปเท่านั้น ยังมีผู้รู้อีกหลายท่าน ที่อาจไม่ได้นำเสนอตัวเองว่าเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ เฉกเช่นองค์ดาไลลามะ หรือดีพัค โชปรา หรือเอ็คฮาร์ท โทลเลอร์ หรือฯลฯ แต่ถ้าได้ศึกษาแนวคิดของท่านเหล่านั้นแล้ว เราจะรู้ได้ทันทีว่า ท่านก็เป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณตัวจริงเช่นกัน

ผู้ที่สนใจแนวคิดของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ อาจลองไปหาหนังสือของเขามาอ่านดูก็ได้ครับ เท่าที่ผมทราบและเท่าที่ผมมีอยู่ จะเป็นหนังสือของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา เข้าใจว่างานสัปดาห์หนังสือที่จะถึงนี้ น่าจะมีการเอาออกมาเลหลังอีกครั้ง (เป็นหนังสือที่ไม่อยู่ในข่ายขายดี แม้เนื้อหาจะดีมาก)

OSHO ก็พูดถึง "วงรอบชีวิตทุก 7 ปี" ไว้ในหนังสือที่ผมอ้างไว้ในข้อเขียน ค่อนข้างละเอียดเหมือนกัน (มีความยาวเกือบสี่สิบหน้ากระดาษ) เพียงแต่อาจเป็นอาจพิจารณาในอีกมุมมอง หรืออีกมิติหนึ่ง ที่แตกต่างจากที่รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ได้แบ่งไว้ โดย OSHO ได้โปรยหัวเรื่องนี้ไว้ในหนังสือว่า :-

"...มันเป็นการดี หากเราสามารถเข้าใจรูปแบบภายในชีวิตของเรา ผู้เชี่ยวชาญทางสรีรศาสตร์บอกว่า ทุกๆ เจ็ดปี ร่างกายและจิตใจของเราจะผ่านวิกฤติและการเปลี่ยนแปลง ทุกๆ เจ็ดปี เซลล์ในร่างกายทั้งหมดของเราจะเปลี่ยนใหม่หมด หากท่านมีชีวิตอยู่ถึงเจ็ดสิบปี (อายุเฉลี่ยของคนทั่วไป) ก็เท่ากับว่าร่างกายของท่านนั้น ตายไปสิบครั้ง เพราะในทุกปีที่เจ็ด ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงใหม่หมด มันเหมือนการเปลี่ยนของฤดูกาล วงรอบนี้จะสมบูรณ์ในเจ็ดสิบปี เป็นการเดินทางจากการเกิดไปสู่การตาย วงรอบนี้จะสมบูรณ์ในเจ็ดสิบปี โดยประกอบด้วยวงรอบเล็กๆ สิบครั้ง
...จริงๆ แล้วเราไม่ควรแบ่งชีวิตของคนเป็นวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และวัยชราเลย การแบ่งเช่นนั้นมันไม่เป็นวิทยาศาสตร์เลย เพราะทุกเจ็ดปี จะมีการเริ่มของสิ่งใหม่ มีก้าวใหม่เกิดขึ้น..."

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 17/03/2009
อาจารย์วสันต์ กี่รอบแล้วครับ
เฉลยหน่อย??? (haha >_-)

ดร เสรี เป็นคนที่วิจารย์อะไรตรงๆ
ผมว่าบางทีมันก็ตรงดีครับ
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 17/03/2009
ขอยกตัวอย่าง แบบพวกครูพักลักจำ
ช่วงที่เด็กดื้อมาก ๆจนพ่อแม่งง และอาจมองไม่เห็นรอยต่อของการดื้อมาก่อนเลย

อายุ 1 ปี เป็นช่วงที่เด็กยืนได้ทางสรีระวิทยา
อายุ 3 ปี เป็นช่วงที่เด็กรู้สึกถึงการยืนได้ด้วยด้วยตัวเองจากด้านใน
อายุ 9 ปี เป็นช่วงที่พลังงานแห่งจักรวาล ชื่อ อารีมันถั่งโถมเข้าแทรกในตัวเด็ก (มีพลังงานอยู่ 2 ตัว คือ อารีมัน และลูซีเฟอ)

นอกจากนี้แต่ละอายุ จะถูกอิทธิพลของดวงดาวต่างๆ แตกต่างกันไป หากอยากรู้ว่า เด็กจะมีนิสัย พฤติกรรม เป็นเช่นไร ก็สามารถดูได้จากตัวละครในเทพนิยายกรีก ที่เป็นตัวแทนของดวงดาวต่างๆ

“OSHO ก็พูดถึง "วงรอบชีวิตทุก 7 ปี" ไว้ในหนังสือที่ผมอ้างไว้ในข้อเขียน ค่อนข้างละเอียดเหมือนกัน (มีความยาวเกือบสี่สิบหน้ากระดาษ) เพียงแต่อาจเป็นอาจพิจารณาในอีกมุมมอง หรืออีกมิติหนึ่ง ที่แตกต่างจากที่รูดอล์ฟ สไตเนอร์”

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ บอกรู้ไว้ เพื่อจะได้ไม่ตัดสินเด็ก เพื่อเข้าใจเด็ก และให้การศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กอย่างแท้จริง สู่การพัฒนาทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณ


นอกจากหนังสือสวนเงินมีมา ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่เขียนโดยลูกศิษย์รูดอฟ หรือครูในแนวทางนี้ อ่านแล้วจะรับรู้ได้ถึงความลึกซึ้งในตัวเด็ก และการศึกษาที่ละเมียดละไมมากๆ

หาซื้อหรือดูได้ที่ http://www.panyotai.com/books-th.html

ฝากถึงคุณนันท์ เขียนกระทู้ดูจะไม่ค่อยต้อนรับfirefox นะครับ ชอบขึ้น SECURITY CODE FAILED!!!
ชื่อผู้ตอบ : คนขอนแก่น ตอบเมื่อ : 18/03/2009
คุณผู้อ่านครับ ผมเพิ่งจะรอบเดียวเท่านั้น ก็มากเกินไปแล้วครับ เพราะรอบของผม คือ "รอบจัด" (ฮา)

คุณคนขอนแก่นครับ นี่เป็นความรับรู้ใหม่ของผมโดยแท้ ไม่เคยได้ยินคำว่า พลังงาน "อารีมัน" และ "ลูซีเฟอ" เลย ไม่ทราบว่าเป็นศาสตร์ หรือแนวคิดของเรื่องใด หรือของท่านใดครับ ถ้าจะช่วยสงเคราะห์ให้ความรู้ในเรื่องนี้สักเล็กน้อย ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง (หรือแนะนำแหล่งที่จะค้นคว้าเรื่องนี้ได้ ก็ยิ่งดีครับ)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 18/03/2009
ขอบพระคุณท่านอาจารย์วสันต์สำหรับความรู้เรื่อง “ช่วงแห่งชีวิตการงาน” ของ สไตเนอร์ ค่ะ เป็นการชี้นำทาง สนับสนุน และเป็นกำลังใจว่าในสิ่งที่หนึ่งตั้งใจ และ ปรารถนาที่จะทำอยู่นั้นเป็นหนทางสู่ความสว่าง และ ความสุข

ใจก็ฮึกเหิมอยาก “เจริญพัฒนา” หรือ “เติบโตขึ้น” (Growing Up ) ให้เหมาะสมกับวัย - เบญจเพศ ค่ะ - ( :O) ฮา)

ขอบคุณค่ะ

ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 18/03/2009
คุณหนึ่งมีชีวิตใน "แนวตั้ง" อยู่แล้ว พึงระวังชีวิตใน "แนวท้วม" ก็พอ (ฮา) จะกินอะไร ก็ต้องปรึกษาคุณแจงเธอดูก่อน เพราะเธอก็คงอยู่ในแนวนี้มาบ้าง (ฮากว่าเมื่อกี้อีก)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 18/03/2009
เป็นเนื้อหาจากการฟังเลคเชอร์ครับ อาจารย์ลองอ่าน http://thehumanodyssey.typepad.com/the_human_odyssey/2008/02/the-stages-of-2.html

ของโทมัส อาร์มสตรอง

แล้วอาจารย์ค่อยแกะรอยตามไปดีกว่า ภาษาอังกฤษผมไม่แข็งแรงมากๆ เดี๋ยวพาหลงทาง

ขอเวลาค้นเลคเชอร์ก่อนว่า พลังงานทั้ง2 สะกดในภาษาอังกฤษอย่างไร
ชื่อผู้ตอบ : คนขอนแก่น ตอบเมื่อ : 18/03/2009
ขอบคุณคุณคนขอนแก่นครับ จะลองแกะรอยตามเว็บเพจที่ให้มา แต่ถ้าค้นเลคเชอร์เจอ จะสังคมสงเคราะห์อีกสักครั้งที่ตรงนี้ ก็จักเป็นพระคุณอย่างสูง เพราะภาษาอังกฤษผมก็แบบ..ไม่เคยพาใครหลงทางอยู่แล้ว เพราะหลงทางอยู่คนเดียวเป็นอาจิณ (ฮา)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 19/03/2009
อาจารย์ลองอ่านที่นี่ครับ http://www.doyletics.co/arj/landarvw.htm

แล้วจะได้keyword พาไปอีกหลายๆที่ หรือค้นในgoogle ด้วยคำว่า lucifer steiner
ชื่อผู้ตอบ : คนขอนแก่น ตอบเมื่อ : 30/03/2009


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code