คุณนันท์ แชร์ประสบการณ์ จาก 7 กฏ ฯ
คำถามนี้ เกิดจากการที่ได้สังเกตุ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ พื้นที่สีขาวแห่งนี้ ที่เห็นการแลกเปลี่ยนพลังงานความอบอุ่น ความรักที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย จนรู้สึกได้ถึงความมหัศจรรย์ของความสัมพันธ์ที่ผู้คนทุก ๆ ท่านมีให้คุณนันท์ ทั้งความรัก รอยยิ้ม ต่าง ๆ ผมเชื่อว่า คุณนันท์ ต้องมีความสุขมาก ๆ ที่ได้แปลหนังสือเล่มนี้ และยังได้จัดกิจกรรมหนังสือส่งต่อ และพื้นที่สีขาวให้มีการได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ซึ่งบางความรู้สึกของผมนั้น ยังทึ่ง กับความรัก และความอบอุ่นมากมาย ที่ดูเหมือนกับ กฏแห่งการพยายามน้อย กำลังทำงานและแสดงออกอยู่ ( ซึ่งผมเองมีความสุขมากครับนับเป็นเวลา เกื่อบ 1 ปีแล้วที่ได้เข้ามาอ่านพื้นที่สีขาวนี้ )ณ.ที่นี้ ผมใคร่ ขอให้คุณนันท์ ช่วยแสดงหรือช่วยอธิบายวิธีที่คุณนันท์นั้นได้ปฏิบัติตามหนังสือนี้ นับตั้งแต่วันแรกที่ได้อ่าน จนถึงระหว่างทางที่เริ่มต้น ทำหนังสือเล่มนี้ เป็นไปในแนวทางจากข้างในจิตใจ ให้พวกเราหลาย ๆ คนนั้นได้ดูเป็นตัวอย่างด้วยครับ ขอบคุณและรักจากใจ
ชื่อผู้ส่ง : นีโอ ถามเมื่อ : 05/03/2009
 


คุณนีโอครับ ด้วยความยินดี แต่ขอเวลานิดนะครับ ด้วยคิดว่าคงต้องใช้สมาธิในการทบทวนพอสมควร ประจวบกับผมมีเรื่องงานที่ต้องให้เวลาและตั้งสมาธิไว้ที่ตรงนั้นอยู่พอดีครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 06/03/2009
คุณนีโอขอให้ผม “ช่วยแสดงหรือช่วยอธิบายวิธี” ที่ผมได้ปฏิบัติตามหนังสือนี้ นับตั้งแต่วันแรกที่ได้อ่าน จนถึงระหว่างทางที่เริ่มต้นทำหนังสือเล่มนี้ เป็นไปในแนวทางจากข้างในจิตใจ เพื่อให้ดูเป็นตัวอย่าง

ขออนุญาตสองอย่างก่อนเล่าสู่กันดังนี้ครับ
อย่างแรก ผมคงขอตอบแบบไม่จบในรวดเดียว คงต้องขอค่อยๆ เล่าไปตามที่นึกออกและตามจังหวะเวลาที่มีจากข้อจำกัดในระยะนี้ สั้นบ้างยาวบ้าง เพราะเชื่อว่าคงเป็นหนังยาวเหมือนกัน ไม่ใช่หนังสั้นแน่นอน
อย่างที่สอง ต้องเรียนว่าการ “ช่วยแสดงหรือช่วยอธิบายวิธี” นั้นอาจไม่เป็นกระบวนการ แบบ 1.. 2.. 3.. 4.. ด้วยว่าพื้นฐานผมไม่ได้เป็นนักปฏิบัติตัวยง แบบมีแบบแผนหรือวินัยนักหนาเลย รูปแบบจึงอาจไม่ชัดเจนเป็นขั้นตอนหรือหลักสูตร แต่เป็นเชิงอุทาหรณ์ น่าจะได้ แต่ผมก็จะพยายามรวบรวมความคิด จัดรูปให้เห็นเท่าที่เป็นได้ เพราะก็จะทำให้ผมเองได้รวบรวมและทบทวนตนเองดีเหมือนกันครับ

นอกจากนี้ อย่างที่คุณนีโอคงเข้าใจอยู่แล้วว่า คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ (หรือเล่มไหนก็ตาม) ทุกคนน่าจะมีความเข้าใจไม่เหมือนกัน และนำไปสู่การพิจารณา รวมทั้งวิธีนำไปปฏิบัติไม่เท่ากันและคนละแบบ “อันเกิดจากพื้นฐานและนิสัยที่มีเก็บไว้เดิมไม่เหมือนกัน” จึงจะแปรรูปออกไปต่างกัน จึงต้องระวังว่า วิธีของใครก็ของแต่ละท่าน ส่วนวิธีของผมไม่รู้ว่าจะถูกผิดจากใจประการใด ก็ยกให้ผมด้วย เนื่องด้วยผมจะเล่าว่าผมเป็นอย่างไรไปตรงๆ ครับ

คิดว่าภาพรวมๆ ที่ผมจะเล่าน่าจะเป็นอย่างนี้ครับ เริ่มจากขอสร้างความเข้าใจเรื่องพื้นฐานส่วนตัวของผมตั้งแต่ก่อนอ่าน อันเป็นเหตุให้เมื่อได้อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษจึงถูกอกถูกใจ ทำไมอ่านแล้วชอบ สำหรับผมกฎแต่ละข้อบอกอะไรหรือให้อะไร และที่สำคัญในความเห็นของผมก็คือ “วิธีในการอ่าน” ซึ่งผมมักใช้ในการอ่านหนังสือ แถมหนังสือเล่มนี้ยิ่งน่าจะทำให้การอ่านของผมต่างกับคนอื่นๆ เพราะผมอ่านเพื่อแปล ซึ่งคงต่างกับทุกๆ ท่านที่อ่านเพื่อทำความเข้าใจเฉยๆ ซึ่งตรงนี้ที่ผมคงได้เปรียบคนอื่นๆ แล้วจากเหตุทั้งหมดนั้น ทำให้ผมเอาอะไรไปสู่การปฏิบัติอย่างไรบ้าง สุดท้ายมันได้มีส่วนพัฒนาอะไรให้ชีวิตของผม ฟังดูเป็นหนังเรื่องยาวแน่ๆ แต่ไม่รู้ว่าจะสนุกหรือเปล่านะครับ

วันนี้ขอแค่นี้ก่อนนะครับ ก่อนเข้าเรื่องเข้าราวในครั้งต่อไป แต่ก็ขอยืนยันว่าเป็นไปตามความเข้าใจของคุณนีโอนั่นแหละครับว่า ผมมีความสุขมากๆ ที่ได้แปลหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่ขณะแปล วันที่แปลเสร็จ ออกจำหน่าย และตั้งแต่วันนั้นจนถึงขณะนี้ ทำให้ชีวิตได้พบสิ่งดีๆ ได้พบผู้คน ทั้งตัวเป็นๆ ทั้งทางเสียง ทางตัวหนังสือ และโดยเฉพาะกับผู้คนในที่นี้ ที่ได้แลกเปลี่ยนผ่านการให้และการรับสิ่งดีๆ ต่อกัน ข้อคิดมุมมอง ที่ทำให้ผมได้เติบโตเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการร่วมสร้างความรู้สึกที่ดีผ่านพื้นที่นี้ หลายท่านอาจเข้าใจว่าผมได้ให้ออกไปหลายอย่าง แต่ไม่รู้หรอกครับว่าเบื้องหลังผมได้รับทั้งนามธรรมและรูปธรรมมากกว่ามากมาย มันเกิดขึ้นเองโดยไม่เคยได้คาดหมาย ไม่ต้องกำหนด มันคงเป็นไปตามธรรม(ชาติ) หรือกฎแห่งความเป็นไป

พื้นที่นี้เป็นรูปธรรมอันเด่นชัดสำหรับผม ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ไปด้วยตลอดเวลา โดยผ่านการแลกเปลี่ยนไม่ทางใดทางหนึ่งของชีวิต ความรู้ของทุกคน นำความเข้าใจใหม่ๆ มาให้เรานำไปพัฒนาสู่การตระหนักรู้ ความไม่รู้ของบางคน นำไปสู่สิ่งรู้ใหม่ของเราด้วยเช่นกัน

แม้แต่ขณะที่ผมนั่งทบทวนเพื่อตอบความทั้งหมดนี้ ก็นำผมไปสู่สิ่งรู้ใหม่ที่ผมเองอาจไม่เคยตระหนักถึง หรือเคยคิดถึงมันเลย มันเหมือนกับว่าอยู่ดีๆ คุณนีโอมาบอกให้ผมรดน้ำพรวนดินสวนของผมเอง ซึ่งมันกลับช่วยทำให้ต้นไม้ของผมเองผลิดอกออกผล และขยายสวนในใจให้กว้างใหญ่ออกไป แน่นอนเพื่อให้ผมได้รับผลต่อไปในวันข้างหน้าสำหรับตัวผมเองนั่นแหละ

ที่คุณนีโอบอกว่า ทึ่ง กับความรัก และความอบอุ่นมากมาย ผมคิดว่าอาจมีมุมมองที่คงแตกต่างกันไปในแต่ละคนที่เข้ามาแวะเวียน ส่วนตัวผมเอง ขอเรียนตามตรงว่า มันไม่เชิงทึ่ง แต่มันเรู้สึกว่าเป็นสิ่งดีๆ และรู้สึกดี และพยายามวางมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้อยู่ในรูปของการเห็นความเป็นไป และให้มันเป็นไปตามธรรม(ชาติ) อาจเหมือนเตือนตนเองในเรื่องว่าอย่าเอามาเป็นตัวเป็นตน ซึ่งก็มักเผลอไป แม้ขณะที่อ่านกระทู้นี้ของคุณนีโอ ยังต้องเตือนใจว่า เป็นอีกสิ่งหรือข่าวสารดีๆ ที่คุณนีโอมีให้ เป็นความชื่นใจ (ไม่ให้เลยไปเป็นสิ่งชูใจ) ที่เกิดขึ้นในชีวิต

ที่ชื่นใจเกี่ยวกับเวบบอร์ดนี้ก็คือ ถ้าพื้นที่นี้มันได้กลาย “เป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนพลังงานความอบอุ่น ความรักที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย” จริงอย่างที่คุณนีโอบอก อาจมากบ้างน้อยบ้างก็ได้ และผมก็อยากจะได้เป็นหนึ่งคนในนั้น ไม่อยากให้เลยไปถึงเกิด “ความรู้สึกได้ถึงความมหัศจรรย์ของความสัมพันธ์ที่ผู้คนทุกๆ ท่านมีให้คุณนันท์” เอาแค่เรารู้สึกดีๆ ต่อกันและเท่าๆ กัน เป็นยอดเยี่ยมที่สุด

มีแต่เกริ่น เลยยังไม่ได้เข้าเรื่องราวที่จะให้เล่าเลยครับ

ว่าแต่ที่คุณนีโอลงท้ายว่า “ด้วยรักจากใจ”
จริงๆ เหรอครับ ฟังแล้วให้อารมณ์ดีจังครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 08/03/2009
จริงๆ ครับ ถ้าไม่เชื่อ ลองถามทุกคนใน ที่นี้ก็ได้ ว่ารักนันท์บุ๊ค อย่างที่ผมเอ่ยถึงรึเปล่า .........ว่างัยครับทุก ๆ คน.....??
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 09/03/2009
"รักและผูกพัน"ทุกๆอย่างที่หล่อหลอมเป็นนันท์บุ๊คครับผม
ชื่อผู้ตอบ : โก้ ตอบเมื่อ : 09/03/2009
คุณนีโอ ตั้งกระทู้ได้ดีมาก แต่ผมว่ามันก็ยากที่จะเขียนออกมาเป็นข้อเขียน มันน่าจะดีมากกว่า ถ้าหากมันเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน โดยผ่านการพูดคุยกัน

ผมแน่ใจว่าในอีกไม่ช้าไม่นาน ผู้คนในที่นี้ทั้งหมด (หรือส่วนใหญ่) จะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ล้ำค่ากัน ถ้ายังไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพ ผมนี่แหละที่จะขออาสาเอง..อาสาที่จะไปขอร้องคุณนันท์ให้รับเป็นเจ้าภาพให้ได้ (ฮา)

คุณโก้ครับ ผมยังตั้งสติไม่ได้เลยครับ อีกสองสามวัน คงได้อีเมล์ไปคุยกับคุณโก้ อย่างชนิดว่ากันยาวๆ นะครับ

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 09/03/2009
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ดิฉันได้รับ e-mail ที่สวย เพลงเพราะ และข้อความดีมาก แต่เป็นภาษาอังกฤษ เลยรบกวนให้คุณนันท์แปลเป็นภาษาไทยให้เพื่อที่จะได้ส่งต่อให้พรรคพวกเพื่อนฝูง คุณนันท์ก็รับปากทันที และแปลมาให้อย่างรวดเร็ว ดิฉันประทับใจและรู้สึกซาบซึ้งมาก เพราะทราบดีว่าคุณนันท์เองก็คงจะยุ่งๆอยู่แต่ ด้วยความเมตตากรุณา ทานก็อุตสาห์สละเวลามาแปลให้ ขอบพระคุณจริงๆค่ะ

ดิฉันโชคดีที่ได้อ่านหนังสือ 7กฎด้านจิตวิญญาณ ซึ่งก็ทำให้โชคดีได้รู้จักกับคุณนันท์ และนันท์บุ้ค โชคดีที่ทำให้รู้จักกับอ.วสันต์ คุณโก้ และได้มีโอกาสอ่านข้อความจากหคุณแฟนพันธุ์แท้ (แต่ตอนนี้ไม่ทราบเธอหายไปไหน...คิดถึงเธออยู่)

ดิฉันเห็นด้วยกับคุณนีโอค่ะ รักนันท์บุ้คค่ะลายท่านในมีที่นี้ โดยเฉพาะของ


ชื่อผู้ตอบ : jang ตอบเมื่อ : 09/03/2009
** ข้อความบรรทัดสุดท้ายคือ ..ดิฉันเห็นด้วยกับคุณนีโอค่ะ รักนันท์บุ้คเช่นกันค่ะ ***ส่วนที่เกินไม่ทราบมายังไง
ชื่อผู้ตอบ : jang ตอบเมื่อ : 09/03/2009
ขอบคุณครับ คนแถวนี้ใช่ว่าจะจริงใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังปากหวานมากๆ ด้วย ผมว่าที่ว่า “รัก” นั้น น่าจะรักมวลบรรยากาศที่เกิดขึ้นจากที่ทุกๆ ท่านร่วมกันสร้างขึ้นมา โดยมีพื้นที่นี้ช่วยเป็นสถานีให้เชื่อมต่อ เหมือนเช่นที่คุณโก้บอกว่า “ทุกๆ อย่างที่หล่อหลอม..” ใช่เลยครับ และผมเองก็เป็นหนึ่งหน่วยในนั้นเหมือนเช่นทุกๆ ท่าน

จริงอย่างที่ท่านอาจารย์บอกทั้งสองเรื่องเลยครับ ว่ากระทู้นี้ยากมากที่จะเล่าออกมาอยู่ฝ่ายเดียว ตอนที่อ่านกระทู้ครั้งแรก ก็ให้หยุดนิ่งอึ้ง แล้วความคิดแรกๆ ที่เกิดขึ้นมาในความนิ่งอึ้งก็เป็นเชิงอุทานว่า “นั่นนะสิ มันยังไงหว่า และถ้ารู้แล้วจะเล่ายังไงดี” รวมทั้งเรื่องการที่จะให้เกิดประโยชน์จริงๆ มันจะดีมากถ้าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน โดยผ่านการพูดคุยกัน ซึ่งผมก็จะไม่เสียเปรียบเล่าอยู่คนเดียว ใครเข้าใจหรือคิดว่าผมเพ้อ ผมก็ไม่อาจรู้ได้ นอกจากนั้นผมเชื่อว่าผมคงจะได้ความรู้อีกหลากหลายจากทุกท่านด้วย

ผมแน่ใจว่าในอีกไม่ช้าไม่นาน ผู้คนในที่นี้ทั้งหมด (หรือส่วนใหญ่) จะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ล้ำค่ากัน ถ้ายังไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพ ผมนี่แหละที่จะขออาสาเอง.. แล้วก็อาสาที่จะไปกราบขอร้องท่านอาจารย์วสันต์ ให้ท่านมาเป็นอาจารย์ใหญ่ของพวกเราในวันนั้นให้ได้ (เอาจริง.. ไม่ฮา)

(ย่อหน้าข้างบน ผมเขียนเองไม่ได้ลอกท่านอาจารย์นะครับ และคุณโก้เองก็ทำเอาผมอึ้งอยู่หลายวัน ครับท่านอาจารย์)

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

คุณนีโอครับ ผมจะลองเล่าไปตามลำดับที่ผมวางไว้ดูนะครับ ตอนนี้ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะพาไปถึงไหนบ้าง เอาเป็นว่าเริ่มจาก ขอสร้างความเข้าใจเรื่องพื้นฐานส่วนตัวของผมตั้งแต่ก่อนได้อ่าน 7 กฎฯ อันเป็นเหตุให้เมื่อได้อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษจึงชอบใจ และส่งผลถึงวิธีนำเอาไปใช้

ขอเกริ่นไกลหน่อยนะครับ ว่าผมเริ่มถุกสร้างทัศนคติในเรื่อง “ชีวิตคืออะไร” ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย มันชัดเจนว่าเริ่มในช่วงนั้น โดยเกิดมาจากเหตุหลัก 3 ประการ
1. หนังสือเชิงศาสนาปรัชญาไม่กี่เล่มที่ขายในช่วงยุคนั้น
2. การเรียนในสาขาสถาปัตย์ ที่ส่งผลให้ผมรู้จักปรัชญาบางอย่างเกี่ยวกับการออกแบบ
3. การที่ต้องหัดค้นหาแนวทางของจิตใจในการคิดออกแบบสร้างสรรค์เพื่อทำงานส่งอาจารย์
(พอเริ่มเล่าก็ชักจะยาว มันจะเป็นการเล่าชีวประวัติไปเสียหรือเปล่า)

หนังสือเล่มหลักๆ ที่มีอิทธิพลต่อผมก็จะเช่น เต๋า มนุษย์ที่แท้ เซน เรื่องพุทธศาสนามหายานของท่านติช นัท ฮันท์ งานของคาลิล ยิบราล บางเล่ม งานของท่านรพินทรนาถ ฐากูร บางเล่ม งานของท่านพุทธทาส บางเล่ม กฤษณามูรติ บางเล่ม อีกเล่มคือ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน

ส่วนเรื่องเรียนการออกแบบ มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่ได้จุดให้ผมสนใจรู้จักเรื่อง แนวทางในการออกแบบ (เรียกให้เก๋ๆ ก็คือ ปรัชญา) ท่านสอนให้รู้จักลึกซึ้งเรื่อง “ธรรมชาติ” (ตรงนี้สำคัญสำหรับผมมาก) จากเดิมวัยรุ่นอย่างผมไม่รู้เรื่องแนวทาง ปรัชญาอะไรทำนองนี้เลย มีสถาปนิกระดับโลกชื่อ แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ พูดเรื่อง organic และอีกคนชื่อ มีส แวน เดอ โรห์ พูดเรื่อง less is more โอ้โห.. โดนใจมาก

ส่วนการดิ้นรนหาวิธีคิดงานส่งอาจารย์ให้มันแจ๋วๆ คิดแล้วได้แบบลงตัว (กะให้ได้ A) โดยสังเกตใจตัวเองว่าทำอย่างไรให้ระหว่างที่คิด มันมีอาการไหลลื่น ก็ทำให้ได้เรียนรู้ที่จะหยั่งถึงสภาวะจิตของตัวเอง ผมว่าผมฟลุ้ค ได้หัดทำความรู้จักสภาวะๆ หนึ่ง ซึ่งมาเฉลยภายหลังว่ามันคืออะไร ตั้งแต่ตอนนั้น

ผลจากเหตุหลักข้างต้นประกอบรวมกัน ทำให้ผมกลายเป็นคนที่ได้สนใจสภาวะนี้ ซึ่งผมไม่รู้หลอกว่ามันลึกซึ้งและสัมพันธ์กับเรื่องจิต หลักทางศาสนา อย่างไรนัก แต่ก็พอจับความได้เลาๆ ผมเองสนใจใฝ่หาสภาวะนี้ ที่ผมเรียกว่า สภาวะแห่งธรรมตามแบบของผม จนถึงตอนช่วงที่จบมหาวิทยาลัย ทำงาน อายุซัก 26-27 ก็ค่อยๆ เจือจางลงจากชีวิต ด้วยพลัดหลงไปกับหน้าที่การงานชีวิตวุ่นวาย แต่มันไม่หายไปครับ มันยังอยู่ตรงนั้นลึกๆ จนบางทีก็ลึกมาก

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ผมเป็นคนอ่านหนังสือค่อนข้างน้อยเล่ม ความรู้ไม่กว้างขวางมากนัก เวลาหาหนังสืออ่านจะเพื่อตอบใจ หรือโจทย์ หรือเพื่อหาคำตอบ เกี่ยวกับสภาวะนั้นเท่านั้นจริงๆ (เลยทำให้มุมมองเรื่องนี้แคบมีกรอบเดียว) กลายเป็นคนมีความเชื่อเดิมยึดเรื่องในสภาวะบางอย่าง ที่จะต้องสัมผัส หรือเชื่อม หรือหยั่งถึงได้ผ่านทางใจหรือจิต เท่านั้น ที่ตอนนั้นผมเรียกของผมเอาเองว่า หยั่งถึงสภาวธรรม แล้วผมก็ติดมาจนถึงทุกวันนี้ครับ

ผมพลัดหลงกับความวุ่นวาย อยู่ร่วม 20 ปี ในระหว่างนั้นสนใจหรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้น้อยมาก จำได้ชัดเจนว่า จนเมื่อช่วงวันสงกรานต์เดือนเมษายนปี 2548 เป็นช่วงวันหยุดยาว ผมกลับไปค้นหนังสือเหล่านี้กลับมานั่งอ่านอีกครั้ง และตั้งใจว่าอายุเริ่มมากแล้ว น่าจะกลับไปสนใจมันอีกก่อนจะสาย หลังจากนั้นต่อมาก็เลยเถิดไปหาหนังสือใหม่ๆ ซึ่งความคิดที่ผสมเข้ามาก็คือ หากอ่านภาษาอังกฤษคงจะดี จะได้ฝึกภาษาอังกฤษไปด้วยในตัว และเปิดโลกทัศน์ด้วย จนมาเจอ The Seven Spiriyual Laws of Success นี่แหละครับ

วันนี้เป็นบทนำอย่างเดียวเลยครับคุณนีโอ แต่ยังไงก็ขอบคุณครับที่ทำให้ผมได้ทบทวนตนเองอีกครั้ง
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 10/03/2009
เริ่มต้นเกริ่นนำ น่าติดตามครับ พวกเรามาร่วมกันเดินทางค้นหาเส้นทางจุดกำเนิดของหนังสือที่อยู่ในมือทุกๆ ท่านกันต่อตอนหน้าน่ะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 10/03/2009
เล่าต่อครับ...... ดีจัง

คิดๆไว้ ว่าจะตั้งกระทู้ หนังสือ 5 เล่ม ที่เปลี่ยนชีวิต ของแต่ละคน อยากให้เล่าเรื่องที่มันเจือด้วยประสบการณ์ มากกว่าการวิพากษ์หนังสืออย่างเดียวนะครับ จะได้ครบ กาย ใจ จิตวิญญาณ

แบบที่คุณนันท์พยายามเล่า นี่แหละครับ ชอบๆๆๆ
ชื่อผู้ตอบ : คนขอนแก่น ตอบเมื่อ : 10/03/2009
ขอบพระคุณคุณนีโอครับ.....สำหรับกระทู้แห่งการเดินทางของจิต-วิญญาณ ครับผม

ขอบพระคุณ คุณนันท์ครับ....สำหรับ เรื่องราวแห่งการเดินทางของจิต-วิญญาณ ที่แค่เริ่มก็ต้องติดตามอย่างพลาดไม่ได้ในครั้งนี้ครับ
ยิ้มๆๆครับ

ท่านอ.วสันต์ ครับผม.....ท่านสบายๆนะครับ จริงๆแล้วผมส่งจิตระลึกถึงท่านก็เพียงพออยู่แล้วครับผม

ขอบพระคุณทุกๆท่านครับ ยิ้มๆๆๆ

ชื่อผู้ตอบ : โก้ ตอบเมื่อ : 10/03/2009
นอนเหมือนตัวเบาลอย ตื่นเหมือนฝันเดินทาง
ทำเหมือนไม่ได้ทำ สำเร็จโดยไม่รู้ตัว
ทั้งเพลิดเพลิน ชวนโหยหาอยู่ทุกเวลา
แต่หาไม่ได้ ค้นไม่เจอ มันมาเมื่อมาเอง
แค่เราวางลง และตรงไปที่ความรู้สึกปรารถนา
รอคอยมานานแสนนาน รู้ว่าอยู่ตรงนี้
แค่เพียงรอต่อไป

ขอแชร์แด่คุณนันท์ครับ
(รักนันท์บุ้คส์เช่นกัน)
ชื่อผู้ตอบ : karn ตอบเมื่อ : 10/03/2009
ขอแชร์ด้วยคนนะคะ...ทุกครั้งที่แวะเวียนเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้จะรู้สึกถึงความเชื่อมโยงที่เต็มไปด้วยความรัก ความสงบอบอุ่น และพลังที่ดีๆอยู่เสมอ...ในช่วงแรกๆเคยแอบหวังแค่ให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนในเส้นทางของการแสวงหาการพัฒนาจิตวิญญาณร่วมกันในพื้นที่นี้แบบพอสมควร แต่สิ่งที่คุณนันท์(และทุกท่านในที่นี้)ทำให้เกิดขึ้นในตอนนี้ต้องยอมรับว่า "เกินคาด" จริงๆค่ะ...

รักนันท์บุ๊คตั้งแต่อ่านหนังสือ 7 กฏฯในครั้งแรกจนถึงทุกวันนี้ค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 12/03/2009
อ่านที่คุณคนขอนแก่นบอกเรื่องหนังสือ 5 เล่มที่เปลี่ยนชีวิต ใช่เลยครับ หนังสือมีส่วนสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนมุมมองชีวิตอย่างมาก ผมเลยขอสวมรอยหยิบหนังสือ 5 เล่ม อันเป็นแหล่งที่มาของความเข้าใจในสิ่งที่ผมเรียกว่าสภาวธรรม ในแบบของผมมาเปิดทบทวน พอได้กลับไปอ่านบางอันมันยังให้ความรู้สึกดีเหลือเกิน เพราะไม่ว่าผ่านไปกี่ปีมันยังคงศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าบางบทบางเล่มผมได้อ่านทวนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว บางบทที่บันทึกออกมาเก็บไว้ก็ได้อ่านอยู่บ้าง (บางบทผมเคยลอกมาเสนอไว้ในกระทู้ก่อนหน้านี้)

ที่เกริ่นมานี้ตั้งใจจะบอกว่า ที่มาเหล่านี้สัมพันธ์อย่างยิ่งกับรากของผมและโยงถึงเนื้อหาในหนังสือ 7 กฎฯ ผมเลยขอยกบางตัวอย่างมาขยายไว้ด้วยครับ

บทแรกนี้จากหนังสือ “วิถีแห่งเต๋า” เขียนโดย เหลาจื้อ แปลโดยคุณพจนา จันทรสันติ เล่มนี้อมตะนิรันดร์กาลสำหรับผมเลย บันทึกด้านในไว้ว่าซื้อเมื่อ 31 ธันวาคม 2524 วันสิ้นปีพอดี ขอบกระดาษเริ่มเป็นสีน้ำตาลไหม้ ใกล้จะกรอบแล้ว เปิดต้องระวัง พอกลับไปอ่านบางบทผมว่ามันสอดคล้องกับหนังสือ 7 กฎฯ มากๆ ดังตัวอย่างบทนี้ครับ


ชื่อ “สิ่งต่างๆ อุบัติขึ้นด้วยการเปรียบเทียบ”

เมื่อคนในโลกรู้จักความสวยว่าสวย
ความน่าเกลียดก็อุบัติขึ้น
เมื่อคนในโลกรู้จักความดีว่าดี
ความชั่วก็อุบัติขึ้น

มีกับไม่มีเกิดขึ้นด้วยการรับรู้
ยากกับง่ายเกิดขึ้นด้วยความรู้สึก
ยาวกับสั้นเกิดขึ้นด้วยการเปรียบเทียบ
สูงกับต่ำเกิดขึ้นด้วยการเทียบเคียง
เสียงดนตรีกับเสียงสามัญเกิดขึ้นด้วยการรับฟัง
หน้ากับหลังเกิดขึ้นด้วยการนึกคิด

ดังนั้นปราชญ์ย่อม
กระทำด้วยการไม่กระทำ
เทศนาด้วยการไม่เอ่ยวาจา
การงานทั้งหลายก็สำเร็จลุล่วงลง

ท่านให้ชีวิตแก่สรรพสิ่ง
แต่มิได้ถือตัวเป็นเจ้าของ
ประกอบกิจยิ่งใหญ่
แต่มิได้ประกาศให้โลกรู้
เหตุที่ท่านไม่ปรารถนาในเกียรติคุณ
เกียรติคุณของท่านจึงดำรงอยู่ไม่สูญสลาย


อีกบทอยู่ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งคุณพจนา ยกมาจากหนังสือชื่อ “มนุษย์ที่แท้” ซึ่งเป็นหนังสือ “เต๋า” อีกเล่มหนึ่ง เขียนโดย จางจื้อ แปลโดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผมว่าแรงดีลองอ่านดูครับ

เมื่อใส่เกือกได้พอดี
ไม่ต้องคิดถึงตีน
เมื่อใส่เข็มขัดได้พอดี
ไม่ต้องคิดถึงพุง
เมื่อใจถูกต้อง
ไม่ต้องคิดค้านหรือคิดสนับสนุน
เมื่อปราศจากการผลักไสหรือผลักดัน
ปราศจากความต้องการหรือดึงดูด
กิจการต่างๆ ย่อมเป็นไปอย่างเหมาะสม
โดยที่ท่านเองได้เป็นคนอิสระ


มีอีกบทเกี่ยวกับวิถีแห่งเต๋า จากหนังสือ “มนุษย์ที่แท้” ซึ่งเป็นตัวอย่างที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงถึงหนังสือ 7 กฎฯ สำหรับผมอย่างยิ่ง เป็นตอนที่พ่อครัวทูลเจ้าเวนหุย เรื่องวิธีการแล่เนื้อวัว (อันนี้คุณโก้น่าจะชอบนะครับ)


เมื่อแรกเริ่มที่จะเฉือนวัว
ข้าพเจ้าย่อมแลเห็นอยู่หน้าข้าพเจ้า
วัวทั้งตัว
ทั้งหมดเป็นกองใหญ่กองหนึ่ง

หลังจากนั้นสามปี
ข้าพเจ้าไม่เห็นกองอะไรอีกแล้ว
ข้าพเจ้าแลเห็นข้อแตกต่างต่างๆ

มาบัดนี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นอะไร ด้วยตา
หากรับรู้ด้วยอายตนะทั้งหมด
อินทรีย์ของข้าพเจ้าก่อให้เกิดปัญหา
แต่จิตเป็นอิสระ ทำการโดยปราศจากแผน
หากขึ้นอยู่กับสัญชาตญาณทำโดยแนวทางแห่งธรรมชาติ
เริ่มด้วยการแหวกช่องว่างอันแฝงเร้น ที่เป็นความลับ
มีดปังตอของข้าพเจ้า
ย่อมหาทางไปได้เอง
โดยไม่ต้องฟันหรือกระทบกระดูก

ตอนท้ายเจ้าเวนหุยรับสั่งว่า “พ่อครัวสอนเราว่า เราควรใช้ชีวิตอย่างไร” ผมอ่านบทนี้แล้วนึกถึงตอนนั่งคิดแบบร่างส่งอาจารย์ มันคล้ายๆ กันครับ


อีกเล่มเป็นของ กฤษณมูรติ ชื่อ “สมาธิ” แปลโดย พยับแดด เป็นหนังสือที่คัดเอาคำพูดของ กฤษณมูรติ ที่พูดถึงสภาวะสมาธิ เป็นบทสั้นๆ โดนใจผมมาก เล่มเล็กๆ บางๆ จำได้ว่าพบโดยบังเอิญซุกๆ อยู่ในร้านหนังสือน่าจะเป็นดวงกมล ที่สยามสแควร์ (ในสมัยนั้น) ขอยกตัวอย่างมาให้อ่านดูครับ


จิตที่เป็นสมาธินั้นเงียบ ความเงียบชนิดนี้ไม่อาจรู้ได้ด้วยความคิด มันไม่ใช่ความเงียบในความนิ่งสงัดของยามเย็น แต่เป็นความเงียบเมื่อความคิด อันประกอบด้วยภาพในความคิด ถ้อยคำ และสภาพรับรู้ได้ทั้งหลาย ยุติลงจริงๆ จิตที่เป็นสมาธิชนิดนี้เองคือจิตทางศาสนา ศาสนาชนิดที่โบสถ์ วิหาร หรือการพร่ำบ่นภาวนาไม่อาจสัมผัสกับมันได้

จิตที่เป็นสมาธินี้ เป็นการระเบิดออกมาของความรัก มันคือความรักที่ไม่รู้จักการแยกจากกัน ในความรักนี้ ความไกลคือความใกล้ มันไม่ใช่รักในสิ่งเดียวหรือมากสิ่ง แต่น่าจะบอกว่า เป็นสภาวะหนึ่งของความรักที่การแบ่งแยกทุกชนิดยุติลง เช่นเดียวกับความงามนั่นเอง ความรักไม่อาจวัดได้ด้วยคำพูด ในความเงียบชนิดนี้เท่านั้น จิตที่เป็นสมาธิประกอบกรรม

สมาธิไม่ใช่ทางดำเนินอันนำไปสู่จุดสุดท้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง มันเป็นทั้งทางดำเนินและจุดสุดท้าย

การทำสมาธิคือ การทำให้บริสุทธิ์จากกาละ

สมาธิ คือ การค้นหาให้พบว่า มีพื้นที่ที่ไม่เปรอะเปื้อนไปด้วยสิ่งที่รู้แล้ว อยู่หรือไม่

สมาธิเป็นการกระทำของความเงียบ

ผมอ่านดูแล้วเป็นเรื่องหลักที่ดีพัค โชปรา พูดถึงเอาไว้ในกฎหลายๆ ข้อครับ


อีกเล่มเป็นของ คาลิล ยิบราล ซึ่งผมนึกถึงเล่มนี้ครับ ชื่อ “เพื่อนร่วมชาติของข้า” เล่มนี้เก่ามาก เล่มเล็กๆ เป็นรวมเรื่องสั้นๆ ที่ให้มุมมองเรื่องจิตวิญญาณ บทที่ยกมานี้ ตัดตอนมาจากเนื้อหาของเรื่อง “พายุ” ผมอ่านครั้งแรก ตอนช่วงเริ่มๆ ต้นแสวงหาความหมาย อ่านแล้วอึ้ง ไปพักใหญ่ครับ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชายหนุ่มคนหนึ่งพยายามได้พบเพื่อคุยกับชายชื่อ ยูซิฟ ซึ่งน่าจะเป็นปราชญ์ ซึ่งหลีกลี้ผู้คน มาอยู่ในถ้ำ จนวันหนึ่งเขาแกล้งหลบพายุเลยได้เข้าไปหลบในที่พักอันเป็นถ้ำของยูซิฟ และนี่เป็นบางส่วนของบทสนทนาที่สะเทือนใจผมมากในตอนนั้นจนแม้ถึงตอนนี้

“ข้าแสวงหาความสันโดษ ด้วยในความสันโดษนี้มีชีวิตที่สมบูรณ์สำหรับวิญญาณ หัวใจ และร่างกาย ข้าได้พบทุ่งกว้างสุดลูกหูลูกตา ซึ่งดวงตะวันทอแสงทาบ ที่ซึ่งดอกไม้ส่งกลิ่นหอมขจรไปทั่ว ที่ซึ่งธารน้ำไหลรินลงสู่ห้วงสมุทร ข้าค้นพบภูเขา ที่ซึ่งข้าพบการเริ่มต้นของฤดูไม้ผลิและเสียงดนตรีอันไพเราะของฤดูใบไม้ร่วง และความลึกลับอันงามงดของฤดูหนาว ข้ามาสู่หลืบมุมที่ไกลโพ้นในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยข้ากระหายที่จะเรียนรู้ความลี้ลับของจักรวาล และเข้าใกล้บัลลังก์ของพระองค์”

“และในบรรดาสิ่งที่หาคุณค่ามิได้ในชีวิต มีเพียงสิ่งเดียวที่ดวงจิตรักและใฝ่หา สิ่งเดียวที่สุกใสและโดดเดี่ยว”
“มันคือการตื่นของดวงจิต มันคือการตื่นภายในส่วนลึกของหัวใจ มันคือพลังที่ล้นเหลือและบรรเจิด ซึ่งลงสู่มโนธรรมของมนุษย์อย่างฉับพลัน และเปิดตาของเราทำให้เรามองเห็นชีวิตท่ามกลางเสียงดนตรี อันตระการลานตา ล้อมรอบด้วยรัศมีทอประกาย โดยมีมนุษย์ยืนเป็นหลักศิลาแห่งความงามระหว่างพื้นพิภพกับท้องนภา มันคือเปลวเพลิงที่โชติช่วงภายในดวงจิตอย่างฉับพลัน เผาผลาญและทำให้หัวใจบริสุทธิ์ ขึ้นเหนือพื้นพิภพและฉายฉาบท้องนภาอันไพศาล มันคือความเมตตาที่ห่อหุ้มหัวใจของแต่ละคน ทำให้ผู้นั้นงวยงงและรังเกียจทุกคนที่ต่อต้านมัน และเป็นกบฏต่อผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมเข้าใจความหมายอันยิ่งใหญ่ของมัน มันคือมือลึกลับที่เลิกม่านซึ่งบดบังดวงตาของข้า”


อีกบทมาจากหนังสือที่อ่านในช่วงใกล้เคียงกันชื่อ “สาธนา” ของรพินทรนาถ ฐากูร แปลโดย ดร.ระวี ภาวิไล ที่ภาษาการแปลของท่านได้สร้างอิทธิพลขึ้นในจิตใจผม จนผมมารู้ตัวได้ก็ตอนแปลหนังสือ 7 กฎฯ นี่แหละครับ

บทที่ยกมาเป็นบทกวีที่อยู่ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ ที่ ดร.รวี ท่านยกมาแปลประกอบความเข้าใจก่อนอ่านเนื้อหาในหนังสือ ซึ่งเนื้อหาของหนังสือ เป็นเรื่องของปรัชญาของฮินดู ในมิติที่เป็นปรัชญาจริงๆ ไม่พูดในมุมที่เกี่ยวกับเรื่ององค์อวตาร ซึ่งในมุมมองของผมร่วมสมัยมาก และมีเนื้อหาที่เราสามารถเชื่อมโยงถึงพุทธศาสนาได้อย่างดี

จำได้ไม่เคยลืมความรู้สึกในการอ่านบทกวีบทนี้ครั้งแรก อย่างที่บอกว่ามันอยู่ในบทนำ หน้าแรกๆ ของหนังสือ แค่ตอนที่อ่านถึงบทกวีนี้จบลง ผมอึ้งและสะเทือนจนไม่สามารถอ่านต่อไปได้ ต้องหยุดแล้วปิดหนังสือเก็บ อ่านวนไปมา เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้งกว่าจะจบทุกบท (ความจริงมีบทกวีทั้งหมดหลายบทที่อยู่ในบทนำ และทุกบทนั้นล้วนสะเทือนความรู้สึกผม) แล้วผมก็ทิ้งไว้ตั้งนานกว่าจะได้อ่านเนื้อในของหนังสือจริงๆ

บทกวีนี้ท่าน ดร.ระวี คัดมาจากหนังสือชื่อ คีตาญชลี ซึ่งท่านรพินทรนาถฐากูร เขียนขึ้นเพื่อสรรเสริญหรือบูชาพระเป็นเจ้าหรือสภาวะสูงสุดหรือสภาวะอันเป็นเอกนั้นตามหลักของฮินดู หนังสือเล่มนี้ทำให้ท่านเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลครับ ลองดูบทแรกที่ผมอ่านกันครับ และขอแถมอีก 2 บท ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วนะครับ ผมว่า ดร.ระวี ท่านแปลได้สุดยอดจริงๆ


ธารชีวิตอันไหลผ่านสายเลือดข้า ฯ ตลอดทิวาราตรี
ไหลผ่าน โลกธาตุ และเริงรำเป็นลีลา
ชีวิตเดียวกันนี้ ผุดพลุ่งผ่านฝุ่นผงแห่งพสุธา ด้วยปราโมทย์
เป็นติณชาติเหลือคณนา ทั้งแตกผลิเป็นดอกไม้และใบพฤกษ์
ชีวิตเดียวกันนี้ไกวแกว่งเปลสมุทรแห่งชีวะและมรณะ
ทั้งเอ่อท้น และไหลผาก
ทั่วสรรพางค์ ข้าฯ เริงโรจน์ ด้วยผัสสะจากโลกแห่งชีวิตนี้
ข้า ฯ ลำพองใจ ก็เพราะจังหวะระทึกของชีพนับกัล์ปมหากัล์ป
เริงรำอยู่ในสายเลือดของข้า ฯ ในขณะนี้

จาก คีตัญชลี 69


ชีวิตแห่งชีพของข้า ฯ ข้า ฯ จะหมั่นรักษากายของข้า ฯ ให้บริสุทธิ์
ด้วยประจักษ์ว่า ผัสสะอันมีชีวิตของพระองค์ต้องแขนขาของข้า ฯ อยู่
ข้า ฯ จะหมั่นขจัดอสัตยธรรมออกจากความคำนึง
เพราะประจักษ์ว่าพระองค์คือสัจธรรม อันก่อประกายเหตุผลในจิตข้า ฯ
ข้า ฯ จะหมั่นขับบาปธรรมจากดวงใจ และดำรงความรักอันมีต่อบุปผชาติไว้
ด้วยรู้อยู่ว่าพระองค์สถิตย์ในประสาทลึกสุดในดวงใจข้า ฯ
และข้า ฯ จะหมั่นพยายาม ที่จะประจักษ์พระองค์ในทุกการกระทำของข้า ฯ
ด้วยรู้อยู่ว่า พลังของพระองค์ให้พลังแก่ข้า ฯ ที่จะประกอบการงาน

จาก คีตัญชลี 4


เมื่อฉันจะไปจากที่นี่ ขอกล่าวคำสุดท้ายดังนี้ว่า
สิ่งที่ฉันได้ประสบ ณ ที่นี้ ไม่มีอะไรเทียบเท่า
ฉันได้ลิ้มรสหวานแห่งน้ำเกสรดอกบัวที่เบ่งบานในห้วงสมุทรแห่งแสงสว่างนี้
และก็ได้รับความเอิบอิ่ม
ขอให้นี่เป็นคำอำลาของฉัน
ฉันได้ดำเนินบทบาทของฉันบนเวทีมหึมา มีรูปนับไม่ถ้วนนี้แล้ว
และ ณ ที่นี้เอง ฉันได้เห็นสภาวะที่ไร้รูป
ทั้งร่างกายและแขนขาของฉันสั่นสะท้านปีติ เพราะสัมผัสกับสิ่งนี้
อันมีสภาวะเหนือสัมผัส
และถ้าวาระสุดท้ายจะต้องมาถึง ก็ขอให้มันมา
ขอให้นี่เป็นคำอำลาของฉัน

จาก คีตัญชลี 96


จำได้ว่าตั้งแต่อ่านครั้งแรกจนแม้ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกเช่นนั้น ว่าเมื่อถึงขณะสุดท้ายของตัวเอง ขอให้ได้หยั่งถึงสภาวะเช่นในบทสุดท้ายนี้ได้ก็คงเป็นสุขอย่างยิ่ง

ที่ผมนิยมว่า ดร.รวี ท่านแปลได้สุดยอดสำหรับผมก็เพราะ ที่ผมเคยพูดถึงวิธีในการอ่านหนังสือของผม (ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมอ่านหนังสือได้แคบลงไปอีกมาก) คือว่า เวลาที่ผมอ่านหนังสือ ผมจะชอบอ่านหรือหยั่งให้ถึงสภาวะที่อยู่เบื้องหลังคนเขียนนั้นในขณะที่เขียน ซึ่งมันจะเลยไปถึงสภาวะที่อยู่เบื้องหลังตัวหนังสือนั้น ได้หยั่งถึงนามธรรม ไม่ใช่แค่รูปธรรมที่เป็นแค่ความเข้าใจในระดับความคิดหรือสมองจากตัวหนังสือที่อ่าน ยิ่งถ้าเป็นการแปลมา คนแปลยิ่งสำคัญมาก และนี่ก็เป็นสิ่งที่ผมใช้กลับด้านในการแปลหนังสือ 7 กฎฯ เช่นกัน ผมหวังให้ผู้อ่านได้อ่านสภาวะที่อยู่เบื้องหลังดังกล่าวเช่นกัน อย่างน้อยถ้าอ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าไหลลื่น จูงจิตให้สงบลงได้ ผมก็ดีใจครับ ในอีกทางหากเราอ่านหนังสือด้วยสมาธิในความสงบ เราก็อาจสัมผัสได้ถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังตัวหนังสือนั้นเช่นกัน ทั้งหมดนี้เป็นทัศนะส่วนตัวและเป็นธรรมชาติส่วนตัวของผมที่มีมา จะถูกผิดอย่างไรก็พิจารณาด้วยแล้วกันครับ

เล่มสุดท้ายที่ผมขอกล่าวถึงคือ หนังสือของท่านพุทธทาส ชื่อ “เรียนพุทธศาสนาใน 15 นาที” เป็นหนังสือขนาดเล็กและบางมาก ประมาณ 30 หน้า แต่ท่านพุทธทาสสรุปหัวใจพุทธศาสนา ในเรื่อง หลักกรรม อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท อนัตตา ไว้ได้เห็นความสัมพันธ์ เข้าใจว่าหัวใจของพุทธศาสนาคืออะไรจริงๆ

ความจริงมีหนังสือเก่าๆ อีก 2-3 เล่มที่เรียกว่าเปลี่ยนชีวิตผมอย่างที่คุณคนขอนแก่นว่า ซึ่งหนังสือ 7 กฎฯ นี้ก็นับว่าเป็นหนังสือใหม่ที่ส่งผลกับผมมากๆ เช่นกัน

ขอแค่นี้ก่อนครับคุณนีโอครับ

ขอบคุณคุณ karn ครับ สำหรับความงดงามที่ส่งมา มีความสุขเช่นเคยครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 12/03/2009
ดีมากเลยครับคุณนันท์ อ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจ อยากเล่าเรื่องแบบนี้บ้างจังเลย ขออ่านของคุณนันท์ และท่านอื่นๆ (ถ้ามี) ไปพลางๆ ก่อน แล้วหากมีเวลา และสมาธิมากกว่านี้ คงได้เข้ามาแบ่งปันกันต่อไปนะครับ

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 12/03/2009
แม้นไม่ค่อยได้พบประสบพักตร์ ก็มิใช่จะหมายว่าไม่รักเจ้า "นันท์บุ๊ค"


(อึ้ง)!! ทึ่ง !! รู้สึกได้ว่าหัวใจร้อนผ่าวๆ, มีความสุข ,มีความสุข, สงบ, สุข, สงบ ,happy for no reason ..

"อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าไหลลื่น จูงจิตให้สงบลงได้" ...........

เพราะติดสุข (ฮา) .. จึงยุให้คุณนันท์เขียนต่อๆ แล้ว ก็ท่านอื่นๆต่อๆๆๆๆ ไป ต่อๆๆๆ ไป .... (เพื่อกระแสไหลเวียน & to be fair หนึ่งจะเป็นคนอ่านให้ทุกๆๆ ท่านเอง ( ยิ้ม ยิ้ม สุขใจ สุขใจ )

ขอขอบคุณจากใจ (ยิ้ม ยิ้ม)






ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 13/03/2009
เที่ยวนี้ คุณหนึ่งเปิดฉากแบบออกแขกลิเกเลยเชียว (ฮา) ยังดีนะ ที่ไม่ลงท้ายว่า "แล้วจัดแจงแต่งกาย เอ๊ยแต่งกายจะไคลครา จะเดินทางไปไหนหว่า..สิงคโปร์ หรือลัตเวีย..เตร๊งเตรงเตร่งเตร๊งเตรงเตร่งเตร๊งเตรงเตร่ง" (ฮา)

ดีใจครับ ที่เจอคุณหนึ่งที่นี่ หวังว่าเร็วๆ นี้ จะได้เจอกันตัวเป็นๆ (ฮา)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 13/03/2009
ขอบพระคุณ คุณนันท์ครับ

ได้ความรู้ ความรู้สึกสงบ สบาย ดัง..คุณนันท์ ค่อยๆนั่งเล่ายิ้มแย้ม โดยมีผู้ฟังนั่งล้อมวงใจเป็นหนึ่งเดียว ขณะผมอ่าน วันนี้นกร้องเจื้อยแจ้ว เผลอแป๊ปอ่านจบภาคไม่รู้ตัว ส่วนภาคต่อ..รอได้เสมอครับ ยิ้มแย้ม.. ยิ้มแย้ม..ครับผม

สวัสดีครับ..คุณkarn ผู้เก็บสุขในวิถีแห่งการเดินทาง
ผมระลึกถึงเสมอครับ ยังไปอ่านกระทู้เก่าๆของคุณkarnอยู่ประจำครับ

ชื่อผู้ตอบ : โก้ ตอบเมื่อ : 13/03/2009
แค่ได้อ่านสิ่งที่คุณนันท์นำมาแชร์ ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ใน"แนวตั้ง"ตามแบบของOSHOที่อาจารย์วสันต์กล่าวถึงได้แล้วนะคะ เพราะให้ความรู้สึกที่สวยงาม สงบ ซาบซึ้ง และสว่างไสว อย่างแท้จริง

ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 14/03/2009
ขอบคุณ . . สำหรับโฆษณาคั่นเวลา ที่ล้วนแต่เป็นกำลังใจจากทุกท่านด้วยครับ

ขอกลับไปสรุปการเกริ่นนำเรื่องพื้นฐานของผมก่อนหน้านี้อีกทีว่า เหตุทั้งหมดทั้งมวลเหล่านั้นทำให้ "ในขณะนั้น" ผมเกิดความเข้าใจ และเกิดเป็นความเชื่อส่วนตนว่า สภาวะที่อยู่เบื้องหลังการเขียนของเหลาจื้อ จางจื้อ กฤษณมูรติ คาลิล ยิบราล รพินทรนาถ ฐากูร รวมทั้งท่านพุทธทาส นั้นเชื่อมโยงถึงกันจนอาจเรียกได้ว่ามาจากต้นธารเดียวกัน และน่าจะพูดถึง สภาวะหรือสัจจะหรือวิถีธรรมเดียวกัน เหมือนท่านเหล่านี้ทุกท่านล้วนเป็นน้ำ และต่างพูดถึงคุณสมบัติของน้ำเหมือนกัน แต่เพียงต่างกันตรงเป็นน้ำฝน น้ำทะเล หรือน้ำในแม่น้ำ (ยกเว้นน้ำเน่า) รวมทั้งพูดคนละเหลี่ยมมุมกัน และนี่เป็นสภาวะที่ผมปราถนาที่จะตระหนักรู้หรือหยั่งให้ถึง ด้วยวิธีคิดนึกเอาเอง ประกอบกับธรรมชาตินิสัยของตัวเองที่ขาดวินัย และไม่ชอบวิธีฝึกแบบ 1 2 3 4 .. 5 ด้วยการอ้างกับตัวเองว่า เรามันชอบแบบตามธรรมชาติ ให้มันค่อยเป็นค่อยไปดีกว่า และยังใช้อ้างมาจนทุกวันนี้

มีหลักอีกอย่างที่ผมสรุปเอาไว้เอง เพื่อใช้ในการเรียนรู้สิ่งนี้คือ การเรียนจนรู้ ใน 4 ระดับ
1.“การรู้” ในระดับข้อมูล เช่นการได้อ่านหนังสือหรือฟังเขามา ก็ถือว่าเป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นกับตัว (ผิดถูก ก็ถือว่ารับรู้จากเขามา)
2.“ความเข้าใจ” การสังเคราะห์ข้อมูลจนเกิดเป็นความเข้าใจ ในระดับความคิดหรือด้วยสมอง อันนี้ผมคิดว่าน่าจะตรงกับที่เขาบอกว่าอยู่ในระดับจิตสำนึก
3.“การตระหนักรู้” เป็นความเข้าใจในระดับจิตใจ หรือการเป็นเนื้อเดียว เป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นการหยั่งถึง หรือมีประสบการณ์จนเข้าใจด้วยความรู้สึก (ที่กรณีการอ่านหนังสือ ผมใช้วิธีสัมผัสถึงหรือหยั่งถึงสภาวะที่อยู่เบื้องหลังของการเขียนนั้นๆ) อันนี้น่าจะตรงกับระดับจิตใต้สำนึก ซึ่งเข้าถึงได้ด้วยจิตที่มีความสงบหรือมีสมาธิระดับหนึ่ง
4.“การหยั่งรู้” หรือเกิดตัวรู้ขึ้น มันคล้ายการผลิดอกออกผลขึ้นมาเอง เราเป็นแค่ทางผ่านของข้อมูล และการมีสัญชาติญาณว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่

หลักนี้ผมสรุปขึ้นมาเอง เอาไว้ตรวจสอบตนเอง และบางทีเอาไปใช้หรือตรวจวัดตัวเองในเรื่องอื่นๆ ด้วย ก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง พัฒนาอยู่เช่นกัน และก็เป็นหลักที่ผมใช้ในการอ่านและแปลหนังสือ 7 กฎฯ


ผมจำไม่ได้ชัดเจนว่าเนื้อหาส่วนไหนที่โดนใจผม ตอนที่ผมอ่านสรุปย่อหนังสือ The Seven Spiritual Laws of Success ที่อยู่ใน 50 Self-Help Classic (มีชื่อไทยว่า 50 สุดยอดพัฒนาชีวิต แปลโดยคุณพรรณี ชูจิรวงศ์และคณะ) แต่คิดว่าคงโดยรวม ซึ่งนั่นก็เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อของ ดีพัค โชปรา ได้ยินชื่อหนังสือและได้อ่านเนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มนี้ แต่จำได้ว่าตอนที่ได้อ่านสรุปย่อดังกล่าว ก็รู้สึกแล้วว่าเล่มนี้ชอบจัง ต้องสั่งซื้อมาอ่านแบบเต็มๆ และสุดท้ายในบรรดา 50 เล่มนั้น ผมสั่งซื้อเล่มนี้เพียงเล่มเดียวจาก amazon.com และแทบจะในทันที เพราะจากวันที่ที่บันทึกไว้ในหนังสือ ผมซื้อ 50 Self-Help วันที่ 25 มิย. 48 ผมสั่งซื้อ The Seven’ ในวันที่ 28 มิย. ได้รับหนังสือในกลางเดือนกรกฎาคม

ความจริงมารู้ภายหลังว่าที่ asiabook หรือ kinokuniya ก็มีขาย รวมค่าส่งแล้วถูกกว่าด้วย แต่ตอนนั้นเป็นมือใหม่หัดซื้อหนังสือภาษาอังกฤษ เลยนึกเท่ๆ ว่าคงต้องสั่งจากต่างประเทศ แต่มีผลพลอยได้คือ พบว่ามี CD ของหนังสือเป็นเสียงของดีพัค โชปราด้วย เลยสั่งมาพร้อมกัน ตอนนั้นคิดว่าจะได้เอามาฟังตอนขับรถ ไปพร้อมๆ การ (พยายาม) อ่านฉบับภาษาอังกฤษ ด้วยรู้ตัวว่าภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง (ผมพูดจริงๆ ไม่ได้ถ่อมตัวครับ) หวังว่าจะทำให้เกิดผลทั้ง 2 ด้าน คือ อาจช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น และฝึกหัดฟังภาษาไปด้วย กลายเป็นว่าทุกวันนี้ผมคุ้นกับสำเนียงอังกฤษ กลิ่นอินเดียของโชปรา ไปแล้ว แต่ได้ผลดีเหมือนกันครับ พอฟังซ้ำๆ มันก็ช่วยทำให้เข้าใจทั้งภาษาและเนื้อหามากขึ้น (ใครอยากคุ้นกับสำเนียงอังกฤษ กลิ่นอินเดียของโชปรา บอกได้ครับ ผมจะส่งสำเนาไปให้)

ตอนที่ได้รับหนังสือ The Seven’ ฉบับภาอังกฤษ ผมอ่านครั้งแรกแบบอ่านผ่านๆ เพื่อเอาความเข้าใจโดยรวมว่าโชปราพูดถึงอะไร เปิดดิกชันนารี่ เท่าที่จำเป็น ให้แค่พอจับความได้ แค่นั้นก็ใช้เวลาอยู่นานเหมือนกัน ซึ่งปกติหนังสือภาษาอังกฤษเล่มอื่นผมก็จะอ่านแค่นั้น แต่เล่มนี้หลังจากที่จับความได้ก็ตัดสินใจว่า คงต้องอ่านโดยละเอียดเสียแล้ว เพราะชอบ หลังจากนั้นจึงฮึกเหิมตัดสินใจว่าน่าจะแปลขายให้คนอื่นได้อ่านกัน

ต้องขอเล่าแทรกถึงเหตุผลว่าทำไมเกิดฮึกเหิมกล้าแปล ทั้งที่เกิดมาไม่เคยแม้แต่จะคิดแปลหนังสือมาก่อน รวมทั้งที่บอกว่าภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง แต่ก็ด้วยเหตุที่ชื่นชอบเนื้อหา ดังที่เขียนไว้ในคำนำของหนังสือ 7 กฎฯ และที่สำคัญคือ ผมเชื่อว่าตัวเองน่าจะพอหยั่งถึงสภาวะที่อยู่เบื้องหลังเนื้อหานั้นได้ตามสมควร เพราะจากการเริ่มอ่านโดยละเอียด ก็คิดว่าตนเองรู้ และเชื่อมโยงได้ว่า โชปรา พูดถึงอะไร และทั้งหมดนั้นสอดคล้องกันอย่างไร รวมทั้งเชื่อมโยงกับรากฐานเดิมของผมอย่างไร ตามสมควรแก่ความมั่นใจ

คุณนีโอครับ ถ้าจะสรุปในเบื้องต้นว่าเนื้อหารวมหนังสือ The Seven’ นี้มีมิติที่สัมพันธ์กับผมอย่างไรบ้าง
อย่างแรก ในระดับสภาวะจิต เบื้องหลังของเนื้อหานี้พูดถึงสภาวะ หรือสัจจะ หรือวิถีธรรมเดียวกันกับที่ผมปรารถนาที่จะตระหนักรู้หรือหยั่งให้ถึง โดยที่คนเขียนเนื้อหาคือ โชปรา นั้นเขียนได้อย่างเป็นตัวจริงในความเห็นของผม และมีแนวทางที่ตรงกับฐานสัญญาหรือความจำได้หมายรู้เดิมที่ผมมี
อย่างที่สอง ในระดับความเข้าใจ หนังสือนี้ได้สร้างความเข้าใจในมิติด้านอื่น เช่นที่โยงสัมพันธ์กับมุมมองด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเทคนิควิธีปฏิบัติง่ายๆ บางอย่าง เหมือนเป็นจิกซอว์ความเข้าใจด้านความรู้ที่รอบด้านยิ่งขึ้น และเชื่อมโยงกันได้เป็นอย่างดีให้กับผม


จริงแล้ว ที่เล่ามาเสียยืดยาวตั้ง 3-4 วัน นี้ ก็เพื่อจะสรุปเป็นภาพรวมในย่อหน้าสุดท้ายข้างบนนี่แหละครับ ความจริงผมเขียนเกริ่นนำสั้นๆ แค่ ย่อหน้าเดียวนี้ก็ได้เนื้อหาเดียวกัน แต่ผมมีนิสัยอย่างหนึ่ง ถ้าภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า ชอบชักแม่น้ำทั้งห้า แต่บางครั้งเลยไปเป็น 6 7 8 .. 9 ก็มี เช่นครั้งนี้ ซึ่งเหตุผลหนึ่ง เป็นเพราะผมคิดว่าผมขอถือโอกาสทบทวนอดีต และเพิ่มความเข้าใจในตัวเองไปด้วย และก็ได้ผลดีครับ

ตอนต่อจากนี้ผมจะเข้าเรื่องความเข้าใจในหนังสือ 7 กฎฯ และการนำไปปรับใช้ในชีวิต ได้แค่ไหนอย่างไรครับ ไม่ยืดยาดแล้วครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 15/03/2009
ยืดหน่อยก็ไม่เป็นไรนะคะคุณนันท์ อ่านแล้วมีแต่สาระและเพลินดี (ท่าทาง rating จะขึ้นอย่างรวดเร็ว)... เอาแบบมหากาพย์หรือขยายผ่านกล้องจุลทรรศน์แบบที่คุณแฟนพันธุ์แท้สัญญาว่าจะมาเล่าประสบการณ์ของเธอก็ได้นะคะ (ไหนๆก็ติดลมบนแล้ว)...รู้สึกโชคดีที่ได้มีโอกาสอ่าน และมีแต่ความรู้สึกขอบคุณในทุกครั้งค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 15/03/2009
ขอบคุณคุณนพรัตน์ครับ ที่ไม่เบื่อและเป็นกำลังใจให้

ขอทวนที่คุณนีโอบอกว่า “ช่วยแสดงหรือช่วยอธิบายวิธีที่คุณนันท์นั้นได้ปฏิบัติตามหนังสือนี้ นับตั้งแต่วันแรกที่ได้อ่าน จนถึงระหว่างทางที่เริ่มต้น ทำหนังสือเล่มนี้ เป็นไปในแนวทางจากข้างในจิตใจ”

ผมขอตอบด้วยการทำความเข้าใจว่า ผมไม่ได้ใช้หนังสือ 7 กฎฯ นี้เป็นแกนหลักในการปฏิบัติเล่มเดียว (เดี๋ยวผมจะตอบขยายความเฉพาะส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับหนังสือครับ) ผมปลูกรากปักฐานมาโดยหนังสือและประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้มาก่อนหน้านี้ ดังที่ผมเล่าเสียยาวยืด ส่วนหนังสือ 7 กฎฯ (มีส่วนสำคัญ) มาช่วยต่อยอดให้ผมในจังหวะที่ผมอยากกลับไปทบทวน โดยให้ทั้งมุมมองและสร้างสถานการณ์ให้ผมแข็งแรงและลึกซึ้งขึ้นครับ ซึ่งคิดว่าผู้อ่านหลายๆ ท่านก็คงเป็นเช่นเดียวกันหรือคล้ายกัน

ส่วนถ้าจะเล่าว่าผมปฏิบัติอย่างไร การปฏิบัติของผมเริ่มตรงการที่ได้แปลหนังสือนั่นแหละครับ เพราะเมื่อมองกลับไป ผมว่าผมโชคดี ที่ผมคิดอยากแปลหนังสือเล่มนี้โดยละเอียด โดยเฉพาะเรื่องการตัดสินใจแปลเพื่อจัดพิมพ์ เพราะมันยิ่งบังคับให้ผมต้องเข้มข้นมากขึ้นกว่าการแปลเอาไว้อ่านเองคนเดียว นั่นเลยทำให้ในระหว่างที่แปล ผมต้องตั้งมั่น แข็งแรงและลึกซึ้งขึ้น ต่อสภาวะธรรมที่ผมกล่าวถึงนั้น ที่ไม่ใช่เพียงมิติของความเข้าใจเนื้อหา

โดยส่วนตัวผมคิดว่า มันเหมือนว่าการแปลนั้น คือการเปิดโอกาส กึ่งบังคับให้ผมปฏิบัติธรรม(ในความหมายของผม) ได้ฝึกยกระดับจิตของตัวเองเพื่อหยั่งถึงสภาวะที่ว่านี้มากขึ้นและต่อเนื่องหลายเดือน ได้บ้างไม่ได้บ้าง อ่อนบ้าง แก่บ้าง แต่ก็สร้างความพึงพอใจ ความสุขในแต่ละขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นทั้งจังหวะและโอกาสให้ผมทำเช่นนี้ได้พอดี จากความสอดคล้องลงตัวกับรากฐานที่ผมมี (ความสุข ความพึงพอใจที่ผมได้รับนั้น ทำให้ผมคิดว่านี่กระมังที่ โชปราบอกว่า ความสำเร็จคือวิถีแห่งการเดินทาง)

และนี่คือ จุดเริ่มที่สำคัญที่สุดของผมในการปฏิบัติตามหนังสือเล่มนี้ เป็นการปฏิบัติในมิติทางจิตวิญญาณตามความหมายของหนังสือ เป็นการเข้าสู่แกนหลักหรือสภาวะที่อยู่เบื้องหลังเนื้อหานั้นเลย ดังที่คุณนีโอบอกว่า “เป็นไปในแนวทางจากข้างในจิตใจ” ใช่เลยครับ ส่วนการปฏิบัติตามเทคนิคหรือข้อฝึกปฏิบัติในหนังสือนั้นเป็นเรื่องเสริม สำหรับผม

อาจพูดได้ว่าผมปฏิบัติตามหนังสือเล่มนี้ใน 2 ระดับ คือ
ระดับ การหมั่นหยั่งให้ถึงสภาวธรรม กับระดับเทคนิคหรือข้อฝึกปฏิบัติที่ โชปราแนะนำ ซึ่งผมเองไม่ได้ปฏิบัติแบบเป็นขั้นตอน 1 2 3 4 แต่ใช้ประกอบบางเรื่อง บางจุด ตามสถานการณ์

แต่หลักการคือ การหมั่นดำรงอยู่ในสภาวธรรมดังกล่าวเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องเดิมของผมมาแต่ก่อน แต่เจือจางไปหลายปี ซึ่งถ้าหากเราอยู่ในสภาวะนั้นหรือวิถีนั้นได้ตอนไหน มันก็คล้ายอย่างที่จางจื้อบอกว่า

เมื่อใส่เกือกได้พอดี
ไม่ต้องคิดถึงตีน
เมื่อใส่เข็มขัดได้พอดี
ไม่ต้องคิดถึงพุง
เมื่อใจถูกต้อง
ไม่ต้องคิดค้านหรือคิดสนับสนุน
เมื่อปราศจากการผลักไสหรือผลักดัน
ปราศจากความต้องการหรือดึงดูด
กิจการต่างๆ ย่อมเป็นไปอย่างเหมาะสม
โดยที่ท่านเองได้เป็นคนอิสระ

เมื่อใจถูกต้องก็ไม่ต้องคิดถึงกฎ หลักปฏิบัติ หรือเทคนิค เหมือนกับที่ผมเคยคิดว่า หลักปฏิบัติทั้งหลาย เอาไว้เป็นเช็คลิสต์ ก็ได้ หรือเอาไว้เป็นหลักให้ปฏิบัติตาม ก็ได้ ซึ่งแล้วแต่ธรรมชาติหรือจังหวะ วันไหนช่วงไหนหลุดหลง หาไม่พบ หยั่งไม่ถึง วุ่น ก็เอามาตั้งเป็นหลัก เป็นเทคนิค เพื่อเตือน หรือปฏิบัติ วันไหนช่วงไหนพอจะรักษาระดับจิตไว้ได้ ก็ลืมไปได้ หรือจะเอากลับมาเป็นเช็คลิสต์เพื่อทบทวนดูว่า คุณลักษณะตามหลักการนั้น เรามีอยู่ภายในหรือไม่ และนี่ก็เป็นหลักการที่ผมปฏิบัติ กับหนังสือ 7 กฎฯ อยู่ทุกวันนี้

ผมเคยวิเคราะห์ เรื่องทำนองนี้ไว้เรื่องหนึ่ง ผมเคยถามตัวเองว่า พระพุทธเจ้าท่านบรรลุธรรมแล้วจึงบัญญัติศีลออกมาเป็นข้อๆ หรือว่าบัญญัติศีลก่อน ก็ได้คำตอบว่ากรณีที่เป็นปุถุชนแบบเราๆ คงเอาศีลเป็นหลักปฏิบัติไปก่อน เมื่อใดที่พัฒนาจนมีสมาธิที่ถูกต้อง จนเกิดปัญญาแล้ว ศีลก็คงมีพร้อมกันนั้นแล้ว

เนื้อหาการปฏิบัติที่ผมตอบมาข้างต้นนั้น ท่านใดที่อ่านคำตอบของผมแล้วเป็นเรื่องที่สอดคล้องกันในทางปฏิบัติ ก็ดีใจครับว่ามีพวก แต่ถ้าไม่สอดคล้อง ก็เป็นเรื่องวิธีเข้าถึงแบบของใครของมันอยู่แล้วครับ ผมเล่าเฉพาะแบบของผมตามที่คุณนีโอบอกมา

แต่หนังสือเล่มนี้ สำหรับผมนั้นหัวใจหลักคือ ระดับสภาวะหนึ่งที่ต้องหยั่งให้ถึงด้วยจิต ออกจะเป็นนามธรรม แต่โชปราก็แยกแยะออกมาอธิบายเปรียบเทียบเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ดังตัวอย่าง ประเด็นหรือคำหลักๆ ที่อยู่ในคำนำของโชปรา เช่น

ความสำเร็จ เป็นวิถีแห่งการเดินทาง จริงๆ แล้วก็คือ เป็นการเดินทางชีวิตด้วยสภาวะทางจิตระดับหนึ่ง และไม่ใช่ของนิ่งที่จุดใดจุดหนึ่ง เป็นความเคลื่อนไป

ความหมายของคำว่า “กฎ” ในหนังสือเล่มนี้ ว่าเป็นกระบวนการหรือขั้นตอน ที่เป็นกฎเดียวกับที่ธรรมชาติใช้สรรค์สร้างสรรพสิ่ง ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเชื่อมโยงกับหลักอิทัปปัจจยตา ที่ว่าด้วยเหตุปัจจัยนำไปสู่ผลสืบเนื่องกันไป ถ้าตัดช่วงเดียวแค่ เหตุนำไปสู่ผล ก็เป็นเรื่องระบบกรรม รวมทั้งเชื่อมโยงถึง สภาวะอันเป็นเอกของฮินดู หรือพระผู้สร้าง หรือเต๋า หรือที่โชปราพูดถึง พลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นคุณลักษณะของพระเป็นเจ้าก็เช่นกัน

ทั้งหมดนั้นผมว่าเป็นระดับสภาวจิตระดับหนึ่ง ถ้าหยั่งถึงได้ ก็เห็นถึงกฎ หรือขบวนการทำงานของกฎ หรือเป็นหนึ่งเดียวกับระดับแกนการทำงานของกฎนี้ หรือจิตว่างพอที่จะเห็น หรือรู้ได้ว่ากฎนี้กำลังทำงานผ่านเราในทุกขณะ อันเป็นสภาวะเดียวกันกับจิตแห่งปัจจุบันขณะ ซึ่งเคยคุยกันมาในกระทู้ก่อนๆ หน้านี้ตรับ

ขอจบแค่นี้ก่อนครับคุณนีโอ แล้วจะมาต่อเพิ่มอีกครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 16/03/2009
ขอบคุณครับ .....ว่าแต่ คีตัญชลี เป็นชื่อหนังสือใช่ไหมครับ ผมไปถามร้านเค้าไม่มีหนังสือเล่มนี้ เป็นชื่อหนังสือเล่มอื่นไปหมด ไม่ทราบว่าคุณนันท์รู้ไหม ครับว่าตอนนี้เค้าเปลียนชื่อเรื่องหรือเปล่า
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 16/03/2009
" คีตัญชลี " เป็นชื่อหนังสือครับ เล่มที่ผมเล่าว่าท่านรพินทรนาถฐากูร เขียนขึ้นเพื่อสรรเสริญหรือบูชาพระเป็นเจ้าหรือสภาวะสูงสุดหรือสภาวะอันเป็นเอกนั้นตามหลักของฮินดู และทำให้ท่านเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล

มีผู้นำมาแปลเป็นไทยครับแต่เขียนชื่อว่า "คีตาญชลี" โดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ผมลองหาข้อมูลได้ดังนี้ครับ เล่มที่ทราบคือ พิมพ์ครั้งที่เก้า พฤศจิกายน 2543 สํานักพิมพ์ เเม่คำผาง หนา 309 หน้า

ผมเคยอ่านฉบับแปลนี้นานมากแล้วน่าจะเกิน 10 ปี จำได้ลางๆ แต่ไม่ได้ซื้อไว้ ด้วยตอนนั้นติดใจภาษาที่แปลออกมาของ ท่านดร.ระวี ไปเสียแล้ว เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ผมเคยไปรอพบท่าน ดร.ระวี ที่ธรรมสถานจุฬาฯ เพื่อทำสิ่งที่ผมเคยคิดจะทำและติดค้างในใจเมื่อ 25 ปี ก่อนหน้าโน้น เพื่อถามท่านว่า ท่านได้แปลบทอื่นๆ นอกเหนือจาก 5-6 บทที่ท่านยกมาไว้ในบทนำของหนังสือ "สาธนา" ที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้นเอาไว้บ้างไหม ท่านบอกว่ามีบ้างแต่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน เพราะมันหลายสิบปีแล้ว ประมาณได้ว่านานเท่าๆ กับอายุของผมนั่นแหละครับ เลยอดเลยครับ

เมื่อสักครู่ ตอนค้นข้อมูล ไปเจอข้อความที่น่าจะอยู่ในบทนำของหนังสือชื่อ "หิ่งห้อย" บทประพันธ์ของท่านรพินทรนาถฐากูร ชอบมาก(เป็นส่วนตัว) แต่เห็นว่าสอดคล้องกับเรื่องที่ผมพยายามเล่าข้างต้น เลยขอยกมาให้อ่านครับ

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

เมื่อข้าพเจ้าอายุได้สิบแปด สายลม ดอกไม้ผลิฉับพลันของประสบการณ์ธรรมประจักษ์.....ได้พัดสู่ชีวิตของข้าพเจ้า และผ่านไปโดยประทับรอยข่าวสารชัดแจ้งถึงความจริงแท้ด้านจิตวิญญาณไว้ในความทรงจำ เมื่อรุ่งอรุณครั้งหนึ่ง ขณะยืนดูดวงอาทิตย์เคลื่อนขึ้นเหนือพุ่มไม้ ในทันทีข้าพเจ้ารู้สึกคล้ายกับว่า หมอกทึบแห่งอดีตกาลได้ถูกยกออกพ้นสายตาขณะหนึ่ง และแสงอรุณที่อาบผิวโลกอยู่ก็เผยให้เห็นความปิติรุ่งโรจน์ภายใน ม่านคลุมแห่งความจำเจที่มองไม่เห็นได้ถูกยกออกจากสรรพสิ่งและจากผู้ฅนทั้งหลาย และแสดงความหมายสำคัญสูงสุด กระจ่างชัดแก่ดวงจิตของข้าพเจ้า ..สิ่งซึ่งควรจดจำในประสบการณ์นี้คือ การขยายขอบเขตแห่งจิตใจของข้าพเจ้าอย่างฉับพลัน เข้าสู่โลกระดับใหม่ในมนุษย์

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

และยังมีข้อความที่เขียนถึงบทกวีที่อยู่ในหนังสือ หิ่งห้อย ไว้อย่างน่าสนใจว่า

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ข้อความสั้นกะทัดรัดหรือหิ่งห้อยแต่ละตัวในหนังสือนี้ เป็นเสมือนแสงสว่างอันเรืองรองของสัจธรรม อันแฝงอยู่เบื้องหลังความมัวซัวของเหตุการณ์ประจำวัน ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ ท่านมหากวีผู้เห็นธรรมได้เชิญชวนให้เราย่างก้าวตามท่านเข้าสู่โลก ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏความหมายใหม่อันยังความเอิบอิ่มแก่ดวงจิต หิ่งห้อยแต่ละตัวเป็นคำอุทานด้วยความปีติปราโมทย์ในความงดงามล้ำลึกของชีวิตและโลก แสงสัญญาณของหิ่งห้อยบางตัวเราอาจรับรู้ได้โดยฉับพลัน ส่วนของบางตัวนั้นอาจจะเป็นปริศนาธรรมที่รอให้อินทรีย์แก่กล้าขึ้นก่อนจึงปรากฏแจ้งชัด

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 16/03/2009
หากใครมีโอกาสไปดูหิ่งห้อยที่อำเภออัมพวาก็จะคงทราบว่าหิ่งห้อยชอบอาศัยในบริเวณที่น้ำสะอาด และต้องเงียบและมืดจึงจะเห็นหิ่งห้อยได้ชัดเจนสวยงาม อีกทั้งบรรยากาศริมน้ำที่เย็นสบายๆของบ้านเรือนในบริเวณนั้นที่อนุรักษ์ไว้แบบชาวบ้านสมัยก่อน ทำให้การชมหิ่งห้อยมีมนต์เสน่ห์และสร้างความอิ่มเอิบใจแก่ผู้ได้ไปชมอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งอาจจะคล้ายกับความปิติปราโมทย์จากการรับรู้ในสัจธรรมที่วาบขึ้นในบางช่วงขณะจิตก็เป็นได้นะคะ
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 17/03/2009
ถามคุณนันท์ อีกครั้งครับ
- ดังนั้นปราชญ์ย่อม
กระทำด้วยการไม่กระทำ
เทศนาด้วยการไม่เอ่ยวาจา
การงานทั้งหลายก็สำเร็จลุล่วงลง

คุณนันท์ตีความหมายว่าอย่างไรครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 17/03/2009
ไม่ใช่โฆษณาคั่นเวลานะครับ แต่เป็น VTR จากผู้ชมรายการ (ฮา) ที่จะบอกว่า สิ่งที่คุณนันท์เขียนเล่ามานั้น.."งดงามเหลือเกิน"..จนยังไม่อยากแสดงความเห็นอื่นใด ที่อาจทำให้คุณนันท์ขาดช่วงสภาวะ "ไหลลื่น" ดังนั้น กรุณาแสดงความคิดความอ่านต่อไปด้วยเถิด

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 17/03/2009
เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะอาจารย์ แต่ก็คิดว่าอาจต้องมีโฆษณาคั่นรายการหรือVTRมาให้บ้างเป็นช่วงๆนะคะ (แบบไม่รบกวนสภาวะ"ไหลลื่น") ไม่งั้นคุณนันท์จะสงสัยว่าทำไมถึงเงียบเชียบนัก เกิดรีบรวบรัดสรุปแล้วทำให้ไม่ได้อ่านต่อไปเรื่อยๆก็จะเสียดายแย่เลยค่ะ

ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 17/03/2009
ขอบพระคุณครับท่านอาจารย์ และคุณนพรัตน์ครับ เปรียบไปคงเหมือนคนที่พูดเล่าอะไรอยู่ฝ่ายเดียวโดยไม่เห็นหน้าคนฟัง ยังสงสัยว่าพวก ดีเจ หรือวีเจ นี่เก่งนะครับ พูดคนเดียวโดยไม่รู้ว่าคนฟังมีอารมณ์อะไรอยู่

ขอตอบแทรก โดยย่อ เท่าที่พอมีเวลานะครับคุณนีโอ ต้องเริ่มจากขอยกมาประกอบทั้งบทนะครับ

เมื่อคนในโลกรู้จักความสวยว่าสวย
ความน่าเกลียดก็อุบัติขึ้น
เมื่อคนในโลกรู้จักความดีว่าดี
ความชั่วก็อุบัติขึ้น

มีกับไม่มีเกิดขึ้นด้วยการรับรู้
ยากกับง่ายเกิดขึ้นด้วยความรู้สึก
ยาวกับสั้นเกิดขึ้นด้วยการเปรียบเทียบ
สูงกับต่ำเกิดขึ้นด้วยการเทียบเคียง
เสียงดนตรีกับเสียงสามัญเกิดขึ้นด้วยการรับฟัง
หน้ากับหลังเกิดขึ้นด้วยการนึกคิด

ดังนั้นปราชญ์ย่อม
กระทำด้วยการไม่กระทำ
เทศนาด้วยการไม่เอ่ยวาจา
การงานทั้งหลายก็สำเร็จลุล่วงลง

ขอให้ความเห็นเป็น 2 แบบหรือ 2 วิธี ครับ

วิธีแรก ใช้วิธี ตีความหมาย หรือ มองในแง่การสร้างความเข้าใจ แบบที่คุณนีโอบอก

เต๋า บทนี้ชื่อว่า "สิ่งต่างๆ อุบัติขึ้นด้วยการเปรียบเทียบ" การเปรียบเทียบเกิดขึ้นเมื่อกระบวนการคิดต่อบางสิ่ง มีการนำเอาฐานข้อมูลที่สะสมไว้ในอดีตมาร่วม ที่สำคัญคือ มันมักนำเอาฐานข้อมูลในอดีตที่มีข้อสรุปเรื่องความชอบ ไม่ชอบ รัก เกลียด กำกับรวมอยู่มาใช้ และทำให้ขบวนการคิดอันใหม่ที่กำลังเกิดนั้นบิดเบี้ยว และส่งผลต่อการทำ หรือการพูดอันใหม่ที่เกิดขึ้น แล้วเราก็เก็บข้อมูลที่เกิดจากการเปรียบเทียบครั้งใหม่นั้น เอาไว้ใช้ปรุงความคิดอันใหม่ต่อไปไม่จบสิ้น

ซึ่งกระบวนการนี้เป็นระบบอัตโนมัติที่เราชินและเห็นไม่ทัน ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งเดียวกับที่เรียกว่า การปรุงแต่งของจิต พระพุทธเจ้าเลยให้เราฝึกเห็นหรือรู้ทันด้วยวิธีต่างๆ จะได้ตัดวงจรได้เสียที

ผมเลยตีความว่า การกระทำโดยไม่กระทำ นั้นคือ การกระทำสิ่งต่างๆ ทางกาย โดยที่การกระทำหรือขบวนการคิดของจิตนั้นทำงานในความเงียบ(ของจิต) ทำจากความว่างของจิต ซึ่งว่างจากขบวนการความคิดชนิดปรุงแต่งที่มักเอาทั้งความรู้ความเห็นในอดีตและความอยาก สิ่งที่ยึด มาจับแพะชนแกะหรือผัดรวมกัน (แล้วตัดสินเป็นข้อมูลอันใหม่)

ให้เป็นการกระทำที่มีแต่การความเห็นจริงอยุ่ตรงหน้า หรือทำจากจิตในสถานะปัจจุบันขณะที่เคลื่อนไป นอกเหนือหรือไปพ้นจากความยึดติดจากฐานอดีตหรือกังวลสู่อนาคต ทำเหมือนไม่มีตัวเรา เหมือนหายไปกลายเป็นสิ่งที่ทำ หรือทำในระดับสมาธิอันดิ่งนิ่งตรง(แต่ไม่นิ่งตาย)

เมื่อไม่ปรุงไม่แต่งไม่ยึดก็ว่างจากความมีตัวตนผู้กระทำ ให้พลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นคุณลักษณะของพระเป็นเจ้า หรือ เต๋า เป็นผู้กระทำ หรือกระทำผ่านเรา ก็ทำไปด้วยความไหลลื่น หรือเกิดสภาวะไหลลื่น อย่างที่ท่านอาจารย์บอก ถึงแม้จะพุดก้ไม่ได้พุดโดยผ่านสมองหรือความคิด และจะเป็นการพูด ทำเท่าที่จำเป็น สอดคล้องกลมกลืน เป้นธรรม(ชาติ) บริสุทธิ์อย่างแท้จริง และการพุดหรือทำในสภาวะระดับนี้ไม่ก่อผลแห่งกรรม

ถ้าโชปราก็จะบอกว่า ให้หยุดตัดสิน เพราะมันจะทำให้เกิดกระบวนการคิดหรือปรุงแต่ง

วิธีที่สอง คุณนีโอลองนึกถึงเวลาที่ดีๆ ที่คุณนีโอ ทำบางสิ่งด้วยความสงบในจิต ทำด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน กังวล กระวนกระวาย แต่สดชื่นสว่างและมั่นคง มีความเงียบและงดงามอยู่ภายใน ทุกสิ่งล้วนพอดีสมดุล ในความเป็นไป เมื่อตระหนักรู้และหยั่งถึงสภาวะนั้นได้ ก็จะเข้าถึงความหมายของ การกระทำโดยไม่กระทำ

คล้ายๆ เป็นการยกระดับสภาวะจิตของตัวเองก่อนอ่าน ไม่อ่านโดยตีความตามตัวอักษร บทนี้ทั้งบทพูดถึงสภาวะทางจิตระดับหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่า ประสบการณ์ทางจิตที่คุณนีโอมี สามารถตระหนักและหยั่งถึงได้ครับ

มีอีกความเห็นนึงครับ ผมว่าปราชญ์ที่แท้ อาจกระทำทางใจ ให้ดำรงอยู่ในความบริสุทธิ์ แต่ไม่ต้องกระทำทางกาย รวมทั้งไม่ต้องพุด โดยเอ่ยวาจาออกมา การงานทั้งหลายก็สำเร็จลุล่วงได้

(ความจริงการที่ผมพูดว่า "กระทำทางใจ ให้ดำรงอยู่ในความบริสุทธิ์
นั้น" จริงๆ แล้วระดับปราชญ์ อาจบอกว่า ไม่ต้องกระทำ เพราะจิตเดิมแท้นั้นบริสุทธิ์อยู่แล้ว เราไปทำให้มันวุ่นเองครับ)

มีความเห็นแค่นี้ครับคุณนีโอ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 17/03/2009
คุณนันท์ครับ รายงานตัวครับ จริงๆแล้วผู้อ่านเช่นผมอยู่ในสภาวะจดจ่อรอคอยด้วยซ้ำ พออ่านเสร็จก็แทบอยากจะพิมพ์ตอบคุณนันท์แบบดูคอนเสริตด้วยซ้ำครับ แบบ เอาอีกๆๆๆๆ แต่ก็ให้ยับยั้งชั่งใจรอคอยคุณนันท์ไหลรื่นด้วยคน

(ขออณุญาติท่านอาจารย์ครับผม)ดั่งที่ท่านอาจารย์ได้ให้ความกรุณาอธิบายในเมล์และผมเห็นด้วยอย่างจริงแท้ครับผม...คุณนันท์ทำให้พวกเราเห็นถึงสภาวะเป็นดั่ง“การทำงาน ก็คือการปฏิบัติธรรม” รู้สึกได้ถึงกระบวนการของการหลอมรวมร่างกาย ความคิดจิตใจ และจิตวิญญาณ เข้าด้วยกันในการทำงาน

และสำหรับผมสภาวะนี้ของคุณนันท์ผมรับสัมผัสอย่างชัดเจนในทุกๆครั้งที่ได้อ่านความคิดเห็นของคุณนันท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลารำลึกถึงการทำงานหนังสือ 7 กฎฯ นะครับ ยิ้มแย้ม..ปิติครับผม
ชื่อผู้ตอบ : โก้ ตอบเมื่อ : 17/03/2009
สภาวะแห่งความว่งจากตัวตนอย่างที่คุณนันท์พูดถึงเหมือนที่โชปรา
บอกว่าให้ตัวตนแห่งเทพหรือเทพีทำงานผ่านเรา โดยเราเอาอัตตาของเราเองออกไปในหนังสือโชค ดวง ความบังเอิญฯหรือเปล่าครับคุณนันท์ แล้วก็เรื่องเจตนารมณ์หรือความปรารถนาที่โชปราบอกว่าถ้าจะให้ได้ผลแบบจิตวิญญาณโดยปราศจากอัตตาก็คือ ทำให้เจตนารมณ์ของเราสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของธรรมะหรือพระเจ้าในหนังสือโชคดวงนี่ใช่สภาวะเดียวกับที่คุณนนัท์พรรณาหรือเปล่า เพราะอ่านแล้วมันเป็นสภาวะที่ผมซาบซึ้ง หลงไหล โหยหาอยากได้รับมานานแล้ว
ชื่อผู้ตอบ : นิกสปิริต ตอบเมื่อ : 18/03/2009

-ขอบคุณครับ ขอบคุณมาก ๆ ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 18/03/2009
ก่อนหน้านี้หนึ่งเข้ามาเขียนไว้ยาวววเลยค่ะ แต่มีข้อความขึ้นว่า "Security code failed" ที่เขียนไว้หายวับหมดเลยค่ะ (ฮา :O))

คุณนันท์ได้ชี้ทางสว่างให้หนึ่งเดินไปข้างหน้าอย่างมีกำลังใจและทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ ..... "ด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน กังวล กระวนกระวาย แต่สดชื่นสว่างและมั่นคง " .........

DJ or VJ นันท์ กรุณาเล่าต่อไปนะคะ ( ยิ้มๆๆ ) เพราะตอนนี้คนฟังกำลังมีหลากหลายอารมณ์ทั้ง เข้าใจ ตระหนักรู้ หยั่งรู้ และ อารมณ์ขอบคุณ ขอบคุณ ที่คุณแชร์ค่ะ .... ( ยิ้ม :O)

I had not planned on becoming a writer or ....."But I had a story to tell and lessons to share," ..... so I learned the craft as I went along, by doing what needed to be done.
" What matters is compassion, kindness, taking ourselves less seriously, and waking up to the gift of life in each passing moment."
(Dan Millman)
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 18/03/2009
คุณหนึ่ง และคุณคนขอนแก่น กำลังบ่นเรื่องเดียวกัน ผมก็เคยเจอปัญหานี้ แต่เมื่อข้อความที่ว่านี้ขึ้นมา ผมก็เพียงแต่ลากเม้าส์ไปคลิกที่ Back มันก็จะกลับมาพร้อมข้อความที่เราเขียนไว้ ไม่มีอันใดหายหกตกหล่นไปไหน จากนั้นเราก็ใส่รหัสใหม่ เพียงเท่านี้ อาการก็จะทุเลา (ฮา)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 18/03/2009
ขอบพระคุณท่านอาจารย์วสันต์ค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 18/03/2009
ขอบพระคุณทุกๆ ท่านครับ .. ขอบพระคุณคุณหนึ่ง สำหรับถ้อยคำที่งามใจจริงๆ .. ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ชี้ทางสว่าง ผมเองก็โดนไปหลายหนครับ บอกโปรแกรมเมอร์ไปก็หลายที แต่ก็ยังแก้ไม่สำเร็จซักที ขอโทษทุกๆ ท่านที่เจอปัญหานี้ จะหาวิธีแก้ไขต่อไปครับ

คุณนิกครับ ที่ถามมา อ่านดูรวมๆ เหมือนน่าจะใช่นะครับ เหตุผลอีกประการหนึ่ง ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่า แกนหลักของเนื้อหาของโชปราในหนังสือที่เขาเขียน ก็คือสภาวะนี้นั่นแหละครับ ว่าแต่เนื้อหาที่คุณนิกพูดถึงนั้นอยู่แถวๆ บทหรือหน้าไหนในหนังสือโชค ดวง ความบังเอิญฯ ครับคุณนิก เผื่อว่าผมจะได้ตามไปเปิดอ่านเนื้อหารวมและตอบได้ชัดเจนกว่านี้ ขอโทษด้วยครับ อ่านนานแล้วเลยจำไม่ค่อยได้ครับ จำได้แต่ว่า ผมประทับใจเนื้อหาภาคผนวก 3-4 หน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้มาก ที่เป็นเรื่องที่เป็นปราชญ์สอนบุตรชายในตอนท้ายๆ เรื่องว่า “จงใช้ชีวิตจากระดับนี้ แล้วทุกสิ่งที่เจ้าปรารถนาจะเป็นจริง” อันนั้นนั่นแหละที่โดนใจผมซะเหลือเกิน

ฝากอีกเรื่องครับคุณนิก จากการเรียนรู้ของผมที่ผ่านมา ต้องระวังนิดนึงครับ สภาวะนี้ “ซาบซึ้ง หลงใหล” ได้ครับ แต่อย่า “โหยหา อยากได้รับ” (อย่างที่คุณนิกเขียนไว้) แต่มันเป็นเหมือนที่คุณ karn เขียนไว้ข้างบน ที่บอกว่า “ ... แต่หาไม่ได้ ค้นไม่เจอ มันมาเมื่อมาเอง ... ” ลองกลับขึ้นไปอ่านดูก็ได้ครับ แปลกครับ เขาให้แค่เปิดหน้าต่างใจไว้แบบเงียบๆ เดี๋ยวเขามาเอง มันมักจะเป็นอย่างนั้น

ผมย้อนกลับไปอ่านข้อความทั้งหมดข้างบนที่ผมเขียนมา เพราะกำลังตั้งต้นว่าจะเล่าอะไรต่อดี ผมอ่านไปก็นึกขอบคุณคุณนีโอไป ที่ช่วยบังคับให้ผมทบทวนตัวเองออกมาเป็นความเรียงอย่างนี้ เพราะปกติคงไม่ได้นึกลุกขึ้นมาทำ หรือที่เคยทำอย่างเก่งก็แค่เฉพาะจุดหรือบางสถานการณ์ และก็แค่นึกคิดในอากาศ ไม่ต้องปรากฏรูปออกมาเป็นตัวอักษร(ซึ่งทำให้ต้องเข้มข้นขึ้นอีก) ผมว่าจริงๆ แล้วดีมีประโยชน์ต่อตัวผมเองอย่างยิ่ง มันเหมือนการได้กลับมารวมจุดสนใจ ทบทวน และเห็นสิ่งที่สร้างความนึกคิด สิ่งที่เป็นแก่นแกนของชีวิตให้มันอยู่ในร่องชัดเจนขึ้น

ตอนที่แปลหนังสือ 7 กฎฯ จบลง ผมก็ถามตัวเองอยู่เหมือนกันว่าประทับใจกับเนื้อหาของกฎฯ ข้อไหนมากที่สุด เมื่อนึกทบทวนดูก็โหวตให้กับ “กฎแห่งการปล่อยวาง” อาจเป็นเพราะกฎข้อนี้ โชปราได้ให้มิติหรือมุมมองเกี่ยวกับนัยยะและความหมายของคำว่า “การปล่อยวาง” ที่ลึกซึ้งเพิ่มเติมขึ้นแก่ตัวผม ไปอีกระดับหนึ่ง และผมคิดว่ากฎข้อนี้มีความนามธรรม และเป็นภาวะอันลึกซึ้งยิ่งสำหรับผม (ผมขอเอาไว้เล่าทีหลังนะครับ)

อีกคำถามคือ แล้วกฎข้อไหนเป็นแกนหลักของหนังสือ ผมนึกในใจว่า ถึงแม้ว่าทุกข้อมันจะเกื้อหนุนเป็นส่วนประกอบต่อกัน แต่ให้เลือกก็ต้อง กฎข้อที่ 1 “กฎแห่งศักยภาพอันบริสุทธิ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน” ซึ่งหัวใจก็อยู่ที่คำโปรยก่อนเข้าเนื้อหาของกฎข้อนี้ที่ว่า


แหล่งกำเนิดของการสรรค์สร้างสรรพสิ่งทั้งมวล
คือสภาวะจิตอันบริสุทธิ์
ที่ที่ซึ่งศักยภาพอันบริสุทธิ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน
แสวงหาการแสดงตน
จากสิ่งซึ่งยังไม่ปรากฏ ให้ปรากฏเป็นรูป

และเมื่อใดที่เราตระหนักรู้ว่า
ตัวตนที่แท้จริงของเรานั้น
เป็นส่วนหนึ่งของศักยภาพอันบริสุทธิ์
เมื่อนั้น เราได้กลายเป็นหนึ่งเดียว
กับพลังที่ทำให้ทุกสิ่งปรากฏเป็นรูปขึ้นในจักรวาล


นี่เป็นหัวใจของเนื้อหาของกฎข้อนี้ ซึ่งมันจับองค์ความรู้เดิมของผม มามัดรวมกันใหม่อีกที และบอกรูปธรรมที่ว่านามธรรมหรือสภาวะ(ธรรม)นี้ ทำงานอย่างไร แต่ปัญหาของผมขณะนี้ก็คือ ผมจะเล่าอย่างเห็นภาพและให้เข้าใจ ผ่านการเขียนนี้ได้อย่างไร คงต้องขอเล่าแบบเป็นประเด็นหลักๆ นะครับ

หลักๆ ก็คือ เนื้อหาในแต่ละบรรทัด มันเชื่อมโยงผมในเชิงความเข้าใจหรือการตีความ เข้ากับ กฎทั้งหลายที่อยู่ในฐานข้อมูลของผม (ที่ผมเคยกล่าวมาข้างต้น) และเปิดมุมมองด้านใหม่ หรืออาจพูดว่า เป็นวิธีอธิบายแบบใหม่ ในเรื่องของกฎเหล่านั้น ทั้งอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ระบบกรรม หรือเต๋า หรือธรรม(ชาติ) หรือพระเจ้า หรือปรมาตมัน รวมทั้งอื่นๆ เช่น มิติของการที่โชปราใช้คำว่า “ศักยภาพภาพอันบริสุทธิ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน” หรือ “แสวงหาการแสดงตน” หรือ “จากสิ่งซึ่งยังไม่ปรากฏ ให้ปรากฏเป็นรูป” ผมว่ามันทั้งพลิกและขยายมุมมองกับผมมากๆ

นอกจากนั้นในขณะอ่านหรือแปล มันก็เชื่อมโยงผมในระดับความรู้สึก ให้พยายามหยั่งถึงระดับสภาวะที่ตระหนักรู้ได้ถึงสภาวะนี้ ไม่ว่าจะที่เรียกว่า “สภาวะจิตอันบริสุทธิ์” หรือ “การกลายเป็นหนึ่งเดียว” ถึงแม้ผมอาจจะยังทำได้ไม่ดีนัก แต่ก็พอจะทำให้เห็นหนทางหรือความเป็นไปนั้นได้ ไม่ถึงกับต้องตีความตามตัวอักษรเพียงอย่างเดียว มันมัดรวมไปพร้อมๆ กันนั้นเลย

อีกส่วนที่ผมชอบเป็นพิเศษ คือวิธีในการปฏิบัติที่โชปรา พูดถึงในกฎข้อนี้ ในเรื่อง “การไม่ตัดสิน สิ่งใดๆ” นี่เป็นการต่อยอดความเข้าใจในเรื่องกระบวนการคิดหรือปรุงแต่ง ที่เป็นของเดิมของผมได้แบบเป็นทีเด็ดจริงๆ และในทางกลับกันก็เป็นวัคซีนใช้แก้ปัญหาทางการปรุงแต่งที่จะไม่ให้เกิดปัญหาได้อย่างเยี่ยมยอด ก็เพียงแค่ “อย่าไปตัดสินสิ่งใดๆ” นี่เป็นขอนไม้หรือร่มชูชีพ หรือเรียกว่า หลวงพ่อ กันเกิดปัญหาทางจิตหรือขบวนการปรุงแต่ง ที่เป็นรูปธรรมง่ายๆ ดีจริงๆ สำหรับผม และยังคงพกติดตัวใช้อยู่เป็นประจำเลยครับ

ขอแค่นี้ก่อนครับ อย่างที่เคยเรียนไว้ ผมยังคงมีภาระต่อเนื่องเรื่องงานบางอย่าง เลยอาจมายาวๆ ไม่ได้ทุกวันครับ ขอบคุณทุกๆ ท่านครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 19/03/2009
คุณนันท์ครับ ผมก๊อปใส่"Word"ใช้ปริ๊นส์ออกมาอ่าน รวมไว้ครับเลยครับ ไว้คุณนันท์เขียนจบ ผมจะรวมไว้เพื่ออ่านแบบรอบใหญ่อีก

“สภาวะจิตอันบริสุทธิ์” หรือ “การกลายเป็นหนึ่งเดียว”ที่คุณนันท์ดำรงอยู่ได้ถ่ายทอดเป็นความรู้สึก ที่ทำให้เมื่อผมอ่าน7กฎอีก เหมือนได้ใกล้ชิดแบบนั่งอยู่ข้างหลังผู้แปลบทต่อบท ขอบพระคุณจริงๆครับผมครับ..ยิ้มแย้ม ปิติสุขครับ
ชื่อผู้ตอบ : โก้ ตอบเมื่อ : 19/03/2009
ด้วยความยินดีครับ ที่ผมมีโอกาสชักชวนคุณโก้ กลับเข้าสู่สภาวะที่คุณโก้นั้นคุ้นเคยดีอยู่แล้ว และร่วมเดินทางไปด้วยกันทุกครั้งที่อ่าน

ผมขอต่อเรื่องข้างบน ที่ผมค้างคาไว้นะครับ

ที่ผมประทับใจเทคนิค “ไม่ตัดสินสิ่งใดๆ” ก็เพราะการใช้วิธีเตือนตนเช่นนั้น มันจับต้องได้ง่ายดี ในการที่จะหยุดกระบวนการคิดปรุงแต่งของผมต่อทุกเรื่อง ที่ผมพบหรือประสบ ไม่ให้มันจบโดยสมบูรณ์ จนเกิดอาการ พอใจ-ไม่พอใจ ต่อสิ่งนั้นๆ

ผมเคยคิดว่า วิธีนี้มันเหมือนกับการใช้ เซฟ ที คัท ที่สโลแกนบอกว่า “ตัดก่อนตายเตือนก่อนวายวอด” เมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจรขึ้น ขอยกภาพขบวนการคิดปรุงแต่ง ที่ผมเห็นเป็นขั้นๆ ประกอบดังนี้

1. ขั้นการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ชิม สัมผัส คิดนึก ต่อสิ่งหนึ่ง
2. ขั้นการนำข้อมูลในฐานความจำ ที่สะสมไว้ มา support การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ชิม สัมผัส คิดนึก นั้น เกิดเป็นการจำได้หมายรู้
3. ขั้นการประมวลผล สิ่งที่ได้เห็นหรือสัมผัสใหม่นั้น กับข้อมูลเก่าทั้งหมด โดยเฉพาะข้อมูลเชิงความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งนั้นที่เคยมี ซึ่งทำให้เกิดการปรุงแต่ง สิ่งใหม่นั้นจนหนำใจ และสรุปหรือ “ตัดสิน” สิ่งนั้นว่า ถูก-ผิด ดี-ชั่ว (เอาไว้เป็นฐานข้อมูลใหม่ ความเชื่อใหม่ ให้ยึดถือต่อไป)
4. เกิดเป็นความรู้สึก ชอบ-ไม่ชอบ พอใจ-ไม่พอใจ รัก-เกลียด กลายเป็น ความสุข-ความทุกข์ ต่อสิ่งนั้น เอาไว้ให้เป็นกิเลส ตัณหา ต่อไป

ปกติทั่วๆ ไป ที่เรามักได้ยินวิธีเตือนตน ไม่ให้เริ่มเกิดขบวนการปรุงแต่ง ตั้งแต่ขั้นตอนแรกๆ เสียเลย เรียกว่าตัดไฟแต่ต้นลม คือ การมีสติรู้ว่า เห็นหนอ ได้ยินหนอ นั่งหนอ คิดหนอ หรือ ร้อนหนอ สวยหนอ แต่ผมเป็นพวกที่ไม่ถนัดวิธีนี้ เลยตัดไม่ค่อยทัน ไปรู้อีกที ก็สุขหรือทุกข์ไปแล้ว จึงค่อยมา สุขหนอ ทุกข์หนอ การหมั่นสั่งตัวเองให้ตั้งมั่นไม่ตัดสินสิ่งใดๆ ไว้ก่อนเลยก็ดูง่ายดี และบางครั้งในวิถีการงาน มันก็ต้องยอมให้เกิดขบวนการคิด และปรุงแต่งอยู่เสมอๆ จึงต้องใช้วิธีเตือนตนให้ตัดก่อนวายวอด คือ ปล่อยให้คิดได้คิดไป วิเคราะห์ได้วิเคราะห์ไป แต่ห้ามสรุปหรือ “ตัดสิน” ว่าถูก-ผิด ดี-ชั่ว จนเกิดเป็นขั้นที่ 4 ตัดก่อนวายวอดนั่นเอง หากต้องสรุปผลความคิดนั้น การเตือนตนไม่ให้ “ตัดสิน” ว่าถูก-ผิด ดี-ชั่ว ก็ช่วยลดดีกรีการประมวลผลลงเหลือแค่ไปเป็นการเลือกแบบไม่มีอารมณ์แทน

วิธีที่เล่ามา เป็นการใช้เทคนิคหรือหลักเวลาผมฝึกหัดหรือรู้ตัวว่าช่วงไหนที่สถานการณ์พลาดพลั้ง ไม่แข็งแรง หรือต้องฝ่าคลื่นลม เลยต้องอาศัยชูชีพ หรือมีหลวงพ่อ ไว้ป้องกันตัว ซึ่งความจริง โดยหลักการที่แท้ ผมเข้าใจว่า มันจะเกิดขั้นไหน และขบวนการมันดำเนินไปถึงไหน ก็ให้รู้ทัน หรือเห็นทันการเกิดขึ้นและดำเนินไปของมันในทุกขณะจิต นั้นดีที่สุด

ส่วนเรื่องที่ดีสูงสุด แบบที่โชปราพูดถึง (และในพุทธศาสนาด้วย) คือ การมีความเงียบในจิตเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่แค่ภายนอก แต่ต้องภายในจิต เป็นการหยุดลงของภาพหรือเสียงสนทนาใดๆ ภายใน นั่นคือ การยุติลงของความคิด หรือฝึกทำให้เกิดช่วงว่างระหว่างความคิดให้กว้างขึ้น ห่างมากขึ้น ลดการคิด ไม่ฟุ้งซ่านหรือคิดไปเรื่อยไม่หยุด โดยไม่รู้ตัว เมื่อใดความคิดยุติลง ก็หยุดปรุงแต่ง หรือหยุดการสร้างแบบไม่รู้ตัว จากตรงนั้นจึงเกิดการคิดแบบเห็นทัน รู้ตัว เพื่อจงใจสร้าง ดังที่โชปราบอกว่า จิตที่เงียบ เปรียบเหมือนผิวน้ำในสระที่เรียบนิ่ง ที่เพียงก้อนหินก้อนเล็กๆ ก็เกิดการกระเพื่อมหรือสัญญาณหรือการส่งต่อข้อมูลที่ชัดเจน สู่ระบบสรรค์สร้างของจักรวาล แต่ถ้าวุ่น ก็เหมือนทะเลปั่นป่วนที่โยนตึกเอมไพร์เสตทลงไป ก็ยังไม่รู้สึก และที่สำคัญคือ หากเราปฏิบัติได้ การอยู่ในจิตว่าง หรือรู้ทันการเกิดความคิด ก็เท่ากับเรามีสติ ไม่ปล่อยให้เป็นระบบอัตโนมัติ ที่ปล่อยไปตาม “ยถากรรม” ซึ่งเกิดความพัวพันทางกรรม ไม่รู้จบ ให้เป็นจบแบบเลือกได้

ส่วนการหมั่นทำสมาธิ สำหรับการปฏิบัตินี้มีข้อดีคือ ได้หัดหมั่นสัมผัสหรือเข้าออก การมีสภาวะแห่งความเงียบ ที่เป็นเงียบแบบสงัดในจิต (ผมชอบที่กฤษณมูรติ บรรยายถึงสภาวะนี้เอาไว้มาก ตามที่ผมเล่าไว้ข้างบน) และได้หัดให้ฐานจิตนั้นมีความแข็งแรงในการตั้งมั่นต่อสภาวะนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมเป็นคนอ่อนซ้อมในเรื่องนี้

และในความเงียบชนิดนี้ ที่การเป็นตัวตน ที่ถูกสร้างโดยความคิด ชนิดปรุงแต่ง ให้เกิดอุปาทาน ได้หายไป ไม่มี เหลือแต่สภาวะแห่งความว่างแห่งจิต จากตรงนั้นเราย่อมรวมเข้าเป็นหนึ่ง กับความว่างอันไพศาล อันเป็นธรรม(ชาติ)เดิมแท้ อันเป็นกฎเดิมที่ควบคุมความเป็นไปที่ว่า อันเป็นธรรมธาตุที่พระพุทธเจ้าท่านทรงบอกว่า ท่านจะเกิดมาหรือไม่ ธรรมนี้ก็มีอยู่เป็นอยู่ก่อนเดิมแล้ว เพียงแต่ท่านเป็นผู้พบ หยั่งถึง เข้าถึง และแทงทะลุตลอดแจ่มแจ้งทุกแง่มุม นำมาเล่า บอก แสดง ให้เรารู้ เป็น ตถตา คือความเป็นอย่างนั้น เป็น “สภาวธรรมสูงสุด” ที่เรียกว่าอนัตตาหรือสุญญตา อันเป็นที่ตั้งอยู่ของกฎที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา หรือการเกิดมีเหตุปัจจัยย่อมนำไปสู่ผล

สิ่งที่โชปราพุด ในกฎข้อนี้ ไม่ว่าจะเป็น สภาวะจิตอันบริสุทธิ์, การกลายเป็นหนึ่งเดียว, ศักยภาพอันบริสุทธิ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน, สิ่งซึ่งยังไม่ปรากฏ ให้ปรากฏเป็นรูป, ตัวตนที่แท้จริงของเรา, พลังที่ทำให้ทุกสิ่งปรากฏเป็นรูปขึ้นในจักรวาล, อาณาจักรแห่งความเป็นไปได้ในทุกๆ สิ่ง, พลังแห่งการสรรค์สร้างอันไร้ขีดจำกัด, สภาวะพื้นฐานตามธรรมชาติของเรา คือแง่มุมของการทำงานของสิ่งเหล่านี้ อันมีรากมาจาก หรือเป็นสิ่งที่เกิดจากหน่อ “สภาวธรรมสูงสุด” นั่นเอง (ในความเห็นของผม) เมื่อผมนำมาเทียบเคียงกับพุทธศาสนา เพื่อประมวลผลจากความเข้าใจเดิมที่มี

แต่เรื่องกฎหรือการมีอยู่ของสิ่งนี้ ก็มีในศาสนาอื่นด้วย ดังเช่นที่เรียกว่า เต๋า พระเจ้า ปรมาตมัน ก็แล้วแต่ ถ้าในมุมของวิทยาศาสตร์ ก็คือกลไกการทำงานของพลังงานในระดับควอนตัม ที่ว่าจิตเรานั้นสัมพันธ์กับความมีสภาพเป็นอนุภาคหรือคลื่น ของอะตอมของพลังงาน นั่นคือกลไกที่เกิดขึ้นเมื่อเราคิดต่อสิ่งใด ทั้งที่ตั้งใจหรือโดยอัตโนมัติไม่รู้ตัว รวมทั้งมิติที่ให้เราเข้าใจว่า ในโลกระดับพลังงานทุกอย่างโยงใยสัมพันธ์ส่งผลถึงกันหมด อันสร้างภาพเชิงรูปธรรมให้เราเห็นว่าทั้งหมดอยู่ในความเป็นหนึ่ง หรือคือสภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง รวมทั้งไม่มีมิติของเวลา มิติเวลาเกิดขึ้นจากสภาพรู้ของจิตเราเอง อันเป็นอาการที่จิตไม่ว่าง หรือไม่รวมเป็นหนึ่ง เกิดสภาวะปรุงแต่ง แบ่งแยก เปรียบเทียบของความคิด

ทั้งหมดคือ เนื้อหาใจความที่ผมพอสรุปเล่าได้จาก ความเข้าใจต่อ กฎแห่งศักยภาพอันบริสุทธิ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน เมื่อมัดรวมๆ กับฐานเดิมที่ผมมีครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 20/03/2009
แล้วถ้าเราเข้าสู่สภาวธรรมสูงสุดที่ว่างทางความคิดหรือสภาวะบริสุทธิ์นี้แล้ว แล้วถ้าเราไปสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมาจากความว่างนี้คือ ทำตามกฏแห่งความมุ่งมั่นและความปรารถนา คือจากสภาวะดั้งเดิมที่คุณนันท์ว่าคือเต๋า หรือนิพพานหรือปรมาตมัน แล้วถ้าเราไปสร้างขึ้นมาอีกตามกฏแห่งความมุ่งมั่นและความปรารถนาก็เท่ากับว่าเราสร้างความคิดปรุงแต่งให้เกิดกรรมขึ้นมาจึงเกิดสังสารวัฏขึ้นมาอีก คุณนันท์ช่วยอธิบายให้เข้าใจหน่อยครับ เพราะมีเพื่อนทีนับถือคริสต์ก็บอกว่ามนุษย์เป็นคนบาปเพราะไปกินผลไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วเข้า(ตรงกับศาสนาพุทธคืออวิชชา(ความไม่รู้)ทำให้เกิดสังขาร(ความคิดปรุงแต่งเป็นดีเป็นชั่ว เป็นสุขเป็นทุกข์) แต่ผมไม่อยากจะเชื่อว่าเราเป็นคนบาปเพราะมันทำลายความนับถือตัวเองอย่างรุนแรงมาก และก็ยังอยากสรรสร้างต่อไป(ซึ่งก็เกิดกรรมและสังสารวัฏต่อไป) ยังไม่อยากอยู่ในสภาวะว่างถาวร ยังอยากที่จะเข้าสู่สภาวะว่าง(ตามกฏแห่งศักยภาพบริสุทธิ์) แล้วก็สร้าง(ตามกฏแห่งความมุ่งมั่นและปรารถนา)อยู่
วันนี้ผมก็นั่งสมาธิภาวนาโซ-ฮัมตามที่โชปราบอกในหนังสือโชค ดวง ความบังเอิญฯ (หลังจากที่ลังเลใจไม่ยอมทำสักทีมาหลายเดือน) ตอนนั่งสมาธิรู้เหมือนจะตีลังกากลับหัว เหมือนตัวตะแคงไปทางซ้าย แล้วยืดออก ทั้งๆที่ก็นั่งขัดสมาธิตัวตรงอยู่บนเตียง แล้วพอจิตว่างสักพัก(ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าว่างดีหรือยัง) ก็ภาวนาพระสูตรบทแรกเข้าไป(ของวันที่1) อะหัมบราหมาสมิ แก่นแห่งตัวตนของข้าพระเจ้าคือความเป็นจริงสูงสุด เป็นรากเหง้าพื้นฐานแห่งจักรวาล เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ โดยหลักแล้วหลักการข้อที่1ก็เพื่อให้เราตระหนักถึงตัวตนที่แท้จริงของเรา แต่สิ่งที่ผมคาใจว่าของโชปราจะขัดแย้งกับพุทธก็คือ ของโชปราใส่พระสูตรหรือเจตนารมณ์ซึ่งคือ concept หรือข้อมูลเข้าไป แต่ของพุทธจะให้ปราศจาก concept ใดใดเลย เพราะถ้ามี concept อยู่ก็ยังไม่ว่าง ยังมีความเชื่อหรือแนวคิดอยู่) แล้วโชปราก็ให้อ่านหลักการ หลังทำสมาธิเสร็จ โชปราบอกไม่ต้องทำอะไรแค่ออ่าน ผมก็เอามาอ่าน แล้วเขามีให้จินตนาการพระสูตรข้อที่1 คือจินตนาการว่าจักรวาลทั้งหมดบรรเลงอยู่ภายในตัวเรา แล้วก็เราเป็นเกลียวเชือกที่ผูกโยงกับคนอื่นๆทั้งหมด แต่โชปราบอกว่า จะให้จินตานาการอย่างนี้ก็ต่อเมื่อเสียสมาธิระหว่างวันเท่านั้น แต่โดยหลักการการแล้ว แค่ให้ นั่งสมาธิภาวนาโซฮัม แล้วพอจิตนิ่งดิ่งลึกอยู่ในสภาวะของกฏข้อที่1เมื่อไร ก็ให้ใส่เจตนารมณ์หรือพระสูตรเข้าไป(ตรงกับกฏแห่งความุ่งมั่นปรารถนา) ซึ่งมีอยู่7พระสูตร สำหรับ7วัน แล้วก็ให้ออ่านหลักการตอนที่หลังทำสมาธิใหม่ วันหนึ่งอ่านแค่หลักการเดียว มีแบบฝึกหัดท้ายบทไว้ให้ทำ โดยจะทำหรือไม่ทำก็ได้แล้วแต่ ซึ่งก็เป็นอแรที่ผมรู้สึกดีเหกมือนกัน ตอนนั่งสมาธิรู้สึกเหมือนวันนี้อารมณ์ดีขึ้นและใจเย็นลงมาก โชปราบอกไม่ให้อ่านข้ามไปข้ามมา ให้ทำสมาธิจนจิตว่างก่อนแล้วค่อยอ่านซึมซับ แต่ผมดันอ่านไปหมดแล้วตามประสาคนใจร้อน จะมีผลเสียต่อกระบวนการมั้ย ครับวันนี้ก็แค่นี้ครับ เดี๋ยวปฏิบัติแล้วได้ผลยังไงจะมาเล่าให้ฟังอีกรอบ บางทีผมเขียนเหมือนมั่วไปหมด ว่าตกลงผมจะถามทุกท่านในที่นี้หรือผมจะเล่าให้ฟังกันแน่ ต้องขอโทษด้วยที่ทำให้งงจริงๆครับ พอดีวันนี้เป็นภาคสนามวันแรก(ปกติบ้าแต่อ่านอย่างเดียว) แล้วก็เหมือนติดขัดบ้างเลยงงๆ
ชื่อผู้ตอบ : นิก-สปิริต ตอบเมื่อ : 20/03/2009
ขอแก้คำผิดครับ ตอนนั่งสมาธิรู้สึกเหมือนจะตีลังกากลับหัวไม่ใช่รู้เหมือน
ชื่อผู้ตอบ : นิก-สปิริต ตอบเมื่อ : 20/03/2009
ดีหนอ ชอบมากหนอ คล้อยตามหนอ เห็นใจตัวเองไหลๆๆหนอ ดิ่งๆๆๆตามหนอ (ยิ้มแฉ่ง :O) )

ขอบคุณๆๆ คุณนันท์นะคะ ขอบคุณคุณนีโออีกด้วยคน :O)

Have a good one!
ชื่อผู้ตอบ : 1 kha ตอบเมื่อ : 21/03/2009
สิ่งที่ได้อ่านและสัมผัส...ช่างหยั่งถึงหนอ...จริงแท้หนอ...แน่แท้หนอ......ซาบซึ่งปิติ ขอบพระคุณมากๆๆครับ ยิ้มๆ
ชื่อผู้ตอบ : โก้ ตอบเมื่อ : 21/03/2009
อ่านที่คุณนิกเล่ามาเรื่องหลักการที่คุณนิกเริ่มปฏิบัติ ทำให้จำเนื้อหาในหนังสือ โชค ดวง ความบังเอิญฯ ได้ ที่คุณนิกเล่าประสบการณ์มาน่าสนใจดี ทยอยเล่ามาเป็นระยะๆ ก็ดีนะครับ ผมจะได้ความรู้ไปด้วย

ผมขอทวนประเด็นของคุณนิกที่ตั้งมาดังนี้

“แล้วถ้าเราเข้าสู่สภาวธรรมสูงสุดที่ว่างทางความคิดหรือสภาวะบริสุทธิ์นี้แล้ว แล้วถ้าเราไปสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมาจากความว่างนี้คือ ทำตามกฏแห่งความมุ่งมั่นและความปรารถนา
คือ จากสภาวะดั้งเดิมที่คุณนันท์ว่า คือเต๋าหรือนิพพานหรือปรมาตมัน แล้วถ้าเราไปสร้างขึ้นมาอีก ตามกฎแห่งความมุ่งมั่นและความปรารถนา ก็เท่ากับว่าเราสร้างความคิดปรุงแต่งให้เกิดกรรมขึ้นมา จึงเกิดสังสารวัฏขึ้นมาอีก
คุณนันท์ช่วยอธิบายให้เข้าใจหน่อยครับ”

ผมมีความเห็นว่า เราอาจต้องแยกเป็น 2 ระดับของบุคคล ดังนี้ครับ

ระดับแรกคือ ผู้ที่ตัดกิเลส ได้อย่างสิ้นเชิง และถาวร สำเร็จเป็นพระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้า

ระดับที่สองคือ คนอย่างผมหรือคนทั่วๆ ไป ที่ยังมีกิเลส ถึงพยายามตัด ก็ยังได้ไม่ทั้งหมด หรือตัดได้ชั่วครั้ง ชั่วคราว แบบสั้นๆ ยังไม่ถาวร

สำหรับบุคคลในระดับแรก ผมเองก็ไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมด ว่าหลังจากเวลาเช้าตรู่ของวันเพ็ญเดือน 6 ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ซึ่งเราเข้าใจได้ว่าพระองค์ทรงเข้าถึงซึ่งนิพพาน สิ้นซึ่งกิเลสทั้งปวง และอย่างถาวรแล้วนั้น พระองค์ได้ทรงมีความมุ่งมั่นหรือปรารถนาที่จะกระทำสิ่งใดอีกบ้างตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ แต่จำได้ว่าหนึ่งในความปรารถนาแรกๆ ของพระองค์คือ การออกตามหา ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เพื่อแสดงธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบให้ฟัง นอกจากนี้ ผมคิดว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านก็คงจะมีความปรารถนาและดำเนินกิจของท่านตามความปรารถนาที่ท่านมี ซึ่งน่าจะต่างกับบุคคลในระดับที่สอง

ความต่างนี้ ผมคิดว่ามี 3 มิติที่ต้องพิจารณา คือ

1.ระดับความสมบูรณ์หรือคุณภาพของสภาวะแห่งความว่างของจิต จากกิเลส ในขณะที่ใส่ความมุ่งมั่นปรารถนานั้น

2.ความมุ่งมั่นปรารถนานั้น เกิดขึ้นมาจากราก หรือปัจจัย หรือกิเลส หรือมีสิ่งใดในเชิงบวกหรือลบเจือปนอยู่บ้าง เพราะมันจะเป็นไปตามหลักที่ว่า ความมุ่งมั่นปรารถนานั้น เมื่อมีส่วนผสมของเหตุปัจจัยอย่างไร เราย่อมได้รับผลของมันตามนั้น พร้อมผลพวงทั้งหมดของสิ่งที่เป็นที่มา หรือสิ่งที่แอบซ่อนอยู่เบื้องหลังความมุ่งมั่นปรารถนานั้น ทั้งดี ไม่ดี บวกหรือลบ ตามมา ตามหลักของเหตุและปัจจัย ไปสู่ผล หรือระบบกรรม

ดังนั้นที่มาของความมุ่งมั่นปรารถนานั้น น่าจะเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งเราสามารถมองเห็นรากหรือรู้ทัน กิเลสและสิ่งที่แอบซ่อนอยู่เบื้องหลังความมุ่งมั่นปรารถนาหรือสิ่งต้องการนั้น เท่าไหร่ยิ่งดี เราคงต้องรู้เท่าทันเหตุของความต้องการนั้น อย่างน้อยก็ในระดับสติปัญญา ที่เรามีเฉพาะขณะนั้น ซึ่งสัมพันธ์กับระดับสติปัญญาที่เราได้พัฒนาขึ้นมาในการรู้จักตัวตนที่แท้ของเรา

เรื่องนี้อาจสัมพันธ์กับสิ่งที่โชปราพูดเรื่อง “กฎแห่งธรรมะ” ที่ให้เรารู้อย่างยิ่ง อย่างน้อยในระดับหรือในวัยนั้นๆ ของเราว่า เราเกิดมาพร้อมความสามารถเฉพาะอะไร เพื่อ “รับใช้” ผู้อื่นด้วยความสามารถพิเศษนั้นของเรา การที่มีการกำกับว่า “รับใช้” อย่างน้อยก็ทำให้ช่วยละอัตตาของเราลงได้ แต่ต้องระวังว่า ความคิดเบื้องหลังการ “รับใช้” นั้น จะต้องไม่เป็นไปเพื่อเพิ่มอัตตาของตัวเองอีกอยู่ดี ซึ่งความสามารถในการเห็นหรือรู้ทันนี้ จะละเอียดอ่อนและลึกซึ้งมากขึ้นๆ ตามเปลือกของกิเลสและอัตตาที่เราสามารถลอกออกจากตัวเราไปเรื่อยๆ

3.สภาวะแห่งการดำเนินไปเพื่อประกอบกิจเกี่ยวกับสิ่งที่ปราถนาหลังความว่างนั้น พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์นั้น ท่านว่างต่อไปตลอด และว่างสมบูรณ์ทุกขณะแห่งการดำเนินไป (ทั้งก่อนและหลัง) ส่วนคนในระดับที่สอง แบบผมหรือคนทั่วๆ ไป ว่างแบบสั้นๆ สลับกับไม่ว่างแบบยาวๆ

ตรงนี้ขอให้ความเห็นเพิ่มเติมเรื่องความหมายของคำว่า “ความว่าง” นี้ ว่าน่าจะมี 2 นัยยะ

นัยยะแรก คือ ที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้ เป็นสภาวะที่จิตว่างจากความคิด

นัยยะที่สอง คือ เมื่อเกิดความคิดหรือความปรารถนาขึ้น ให้ “ว่าง” จากการปรุงแต่งสิ่งนั้นด้วยกิเลส ความหมายคล้ายกับ “การปล่อยวาง” คือให้มีความตั้งมั่นในสิ่งที่เป็นเป้าหมาย แต่ ปล่อยวาง ความทะยานอยาก ความยึดติด ความวิตกกังวล ความกลัว (ซึ่งความจริงมันเป็นเรื่องเดียวกัน)

เมื่อเราว่างจากกิเลส หรือตัวตน ในสภาวะแห่งการดำเนินไปเพื่อประกอบกิจเกี่ยวกับสิ่งที่ปราถนา แบบที่ท่านพุทธทาสท่านบอกว่า “จงทำงานทุกชนิด ด้วยจิตว่าง” ยิ่งเราดำเนินกิจเกี่ยวกับความปรารถนานั้นของเรา ด้วยจิตที่ว่าง ตามนัยยะที่สองได้ยาวต่อเนื่องหรือมากเท่าไหร่ ให้ทุกขณะเป็นการเห็นซึ่งการดำเนินไป หรือเป็นปัจจุบันขณะโดยแท้ ระบบกรรมที่เราก่อขึ้น ก็น้อยลงเท่านั้น

อยากให้คุณนิกทดลองว่างดูครับ ว่างจากสิ่งที่ผมบอก ว่างจากสิ่งเพื่อนบอก เมื่อว่างแล้ว เอาที่ผมบอก หรือเพื่อนบอกขึ้นมาพิจารณา จะได้ความรู้จริงๆ ของตน ไม่พะวงกับที่ผมบอกหรือเพื่อนบอกอีกต่อไป

ความรู้ที่คุณนิกมีนั้น มากล้นเหลือแล้วครับ อาจจะมากกว่าใครหลายๆ คนในนี้ และที่แน่ๆ มากกว่าผมแน่นอน จนอาจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณนิกต้องว่างจากมัน โดยปล่อยวางลงชั่วขณะ ทั้งความกลัว ความวิตกต่อกฎหรือหลักที่หนังสือบอก ขอให้หาวิธีว่างแล้วพิจารณา เพื่อเห็นทันสิ่งที่เป็นความกลัว หรือวิตกนั้น และเห็นจนรู้ว่าอันไหนที่ตรงกับความรู้สึก ความชอบ หรือสติปัญญาของเราในขณะนี้ และเลือกลงมือทำในสิ่งที่คิดว่าใช่เลยครับ ชอบวิธีไหนก็ทำเลย สุดท้ายมันอาจจะเป็นสิ่งที่คุณนิกกำลังเริ่มทดลองปฏิบัตินั่นก็ได้ มันจะทำให้เราเติบโตจากการทำสิ่งนั้นเอง แม้บางทีอาจเลือกผิดทำให้เสียเวลา แต่ก็ช่างมัน คุ้มครับ สิ่งไหนไม่ชอบไม่อยากเป็น เช่นคนบาป ก็อย่าเอามาใส่ใจ แต่ไม่แน่ เมื่อเวลาผ่านไป คุณนิกอาจจะเข้าใจความหมายของคนบาปที่เขาพูดถึง ในอีกความเข้าใจ หรืออีกนัยยะ หรือลึกขึ้นก็เป็นได้

แต่ขอฝากจากประสบการณ์ของผมเอาไว้อย่างหนึ่งว่า อย่าตัดสิน อย่าต่อต้าน ในสิ่งอื่นที่เราไม่ได้เลือกระทำครับ แล้วโอกาสที่การขยายตัวของความคิดความเข้าใจ และจิตวิญญาณ ก็จะเปิดโล่ง ไม่ถูกปิดกั้น จากอุปสรรคที่เรานั้นสร้างขึ้นเอาไว้เอง การเดินทางจะเร็วขึ้น อบอุ่นและมีดุลยภาพมากขึ้นครับ

สุดท้าย มีเรื่องขอทำความเข้าใจเล็กน้อย ตรงที่คุณนิกพูดถึง คำว่า นิพพาน ตรงที่บอกว่า “จากสภาวะดั้งเดิมที่คุณนันท์ว่า คือเต๋า หรือนิพพาน หรือปรมาตมัน” โดยมีคำว่า “นิพพาน” ถูกจัดรวมอยู่กับ “เต๋า และ ปรมาตมัน” นั้น ผมต้องขอออกตัวว่าผมไม่ได้จัดรวมอย่างนั้น เหตุผลที่ผมไม่เคยเอา “นิพพาน” มาจัดรวมไว้ในการพูดเกี่ยวกับการหยั่งถึงสภาวะที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่นี้นั้น เพราะตามความเข้าใจของผมนั้น คำว่า “นิพพาน” เป็นการดับกิเลสโดยสิ้นเชิงตลอดไป ไม่เหลือเชื้อ หรือกิเลสไม่เกิดขึ้นได้อีก ผมเลยขอยกคำว่า “นิพพาน” ไว้เป็นกรณีพิเศษ ไม่อยากเอามาใช้ปนกับคำอื่นที่น่าจะสามารถอนุโลมว่า เข้าถึงหรือหยั่งถึงได้ แบบเป็นครั้งคราว ตามกำลังสติ แต่ถ้าหากจะนำมาพูดถึงให้รู้สึกดี แบบเปรียบเปรยให้เป็นกำลังใจหรือพอเชื่อมโยงให้เข้าใจ ว่าเป็น นิพพานแบบชั่วคราว หรือแบบอ่อนๆ ก็อีกเรื่องหนึ่งครับ

หากจะสังเกต ความเรียงที่ผมเล่าล่าสุดด้านบน อย่างเก่งผมจะเขียนไว้เพียงแค่พอเข้าใจได้ว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน ดังประโยคที่ว่า “. . . คือแง่มุมของการทำงานของสิ่งเหล่านี้ อันมีรากมาจาก หรือเป็นสิ่งที่เกิดจากหน่อ สภาวธรรมสูงสุด . . .” ใน 2 บรรทัดก่อนสุดท้าย ของย่อหน้าที่ 3 นับจากข้างล่าง

สุดท้ายของสุดท้าย ขอให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นของการ “ว่าง” ที่เราพูดถึงกัน ผมเคยเปรียบเห็นเป็นภาพว่า มันเป็นเรื่องขึ้นบันไดไปทีละขั้น หรือลอกเปลือกตัวเองออกทีละชั้น ในแต่ละขั้นแต่ละชั้น มันก็จะเปิดมุมมองและความเข้าใจใหม่ ระดับจิตใหม่ให้เรา ให้วุ่นใจ สับสน น้อยลง มั่นคงมากขึ้น รวมทั้งทุกข์น้อยลง แต่บ่อยครั้งการก้าวขึ้นไปเหยียบขั้นใหม่ที่สูงขึ้น หรือลอกชั้นของเปลือกออกนั้น เราก็อาจจะขึ้นๆ ลงๆ ยึดๆ ปล่อยๆ กล้าๆ กลัวๆ ระหว่างระดับเดิมกับระดับใหม่ แต่เมื่อใดที่เราก้าวขึ้นขั้นต่อไปได้สำเร็จรู้ได้ชัดเจน ก็จะเกิดมุมมอง ทัศนียภาพใหม่ๆ การเห็นใหม่ ที่กว้างและอิสระขึ้นไปอีก มันเป็นเช่นนั้น ไปเรื่อยๆ ทีละลำดับๆ เราไม่รู้หรอกว่ามันมีอีกกี่ระดับ แต่เราสามารถรู้จริง แก่ใจเฉพาะตรงที่เราอยู่ โดยว่าง และ วุ่น น้อยลงไปเรื่อยๆ เราจะรู้จริงได้ คงต้องจนกว่าจะ ว่างแท้ หมดจด แบบตลอดไป (ซึ่งความปรารถนาของผมเป็นเช่นนั้นครับ)
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 22/03/2009
จำได้ว่าตอนที่ผมได้อ่านและแปลกฎข้อที่ 2 “กฎแห่งการให้(และการรับ)”ประโยคที่ผมแปลด้วยความประทับใจ และคิดว่าเป็นสาระสำคัญของกฎข้อนี้ ในความเห็นของผม มีอยู่ 3-4 ประโยค(หรือประเด็น) ผมขออนุญาตยกมาให้อ่านกันอีกรอบ ด้วยความชอบเป็นส่วนตัว

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

“ความตั้งใจ” ที่อยู่เบื้องหลังการให้และการรับ คือสิ่งสำคัญที่สุด ควรจะสร้างความสุขให้เกิดขึ้นทั้งกับผู้ให้และผู้รับ

หัวใจทั้งดวงจะต้องหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับความสุขในขณะแห่งการให้ (ความจริงผมว่าคงจะหมายรวมถึง ในขณะแห่งการรับด้วย)

แค่การมีความคิดที่จะให้ การมีความคิดที่จะอวยพร หรือการตั้งจิตอธิษฐานธรรมดาๆ ก็มีพลังที่จะส่งผลไปถึงผู้อื่นได้ นั่นเป็นเพระว่าร่างกายของเรา เมื่อแยกแยะลึกลงไปในระดับพื้นฐานที่สุดแล้ว ก็คือ โครงข่ายที่ถักทอถึงกันของพลังงานและข้อมูล ในระดับของโลกแห่งพลังงานและข้อมูล และเราคือ โครงข่ายที่ถักทอถึงกันของจิตสำนึก ในระดับของโลกแห่งจิตสำนึก . .

ชีวิต คือ การเริงรำอันไม่มีที่สิ้นสุดของสภาวะจิตสำนึก ซึ่งแสดงตัวของมันออกมาภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันทางพลังงาน

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

โดยเฉพาะประโยคสุดท้ายนี้ ตรง “ชีวิต คือ การเริงรำอันไม่มีที่สิ้นสุดของสภาวะจิตสำนึก” มีความหมายกินความกว้างและลึกมากสำหรับฐานความเข้าใจเดิมของผม เพราะมีนัยยะที่สอดคล้องกับเรื่อง ขบวนการเกิดความคิด การปรุงแต่ง อันนำไปสู่เรื่องสังสารวัฏ (ที่คุณนิก พูดถึง) เป็นกระบวนการที่เกิดในระดับจิตสำนึก ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งนำไปสู่การเกิด เวทนา (สุข ทุกข์) กิเลส ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เมื่อเทียบเคียงกับพุทธศาสนาของเรา แต่โชปรา อธิบายเป็นเชิงรูปธรรมว่า ทั้งหมดแสดงตัวผ่านการแลกเปลี่ยนกันทางพลังงาน นับตั้งแต่ขบวนการทำให้เกิด การเกิด การเติบโต การมีหรือใช้ชีวิต การตาย

สำหรับผมถือเป็นการอธิบายความหมายของการให้ (และรับ) รวมทั้งการเกิดเป็นชีวิต ที่ใหม่และเห็นภาพมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เสริมภาพความเข้าใจในอีกมุมหนึ่งของระบบกรรม แต่เดิมทีผมก็นึกถึงคำว่า การให้ เช่น การให้ทาน หรือการให้ของขวัญ ก็ตาม ในแบบแบนๆ และมีมิติตื้นๆ เท่านั้น

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นมุมมองในเชิงการสร้างความเข้าใจ หากยิ่งสามารถใช้ระดับความรู้สึกตระหนักรู้หรือเห็นในมิติของสภาวะความเป็นไปด้วย มันรู้สึกว่าซึมเข้าเนื้อเข้าหนังดีจังครับ

แต่ผมสารภาพว่าไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของโชปรา ในเรื่องการให้อย่างเคร่งครัด แต่ยอมรับว่า ชีวิตผมรู้จักให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก และใช้หัวใจ มีสติกับทั้งการให้และรับมากขึ้น ทำให้การให้และการรับมีคุณภาพมากขึ้น และแน่นอนว่าผมรู้สึกว่าชีวิตผมได้รับมากขึ้นด้วย เพียงแต่มาในหลายรูปแบบ และเป็นภาพของชีวิตโดยรวม

ขอถือโอกาสเล่าเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เรื่องผลที่เกิดกับตัวผมโดยรวม จากกฎทั้ง 7 (ซึ่งอย่างที่ผมได้เรียนว่า ผมไม่ได้ถือ 7 กฎ เป็นแกนหลักอย่างเดียวในชีวิต) ผมไม่เคยรู้สึกว่า ผลที่ได้รับหรือที่มีต่อชีวิตนั้น มันเป็นแบบ หนึ่งต่อหนึ่ง หรือ 1+1=2 แต่มันเป็นมวลรวมของชีวิต ที่เรารู้สึกได้ว่าชีวิตง่ายขึ้น อบอุ่นขึ้น งดงามขึ้น และมีความสุขมากขึ้น แน่นอนว่าทั้งด้านจิตใจและสิ่งดีๆ ที่ปรากฏแก่ชีวิต อีกอย่างหนึ่งที่ผมแน่ใจก็คือ บ่อยครั้งที่ชีวิต ได้สังเกตเห็นการคลี่กางออก ของความมหัศจรรย์ ได้เห็นและมีประสบการณ์ถึงมันบ่อยขึ้น (ถึงแม้จะยังไม่บ่อยมาก) มันทำให้ผมนึกถึง ทั้งความหมายของคำว่า “ความสำเร็จ” ที่โชปราได้เขียนอธิบายไว้ในคำนำของหนังสือ นึกถึงสิ่งที่โชปราบอกว่า “มันไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่มันคือ วิถีแห่งการเดินทาง” และทำให้ผมนึกไปถึงสิ่งที่โชปราเขียนเอาไว้ใน “surrender” (ที่ผมแปลเป็นกระทู้เอาไว้ในหน้าที่ 13 ) ที่ว่า . .

“จุดเริ่มต้นของพลังอำนาจในการสรรค์สร้าง คือ ความสามารถในการเห็น . . เห็นถึงความมหัศจรรย์ที่กำลังเกิดอยู่รอบๆ ตัวเรา และนั่นจะทำให้สิ่งมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเติบโตได้ง่ายขึ้น”

ผมได้ยินเสียงใบไม้ผลิบ่อยขึ้น ผมเห็นถนนเส้นที่ผมขับรถไปทำงานเป็นประจำทุกวัน ว่าไม่ใช่ถนนเส้นเดียวกันกับเมื่อวานบ่อยขึ้น เรื่องทำนองนี้ก็เป็นอีกอย่างที่ผมยืนยันได้ว่าหนังสือ 7 กฎฯ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้นกับชีวิตของผม

อีกย่อหน้าหนึ่ง(ในคำนำ) ที่โชปราได้เขียนไว้ ซึ่งงดงามมากเมื่ออ่านมันด้วยใจ และหวังว่าสักวันผมคงมีบุญได้เข้าไปใกล้สภาวะนั้นมากขึ้น

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

"เมื่อเราเริ่มที่จะมีประสบการณ์ในชีวิตของเรา คล้ายดั่งการแสดงออกซึ่งความมหัศจรรย์ ของพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ หรือคุณลักษณะของพระเจ้านี้ แบบไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ตลอดเวลา . . เมื่อนั้นเราจะเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของความสำเร็จ"

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

จำได้ว่าตอนนั้น ผมแปลประโยคเหล่านี้ แบบสุดหัวใจเลยครับ มันเลยยังกังวานอยู่ในหัวผม และอ่านทีไรก็ได้ใจทุกที แม้แต่ที่เอามาพิมพ์ซ้ำไว้ตรงนี้ ก็ยังมีความสุขเลยครับ

ขอบคุณคุณนีโอและทุกท่านครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 24/03/2009
"เมื่อเราเริ่มที่จะมีประสบการณ์ในชีวิตของเรา คล้ายดั่งการแสดงออกซึ่งความมหัศจรรย์ ของพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ หรือคุณลักษณะของพระเจ้านี้ แบบไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ตลอดเวลา . . เมื่อนั้นเราจะเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของความสำเร็จ"

ผมทวนไปมาในประโยคที่คุณนันท์ประทับใจนี้ ที่เติมพลังแห่งความรู้สึกมากมาย ขอบพระคุณ..คุณค่าของชีวิตที่แสนมหัศจรรย์และงดงาม ขอบพระคุณคุณนันท์ ขอบพระคุณคุณนีโออีกครั้ง ขอบพระคุณทุกๆท่านครับ
ชื่อผู้ตอบ : โก้ ตอบเมื่อ : 24/03/2009
ขอบคุณคุณนันท์ ขอบคุณทุก ๆ ท่านเช่นกันครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 24/03/2009
เมื่อวันก่อน ผมได้มีโอกาสดูรายการ ตีสิบ ช่วงที่คุณวิทวัส สัมภาษณ์สุภาพสตรีท่านหนึ่ง ผมจำชื่อเธอไม่ได้ หัวข้อการสัมภาษณ์ชื่อเรื่อง สแกนกรรม (รายการบอกว่าเป็นตอนต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว) เนื้อหาการสัมภาษณ์คือ สุภาพสตรีท่านนี้เธอสามารถเห็นกรรม หรือเหตุและผลของกรรม ของคนที่ทางรายการเอามาทดสอบเธอ ที่เล่ามานี้ไม่ใช่เพื่อให้ความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่นึกขึ้นตอนนั้นว่า ตัวเองจะต้องเล่าถึงมุมมองและการปฏิบัติเรื่องกฎข้อที่ 3 “กฎแห่งกรรม” ที่ค้างไว้

แต่เนื้อหาในรายการก็เป็นเรื่องที่ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาถึงปัญหาที่เคยค้างอยู่ในใจว่า จักรวาลเอาฐานข้อมูลกรรมของเราทั้งหมดจากชาติก่อนๆ เก็บไว้ตรงไหน เพื่อรอแสดงผล เคยนึกเอาลอยๆ ว่าน่าจะมี 2 ทาง คือ สะสมอยู่เฉพาะที่ในดวงจิตของแต่ละคน หรืออาจจะอยู่ทั่วไปในจักรวาล แต่ก็ไม่เคยได้รู้ความจริง หรือว่าจริงๆ แล้ว มันเป็นปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องรู้คำตอบ ขอให้รู้เพียงแต่ว่า มันเป็นความจริงที่ว่าเมื่อมี เหตุปัจจัย ย่อมเกิดผล ก็พอ

ตอนที่อ่านหนังสือของโชปรา เรื่อง “กฎแห่งกรรม” ก็ไม่ได้พูดในมุมที่เลยไปถึงเรื่องชาติอื่นๆ แต่ผมคิดว่า โชปราเองเชื่อในการเกิดภพชาติ แต่คงเลือกพูดถึงแต่การมีชีวิตในขณะนี้เท่านั้น

ตัวผมจับประเด็นที่เป็นแกนหลักของเนื้อหาของโชปรา เรื่อง “กฎแห่งกรรม” ที่ขอยกมาดังนี้ครับ

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ในทุกๆ การกระทำ ย่อมก่อให้เกิดแรงของพลังงาน (ผมว่าถ้าให้ชัด คือ พร้อมกับข้อมูล) ที่ย้อนกลับมาสู่เราในแบบเดียวกัน

ในทุกขณะของการมีชีวิตอยู่ของเรา เรากำลังดำรงอยู่ในอาณาจักรแห่งความเป็นไปได้ในทุกๆ สิ่ง ที่ซึ่งเราได้เข้าสู่การเลือกอันไม่มีสิ้นสุด แต่ทว่า มีแค่บางครั้งของการเลือกเหล่านั้น ที่เราได้ตัดสินใจเลือกอย่างมีสติ ในขณะที่การเลือกที่เหลือ เป็นการเลือกอย่างขาดสติ

ทุกๆ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ว่าคุณจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม ทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากการตัดสินใจเลือก ที่คุณได้ทำในอดีต

จากการที่เราเป็นผู้ที่ต้องตัดสินใจเลือกอย่างไม่มีสิ้นสุดนี้ ได้ทำให้เราทุกคน กลายเป็นโครงข่ายที่เกิดจากการถักทอกัน ของปฏิกิริยาตอบโต้ต่อเงื่อนไขทั้งหลายที่เราต้องเผชิญ และเราได้กลายเป็นระบบอันคงที่ ที่ถูกลั่นไกโดยผู้คนและสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ อันนำไปสู่การแสดงออกหรือพฤติกรรมที่สามารถคาดเดาได้

ทุกการกระทำคือ บทตอนแห่งกรรม การดื่มกาแฟหนึ่งถ้วย ก็คือหนึ่งบทตอนแห่งกรรม เนื่องด้วย ทุกการกระทำก่อให้เกิดความทรงจำ และความทรงจำนั้นมีความสามารถ หรือศักยภาพที่จะก่อให้เกิดความปรารถนา และความปรารถนาก็ก่อให้เกิดการกระทำอีกครั้ง

ถ้าคุณหยุดตัวเองลงชั่วขณะ แล้วมองย้อนกลับไป เพื่อให้เห็นขณะของการตัดสินใจเลือกที่คุณได้ทำลงไป ในชั่วขณะของการเห็นนั้น คุณได้นำพาตนเองเข้าสู่ขบวนการทั้งหมดในการปรับสภาวะที่ขาดสติไปสู่สภาวะแห่งการมีสติ ซึ่งกระบวนการตัดสินใจเลือกอย่างมีสติ และการเห็นซึ่งขณะของการตัดสินใจนี้ เป็นสิ่งที่มีพลังอำนาจอย่างมาก


. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

โชปรา ยังคงเอามิติการมองว่าทุกสิ่งคือพลังงาน มาช่วยทำให้ผมเกิดมุมมองเรื่องกรรมเป็นรูปธรรม ที่ทำให้เห็นภาพการส่งผลต่อกันได้ชัดเจนขึ้น

แต่ก่อนหน้านั้น ผมเคยลองนั่งพิจารณา “ระบบหรือกลไกการเกิดกรรม” ไว้เป็น “สมมุติฐาน” ส่วนตัว เพื่อสร้างความเข้าใจ เชิงหาต้นเหตุ หรือต้นตอ เพื่อจะได้รู้ทัน (เอาแบบแค่ชาตินี้) ไว้เหมือนกัน ซึ่งเป็นแค่สมมุติฐานของผมเอง ถือว่าเล่าสู่กันฟังก็แล้วกันครับ และถ้ามีผู้รู้ ก็อยากให้กรุณาช่วยแสดงความเห็น เพื่อขยายความเข้าใจให้ผมด้วย

ตามที่พระพุทธเจ้าบอกว่า กรรม นั้นมี 3 อย่างคือ “มโน วจี กาย” ซึ่งเริ่มที่ “มโน” ผมเลยนึกถึง กระบวนการมาตรฐานหลักของผม ที่เคยเล่าเอาไว้ข้างบน แต่ขอยกมาไว้ตรงนี้อีกที ซึ่งกระบวนการนี้เป็นข้อสรุปของผมเรื่องการทำงานของชีวิตเรา ซึ่งผมพิจารณาเอาจากระบบขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แต่ผมลองเอามาจัดลำดับเรียงขั้นตอนใหม่เป็น รูป วิญญาณ สัญญา สังขาร เวทนา ได้คร่าวๆ คือ

1. “รูป” ขั้นการรับรู้โดยผ่านอายตนะ หู ตา จมูก ลิ้น กาย คือ ได้ยิน ได้เห็น ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส
2. “วิญญาณ” ขั้นที่จิตรับรู้หลังการสัมผัสนั้น ซึ่งก็มีวิญญาณรับรู้ตาม อายตนะนั้นๆ
3. “สัญญา” ขั้นการนำข้อมูลในฐานความจำ ที่สะสมไว้ มา support การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ชิม สัมผัส นั้น เกิดเป็นการจำได้หมายรู้ขึ้น (ที่ผมไม่รู้ว่า ฐานข้อมูลนี้ ถูกเก็บไว้ตรงไหน)
4. “สังขาร” ขั้นการประมวลผลข้อมูลของ สิ่งที่ได้เห็นหรือสัมผัสใหม่นั้น กับฐานข้อมูลเก่าทั้งหมดที่เรามี โดยเฉพาะข้อมูลเชิงความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งนั้นที่เคยมี ซึ่งทำให้เกิดการปรุงแต่ง สิ่งใหม่นั้นจนหนำใจ และสรุปหรือ “ตัดสิน” สิ่งนั้นเอาไว้เป็นฐานข้อมูลใหม่ ความเชื่อใหม่ ให้ยึดถือต่อไป
5. “เวทนา” ขั้นเกิดเป็นความรู้สึก ชอบ-ไม่ชอบ พอใจ-ไม่พอใจ รัก-เกลียด กลายเป็น ความสุข-ความทุกข์ ต่อสิ่งนั้น เกิดเป็นกิเลส ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ต่อไป

(ผมว่า ขั้นที่ 1 นั้น เปรียบไปเหมือน hardware ส่วน ขั้น 2-3-4-5 นั้น เปรียบไปเหมือน software)

ผมคิดเอาว่าขั้น 1-2-3 ยังไม่น่าทำให้เกิดกรรม ผมเลยนึกว่าจุดเริ่ม ที่จะทำให้เกิด “กรรม” คงเริ่มตรง ขั้นที่ 4 ขั้นการประมวลผล แล้วปรุงแต่งความคิด แล้วสรุปเป็นขั้นที่ 5 เกิดเป็นความรู้สึก ชอบ-ไม่ชอบ พอใจ-ไม่พอใจ รัก-เกลียด สุข-ทุกข์ อันนำไปสู่การ “พูด” และ “กระทำทางกาย” รวมทั้ง การเกิดภพ ชาติ

ผมสังเกตว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างกรรม ในชีวิตน่าจะมี 2 ส่วน คือ ฐานข้อมูลของเราที่เคยสะสมเอาไว้จากอดีต ที่ถูกนำมาประมวลผล หรือปรุงแต่ง และการประมวลผล หรือปรุงแต่ง ของเรา

ผมเคยจำแนกฐานข้อมูลทั้งหมดที่เราบันทึกสะสมเอาไว้จากอดีต (เฉพาะชาตินี้) ว่า มีข้อมูลหลากหลายประเภท ผมแบ่งคร่าวๆ ได้ ดังนี้
1. ข้อมูลที่เป็นสัจจะความจริงแท้ เช่น หลักธรรม
2. ข้อมูลความจริงของโลกหรือสมมุติโลก เช่น ผมชื่อ นายนันท์ เป็นผู้ชาย เป็นคนไทย
3. ข้อมูลที่แนบความชอบไม่ชอบของเราเอาไว้ด้วย อันนำไปสู่ กิเลส โลภะ โทสะ โมหะ เช่น ผมชอบผู้หญิงสวย เป็นต้น

ข้อมูลชนิดที่ 3 นี่อันตรายที่สุด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ หากมองอีกมิติหนึ่ง มันก็คือภาพรวมของ “อัตตา” ของเรา ที่ห่อหุ้มเรา ที่เราเอาไว้ตัดสินสิ่งต่างๆ ในชีวิตเรานั่นเอง

ทีนี้ทุกครั้งที่มีการสร้างกรรม หรือเลือก (ในแบบที่โชปราบอก) ขึ้นเมื่อใด โดยใช้ระบบอัตโนมัติ (ไม่รู้ตัว) ก็จะมีการประมวลผลจากฐานข้อมูลทั้งหมด ที่เกี่ยวพันกับสิ่งนั้น เรื่องนั้น หรือเหตุการณ์นั้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม แล้วสรุป ซึ่งมักจะเกิดเร็วมากแบบเสี้ยววินาที ซึ่งเรามักถูก กิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ชักนำในการตัดสินใจเลือกนั้น

ส่วนการสร้างกรรมแบบรู้ตัว นั้น คือแนวทางมาตรฐานสากล ที่ผมก็กำลังฝึกหัดอยู่ ซึ่งผมว่ามี สภาวะการรู้ตัว อยู่ 2 ระดับ

ระดับที่ 1 รู้ตัวแบบมีสติ เริ่มตั้งแต่ในระดับใช้เหตุผล ใช้การประมวลผล ด้วยสมอง ซึ่งการคลายตัวจากการชักนำของ กิเลส โลภะ โทสะ โมหะ นั้น จะเกิดมากหรือน้อยก็ขึ้นกับระดับสติ และปัญญาที่เกิดมีในขณะนั้น

ระดับที่ 2 รู้ตัวแบบสมบูรณ์ หรือเป็นพัฒนาการสูงสุดของแบบระดับที่ 1 น่าจะเป็นสภาวะการเลือกแบบที่ถ้าเป็น “เต๋า” เขาก็จะบอกว่าเปรียบเหมือน การเติบโตขึ้นของต้นไม้ หรือเรียกว่าไม่มีการเลือกอีกต่อไป ที่ไม่ต้องเลือกเพราะมันไม่มี 2 หรือ 3 ให้เลือก มันไม่มีการแบ่งแยก ทั้งหมดเหลือเพียง(วิถี)หนึ่งเดียว ทั้งนี้ อาจพูดอีกนัยหนึ่งว่า เกิดจากไม่มีปัญหามาปรากฏให้ต้องเลือกอีกต่อไป หรือหากเกิดการเลือก ก็เป็นการเลือก คิด พูด ทำ แบบไม่เกิดผลของกรรมอีกต่อไป (เป็นเรื่องเดียวกับ การทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ของท่านพุทธทาส)

ซึ่งผมคิดว่า น่าจะสอดคล้องกับที่โชปราพูดเอาไว้ในหนังสือ ถึงเรื่องหนทางในการบริหารหรือจัดการกับกรรมในอดีต โดยเฉพาะเรื่องการก้าวขึ้นอยู่เหนือกรรม

บทสรุปทั้งของโชปรา และพระพุทธเจ้า มีจุดสุดท้ายอยู่ตรงที่ การฝึกดำรงสติรู้อยู่กับปัจจุบันขณะนั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้ ผมว่าก็เป็นวิธีการหลักในการไขเข้าสู่ กฎทุกข้อ ทั้ง 7 ข้อของโชปรา และทุกกฎหรือหลักธรรม ของพระพุทธเจ้า ของทั้งพระเจ้า ทั้งเต๋า ทั้งสภาวะอันเป็นเอก ทั้งหลาย เรียกว่าเป็นกุญแจวิเศษ ไขได้ทุกสถาน

ภาพรวมความเข้าใจของผม เรื่องกฎแห่งกรรมมีแค่นี้ครับ แล้วจะมาต่อเรื่อง กฎแห่งการพยายามให้น้อยที่สุดครับคุณนีโอ งวดหน้าครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 27/03/2009
อันที่จริง 7กฎด้านจิตวิญญาณฯ นี้อ่านมาแล้วก็2-3รอบ แต่เมื่อคุณนันท์ได้นำมาแบ่งปันก็ตั้งใจอ่านอย่างสุดๆ อ่านแบบละเลียดแม้ต้องใช้ความเงียบ(จิตสงบ)เพราะบางประโยค บางบรรทัดต้องไต่ระดับในการทำความเข้าใจ อาจเป็นเพราะยังด้อยในระดับสติปัญญา (แม้คุณนันท์จะอธิบายแบบง่ายๆอย่างตั้งใจสุดๆเช่นกันก็ตาม) และปรารถนาที่จะทำเข้าใจแบบชนิดที่ต้องใช้ภาษาพูดว่า...ให้Getเข้าไปในไส้..

เมื่อเกิดความเข้าใจจึงสามารถนำมาปฎิบัติตามได้อย่างง่ายขึ้น เข้าใจในหลักพุทธศาสนาง่ายขึ้น ก่อให้เกิดผลจากการทำงานด้วยจิตเงียบอย่างได้ผลลัพธ์มากขึ้น เหนื่อยน้อยลง มหัศจรรย์ที่เกิดก็คือ..ความสุข ความสงบแบบลึกๆนิ่งๆ

นอกจากนั้นยังทำให้เกิดความรู้สึกกระตือรือล้นที่จะหาหนังสือแนวปรัชญาแบบหลากหลายมาอ่านเพิ่มเพราะรู้สึกว่าใฝ่รู้มากขึ้น ผิดจากเดิมที่รู้สึกว่ามันไกลตัว และทำความเข้าใจยาก

ขอบคุณ คุณนันท์ที่ได้เปิดโลกทัศน์ให้ เมื่อวานและวันนี้เลยได้ไปหอบหิ้วหนังสือจากงาน สัปดาห์หนังสือฯ มาหลายสิบเล่ม

ขอบคุณ คุณนันท์ที่ทำให้มีโอกาสฝึกมีสติอยู่กับปัจจุบันได้ง่ายขึ้น

ขอบคุณ คุณนีโอและทุกท่านค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : Jang ตอบเมื่อ : 28/03/2009
เอาถึงขนาด get เข้าไปในใส้ เลยเหรอครับคุณ jang ผมเองก็ไม่รู้ตัวหรอกว่าที่ผมเล่ามุมมองมานี้ มันอ่านแล้วยิ่งทำให้เข้าใจ หรือยิ่งทำให้งงไปกันใหญ่ แต่หวังว่าจะนำไปสู่ ความสุข ความสงบ แบบลึกๆ นิ่งๆ ของคุณ jang ได้บ้างนะครับ

ดีพัค โชปรา บอกว่า . . .

ต้นหญ้าไม่ได้พยายามที่จะเติบโต มันเพียงแค่เติบโตขึ้นมาเอง
ปลาไม่ได้พยายามที่จะว่ายน้ำ มันเพียงแค่ว่ายเท่านั้นเอง
ดอกไม้ไม่ได้พยายามที่จะบาน มันเพียงแค่บาน
นกไม่ได้พยายามที่จะบิน มันเพียงแค่บิน

มันเป็นธรรมชาติของดวงอาทิตย์ที่จะส่องแสง
มันเป็นธรรมชาติของดวงดาวที่จะเปล่งประกายระยิบระยับ
และมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะได้ทำความฝันของตนเองให้ปรากฏรูปขึ้นทางกายภาพ ได้อย่างง่ายดายและโดยไม่ต้องพยายาม

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

พลังสติปัญญาของธรรมชาติ กระทำการโดยไม่พยายาม ไม่วิตกกังวล ด้วยความกลมกลืน และความรัก

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

การให้ความสำคัญกับอัตตาของตน เป็นการสิ้นเปลืองพลังงานอย่างมหาศาล เมื่อใดที่คุณมุ่งยึดถือในอัตตาของตนเป็นหลัก เมื่อใดที่คุณแสวงหาซึ่งอำนาจและการควบคุมอยู่เหนือผู้อื่น หรือมุ่งแสวงหาการยอมรับจากผู้อื่นเมื่อนั้นคุณได้ใช้พลังงานไปในทางที่สูญเปล่า

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

นั่นเป็นประเด็นหลักๆ ของเนื้อหาของ “กฎแห่งการพยายามให้น้อยที่สุด” มีหลายท่าน อ่านกฎข้อนี้แล้วตั้งคำถามกับผมว่า มันแปลกๆ ผิดปกติหรือเปล่า เกิดมาก็มักได้ยินแต่ให้เรารู้จักการมีความพยายามให้มาก เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกสอนให้มีทัศนคติเช่นนั้น จนตอนหลังผมเลยพยายามหาคำมาแทนคำว่า “พยายาม” เพื่อเอาไว้ใช้กับตัวเอง โดยเปลี่ยนเป็นว่า ให้มี “ความเพียร” แล้วแยกใช้คำว่า “ความพยายาม” ให้ชัดเจนว่ามันเป็นอีกความหมายหนึ่ง

มิติความหมายของคำว่า “พยายาม” ที่ผมแยกไว้เป็นส่วนตัว ที่สอดคล้องกับเรื่องนี้ คือ
หมายถึงการกระทำใดๆ ที่ทำโดย “มีความรู้สึก” ว่าต้อง “ฟันฝ่า” อุปสรรค ทั้งทางกาย ทางใจ อันเป็น “มุมมองที่สร้างขึ้นเอาไว้เอง” จากฐานของกิเลส จากโลภะ โทสะ โมหะ รวมทั้งความกลัว ที่ว่าผลจะไม่เป็นไปอย่างที่คิด และหวัง (เรื่องนี้สัมพันธ์กับเรื่อง “กฎแห่งความมุ่งมั่นและความปรารถนา” ที่จะเล่าต่อๆ ไป)

เมื่อเกิดความกลัวก็เกิดวิตกหรือกังวล ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของความคิดปรุงแต่ง อันสืบเนื่องจากการไม่ว่างจากอัตตา เรื่องเดียวกันกับเนื้อหา “กฎแห่งกรรม” ที่ผมเล่าไว้ข้างบนนั่นเอง

แล้วผมก็เลยแยกการกระทำใดๆ ที่กระทำโดยไม่มีองค์ประกอบดังกล่าวเหล่านั้น ว่าเป็น “ความเพียร” แทน คือ การกระทำที่มีสติทำไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ “เห็นทัน” การดำเนินไปของสิ่งที่ทำนั้น ผมชอบเอาคำว่า just do it (ตามคำโฆษณาของ ไนกี้) เตือนตนเอง แล้วก็ตั้งสติ ตั้งอกตั้งใจ มีสมาธิทำไป

ทุกท่านคงมีความเห็นเหมือนกับผมว่า กฎข้อนี้มีความเป็นนามธรรมอยู่มากๆ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าจะทำความเข้าใจได้ใน 2 ระดับ คือ
1. ระดับการใช้ความคิดที่เป็นตรรกะหรือเหตุผล
2. ระดับสภาวะทางจิต

ระดับแรก เชิงสร้างความเข้าใจด้วยความคิด เพื่อพิจารณาเห็นเหตุนำไปสู่ผล ซึ่งต้องขอออกตัวว่ามันจะวนเวียนซ้ำกับเรื่องเดิมๆ ก่อนหน้านี้ เพราะว่าเหตุของปัญหานั้น มันล้วนแล้วแต่มาจากรากเดียวกัน คือระบบปรุงแต่งของจิตชนิดที่มีอัตตา

ขอย้อนกลับไปเรื่องที่ท่านพุทธทาสบอกว่า “จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง”

คำถามคือ ว่างจากอะไร ? คำตอบคือ ว่างจากตัวตน หรือว่างจากการมีอัตตา หรือ คำของท่านพุทธทาส ที่เราคุ้นกันเป็นอย่างดี คือ ว่างจากตัวกูของกู ว่างจาก กิเลส ว่างจากความกลัว ว่างจากสิ่งที่กำลังทำให้จิตขุ่นมัวทั้งหลาย

เมื่อว่างจากสิ่งดังกล่าว ก็จะตาสว่าง เกิดปัญญา ทำให้เราเห็นทั้งหนทาง ความจริงตรงหน้า รวมทั้งวิธีที่ควรเป็นไป ไม่มีภาพลวงตาหรือม่านบังตา อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนระหว่างการกระทำ

หากพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ เป็นอาการที่เราไม่สร้างอุปสรรคขึ้นมาเอง จากขบวนการปรุงแต่งของจิต จนทำให้ตัวเองต้องคอยคิดหาหนทาง วิธีหลบหลีก ต่ออุปสรรคที่สร้างขึ้นเอาไว้ในใจนั้นเอง และบางครั้งสิ่งที่สร้างขึ้นไว้ในใจนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดรูปธรรมหรือสถานการณ์ภายนอก ที่กลายเป็นปัญหาหรืออุปสรรคให้ต้องแก้ไขตามมาเสียเอง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นต้นเหตุหลัก ให้เราต้องเหน็ดเหนื่อย เสียพลังงาน จนเป็นที่มาของความรู้สึกว่า ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ตามความหมายนี้

การลดละสิ่งที่อัตตาสร้างขึ้นไว้ ทั้งในรูปของ โลภะ โทสะ โมหะ หรือความวิตก ความกลัว ก็จะลดการใช้พลังงานไปมหาศาล หากจะยังมีความพยายามอยู่บ้างก็จะอยู่ในระดับที่น้อยที่สุด เรียกว่าเท่าที่จำเป็น

ผมชอบประโยคของ ดอน จวน ที่โชปรา ยกมาประกอบไว้ที่ว่า

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

พลังงานส่วนใหญ่ของเราถูกใช้ไปในการให้ความสำคัญกับตัวเอง ถ้าเราสามารถลดความสำคัญบางอย่างของสิ่งนั้นลงไปได้ สิ่งมหัศจรรย์สองสิ่งจะบังเกิดขึ้นกับเรา
สิ่งแรก คือ เราจะปลดปล่อยพลังงานของเราให้เป็นอิสระ จากการพยายามที่จะคงไว้ ซึ่งความคิดอันลวงตาเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของเราและ . .
สิ่งที่สองคือ เราจะทำให้ตนเองมีพลังงานอย่างเพียงพอ ในการยึดครองสภาวะแห่งการดำเนินไปอันยิ่งใหญ่ของจักรวาล

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

สิ่งที่สอง ที่ดอน จวน พูดถึงก็คือ ระดับที่สองที่ผมจะเล่าต่อนี่แหละครับ

ระดับที่สอง คือระดับสภาวะทางจิต (ซึ่งมีเนื้อหาสัมพันธ์กับความเห็นเรื่อง “กฎแห่งกรรม” เช่นกัน) เป็นการกลับสู่สภาวะจิตเดิมแท้ หรือจิตอันบริสุทธิ์ ที่มีองค์คุณแห่งการรู้ทัน หรือเห็นทัน ที่ใช้เป็นกุญแจวิเศษไขได้ทุกสถาน เป็นเรื่องเดียวกับ “การดำรงสติรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ” หรือ “อยู่ในวิถี” แห่งปัจจุบันขณะ เมื่อนั้นจิตเราย่อมเป็นหนึ่งเดียว ทั้งหนึ่งเดียวกับสิ่งที่กระทำ หนึ่งเดียวกับ “ธรรมหลัก” แห่งการดำเนินไป หรือเป็นหนึ่งเดียวกับพลังที่ทำให้จักรวาลทั้งปวงดำเนินไป เป็นสภาวะที่ก้าวพ้นไปจากการแบ่งแยก เปรียบเทียบ หรือตัดสินทางระดับสมอง เป็นวิถีที่ทุกสิ่งที่ถูกที่ควรและเหมาะสมจะถูกจัดสรรขึ้นเอง บางทีก็ใช้คำว่า เหมือนพระเจ้าทำงานผ่านเรา ถ้าเป็น “เต๋า” ก็บอกว่ากระทำโดยอยู่ในเต๋า ไม่มีตัวตนผู้กระทำ

โชปรา อ้างถึงคัมภีร์พระเวท ว่าเมื่อบรรลุถึงที่สุดแล้ว จะได้รับผลสำเร็จโดยไม่ต้องทำสิ่งใด ผมเลยประเมินสิ่งที่โชปราพูดว่า จากกรรมทั้ง 3 คือ มโน วจี และกายกรรม นั้น คงจะกระทำเพียงแค่ มโนกรรม หรืออาจแค่ วจีกรรม ไม่ต้องใช้กายกรรม พลังงานแห่งความปรารถนาใดๆ ผ่านมโนกรรมนั้น ก็ส่งผ่านพื้นผิวอันเรียบนิ่ง ใสบริสุทธิ์ของจิต สู่จิตสำนึกของจักรวาล (ดังเรื่องการโยนก้อนหินลงบนผิวน้ำอันสงบนิ่ง ที่โชปราพูดไว้ในกฎข้อที่ 1) ได้อย่างชัดเจน และมีอานุภาพมากพอที่จะส่งผลให้เกิดสถานการณ์หรือเหตุการณ์ ที่ทำให้สิ่งนั้นบรรลุผลสำเร็จได้เอง หรือหากมองอีกมุมหนึ่งก็คือ เมื่อจิตนั้นว่างบริสุทธิ์ ก็ไม่สร้างอุปสรรคทั้งทางใจและทางรูปธรรม ขึ้นมาขวางกั้นข้อมูลและพลังงานความปรารถนาของตนเอง ทุกสิ่งจึงบรรลุผลได้โดยง่ายดาย

ในทางปฏิบัติ ความแตกต่างของการดำเนินไปหรือการกระทำใน 2 ระดับนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่า ในระหว่างกระทำ และตั้งสติเพื่อมีความรู้ตัวนั้น จิตเราสงบนิ่ง ใสบริสุทธิ์ได้ต่อเนื่อง มีความแหลมคม ว่องไว ลึกซึ้งระดับไหน จนอาการปรุงแต่งในขณะดำเนินไปนั้นไม่อาจเกิดได้เลยหรือไม่ จนทำให้ตาในสว่างกระจ่างสูงสุดทางปัญญาแค่ไหน (เป็นเรื่องเดียวกันกับ การสร้างกรรมแบบรู้ตัว ซึ่งผมได้ให้ความเห็นไว้ใน “กฎแห่งกรรม" ข้างบนว่ามี สภาวะการรู้ตัว อยู่ 2 ระดับ เหมือนกัน)

ประเด็นอันเป็นหัวใจหลัก ของผมเกี่ยวกับเรื่อง “การพยายามให้น้อยที่สุด” มีแค่นี้ ซึ่งผมเองก็อยู่ในระหว่างฝึกฝนการเห็นทัน การรู้ให้ทัน ไปเรื่อยๆ ตามนิสัยที่ยังอ่อนการมุ่งมั่น ตั้งมั่น และเป็นระบบมากนักครับ

ผมมีเกล็ดมุมมองที่ทั้งซ้ำๆ และสืบเนื่องเกี่ยวกับ คุณลักษณะของ “การพยายามให้น้อยที่สุด” เพิ่มเติมดังนี้ครับ

“การพยายามให้น้อยที่สุด” นั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดจาก “การพยายามที่จะไม่พยายาม”
มันเป็นเรื่องของการใช้ความเพียร ฝึกก้าวข้าม (เห็นทัน) ความคิด (หลอกลวง) ของตัวเอง
มันเป็นการฝึกเอาสิ่งรกรุงรังทางความคิดออกไป ความคิดที่มีฐานมาจากความรู้ ความเชื่อ และความรู้สึก จากอดีตที่เราสั่งสมไว้ แล้วเราประมวลผลและปรุงแต่ง มาคาดการณ์สิ่งที่เรากำลังเผชิญ แล้วเกิดเป็นความวิตกกังวล ความกลัว หรือความยึดติดอันใหม่ ขึ้นมาแบบไม่รู้ตัว หรือบางทีเราคิดว่าเรารู้ตัว แล้วบอกว่า ก็มันเป็นความจริงนี่นา ซึ่งมันมักเป็นความจริงในกรอบทางโลก หรือสมมุติโลก หรืออัตตาของเรา

หากมองอีกแบบหนึ่ง เมื่อเราก้าวข้ามความคิด (หลอกลวง) ของอัตตาได้ เราก็เลยจะไม่เคยเห็นสิ่งใดเป็นอุปสรรคอีกต่อไป สิ่งที่เราเคยเห็นเป็นอุปสรรคก็อาจจะแปรเปลี่ยนเป็น ข่าวสาร เป็นเบาะแส หรือโอกาส รวมทั้งเราก็จะมีความสามารถในการเห็น ข่าวสารหรือโอกาส หรือเบาะแส ที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้นมากขึ้น ชัดเจนขึ้น บ่อยขึ้นๆ

กฎข้อนี้ หากพูดกันในระดับสมบูรณ์สูงสุด เป็นเรื่องของการก้าวเข้าไปอยู่ในวิถี อาการที่ไม่ต้องเกิดการใช้ความพยายาม หรือ สภาวะความรู้สึกว่าทุกสิ่งไหลลื่น คล่อง ง่ายดาย ไม่มีอุปสรรค เป็นคุณลักษณะของการที่ชีวิตได้กลับสู่วิถีแห่งความเต็มสมบูรณ์ โชโปรา เรียกสภาวะนี้ว่า เป็นวิถีแห่งการเดินทาง เป็นคุณลักษณะของการประสบความสำเร็จที่แท้จริง

การพูดเรื่องเกี่ยวกับเรื่อง “การพยายาม” นี้ ถ้าเป็นพวก “เซน” หรือ “เต๋า” ก็จะบอกว่า จิตบริสุทธิ์อยู่แล้ว จะต้องมาพยายามทำให้มันบริสุทธิ์ทำไม ใครคิดอย่างนั้นบ้า คือ เป็นวิธีที่ให้ก้าวข้ามไปเลย ไม่ให้คิดว่ามันมี มันมีเพราะเราคิดว่ามันมี หรือเลยไปถึงว่างสุดๆ ขนาดไม่มีแม้แต่จิต ถ้ามีจิตก็ยังมีตัวตน หรืออย่างง่ายๆ ก็คือ ไปคิดทำไมว่าต้องพยายาม

ผมคิดว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องเดียวกับ “การกระทำโดยไม่กระทำ” คือ ไม่กระทำทางใจเรื่องปรุงแต่ง จิตว่าง ทุกอย่างก็จึงดำเนินไปโดยง่ายดาย คล้ายไม่ต้องกระทำ หรืออาจถึงกับไม่ต้องกระทำเลยจริงๆ

อีกเรื่องคือ เมื่อใดที่เราได้ทำงานที่เรารัก ทำด้วยความสุข (ตาม “กฎแห่งธรรมะ”) ความพยายามก็จะไม่มีความหมายในทางลบอีกต่อไป และเราจะมีโอกาสสูงที่จะได้ก้าวเข้าไปอยู่ในวิถี หรือสภาวะดังกล่าว เพราะพลังของความรัก (อันบริสุทธิ์) เป็นสะพานเชื่อมชั้นดีให้กับเรา แต่เราก็ยังคงต้องมีสติ ระวังการยึดติด หรือการปรุงแต่ง ไว้ตามสมควร

ผมชอบอีกข้อความหนึ่งที่โชปราพูดเอาไว้ในกฎข้อนี้ คือ

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

สิ่งสำคัญที่คุณควรเข้าใจ ก็คือ คุณสามารถที่จะมีความปรารถนาถึงสิ่งต่างๆ ในอนาคต ที่แตกต่างไปกว่าที่กำลังเป็นอยู่ได้ แต่ ณ ช่วงขณะเวลานี้คุณจะต้องรู้สึกยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันกำลังเป็นอยู่เสียก่อน

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ผมอยากให้ความเห็นเสริม เพื่อขยายความเรื่อง “การยอมรับ” นี้ (อาจไม่เกี่ยวกับเรื่อง “การพยายาม” โดยตรง) ว่ามีความสำคัญและเป็นรากของปัญหา (ทางใจ) ในทุกๆ เรื่อง แต่หากเมื่อใดก็ตามที่เราสามารถยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็นอยู่ในขณะนี้ได้อย่างแท้จริง ไม่ว่ามันจะเป็นอย่างไร (ยอมรับอย่างสุขใจไม่ใช่แบบท้อแท้) แสดงว่าเรารู้จักยอมรับสิ่งที่เป็นมาทุกอย่างก่อนหน้านี้ เรายอมรับข้อดี ข้อไม่ดี ทั้งสุข และทุกข์ ก่อนหน้านี้ทั้งหมด และเห็นว่ามันนำมาสู่สิ่งที่เราเป็น ณ ปัจจุบันนี้ เราจะเริ่มภูมิใจตัวตนเองได้ ขอบคุณที่เกิดมาได้ นั่นหมายรวมถึงว่าเราเริ่มจะรู้จักตัวตนเองได้อย่างแท้จริง ความต้องการหรือความอยากนับจากนี้ไป จึงจะไม่ได้เกิดจากรากของสิ่งที่เคยเป็นปัญหา เพื่อเอามาเติมเต็มสิ่งที่ขาด หรือเพื่อวิ่งหนีบางสิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหา อันจะนำเราไปสู่ปัญหาอีกต่อไป “การพยายาม” ในความหมายทางลบ ก็จะไม่เกิดมี มันจะกลายเป็นไปในทางที่เป็นบวก และเพื่อสิ่งที่ดีในชีวิตของทั้งตนเองและผู้อื่น ผมเข้าใจว่าอย่างนั้นครับ

สุดท้าย “การพยายามให้น้อยที่สุด” นี้ ทำให้ผมนึกถึงตอนเรียนหนังสือ ที่มีสถาปนิกระดับ master ชื่อ เลอ คอร์บู ซิเออร์ ซึ่งเป็นเจ้าของปรัชญาในการออกแบบอาคารด้วยแนวคิด “less is more” ซึ่งยังโด่งดังเป็นอมตะจนถึงทุกวันนี้ ผมว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อเอามาเปรียบเทียบกับเรื่องนี้ มันคงหมายถึงให้ผมเตือนตนเองให้จง “คิด พูด ทำ เท่าที่จำเป็น” ซึ่งที่ผมเล่ามาในกระทู้นี้ ผมชักไม่แน่ใจว่า ผม คิด พูด ทำ เกินจำเป็นไปแล้วหรือเปล่า

แต่ก็จะเล่าต่อไปครับ ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 29/03/2009
เมื่อนายขมังธนูยิงโดยไม่หวังอะไร
ย่อมใช้ความชำนิชำนาญได้เต็มที่
ถ้ายิงเพื่อโล่ห์ทองเหลือง
ย่อมประหม่าเสียแต่แรกแล้ว
ถ้ายิงเอาทองเป็นรางวัล
เลยตาบอดเอาด้วยซ้ำ
หาไม่ก็เห็นเป้าเป็นสองเป้า
เพราะใจไม่อยู่กับตัว

ความชำนาญมิได้เปลี่ยนแปลงไป
แต่รางวัลทำให้แบ่งตัวเขาออกเป็นสอง
เขาพะวง เขาคิดในเรื่องเอาชนะ
ยิ่งกว่าคิดที่จะยิง
ความต้องการเอาชนะ
ทำให้อำนาจของเขาขาดหายไป

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

จาก “มนุษย์ที่แท้” มรรควิถี ของจางจื้อ แปลโดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ขอเอามาฝากเพิ่มอีกนิด ประกอบเรื่อง “การพยายามให้น้อยที่สุด” ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 29/03/2009
ไม่ทราบคุณนันท์ได้ชม Tiger Wood เช้านี้(น่าจะมีreplayอีกครั้งในคืนนี้) ที่ชนะได้แชมป์อีกแล้วในรายการล่าสุดของ Arnold Palmer หรือเปล่าคะ เขาสามารถเฉือนคู่ต่อสู้ได้จากการพัทท์ลงในหลุมสุดท้ายซึ่งเขาทำได้ซ้ำอีกเหมือนปีที่แล้ว แต่อาการที่เขาสะใจ"มากๆ" ที่พัทท์ได้ดูจะไม่เหมือนการ"ใช้ความพยายามให้น้อยที่สุด"เท่าไหร่นัก ส่วนความมุ่งมั่นนั้นดูเกิน100%แน่นอน คุณนันท์มีความเห็นอย่างไรบ้างมั๊ยคะว่าในเรื่องนี้ และคิดว่าไทเกอร์ทำได้อย่างไร
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 30/03/2009
คุณนพรัตน์ครับ ก่อนให้ความเห็น ขอบรรยายเกมการแข่งขันที่พึ่งดูจบไป ให้ได้บรรยากาศร่วมหน่อยนะครับ

สามวันแรกผมไม่ได้ตามดูเลย แต่จบการแข่งขันวันที่สาม ผมเข้าใจว่าไทเกอร์ตามผู้นำอยู่ 5 สโตรก

เมื่อสักครู่พึ่งได้เปิดดู replay ของวันที่สี่ เปิดโทรทัศน์มาผมไม่รู้ว่า หลุมที่เท่าไหร่ น่าจะ 13 หรือ 14 เห็นไทเกอร์มี 4 อันเดอร์ และไม่รู้ว่าเป็นอันดับที่เท่าไหร่ ชอตที่ 2 ตีตกทรายใกล้ขอบบังเกอร์ ระเบิดทรายขึ้นมา ตกห่างหลุมประมาณคันธงกว่า ไม่ทันได้ดูว่าพัตเป็นอย่างไร

ได้กลับมาดูอีกทีหลุม 15 พร้อมๆ กับเปิดมาอ่านกระทู้นี้พอดี จึงรู้เฉลยตามที่คุณนพรัตน์เล่ามา (หมดหนุกเลย .. พูดเล่นครับ) พอรู้ว่าไทเกอร์ทำได้อีกแล้ว เลยตื่นเต้นอยากดู ตอนที่อ่านของคุณนพรัตน์จบ พอดีไทเกอร์พัตที่หลุมนี้ ผมว่าระยะน่าจะเกือบ 3 คันธง แล้วพัตลง ขึ้นเป็น 5 อันเดอร์ เป็นผู้นำร่วม ผมว่านี่ก็ไทเกอร์ของแท้แล้วนะ

หลุม 16 พาร์ 4 ไกล 467 หลา หลุมยากสุดของสนาม ไทเกอร์ ทีออฟ เข้ารัฟเลยยากเพราะเหลือระยะไกลต้องตีข้ามน้ำหน้ากรีน ยากที่จะทำออนในชอต 2 คุณโอแฮร์ผู้นำร่วมอยู่กลางแฟร์เวย์ ได้เปรียบ ถ้าชอตที่ 2 ตีออน

ชอตที่ 2 คุณโอแฮร์กลับมาพลาดตีตกน้ำหน้ากรีน ดวงของไทเกอร์จริงๆ ไทเกอร์เลยเลือกตีชอต 2 ออกมาวางที่แฟร์เวย์ เพื่อตีชอต 3 ขึ้นกรีน แล้วไทเกอร์ ก็แสดงฝีมือ ตีชอต 3 ตกแบ็คสปินวิ่งเข้าหาหลุม เรียกว่าเกือบเข้าวงกิ๊ฟของบ้านเรา เลยได้พาร์ไป คุณโอแฮร์เลยออก 5 จบหลุม 16 ไทเกอร์ขึ้นนำเดี่ยว 1 สโตรก

ถึงตรงนี้ผมยังสงสัยว่าไปเสมอกันตอนไหน ถึงต้องได้ลุ้นกันมันขนาดนั้นในหลุมสุดท้าย

หลุม 17 พาร์ 3 ไกล ไทเกอร์ ตีพลาดตกทรายฝังใกล้ขอบบังเกอร์ (อีกล้ว) ต้องยืนขาเดียวระเบิดทรายตกห่าง 2 คันธง พัตเฉียดหลุม จบหลุมนี้เลยเสมอกันที่ 4 อันเดอร์

หลุม 18 ทีออฟมากลางแฟร์เวย์ทั้งคู่ คุณโอแฮร์ตีชอต 2 ออนก่อนแต่ห่างประมาณ 5 คันธง ไทเกอร์ ตีออนห่าง 2 คันธงกว่า คนพากย์ก็บอกว่าเหมือนปีที่แล้วเปี๊ยบเลย แต่เมื่อปีที่แล้วไทเกอร์ทำได้ ปีนี้ไม่รู้ทำได้อีกหรือเปล่า คุณโอแฮร์พัตไม่ลง ไทเกอร์ต้องทำพัตเดียวให้ชนะ แล้วก็ทำได้ บ้าจริงๆ เหมือนปีที่แล้วเปี๊ยบต้องทำพัตเดียวเพื่อชนะ

ไทเกอร์ทำได้เช่นเคย วันสุดท้ายตามถึง 5 สโตรก แล้วเล่นชอตมหัศจรรย์ ในวินาทีที่จำเป็นต้องทำได้ให้เราเห็น อีกแล้ว ๆ ๆ ๆ

คุณนพรัตน์ถามผมว่ามีความเห็นอย่างไร ไทเกอร์ใช้ความพยายามให้น้อยที่สุดหรือไม่ และเขาทำได้อย่างไร

ผมขอเริ่มด้วยสิ่งที่ไทเกอร์ ได้เคยบรรยายวินาทีมหัศจรรย์ของเขาเอาไว้ว่าอย่างนี้ครับ

“ถ้าจะอธิบาย ก็คือว่าลูกกอล์ฟมันไม่มีทางเลือกอื่น มันต้องลงหลุมอย่างเดียว แต่ผมก็อยากรู้สึกแบบนั้นตลอดเวลา แต่มันแค่เกิดขึ้นเอง ผมว่านะ โดยเฉพาะเวลาที่สมาธิของผมอยู่ในระดับสูงสุดตลอดไปจนจบทัวร์นาเมนท์ เวลาที่ทุกๆ อย่างเข้าที่เข้าทาง อะดรีนารีนสูบฉีด ผมเหมือนไหลเลื่อนไปกับมัน ในนาทีที่สมาธิผมอยู่ในระดับสูงสุด ผมจะเห็นทุกอย่างชัดเจน ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และพอนาทีแบบนั้นเกิดขึ้น มันเหมือนสิ่งมหัศจรรย์ ผมรู้สึกสงบเยือกเย็นที่สุด”

และอีกอันหนึ่งครับ

“ผมรู้สึกว่า ชีวิตของผมค่อนข้างเป็นสิ่งพิเศษ แต่ผมก็ไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นแบบนั้น มันเป็นเพราะสิ่งที่มันเป็น ผมเองเพียงแต่เป็นคนทำให้มันเกิดขึ้น โดยการพัตลูกที่ถูกเวลา และการตีลูกที่ดี”

ตอนที่ผมได้อ่านข้อความข้างบนนี้เป็นครั้งแรก ผมคิดว่านึกแล้วเชียว ไทเกอร์ นี่แหละ คือตัวอย่างเป็นๆ ของการมีกฎแห่งความสำเร็จอยู่ในตัว เอาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการแข่งขัน ก็คือ ทั้งกฎแห่งศักยภาพอันสูงสุดที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน กฎแห่งการพยายามให้น้อยที่สุด กฎแห่งความมุ่งมั่นและปรารถนา กฎแห่งการปล่อยวาง และกฎแห่งธรรมะ

สิ่งที่เขาบรรยายออกมานั้น ครอบคลุมเนื้อหาของกฎที่ผมยกมา เขาทำในสิ่งที่เขารัก เขามีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง ในขณะเดียวก็เป็นนักปล่อยวาง และถ้าเขาไม่ปล่อยวางชอตที่ทำผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ไว เขาไม่มีทางกลับมาสู่เกม และรักษาระดับไว้ได้ขนาดนี้ (ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่านักกอล์ฟคนอื่นมักเละแล้วเละเลย กลับมาได้ช้า)

สิ่งที่เขาบรรยาย มันบอกให้เรารู้ว่าเขาได้ ดำรงอยู่ในสภาวะสูงสุดนั้นในระหว่างการแข่งขัน เขาได้ลุถึงสภาวะที่พระเจ้าหรือจักรวาลทำงานผ่านเขา เขาแค่ตี แค่พัท ใจเขานิ่งเป็นหนึ่งเดียว ว่าง ไม่พยายาม มีความเงียบในจิต และไม่คิดอะไรขณะที่ตี แค่ just do it ตามที่ ไนกี้ ที่เป็นสปอนเซอร์ของเขาบอกเอาไว้เลย

ในวันหรือเวลาที่เราเห็นเขาทำสิ่งมหัศจรรย์ มันจะเผยออกมาให้เราสังเกตเห็นได้ผ่านทางบุคลิกอันมั่นคงของเขา หรือเวลาที่เขามีความเชื่อมั่นสูงสุด แต่ผมว่าเขาไม่ได้ทำมันได้ตลอดทุกขณะ ตามประสาปุถุชน แต่ส่วนตัวผมคิดว่าไทเกอร์เรียนรู้เรื่องสมาธิ และน่าจะในระดับสูงด้วย

ส่วนท่าทาง และอาการดีใจแบบสุดๆ นั้น ในความเห็นของผม คือสิ่งที่ไทเกอร์ ใช้เป็นจุดฝังใจ หรือฉลองชัย หรือขอบคุณ เป็นอารมณ์ของความสำเร็จสูงสุด เพื่อเอาไว้ remind เรียกกลับมาใช้ เวลาที่ต้องการเข้าสู่สภาวะมหัศจรรย์แห่งความสำเร็จ มันเป็นทั้งเครื่องหมายการค้าสำหรับคนภายนอก และผมว่าเป็นเครื่องหมายทางอารมณ์ภายในของเขาเอง

ผมว่าประเด็นเหล่านี้ คือสิ่งสำคัญที่สุด ที่นักกอล์ฟคนอื่นไม่มีอยู่ในตัว นอกเหนือจากพรสวรรค์ และการขยันฝึกซ้อมฝึกฝนทักษะ ซึ่งได้ยินว่านักกอล์ฟบางคนก็มีพรสวรรค์ หรือฝึกซ้อมหนักกว่าไทเกอร์ด้วย

คุณนีโอครับ ขอนอกเรื่องตามประสาคอกอล์ฟ แฟนไทเกอร์ วันนึงนะครับ แต่พอจะโยงกับเรื่องที่คุยค้างกันได้นะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 30/03/2009
ขอโทษคุณนันท์นิดนึงนะคะที่บอกผลก่อนทำให้หมดลุ้น แต่ใครที่เป็นแฟนไทเกอร์หากไม่ได้ดูการแข่งขัน ซึ่งไฮไลท์ก็คือตอนท้ายๆตามที่คุณนันท์บรรยาย(จนเห็นภาพพจน์แบบช็อตต่อช็อตอย่างนักกอล์ฟตัวจริง!)คงจะเสียดายแย่...พอดีดูจบด้วยความรู้สึกที่ยังทึ่งไม่หายก็มาอ่านข้อความของคุณนันท์เรื่องการใช้ความพยายามให้น้อยที่สุด เลยสงสัยว่าไทเกอร์ใช้กฏข้อนี้อย่างไร ขอบคุณคุณนันท์มากค่ะที่กรุณาอธิบายให้อย่างกระจ่างแจ้ง (เป็นการคั่นรายการแต่ก็ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกันอยู่นะคะ)
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 31/03/2009
คุณนันท์ ครับ เครื่องคอมฯที่ใช้อยู่ที่ทำงาน Security Code ค้างเป็นรหัสเดิม นานมากแล้วครับ ตั้งแต่ 25/3/52 ไม่ว่าพิมพ์ยังงัยก็ไม่ผ่านครับ เลยต้องเปลี่ยนเครื่องถึงจะพิมพ์ข้อความติดด่อได้ ไม่รู้ว่าหลาย ๆ ท่านเป็นบ้างหรือเปล่า
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 31/03/2009
ไม่เป็นไรครับคุณนพรัตน์ เกิดความอยากดูไปอีกแบบนึงครับ

เป็นความรู้ใหม่ ว่าปัญหานี้ เกี่ยวเนื่องกับ คอมพิวเตอร์เครื่องของแต่ละบุคคล จะแจ้งให้โปรแกรมเมอร์ทราบด่วนครับ ซึ่งแต่เดิมคุณนพรัตน์แจ้งให้ทราบทาง mail และพยายามแก้ไขอยู่

ขอบคุณครับคุณนีโอ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 31/03/2009
ตกลงวิธีที่ผมเคยใช้ได้ผล กับกรณี Security Code ก็ใช้ไม่ได้ผลแล้วละครับ (สงสัยว่าจะฟลุ้คอยู่สองสามครั้ง) มีข้อขัดข้องเช่นเดียวกับทุกท่านที่เล่ามา เกิดการแหยงๆ อยู่เหมือนกันว่านี่ถ้าหากเขียนอะไรยาวๆ แล้วส่งไม่ได้ และหายแว้บไปหมด จะทำอย่างไรกันดี

ผมต้องตัดสินใจ โทรบอกเด็กที่สำนักงาน ให้เขาพิมพ์ข้อเขียนของคุณนันท์ ในกระทู้นี้ เป็นเอกสาร เพื่อเอาไว้อ่านตอนที่มีเวลา และมีสมาธิ เพราะข้อเขียนของคุณนันท์ดังกล่าว ต้องใช้สมาธิพอสมควรในการอ่าน แต่ต้องยกนิ้วให้ว่ายอดเยี่ยมที่สุด การที่จะสามารถเขียนได้ในแบบนี้ ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในสิ่งที่เขียนอย่างที่เรียกได้ว่ากระจ่างแจ้ง เชื่อมโยง เป็นระบบ

ผมเสนอให้คุณนันท์ ยึดแนวที่เขียนไว้ในกระทู้นี้ เขียนเป็นหนังสืออีกสักเล่มหนึ่ง อาจตั้งชื่อว่า "The Seven Spiritual Laws Digest" หรือในชื่อภาษาไทยว่า "ถึงกึ๋นส์ 7 กฎฯ" (ฮา) อะไรประมาณนี้ ก็ทีคนอื่นเขายังมี The Srcret แล้วก็มี The Top Secret (มีสองเล่มแล้วด้วย) แล้วก็ยังมี Beyond The Secret ไหนยังจะ The Secret of The Secret และ The Secret behind The Secret รวมทั้ง "หางเครื่อง Secret" อื่นๆ ที่ตามออกมาเป็นพรวน (ฮา)

มีผู้เสนอ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ผู้แปลหนังสือของ OSHO ให้เขียนเล่าเรื่องราวประสบการณ์ของตนเองที่ได้รับแรงบันดาลใจจากข้อเขียน (ที่จริงคือคำบรรยาย) ของ OSHO ดูบ้าง ซึ่งท่านก็รับไว้พิจารณา แต่ยังไม่มีวี่แววว่าท่านจะสามารถเขียนออกมาเมื่อไหร่ ซึ่งผมคิดว่า จากข้อเขียนของคุณนันท์ในกระทู้นี้ สามารถทำให้มันเป็นจริงได้มากกว่า

ยังไม่อยากขัดจังหวะใดๆ เพราะยังอยากอ่านข้อเขียนของคุณนันท์ต่อไปอีกเรื่อยๆ เอาไว้หากเมื่อใดที่คุณนันท์คิดว่าจะยุติข้อเขียนนี้แล้ว ค่อยมาว่ากล่าวกันอีกทีนะครับ

ต้องขอขอบคุณอย่างแรง สำหรับข้อเขียนที่ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะมากพอสมควรทีเดียว จึงจะสามารถเขียนออกมาได้เช่นนี้ แต่ก็คุ้มค่ามากเหลือเกิน (เพิ่ม "ความเพียร" อีกนิด ก็อาจจะได้หนังสือที่ทรงคุณค่าอีกเล่มหนึ่งแล้วครับ เขียนเสร็จเมื่อไหร่ ผมจะไปช่วยพูดแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือให้ด้วยเลย เอาสัปดาห์หนังสือตอนสิ้นปีเป็นดีเดย์ดีไหมครับ? ดีไม่ดี จัดเสวนาแฟนานุแฟนคลับนันท์บุ๊ค ไปเสียด้วยเลย...อย่าฮาเลย เดี๋ยวหาว่าพูดเล่น!)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 01/04/2009
อ.วสันต์คะ ตอนนี้ dadeeda จองเก้าอี้แถวหน้าไว้แล้วนะคะ
ชื่อผู้ตอบ : dadeeda ตอบเมื่อ : 01/04/2009
ขอบพระคุณท่านอาจารย์ และคุณ dadeeda ครับ สำหรับโฆษณาคั่น อันแสนจะเป็นกำลังใจได้อย่างดี ส่วนชื่อหนังสือที่ท่านอาจารย์ยุยงผมนั้น ผมขอเป็นชื่อ “The Secret of The Seven Spiritual Laws” ดีไหมครับ เผื่อจะได้ขายดีๆ กับเขาบ้าง ไม่อย่างนั้นคงมีแต่หน้าม้าแถวๆ นี้ซื้อแน่ๆ เลยครับ หรืออาจไม่ซื้อเลย เพราะทุกคนบอกว่าอ่านไปหมดแล้วในเวบบอร์ด ไม่เห็นมีอะไรใหม่เลย (ขอ.. ฮา นะครับ)

กำลังนึกว่าจะเล่ามุมมองของ “กฎแห่งความมุ่งมั่นและความปรารถนา” อย่างไรดี ด้วยเหตุว่า แกนเนื้อหามันก็จะคล้ายๆ กฎที่ผ่านมา อีกเรื่องหนึ่งคือ กฎข้อนี้มีเรื่อง quantum physics ที่ผม งูๆ ปลาๆ ปนหางอึ่ง อยู่ซะด้วย คือเป็นความรู้ความเข้าใจปนเดาๆ อยู่มาก เลยไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมเล่าจะยิ่งทำให้งงมากขึ้นหรือเปล่า

ขอเล่าว่า ผมเริ่มสร้างภาพความเข้าใจในเรื่องกฎข้อนี้ว่า มีโลกอยู่ 3 มิติ
มิติที่ 1 ว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย
มิติที่ 2 โลกของพลังงาน
มิติที่ 3 โลกทางกายภาพ

ผมขอเล่าแบบย้อนกลับนะครับ โดยขอเริ่มจาก
มิติที่ 3 “โลกทางกายภาพ” ที่เรานั้นรับรู้ผ่านการสัมผัสทาง ตา ลิ้น กาย เช่น ผู้หญิงสวย ไอศกรีม หรือไม้หน้าสาม ซึ่งผมขอจัดรวมสิ่งที่รับรู้ได้ทาง หู และจมูก เช่น เสียงกับกลิ่น เอาไว้ด้วย ถึงแม้ว่ามันจะดูเป็นเชิงพลังงาน

มิติที่ 2 “โลกของพลังงาน” ในแบบที่โชปราพุดถึง คือ โลกในระดับหน่วยที่เล็กที่สุด (quantum) ซึ่งโชปราขยายความว่าเป็นโลกที่ประกอบด้วย “พลังงานและข้อมูล” ซึ่งในความเข้าใจของผม คำว่า “ข้อมูล” ของโชปราน่าจะหมายถึง เนื้อหาเฉพาะตัวของพลังงานแต่ละชนิด ที่ทำให้พลังงานแต่ละชนิดแตกต่างกัน ที่นักวิทยาศาสตร์เขามักเอามาเขียนให้เราเข้าใจในรูปของสัญลักษณ์หรือตัวเลขหรือตัวอักษร

ตัวอย่างความเข้าใจของผม เช่น ที่ครูสอนเราว่า 1 โมเลกุลของน้ำ (อันนี้โลกทางกายภาพ) ประกอบด้วย อะตอมของธาตุไฮโดรเจน 2 อะตอม และ ออกซิเจน 1 อะตอม (อันนี้โลกของพลังงาน) ซึ่งแต่ละอะตอมของไฮโดรเจน และออกซิเจน ก็แยกย่อยลงไปเป็นองค์ประกอบของ โลกในหน่วยที่เล็กที่สุด (เท่าที่นักวิทยาศาสตร์สรุปว่ารู้ ณ ตอนนี้ และเกิดฟิสิกส์ ชนิดใหม่เรียกว่า quantum physics) คือ โลกในระดับ อนุภาค จำพวก อิเล็กตรอน โปรตอน นิวตรอน เป็นต้น ซึ่งอนุภาคเหล่านี้ เป็นองค์ประกอบหลักของอะตอม และอะตอมของธาตุแต่ละชนิดก็มีองค์ประกอบของอนุภาคแตกต่างกันไป ซึ่งผมเข้าใจว่า ความแตกต่างนี้ คือ ข้อมูลหรือเนื้อหาของพลังงาน ในความหมายของโชปรา
(ผมเข้าใจของผมเอง ซึ่งไม่รู้ว่าผิดหรือถูก ขอออกตัวว่าถึงจะเรียนมาสายวิทย์ แต่สอบเอนทรานซ์ ได้คะแนนวิชาฟิสิกส์ต่ำสุดเลยครับ หากคลาดเคลื่อนขอผู้รู้ช่วยด้วยนะครับ)

โลกในระดับนี้บางทีก็อยู่ในรูปของคลื่น โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่า เจ้าอนุภาคนั้น บางทีมันก็ทำตัวเป็นอนุภาค บางทีมันก็ทำตัวเป็นคลื่น (ซึ่งน่าประหลาดและผมว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญมาก) คือ มันจะทำตัวเป็น อนุภาค หรือ คลื่น นั้น ขึ้นอยู่กับความตั้งใจในการสังเกตของนักวิทยาศาสตร์ ถ้าตั้งใจสังเกตคลื่นมันจะทำตัวเป็นคลื่น ถ้าตั้งใจสังเกตความเป็นอนุภาคมันก็จะเป็นอนุภาค คือมันมีความสัมพันธ์กับเจตนาหรือความตั้งใจของมนุษย์

โชปราเน้น พูดถึงความสัมพันธ์ของโลกในสองมิตินี้ว่า โลกทางกายภาพนั้น แท้จริงแล้วเบื้องหลังหรือเนื้อแท้ของมัน คือโลกของพลังงานนั่นเอง หากเรามองข้ามกายภาพหรือก้าวข้ามข้อจำกัดทางอายตนะของเรา เช่น ถ้าเราสามารถเห็นทุกสิ่งด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังสูง จะเห็นว่าทั้งหมด (ทั้ง ผู้หญิงสวย ไอศกรีม หรือไม้หน้าสาม) เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงถึงกันหมด ในโลกระดับหน่วยของพลังงานที่เล็กที่สุด หรือที่โชปราใช้คำว่า จักรวาลทั้งหมดเป็น สนามพลังงานและข้อมูล ดังข้อความนี้

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ รุ้งกินน้ำ ต้นไม้ใบหญ้า หรือร่างกายของมนุษย์ เมื่อเราแยกแยะเข้าไปถึงองค์ประกอบพื้นฐานตามธรรมชาติแล้ว เราก็จะพบว่ามันคือ พลังงานและข้อมูลนั่นเอง โดยสภาวะพื้นฐานตามธรรมชาติ ทุกสรรพสิ่งทั่วทั้งจักรวาลคือ สภาวะการเคลื่อนไหวของพลังงานและข้อมูล ซึ่งความแตกต่างเดียวระหว่างคุณกับต้นไม้ก็คือ เนื้อหาของข้อมูลและพลังงานในแต่ละสิ่ง

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ผมเคยคิดว่า สิ่งที่ล้มเหลวที่สุดของนักวิทยาศาสตร์ในอดีตคือ การพยายามแบ่งแยก จัดประเภททุกสิ่ง เช่น สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เป็นต้น แล้วคุณครูก็บังคับให้เราท่องจำทัศนคติผิดๆ นั้น แต่ตอนหลังผมมาคิดว่าการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ช่วยแก้ตัวในเรื่องนี้ของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ คือ การพบว่าทุกสิ่งล้วนเป็นพลังงาน ตามภาพที่โชปรา มาขยายความให้เห็นภาพของความเชื่อมโยงในระดับพื้นฐาน ผมว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์เรื่องนี้ได้ช่วยขยายความเข้าใจเชิงรูปธรรม ในเรื่อง “อนิจจัง” ความไม่เที่ยง และ “อนัตตา” ความไม่มีตัวไม่มีตน ในไตรลักษณ์ของพุทธศาสนา รวมทั้งทำให้เราก้าวพ้นภาพลวงตา ที่เราเคยยึดถือตามกรอบของอายตนะไปได้เป็นอย่างมาก

ออกนอกเรื่องไปเสียไกล ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของ “โลกของพลังงาน” ที่สัมพันธ์กับ “โลกทางกายภาพ” แต่โชปราพูดถึง “โลกของพลังงาน” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดอยู่ในโลกภายในของเราหรือโลกที่สัมพันธ์กับจิตใจ จำพวก ความคิด อารมณ์ จินตนาการ ตามที่โชปราบอกเอาไว้ว่า

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

เรามีประสบการณ์ภายในเกี่ยวกับสนามพลังงานในระดับหน่วยที่เล็กที่สุดนี้ในรูปของ ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ความปรารถนา ความทรงจำ สัญชาติญาณ แรงกระตุ้น และความเชื่อ
เรามีประสบการณ์ภายนอกเกี่ยวกับสนามพลังงานเดียวกันนี้ ในรูปของกายภาพทางร่างกายของเรา และโดยผ่านทางกายภาพทางร่างกายของเรา เรามีประสบการณ์ต่อสนามพลังงานนี้ ในรูปของการมีอยู่ของโลก

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ที่ผมเล่าเกริ่นมาเสียยาวนี้ ก็เพื่ออธิบายที่มาของความเข้าใจของผม ที่สัมพันธ์กับจุดสำคัญที่โชปรา บอกเอาไว้ในกฎข้อนี้ ที่มีประเด็นสำคัญๆ คือ

1.มนุษย์ เป็นเผ่าพันธุ์พิเศษ ที่สามารถรับรู้ ควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลและพลังงาน ของสนามพลังงานในระดับหน่วยที่เล็กที่สุด ที่เรารับเข้ามาสู่ภายในหรือเกิดขึ้นอยู่ภายในได้ โดยอาศัยระบบประสาทภายในร่างกาย

2.มนุษย์สามารถกระทำได้โดยผ่านการมี “ความสนใจ” และ “ความมุ่งมั่น” ของจิตใจ (ตรงนี้ทำให้ผมคิดว่า มันสัมพันธ์กับเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ ทดลองสังเกตความเป็นอนุภาคหรือคลื่น ของอนุภาค ที่ผมเล่าข้างบน)

3.นั่นหมายความว่า เมื่อเราควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลและพลังงาน ได้จากภายใน เราก็ย่อมสามารถส่งหรือทำให้เกิดผลสู่ภายนอกได้ เพราะโลกในระดับหน่วยที่เล็กที่สุดนั้น เป็นสนามพลังงานที่เชื่อมโยงถึงกันหมดทั่วทั้งจักรวาล

ทีนี้มาถึง มิติที่ 1 (โลกระดับ) “ว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย” ที่ผมพูดถึงเอาไว้ตั้งแต่แรก
ในกฎข้อนี้ โชปรา พูดถึงเรื่องปัจจุบันขณะเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวิธีการหลักที่โชปราบอกเรื่องการที่จะกำหนด ความมุ่งมั่นหรือความปรารถนา ให้เกิดผลนั้น ให้เริ่มด้วยการเข้าสู่สภาวะการมี “ช่วงว่างหรือความเงียบระหว่างความคิด” ก่อนแล้วจึงปลดปล่อยความมุ่งมั่นหรือความปรารถนา เข้าไป ผมคิดว่านี่ก็เป็นเรื่องเดียวกับที่โชปราเคยเปรียบเทียบกับ การโยนก้อนหินลงบนผิวน้ำที่เรียบนิ่งสนิท ตามที่ผมเคยยกมาพูดถึงในกฎก่อนหน้านี้ (อีกแล้ว) หรือคือการดำรงอยู่ในสภาวะจิตอันบริสุทธิ์ หรือที่ผมเรียกเอาเองว่า (โลกระดับ) “ว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย” ข้างบน อันเป็นโลกระดับที่โชปราบอกว่าเป็น สภาวะอันเป็นแก่นแท้ของเรา รวมทั้งของจักรวาลตามความเข้าใจของผม

หากเล่าย้อนกลับอีกที ก็จะเกิดมิติของโลกเรียงตามการเกิดขึ้นของสรรพสิ่ง ตามที่ผม ยกมาเปิดไว้ตอนต้นนั่นก็คือ

จาก(โลกระดับ) “ว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย” เราเกิดมีความปรารถนา จึงส่งผลสู่ “โลกของพลังงาน”แล้วจึงส่งผลเกิดเป็น “โลกทางกายภาพ” (เรื่องนี้ในความเห็นของผม คิดว่าสอดคล้องกับเรื่อง การมีเหตุปัจจัยนำไปสู่ผล หรือ หลักปฏิจจสมุปบาท หรือ ขบวนการปรุงแต่งตามระบบขันธ์ 5 ที่ผมเล่าเอาไว้ใน "กฎแห่งกรรม") ซึ่งขบวนการนี้จะทรงประสิทธิภาพ และเกิดผลได้รวดเร็วแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะตอนสร้างเหตุ ว่าจิตนิ่งใสบริสุทธิ์ แค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับ มโนกรรม ที่ผมเล่าไว้ใน “กฎแห่งการพยายามให้น้อยที่สุด” ข้างบน ทั้งหมดมันอาจจะดูวนๆ ซ้ำๆ กันในเชิงหลักการและเนื้อหา เพราะสิ่งที่โชปรา แยกออกมาเป็นกฎแต่ละข้อนั้น ผมคิดว่ามันมาจากแกนหลักเพียงอันเดียว แต่แยกแยะคุณสมบัติ หรือบางทีผมก็เรียกว่าองค์คุณของมัน ออกมาพูด เมื่อสามารถเข้าใจ ตระหนักรู้ หรือหยั่งถึง ซึ่งแก่นแกนนั้น ก็จะเห็นหรือมีคุณสมบัติทั้งหมดนั้นพร้อมอยู่แล้ว ประเด็นก็คือ ทำอย่างไรจึงจะฝึกให้หยั่งได้ถึง และถึงได้บ่อย จนถึงระดับเป็นวิถีแห่งการเดินทางของชีวิตได้ ผมคิดว่าอย่างนั้นครับ

ขอปิดท้ายด้วย บทกวี ที่โชปรายกมาเปิดไว้ตรงก่อนเข้าเนื้อหาของกฎข้อนี้ ซึ่งสอดคล้องอย่างยิ่งกับการเกิดมี โลก ทั้ง 3 มิตินี้ ชื่อ “บทเพลงแห่งการก่อกำเนิด” โดย ริก เวดา

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ณ จุดเริ่ม
ที่ปรากฏขึ้น คือ ความปรารถนา . .
ซึ่งกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แรกสุดของจิตใจ
ผู้เป็นปราชญ์ ได้เพ่งพินิจเข้าไปในใจ
และได้พบด้วยปัญญา . .
ถึงความเชื่อมสัมพันธ์กัน
ของสิ่งที่ดำรงอยู่ กับ สิ่งที่ไม่มีอยู่

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

คุณนีโอครับ ขอบอกว่า กฎข้อนี้ผมอ่อนฝึกหัดมากเลยครับ
ขอบคุณทุกๆ ท่านครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 02/04/2009
ใช่เลย พริ้นไว้อ่านเช่นกันค่ะ ขอขอบคุณมากๆๆค่ะ ยิ้ม ยิ้ม

"อาการที่เราไม่สร้างอุปสรรคขึ้นมาเอง จากขบวนการปรุงแต่งของจิต....... "

"การลดละสิ่งที่อัตตาสร้างขึ้นไว้ ทั้งในรูปของ โลภะ โทสะ โมหะ หรือความวิตก ความกลัว ก็จะลดการใช้พลังงานไปมหาศาล ......"

.............................................................

ท่านอาจารย์วสันต์รับพูดแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ

คุณ dadeeda จองเก้าอี้แถวหน้า

เช่นนั้นหนึ่งก็ขอสมัครทำหน้าที่รำอวยพรให้ค่ะ (ฮา) เมื่องานเสร็จโดยดีจะได้รำแก้บนต่อให้ด้วย (หัวเราะ)

ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 02/04/2009
.....................
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 02/04/2009
พิมพ์ ข้อความได้แล้ว ทดลองดูน่ะครับ

- เชิญคุณนันท์ โซโล่ ต่อได้เลยครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 02/04/2009
คุณนันท์ครับ ผมก็ไม่ได้อ่านที่หน้าจอคอมครับ ผมอ่านตอนช่วงก่อนก่อนนอน เรื่อยๆสบายๆซึมซับได้ดีครับ ขอบพระคุณในความกรุณาที่ละเมียดละไมบรรจงส่งสิ่งดีๆจากหัวใจ ยิ่งสะท้อนให้เจ็ดกฎ เล่มสีส้มพีชที่เราอ่านแสนสบายอยู่นี้ คุณนันท์ถือพร้อมเป็นผู้ปฏิบัตรแจ้ง รอบรู้อย่างหมดจด และผมซึ่งอ่านหนังสือช้าต้องใช้การอ่านที่ทบทวนไปมากับทุกถ้อยคำ ความสงบมีสมาธิคุณนันท์แทรกซึมอยู่ในทุกช่วงเวลาจนสัมผัสได้ตลอดการอ่านครับ ขอบพระคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : โก้ ตอบเมื่อ : 02/04/2009
คิดเหมือนอาจารย์วสันต์เลยค่ะเรื่องรวบรวมเป็นหนังสือ ชื่อที่คุณนันท์ตั้งก็ดีนะคะ หรืออาจจะค่อยคิดอีกทีเมื่อเขียนเสร็จก็ได้ ยังไงก็ต้องมีแฟนๆ(หน้าม้า)ไปขอลายเซ็นไม่น้อยในงานเปิดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอาจารย์วสันต์เป็นผู้แถลงข่าวเปิดตัว และมีคุณหนึ่งไปรำอวยพร (หรือแค่ไปเป็นprettyก็ได้นะคะ)
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 02/04/2009
ฝากถึงคุณหนึ่งอีกนิดครับ..จะให้ดี เตรียม "รำสะเดาะเคราะห์" เผื่อไว้อีกชุดนึงด้วยก็ไม่เลว (ฮา) หากไม่เป็นไปตามแผน เราอาจต้องใช้มัน หลังจบงาน (ฮา)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 03/04/2009
- ประชาสัมพันธ์ นิดนึงครับ ผมได้หนังสือ ของเอ็กค์ฮาร์ท โทลเลอ อีกเล่ม ชื่อว่า ตื่นรู้สู่โลกใหม่ A NEW EARTHสำนักพิมพ์ DMG book ถ้าจำไม่ผิด น่าจะพิมพ์ไม่น้อยกว่า 6 ครั้งครับ เผื่อใครสนใจครับ เอ้า เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เชิญ วิทยากร บรรยายต่อได้เลยครับ ..................
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 04/04/2009
นึกภาพแล้วคงน่ารักดีจัง คุณหนึ่งทำให้ผมเกิดแรงจูงใจในการเขียนหนังสือเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ผมว่าหลายท่านคงอยากเห็นคุณหนึ่งรำอวยพรที่แถมรำแก้บนนะครับ (แอบ ฮา) ขอบพระคุณและชื่นใจจริงๆ สำหรับกำลังใจจากทุกท่าน

ผมขอเล่า หรือบรรยายต่อ (อย่างที่คุณนีโอบอก) ผมคิดว่าหากเปรียบกฎทั้ง 7 ข้อนี้ เป็นเสมือนพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน พี่น้องร่วมท้องนี้ก็มีแฝด 3 คำว่าแฝดของผมหมายความว่า เวลาที่คลอดออกมาก็พร้อมๆ กัน หน้าตาก็คล้ายๆ กัน กฎแฝดทั้ง 3 ที่ว่านี้ได้แก่ “กฎแห่งศักยภาพอันบริสุทธิ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน” “กฎแห่งการพยายามให้น้อยที่สุด” และ “กฎแห่งการปล่อยวาง”

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ผมมองว่าถ้าเมื่อใดก็ตาม เราสามารถตระหนักรู้และหยั่งได้ถึง “กฎแห่งศักยภาพอันซ่อนเร้นอยู่ภายใน” ได้อย่างสมบูรณ์ เราก็จะสามารถหยั่งได้ถึง “กฎแห่งการพยายามให้น้อยที่สุด และ กฎแห่งการปล่อยวาง” ได้ด้วยเช่นกัน เพราะกฎทั้ง 3 เป็นคุณสมบัติหรือองค์คุณ ที่มีอยู่หรือเข้าถึงได้จากสภาวะทางจิตระดับเดียวกัน เป็นสภาวะของการก้าวเข้าสู่โลกในระดับว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย (ที่ผมเปรียบเทียบเอาไว้ใน “กฎแห่งความมุ่งมั่นฯ” ก่อนหน้านี้) หรือการดำรงอยู่ในสภาวะจิตอันบริสุทธิ์ หรือการอยู่ในปัจจุบันขณะจิต ซึ่งเมื่อใดที่เราดำรงอยู่ในสภาวะเหล่านี้ได้ ก็เหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นก (กฎ) 3 ตัว

นอกจากนี้ “กฎแห่งการปล่อยวาง” ผมยังยกให้เป็นกฎที่หล่อที่สุดในแฝดทั้ง 3 ผมให้ราคากฎข้อนี้สูงสุด จากกฎทั้ง 7 ข้อ ว่าเป็นกฎที่มีเนื้อหาลึกซึ้งทางสติปัญญามากที่สุด เป็นนามธรรมที่สุด เป็นการนำเราเข้าไปสู่สภาวธรรมในระดับสูงที่สุด และสอดคล้องกับฐานความเข้าใจในเชิงพุทธศาสนามากที่สุดในความเห็นของผม


ภาพโดยรวมเนื้อหาของ “กฎแห่งการปล่อยวาง” นั้น โชปราพูดอยู่ 2 ประเด็น คือ เรื่อง การปล่อยวาง และ ผลของการปล่อยวาง

หรือหากจะขยายความเพิ่มเชิงการสร้างความเข้าใจเป็นลำดับ ก็ได้ดังนี้ คือ
ให้เรารู้จัก “ปล่อยวาง” ด้วยการฝึกมีหรือเห็นทุกสิ่งด้วย “สติปัญญาที่หยั่งถึงซึ่งความไม่แน่นอน” อันจะทำให้เราก้าวเข้าสู่ “สภาวะหรืออาณาจักรแห่งความเป็นไปได้ในทุกสิ่ง” (ซึ่งเทียบเคียงได้กับ การเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับสภาวะแห่งการสรรค์สร้างของจักรวาล หรือ พระเป็นเจ้า หรือ ฯลฯ แล้วแต่จะเรียกขานกัน)

โชปราเริ่มเนื้อหาด้วยการให้ความหมายอันเป็นหัวใจหลักของเรื่อง “กฎแห่งการปล่อยวาง” เอาไว้ว่า

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

“กฎแห่งการปล่อยวาง” กล่าวว่า การจะได้มาซึ่งสิ่งใดๆ ในจักรวาลแห่งกายภาพนี้ คุณต้องปล่อยวางความยึดติดที่มีต่อสิ่งนั้นเสียก่อน นี่ไม่ได้หมายความว่า ให้คุณยกเลิกความมุ่งมั่นในการสรรค์สร้างความปรารถนาของคุณ คุณไม่จำเป็นต้องละทิ้งความมุ่งมั่น และไม่จำเป็นต้องละทิ้งความปรารถนาของคุณ คุณเพียงแต่ละทิ้งความยึดติดต่อผลของมันเท่านั้น

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

เท่าที่เจอ หลายท่านอ่านครั้งแรก ก็รู้สึกสับสนกับคำหลักๆ ที่โชปราบอกให้ทำ ที่น่าจะมีอยู่ 4 คำในข้อความนี้ คือคำว่า “ปล่อยวาง ความยึดติด ความมุ่งมั่น ความปรารถนา” ผมเคยทำความเข้าใจ เพื่อแยกแยะความหมายของคำ ที่ว่าเอาไว้ โดยผมขอเล่ามุมมองของผมทีละคำเพื่อประกอบความเข้าใจ ในสิ่งที่โชปราเขียนเอาไว้ข้างบน เผื่อจะช่วยได้บ้าง

คำว่า “ปล่อยวาง” คำถามคือ ปล่อยวางอะไร โชปราบอกว่า ปล่อยวาง “ความยึดติด” ที่มีต่อสิ่งนั้น

ผมเข้าใจความหมายของคำว่า “ความยึดติด” ในที่นี้ว่า น่าจะหมายถึง “อาการทางจิต" ที่เกิดขึ้น อันเป็นผลจากการยึดติด ต่อเป้าหมาย หรือวิธีการไปสู่เป้าหมาย หรือสถานการณ์ ที่เราคาดหวัง หรือที่วางแผน เอาไว้

“อาการทางจิต” เหล่านั้นก็จะมีหลากหลายรายละเอียด ที่เราต้อง “ปล่อยวาง” ลง ที่พอสรุปได้คร่าวๆ ก็มีดังนี้คือ

ปล่อยวาง อาการความกลัว ความวิตกกังวล ที่ว่าจะไม่เป็นไปอย่างที่คิดหวังหรือคาดการณ์ ในกรณีที่เราตั้งเป้าหมาย หรือผล หรือวิธี หรือแผนงานเอาไว้

ปล่อยวาง อาการความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อประสบพบกับสิ่งที่ตรง หรือไม่ตรง กับความชอบของอัตตา

หากต้องการปล่อยวาง ที่ต้นเหตุ ก็ทำได้โดยการที่จิตหยุดปรุงแต่ง ว่าง รักษาความเงียบของความคิดเอาไว้ ดำรงอยู่ในปัจจุบัน หรือถ้าเกิดความคิด ก็ให้เห็น รู้ทันว่ากำลังคิด ไม่ตกอยู่ภายใต้ผลที่ทำให้จิตเขว หรือขุ่นมัว จากอาการที่กล่าวมาเหล่านั้น โดยไม่ทันรู้ตัว

การปล่อยวางก็เพื่อทำให้ใจสงบ ใจใส เกิดมีปัญญา ในการดำเนินชีวิต หรือดำเนินการ หรือเห็นหนทางในการแก้ไขเหตุที่ประสบได้อย่างถูกต้องเหมาะแก่กาล ณ ขณะนั้นๆ

คำต่อมา โชปราบอกว่า ไม่ได้ให้ยกเลิก “ความมุ่งมั่น” คำๆ นี้ในความเห็นของผมนั้น หมายถึง “พลังงาน” อันเกิดจากการที่พลังแห่งความกระตือรือร้น ได้ถูกกำหนดทิศทางหรือวางเป้าหมายที่ชัดเจน ให้กับพลังแห่งความกระตือรือร้นนั้น

ตัว “ความมุ่งมั่น” ไม่ได้เป็นเป้าหมาย แต่เป็นกำลังงานทางใจให้กับเรา ในการดำเนินการไปสู่เป้าหมาย ด้วยอาการของสภาวะจิตที่มีเป้าหมายกำหนดอยู่ภายในใจ (ไม่เห็นเป้าหมายเป็นสิ่งภายนอก) ภายใต้การดำเนินไปด้วยปัจจุบันขณะจิต หรือสภาวะแห่งการรู้ตัวทั่วพร้อม และเมื่อนั้น ทั้งพลังงานแห่งความมุ่งมั่น (ความกระตือรือร้น) และเป้าหมายจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกันภายในเรา

ผมขอย้อนกลับไปอธิบายข้อความที่ผมวงเล็บเอาไว้ข้างบน ที่บอกว่า “ไม่เห็นเป้าหมายเป็นสิ่งภายนอก” สักหน่อย เหตุที่ผมต้องเขียนเอาไว้เช่นนั้น เพราะไม่อย่างนั้นใจจะไม่อยู่กับตัว ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ใจจะส่งออกนอกไปยังอนาคต ไปคิดถึงเป้าหมายแบบอยู่นอกกาย จริงๆ แล้วเราต้องกำหนดเอาเป้าหมายมาอยู่ภายใน หรือเอาจิตกลับเข้ามา

เรื่องนี้น่าจะสอดคล้องกับเรื่องที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปทางพุทธศาสนา ที่บอกเราว่า อย่าส่งจิตออกนอก ผมขอยกที่หลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกเอาไว้ว่า

จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย (เหตุแห่งความทุกข์)
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค (หนทางในการดับความทุกข์)
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ (ความดับแล้วซึ่งทุกข์)

คำอีกคำหนึ่ง “ความปรารถนา” ซึ่งคือ เมล็ดพันธุ์แรกสุดของจิตใจ (ตามคำที่อยู่ใน “กฎแห่งความมุ่งมั่นและความปรารถนา”) ซึ่งเราต้องระวัง และรู้ว่าเมล็ดพันธุ์แต่ละเมล็ดนั้น เกิดมาจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งแบบไหน หรือให้ระวัง พิจารณา เห็นทัน สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเกิดความปรารถนานั้นๆ ให้ดี

คำว่า “ความปรารถนา” นี้ จะพัฒนาจนเป็นรูปธรรมหรือผลที่อยากได้ ที่เราใช้กำหนดเป็น “เป้าหมาย” ต่อไป ซึ่งเป็นคำที่มีนัยยะผสมผสานกันอยู่ระหว่าง แรงบันดาลใจ ในทางดี ทางบวก หรือความอยาก ความหลง ในเชิงลบ


ผมสรุปเอาไว้เองง่ายๆ ว่า “การปล่อยวาง” คือ การทำให้ใจเรามีเป้าหมาย แต่ไร้ซึ่งความวิตกกังวล ต่อเป้าหมายนั้น และไร้ซึ่งความโลภ โกรธ หลง ในระหว่างการดำเนินการไปสู่เป้าหมาย

หลักการนี้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้มีเป้าหมาย หรือไม่ให้มีแผนการ เพียงแต่ทุกขณะที่ดำเนินไปสู่เป้าหมายนั้น เราต้องพร้อมยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนทั้งวิธีการหรือเป้าหมาย

และวิธีการหรือเป้าหมายที่ยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนนั้น ควรต้องเกิดขึ้นจากสภาวะจิตที่เงียบและว่าง คือ มีสติประกอบอยู่กับปัจจุบันขณะแห่งการดำเนินไปนั้น เพื่อให้การยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลง เป็นไปด้วยปัญญา และโดยการมีปัญญานั้นเป็นเครื่องนำทาง

ประเด็นที่ต่อเนื่องจากเรื่องนี้ ที่โชปรา พูดเอาไว้คือ

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ในความไม่ยึดติด
มีปัญญาที่หยั่งถึงซึ่งความไม่แน่นอน
ทอดกายอยู่ . .
ในปัญญาที่หยั่งถึงซึ่งความไม่แน่นอน
จะทอดกายไว้ ซึ่งความเป็นอิสระ
จากอดีตของเรา จากสิ่งที่เคยรู้
ที่เป็นเสมือนเครื่องจองจำ ของเงื่อนไขแห่งอดีต

และเมื่อเราเต็มใจก้าวเข้าสู่ สิ่งที่ไม่อาจรู้
สู่อาณาจักรแห่งความเป็นไปได้ทั้งมวล
เราได้มอบตัวเรา
ต่อสภาวะแห่งการสรรค์สร้างซึ่งสรรพสิ่ง
ที่บรรเลงท่วงทำนอง และการเริงรำของจักรวาล

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ขอให้ความเห็นเพิ่มเติม เรื่องที่โชปรา พูดถึง “ปัญญาที่หยั่งถึงซึ่งความไม่แน่นอน” ซึ่งโชปรา ไม่ได้อธิบายไว้มากนัก ผมเคยคิดว่าหากจะพิจารณาเรื่องนี้ให้ลึกซึ้ง ก็จะสัมพันธ์กับเรื่องอนิจจัง และอนัตตา ของพุทธศาสนาเรา ที่พูดถึงความไม่เที่ยงของทุกสิ่ง ความผันแปรไม่คงที่ และ ความไม่มีตัวไม่มีตนที่แท้จริงของทุกๆ สิ่ง ให้เห็นว่าทุกสิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็น “อนิจจัง” ควบคุมไม่ได้ เห็นว่าทุกสรรพสิ่งจริงๆ แล้วเป็นความว่าง เป็น “อนัตตา” ไม่มีแก่นสารตัวตนเป็นของตนเอง ที่มีอยู่ ก็ด้วยการอาศัยการเป็นปัจจัยกันให้กัน แลกเปลี่ยนกันทางธาตุหรือพลังงาน เพื่อดำรงอยู่ (ให้เรารับรู้ได้แค่ในกรอบของอายตนะที่เรามี) แบบชั่วครั้งชั่วคราว

การเข้าใจจนถึงระดับหยั่งถึง เรื่องนี้ได้ ก็จะเกิดการปล่อยวาง จากการยึดติด ในขั้นสูงสุดหรือขั้นถอนรากถอนโคน ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับการเข้าถึง ปัญญาที่หยั่งถึงซึ่งความไม่แน่นอน ของโชปรา

ด้วยความเข้าใจนี้ จะทำให้เราก้าวพ้นไปจากการยึดติดใดๆ ทั้งต่อวิธีการ รายละเอียด หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ และในสภาวะนั้น เราก็จะนำพาตนเองเข้าสู่สภาวะหรืออาณาจักรแห่งความเป็นไปได้ในทุกๆ สิ่ง ทั้งใน 2 นัยยะคือ

-ทั้งในเรื่องความสามารถในการเห็นหนทางที่เปิดออกเป็นร้อยเป็นพันหนทาง เพราะไม่ถูกม่านแห่งอัตตาหรือความยึดติดในของเดิมๆ บดบังอยู่

-ทั้งในเรื่องที่ว่า เมื่อตระหนักรู้ และก้าวเข้าไปดำรงอยู่ในสภาวะนั้น ศักยภาพอันบริสุทธิ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ก็จะดำเนินการให้ทุกสิ่งสำเร็จอย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องพยายาม มันจะเป็นไป จะลื่นไหล ทุกสิ่งจะจัดสรรให้เกิดสถานการณ์อันนำไปสู่สิ่งนั้น หรือดีที่สุดยิ่งกว่านั้นเอง หรืออาจพูดได้ว่าเป็นการเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับสภาวะแห่งการสรรค์สร้าง หรือพระเจ้า ในความหมายหนึ่ง

เป็นสภาวะแห่ง “การตื่น” ขึ้นสู่ความมีอิสรภาพที่แท้จริง อิสระจากการถูกบดบังด้วยสิ่งรกรุงรังทางจิต ที่เราชอบสร้างขึ้น อิสระจากการถูกบดบังด้วยสิ่งที่เคยรู้ ในระดับทางสมมุติโลก จากข้อมูลความเชื่อ อันเกิดจากการเชื่อฟังตามกันมา สิ่งที่ถูกอบรมสั่งสอนมา อิสระจากอัตตาที่เกิดขึ้นจากการสะสมความเชื่อ ความรู้สึก เชิงยึดติดต่อสิ่งต่างๆ และกำกับข้อมูลเหล่านั้นไว้ด้วยความชอบ ความไม่ชอบ กลายเป็นรสนิยม ทัศนคติ ที่เป็นฐานข้อมูลเอาไว้แปร (หรือแปล) ความหมายสิ่งใหม่ ที่เข้ามากระทบใหม่

ผมจำไม่ได้ว่าผมไปอ่านมาจากตรงไหน น่าจะหนังสือแนวๆ เต๋าหรือเซน ท่านบอกเปรียบเทียบไว้ว่า ให้เห็นภูเขาไม่เป็นภูเขา เมื่อเห็นเช่นนั้นได้ ค่อยเห็น (หรือเรียก) มันเป็นภูเขา ต่อไป ได้อย่างเหนือสมมุติ ของภูเขา

ในทางปฏิบัติ มันเป็นเรื่องของความเพียรฝึกรู้ตัว ให้เห็นทันความคิดปรุงแต่งของตนให้มากขณะยิ่งๆ ขึ้น จนวันหนึ่งเราได้ก้าวเข้าสู่สภาวะแห่งความสมบูรณ์นี้ แบบต่อเนื่องยาวนาน จนวันที่ถึงอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเราหยุดคิด หยุดเห็นทุกสิ่งผ่านทางความทรงจำ หรือเห็นทุกอย่างผ่านทางความคิด ความคิดที่มาจากฐานของความทรงจำ ความทรงจำที่มาจากฐานของอดีต ลองเห็นทุกสิ่งแบบสดใหม่ แบบไม่มีสัญญาหรือความจำได้หมายรู้ ตื่นตาตื่นใจแบบเด็กเล็กๆ ที่เห็นทุกสิ่งเป็นครั้งแรก เราลองเห็นว่า ทุกๆ ขณะ ทุกๆ สิ่งเปลี่ยนไป ไม่ใช่ของเดิมที่เราเห็นเมื่อวาน หรือเมื่อหนึ่งชั่วโมงก่อนหน้านี้ ต้นไม้ ถนน หรือสะพานลอย ที่เราเห็นวันนี้เมื่อตอนเช้า มันไม่ใช่อันเดิมเมื่อวานนี้ (นี่ยังไม่นับรวมรถยนต์ หรือผู้คนที่เราได้พบ 2 ฟากถนน) อย่าให้ความทรงจำ หรือความคิด อันเกิดจากความทรงจำมาบดบังตาเราว่ามันเหมือนๆ เดิม เราเลยไม่ได้ดำรงอยู่ในการเห็นที่แท้จริง

ต้นไม้ต้นเมื่อวาน มันผลิออกมาใหม่ตั้งหลายใบและหลายดอก ใบที่ปลายยอดบางใบวันนี้มันล่วงหล่นลงไปแล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่เคยสังเกตเห็นหรือตระหนักถึง ด้วยถูกระบบอัตโนมัติด้านความเคยชินบดบัง (ไม่นับเซลล์หรืออนุภาคที่ผันแปรไป)

เมื่อใดที่ใจเรากระจ่างอยู่กับปัจจุบันอันเคลื่อนไปนั้นได้อย่างชัดเจน โลกที่สดใหม่ก็จะปรากฏอยู่ตรงหน้าเราเสมอ ความซ้ำซากจำเจก็จะหมดไป ความตื่นเต้น ผจญภัย ลึกลับ ที่โชปราพูดถึงก็จะปรากฏขึ้น ดังที่โชปราได้พูดถึงสิ่งนี้ว่า

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ความไม่แน่นอน คือ พื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ของพลังแห่งการสรรค์สร้างอันบริสุทธิ์ และความมีอิสรภาพที่แท้ การหยั่งถึงซึ่งความไม่แน่นอนนั้น หมายถึง การเปิดใจพร้อมที่ก้าวเข้าไปสู่ สิ่งที่ไม่อาจรู้ ในทุกๆ ขณะของการดำรงอยู่ของเรา สิ่งที่ไม่อาจรู้ คือ อาณาจักรที่ทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้ ที่เราจะได้สัมผัสกับความสดใหม่กว่าที่เคย มันเป็นสภาวะแห่งการเปิดกว้าง สู่การสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้ปรากฏรูปขึ้นตลอดเวลา

ถ้าปราศจากซึ่งความไม่แน่นอนและสิ่งที่ไม่อาจรู้นี้แล้ว ชีวิตก็จะเป็นแค่เหตุการณ์ที่ถูกทำให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจากความทรงจำเก่าๆ คุณจะตกเป็นเหยื่อของอดีตอยู่ตลอดเวลา และผู้ที่กลับมาทำร้ายคุณในวันนี้ ก็คือ ตัวคุณที่มาจากเมื่อวานนี้นี่เอง

การไขว่คว้าหาความมั่นคงและความแน่นอนนั้น แท้จริงแล้ว ก็คือ การยึดติดต่อสิ่งที่เคยรู้ และสิ่งที่เคยรู้คืออะไร สิ่งที่เคยรู้ คือ สิ่งที่เป็นอดีตของเรานั่นเอง สิ่งที่เคยรู้ ไม่ใช่สิ่งอื่นใดเลย นอกเสียจากเครื่องจองจำอันเกิดจากเงื่อนไขของอดีต ไม่มีความงอกงามที่แท้จริงใดๆ ในสิ่งนั้น . .

. . และในความเต็มใจของคุณที่จะก้าวเข้าสู่สิ่งที่ไม่อาจรู้นี้ คุณจะเกิดปัญญา ที่หยั่งถึง ซึ่งความไม่แน่นอนขึ้นภายใน นั่นหมายความว่าในทุกๆ ขณะของชีวิต คุณจะรู้สึกได้ถึงความตื่นเต้น การผจญภัย และความลึกลับ คุณจะมีประสบการณ์ถึงความสนุกสนานของชีวิต ที่เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ ความชื่นชม ความเบิกบาน และความรื่นเริงของจิตวิญญาณของคุณเอง

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

องค์ประกอบต่างๆ ทั้งความโอกาส หรือความโชคดี ก็จะปรากฏขึ้น (ซึ่งบางที่มันก็มีอยู่ตรงนั้นอยู่แล้วแต่เรามองไม่เห็น เพราะมัวแต่ไปเพ่งความสนใจมองหาแต่สิ่งที่คาดหวัง)

ผมเคยนึกเปรียบเทียบสภาวะนี้ กับความรู้สึกเวลาที่เราสบายใจๆ ไม่มีความวิตกกังวลเรื่องงานหรือเรื่องใดๆ มารบกวน แล้วได้ไปเที่ยวต่างถิ่นต่างแดน ต่างภาษา ที่เราไม่คุ้นเคย เราจะตื่นตาตื่นใจกับบรรยากาศ ภูมิอากาศ สถานที่ ผู้คน ความแปลกใหม่ สิ่งที่เราไม่เคยเห็น ยิ่งเป็นสถานที่ที่เราไม่มีฐานข้อมูลความจำ ความรู้ ความคุ้นเคยเดิมเลย เราจะรู้สึกตื่นตัว มหัศจรรย์ แปลกใหม่ เราจะเป็นเหมือนเด็กอีกครั้ง เด็กที่ได้เห็นสิ่งต่างๆ เป็นครั้งแรก หรือเหมือนเด็กได้ของเล่น ผมว่าอาการทางจิตมันคล้ายๆ กัน เราจะรู้สึกชื่นชม เบิกบาน รื่นเริง มีความสุข และผมเข้าใจว่า นั่นคือเหตุผลที่เรารู้สึกมีพลังเหมือนได้ไปชาร์จแบตเตอรี่ทุกครั้งที่ได้ไปเที่ยวต่างถิ่นต่างแดน

ถ้าเปรียบเป็นสภาวะทางธรรม ก็คงคล้ายกับที่ ท่านรพินทรนาถ ฐากูร เขียนเอาไว้ ที่ผมเคยคัดลอกมาลงในกระทู้ก่อนหน้านี้ จากหนังสือชื่อ “หิ่งห้อย” และอีกอันหนึ่ง ของ คาลิล ยิบราล ที่เขียนเอาไว้ใน เรื่อง “พายุ” ในหนังสือชื่อ “เพื่อนร่วมชาติของข้า” ซึ่งผมเคยยกมาเล่าไว้เช่นกัน ลองอ่านดูครับ

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

เมื่อข้าพเจ้าอายุได้สิบแปด สายลม ดอกไม้ผลิฉับพลันของประสบการณ์ธรรมประจักษ์ . . . ได้พัดสู่ชีวิตของข้าพเจ้า และผ่านไปโดยประทับรอยข่าวสารชัดแจ้งถึงความจริงแท้ด้านจิตวิญญาณไว้ในความทรงจำ

เมื่อรุ่งอรุณครั้งหนึ่ง ขณะยืนดูดวงอาทิตย์เคลื่อนขึ้นเหนือพุ่มไม้ ในทันทีข้าพเจ้ารู้สึกคล้ายกับว่า หมอกทึบแห่งอดีตกาลได้ถูกยกออกพ้นสายตาขณะหนึ่ง และแสงอรุณที่อาบผิวโลกอยู่ ก็เผยให้เห็นความปีติรุ่งโรจน์ภายใน ม่านคลุมแห่งความจำเจที่มองไม่เห็น ได้ถูกยกออกจากสรรพสิ่งและจากผู้คนทั้งหลาย และแสดงความหมายสำคัญสูงสุด กระจ่างชัดแก่ดวงจิตของข้าพเจ้า

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

มันคือการตื่นของดวงจิต มันคือการตื่นภายในส่วนลึกของหัวใจ มันคือพลังที่ล้นเหลือและบรรเจิด ซึ่งลงสู่มโนธรรมของมนุษย์อย่างฉับพลัน และเปิดตาของเราทำให้เรามองเห็นชีวิตท่ามกลางเสียงดนตรี อันตระการลานตา ล้อมรอบด้วยรัศมีทอประกาย โดยมีมนุษย์ยืนเป็นหลักศิลาแห่งความงามระหว่างพื้นพิภพกับท้องนภา มันคือเปลวเพลิงที่โชติช่วงภายในดวงจิตอย่างฉับพลัน เผาผลาญและทำให้หัวใจบริสุทธิ์ ขึ้นเหนือพื้นพิภพและฉายฉาบท้องนภาอันไพศาล มันคือความเมตตาที่ห่อหุ้มหัวใจของแต่ละคน ทำให้ผู้นั้นงวยงงและรังเกียจทุกคนที่ต่อต้านมัน และเป็นกบฏต่อผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมเข้าใจความหมายอันยิ่งใหญ่ของมัน มันคือมือลึกลับที่เลิกม่านซึ่งบดบังดวงตาของข้า ในขณะที่ข้ายังเป็นสมาชิกของสังคม ท่ามกลางครอบครัวของข้า เพื่อนของข้า และพี่น้องร่วมชาติของข้า . .

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

เนื้อหาของกฎข้อนี้ ก็วนไปเป็นเรื่องเดียวกับ การทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง เลยไปถึงการดำเนินชีวิตด้วยจิตว่าง ซึ่งเป็นการทำหรือดำเนินไปอย่างมีเป้าหมาย และเป้าหมายที่แท้จริงนี้ จะเกิดขึ้นจากการดำเนินไปภายใต้ “กฎแห่งธรรมะ”

สุดท้าย ผมอยากแนะนำว่าเมื่ออ่านมุมมองของผมจบ หากมีเวลาให้กลับไปอ่านสิ่งที่โชปราเขียน เพื่อเทียบเคียงหรือประกอบกัน เนื่องด้วยมีเนื้อหาจำนวนมากที่อยู่ในหนังสือ ซึ่งผมไม่สามารถยกมาประกอบไว้ได้ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นมันเกือบจะต้องคัดลอกออกมาเกือบทั้งบทเลยครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 04/04/2009
“กฎแห่งธรรมะ หรือเป้าหมายในชีวิต”
คุณนีโอครับ ผมคิดว่า กฎข้อนี้อ่านเข้าใจค่อนข้างง่าย ด้วยเนื้อหาที่โชปราบอกเล่าไว้ค่อนข้างชัดเจน แต่กับตัวผมกลับเป็นข้อที่ยากในทางปฏิบัติตามที่สุด ครับ

โชปราอธิบายเอาไว้ว่า กฎข้อนี้มี 3 องค์ประกอบ ซึ่งผมขอย่อเพื่อยกมาเล่าประกอบความเห็นไว้ดังนี้

องค์ประกอยที่ 1

“เราแต่ละคนมาอยู่ ณ ที่นี้ เพื่อค้นพบตัวตนที่แท้จริงของเรา . . โดยเนื้อแท้แล้ว เราคือ การดำรงอยู่ของจิตวิญญาณที่ได้เกิดการปรากฏรูปขึ้นทางกายภาพ เราไม่ใช่การดำรงอยู่ของมนุษย์ ที่มีประสบการณ์ถึงจิตวิญญาณแบบชั่วครั้งชั่วคราว . . จริงๆ แล้ว เราคือ การดำรงอยู่ของจิตวิญญาณ ที่มีประสบการณ์ในรูปของมนุษย์แบบชั่วครั้งชั่วคราว ต่างหาก . . เราต้องค้นให้พบด้วยตัวของเราเองว่า มีเมล็ดพันธุ์ของพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นคุณลักษณะของพระเจ้าอยู่ภายในตัวเรา และต้องการจะถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อให้เราได้แสดงซึ่งคุณลักษณะของพระเป็นเจ้าของเราออกมา . .”

ผมคิดว่ามุมมองข้อนี้ของโชปรา อิงฮินดูค่อนข้างมาก สำหรับบางท่านอ่านแล้วอาจตีความว่า เป้าหมายของการเกิดมาแบบเช่นนี้ แตกต่างกับเป้าหมายตามคำสอนในพุทธศาสนา ที่ให้เราเกิดมาเพื่อ เห็นสัจจะความจริงสูงสุดที่ว่า ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนเลยแม้แต่อย่างเดียว เอาเป็นว่าผมขอแค่ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ก็พอนะครับ เพราะมันขึ้นอยู่กับว่า เราจะให้คำจำกัดความของคำต่างๆ ทั้ง จิตวิญญาณ นิพพาน ว่าอย่างไรตามแต่ละบุคคลไป

ในมุมมองของผม ข้อความนี้น่าจะจับความหลักตรงที่บอกว่า
“เราต้องค้นให้พบด้วยตัวของเราเองว่า มีเมล็ดพันธุ์ของพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นคุณลักษณะของพระเจ้าอยู่ภายในตัวเรา”
ซึ่งผมตีความว่า “การค้นให้พบ” ก็คือ การที่เราได้ก้าวเข้าสู่ตระหนักรู้ และเห็นทันว่า เรานั้นกำลังดำรงชีวิตอยู่ และดำเนินทุกกิจกรรมในชีวิตไป ภายใต้หลักการที่ว่า “การมีเหตุปัจจัย จะนำไปสู่ผล” ดังนั้นจงรู้ทันการสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ในชีวิต ที่กระทำผ่านขบวนการปรุงแต่งของจิตภายในของเรา ให้ดี ถ้ารู้ทัน เห็นทัน ก็จะได้ควบคุม เลือก ผลได้ ดั่งเป็นพระเจ้าเสียเอง

องค์ประกอยที่ 2

“มนุษย์ทุกคนมีความสามารถเฉพาะของตัวเองที่ไม่มีใครเหมือน และมีวิธีการพิเศษที่ไม่เหมือนใคร ในการแสดงมันออกมา . . เมื่อใดก็ตามที่คุณกำลังทำสิ่งนั้น คุณได้หลงลืมซึ่งกาลเวลา หรือ . . การได้แสดงออกซึ่งความสามารถนั้น ได้นำพาคุณเข้าสู่สภาวะอันพ้นไปจากมิติของเวลา . .

ให้คุณถามตัวเองว่า ถ้าเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญ สมมุติว่า ถ้าคุณมีทั้งเวลาและเงินมากมาย คุณจะทำอะไร ถ้าคุณยังคงทำในสิ่งที่คุณทำอยู่ในปัจจุบัน นั่นแสดงว่าคุณอยู่ในธรรมะ . .”
ผมชอบที่ สตีฟ จอบส์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท แอปเปิ้ล พูดเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ดังที่คงเคยผ่านตากันมาแล้ว แต่ขอยกมาให้อ่านอีกทีนะครับ

“จงอย่าสูญสิ้นศรัทธา ผมมั่นใจตลอดมาว่า สิ่งเดียวที่ทำให้ผมยังคงก้าวต่อไปข้างหน้า ก็เพราะว่าผมรักในสิ่งที่ทำ คุณเองก็ต้องค้นหาสิ่งที่คุณรักให้พบ และมันต้องจริง เหมือนดังกับว่า มันเป็นงานเพื่อคนที่คุณรัก งานของคุณจะต้องกลายมาเป็นส่วนใหญ่ของชีวิตคุณ และหนทางเดียวที่จะสร้างความพึงพอใจได้อย่างแท้จริง ก็คือ การทำในสิ่งที่คุณเชื่อว่า มันคืองานอันยิ่งใหญ่ และหนทางเดียวที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ก็คือ การรักในสิ่งที่ทำ”
(หลังจากตัวเขาถูกไล่ออกจากบริษัทแอปเปิ้ล ที่เขาเองเป็นผู้ก่อตั้ง เขาสู้ต่อ โดยตัดสินใจทำในสิ่งที่เขารักต่อไป จนเขากลับมาสู่ บริษัท แอปเปิ้ล อีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่)

“. . บอกตัวเองในกระจกทุกๆ เช้า แล้วเฝ้าถามว่า ถ้าวันนี้ เป็นวันสุดท้ายในชีวิต เราจะยังทำในสิ่งที่เรากำลังจะทำอยู่ในวันนี้หรือไม่ ? หากคำตอบคือ ไม่ หลายๆ วันติดต่อกัน ผมก็จะรู้ได้ว่า ชีวิตถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างแล้ว”

“อย่ามัวเสียเวลากับการใช้ชีวิตของผู้อื่น อย่ามัวติดอยู่กับกฎเกณฑ์ ความเชื่อ ที่ผู้คนงมงาย ยึดถือมันเอาไว้ อย่าปล่อยให้เสียงของคนอื่น ดังกลบเสียงจากภายในของคุณเอง และสิ่งสำคัญที่สุด จงกล้าที่จะเดินตามหัวใจปรารถนาและสัญชาติญาณ เพราะพวกคุณล้วนตระหนักอยู่ข้างในลึกๆ ว่า อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการจะเป็นจริงๆ สิ่งอื่นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องรองลงไป ”

คุณนีโอครับ ที่ส่วนตัวผมว่ายาก ก็ตรงนี้แหละครับ โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้อยู่ในงานที่ตนเองรักอย่างแท้จริง เป็นความยากในเรื่อง การลงมือกระทำ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงทางรูปธรรมของชีวิตอย่างมาก มากว่ากฎทุกๆ ข้อ ข้ออื่นๆ พอที่จะค่อยๆ เปลี่ยนข้างใน แต่ข้อนี้หลักสำคัญคือ การลงมือเปลี่ยนที่ภายนอกด้วย

เมื่อหาพบแล้ว รู้แล้ว และ “ตัดสินใจ” เลือกแล้ว ก็คงขึ้นอยู่กับ นิสัย และสถานการณ์ของแต่ละคน ถ้านิสัยอย่างตัวผม คงต้องอาศัย “กฎแห่งความมุ่งมั่นและความปรารถนา” นำทางให้ฤดูกาลที่เหมาะสมมาถึง คือค่อยเป็นค่อยไป แต่บางคนที่สามารถลงมือเปลี่ยนแปลงได้แบบทันที ผมว่าเยี่ยมเลยครับ ทั้งยินดีและปรบมือให้

องค์ประกอยที่ 3

“ถามตัวคุณเองด้วยคำถามที่ว่า “ฉันจะช่วยได้อย่างไร . .” เพื่อการรับใช้และการอุทิศตนให้กับการดำรงอยู่ของเพื่อนมนุษย์ของคุณ . . คุณก็จะก้าวข้ามผ่านพ้นอัตตาเข้าสู่อาณาจักรแห่งจิตวิญญาณของคุณ . .”

ผมว่าองค์ประกอบนี้ดีจริงๆ เพราะเป็นตัวปิดช่องการตั้งเป้าหมายของชีวิต ที่มีเหตุเริ่มต้นมาจาก กิเลส หรือความโลภ (แบบบริโภคนิยม) ได้ดีจริงๆ เมื่อใดที่การที่จะทำธุรกิจ การค้าขาย หรือบริการ ด้วยการเริ่มจากจิตสำนึกว่า จะรับใช้ หรือ คิดว่าสิ่งที่ทำนั้นจะช่วยผู้คนให้ประสบความสำเร็จ หรือมีความสุข หรือมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร ผมว่า ในเชิง marketting นี่สุดยอดเลย

โชปรา สรุปข้อความเอาไว้ว่า

“ค้นให้พบคุณลักษณะของพระเจ้าในตัวคุณ ค้นหาความสามารถเฉพาะตนของคุณ และนำมันมารับใช้เพื่อนมนุษย์ แล้วคุณจะสามารถทำให้เกิดความมั่งคั่งได้เท่าที่คุณต้องการ”

ผมเคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้เช่นกันว่า เรื่องนี้ต้องครบทั้ง 3 องค์ประกอบ เพื่อให้ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความสุขที่แท้ และเป็นความหมายที่แท้จริงของความสำเร็จ ที่จะไม่เป็นพิษกับชีวิตของเราต่อๆ ไป ในระยะยาวครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 07/04/2009
คุณนันท์ได้ให้แก่นหลัก"การค้นพบตัวตนเพื่อการพัฒนา"ที่มีค่ายิ่ง ถ้าในการเริ่มต้นโดยมีหลักความคิดนี้จนกลายเป็นจิตสำนึก การสร้างสรรค์จะเข้ามาแทนที่การแข่งขัน เยาวชนรุ่นใหม่บางส่วนที่น่าสงสารจะได้ไม่ต้องมารับภาระนี้ ที่ต้องเริ่มตั้งแต่พูดยังไม่ชัดเลย แต่วิถีชีวิตกลับถูกวางให้มีแต่เส้นทางแห่งการแข่งขัน การเปรียบเทียบ ตามกระแสนิยมฝูงชน ใครฉลาดกว่าใคร ใครไอคิวสูงกว่าใคร

ความรู้ในครั้งนี้ผมจะน้อมนำสิ่งดีๆนี้ไว้ในการสร้างผลงานตลอดไปครับ และในการทำงานต่อๆไปผมจะเริ่มต้นด้วยคำถาม "ฉันจะทำอย่างไรในการที่จะให้งานของฉันรับใช้เพื่อนมนุษย์ได้มากที่สุด" ขอบพระคุณอย่างสูงครับผม ยิ้มๆๆ
ชื่อผู้ตอบ : โก้ ตอบเมื่อ : 08/04/2009
กำลังคิดถึงประเด็นที่จะใช้จบเนื้อหาการเล่าอันยาวนาน เพื่อตอบกระทู้นี้ของคุณนีโอ ว่าจะเขียนอะไร เลยขอย้อนกลับไปที่เหตุก่อน ตรงที่คุณนีโอบอกให้ผม “ช่วยแสดงหรือช่วยอธิบายวิธีที่ผมได้ปฏิบัติตามหนังสือนี้ นับตั้งแต่วันแรกที่ได้อ่าน จนถึงระหว่างทางที่เริ่มต้นทำหนังสือเล่มนี้ เป็นไปในแนวทางจากข้างในจิตใจ ให้พวกเราหลาย ๆ คนนั้นได้ดูเป็นตัวอย่าง”

พอกลับไปอ่านที่คุณนีโอขอนี้ ผมรู้สึกตัวว่า ไอ้ที่ผมเขียนมาเสียยาวยืดนี้มันไม่ค่อยตรงประเด็นที่คุณนีโอต้องการสักเท่าไหร่ ที่ผมเล่ามานั้น มันออกแนวแค่แสดงมุมมองว่าผมเข้าใจเนื้อหาในหนังสืออย่างไรเสียมากกว่า ทั้งยังไม่มีตัวอย่างในทางปฏิบัติตามหนังสือให้จับต้องได้เลย อย่างไรเสียก็ต้องขอโทษคุณนีโอด้วยครับ ตอนที่เขียนเล่าไปมันนึกออกแค่นั้นครับ

ได้ทบทวนดูว่าทำไม ผมคิดว่ามันอาจเป็นเพราะตัวผมเองยังคงฝึกฝนเรื่องการใช้หลักปฏิบัติใหญ่ที่สำคัญอยู่เป็นหลักเดิม ซึ่งครอบคลุมผลที่สำคัญที่ต้องการได้โดยรวม คือ การฝึก ตามดู คามรู้ ตามเห็น อาการเคลื่อนไปของชีวิต ที่ปฏิสัมพันธ์ต่อทุกสิ่ง อันเป็นหลักเดิมของผม แต่อ่อนซ้อมไปนานหลายปีมาก และหนังสือ 7 กฎฯ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ผมทั้งกลับมามีแรงบันดาลใจ เติมเต็มความเชื่อมั่น และช่วยยืนยัน ความมีอยู่ และผลปรากฏ ของจุดมุ่งหมาย อันเป็นสภาวะทางจิต จากการฝึกฝนการปฏิบัตินี้ ไม่ว่าสิ่งนี้จะเรียกว่า วิถีแห่งการเดินทาง สภาวะอันเป็นเอก การรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียว กับกฎแห่งจักรวาล หรือ ฯลฯ ก็ตามที

แต่ผมยังคงแค่เป็นหนึ่งในนักเดินทางอยู่บนเส้นทางแห่งจักรวาล ที่ยังคงเริงรำอยู่ในกระแสธารอันไม่มีสิ้นสุด กำลังฝึกฝนที่จะบรรลุถึงความเห็นที่แท้จริง ที่ว่า การแสดงออกของชีวิตนั้น เป็นเพียงสิ่งชั่วคราว ปรากฏขึ้นเพียงชั่วขณะและไม่ยั่งยืน เหมือนดังที่โชปราเขียนเอาไว้ในบทสุดท้าย ซ้ำแถมยังมีความโลภ ที่อยากให้การเดินทางครั้งนี้ มีวิถีแห่งการเดินทางที่สนุกสนาน เบิกบาน ได้แบ่งปัน บ้างเท่าที่มีโอกาส เพื่อให้การเดินทางครั้งนี้มีค่าบ้างสำหรับผมเอง

สุดท้ายผมขอย้ำเรื่องเดิมอีกครั้ง ด้วยความอิ่มเอมในหัวใจ ไม่ใช่เพราะว่า ผมเขียนมาได้จนถึงขณะนี้ แต่เพราะทั้งหมดที่ได้ทบทวนตนและเล่ามานั้น “มีประโยชน์ต่อตัวผมเอง” อย่างมากมายมหาศาล หลายสิ่งที่ได้ทบทวนและสรุปออกมาเป็นประเด็นโดยลำดับนั้น ช่วยสร้างสัญญา ให้เอาไว้เตือนตน ให้ไม่หลงไป ยิ่งๆ ขึ้น และหวังว่าทุกท่านที่ได้อ่านจะได้ผลพลอยได้ไปบ้างนะครับ

เหมือนที่ผมเขียนเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า ทุกขณะที่ผมนั่งทบทวนเพื่อตอบความทั้งหมดนี้ ก็นำผมไปสู่สิ่งรู้ใหม่ที่ผมเองอาจไม่เคยตระหนักถึง หรือเคยคิดถึงมันเลย มันเหมือนกับว่าอยู่ดีๆ คุณนีโอมาบอกให้ผมรดน้ำพรวนดินสวนของผมเอง ซึ่งมันกลับช่วยทำให้ต้นไม้ของผมเองผลิดอกออกผล และขยายสวนในใจให้กว้างใหญ่ออกไป แน่นอนเพื่อให้ผมได้รับผลต่อไป ในวันนี้ และวันข้างหน้าสำหรับตัวผมเองนั่นแหละ

ขอขอบคุณคุณนีโอ และทุกท่านที่ทำให้ผมต้องเขียนสิ่งเหล่านี้ออกมาครับ

หากมีท่านใดจะแสดงความเห็น ทั้งซักค้าน หรือแลกเปลี่ยนมุมมอง ก็จะดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นจะช่วยให้ผมได้เปิดหูเปิดตาให้สว่างยิ่งขึ้นไปอีก ตามสบายนะครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 09/04/2009
ขอขอบคุณคุณนันท์อย่างสุดซึ้งอีกครั้ง สำหรับข้อเขียนอันทรงคุณค่าทั้งหมดในกระทู้นี้ ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันตรงประเด็นหรือไม่ตรงประเด็นกับที่คุณนีโอได้ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา ผมรู้แต่ว่ามันดีมาก และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวด สำหรับตัวผม ผมเก็บข้อความทั้งหมดในกระทู้นี้ โดยไม่ตัดอะไรออกเลย แม้แต่โฆษณาคั่นเวลาจากคนอื่นๆ แล้วกำลังจะให้เด็กเขาไปเย็บเล่มเพื่อเก็บไว้ (หลังจากที่คุณนันท์สรุปข้อเขียนนี้แล้ว)

ดังที่ผมได้กล่าวไว้ในกระทู้ "หนังสือ 5 เล่ม เปลี่ยนชีวิต" ว่า หนังสือเจ็ดกฎฯ เป็นบทสรุปการอ่านของผมไปเรียบร้อยแล้ว ผมเชื่อ ณ ในขณะนี้ว่า หนังสืออีกเป็นร้อยเป็นพันเล่ม ที่ผมอาจจะได้อ่านต่อไปข้างหน้านี้นั้น ก็คงจะเป็นได้เพียงการมาขยายความในรายละเอียด ของเนื้อเรื่องต่างๆ เพิ่มเติมมากขึ้น เท่านั้น ผมเชื่อว่านี่คือหนังสือที่มหัศจรรย์มาก เล่มก็เล็กๆ หนาก็ไม่กี่หน้า เนื้อหาก็ไม่มาก อ่านๆ ไปก็รู้สึกว่าไม่เห็นจะมีอะไรที่จะเรียกได้ว่าใหม่ แต่ทำไมมันถึงได้ทำให้ทุกอย่างในชีวิตมันกระจ่างแจ้ง มันมีคำตอบในเกือบจะทุกคำถาม ชนิดที่อาจเรียกได้ว่า "หมดจด" ผมเชื่ออย่างที่ Tom Budler Bowdon เขียนไว้ ซึ่งขอพูดซ้ำอีกที (ในสำนวนของผม) ว่า "ถ้าต้องอ่านหนังสือการพัฒนาตนเองได้เพียงเล่มเดียวแล้วละก็ ก็จงอ่านเล่มนี้ โยนเล่มอื่นทิ้งไปได้เลย เล่มนี้เล่มเดียวก็พอแล้ว"

แค่สิ่งที่โชปราถาม และสรุปไว้ในหนังสือนี้ ตามที่คุณนันท์ยกมากล่าวไว้ ที่ว่า..."ค้นให้พบลักษณะของพระเจ้าในตัวคุณ ค้นหาความสามารถเฉพาะตนของคุณ แล้วนำมันมารับใช้เพื่อนมนุษย์ แล้วคุณจะสามารถทำให้เกิดความมั่งคั่งได้เท่าที่คุณต้องการ"...นั้น ผมว่ามันก็เป็นที่สุดแล้ว ที่มนุษย์ทุกคนจะต้องตราไว้ในใจ ก็ที่พวกเราดิ้นรน ขวนขวาย คิดโน่น ทำนี่ กันเป็นอภิมหาโกลาหลอลหม่านกันอยู่นี่ นั้น เราทำมันไปเพื่ออะไรกันล่ะ? ผมเห็นว่าถ้าไม่ใช่ก็เพราะเพื่อค้นให้พบลักษณะของพระเจ้าในตัวเรา เพื่อค้นหาความสามารถเฉพาะตนของเรา และเพื่อนำมันไปรับใช้เพื่อนมนุษย์ แล้วละก็ มันก็เป็นเพียงการผลาญพลังงานไปอย่างสูญเปล่าเท่านั้นเอง ผมเอง (และเชื่อว่าอีกหลายคน) ก็อาจติดกับดักชีวิตกันอยู่ได้เหมือนกัน หากไม่ระวัง และขาดสติรู้ตัว คือดิ้นรนทำโน่นนี่สารพัด ด้วยการหลอกตัวเองจนสำเร็จว่ากำลัง "ค้นหา" แต่ปรากฎว่าไม่เคย "ค้นพบ" เลย เมื่อยังไม่สามารถค้นพบอะไรได้ จึงไม่มี "การสร้างสรรค์สู่ความเป็นเลิศ" ใดๆ ได้เลย เพราะจริงๆ แล้ว เราอาจไม่ได้กำลังค้นหาอะไรเลย แต่เรากำลังสนุกสนานเพลิดเพลิน (ไม่ใช่กับการเดินทาง) กับการเดินออกนอกลู่นอกทาง อย่างผิดทิศผิดทาง มากกว่าอย่างอื่น!

ผมเห็นว่า การที่เราจะรู้ได้ว่าเราอยู่ใน "ทิศทาง" ที่ถูกต้องหรือไม่ ก็ด้วยการถามตัวเอง และตอบตัวเองอย่างซื่อสัตย์ว่า ที่เรากำลังทำอยู่นี้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราค้นพบลักษณะของพระเจ้าในตัวเราหรือไม่ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราค้นพบความสามารถเฉพาะตนของเราหรือไม่ และเรากำลังทำสิ่งที่เป็นการช่วยเหลือ รับใช้คนอื่น (แม้สักเพียงหนึ่งคน ในแต่ละวัน) อยู่หรือไม่ ถ้าคำตอบที่ซื่อสัตย์มันออกมาว่า "ไม่" แล้วละก็ ผมว่าเราก็ไปผิดทิศผิดทางที่ถูกต้องแล้วละครับ เราอย่าเอากิจกรรมที่มันแค่สนองความสนุกสนานเพลิดเพลินประจำวัน กิจกรรมที่แค่สนองความอยากรู้อยากเห็นของเรา กิจกรรมที่เพียงทำให้เราดูดี เป็นที่ยอมรับของคนอื่น กิจกรรมที่ตอบสนองความพร่องของเรา กิจกรรมที่มันจะเติมเต็มสิ่งที่เรารู้สึกว่าขาด ฯลฯ มาเป็นข้อแก้ตัวว่าเรากำลังค้นหาอะไรอยู่ เพราะจริงๆ แล้วเราไม่ได้ค้นหาอะไรอยู่หรอก แต่เรากำลัง "แสวงหา" อะไรเพลินๆ ทำไปเท่านั้นเอง การอ่านหนังสือแม้จะเป็นร้อยเล่มพันเล่ม แต่ถ้าไม่สามารถตอบคำถามสามข้อนั้นได้ ผมว่ามันก็ไม่ต่างกับการไม่ได้อ่านอะไรเลย หรือการได้ผ่าน หรือได้เข้าฝึกอบรมเป็นสิบเป็นร้อยหลักสูตร ลุยถ่านลุยไฟก็ลุยมาแล้ว ถอดกายย้ายวิญญาณก็ทำได้มาแล้ว สวดมนต์ภาวนา นั่งสมาธิ วิปัสสนา กรรมฐาก กรรมฐาน ทรมาน ทรกรรม ทำอะไรต่อมิอะไรก็ฝึกฝนจนทำได้หมดมาแล้ว ระลึกรู้ได้หมดทั้งชาติก่อนตอนสายๆ และตอนบ่ายๆ ของชาติหน้า แต่มึนเป็นบ้ากับชาตินี้ (ฮา) ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ในที่สุดแล้วก็ต้องกลับถามตัวเองว่า แล้วมันตอบคำถามสามข้อดังกล่าวข้างต้นนั้นได้หรือไม่ ขอย้ำอีกทีว่า..มันทำให้เราค้นพบลักษณะของพระเจ้าในตัวเราหรือไม่ มันทำให้เราค้นพบความสามารถเฉพาะตัวของเราหรือไม่ แล้วมันสามารถนำไปรับใช้เพื่อนมนุษย์ได้หรือไม่ ถ้าคำตอบมันยังคงออกมาว่า "ไม่" อีกแล้วละก็ ผมว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับงานอดิเรก งานพักผ่อนหย่อนใจ ธรรมดาๆ คล้ายๆ ไปดูหนังฟังเพลง ดื่มกินดิ้นเต้น ฯลฯ เท่านั้นเอง คล้ายๆ ดังภาษิตว่า "คนประสบความสำเร็จ ทำอะไรบางอย่างที่ต้องทำ ส่วนคนที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าต้องทำอะไรสักอย่าง!" (คือว่างแล้วฟุ้งซ่าน ว่างั้นเถอะ) ที่ว่ามานี้ ไม่ได้ต้องการลบหลู่อะไร หรือดูถูกใครนะครับ ผมไม่ได้พิพากษาว่ามันดีหรือไม่ดี มันถูกหรือมันผิด ผมเพียงต้องการถามว่าแล้วมันตอบคำถามสามข้อนั้นได้หรือไม่เท่านั้น ถ้าคำตอบมันเป็นว่า "ใช่" แล้วละก็ จงเดินหน้าไปในทิศทางนั้นอย่างมีความสุขเถิด..ขอย้ำว่า นี่ เป็นการเขียนเพื่อเตือนตัวเองเป็นสำคัญด้วย ไม่ได้จะมาสอนใคร (เพราะบางคนเขาจะโกรธมากจนควันออกหู ถ้ารู้สึกว่ากำลังถูกสอน กำลังถูกลบหลู่ กำลังถูกขัดใจ หรือมีคนเห็นไม่ตรงกับเขา แล้วเขาก็จะจัดแจงตั้งค่ายกลเพื่อตอบโต้ทันที แทนที่จะพินิจพิเคราะห์ว่าที่เขาว่ามานี้ถูกต้องหรือไม่!!)

ดังนั้น การที่ผมถือว่าหนังสือเล่มนี้ เป็นบทสรุปจบการอ่านหนังสือของผมนั้น ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นอยู่เหมือนกันนะครับ

ว่าแต่ว่า ที่ยุให้เขียนเป็นหนังสือนั้น ไม่ทราบว่าพอจะมีวี่แววว่าจะยุขึ้นบ้างไหมเนี่ย..คุณนันท์?

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 09/04/2009
อ่านข้อความของอาจารย์แล้ว..ต่อมขำ..มันระเบิดอีกแล้ว
แรงสั่นสะเทือนมันคงหลายริกเตอร์มากเลย
ส่งผลให้คิดไม่ออกเลย....ว่าต้องอะไรซักอย่าง???
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 09/04/2009
"เราติดอยู่กับกับดักชีวิต ดิ้นรนทำโน่นนี่สารพัด ด้วยการหลอกตัวเองจนสำเร็จว่ากำลัง "ค้นหา" แต่ปรากฎว่าไม่เคย "ค้นพบ" เลย . ."

บทสรุปแบบไม้หน้าสาม ของท่านอาจารย์เข้าแสกหน้าดีจังเลยครับ
ถ้าเป็นภาษาของคุณพิษณุ นิลกลัด สมัยพากย์มวย ก็ต้องบอกว่า "เนื้อๆ เน้นๆ" เลยครับ
มีบางคนพลาดไปโดนต่อมขำ จนระเบิด . . ส่วนของผมขำไม่ออกครับ

เรื่องที่ยุให้เขียนเป็นหนังสือนั้น เกิดความอยากตามแรงยุเหมือนกันครับ กำลังคิดต่อดูว่า จะทำให้มันเป็นความปราถนาที่ชัดเจนเข้ารูปเข้ารอยได้จริงอย่างไรครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 11/04/2009
ขอเป็นอีกหนึ่งแนวร่วม สำหรับการส่งแรงใจให้คุณนันท์เขียนหนังสือครับ สบายๆนะครับผม
ชื่อผู้ตอบ : โก้ ตอบเมื่อ : 18/04/2009
เป็นกำลังใจให้เช่นกันค่ะ ไม่ต้องรีบนะคะ (แต่ก็เชื่อว่าคงไม่นานเกินอาจารย์กับคุณหนึ่งจะรอเปิดตัวกับรำอวยพรให้ใช่ไหมคะ)
ชื่อผู้ตอบ : นพรัตน์ ตอบเมื่อ : 20/04/2009
ผมเคยตั้งข้อสังเกตในใจเป็นการส่วนตัวว่า คนที่แปลหนังสือเก่งๆ นั้น เหตุใดจึงมักไม่ค่อยเขียนหนังสือ เคยคุยด้วยกับหลายๆ คน เขาก็มักบอกว่าเขาไม่มั่นใจว่าจะเขียนได้ เช่น กรณีของคุณงามพรรณ เวชชาชีวะ (พี่สาวนายกอภิสิทธิ์) เธอเป็นนักแปลมือฉมัง แต่ไม่เคยเขียนหนังสือเลย ทั้งที่มีความฝันมาโดยตลอดว่าอยากจะเป็นนักเขียน ครั้นพอรวบรวมความกล้าได้ ลงมือเขียนเล่มแรก ก็พิชิตรางวัลซีไรท์เลย จากวรรณกรรมเรื่อง "ความสุขของกะทิ"

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมอีเมล์คุยกับพวกเราในที่นี้บางคน เรื่องการเขียนหนังสือ ผมเล่าให้ฟังว่า เคยมีคนเขียนจดหมายมาถามท่าน อ.สมศรี สุกุมลนันท์ (ซึ่งขณะนี้ท่านได้ล่วงลับไปนานหลายปีแล้ว) ว่า ถ้าอยากจะเป็นนักเขียนจะต้องทำอย่างไร? ท่านตอบสั้นๆ ว่า "ลงมือเขียนเลย!" ผมว่านี่เป็นเคล็ดลับที่ดีที่สุด และน่าจะเป็นเพียงเคล็ดลับเดียวด้วยซ้ำไป สำหรับผู้ที่ต้องการจะเป็นนักเขียน ผมนำข้อชี้แนะของท่านอาจารย์สมศรี ไปตอบผู้คนอยู่เนืองๆ ที่ชอบถามผมว่า..อยากจะเป็นนักพูด จะต้องทำอย่างไร? ผมก็มักตอบไปว่า "พูดเลย!" นี่เป็นสัจธรรมครับ นักเขียนระดับหัวแถว ทั้งของโลกและของไทย ไม่เคยมีใครไปเข้าหลักสูตรว่าด้วยการเขียนเลยแม้แต่คนเดียว เช่นเดียวกัน นักพูดระดับสิบเปอร์เซ็นต์บนสุด ก็ไม่เคยมีใครเก่งกาจจากการไปเที่ยวเข้าฝึกอบรมในห้องเลยแม้แต่คนเดียว! นี่ทำให้ผมนึกถึงกลอนภาษิตโบราณบทหนึ่ง ที่ว่า...

"...อยากถูกหวยรวยสตางค์ยังไม่ซื้อ
อยากได้ชื่อนักประพันธ์ผลัดวันเขียน
อยากปริญญาสักใบยังไม่เรียน
จวบผมเปลี่ยนเป็นสีขาวเจ้าเหมือเดิม..."

สมัยก่อน ผมก็เป็นคนหนึ่งที่พิรี้พิไรกับทุกเรื่อง โอ้เอ้วิหารรายอยู่นั่นแล้ว กว่าจะลงมือทำอะไรสักเรื่องหนึ่ง เรียกว่าเข้ากันได้ดีกับภาษิตจีนที่บอกว่า "ขนาดจะผายลม ยังต้องถอดกางเกง" (ฮา) ครั้นพอตัดสินใจเลิกนิสัยดังว่านั้น นึกอยากทำอะไรก็ทำเลย ไม่สนใจผลลัพธ์ กลับได้น้ำได้เนื้อครับ แม้ส่วนมากจะเป็นน้ำมากกว่าเนื้อก็ตาม (ฮา) ก็ยังดีกว่าอดแ_กทั้งน้ำทั้งเนื้อ (ฮา)

ก็เล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าจะทำให้ใครหลายคนลงมือเขียนหนังสือมาให้ผู้คนได้อ่านกัน (เสียที)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 20/04/2009
แล้วปกติ..อาจารย์เลือกที่จะ..ยุ...ใครบางคน ที่ดูเข้าตากรรมการเท่านั้น...ใช่หรือไม่???

ถ้าใช่แฟนพันธ์แท้..จะได้...เก็บเป็นความภูมิใจ...รวมทั้งความทรงจำว่า

.........ครั้งนึงเคยเข้าข่ายโดนยุด้วยน่ะค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 20/04/2009
เฮ่อ........เป็นลม......
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 20/04/2009
ถูกต้องครับคุณแฟนพันธุ์แท้! ผมต้องยุคนที่ผมเชื่อว่า "มีความเป็นไปได้" ส่วนว่าจะยุขึ้นหรือไม่ขึ้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยุคนแถวๆ นี้ ไปสามสี่คนแล้ว มีแววว่าจะยุขึ้นอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น ห้ามถามว่าเป็นใคร? เดี๋ยวเขาเขียนเสร็จ ก็จะรู้เอง (ฮา)

ว่าแต่คุณนีโอจะเป็นลมเรื่องอะไรครับ เป็นหนุ่มเป็นแน่น มาทำท่าจะเป็นลงเป็นลมล้อเลียนคุณแฟนพันธุ์แท้ เดี๋ยวปั๊ดเหนี่ยว (ฮา)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 20/04/2009
คุณนีโอ จะเป็นลมเหรอครับ ส่วนผมรู้สึกจุกแน่นที่อกครับ โดนกระทุ้งเข้ากลางลิ้นปี่เลยครับ (ฮา)
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 20/04/2009
จะเป็นลม มีเหตุอยู่ 2 อย่างครับ

- เป็นลมแทนคุณนันท์ ที่โดนกดดันทุกรอบด้านให้เขียนหนังสือให้ได้เลยครับ ผมว่าคุณนันท์ตอบรับไปเลยครับว่าเขียนจะได้จบ ๆ ไปทีล่ะเรื่อง แล้วผมว่าถ้าให้ดี เอาเนี้อหาในพื้นที่สีขาวนี้ ที่ได้แลกเปลี่ยนกันแล้วมีประโยชน์รวมเข้าไปด้วย หนังสือจะได้หนา ๆ ดีไหม ครับ


- "ขนาดจะผายลม ยังต้องถอดกางเกง" นี่ล่ะครับ จะเป็นลม
-
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 21/04/2009
เอ้อ...แล้วไปคุณน้อง!
นึกว่าจะเป็นลมล้อเลียนกันซะอีกนิ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 22/04/2009
อึม แหม่ ......ใครจะกล้าลองดีล่ะครับคุณพี่ !!!!!!!
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 22/04/2009
ตายล่ะ กระทู้นี้เริ่มมีทั้งกลิ่น ทั้งสิ้น แถมยัง (เสมือน) มีการล้อเลียนรุ่นกันเกิดขึ้นอีก ตัวไผตัวตัวเผือกล่ะทีนี้

dadeeda ขอเชียร์อยู่วงนอกนะค้า

อิ..อิ..อิ
ชื่อผู้ตอบ : dadeeda ตอบเมื่อ : 22/04/2009
มิใช่ ทั้งสิ้น แต่เป็น ทั้งเสียง ค่ะ
ชื่อผู้ตอบ : dadeeda ตอบเมื่อ : 22/04/2009
คิดถูกแล้วครับคุณนีโอ ที่ไม่กล้าลองดีกับคุณพี่แฟนพันธุ์แท้ครับ
เพราะเห็นตัวจริงแล้วจะหนาว ว. ว .ว . .ว

นั่นสิครับ . . กลิ่นแปลกๆ ด้วยครับคุณ dadeeda

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 22/04/2009
ของผมนี่ ไม่ใช่แค่หนาวนะครับ คืนแรกที่น่านนี่ นอนฝันร้ายทั้งคืนเลย! (ฮา)
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 23/04/2009
อันนี้ ฮา สุดๆ จริงๆ เลยครับ ท่านอาจารย์
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 23/04/2009


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code