ดีจังครับคุณนิก กระทู้นี้ของคุณนิกทำให้ผมได้ย้อนกลับไปอ่านกระทู้เก่าที่คุณนิกบอก อ่านไปก็จำไม่ได้แล้วว่าตอนนั้นผมเคยแสดงความเห็นอะไรไปบ้าง มันให้ความรู้สึกดีตรงที่ว่า มันเหมือนกำลังอ่านข้อความที่คนอื่นเขียน เพราะความจำส่วนนั้นมันหายไปเกือบทั้งหมด
แต่เมื่ออ่านจบก็สรุปได้อย่างหนึ่งว่า ความเห็นที่ผมแสดงไปนั้น ความจริงครอบคลุมคำตอบที่มีต่อคำถามในกระทู้นี้แล้วเกือบ 100% ถ้าจะให้ผมแสดงความเห็นต่อคำถามนี้ของคุณนิกอีก เนื้อความโดยรวมก็จะเหมือนๆ เดิม เพียงแต่เปลี่ยนวิธีเล่าใหม่
ขออนุญาตเดานะครับ อาจเป็นไปได้ว่าขณะที่คุณนิกได้อ่านของเดิมในตอนนั้น(หรือไม่แน่ใจว่าตอนนี้ได้อ่านใหม่อีกทีหรือเปล่า) ผมขอเดาว่าคุณนิกน่าจะอ่าน โดยจับประเด็นเฉพาะที่สอดคล้องกับคำตอบที่คุณนิกมุ่งต้องการ ซึ่งหากผมเดาผิดต้องขออภัยด้วย แต่ถ้าผมเดาได้ใกล้เคียง อยากรบกวนให้คุณนิกปล่อยวาง การกรอบความคิดแบบเดิมลงชั่วคราว แล้วจับประเด็นต่างๆ ที่ผมได้ให้ความเห็น แบบยอมอยู่ภายใต้กรอบที่ผมสร้างขึ้นเอาไว้ชั่วคราว ภาพรวมของประเด็นทั้งหมด ที่ผมได้แสดงความเห็นไว้นั้น ตอบคำถามในกระทู้นี้ของคุณนิกไปแล้ว
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมขอให้คุณนิกกลับไปอ่านก็เพราะ การที่จะแสดงความคิดเห็นเพื่อตอบกระทู้นี้ของคุณนิก ไม่สามารถตอบได้แบบสั้นๆ สองบรรทัดจบ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผมต้องสร้างภาพรวมที่สัมพันธ์กันในมุมมองของผมให้คุณนิกเห็นด้วย ซึ่งเนื้อหาก็จะซ้ำเดิม
แต่ก็ขอแสดงความเห็นเพิ่มว่า พระพุทธเจ้านั้นท่านสอนให้รู้เท่าทัน เห็นทัน "ขบวนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เหมือนที่ธรรมชาติสร้างดอกกุหลาบ ต้นมะพร้าว หรือน้ำตกไนแองกาลา" เพื่อให้เราเข้าถึง "หลักธรรมชาติ ด้วยความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง อันจะทำให้ตัวเราดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกับการสร้างสรรค์ ในแบบที่คุณนิกกำลังพูดถึง" คือไม่ไปสร้างสิ่งที่เป็นมลภาวะ เช่น การอยาก การยึด ฯลฯ อันทำให้ความสอดคล้องที่แท้จริงถูกทำลายลง เหมือนลูกสูบเคลื่องยนต์ที่มีกรวดทรวยไปเสียดสีอยู่ หรือเหมือนโพรงจมูกเวลาที่เราเป็นหวัดแล้วขี้มูกทำให้เราหายใจติดขัดนะครับ
ส่วนคำว่า "อวิชชา" นั้น ในความเข้าใจของผม "ภาวะนี้ ไม่ได้ถูกศาสนาพุทธเรียกว่า อวิชชา" ศาสนาพุทธเรียก สภาวะการสร้างสรรค์ที่คุณนิกพูดถึง ว่า "หลักอิทัปปัจยตา" แต่ "อวิชชา" หมายถึงการไม่เข้าใจ หรือเห็นถึงความจริงพื้นฐานของระบบ หรือกลไก หรือกฎ หรือวัฎจักร หรือ "หลักอิทัปปัจยตา" อันนี้ ซึ่งความจริงแล้วก็ตรงกับประโยคที่คุณนิกได้เขียนเอาไว้เองว่า "ถูกศาสนาพุทธเรียกว่า"อวิชชา" คือไม่รู้เท่าทันธรรมชาติ เลยสร้างกรรมทำให้เกิดผลของกรรม เป็นวัฏจักรหรือสังสารวัฏต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด" นั่นเอง
และการเห็นทัน รู้เท่าทัน แบบเป็นปัจจุบันขณะ หรือศัพท์ส่วนตัวของผมเรียกว่า realtime นี่แหละ เป็นการสร้างสรรค์ในแบบพุทธศาสนา หรือแบบศาสนาอื่น หรืออภิปรัชญา ทั้งหลายที่เรากำลังศึกษากันอยู่นี้ เช่นกัน
ซึ่งไม่ใช่การสร้างสรรค์ในแบบระบบตอบโต้อัตโนมัติ ไม่ทันรู้ตัวเอง ว่ามันถูกผลักดันให้ดำเนินไปด้วยความหลง ความยึดติด ฯลฯ อันนำไปสู่ผลสืบเนื่องของกรรมแบบไม่จบสิ้น หรือการวนอยู่ในอ่างของสังสารวัฏ แบบไม่รู้เท่าทันว่าตนตกอยู่ภายใต้ระบบใดอยู่
ขอเพิ่มเติมว่า การรู้เท่าทันระบบนี้มากๆ หรือลึกซึ้งมากขึ้นๆ ก็น่าจะนำไปสู่การละวางมลภาวะไปเอง อันเกิดจากการได้เห็นความไม่มีตัวมีตนจริงของทุกๆ สิ่ง แบบที่พระอรหันต์ท่านคงเห็นเช่นนั้น (อันนี้ผมอนุมานเอานะครับ เพราะก็ไม่เคยเห็นแบบท่านเหมือนกัน)
ความจริงเรื่องนี้ใกล้เคียงกับเนื้อหาในกระทู้ >> ว่าด้วยกฎข้อที่ 5 "the law of intention and desire" ของคุณ kiki ที่อยู่หลังกระทู้นี้ 3 อัน ซึ่งจำได้ว่า ผมก็ยังคงแสดงความเห็นวนเวียนอยู่ในกรอบเนื้อหาเดิมๆ จนชักสงสัยตัวเองว่าคงมีความรู้วนเวียนอยู่แค่นี้แหงๆ เลยเรา
ส่วนเรื่อง static ที่ถามว่า หมายถึงอยู่ในสภาวะได้ฌานรึเปล่า ขอตอบด้วยความเข้าใจส่วนตัวดังนี้
1. ผมเองเรียกคำว่า static หรือ dynamic ในความหมายในแบบของผม ไม่ได้จำมาจากมาตรฐาน จึงอาจไม่ตรงกันนักในแต่ละคน
2. ผมใช้คำว่า static ในความหมายว่า "นิ่ง" ทั้ง จิตนิ่ง และ ร่างกายนิ่ง
3. เช่นเดียวกัน ผมใช้คำว่า dynamic ในความหมายว่า จิตเคลื่อนไหว หรือ ร่างกายเคลื่อนไหว ก็ได้
(ตรงนี้ขอแทรกตอบคำถามคุณนิก ตามความเข้าใจส่วนตัวแบบไม่ใช่นักปฏิบัติว่า สภาวะได้ฌาน นั้น จิตต้อง นิ่ง มีสมาธิอย่างที่สุด ผมจึงว่าเป็น static แต่ไม่ได้หมายความว่า ฌาน เป็น static เพียงอย่างเดียว)
4. ภาพของผมก็คือ ทั้ง static และ dynamic เป็นของคู่กัน ถ้าสามารถ two in one ได้จะเยี่ยมยอดมาก เช่น คนรำมวยไทเก็ก ร่ายรำด้วยจิตอันสงบนิ่ง หรือ เวลาที่นักกีฬาเข้าแข่งขันแล้วบรรลุถึงศักยภาพสูงสุดของตัวเองด้วยการมีสมาธิลึกอยู่กับการแข่งขัน ไม่ได้ยินแม้แต่เสียงเชียร์รอบสนาม เหมือนที่คุณ Karn เล่าว่า มารัต ซาฟิน บอกว่าเล่นเทนนิสเหมือนเข้าฌาน เราก็จะได้เห็นความมหัศจรรย์เกิดขึ้นจากตัวนักกีฬาระดับนี้ หรือเวลาที่เราจะบรรลุถึงสติปัญญาสูงสุด ผมเข้าใจว่าไม่ได้เกิดจาการนั่งนิ่งด้วยจิตสงบนิ่งแบบสมถะ แต่ต้องเกิดจากจิตที่ตื่นตัว ว่องไว เพื่อใช้พิจารณาหรือวิปัสนา เห็นทันทุกข์หรือความเคลื่อนไปของจิต แบบเร็วระยิบ จนทันเห็นการเกิดดับ เป็นต้น
(ตรงนี้ขอแทรกตอบว่า static กับ dynamic ผมเองไม่สรุปว่าอะไรสูงกว่าอะไร ผมเป็นพวกชอบระบบ two in one ครับ ยิ่งกายนิ่งจิตต้องว่องไว หรือ ยิ่งจิตนิ่งกายต้องเคลื่อน และการดำรงอยู่หรือการดำเนินไปจะมีประสิทธิภาพสูงสุด)
ทั้งหมดนี้เป็นข้อสรุปส่วนตัว เอาเป็นบรรทัดฐานไม่ได้นะครับ เพราะผมเองไม่ใช่นักปฏิบัติ (ถ้าหากได้คุณผู้อ่าน ช่วยให้ความรู้ด้วยจะขอบคุณยิ่ง) ดังนั้นขอให้ฟังหูไว้หูครับคุณนิก
มีเรื่องเสริมคุณผู้อ่านด้วยหนึ่งเรื่อง ผมเองก็มีความเข้าใจที่คิดว่าคล้ายๆกัน ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเคยแสดงความเห็นไว้ในกระทู้เก่าอันไหน ผมจัดเรียงลำดับส่วนตัว เรื่องการเรียนรู้ไว้ดังนี้ครับ
1. รู้
2. เข้าใจ
3. ตระหนักรู้
4. หยั่งรู้
คิดว่าคงพอไปด้วยกันได้นะครับ
|
ชื่อผู้ตอบ :
นันท์ วิทยดำรง |
ตอบเมื่อ :
31/01/2009 |