ว่าด้วยกฎข้อที่ 5 "the law of intention and desire"
สวัสดีค่ะ คุณ นันท์

ก่อนอื่นต้องขอบพระคุณ คุณนันท์ เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้แปลหนังสือเล่มนี้ออกมา ดิฉันได้ หนังสือเล่มนี้เป็นของขวัญจากแฟนค่ะ พออ่านแล้วก็รู้สึกว่าชอบมาก และตอนนี้ก็กำลังพยายามทำความเข้าใจอยู่

ทุกกฎที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแต่ก็รู้สึกว่ามันเมคเซ้นต์
และสามารถคล้อยตามได้ ตอนนี้อ่านมาถึงกฎที่ 5
the law of intention and desire

อ่านไป 3 รอบแล้วรู้สึกไม่เข้าใจ รบกวนช่วยขยายความในส่วนของ
องค์ประกอบพื้นฐานของธรรมชาติ คือ พลังงานและข้อมูล ด้วยค่ะ ถ้ายกตัวอย่างเป็นคนกับต้นไม้ หรือก้อนหิน ซึ่งไม่มีชีวิต แต่เป็นธรรมชาติ
ข้อมูลในที่นี้หมายถึงข้อมูลประเภทไหนค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

ชื่อผู้ส่ง : kiki ถามเมื่อ : 27/01/2009
 


สวัสดีครับคุณ kiki

ตอนที่ผมอ่านฉบับภาษาอังกฤษ เขาใช้คำว่า enengy and information ผมก็นั่งนึกว่าผมควรจะใช้คำภาษาไทยว่า ข้อมูล หรือข่าวสาร หรือความรู้ ดี ผมตัดสินใจใช้คำว่า ข้อมูล ทั้งที่ความเข้าใจของผมนั้น มันน่าจะหมายรวมถึงนัยยะของทั้ง 3 ความหมาย

ผมมีความเข้าใจโดยลำดับว่าอย่างนี้ครับ

- ทุกสิ่งทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตและที่ไม่สามารถจำแนกได้นั้น ในระดับพื้นฐานที่สุด คือ พลังงาน

- พลังงานแต่ละชนิด จะมีข้อมูลที่แตกต่างกันที่กำกับรูปพลังงานเหล่านั้นอยู่ ข้อมูลชนิดนี้ไม่ได้หมายถึงตัวเลขหรือตัวอักษร แต่หมายถึงเนื้อหาความแตกต่างขององค์ประกอบในระดับอนุภาคของพลังงานในแต่ละชนิด หรือแม้แต่ข้อมูลที่กำกับหรือเป็นสิ่งที่บอกความแตกต่างของรูปพลังงานความคิดที่เกิดขึ้น เช่นเมื่อเรามีความมุ่งมั่นหรือความปราถนาในแต่ละครั้ง (ซึ่งหมายรวมถึงความรู้สึกหรือความจำ ฯลฯ)

- ความแตกต่างนี้ส่งผลใน 2 ลักษณะ คือ
1. ทำให้การปรากฏเป็นรูปแบบของพลังงานนั้นแตกต่างกัน
2. ทำให้การเกิดขบวนการเชื่อมโยงหรือประกอบหรือส่งถ่าย อันนำไปสู่ผลเป็นรูปปรากฏเป็นสะสารหรือวัตถุ ที่แตกต่างกัน
(ทั้งที่มองเห็นหรือสัมผัสได้ด้วยอายตนะ หรือไม่ได้ก็ตาม)

ผมสรุปเป็นความเข้าใจเอาไว้ว่า พลังงานบริสุทธิ์หรือจิตบริสุทธิ์หรือสภาวะนิพพาน ไม่น่าจะมีข้อมูลกำกับ เมื่อใดมีข้อมูลกำกับแสดงว่าได้เข้าสู่ระบบโลกหรือจักรวาลหรือสังสารวัฏ
และทุกๆครั้งที่เรามีความปราถนาหรือมุ่งมั่น (ไม่ว่าจะเป็นในทางดีหนือไม่ดี) จะก่อให้เกิดเนื้อหาของข้อมูลที่กำกับพลังงานแห่งแรงปราถนานั้นๆ ให้ก่อเกิดขบวนการสร้างหรือดึงดูดรูปพลังงานอื่นๆ ให้ปรากฏรูปขึ้น ตามที่ได้ปราถนานั้น ทั้งที่โดยจงใจรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตาม (รวมหมายถึงการเกิดความโลภ โกรธ หลง)
ตรงนี้ผมเปรียบความเข้าใจตามพุทธศาสนาได้ว่า เป็นมโนกรรม อันนำไปสู่ผลแห่งกรรมนั้น แต่ถ้าอธิบายตามแบบสมัยนิยม ก็เรียกว่าเป็นการสรรค์สร้างหรือขบวนการดึงดูด ก็เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน

โชปรา บอกว่ามนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์เดียวที่สามารถกำกับพลังงานและข้อมูลที่มีอยู่หรือเป็นพื้นฐานของจักรวาลนี้ได้ โดยผ่านการมีความมุ่งมั่นหรือปราถนา (ทั้งรู้ตัวหรือไม่ทันรู้ตัว) โดยอาศัยความจริงที่ว่าทั้งจักรวาลนี้เชื่อมโยงถึงกันผ่านทางเครือข่ายพื้นฐานที่อยู่ในรูปของพลังงานและข้อมูล โดยไม่มีการแบ่งแยก (นึกภาพเปรียบกับระบบอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโยงถึงกันและเรื่องการส่งถ่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิตอล ก็อาจช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นครับ)

ถ้าอยากทำโดยรู้ตัวหรือกำหนดผลลัพธ์ได้ หลักการคือ ให้ทำจิตให้สงบ หรือยิ่งบริสุทธิ์ได้มากเท่าไหร่ยิ่งสัมฤทธิ์ผล (เหมือนที่โชปรา เปรียบเทียบเรื่องการโยนก้อนหินลงบนผิวน้ำในสระอันสงบนิ่ง ในกฎข้อที่ 1)

ไม่ทราบว่าจะทำให้เข้าใจมากขึ้นจนอ่านผ่านบทนี้ไปได้หรือไม่ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 28/01/2009
ขอแลกเปลี่ยนความเห็นครับ เพราะเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ
สำหรับผม ข้อมูลอาจหมายถึงเจตจำนงที่ทำให้เคมีต่างๆดึงดูดกันรวมเป็นมนุษย์ครับ และน่าจะหมายถึงความคิดของธรรมาติที่จงใจให้กุหลาบมีรูปทรงแบบนี้ มีหนาม มีใบ มีสีแบบนั้น ส่วนดอกอื่นๆก็เป็นไปและเติบโตไปอีกแบบตามเจตจำนงของมัน นอกนั้นก็น่าจะหมายถึงเจตจำนงที่เศษดาวต่างๆที่แตกมาจากพระอาทิตย์นั้นได้ ชนและรวมกันค่อยๆกลายเป็นโลก เป็นดาวต่างๆ และกลายเป็นระบบสุริยะของเรา ก่อเกิดเป็นโลกที่มีมนุษย์ แยกแผ่นดินออกเป็นทวีป และลาวาก็ยังคงพลุ่งพล่านทำให้โลกเคลื่อนรอบตนเอง และมีฤดูกาบต่างๆ ส่งผลถึงสัตว์ต่างๆ ดอกไม้ และมนุษย์ รวมถึงทุกสิ่งที่มีข้อมูลและพลังงานต่างกัน แต่พลังงาน และข้อมูลนั้นเชื่อมโยงถ่ายเทกันอยู่ตลอดเวลาเพราะเกิดมาจากแหล่งเดียวกันเมื่อนานโพ้นมาแล้ว

ผมเข้าใจประมาณนี้ครับ หวังว่าอาจมีประโยชน์ และขอคำชี้แนะด้วยครับ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผม ความสำคัยของเรื่องพลังงานและข้อมูลคือ เมื่อคิดถึงมันแล้ว ก็ได้อบอุ่น และรู้สึกมีส่วนร่วม มีที่ทาง ไม่เดียวดายในพื้นที่กว้างใหญ่อย่างที่เคยรู้สึกในอดีตมาก่อนครับ
ชื่อผู้ตอบ : karn ตอบเมื่อ : 28/01/2009
คุณ kiki อ่านได้ "ถูกเล่ม" และถามได้ "ถูกคน" จริงๆ

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 28/01/2009
ไม่น่าล่ะทำไมศาสนาพุทธของเราถึงไม่ชอบอะไรที่สร้างสรรค์(ไม่มีอะไรน่าเอาน่าเป็น) งดงาม(สอนให้เพ่งอสุภะ) หรือแม้แต่ความรักที่ผู้ฝักใฝ่จิตวิญญาณหลายคนบอกเป็นพลังอำนาจที่สูงสุดในจักรวาล พี่พุทธแกบอกเป็นกิเลสตัณหาซะงั้น ดนตรี นวนิยาย อะไรต่ออะไรที่เขาว่าสนับสนุนจิตวิญญาณที่งดงามพี่เถรวาลเราไม่เอาทั้งนั้น บอกว่าเป็นกิเลส
คนไทยเลยตีความเป็นว่าอย่าเอาอะไรให้มันมากนักเลยกับชีวิต เกิดมาก็เลยคิดแต่ว่าเรียนให้จบ มีงานทำ มีเงินกินใช้พอเลี้ยงชีพไปวันๆก็พอแล้ว ต้องไปอ่านอำนาจแห่งเจตนารณ์ของดร.เวย์น ที่ดร.เวย์นอ้างถึงงานเขียนของลีโอ ตอลสตอยเรื่องความตายของอีวาน อีไลอีช อ่านแล้วผมแทบช้อก มันตรงกับชีวิตคนประเทศเราส่วนมากเลยนี่หว่า ที่ตอลสตอยใช้คำว่าความตายเพราะอีวาน อีไลอีชมีชีวิตอยู่อย่างธรรมดาสามัญที่สุด เพราะฉะนั้นมันเลยเลวร้ายที่สุดนั่นเอง!
ปล.แต่ผมว่าพุทธศาสนามหายานเขาสร้างสรรค์ งดดาม และสนับสนุนคำว่าความรักนะ
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 28/01/2009
ผมรู้สึกไม่สบายใจเลย ที่คุณนิก ดูถูก พุทธศาสนา สายเถรวาท
ผมไม่แน่ใจว่าคุณนิก"เข้าใจ" พระพุทธศาสนา "ดีพอ" แค่ไหน

แล้วแนวคิด "เกิดมาก็เลยคิดแต่ว่าเรียนให้จบ มีงานทำ มีเงินกินใช้พอเลี้ยงชีพไปวันๆก็พอแล้ว" ก็ไม่ใช่หลักพุทธศาสนาครับ มีประวัติอยู่มากมายที่แสดงว่าหลังจากบรรลุธรรมแล้วรวยขึ้น

การเพ่งอสุภะ เป็นอีกวิธีหนึ่งของการทำให้จิตใจสงบลงครับ เอาไว้ปราบพวกที่ราคะจริตจัดๆ ที่หลงแต่ในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส มากๆ
เฉกเช่นเดียวกับ พวกโทสะจริต ที่ท่านให้ใช้ เมตตาภาวนาไปปราบ
ดังนั้นจากความรู้อันน้อยนิดของผม พระพุทธเจ้าท่านให้ยาไว้หลายขนาน เหมาะกับหลายๆอาการที่แตกต่าง

แก่นของพระพุทธศาสนา คือ สติ ครับผมเองก็มีความรู้เพียงแค่หางอึ่ง ลองถามคุณนันท์ดูครับ หรือมิเช่นนั้น ผมแนะนำให้ไปโหลดไฟล์ที่เว็บนี้ฟัง http://www.wimutti.net/pramote/ เป็นของหลวงพ่อปราโมทย์ ผมฟังอยู่บ่อยๆ ครับ

ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 28/01/2009
เห็นด้วยครับว่า คำว่า เจตจำนง หรือ ความคิดของธรรมชาติ ของคุณ Karn เป็นข้อมูลชุดหนึ่ง และเป็นข้อมูลชุดสำคัญ อันเที่ยงแท้แน่นอน บางทีก็เรียกว่า หลักหรือกฎ ที่ทุกสรรพสิ่งในจักรวาลหรือสังสารวัฏนี้ล้วนดำเนินไปตามการกำกับของข้อมูลชุดนี้

หากเทียบกับภาพความเข้าใจของผม คุณ Karn น่าจะหมายถึง "เจตจำนงของพระเจ้า" หรือตรงกับคำว่า "หลักของเหตุปัจจัยอันนำไปสู่ผล" หรือที่มักอธิบายว่า "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)"

หรือถ้าเรียกตามศัพท์ทางพุทธศาสนาของเรา คือ "หลักอิทัปปัจยตา" อันเป็นกฎที่มีมาแต่ไหนไม่รู้ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า"ตถาคตทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้น ก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม คือ หลักอิทัปปัจจยตา..." และผมเข้าใจว่า เป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับที่ เหลาจื้อ มิอาจตั้งชื่อได้เลยขอเรียกว่า "เต๋า" ไปพลางๆก่อน

ทุกสิ่งที่ปรากฏในห้วงจักรวาลหรือสังสารวัฏ ทั้งที่เราสัมผัสได้หรือไม่ ล้วนอยู่ภายใต้กฎนี้ หรือเจตจำนงนี้ของจักรวาล

เช่นเมื่อ พลังงานและข้อมูลชุดหนึ่งที่ประกอบรูปเป็นเมล็ดมะม่วง (ในที่นี้คือ เหตุ) ได้พบกับ พลังงานและข้อมูลชุดอื่นๆ ที่อยู่ในรูปของ ดิน แร่ธาตุ น้ำ ออกซิเจน เป็นต้น (ในที่นี้คือ ปัจจัย) ก็จะเกิดผลเป็นต้นมะม่วงต้นใหม่ หรือพลังงานและข้อมูลชุดใหม่ (ในที่นี้คือ ผล) หลังจากนั้นตัวมันก็เป็นเหตุ เมื่อประกอบพร้อมกับปัจจัย ก็จะเกิดผลสืบเนื่องต่อๆ กันไป

การเกิดมีขึ้นของตัวเราเวียนว่ายยังไม่จบสิ้น หรือการที่เราและสรรพสิ่งผลุบโผล่เดี๋ยวเป็นรูปเดี๋ยวเป็นพลังงาน อยู่ในสนามพลังงานและข้อมูลแห่งจักรวาลหรือสังสารวัฏนี้ ก็เพราะยังตกอยู่ภายใต้การกำกับของชุดข้อมูลหรือกฎหลักนี้ จนกว่าจะตัดปัจจัย คือ กิเลส ได้โดยสิ้นเชิง

และเมื่อใดที่เราเริ่มตระหนักหรือหยั่งถึง โดยการเริ่มรู้เท่าทันหรือเห็นทัน ซึ่งการกำกับหรือการดำเนินไปของชุดข้อมูลหรือกฎนี้ต่อตัวเรา แบบปัจจุบันขณะหรือ realtime เราจะเริ่มรู้สึกอบอุ่นใจอยู่ลึกๆ เป็นความอบอุ่นใจอันเกิดจากการได้เข้ารวมกับแกนการดำเนินไปของสรรพสิ่ง เป็นความรู้สึกมั่นคง และความอิสระอันแท้จริงจะเริ่มเผยตัวมันออกมา เพราะเราเริ่มที่จะควบคุมชีวิตเราได้ด้วยตัวเอง ดังที่คุณ Karn ได้รู้สึกอยู่ครับ

ขอแลกเปลี่ยนความเห็นกับคุณ Karn มาแค่นี้ก่อนครับ

คุณนิกครับ ผมงงกับประโยคที่ว่า "ไม่น่าล่ะทำไมศาสนาพุทธของเราถึงไม่ชอบอะไรที่สร้างสรรค์ . ." แต่ว่าผมขอมีความเห็นดังนี้ครับ

ประเด็นต่างๆที่คุณนิกว่ามา ตามมุมมองของผมนั้น ผมคิดว่าถ้ามองให้ทะลุ อ่านให้เข้าใจ หยั่งให้ถึงจริง เขากำลังสอนเราให้ตาสว่าง จนมองเห็นการดำเนินไปของชีวิตเราและสรรพสิ่งภายใต้ กฎหรือหลัก ที่ได้พูดถึงข้างต้น ซึ่งสภาวะแห่งการเห็นนั้นเป็นสภาวะเดียวกันกับที่ ดร.เวย์น หรือ ดีพัค โชปรา กำลังมุ่งสู่เช่นกัน

ผมคิดว่าจริตของคุณนิกคงตรงกับมหายาน ดีครับ ผมเองก็ชอบมหายาน แต่ไม่ว่า เถรวาท หรือมหายาน ก็จุดหมายเดียวกัน เพียงเดินคนละวิธี แต่ทั้งคู่เราคงต้องไปให้ถึงก่อนครับ จึงจะเห็นว่า อ้าว . . มันก็มาถึงที่เดียวกันนี่นา

อีกเรื่องคือเรื่อง "ความรัก" เราอาจต้องเข้าใจว่าความหมายของคำนี้มีหลายมิติ เช่น รักแบบหลง หรือรักแบบเมตตา หรือรักแบบบริสุทธิ์เป็น universal ผมเข้าใจว่าในเถรวาทไม่ใช้คำว่า ความรัก เพราะสุ่มเสี่ยงกับการเข้าใจความหมายผิด แต่หลักที่ตรงความหมายและเป็นรักที่ครอบคลุมไม่ผิดเพี้ยนที่ทางเถรวาทเน้น คือ พรหมวิหารสี่ : เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันเป็นองค์ประกอบของความรักอันสมบูรณ์ครับ ซึ่งทางมหายานก็มีเน้นเช่นกัน

ก็ขอแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนกับคุณนิก เท่าที่สติปัญญามี และด้วยพรหมวิหารสี่ อย่างเต็มที่แล้วครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 29/01/2009
กระจ่างมากๆ ครับ คุณนันท์ และขอชื่นชมคุณผู้อ่านเช่นกัน คุณแสดงความเห็นอย่างสั้นๆ แต่ก็แสดงถึงความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และเป็นระบบ ผมก็ยัง "ได้" อะไรอีกมาก จากความเห็นของทั้งคุณนันท์,คุณ Karn และคุณผู้อ่าน ขอบคุณนะครับ

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 29/01/2009
- พูดตรง ๆ เลยน่ะครับ.....................ในตอนนี้ผมต้องขอสารภาพว่ากำลังสงสัยใคร่รู้ ว่าคุณผู้อ่านนี้ แท้จริงนั้นคือใคร....เพราะจากการอ่านข้อคิดเห็นนั้น ท่านมีองค์ความรู้ที่กว้างแล ครอบคลุมด้านพุทธศาสนา มาก ๆ เลื่อมใส ครับ ผมเดาว่า ท่านน่าจะมีประสบการณ์ภาคปฏิบัติอยู่บ้างแน่ เลยครับ...........
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 29/01/2009
แล้วถ้าพวกเราสร้างสรรค์ไปเรื่อยๆตามกฏแห่งความมุ่งมั่นและความปรารถนาเราก็จะไม่หลุดจากวัฏจักรแห่งกรรมสักทีซีครับ หรือว่าจักรวาล(หรือพระเจ้า)มีแผนให้เราสร้างและปฏิบัติภารกิจในชีวิตให้ประสบความสำเร็จสูงสุดก่อน แล้วไปไปมามาก็อาจเบื่อแล้วหาหนทางหมดกรรมหรือไปนิพพานในที่สุดอย่างนี้หรือเปล่าครับ
ความจริงก็ต้องขอโทษนะที่นี้ด้วยที่พูดแรงไป ไม่ได้ตั้งใจดูถูกครับ ผมอ่านหนังสืออำนาจแห่งเจตนารมณ์อยู่ดีความคิดเกี่ยวกับศาสนาพุทธเถรวาทก็โผล่ขึ้นมารบกวนจิตใจและเรียกสัญญา(ความจำ)เดิมๆเกี่ยวกับหนังสือที่เคยอ่านเกี่ยวกับเรื่องพวกนรกไฟบัลลัยกัลป์ ศิลปินประโลมโลกเป็นบาปอะไรพวกนี้เข้ามาซึ่งเป็นสัญญา(ความจำ)เก่าแวบขึ้นมาในใจแล้วก็เกิดสังขาร(ปรุงแต่ง)ให้เกิดเวทนา(ในที่นี้ไม่ชอบ) ตัณหา(อยากระบาย)ขึ้นมา เผอิญโน๊ตบุ๊คส์อยู่ใกล้มือก็เลยใส่ๆๆๆๆๆ ใส่เสร็จรู้ตัวอีกทีนี่กูจริงจังอะไรขนาดนี้วะ ก็เท่านี้แหละครับ ผมก็ไม่รู้ว่าถ้าสร้างสรรค์ไหลคล่องล่องไปตามธรรมะ(ไกวัล พระเจ้า เต๋า จิตวิญญาณ สนามเจตนารณ์)มันจะทำให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏไปเรื่อยๆ หรือมีโอกาสทำให้เรามีความสำนึกรู้ที่สูงขึ้นเรื่อยๆจนปรารถนาอยากนิพพานในที่สุด ยังไงก็ขอความเห็นนะที่นี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 29/01/2009
ผมว่านะครับนิก แทนที่จะคิดอยู่กับที่เดิม ลองนำความคิด มาสู่การปฏิบัติ สิครับ เล่นเกมส์กับการกระทำต่างๆในชีวิต แล้วกลั่นกรองใหม่เป็นtext ของคุณนิกเอง ที่บอกแบบนี้ไม่ใช่ว่าอยากตำหนินะครับ แต่ตรงข้าม ผมค่อนข้างชื่นชมพลังหนุ่มเพียวๆของนิก และอยากให้มันถูกขัดให้แหลมคม ดังนั้นนี่คือคำแนะนำส่วนตัวครับ

ปฏิบัตินี้ไม่ได้หมายความว่าต้องนั่งสมาธิ หรือสวดมนต์นะครับ แต่ไงก็ตามมันก็ต้องเป็นสิ่งที่คุณนิก จริงจัง เต็มที่ได้อย่างเพลิดเพลินด้วย

อนึ่ง คือคุณนิกไม่จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องคำว่า ศาสนา หรือแนวคิดลัทธิอะไรก็ได้นะครับ หากมันกวนใจหรือเห็นไม่ตรงกัน ปล่อยมันไปครับ
หนังสือหรือตำราใดๆนั้นมันก็เกิดจากมือใครซักคนเขียนอยู่ดี คำสอนหรือรางวัลชีวิตอะไรนั้น มันก็เกิดจากการบอกพูดของใครซักคนเช่นกัน คนเขียนคนพูดนั้นก็คนอยู่ดีครับ ดังนั้นบางอันก็จริง บางอันก็แฝงความต้องการ บางอันก็มีประโยชน์ บางอันก็แฝงประโยชน์ ดังนันเชื่อไปหมดก็ไม่ใช่เรื่อง ไม่เชื่อเลยก็ไม่ใช่เรื่องครับ เรื่องของเรื่องคือสร้างสิ่งที่เราจะเชื่อเองขึ้นมาดีกว่า

เพราะ ไม่มีผิดถูกหรอกครับกับแนวคิดอะไรของใครต่างๆในโลก มองมันอย่างมีประโยชน์ดีกว่า ถึงแนวคิดนั้นจะถูกตลอดมา เป็นที่ยอมรับอย่างมาก แต่ก็ใช่ว่ามันจะเป็นแบบนี้ตลอดไปนี่ครับ ถ้าเราเชื่อเรื่องความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลง วันหนึ่งศาสนาทุกๆศาสนาก็ต้องล่มสลายอยู่ดี หรือธรรมชาติของมนุษย์เองก็อาจเปลี่ยนไปจากการทำการบ้านมาของแนวคิดเดิมๆ ดังนั้น หากไม่ชอบ คุณนิกก็ไม่สนก็ได้นะครับ ไม่ผิดครับ เพราะมันสำคัญกว่าสำหรับคุณนิก คือ ออกไปใช้วิชาได้แล้ว และสร้างคัมภีร์ของคุณนิกเองได้แล้วครับ

เพราะเท่าที่อ่านมา คุณนิกมีวิชาไม่ย่อยอย่างแน่นอน แต่วิชาที่รวบรวมไว้นั้นันอาจยังไม่ตกผลึกและกลายเป็นกรดภายในร้อนใจคุณเอง ดังนั้น ออกเดินทางทดลองประมือกับก้าวใหม่ชีวิตครับ แล้วสร้างวิชาของคุณเองขึ้นมา เท่าที่จำได้เรื่องวัยของคุณนิก ผมว่ากำลังดีครับ ผมเชื่อในความรู้และพลังที่คุณนิกมีครับ แค่หาทางขัดเกลาพลังนั้นครับ รับรองสุดยอดแน่ แต่ที่สำคัญสำหรับนักคิดที่คนมองข้าม คือ นักคิดนั้นต้อง ขยัน! ครับ ในความเห็นผมนักคิดต้องทำมากกว่าคิดครับ คือต้องขยันทำงานมากกว่าคนอื่นครับ จึงจะเป็นตัวจริง
เชียร์นะครับ

เรื่องของเรื่องคือ ตอนนี้บาร์ของผมกลายเป็นสถานบำบัดจิตไปเรียบร้อยแล้วครับ เหมือนร้านจะสกรีนตัวมันเอง คือมีแต่ลูกค้ามีปัญหาชีวิต เดินเข้ามาคนเดียวซะเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็มีเรื่องอยากหาคำตอบ ดังนั้นผมเลยต้องคิดเรื่องพวกนี้ทุกวันครับ เลยอยากขอแนะนำคุณนิก เชียร์ครับ

ชื่อผู้ตอบ : karn ตอบเมื่อ : 29/01/2009
ขอบคุณมากครับคุณkarn ว่าแต่บาร์เนี่ยหมายถึงสถานที่ให้คำปรึกษาใช่ไหมครับ แหมนิยามซะเท่ห์เชียว
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 29/01/2009
นั่นนะสิครับ คุณนีโอ และท่านอาจารย์ เราน่าจะมีผู้รู้ ผู้ปฏิบัติด้านศาสนา ที่แฝงมาในนาม คุณผู้อ่าน

คุณผู้อ่านครับ ผมเป็นพวกรู้แบบเลาๆ พอประมวลผลได้ จะเอาละเอียดก็ต้องวิ่งเข้าหาท่าน google ให้ช่วยทุกที

คุณนีโอครับ ผมยังค้าง สรรนิพนธิ์ว่าด้วย "เต๋า" ของท่านพุทธทาสคุณนีโออยู่ จะหาส่งไปให้นะครับ รบกวนรอหน่อย

คุณนิกครับ เพิ่มน้ำหนักการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติหรือทดลองในการดำเนินหรือเผชิญชีวิตจริง อย่างที่คุณ Karn แนะนำนั้น ผมว่าใช่เลยครับ สิ่งที่คุณนิกถามจะค่อยๆ พัฒนาเป็นคำตอบจากภายในได้เองครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 29/01/2009
ขอบพระคุณอาจารย์วสันต์ ครับ
และสำหรับคุณนีโอ ที่ส่งสัยว่าผมเคยปฎิบัติธรรมบ้างหรือเปล่า
ก็ต้องยอมรับว่า เคยผ่านมาบ้างครับ แต่ไม่ได้โปร เหมือนท่านอื่นๆ เพียงแค่"นับหนึ่ง" เท่านั้น

เมื่อก่อนผมเห็นแบบเดียวกับคุณนิกเลยที่ทำไมหนังสือ หรือการสอน มีแต่เรื่อง ชาตินี้ ชาติ ก่อน นรก สวรรค์ ทำให้เราตกอยู่ในภาวะของความกลัว และรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นผู้ควบคุมชีวิตของเราอย่างแท้จริง

ผมเองเคยได้ ปรารภ เรื่องนี้กับ ดร.บุญชัย โกศลธนากุบ(คนเขียน จริต6ศาสตร์ในการอ่านใจคน) ท่าได้ให้แง่คิดให้ดีมาก

ท่านบอกกับผมว่า ให้ลองไปอ่านพระไตรปิฏกดูใหม่ พระพุทธเจ้าท่านจะเลือกสอนเรื่องชาตินี้ ชาติก่อน กับผู้ที่ปัญญาไม่ค่อยสูง ถ้าเจอคนที่มีปัญญาสูงท่านจะสอนเรื่องปัจจุบัน หรือ คือ "สติ" นั่นเอง อย่างเช่นในการเทศน์ครั้งแรก และครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นครั้งสำคัญ ท่านก็เทศน์เรื่องสติครับ ส่วนที่เทศน์เรื่องชาตินี้ ชาติก่อน ท่านตรัสไว้กรณีมีคนสงสัยแล้วทูลถามเป็นกรณีๆไป หรือเอาไว้เปรียบเทียบการสอนของท่านให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ใช่จุดประสงค์หลัก (มันมีหลักการพูดอยู่ข้อนึงที่ว่า คนเราชอบเรื่องที่เป็น story มากกว่า theory )

ทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามคิดเอาไว้ ท่านว่าถ้าคิดแล้วจะบ้า หนึ่งในนั้นคือ เรื่องกรรมและผลของกรรม ครับ!!!
ผมเลยถึงบางอ้อครับ ว่าหลายคนเริ่มวอนบ้า แล้วครับ เพราะคิดแต่เรื่องกรรมและผลของกรรม จนลืมปัจจุบันไปเสียฉิบ (ลืมสติ)

อย่างไรถ้าความเห็นของผม รุนแรงไปทำให้คุณนิก รู้สึกไม่สบายใจ ก็ขออโหสิกรรมด้วยนะครับ


--------------------------------------------------------------
อ้างอิง(1)
อจินไตย ๔ - สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ ประการ
(Acinteyya - (the four unthinkables)
"จตฺตารีมานิ ภิกขฺเว อจินเตยยานิ น จินเตตพฺพานิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่างนี้คือ

๑.
พุทธวิสัย
วิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ใครๆ อย่าคิด
ถ้าใครคิด เป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า
๒.
ฌาณวิสัย
วิสัยของผู้ได้ฌาณ
๓.
กัมมวิบาก
กรรมและผลกรรม
๔.
โลกจินตา
คิดเรื่องโลก(กำเนิดของโลกและจักรวาล)....ผมว่านักวิทยาศาสตร์ ก็จะวอนบ้ากันหลายท่านครับ
------------------------------------------------------------------
อ้างอิง 2
ปัจฉิมโอวาท

หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ อยํ ตถาคตสฺส ปจฺฉิมา วาจา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี้เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า

มันเป็นความบังเอิญที่ประเทศไทยมีคำว่า "ประมาท" ซึ่งรับมาจากภาษาบาลีเช่นเดียวกัน แต่ความหมายค่อนข้างต่างกัน เพราะของบาลีเค้าลึกซึ้งกว่า ทำให้เราตีความหมายของปัจฉิมโอวาทไม่กระจ่างในวรรคที่ว่า "อปฺปมาเทน " ซึ่งก็คือ อ(ไม่) + ประมาท

แต่ถ้าลองไปค้นดูภาษาอังกฤษ ที่สำนักราชบัณทิต อังกฤษ แปลเอาไว้จะกระจ่างครับ เค้าแปล อปฺปมาเทน = be mindful หรือคือมีสติ (ความรู้ตัวทั่วพร้อม)
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 29/01/2009
ขอบคุณครับคุณนันท์ ขอบคุณคุณผู้อ่านด้วยครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 30/01/2009
สวัสดีค่ะทุกๆท่าน

อยากบอกว่า ขอบคุณมากๆๆ สำหรับทุกคำแนะนำค่ะ

ขอบคุณ คุณนันท์ ที่สละเวลามาให้ความกระจ่าง อธิบายได้ชัดเจน เห็นภาพและเข้าใจ ทำให้ดิฉันสามารถผ่านกฏข้อที่ 5 ไปได้แล้ว เย้ เย้

เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ วสันต์ ค่ะ ว่า อ่านได้ถูกเล่ม และ ถามถูกคนจริงๆ :)

ขอบคุณ คุณ karn ที่มาช่วยแชร์ความคิดเห็น เป็นประโยชน์มากจริงๆ ทำให้เข้าใจอะไรๆเยอะขึ้นด้วยค่ะ

ขอบคุณ คุณแฟนพันธ์แท้ กับหัวข้อ พลังงาน….และข้อมูล มาพิจารณาดูแล้วมีหลายอย่างเกิดขึ้นจริง กับชีวิต ดิฉัน เดี๋ยวไว้ ไปแชร์อีกที ในหัวข้อนั้นค่ะ

ตอนนี้ก็รู้แล้วว่าตัวเองมาถูกทาง รู้สึกอิ่มใจค่ะ ที่ได้รับคำแนะนำดีๆ จาก "ผู้รู้" และรู้สึกได้ว่าทุกท่านเป็น "ผู้ให้"

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนนะคะว่า "เป็นผู้น้อย ด้อยปัญญา" เห็นลีลาการเขียน การตอบของท่านทั้งหลาย ในกระทู้แล้วรู้สึกว่าทุกท่าน "ขั้นเทพ"

ดิฉันเพิ่งเข้าเว็บไซต์นี้ครั้งแรก เมื่อ 2- 3 วันที่แล้ว เพราะเข้ามาลงทะเบียนหนังสือส่งต่อ และก็ได้อ่านกระทู้ ถาม-ตอบ

เจอเรื่องราว ความรู้มากมาย เลยอยากจะขอร่วมเป็นสมาชิกใหม่ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อยากจะมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง และที่สำคัญอยากจะพัฒนาศักยภาพภายในของตนเองค่ะ

ชื่อผู้ตอบ : kiki ตอบเมื่อ : 30/01/2009
คุณ kiki ครับ ในความคิดผม ความรู้ก็เป็นเพียงความรู้ครับ เป็นแค่เนื้อหาชนิดหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้สำคัญอะไรมากหรอกครับ เพราะวัดกันไม่ได้ ดังนั้น เชื่อมั่นในตนเองว่าจะมีศักยภาพที่ดีขึ้นไว้นะครับ อย่าไปกังวลเรื่องอื่น เดี๋ยวมันมาเอง ให้กำลังใจครับ

คุณนิกครับ บาร์หมายถึงบาร์จริงๆครับ ผมขายเหล้าให้คนดื่มครับ เป็นร้านเงียบๆ มีหนังสืออ่าน คล้ายร้านกาแฟ จุดเทียน บรรยากาศเหมาะกับคนซึมเศร้า แต่อย่างไรก็ดีผมมีความสุขและสนุกสนานกับลูกค้าจิตป่วยทั้งหลายครับ มันส์ดี

ขอบคุณความรู้ดีๆจากคุณผู้อ่านครับ ผมเพลาๆอจินไตย ข้อสี่ลงแล้วครับ
ชื่อผู้ตอบ : karn ตอบเมื่อ : 30/01/2009
ด้วยความยินดีต้อนรับเป็นอย่างยิ่ง ครับคุณ kiki ให้เป็นสมาชิกตลอดชีพเลยดีไหมครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 30/01/2009
ขอบคุณค่ะ :)
ชื่อผู้ตอบ : kiki ตอบเมื่อ : 01/02/2009


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code