เรื่องด่วน!
รายงานข่าวโดยนิกกี้มาแทนคำรน หว่างหวังศรี ในข่าวช่วยชาวบ้าน(ชาวจิตวิญญาณ)
ช่วงนี้ชี้แนะ
วิกฤติหนังสือ self-help ทางจิตวิญญาณของไทยตอนนี้เกิดการขาดแคลนอย่างรุนแรง ที่เห็นมีผลิตอยู่ก็น้อยมากเช่นสนพ.ต้นไม้ก็มีของดร.เวย์นที่เนื้อหาดีเพียง3เล่ม ดีพัค1เล่ม สนพ.นันท์บุ๊ค1เล่ม(เล่มเดียวเลิกรึเปล่าไม่แน่ใจ) ohmygodมีสนทนากับพระเจ้า2เล่ม(ไม่นับเล่มอื่นของสนพ.นี้เพราะไม่ใช่self-helf)มีที่จะออกคือ what the bleep, the celestine prophecyซึ่งก็ยังไร้ซึ่งร่องรอยและเบาะแส ซึ่งพอดูหนังสือทางจิตวิญญาณในเว็บ amazon.comนั้นมีเกลื่อนไม่รู้กี่หมื่นเล่ม ขอเชิญผู้เกี่ยวข้องเร่งตระหนักถึงปัญหา และแก้วิกฤตินี้โดยเร็วเพื่อบันเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวบ้าน(ชาวจิตวิญญาณ) ช่วยเร่งแปลหนังสือแนวนี้มากๆหน่อยครับ ไอ้พวกหนังสือพาทัวร์นรกพักไว้ก่อนครับเพราะช่วงนี้ท่องเที่ยวก็ซบเซาอยู่มาชวนทัวร์โลกมนุษย์ไม่ดีกว่าหรือครับเจ้านาย
ชื่อผู้ส่ง : นิก ถามเมื่อ : 09/12/2008
 


หนังสือ quantum of success ออกเป็นภาษาไทยหรือยังครับ
ผมคุยกับคุณวันชัย บอกว่าก่อนงานสัปดาห์หนังสือปีหน้า แต่ผมใจร้อน อยากอ่านครับ เพราะคำโฆษณาของคุณนิกครับ จะไปดูเล่มภาษาอังกฤษ ก็แพง และยุ่งยากในการสั่ง เลยรอเล่มไทยดีกว่าครับ

ถ้าคุณนิกได้มีโอกาสคุยกับคุณวันชัย ฝากถามให้หน่อยนะครับ เพราะผมอยากอ่านมาก คิดว่าถ้าออกมาคงจะช่วยลดวิกฤตขาดแคลนหนังสือ self-help ตามที่คุณนิกกังวล ได้ครับ

:)
ชื่อผู้ตอบ : ผู้อ่าน ตอบเมื่อ : 09/12/2008
น้อยแต่มาก มากแต่น้อย
สงสัยต้องเลือกเอา แล้วละครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 12/12/2008
ไม่เข้าใจที่คุณนันท์หมายถึงครับ
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 13/12/2008
มันเป็นปรัชญา แนวเซนครับคุณนิก ใช่ความคิดแบบเหตุผลไม่น่าจะสำเร็จ( เข้าใจความหมาย ) .........คมคายจริง ๆ....
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 13/12/2008
มีให้จำนวนน้อย(เล่ม/ชนิด) แต่สามารถเข้าใจได้ถ่องแท้นำไปใช้เกิดประโยชน์มากมาย.....นับไม่ถ้วน(อินฟีนิตี้)

กับมีหลายพันเล่ม...แต่เข้าใจแบบผิวเผิน(เพราะมัวแต่รนหรือกังวลว่าจะต้องอ่านให้จบ......หรือกังวลว่าจะไม่ได้เป็นแชปป์นักอ่าน) แต่สับสนเลือกไม่ทัน/ไม่ถูกว่าจะหยิบอันไหนก่อนดี?????

แปลแบบนี้พอได้มั้ยคะ?
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 13/12/2008
ไม่ได้ใช้ตรายางนี้มานาน..ตามที่คุณนันท์ และคุณแฟนพันธุ์แท้ว่ามานั้น.."สำเนาถูกต้อง" ครับผม
ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 13/12/2008
ครับเห็นด้วยกับคุณนันท์ วิทยดำรง คุณแฟนพันธุ์แท้ อ.วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 14/12/2008
คุณนิกครับ ผมคิดว่า หนังสือที่คุณนิกเอ่ยถึงไม่ว่าจะเป็นของเวย์น ไดเออร์ ดีพัค โชปรา และนีล โดนัล วอทซ์ ล้วนเป็นหนังสือที่เปรียบเหมือนอาหารที่ย่อยยากแต่ให้คุณค่ามากอยู่แล้ว ผมคิดว่าถ้าคุณนิกอ่านจนเข้าใจถึงแก่นแล้ว ก็จะทำให้มีความอื่มตัวในหนังสือแนวจิตวิญญาณพอสมควรแล้วนะครับ คือ รู้ความจริงมากพอที่จะทำให้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขได้ แก้ไขปัญหาต่างๆได้ รวมถึงขจัดความทุกข์ต่างๆได้ครับ

แต่ถึงกระนั้น การอ่านหนังสือก็ยังจำเป็นนะครับ เพราะ จะให้ความรู้ใหม่ๆ หรือช่วยเสริมปัญญาให้กับเราครับ ผมพบหนังสือ 2 เล่ม ใน 50 Spiritual Classics ที่Tom Butler-Bowdonรวบรวมไว้ครับ
-THE JOUNEY TO IXTLAN :LESSONS OF DON JUAN
http://olddreamz.com/bookshelf/ixtlan/ixtlan.html
-JONATHAN LIVINGSTON SEAGULL
http://olddreamz.com/bookshelf/jonathan/jonathanseagull.html
-คุณนิกถ้าสนใจก็เชิญอ่านนะครับ แต่ผมไม่รู้ว่าจะใช่จิตวิญญาณแนวฮาวทูรึเปล่า แต่ต้องมีประโยชน์แน่ล่ะคับ
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 14/12/2008
น่าสนใจมากทั้ง 2 เล่มครับคุณพีระพงศ์
สำหรับ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน เล่มหลังนี่ผมอ่านมาตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ
เป็นหนึ่งในหนังสือคลาสสิคสุด สำหรับหนุ่มสาวผู้แสวงหาในยุคนั้น
จำได้ว่าผมอ่านด้วยความตื่นใจ แม้ขณะนั้น ที่อ่านครั้งแรกจะยังไม่เข้าใจความหมายที่อยู่เบื้องหลังมากนัก ขอเอาประโยคอมตะจากหนังสือเล่มนี้ มาฝากครับครับ

"ร่างกายของเธอทั้งหมดจากปลายปีกหนึ่งสู่อีกปีกหนึ่ง ไม่ใช่อะไรอื่น
นอกจากความคิดของเธอเอง . ."

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 14/12/2008
ว่าแต่ตอนนี้ ไม่ทราบว่าคุณนิกเจ้าของคำถามมีความเห็นเป็นอย่างไรบ้างครับ ขอเชิญมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันหน่อยครับ

แล้วก็อีกอย่างครับ หนังสือแนวจิตวิญญาณในประเทศไทยก็มีหลากหลายแนวมาก แม้ส่วนใหญ่จะเป็นแนวพุทธ ไม่ใช่แนว self-help แต่ผมคิดว่ามีประโยชน์นะครับ อย่างหนังสือธรรมะ ชื่อ หิมะกลางฤดูร้อนก็น่าสนใจครับหรือจะเป็นคำสอนของพระอาจารย์ปราโมชย์ ปราโมชโช ที่http://www.wimutti.net/ครับ
และยังมีหนังสืออื่นๆ เช่น สนทนากับภควันไสบาบา(ศรีสัตยาไสบาบาที่ ดร.อาจอง ชุมสายนับถือครับ)
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 14/12/2008
ถ้าจำไม่ผิด อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤธิ์ ปราโมช ท่านเป็นผู้แปลไว้ ใช่ไหมครับคุณนันท์ ได้อ่านตอนเป็นนักศึกษาอยู่เช่นกัน ก็เพิ่งไม่กี่ปีมานี้เอง เอ้อ คือก็ไม่กี่สิบปีมานี้เอง (ฮา)

ผมจึงได้มีความเห็นว่า เราควรได้อ่านวรรณกรรมดีๆ บทกวีดีๆ ฟังเพลงดีๆ ดูหนังดีๆ ไปในที่ดีๆ พบปะพูดคุยกับคนดีๆ ที่มันไม่ต้อง hard-core กันบ้าง ความคิด จิตใจ อารมณ์ ร่างกาย มันจะได้ละเมียดละมัย ละมุนละม่อม กลมกล่อม กลมกลืน มิฉะนั้น เอะอะอะไรก็กฎแห่งการดึงดูด เอะอะอะไรก็ Quantum เอะอะอะไรก็ไปเจอกันที่จุดสูงสุด พบกันที่เส้นขอบฟ้า เอะอะไรก็จงพุ่งไปข้างหน้า จงไปคว้ามันมา จงผงาดฟ้าท้าดาว จงทุบหม้อข้าว จงเผาสะพาน เอะอะไรก็รวย รวย รวย ฯลฯ

คุรุทุกท่านจึงสอนเราว่า "ถ้านักเรียนพร้อม ครูก็จะปรากฏตัวขึ้น" ถ้าเราพร้อม อะไรก็เป็นครูเราทั้งนั้น ไม่มีวันที่เราจะขาดแคลนครู ไม่มีวันที่เราจะขาดแคลนหนังสือดีๆ นักเรียนที่พร้อมนั้น นั่งดูต้นไม้ใบหญ้า แหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้าดูดวงดาว ดวงจันทร์ ทอดสายตามองไปในทะเล ก็เกิดการเรียนรู้ได้ แต่ถ้านักเรียนไม่พร้อม ต่อให้มีมหาคุรุอยู่รอบกาย มีมหาคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์อยู่รายรอบ ก็ยังรู้สึกว่าไม่สามารถจะเรียนรู้อะไรได้

คนที่รู้สึกว่า "ขาดแคลน" นั้น จริงๆ แล้ว ก็คือคนที่ไม่เคยรู้ว่าตนเอง "ต้องการ" อะไรจริงๆ คนที่เอาแต่ "แสวงหา" อยู่ชั่วชีวิต ก็ไม่เคยค้นพบอะไรได้ มีแต่คนที่ "ค้นหา" เท่านั้น ที่จะ "ค้นพบ" และเมื่อค้นพบแล้ว เขาก็จะ "สร้างสรรค์" ตนเองไปสู่ความเป็นเลิศได้



ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 15/12/2008
ตอนนี้ผมก็ไม่ค่อยชอบแนวกฏแห่งการดึงดูดเท่าไรแล้วครับเห็นว่ามันไม่ค่อยละเมียดละไม ผมชอบความคลาสิกของหนังสือของดีพัค โชปรา แล้วก็มีเล่มที่แนวเดียวกับโชค ดวง ความบังเอิญฯคือBeyond the secret ซึ่งจะทำให้เรามีความปรารถนาที่จิตวิญญาณต้องการไม่ใช่อัตตาต้องการ ออกภายในสัปดาห์นี้แล้วครับ ใครชอบแนวจิตวิญญาณอย่าลืมอุดหนุนนะครับ ส่วนอีกเรื่องนึงผมมีความรู้สึกว่าในที่นี้คุณแฟนพันธ์แท้จะแยกของสนพ.ต้นไม้ออกเป็น2แนวคือแนว มั่งคั่ง สมหวัง ทำจิตใจให้เชื่อมั่น แรงจูงใจเต็มจิตใต้สำนึก กับแนวของดร.เวย์นกับเอ๊คฮาร์ท โทเล่อใช่ไหมครับ ผมรู้สึกว่ามันไม่ต่างกันเท่าไรนัก ไม่งั้นทำไมดร.เวย์นผู้ชื่นชอบทางจิตวิญญาณถึงมาเขียนคำนำให้คัมภีร์สมใจนึกแนวแบบมั่งคั่งสมหวังล่ะครับ
ส่วนเรื่องควันตัมตอนนี้ทีมงานจิตวิวัฒน์ของพวกคุณหมอประเวศท่านก็กำลังสนใจอยู่มากพอสมควรนะครับ ทำไมอจารย์วสันต์ไปว่าเค้าล่ะครับ
ส่วนที่พูดว่าน้อยนั้นเป็นการเร่งอีกรูปแบบนึงครับ คือสนพ.โอ้มายก้อดเนี่ยเขากำลังทำหนังสือจิตวิญญาณฟอร์มยักษ์ของโลกอีกเล่มนึงออกมาคือ celestine prophecy ครับ ถ้ามองดีดีผมมาเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิญญาณมากขึ้นก็เพราะหนังสือดร.เวย์นของสนพ.ต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ต้องขอบคุณคุณวันชัย อ.วสันต์อย่าไปเหน็บแนมแกมากนักเลยครับ ผมรู้ว่าอาจารย์อัตตาก็ยังเยอะเหมือนผมเนี่ยแหละ แล้วเราก็ยังต้องศึกษากันต่อไปครับ
ยังไงฝาก celestine prophecy กับ beyond the secretสำหรับคนชอบแนวจิตวิญญาณนะครับ ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 15/12/2008
อืม แต่ผมก็ยังอยากทราบอยู่ดีครับ ว่าคุณนิกใช้ประโยชน์จากหนังสือที่อ่านไปแล้วได้มากแค่ไหน เพราะ คนเขียนหนังสือเหล่านั้นจูงใจให้เราเชื่อว่า ถ้าอ่านแล้วทำจริง จะทำให้ชีวิตดีขึ้น ง่ายขึ้น มีความสุขขึ้นอย่างมากๆ แล้วก็น่าจะหยุดหาหนังสือที่ผู้แต่งสัญญาไว้ทำนองเดียวกันนะครับ เหมือนว่าอิ่มแล้วอะคับ (แต่ถ้าคุณนิกอ่านจนเข้าใจแจ่มแจ้งเสียหมดแล้ว แล้วนำไปใช้ได้จริง ผมก็ยินดีด้วยครับ และถ้าพอใจก็สามารถอ่านเล่มอื่นๆเพื่อซึมซับประโยชน์ เพิ่มพูนความรู้ครับ)

ผมว่าอ.วสันต์ไม่ได้มีเจตนาที่จะว่ากล่าวหนังสือแนวกฏแห่งแรงดึงดูดหรอกครับ เพราะ ท่านเองก็จัดอบรมเกี่ยวกับกฎแห่งการดึงดูดอยู่ครับ อ. คงเพียงแต่อยากแนะนำให้คุณนิก ลดความรู้สึกเกี่ยวกับการแสวงหาหนังสือลงนะครับ (ผมเดาว่าอ.คงคิดว่าคุณนิกจะมุ่งอ่านหนังสือแนวนี้มากจนเกินพอดีน่ะครับ เดานะครับ เดา) อาจารย์ท่านจึงกล่าวให้ลองเลิกอ่านหนังสือ แล้วลองอ่านจักรวาลด้วยความพร้อมดูบ้างนะครับ

คำว่าพร้อมของผม หมายถึง ความรู้สึกตัว รู้เฉยๆ รู้ซื่อๆนะครับ

แต่ถึงกระนั้นผมก็ยังคิดว่าการมีหนังสือแนวจิตวิญญาณมากย่อมดีกว่าการมีน้อยครับ แต่ต้องไม่ใช่หนังสือที่พิมพ์ออกมาเพื่อแข่งขันตีตลาด โกยเงินกัน อย่าง เดอะ คีย์ ของโจ วิเทล แจ๊ค แคนฟีลล์ คีย์ ของแจ๊ค แคนฟีลล์
เดอะซีเคร็ต เดอะลอว์ ออฟ แอตแทรกชัน เพราะ หนังสือ พวกนี้มีเนื้อหาคล้ายกีน มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน ถ้าหนังสือเล่มหนึ่งให้ผู้อ่านได้ตามที่โฆษณา หนังสือเล่มอื่นก็เหมือนจะหมดความหมายไป จึงต้องเลือกอ่านหนังสือที่มีเนื้อหา ต่างกัน จะทำให้ได้รับความรู้มากขึ้นครับ

คุณนิกช่วยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผมด้วยนะครับ ถ้าไม่รังเกียจ

(สำหรับหนังสือจิตวิญญาณ) การอ่านเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเข้าใจในสิ่งที่อ่านและนำไปใช้ได้จริงสำคัญกว่าครับ
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 15/12/2008
ใช่ครับท่านอาจารย์ครับ เขียนโดย ริชาร์ด บาค มีแปลสองครั้ง ม.ร.ว.คึกฤธิ์ ปราโมช น่าจะแปลก่อน ที่ท่านอาจารย์ได้อ่านนั่นแหละครับ ครั้งหลังนี่เป็น อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ฉบับที่ผมได้อ่าน

คุณพีระพงศ์ ครับ ผมเองมีเล่ม "Conversations with Bhagavan Sri Sathya Sai Baba" แปลเป็นไทยชื่อ "พบแสงสว่าง" เหมือนกัน คุณพีระพงศ์ รู้จักหรือตามอ่านงานของท่านไสบาบา จากเหตุใดเหรอครับ ปกติหนังสือของท่านเข้าใจว่าไม่ได้มีขายทั่วไปนี่ครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 15/12/2008
ขอบคุณคุณพีรพงศ์ครับ คุณพูดแทนผมได้อย่างที่อยากพูดจริงๆ บางทีเราก็อ่อนใจกับการจับคำพูดเล็กๆ น้อยๆ ไปตีความ โดยไม่ได้พิเคราะห์เจตนารมย์ หรือจุดมุ่งหมายเป็นสำคัญ ผมเป็นคนหัวโบราณ อ่านความคิด ความเห็นของใครแล้ว ก็มักจะนึกถึงโคลงโลกนิติ ที่มีอยู่หลายบทที่สอนใจเราได้ เช่น

"ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร
มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน ควรทราบ
หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ บอกร้าย แสลงดิน"

คนบางคน แค่พูดมาประโยคเดียว ก็รู้แล้วว่าโง่หรือฉลาด ผมอ่านความเห็นของคุณพีรพงศ์ (รวมทั้งคุณนีโอ ที่เพิ่งคุยกันในกระทู้อื่น) ก็รู้ได้ทันทีว่าคุณอ่านหนังสือแล้วรู้จัก "ย่อย" รู้จัก "แยกแยะ" หลายคน แม้อ่านมาก แต่ก็มักป็นไปตามโคลงโลกนิติ บทที่ว่า

"รู้น้อยว่ามากรู้ เริงใจ
กลกบเกิดอยู่ใน สระจ้อย
ไป่เห็นชะเลไกล กลางสมุทร
นึกว่าน้ำบ่อน้อย มากล้ำ ลึกเหลือ"

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 16/12/2008
เห็นด้วยกับคุณพีระพงศ์ครับที่หนังสือแนวกฏแห่งการดึงดูดเนี่ยรู้สึกจะมีมากจนกลายเป็นการตลาดเน่าเฟะมากไปหน่อย ซึ่งทำให้ยึดติดได้มากเหลือเกิน ซึ่งบอกตามตรงครับว่าตอนนี้ผมชอบอ่านแนวจิตวิญญาณมากกว่าแนวกฏดึงดูดหรือจิตใต้สำนึกมากทีเดียวเพราะอยากได้ใช้ชะตาชีวิตที่แท้จริงแบบที่จิตวิญญาณของเราที่รู้มากกว่ากิเลสของเราเนี่ยมันพาไปน่ะครับ แล้วก็รู้สึกชื่นชมถึงความงดงามของหนังสือแนวจิตวิญญาณของดีพัค โชปรา ดร.เวย์น โอโช่ หรือสนทนากับพระเจ้ามากที่เดียวเพราะมันทำให้ผมเข้าใจว่าความบันเทิงเริงรมณ์กับเทพนิยาย ดนตรี ศิลปินพวกนี้ไม่ขัดกับจิตวิญญาณ
ต้องขอโทษอย่างสูงครับอาจารย์วสันต์ที่ใส่อารมณืมากเกินไปหน่อย ผมอาจจะยังไม่มีวุฒิภาวะจริงที่อาจารย์ว่าผมไว้ในบทกลอนนั่นแหละครับ คือผมอาจจะเหมือนต่อต้านมากไปซึ่งต้องทำให้ต่อต้านน้อยลงหน่อยจะได้เจอของดีอย่างที่คุณนันท์ว่าแหละครับ แต่ผมจำได้ที่อ.วสันต์บอกต้นแบบของอาจารย์คือ พระสรัสวดี ราฟด์ วัลโด อีเมอร์สัน ซึ่งถ้าทายไม่ผิดน่าจะเกี่ยวกับเรื่องนักปัชญาใช้ไหมครับ ผมหาต้นแบบแล้วก็รู้สึกว่าต้นแบบของผมคือเชคสเปียร์ จอห์น คีทส์ผู้รังสรรค์วรรณกรรมที่งดงามให้ประจักษ์ตาแด่คนทั้งโลก แล้วก็วอลส์ ดีสนีย์ที่ให้ความสุขและสนุกสนาแก่เด็กๆรวมทั้งคนหนุ่มสาว ความคลาสิกของสิ่งต่อไปนี้จับจิตวิญญาณผมอย่างมาก ผมจึงhurtพอสมควรที่หนังสือแนวจิตวิญญาณบ้านเราบอกว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องผิดบาปแถมศิลปินต้งตกนรก ซึ่งมันไม่ยุติธรรมกับความสร้างสรรค์ของพวกเขา ก็เลยระบายออกมาเป็นว่าหนังสือจิตวิญญาณบ้านเราขาดแคลนซึ่งในที่นี้ผมก็เลยไม่ได้นับของพุทธด้วยเพราะกระเทือนใจเรื่องนี้แหละครับ
ส่วนที่ผมแย้งอาจารย์วสันต์เรื่องควันตัมเพราะผมเข้าใจว่าอาจารย์คิดว่ามันออกแนวไปทางอัตตามากไปหน่อยซึ่งผมคิดว่ามันสนับสนุดความเชื่อมโยงระหว่างสรรพสิ่งด้วยซ้ำ ที่ไหนได้อาจารย์หมายถึงคนที่หมกมุ่นเรื่องนี้มาก ผมไม่ได้ตีความให้ดีต้องขอโทษอย่างสูงครับ
ชื่อผู้ตอบ : นิก(ผู้คลั่งไคล้จิตวิญญาณ โดยหลักการที่งดงาม) ตอบเมื่อ : 16/12/2008
ครับ ดีใจที่คุณนิกมาแลกเปลี่ยนความเห็นครับ ตอนนี้เมื่อผมพิจารณาคำพูดของคุณนิกดีๆแล้ว ผมรู้สึกว่าเข้าใจคุณนิกมากขึ้นครับ ทั้งเรื่องที่บอกว่าหนังสือแนวจิตวิญญาณแนวที่คุณนิกชอบบ้านเราน้อย ตรงนี้เห็นด้วยครับ เพราะ แนวพุทธส่วนใหญ่ที่เขียนออกมา จะสอนให้เรามองเห็นความจริงที่สุดของชีวิต โดยการเจริญสติเพื่อให้ถึงนิพพานโดยตรง หลวงพ่อปราโมช ท่านสอนให้เห็นว่าจิตเป็นของไม่เที่ยง กายก็ไม่เที่ยง ซึ่งผมว่ามันก็ยากอยู่เหมือนกัน

ผมเองก็อยากให้มีการผลิตหนังสือแนวที่คุณนิกเอ่ยถึงมากขึ้นครับ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ แต่ผู้ผลิตควรเลือกเล่มที่อ่านเข้าใจง่าย เนื้อหาใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นสากล ไม่มุ่งเรื่องการตลาดน่ะครับ เป็นหนังสือที่ชี้นำให้คนทั่วไปเห็นความจริงของชีวิตเพื่อใช้แก้ไขปัญหา บรรเทาความทุกข์ใจ
ดำเนินชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น รู้ว่าสิ่งใดควรทำไม่ควรทำ เมื่อทำผิดก็รู้ว่าทำผิด เมื่อโกรธก็รู้ว่าโกรธ เมื่อยึดติดก็รู้ว่ายึดติด มีจิตใจที่สร้างสรรค์มากขึ้น เช่น ไม่ต้องการจะทำให้ใครมีความทุกข์ ต้องการให้เพื่อนมนุษย์ทุกคนมีความสุข แม้คนๆนั้นจะเพิ่งทำร้ายเรา ด่าเรา ว่าเรา เราก็ยังคงปรารถนาดีต่อเขาได้ ครับ

จากการอ่านความเห็นของคุณนิกที่เพิ่งตอบมา ก็แสดงให้เห็นว่าความตั้งใจของคุณนันท์ สำนักพิมพ์โอ้มายก๊อด สำนักพิมพ์ต้นไม้ก็เป็นจริงเหมือนกัน
คุณนิกตอบได้อย่างมีสติค่อนข้างมากครับ

ตัวผมในตอนนี้ก็รอคอยการออกใหม่ของหนังสือที่คุณนิกพูดถึงเหมือนกันเป็นการรอคอยอย่างมีความหวังว่า ความจริง ในหนังสือเล่มนั้น จะทำให้ชีวิตของผมมีคุณค่าต่อพ่อแม่ ครอบครัว คนรัก และเพื่อนมนุษย์มากกว่าที่เป็นอยู่ หวังว่ามันจะช่วยให้ผมทำสิ่งที่สมควรทำได้มากกว่าเดิม

ถ้าเป็นตัวผมในสมัยก่อน ตอนนี้ก็คงจะรอการออกใหม่ของหนังสือที่เจ๋งกว่าที่ผมมีอยู่ สุดยอดกว่าที่ผมมีอยู่ ผมมักจะเทียบเคียงว่าหนังสือเล่มไหนดีกว่า เจ๋งกว่า ผมซื้อหนังสือมามาก ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความสำเร็จ และจิตวิญญาณ ผมซื้อทั้งหมดมาด้วยความรู้สึกที่ไม่อิ่ม และหนังสือส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้อ่าน บางเล่มเนื้อหาใกล้เคียงกัน

ผมจึงห่วงว่าคุณนิกจะเป็นเหมือนผมในอดีตคือแสวงหามากจนลืมไปว่าเรามีของที่กำลังหาอยู่ อยู่แล้วน่ะครับ จึงควรใช้ประโยชน์ของที่เรามีอยู่ครับ

ผมคิดว่าคุณนิกควรทำความเข้าใจ ย่อยความรู้ทั้งหมด โดยการไตร่ตรองทุกสิ่งที่ได้อ่านไป ด้วยนะครับ แล้วค่อยหาความรู้ที่แตกต่างอ่านเพิ่มไปก็ดีครับ ถ้าทำอยู่แล้ว ก็รู้สึกยินดีด้วยครับที่คุณนิกได้ประโยชน์จากหนังสือที่มีอยู่และจะได้เพิ่มมากขึ้น จากการอ่านหนังสือเล่มอื่นๆอีกครับ

ผมขอให้ความเข้าใจคุณนิกอีกเรื่องหนึ่งครับ คือ พระพุทธเจ้าไม่ได้กำหนดความจริงต่างๆขึ้น ท่านเพียงแค่ค้นพบสิ่งที่มีอยู่แล้วเท่านั้น ท่านไม่ได้บัญญัติว่า การเป็นศิลปินจะต้องตกนรกหรอกครับ และศิลปินก็คงไม่ตกนรกหรอกครับ(ตามความเข้าใจผมนะครับ) คือ ถ้าศิลปินที่ถ่ายทอดงานของเขาออกมาโดยหวังให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความจริงบางอย่าง เห็นบางสิ่งที่ดีงาม เช่น ความงดงามของความรัก คุณค่าของความเอื้ออาทร ห่วงใยกันน่ะครับ ผมว่าศิลปินที่มุ่งสร้างสรรค์โลกไม่มีทางตกนรกหรอกครับ เป็นไปไม่ได้ แต่ที่มีโอกาสตกนรก คือ ศิลปินที่มุ่งมอมเมาโลก สร้างงานที่กระตุ้นให้คนสั่งสมกิเลส และความหยาบช้า เช่น ละครน้ำเน่าที่พบเห็นกันได้ตามหน้าโทรทัศน์ทั่วไป ละครเหล่านี้ ล้วนทำให้คนที่ดูอยู่เกิดความรู้สึกร่วมเหมือนกับอยู่ในเหตุการณ์จริง บางคนก็โกรธจัด ด่า ว่าแค้นเคืองตัวละคร หรือทำให้ผู้คนหลงในรูป รส กลิ่นเสียง ราคะ มากขึ้น ศิลปินพวกนี้จึงมีส่วนทำให้โลกไม่น่าอยู่มากขึ้นครับ ( บ้านผมเคยมีปัญหาทะเลาะกัน เพราะ รำคาญเสียงด่าตัวละครในทีวีด้วย ) ดังนั้น ผมนอนยัน ยืนยัน นั่งยัน ว่าศิลปินที่สร้างสรรค์โลก ไม่มีทางตกนรก ครับ

แล้วก็ จิตวิญญาณโดยหลักการที่งดงามเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ความคลั่งไคล้เป็นความหลง พระพุทธเจ้า พระเยซู พระนบีมูฮัมมัด เป็นบุคคลที่ดีงาม แต่เราก็ไม่ควรคลั่งไคล้ไหลลง แต่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง ครับ

หวังว่าคุณนิกจะมาแลกเปลี่ยนความเห็นต่อนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 16/12/2008
คุณนันท์ครับ ผมยังไม่ได้ซื้อและก็ยังไม่ได้อ่าน Conversations with Bhagavan Sri Sathya Sai Baba หรอกครับเพียงแต่เคยพบที่ดับเบิ้ล เอ บุคส์ทาวเวอร์ครับ แต่เห็นแล้วน่าสนใจจึงลองแนะนำดูครับ แล้วหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างไรบางครับ เผื่อผมจะได้ไปซื้อมารับประโยชน์บ้างครับ

(เห็นการแสดงออกของคุณนันท์แล้วรู้สึกนับถือจริงๆคับ)
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 16/12/2008
ต้องขอบอกว่า ชื่นชมคุณพีระพงศ์ เช่นกันครับ จากมุมมองต่างๆ ที่มีให้กับผมและทุกคนในที่นี้

เรื่องหนังสือ "Conversations with Bhagavan Sri Sathya Sai Baba" นั้น เนื้อหาเกิดจากการที่ Dr. John S. Hislop ซึ่งเป็นคนอเมริกัน ได้มีโอกาสพูดคุย ตั้งคำถาม ด้านความเชื่อด้านจิตวิญญาณกับท่านไสบาบา ซึ่งผู้เลื่อมไสที่มีอยู่มากมาย เชื่อว่า-รวมทั้งท่านบอกเองว่า ท่านคือ องค์อวตาร ที่ลงมาเกิดในร่างมนุษย์ อีกครั้ง

เนื้อหาที่ท่านไสบาบา ได้พูดไว้ เป็นเรื่อง หลักคำสอน และความเชื่อ ทางศาสนาฮินดู ครับ

ซึ่งต้องเรียนคุณพีระพงศ์ให้เข้าใจก่อนว่า ท่านไสบาบา ท่านได้ตอบหรือพูด หรือทำทุกสิ่ง ภายใต้ฐานะท่านเป็นต้นกำเนิด หรือเป็นพระเจ้าเอง ไม่ใช่ผู้เกิดมาฝึกปฏิบัติ และศึกษาฮินดูแล้วจึงรู้ แต่ในฐานะ เป็นต้นเรื่อง หรือรู้ทุกเรื่อง ย้อนตั้งแต่อดีต เช่น เรื่องสงครามมหาภารตะ แต่ทั้งหมดนั้น ถูกถามหรือคุยแบบแยกส่วน และหลายเรื่อง สลับไปมาเลยต้องบอกว่า แนวความรู้สึกที่มีต่อหนังสือ จะเป็นเช่นนั้น

ผมขออนุญาตไม่สรุปว่าเป็นอย่างไร แต่ส่วนตัวผมเอง อ่านแล้วก้ได้รับประโยชน์อยู่พอสมควรครับ หากต้องการเปิดมุมมองแบบใหม่ก็ลองดูครับ

ขอเล่าเกร็ดส่วนตัวเสริม เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ผมเองได้มีโอกาสเดินทางไปทำงานชิ้นหนึ่ง ให้กับองค์กรสัตยาไส ที่เมืองปุตตปาร์ตี ประเทศอินเดีย อันเป็นที่พำนักของท่านไสบาบา โดยเป็นงานที่ผ่านมาทางกลุ่มผู้เลื่อมไสในไทย และคณะของท่านดร.อาจอง เลยทำให้ได้มีโอกาสศึกษา อ่านหนังสือเกี่ยวกับท่านไสบาบา และได้พบเห็น นอกเหนือจากแค่เคยได้ยินชื่อท่านมาก่อนหน้านั้นครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 17/12/2008
จำแนกแยกย่อย ดีจังครับ คุณพีระพงศ์ ขอบคุณครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 17/12/2008
คุณพีรพงศ์ อายุเท่าไหร่กันครับนี่? (ขออนุญาตเอาความลับมาเปิดเผยหน่อย หวังว่าคุณนีโอจะไม่ว่า คุณนีโออายุเพียง 29 ปี) ถ้าให้ผมเดา คุณพีรพงศ์ ก็ไม่น่าจะเกินสามสิบ เช่นกัน คุณสองคน อายุเพียงเท่านี้ ทำไมถึงได้สามารถคิด และแสดงความเห็นอะไรไปได้ถึงขนาดนี้ ขอทั้งสองท่าน ได้รับการคารวะจากผู้อาวุโส สักคนละหนึ่งจอกด้วยเถิด!

ไหนๆ ก็เป็นนักเลงโบราณไปแล้ว ก็ขอชื่นชมคุณพีรพงศ์ (รวมทั้งคุณนีโอด้วย) ด้วยโคลงโลกนิติ (อีกครั้ง) ที่ว่า..

"คนใดยืนอยู่ร้อย ขวบปี
ความอุตส่าห์ฤามี เท่าก้อย
เด็กเกิดขวบหนึ่งดี เพียรพาก
พระตรัสว่าเด็กน้อย หน่อเนื้อ เวไนย"

ผมรู้สึกว่าคุณสองคนจะเป็น "หน่อเนื้อเวไนย" จริงๆ ด้วย (คำนี้ ไม่ใช่คำหรูหรา ในศาสนาพุทธ เรียกคนที่สามารถจะสอนได้ เรียนรู้จนสามารถที่จะรู้แจ้งได้ ว่าคือ "เวไนยสัตว์")

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 17/12/2008
ก็คงถูกแล้วที่ล่ะครับที่ความคิดผมคงสู้คุณพีระพงศ์กับคุณนีโอไม่ได้เพราะผมอายุแค่20เองครับยังต้องเรียนรู้อะไรอีกมาก สงสัยอายุน้อยที่สุดในเว็บบอร์ดนี้หรือเปล่าเนี่ย
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 17/12/2008
ขอบคุณคุณนันท์ ที่แนะนำครับ ผมว่าก็น่าสนใจนะครับ เกี่ยวกับศาสนาฮินดู เพราะ ตัวผมเองทราบหลักธรรมเกี่ยวกับศาสนาฮินดูน้อยเหลือเกิน ผมเห็นว่าศาสนาฮินดูค่อนข้างแปลกน่ะครับ เพราะ มีคำสอนหลายอย่างที่เป็นความจริงตามธรรมชาติ เป็นหลักการที่ดีงาม แต่แนวคิดหลายอย่างก็ไม่ถูกต้อง อย่างเรื่องการแบ่งชั้นวรรณะ การบูชายันต์ ปกติแล้ว แนวคิด คำสอนที่ดีงามกับแนวคิดคำสอนที่งมงาย และผิดบาป(การบูชายันต์ การฆ่า การแบ่งชนชั้นกดขี่)ไม่น่าจะมีแหล่งกำเนิดจากที่เดียวกันได้ครับ ขอเชิญผู้มีความรู้ช่วยให้ความกระจ่างด้วยครับ

ถึง อ. วสันต์ ถูกครับ ผมอายุไม่ถึงสามสิบครับ ว่าแต่ทำไมอาจารย์วสันต์ถึงทราบล่ะครับ

ถึงคุณนีโอ ดีใจมากครับ ที่ความเห็นผมพอมีประโยชน์ ได้อ่านความเห็นของคุณนีโอที่ผ่านๆมา แล้ว รู้สึกชื่นชมและขอบคุณคุณนีโอมากครับ

ถึงคุณนิกครับ ความคิดและการเติบโตทางจิตวิญญาณ ไม่เกี่ยวข้องกับอายุในปฏิทินครับ ถ้าคุณนิกติดตามผลงานของท่านOSHO คงเคยอ่านหนังสือชื่อ วุฒิภาวะศิลปะของผู้ถึงพร้อม ในเล่มนั้น มีเรื่องหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งตอนที่ท่านOSHO อายุได้ 35 ปี หมอดูได้ดูลายมือท่านแล้วทำนายว่าท่านจะต้องมีอายุ 80 ปีเป็นอย่างต่ำ อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ชายคนหนึ่งถามราล์ฟ วอลด์โด อีเมอร์สันว่าเขามีอายุเท่าไร เขาตอบว่ามีอายุ 360 ปี ทั้งๆที่ตอนนั้นเขามีอายุแค่ 60 ปีเท่านั้นครับ แต่คุณนิกก็พูดถูกตรงที่ "ยังต้องเรียนรู้อะไรอีกมาก" และผมก็หวังว่าคุณนิกจะได้เรียนรู้อยู่ทุกขณะชีวิตครับ รวมถึงทุกท่านในเวบบอร์ดแห่งนี้และตัวผมด้วยครับ
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 17/12/2008
แต่จะพูดว่าความคิดและการเติบโตทางจิตวิญญาณ ไม่เกี่ยวข้องกับอายุในปฏิทิน ก็ไม่ถูกซะทีเดียวครับ เพราะ ถ้าไม่มีประสบการณ์จากการผ่านการแก่ตัว ก็ไม่สามารถเติบโตทางจิตวิญญาณได้ แต่มิได้หมายความว่า คนอายุมากจะมีความคิดและการเติบโตทางจิตวิญญาณมากกว่าคนอายุน้อยนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 17/12/2008
- เออนั้นซิน่ะ อาจารย์แก่เป็นคนมีญาณ( หนังสือใหม่ล่าสุด คุณมนฑานี ตันติสุข ) หรือ เปล่า ถึงได้ทายอายุคุณพีระพงศ์ ได้แม่น เหมือนจับวางเลย เอว่าแต่ แล้วคุณพีระพงศ์ อายุเท่ไรกันแน่ล่ะครับ ( ไม่ถึง 30 แล้วมัน 20-เท่าไรครับ )
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 17/12/2008
คุณพีระพงศ์ครับ เรื่องของฮินดู ผมเองไม่ได้ศึกษาภาพรวมรอบด้านนัก ทราบก็แต่ว่า ฮินดูนั้น มีความเชื่อแตกขยายออกไปมากจริงๆ อาจเป็นเพราะ ฮินดูนั้นมีอายุมายาวนาน พระพุทธเจ้า ท่านก็ทรงเกิดมาท่ามกลางความเชื่อต่างๆ ของฮินดู และแปลกที่ ฮินดูไม่มีศาสดา มีแต่การบันทึกไว้เป็นคัมภีร์ ชื่อ อุปนิษัท ของผู้บรรลุธรรม จึงดูอิสระเสรี จนน่าจะทำให้เกิดความเชื่อที่แตกแขนงไปได้มากมาย และเลยไปถึงเรื่องที่คุณพีระพงศ์ พูดถึง

สำหรับตัวผมนั้น เห็นว่าแก่นความเชื่อ และองค์ความรู้หลัก ที่เป็นหัวใจของฮินดู นั้น น่าสนใจมากๆ ขอย้ำว่าน่าสนใจจริงๆ อาจเป็นเพราะตอนที่ผม ไปได้รู้ได้เห็นประเด็นหลักๆ อันเป็นแก่นคำสอนของฮินดูนั้น ผมไม่รู้มาก่อนว่าพวกฮินดู เขามีสิ่งต่างๆ สิ่งที่คุณพีระพงศ์พูดถึง จำได้ว่าตอนนั้ยังไม่รู้เลยว่า ฮินดูกับศาสนาพราหมณ์ เป็นอันเดียวกัน เลยอาจเป็นโชคดีที่เริ่มรู้จักด้วยการมีภาพพจน์ที่ดี

บ้านเราหาหนังสือที่พูดหัวใจหลักของฮินดูแบบเชิงปรัชญาจริงๆ ได้น้อย อย่างภควัทคีตา ก็จะเป็นเชิงนวนิยายสอดแทรกหลักปรัชญา คนอ่านต้องถอดออกมาด้วยตัวเอง

ผมมีแนะนำหนึ่งเล่ม เป็นปรัชญานิพนธิ์ของ ท่านรพินทรนาถ ฐากูร ชื่อ "สาธนา" แปลโดย ดร.ระวี ภาวิไล เป็นการอธิบายหัวใจของศาสนาฮินดู ในแบบร่วมสมัย อ่านแล้วจับประเด็นได้ง่าย และเปรียบความสัมพันธ์ (relate) กับหลักพุทธศาสนาได้ง่ายด้วย เลยทำให้ตามทัน นี่เป็นเล่มแรกที่ผมอ่านเกี่ยวกับฮินดู เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง อีกอย่างเนื้อหาที่เขียนจะมีแต่แก่นปรัชญา ไม่มีเรื่องของตัวละครหรือมิติขององค์อวตาร มาเกี่ยวข้อง เลยทำให้ไม่ถูกทำให้เขวหรือเข้าใจไปอีกแบบ แต่ไม่รู้ว่าจะยังหาได้อยู่หรือไม่ พิมพ์ครั้งสุดท้ายสงสัยร่วม 20 ปี แล้วกระมังครับ ผมอ่านตั้งแต่เรียนหนังสือจบใหม่โน่น แนะครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 17/12/2008
ดีจังครับ ที่คนต่างรุ่น คุยเรื่องพวกนี้กันรู้เรื่อง ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ควรได้อ่านงานของรพินทรนาถ ฐากูร ตามที่คุณนันท์แนะนำบ้าง รวมทั้งงานของกฤษณะ มูราติ ก็เป็นหนังสือที่คนหนุ่มสาวควรต้องอ่าน (ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเขาเลยทีเดียว มีหนังสือของเขาเกือบทุกเล่ม อ่านมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ปีหนึ่ง โดยเฉพาะ "แด่หนุ่มสาว" นี่ สมัยนั้น นักศึกษาธรรมศาสตร์คนไหน ไม่ได้อ่านเล่มนี้ ต้องไปขุดหลุม แล้วเอาหัวมุดดินสักสามวันเลยทีเดียว แต่สมัยนี้ เห็นเด็กธรรมศาสตร์เดินถือกันแต่ทีวีพูล)

กฤษณะ มูราติ นั้นยิ่งใหญ่ขนาด ดร.เดวิด โบห์ม ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์แนวใหม่ (เป็นกูรูแถวหน้าในการค้นคว้าเรื่องของ Quantum Physics และเป็นต้นกำเนิดของวิชา "Dialogue" หรือ "สุนทรียสนทนา" ที่ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู และคณะ นำมาศึกษา ค้นคว้า ต่อยอด ฝึกอบรม สัมมนา กันอย่างขนานใหญ่ในเวลานี้) ยังต้องเดินทางไปพบ และคารวะ และท่านทั้งสองก็พบปะพูดคุยกันเป็นระยะ ตลอดมานับร้อยครั้ง มีหนังสือบันทึกการพูดคุยของท่านทั้งสองออกมาสามสี่เล่ม

กวีนิพนธ์ เรื่อง "ปรัชญาชีวิต" ของคาริล ยิบราล ก็ควรต้องอ่านนะครับ (แปลโดย ดร.ระวี เช่นเดียวกัน)

คุณนันท์ น่าลองพิจารณาแปลงานของท่านไสย บาบา มาเผยแพร่บ้าง ก็น่าจะดีนะครับ เพราะผมรู้สึกว่ายังมีคนไม่รู้จักทั้งตัวท่าน และคำสอนของท่านอยู่เป็นจำนวนมาก (รวมทั้งผม) และไม่เคยเห็นมีใครทำออกมา แม้แต่คำสอนของมหาฤาษี มเหชโยคี ที่สอนเรื่องการทำสมาธิแบบ TM (Transcendental Meditation) ก็ยังมีคนเขียนออกมาเผยแพร่อยู่บ้าง แต่ของท่านไสย บาบา นั้น เกือบจะไม่มีเอาเลยทีเดียว ที่ผู้คนรับรู้ รับทราบ ก็มักเป็นเรื่องที่ร่ำลือกันถึงอิทธิปาฏิหารย์ของท่าน เช่น เสกแก้วแหวนเงินทอง เสกนาฬิกาโรเล็กซ์ให้ดูกันจะจะ ต่อหน้าต่อตา ฯลฯ อะไรไปในทำนองนี้อย่างเดียวเลย ก็ ลองถามเล่นๆ น่ะครับ เผื่อว่าจะเป็นไปได้

คุณพีรพงศ์ คุณนีโอ คุณสองคน แน่มาก!!

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 18/12/2008
แต่ผมงงว่าหนังสือ 7กฏฯแค่เริ่มเล่มแรกก็เนื้อหาอภิอลังการแล้ว แล้วทำไมเห็นคุณนันท์บอกสิ้นเดือนมกราคมจะออกเกี่ยวกับกฏแห่งการดึงดูดพื้นๆทัวๆไปล่ะครับ ทำไมไม่ทำแนวจิตวิญญาณแบบของโชปราเหมือนเดิม
ชื่อผู้ตอบ : นิก ตอบเมื่อ : 18/12/2008
ถ้ามีคนรู้สึกว่า 7กฏฯ มีเนื้อหาอภิอลังการจริง
คงมีหลายคนหยุดค้นหยุดเรียกร้อง........ก็คงจะดีเหมือนกันเนาะ!!!
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 18/12/2008
ตอบคุณนีโอครับ ตอนนี้ผมอายุได้ 18 ปี บริบูรณ์ครับ จริงๆควรจะเรียกว่าคุณนีโอว่าพี่นีโอ เรียกคุณนันท์ ว่าคุณอา นันท์ ครับ และผมก็รู้สึกนับถือเหมือนเป็นพี่และอาจริงๆครับ

ผมเองก็มีหนังสือของท่านจ.กฤษณมูรติเล่มนึงครับ ชื่อ "อิสรภาพเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่รู้" (Freedom From The Known)ครับ ซึ่งผมก็ยังอ่านไม่จบเหมือนเดิม แต่จากการอ่านเนื้อหาบางบทก็รู้ว่าเนื้อหาในนั้นถ่ายทอดความจริงให้เห็นอย่างแจ่มชัดครับ ผมคงต้องรีบอ่าน รีบย่อย แล้วล่ะครับ
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 18/12/2008
ฟังแล้วผมกับท่านอาจารย์นั้น ช่างร่วมสมัยกันจริงๆ เลยครับ ทั้ง"แด่หนุ่มสาว" ของกฤษณมูรติ รวมทั้ง "ปรัชญาชีวิต" ของคาริล ยิบราล มิน่าคุณพีระพงศ์ ถึงเรียกผมว่า อา อย่างนี้ต้องเรียกท่านอาจารย์ว่า ลุง แล้วละครับ

หนังสืองที่เขียนโดย ท่านไสบาบา ผมไม่แน่ใจว่ามีไหม เท่าที่เห็นก็จะเป็นลักษณะผู้เลื่อมใส รวบรวมสิ่งที่ท่านเคยพูดสอน มาจัดพิมพ์ หรือเป็นการเขียนถึงท่านจากประสบการณ์ และจัดทำโดยคณะผู้เลื่อมไสหรืมูลนิธิของท่าน ผมไม่เคยเห็นวางจำหน่าย (แต่เห็นคุณพีระพงศ์บอกว่าวางขายที่ดับเบิ้ล เอ บุคส์ทาวเวอร์) ส่วนเรื่องแปลขอรับไว้ไปศึกษาดูก่อนครับท่านอาจารย์

เรื่องที่คุณนิก งงนั้น ผมขอชี้แจงอย่างนี้ครับ
หนังสือเล่มที่ผมเล่าให้ฟังนั้น ผมไม่ได้เป็นคนแปลเองครับ แต่โดยส่วนตัวผมเองก็ชอบ ด้วยว่ามันอ่านง่ายดี ผมอยากเรียกว่าอ่านสนุกดี และก็เชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์กับหลายๆ คน เท่าที่ผมอ่านไปแล้ว ผมยังได้ประโยชน์และเลือกนำไปใช้ได้ตามสมควร อย่าไปคิดยกระดับผมจนไม่ติดพื้นเลยครับ เราก็ควรต้องแตะพื้นไว้เหมือนๆ กัน ไม่งั้นเมื่อยแย่เลยครับ ส่วนแนวจิตวิญญาณแบบโชปรา ก็อยากอยู่ครับ แต่ตอนนี้เล่ม 7 กฎฯ นี่เอาให้ถึงแก่นก็ไม่ต้องอ่านเล่มอื่นของโชปราแล้วละครับ

คุณพีระพงศ์ครับ ผมมี "อิสรภาพเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่รู้" ด้วยเหมือนกัน ซื้อจากงานสัปดาห์หนังสือครั้งก่อน แต่ยังไม่ได้อ่านเลยครับ ขอแนะนำอย่างยิ่งให้ลองอ่านงานของท่านกฤษณมูรติ ดูครับ เริ่มจากเล่มนี้ก่อนก็ได้ ว่าใช่สำหรับคุณพีระพงศ์หรือไม่ งานของท่านเป็นมุมมองของการรู้เท่าทันที่ลึกซึ้งมากๆ ครับ ว่าแต่คุณพีระพงศ์อายุน้อยกว่าลูกสาวคนสุดท้องผม 1 ปี ครับ แต่อนุญาตให้เรียกพี่ดีกว่าครับ ดูใกล้ชิดกันดี

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 18/12/2008
ครับ พี่นันท์ ครับ ว่าแต่ลูสาวคนสุดท้องสวยไหมครับ อิอิ
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 18/12/2008
โอ้ แม่เจ้า........... คุณพีระพงศ์ครับ คุณต้องเป็น บิล เกตต์ แห่งนันท์บุ๊คแน่เลยครับ
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ( วิชยะ คุ้มสุด ) ตอบเมื่อ : 20/12/2008
ก็เห็นคนอื่น เขาว่าสวยกัน ส่วนผมว่างั้นๆ สู้แม่เขาไม่ได้ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 20/12/2008
อะจ๊าก!!!! พ่อ...หน่อเนื้อเวไนย ทั้งสอง ฮึม!!อายุอานาม เนี้ยไม่ทำให้พี่รู้สึกอะไรเลhย จริงๆ!!!จริงๆ!!!ไม่เลย!!!!มะ...มะ..มะไม่เลยย..ฉะ...ฉะ....เฉย....เฉย มากกกกกกกกก

......พี่เองไม่ก็อยากจะคุย ปาดโธ้!!เท่าที่จำความได้ พี่ว่า..พี่ก็เคยอายุเท่านี้พี่มาก่อนนะ?
ชื่อผู้ตอบ : โก้ ตอบเมื่อ : 20/12/2008
คนที่อายุรุ่นราวคราวที่จะเป็นพ่อตาคนได้....เที่ยวขอให้ใครๆเรียก"พี่"
ควรถูกแนะนำให้ทวบทวน....กฏของเหตุและผล....มั้ยคะ????
อิอิ
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 20/12/2008
ระวังถูกหลานๆ เรียกว่า น้า นะครับคุณแฟนพันธุ์แท้
จริงไหม น้องนีโอและน้องพีระพงศ์
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 20/12/2008
ถูกเรียก"ป้า" ตั้งแต่อายุ22-23
หน้ายังใสสสส เหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง!!!!!
ชื่อผู้ตอบ : แฟนพันธุ์แท้ ตอบเมื่อ : 21/12/2008
รู้สึกคึกคักขึ้นนิดหน่อยนะครับ กระทู้นี้

ครับ สวัสดีคุณแฟนพันธุ์แท้ครับ ขอหลานเรียกด้วยความเคารพว่าน้าแฟนพันธุ์แท้นะครับ

ครับ พี่โก้ ด้วยความเตารพนับถือครับ
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 21/12/2008
อ้อ แล้วอีกเรื่องครับ พี่นันท์ ถ้าสมมติว่าผมได้รู้จักกับลูกสาวของคุณนันท์ ลูกสาวคุณนันท์ไม่ต้องเรียกผมว่าอาหรอกเหรอครับ (ฮา)
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 21/12/2008
ก็เป็นเรื่องที่ออกจะสับสนไปมา คล้ายกรณีที่ลูกของผมสอบเข้าเรียนคณะเดียวกับที่ผมเคยเรียน เลยสับสนไปหมดว่า จะเรียกผมว่าพี่หรือพ่อ และบรรดา ลุง ป้า น้า อา ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นและเป็นรุ่นน้องของผม จะเรียกลูกผมว่าหลานหรือน้องดี
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 21/12/2008
จริงๆถ้าเจอกันผมต้องเรียกลูกสาวพี่นันท์ ว่าพี่สิครับ ว่าแต่คนสุดท้องเรียนสถาปัตย์ จุฬา เหรอครับ
ชื่อผู้ตอบ : พีระพงศ์ ตอบเมื่อ : 21/12/2008
ครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 21/12/2008
ในฐานะคนที่มีลูกสาวเช่นเดียวกัน ผมขอเสนอแนะคุณนันท์ ให้ลงมือทำในสิ่งเหล่านี้โดยเร็ว คือ:-

1.คุณนันท์ต้องไว้หนวด เพื่อให้ใบหน้าดูเหี้ยมเกรียม ดุดัน! (ฮา)
2.ต้องถือไม้ตะพด ติดมืออยู่ตลอดเวลา (ฮา) ถ้าไม่มี ต้องรีบไปซื้อมา (ฮา)
3.ต้องหาปืนลูกซองห้านัดมาติดบ้านไว้ (ฮา) ถ้ามีปืนอยู่แล้ว ควรซื้อกระสุนเพิ่ม (ฮา)
4.รื้อบันไดขึ้นบ้านออกให้หมด เหลือไว้เฉพาะบันไดภายในบ้าน ส่วนปัญหาว่าแล้วจะขึ้นบ้านยังไง ค่อยว่ากัน ตอนนี้ ต้องป้องกันปัญหา "หัวบันไดบ้านไม่แห้ง" เอาไว้ก่อน (ฮา)
5.หาสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ มาเลี้ยงไว้อย่างน้อยหนึ่งตัว เลือกสายพันธุ์ที่กัดไม่เลิก (ฮา)
6.ขอร้องให้ลูกสาว ไม่ให้ใช้ครีมพอนด์ ไวท์เทนนิ่ง เพราะเป็นครีมที่ใช้แล้ว ทำให้ผู้ที่เป็นพ่อ กังวลใจ (ฮา)
7.หาหนังสือแนว "สาวเอยจะบอกให้" (สมัยที่พวกเรายังวัยรุ่น) มาให้ลูกสาวอ่าน เพื่อให้รู้ทางหนี ทีไล่ (ฮา) ในข้อนี้ ทีแรกผมจะแนะนำให้หาหนังสือของยายกาละแมร์' พัชรศรี ที่เธอเขียนไว้เมื่อสองสามปีก่อน และติดอันดับขายดีอยู่นาน ชื่อหนังสือว่า "ผู้ชายเลวกว่าหมา และไม่ได้มาจากดาวอังคาร" (ฮา) แต่คิดว่าอย่าดีกว่า เราะหนังสือเล่มนี้ ตั้งชื่อเหมือนจะด่าเราด้วย (ฮา)

คุณนันท์ต้องประกาศให้เรื่องนี้เป็น "วาระแห่งบ้าน" ไปเลยนะครับ (ฮา)

ชื่อผู้ตอบ : วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ ตอบเมื่อ : 25/12/2008
ขอบพระคุณครับท่านอาจารย์ เกิดมาก็พึ่งเคยมีลูกสาวนี่แหละ

ในชีวิตจริงผมว่า how to พวกนี้ไม่ค่อยมีคนสอนกันนะครับ คนเป็นพ่อเป็นแม่ทุกคนก็เกิดมาพึ่งเคยมีลูก จะเรียกว่าเลี้ยงไป หัดเรียนรู้ไป จนกว่าจะโต ไม่มีโอกาสได้แก้ตัวใหม่เลยครับ

ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 25/12/2008
ha ha ... ยิ้ม ยิ้ม .... เราไม่ได้เข้ามาเยี่ยมแป๊บเดียว เป็น ลุง เป็น ป้า ๆ ไปหมดแล้ว ข้าน้อยรอดตัวไป .... Whewwww.....

อย่างไรเข้ามาแล้วก็ขออนุญาตให้ผู้เขลาเบาปัญญาเช่นข้าน้อยเข้ามาแจมเรื่องหนังสือสองเล่มของท่าน J.krishnamurti ที่อยู่ในดวงใจ เพื่อเป็นการระลึกถึง นอบน้อม และกตัญญูต่อผู้ให้หนังสือสองเล่มนี้ด้วยเทอญ

เล่มแรกเป็นภาษาไทย ชื่อ แด่หนุ่มสาว ได้มาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นกระเตาะ จำได้ว่าผู้ให้สั่งการมาว่า เอาไปอ่าน เอาไปทำความเข้าใจจิตใจของตนเอง (ป่านนี้ก็ยังต้องนั่งดู นั่งเข้าใจมันอยู่ ฮา )

เล่มสอง To be human - ประทับใจแทบทุกบท ทุกตอน โดยเฉพาะเรื่อง The beauty of not knowing ได้ใจและความรู้สึกข้าพเจ้าไปทั้งดวง

ขอขอบคุณเจ้าของพื้นที่ คุณนันท์และเพื่อนๆ ที่นี่ ที่มีส่วนทำให้ระลึกถึงเพื่อนและพี่ผู้มอบสิ่งดีดีอีกครั้ง

สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้า เพราะอีกเพียงไม่ถึงสามชั่วโมง ข้าน้อยจะได้ฉลองปีใหม่ และนั่งดู fire works ที่ชาวออสเตรเลียนอ้างไว้ว่า Biggest and best ever!

แต่ด้วยท่าน J.krishnamurti กล่าวไว้ว่า Don't accept anything the speaker saying. Test it out for yourself ดังนั้นคงต้องรอดู Midnight ว่ายิ่งใหญ่ดังคำคุย เช่นไร

ระลึกถึงทุกๆๆ ท่าน ... happy new year 2009
ชื่อผู้ตอบ : หนึ่งค่ะ ตอบเมื่อ : 31/12/2008
ยิ้ม . . ยิ้ม ยินดีและดีใจยิ่ง ที่แวะมาทักทายกันครับ คุณหนึ่ง

หนังสือทั้งสองเล่ม ทรงพลังสำหรับผมมาก
แด่หนุ่มสาว นั้นอ่านตั้งครั้งวัยรุ่นเช่นกัน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของผมจนวันนี้

เคยได้ยินว่า fire works ที่ว่านั้นสวยงามมาก
ขอให้สนุกและมีความสุขนะครับ
ชื่อผู้ตอบ : นันท์ วิทยดำรง ตอบเมื่อ : 01/01/2009
คุยอะไรกันมาก อ่านความคิดคนอื่น แล้วความคิดของตัวเองล่ะ
ชื่อผู้ตอบ : กานต์ ลิม ตอบเมื่อ : 31/08/2010
คุยอะไรกันมาก อ่านความคิดคนอื่น แล้วความคิดของตัวเองล่ะ
ชื่อผู้ตอบ : กานต์ ลิม ตอบเมื่อ : 31/08/2010
คุยอะไรกันมาก อ่านความคิดคนอื่น แล้วความคิดของตัวเองล่ะ
ชื่อผู้ตอบ : กานต์ ลิม ตอบเมื่อ : 31/08/2010
ดี ครับ
คุณกานต์ ลิม
ชื่อผู้ตอบ : นีโอ ตอบเมื่อ : 02/02/2011


คำตอบ  
ชื่อผู้ตอบ  
E-mail  
Security Code